ครั้งที่ 195

14 กันยายน 2551 23:55 น.

       ครั้งที่ 195
       สำหรับวันจันทร์ที่ 15 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551
       
       “การเมืองภาคประชาชน”
       

       ข่าวใหญ่สำหรับช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวใดน่าความสนใจเท่ากับข่าวที่นายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
       มีคนมาสัมภาษณ์ผมหลายคนเกี่ยวกับสาระของคำวินิจฉัยดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนของกรณีศาลรัฐธรรมนูญแปลความคำว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งผมก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบันนี้การวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการนอกจากจะถูกสังคมบังคับและกำหนดว่าเป็นการให้ความเห็นเพื่อ “ข้างใด” แล้ว เรื่องที่น่ากลัวมากกว่าอีกเรื่องหนึ่งคือ “หมิ่นศาล” ซึ่งในวันนี้ก็ “ขยายความ” ออกไปมากจนครอบคลุมการให้ความเห็นทางวิชาการแบบตรงไปตรงมาด้วย ด้วย 2 เหตุดังกล่าวผมเลยคิดว่าอยู่เงียบ ๆ น่าจะดีที่สุด วันหนึ่งเมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติและเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ จบสิ้นลง ผมคงจะหยิบเอาคำวินิจฉัยหรือ
       คำพิพากษาบางเรื่องมานั่งวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า นักกฎหมายธรรมดานั้น ต่างจากนักกฎหมายมหาชนอย่างไร !!!
       
ในวันนี้ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะพ้นสภาพไปแล้ว แต่เค้าลางของความวุ่นวายยังคงมีอยู่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังคงชุมนุมกันอยู่ ผมได้มีโอกาสอ่านแถลงการณ์ของพันธมิตรฉบับที่ 21/2551 ที่ว่าพันธมิตรฯ จะยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่องหลังจากที่นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และนอกจากนี้ในแถลงการณ์ดังกล่าวพันธมิตรฯ ก็ยังเพิ่มข้อเรียกร้องเข้าไปอีกมากมายหลายข้อ รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับ เช่นกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ส่วนประเด็นเรื่อง “การเมืองใหม่” นั้น แม้พันธมิตรฯ จะมีคำอธิบายออกมาแล้วในแถลงการณ์ฉบับที่ 20/2551 ก็ตาม แต่อ่านดูแล้วก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม อ่านแล้วไม่รู้แม้กระทั่งอะไรคือการเมืองใหม่ รู้แต่เพียงว่า ไม่เอานักการเมืองในระบบปัจจุบันเท่านั้นเองครับ
       ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมี “ข้อเรียกร้อง” มากมายหลายเรื่องและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา จึงทำให้ข้อเรียกร้องของพันธมิตร “ไม่นิ่ง” นอกจากข้อเรียกร้องจะ “ไม่นิ่ง” และ “ไม่ชัดเจนแล้ว” เมื่อพันธมิตรบุกรุกสถานที่ราชการและไม่ยอมไปมอบตัว การดำเนินงานของพันธมิตรก็ดูจะไม่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามี “วัตถุประสงค์” ใดกันแน่ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่แม้จะรับไม่ได้กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาแต่ก็ไม่สามารถเข้าร่วมกับพันธมิตรได้ครับ
       ช่วงเวลาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศร่วม 7 เดือน เราได้พบเห็นอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่เฉพาะพันธมิตรฯ ที่ “ไม่นิ่ง” และ “ไม่ชัดเจน” นะครับรัฐบาลเองก็ “ไม่นิ่ง” และ “ไม่ชัดเจน” ด้วย ดูการเสนอข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ดูการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ “ชักเข้าชักออก” อยู่ตลอดเวลา รวมความแล้ว รัฐบาลเองก็มีปัญหาในด้านการทำงานอย่างมาก มากจนสมควรที่จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ประเทศไทยเราคงต้องการผู้นำที่มี “ภาวะผู้นำ” อย่างมาก การกล้าพูดแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจและกลัวที่จะทำ คงไม่ทำให้ประเทศเราพัฒนาไปสู่จุดที่ควรจะเป็นได้
       ถ้าถามว่า 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทำอะไรให้กับประเทศไทยบ้าง ผมคิดว่าคงเป็นคำถามที่ไม่มีใครอยากตอบ ที่ไม่อยากตอบนั้นส่วนใหญ่คงคิดเหมือนกันคือ ไม่รู้จะตอบอะไรเพราะมองไม่เห็นสักอย่างว่าเราได้อะไรกันบ้าง ในฐานะนักกฎหมายมหาชน ผมมองเห็นปัญหามากกว่าสิ่งที่เราได้จากการดำเนินงานของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องอำนาจรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อำนาจรัฐมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งใช้จัดระบบในรัฐ ใช้ขับเคลื่อนรัฐไปในทิศทางที่ควรจะไป ซึ่งในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมมองเห็นอำนาจรัฐค่อย ๆ เสื่อมลงจนกระทั่งวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจรัฐ” จะยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะหากเราพิจาณาถึงแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจแล้วก็จะพบว่า ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายที่มีและใช้อำนาจรัฐมากที่สุด ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าในวันนี้ฝ่ายบริหาร “หมดรูป” จริง ๆ ครับ การที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาการชุมนุมบนทางสาธารณะของพันธมิตรฯ เกือบ 2 เดือน การที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถแก้ปัญหา ASTV การที่ฝ่ายบริหารถูก “ยึด” สถานที่ทำงานซึ่งเป็นสถานที่ราชการที่สำคัญที่สุดของประเทศและเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงหนึ่งในอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจบริหาร การที่ฝ่ายบริหารถูกกล่าวหา ดูหมิ่น ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงยิ่งเสียกว่าการหมิ่นประมาทที่ฟ้องๆกันอยู่ในศาลฯลฯ ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือกลับไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย ส่วนฝ่ายนิติบัญญัตินั้นในวันนี้ก็ดู ๆ แล้วทำงานลำบาก ระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาผลิตกฎหมายออกมาไม่ได้เลยซักฉบับก็ไม่ทราบ แม้จะทำการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้บ้างแต่ก็ไม่เต็มที่ แถมเมื่อมีการอภิปรายทั่วไปของรัฐสภาเพื่อหาข้อยุติของการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของพันธมิตรฯ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ได้อะไรเลย สำหรับฝ่ายตุลาการที่ผู้คนชอบใช้คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” กันนัก อะไรที่ฝ่ายตุลาการตัดสินไปแล้ว “ถูกใจ” ก็เป็น “ตุลาการภิวัตน์” แต่ทำไมเมื่อมีการออกหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ แล้วไม่มีใครเคารพและปฏิบัติตามจึงไม่มีใครตั้ง “คำศัพท์” ขึ้นมาใหม่สำหรับมาใช้แทนคำว่า “ตุลาการภิวัตน์” บ้างก็ไม่ทราบ และท้ายที่สุดสำหรับอำนาจที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอย่างทหารนั้น ในวันนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้บ้านเมืองได้เพราะออกมายืนยันอย่างเดียวว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จากเหตุผลทั้งหมดที่พูดไปล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ “อำนาจรัฐ” ที่เคยมีอยู่อย่างมาก อ่อนแอลงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่ออำนาจรัฐอ่อนแอลง สังคมขาดผู้นำ คนส่วนหนึ่งจึงหันไปหาการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพราะว่าอย่างน้อยก็ประกอบไปด้วนคนที่มี “ภาวะผู้นำ” ครับ
       ประสบการณ์ 3 เดือนเศษ ที่ผ่านมาต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารถสร้างบทบาทของตนเองจาก “อะไรก็ไม่รู้” จนมาเป็น “องค์กร” ที่มีบทบาทในการ “ตรวจสอบ” การทำงานของรัฐบาล กรณีเขาพระวิหารเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุดที่พันธมิตรฯ นำมาใช้ “ปลุกเร้า” ความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้คนให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันและพัฒนาความคิดกับมุมมองร่วมกันจนกลายเป็น “พลัง” ที่ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาจนถึงจุดที่เราอยู่กันในวันนี้
       สิ่งที่เกิดจากปรากฎการณ์พันธมิตรฯ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ผมนึกถึงหนังสือเก่ามากเล่มหนึ่งของฝรั่งเศสชื่อ “Psychologie des foules” หรือ “จิตวิทยาของฝูงชน” ที่เขียนโดย Gustave Le Bon เมื่อปี คศ. 1895 นึกแล้วก็อดนำมาคิดปรับเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราในวันนี้ไม่ได้ หนังสือดังกล่าวพูดเรื่องพัฒนาการในการรวมกลุ่มกันของคนที่ในหนังสือเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ฝูงชน” (les foules) โดยในตอนต้นของหนังสือกล่าวถึงวิธีการของคนธรรมดาสามัญที่อาจได้อำนาจรัฐมาโดยความช่วยเหลือของฝูงชนซึ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า คนจำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ง่ายด้วยการก้าวกระโดดข้ามกระบวนการปกติ การก้าวกระโดดดังกล่าวทำได้โดยการรวบรวมคนจากกลุ่มที่มีเชื้อชาติเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน สังคมเดียวกัน หรือประสบการณ์เดียวกัน โดยต้องหาทางทำให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ร่วมกัน จากนั้นคนที่เป็นผู้นำจะต้องสร้างความรู้สึกร่วมให้กับฝูงชน วิธีการหนึ่งที่ใช้ก็คือ การใช้ “คำพูด” เป็นตัวปลุกเร้าความรู้สึก ผู้นำต้องรู้จักวิธีใช้คำพูด สร้างคำใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนคำเดิมเพื่อให้เป็นคำของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เมื่อพูดคำดังกล่าวขึ้นมาเมื่อใดก็จะสร้างความโกรธและความเกลียดให้กับผู้ชุมนุมได้ ท้ายที่สุด เมื่อทุกคนมี “จุดร่วม” เดียวกันแล้ว “ฝูงชน” ก็จะเกิดขึ้นโดยมี “ผู้นำ” ที่พร้อมที่จะทำทุกอย่างร่วมกันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ต้องการเห็น ที่ผมเล่าไปนี้เป็นเพียงบางส่วนที่จำได้จากหนังสือดังกล่าวที่คิดว่าคงต้องกลับไปอ่านดูใหม่อีกครั้งเพราะคิดว่ารู้สึกคุ้น ๆ และน่าจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าสมัยที่อ่านครั้งแรกเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นครับ


       นอกจากหนังสือที่กล่าวไปแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสอ่านแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (démocratie participative) ซึ่งก็น่าจะนำมาเป็นอุทธาหรณ์ของกรณีพันธมิตรประชาชนพื่อประชาธิปไตยได้เช่นกัน แนวความคิดดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่ระบอบการปกครองประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่คือระบอบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทนราษฎรนั้นมีปัญหา เพราะเมื่อเราไปเลือกคนหรือพรรคการเมืองที่เราชอบแล้วเราก็กลับบ้าน ปล่อยให้คนและพรรคการเมืองที่เราเลือกเข้าไปทำงานโดยคาดหวังว่าเขาเหล่านั้นจะทำตามสิ่งที่เราเสนอหรือตามความประสงค์ของเรา ระบบประชาธิปไตยแบบนี้เป็นระบบที่ “ตัดตอน” ประชาชนออกจาก “การเมือง” ซึ่งไม่เหมาะสมกับรัฐสมัยใหม่ด้วยเหตุผลหลายประการ ในบางประเทศจึงมีความพยายามที่จะสร้างระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามี “บทบาท” ในการเมืองการปกครองประเทศบ้าง ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมคือ การที่ประชาชนต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การคิด การตัดสินใจของฝ่ายปกครอง ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ และประชาชนต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายปกครองซึ่งกล่าวโดยสรุประบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็คือการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในทางการเมืองการปกครองนั่นเองครับ ปัญหาของระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็มีอยู่บ้างโดยเฉพาะปัญหาที่ว่า ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็มีนักวิชาการในยุโรปให้ความเห็นกันมากมายถึงการ “เลือก” ประชาชนเข้ามาสู่กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยส่วนหนึ่งได้เสนอให้มีการนำเอาวิธีการจับสลาก (Stochocratie) มาใช้กับการ “ได้มา” ซึ่งประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐโดยให้เหตุผลว่าการจับสลากเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนจากทุกกลุ่มในสังคมมีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันได้อย่างเป็นธรรมที่สุดเพราะไม่มีการแบ่งแยกเพศ อาชีพ และสถานะทางสังคม
       ไม่แน่ใจครับ ว่าวันหนึ่งเราอาจนำวิธี “จับสลาก” มาใช้กับกรณี 70/30 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ครับ
       ที่เขียนเล่ามานี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบการ “มอง” ปรากฎการณ์ของการเมืองภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ว่า เป็นไปในแนวทางใด จะเป็นแนวทางของ “ฝูงชน” ที่เชื่อและเดินตาม “ผู้นำ” อย่างแน่วแน่มั่งคง หรือจะเป็นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการใหม่ที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่เพิ่มบทบาทภาคประชาชนและลดอำนาจรัฐลงไปคล้าย ๆ กับที่เป็นอยู่ในบ้านเราในเวลานี้ก็ไม่ทราบได้ครับ ลองพิจารณาและหาคำตอบกันเอาเองครับ
       
       สัปดาห์นี้เรามีบทความหลายบทความจนไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดีครับ ผมขอเลือกแค่ 2 บทความก่อน เนื่องจากเนื้อที่เรามีจำกัดนะครับ คงต้องเริ่มจากบทความใหม่ของศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่มีส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนขึ้นเพื่อ “โต้” บทความของรองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ “โต้” บทความแรกของศาสตราจารย์ ดร. อมรฯ ที่วิพากษ์บทความของนักวิชาการกรณีประสาทพระวิหารครับ บทความนี้มีชื่อว่า “เขาพระวิหาร 2” ครับ บทความต่อมาเป็นบทความของคุณเข็มทอง ตั้นสกุลรุ่งเรือง แห่งสถาบันพระปกเกล้า ที่เขียนเรื่อง “การยุบพรรคการเมืองเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้บริหารพรรคการเมืองเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย” นอกจากบทความทั้ง 2 แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทย มีผู้ถามกันมาบ้างถึงบทสัมภาษณ์ ผมก็เลยขอนำมาลงเผยแพร่ซ้ำไว้ใน website แห่งนี้ด้วยครับ ส่วนใครที่เป็น “แฟน” ประจำของเราและอ่าน “คำบรรยายกฎหมายปกครองสำหรับนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็ต้องขอบอกไว้ว่าตอนนี้สอนจบครบแล้วนะครับ ผมจะพยายามปรับปรุงคำบรรยายดังกล่าวให้สมบรูณ์ขึ้นแล้วก็จะนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไป อีกประมาณสองสัปดาห์คงจะต้องถอดจาก website แล้วเนื่องจากกินเนื้อที่พอสมควรครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1274
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)