ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย

25 สิงหาคม 2551 19:54 น.

       ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
       ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
       
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
       
       ก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ระบบการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ท้องถิ่นนั้น ประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการระบบการปกครองมาเป็นลำดับ โดยสมัยก่อนกรุงสุโขทัยมีหลักฐานอ้างอิงจากพงศาวดารว่า การปกครองของไทยแต่เดิมมีลักษณะการรวมกลุ่มเป็นหมู่เหล่าหรือชุมชน มีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองดูแลรับผิดชอบให้ความคุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง เป็นการปกครองแบบหัวหน้าปกครองลูกน้อง (master and slave) และเมื่อมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ในสมัยน่านเจ้าได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การปกครองในส่วนกลางมีการกำหนดผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ส่วนการปกครองในส่วนภูมิภาคมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑล แต่ละมณฑลมีเมืองเอก โท ตรี จัตวา แต่ละเมืองแบ่งเป็นแขวง แต่ละแขวงแบ่งเป็นแคว้น และแต่ละแคว้นแบ่งเป็นหมู่บ้าน โดยแต่ละหน่วยการปกครองจะมีหัวหน้าปกครองลดหลั่นกันไป(1)
        เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ร่วมกันยกทัพไปตีเมืองสุโขทัย ปลดอำนาจการปกครองของขอม และได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น มีพ่อขุนบางกลางท่าวซึ่งปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้ปกครอง ระบบการปกครองในสมัยสุโขทัยนี้ยังคงรูปแบบการปกครองของไทยแต่เดิม โดยเป็นการปกครองในระบบพ่อปกครองลูก (paternal government) และมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นชั้น ๆ ได้แก่ ราชธานี หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช
        เมืองราชธานีคือเมืองที่เป็นเขตที่ตั้งของกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นนครหลวง มีหัวเมืองชั้นใน เรียกว่าเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านซึ่งพระมหากษัตริย์มอบให้ราชโอรสหรือราชนัดดาปกครองดูแลตั้งล้อมรอบราชธานีทั้งสี่ทิศโดยยึดหลักว่าจะต้องเป็นเมืองที่อยู่ในระยะไม่เกินที่จะเดินติดต่อกันได้ภายใน ๒ วัน ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) เมืองสองแคว (พิษณุโลก) เมืองสระหลวง (พิจิตร) และเมืองกำแพงเพชร ถัดจากเมืองลูกหลวงเป็นหัวเมืองชั้นนอกเรียกว่า เมืองพระยามหานคร มีเจ้าเมืองที่ครองเมืองนั้นอยู่เดิมหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่พระมหากษัตริย์
       ไว้วางใจเป็นผู้ปกครองดูแล สำหรับหัวเมืองประเทศราชหรือเมืองขึ้นนั้นเป็นเมืองที่กรุงสุโขทัย ยกทัพไปตีได้อยู่ในอำนาจ เช่น เมืองเวียงจันทน์ เมืองทะวาย เป็นต้น ซึ่งการจัดเขตการปกครองเช่นนี้เป็นการจัดเพื่อประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์สมัยนั้นเป็นสำคัญ
        ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองจึงได้ประกาศอิสรภาพ และสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ในสมัยนี้มีการจัดระบบการปกครองในลักษณะใกล้เคียงกับสมัยกรุงสุโขทัย มีเมืองราชธานี เมืองลูกหลวง เมืองชั้นนอกซึ่งแบ่งเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา และเมืองประเทศราช มีผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ ตามแบบสุโขทัย เว้นแต่การปกครองเมืองราชธานีได้ปรับปรุงเป็นแบบจตุสดมภ์โดยพระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา ทำหน้าที่ช่วยพระองค์อำนวยการบริหารงานในราชธานีด้านต่าง ๆ
        ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการจัดระเบียบการปกครองใหม่โดยขยายราชธานีออกไป ยกเลิกเมืองลูกหลวงทั้งสี่ด้านจัดให้เป็นหัวเมืองจัตวาทั้งหมด รวมอำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางให้มากที่สุด โดยพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจการปกครองราชธานีด้วยพระองค์เอง และมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วยปกครองบริหารราชธานี ส่วนหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวามีการจัดแบ่งเขตการปกครองเป็นแขวง แขวงแบ่งเป็นตำบล และตำบลแบ่งเป็นหมู่บ้าน พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้ง “ผู้รั้ง” ที่ไม่ใช่เจ้าเมืองอย่างเช่นในสมัยกรุงสุโขทัย หรือกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นผู้ปกครองดูแลเมือง ผู้รั้งจะดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และผู้รั้งก็จะเป็นผู้แต่งตั้งหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองแขวง กำนันเป็นผู้ปกครองตำบล และผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน (2) สำหรับหัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานครเดิมนั้น ได้มีการจัดแบ่งเขตปกครองเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา ตามขนาดและความสำคัญของเมือง โดยแต่ละเมืองจัดแบ่งเขตการปกครองออกเป็นแขวง ตำบล และหมู่บ้าน เช่นเดียวกับหัวเมืองชั้นใน ซึ่งการปรับปรุงรูปแบบการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้นับเป็นการปฏิรูปการปกครองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย โดยได้ยึดถือเป็นแบบฉบับของการปกครองในสมัยต่อ ๆ มา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็แต่เพียงรายละเอียดเท่านั้น แต่โครงสร้างที่กำหนดขึ้นในรัชสมัยนั้นยังคงใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3)
        ในสมัยกรุงธนบุรีมีการจัดระเบียบการปกครองตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากนับตั้งแต่พระเจ้าตากสินทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการทำศึกสงครามอยู่เสมอ จึงไม่มีโอกาสปรับปรุงการจัดระเบียบการปกครองเลย
        ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นและได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร การจัดระเบียบการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ยังคงยึดระบบการจัดระเบียบการปกครองตามแบบกรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางรูปแบบไว้ จนกระทั่งรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย(4) เนื่องจากในรัชสมัยนี้ ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ประเทศไทยจึงเริ่มมีแนวคิดในการปรับปรุงประเทศตามแบบประเทศตะวันตกในด้านต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงวางรากฐานการปรับปรุงประเทศโดยเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง การปรับปรุงประเทศในสมัยพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้จึงเป็นรากฐานให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศในเวลาต่อมา(5)
        ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นปัญหา การขาดเอกภาพและความมั่นคงของประเทศ จึงได้ทรงปฏิรูปการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมากเพื่อนำประเทศเข้าสู่ความอารยะตามแบบประเทศตะวันตกที่กำลังแผ่อิทธิพลล่าอาณานิคมอยู่ในขณะนั้น โดยพระองค์ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจสำหรับในส่วนกลาง มีการยกเลิกระบบจตุสดมภ์ จัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ โดยถือเอางานที่จะปฏิบัติเป็นหลัก ในส่วนภูมิภาคได้ทรงยกเลิกการปกครองแบบ “ผู้รั้ง” มาเป็นการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล มีข้าหลวงเทศาภิบาลหรือสมุหเทศาภิบาลทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของส่วนกลางควบคุมการบริหารราชการต่าง ๆ ในหัวเมือง ซึ่งในแต่ละหัวเมืองยังคงมีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ให้มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน กำนันเป็นผู้ปกครองตำบล และกรมการอำเภอเป็นผู้ปกครองอำเภอ แต่ตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านนั้น มิได้เป็นผู้ที่เจ้าเมืองแต่งตั้งดังเช่นสมัยก่อน การปฏิรูปการปกครองแบบใหม่นี้ราษฎรจะเป็นผู้เลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านขึ้นเอง โดยทำการทดลองเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกที่บ้านเกาะ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเมื่อทรงเห็นว่าระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ประกาศใช้พระราช บัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ขึ้น ซึ่งนับเป็นกฎหมายปกครองท้องที่ฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้มีการจัดรูปแบบการปกครองท้องที่อย่างชัดเจน(6) และยังคงยึดถือเป็นหลักในการปกครองท้องที่ดังปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
       
       ๑.๑ การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) : จุดเริ่มต้นของการปกครอง
       ส่วนท้องถิ่นไทย
       
        นอกจากการปฏิรูปการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจการบริการสาธารณะในเขตท้องที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีโอกาสไปดูกิจการต่าง ๆ ในยุโรป ประกอบกับเจ้าพระยาอภัยราชา (โรแล็งยาคแม็งส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปของประเทศไทยในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ชาวต่างประเทศมักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรก ไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะที่เป็นเมืองหลวง พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพขึ้นภายในบริเวณตั้งแต่ปากคลองบางลำพูจนถึงปากคลองโอ่งอ่าง และได้มีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ. ๑๑๖ ออกใช้บังคับ โดยกำหนดให้กรมสุขาภิบาลเป็นผู้จัดการดำเนินงานภายใต้การบังคับบัญชาของ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยงบประมาณจากส่วนกลางทั้งหมด และให้สุขาภิบาลกรุงเทพมีหน้าที่ในการทำลายขยะมูลฝอย จัดให้มีส้วมสำหรับประชาชนทั่วไป ควบคุมอาคาร สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งยักย้ายสิ่งโสโครกและสิ่งก่อความรำคาญแก่ประชาชน ในการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพนี้ ประชาชนในเขตสุขาภิบาลยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการแต่อย่างใด(7)
       
       ๑.๒ การปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
       พ.ศ. ๒๔๗๕
       
        หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงมีความคิดริเริ่มในการกระจายอำนาจการตัดสินใจดำเนินการ จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ โดยความคิดริเริ่มดังกล่าวได้เริ่มขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเดินชมตลาดและทรงมีพระราชปรารภว่า ตลาดท่าฉลอมสกปรกมาก เจ้าหน้าที่ของทางราชการและราษฎรชาวตลาดจึงได้ร่วมมือกันทำความสะอาดตลาด ท่าฉลอม แล้วเชิญเสด็จเปิดถนนที่ทำการใหม่ จึงทรงเล็งเห็นลู่ทางที่จะจัดให้ราษฎรช่วยกันดำเนินกิจการของท้องถิ่นได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเขตตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาล มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอม ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ขึ้น กำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในเขตจัดการสุขาภิบาลร่วมเป็นกรรมการด้วย ให้สุขาภิบาลมีหน้าที่ดำเนินการซ่อมแซมถนนหนทาง จุดโคมไฟ การรักษาความสะอาดและกิจการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ราษฎรในท้องถิ่น โดยในการทำกิจการใด ๆ คณะกรรมการต้องได้รับอนุมัติจากเทศาภิบาล การออกกฎข้อบังคับคณะกรรมการก็จะต้องเสนอความเห็นไปยังกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการเมืองจนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงออกกฎเสนาบดีขึ้นใช้บังคับในเขตสุขาภิบาลได้(8) นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศแก้ภาษีโรงร้านจัดสุขาภิบาลตลาดท่าฉลอมเมืองสมุทรสาคร ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ขึ้น พร้อมพระราชทานเงินภาษีโรงร้านที่เก็บได้ในเขตสุขาภิบาลเป็นทุนดำเนินการแก่สุขาภิบาล สุขาภิบาลท่าฉลอมจึงมีงบประมาณในการดำเนินงานเป็นของตนเอง กำหนดให้มีการนำภาษีที่เก็บได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บแล้วไปใช้ในการดำเนินการของสุขาภิบาลโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเทศาภิบาลที่จะคอยตรวจสอบบัญชีรายจ่าย รวมทั้งทักท้วงห้ามปรามการจ่ายเงินในทางที่ไม่สมควรของสุขาภิบาล
        ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการจัดการปกครองรูปแบบสุขาภิบาลที่ตำบลท่าฉลอมเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นมาก พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการสุขาภิบาลให้แพร่หลายไปยังท้องถิ่นอื่น ๆ แต่โดยที่ทรงเห็นว่าท้องที่ที่จะจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองต่าง ๆ มีความแตกต่างกันซึ่งไม่เหมาะสมที่จะใช้รูปแบบสุขาภิบาลอย่างเดียวกัน จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ขึ้น กำหนดให้มีสุขาภิบาล ๒ ประเภท คือ สุขาภิบาลที่จัดตั้งในท้องที่ที่เป็นเมืองและมีความเจริญรองลงมา เรียกว่า สุขาภิบาลตำบล โดยให้จัดตั้งสุขาภิบาลทั้งสองประเภทดังกล่าวขึ้นในท้องที่ที่ประชาชนมีความพร้อม ซึ่งการจัดตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากข้าหลวงเทศาภิบาล กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่จะจัดตั้ง สุขาภิบาลตามหัวเมืองนี้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเขตสุขาภิบาล ป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่ บำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่ และจัดการศึกษาขั้นต้นให้แก่ราษฎร
        ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มี พระราชประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้รู้จักการปกครองตนเองตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงได้ทรงจัดตั้ง “ดุสิตธานี” ขึ้นเพื่อเป็นการทดลองโดยให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการในสำนักเป็นสมาชิกเรียกว่า “ทวยนาคร” มีการตราธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะผู้บริหารเรียกว่า “คณะนคราภิบาล” โดยคณะนคราภิบาลนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลาง มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและมีอำนาจจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์เพื่อประโยชน์ของตนเองได้ อำนาจหน้าที่ของนคราภิบาลดุสิตธานีเป็นอำนาจหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร จัดการบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ รักษาความสะอาด กำจัดสิ่งสกปรก จัดการสาธารณสุข จัดการศึกษา สวนสาธารณะ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ทำนองเดียวกับสุขาภิบาลและเทศบาลในสมัยต่อ ๆ มา ในการจัดการกิจการของนคราภิบาลดุสิตธานีอาศัยรายได้จากการเก็บภาษีในเขตนคราภิบาล ซึ่งการกำหนดและการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีจะต้องเรียกประชุมทวยนาครเพื่อทำความตกลงทุกครั้ง นอกจากนี้ นคราภิบาลยังมีรายได้จากการออกใบอนุญาตยานพาหนะ ร้านจำหน่ายสุรา และโรงละคร อีกทั้งยังมีรายได้จากการตั้งกิจการที่ทำกำไร เช่น ธนาคาร โรงรับจำนำ ตลาด เป็นต้น
        ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้ปกครองตนเองอย่างจริงจังตามรูปแบบการปกครองตนเองในต่างประเทศ จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติการจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้นใช้บังคับในเขตตำบลบ้านชะอำไปจนถึงหัวหิน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีรายได้จากเงินจังกอบที่เก็บจากที่ดินและโรงเรือนในเขตชายทะเลตะวันตกตามพระราชบัญญัติจังกอบ พ.ศ. ๒๔๗๑ มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ เช่น ทำถนน จัดให้มีประปา ไฟฟ้า การสาธารณสุขในเขตชายทะเลตะวันตกโดยมีกรรมการของสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นจากเหล่าข้าราชการเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตกนี้ถือได้ว่าเป็นการทดลองการปกครองในรูปแบบของเทศบาลเป็นครั้งแรก แต่การดำเนินงานไม่ได้ผลมากนัก ต่อมาจึงได้ล้มเลิกไป (9)
        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมุ่งมั่นที่จะให้ท้องถิ่นได้จัดการปกครองตนเองเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์จึงได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล” มี นายอาร์.ดี.เครก ที่ปรึกษากระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้นเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษาการดำเนินกิจการท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาพิจารณาจัดตั้งเทศบาลขึ้นในประเทศไทย ซึ่งปรากฏผลการศึกษาในสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ
        ๑. ควรตั้งกรมเทศบาลอยู่ในกระทรวงมหาดไทย
        ๒. การตราข้อบัญญัติและการทำงบประมาณต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการ
       กระทรวงมหาดไทย
        ๓. ควรแบ่งเทศบาลออกเป็น ๓ ชั้น โดยอาศัยหลักรายได้และจำนวนราษฎร ให้มี
       บทบัญญัติยกฐานะของเทศบาลได้ เมื่อรายได้และจำนวนราษฎรในเทศบาลเพิ่มขึ้นหรือลดลง
        ๔. ควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ที่มีสิทธิ
       ออกเสียงเลือกตั้งต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า ๑ ปี และเสียภาษีถึงจำนวนที่กำหนด
        ๕. ให้สภาเทศบาลมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และสมาชิกอีก ๔ คน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นเป็นกรรมการ (10)
       
        ผลจากการศึกษาของคณะกรรมการการจัดการประชาภิบาลดังกล่าวมีผลให้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาล” มีหม่อมเจ้าสกลวรรณากรเป็นประธาน แต่การดำเนินการเพื่อร่างกฎหมายว่าด้วยเทศบาลยังไม่ทันแล้วเสร็จเป็นพระราชบัญญัติ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เสียก่อน การดำเนินการจัดตั้งเทศบาลในครั้งนั้นจึงถูกยกเลิกไป
       
       ๑.๓ จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ไปสู่การกระจายอำนาจ
       ปกครองให้แก่ส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกด้วยการจัดตั้งเทศบาลในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
       
        ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร์ยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยก็ได้มีการจัดระเบียบการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้น กำหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารออกเป็น ๓ ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งการจัดระเบียบราชการบริหารเช่นนี้เป็นการนำหลักการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นมาใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้นใช้บังคับ มีการยกฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่ในขณะนั้นขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง กำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ในการจัดทำภารกิจต่าง ๆ ในเขตเทศบาลด้วย งบประมาณของเทศบาลเอง แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา จากนั้นก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๑ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖
        หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖ และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ขึ้นใช้บังคับ พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิ้นรวม ๑๒ ครั้ง โดยในครั้งสุดท้ายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖ รูปแบบและโครงสร้างของเทศบาลก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็น ดังนี้
       
        ๑.๓.๑ การจัดตั้งเทศบาล
       
        การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้น ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๗ ให้มีการจัดตั้งท้องถิ่นที่มีสภาพอันสมควรขึ้นเป็นเทศบาลมีฐานะเป็นทบวงการเมือง เทศบาลจึงเป็นนิติบุคคลมหาชน การจัดตั้งเทศบาลให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีการะบุชื่อและเขตของเทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประเภทของเทศบาลที่แบ่งตามจำนวนประชากร ความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อพื้นที่และรายได้ของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ
        ๑.๓.๑.๑ เทศบาลตำบล มาตรา ๙ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดไว้ว่า ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล โดยพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์แน่ชัดสำหรับท้องถิ่นที่จะจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบล กระทรวง มหาดไทยจึงได้วางแนวปฏิบัติในการกำหนดท้องถิ่นที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลตำบลไว้ ดังนี้(11)
       
        (ก) มีประชากรตั้งแต่ ๗,๐๐๐ คนขึ้นไป
        (ข) มีความหนาแน่นของประชากรตั้งแต่ ๑,๕๐๐ คนต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร
        (ค) มีรายได้เกินกว่า ๕ ล้านบาทขึ้นไปโดยไม่รวมเงินอุดหนุน
       
        ๑.๓.๑.๒ เทศบาลเมือง มาตรา ๑๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดไว้ว่า ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
       
        (ก) ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือ
        (ข) ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีลักษณะดังนี้
        (ข.๑) มีประชากรตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนขึ้นไป
        (ข.๒) มีความหนาแน่นของประชากรตั้งแต่ ๓,๐๐๐ คนต่อ
       ๑ ตาราง กิโลเมตร
        (ข.๓) มีรายได้เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำสำหรับเทศบาลเมืองตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
       
        ๑.๓.๑.๓ เทศบาลนคร มาตรา ๑๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดไว้ว่า ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีลักษณะดังนี้
       
        (ก) มีประชากรตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป
        (ข) มีความหนาแน่นของประชากรตั้งแต่ ๓,๐๐๐ คนต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร
        (ค) มีรายได้เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำสำหรับเทศบาลนครตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
        อย่างไรก็ดี เทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วอาจเปลี่ยนชื่อเทศบาลหรือเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ หรืออาจถูกเปลี่ยนแปลงฐานะหรือยุบเลิกเทศบาลได้โดยกระทำเป็นพระราชกฤษฎีกาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
       
        ๑.๓.๒ โครงสร้างของเทศบาล
       
        โครงสร้างของเทศบาลตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกอบด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี
       
        ๑.๓.๒.๑ สภาเทศบาล ประกอบด้วย
       
        (ก) ประธานสภาเทศบาลคนหนึ่ง
        (ข) รองประธานสภาเทศบาลคนหนึ่ง และ
        (ค) สมาชิกสภาเทศบาล สำหรับเทศบาลตำบลให้มีสมาชิกสภาเทศบาล ๑๒ คน เทศบาลเมืองให้มีสมาชิกสภาเทศบาล ๑๘ คน และเทศบาลนครให้มีสมาชิกสภาเทศบาล ๒๔ คน ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๕ แห่งกฎหมายว่าด้วย
       เทศบาล
        สมาชิกสภาเทศบาลมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ตามมาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๒ และสมาชิกสภาเทศบาลจะลงมติเลือกตั้งประธานสภาและรองประธานสภาจากสมาชิกทั้งหมด โดยมาตรา ๒๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาตามมติสมาชิกสภาเทศบาลดังกล่าว สมาชิกสภาเทศบาลจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
        สมาชิกภาพของสภาเทศบาลสิ้นสุดลงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ดังนี้ คือ
        ๑) ถึงคราวออกตามวาระหรือยุบสภาเทศบาล
        ๒) ตาย
        ๓) ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
        ๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งต้องให้ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดในกรณีที่ไม่มีศาลแขวงเป็นผู้วินิจฉัยตามวิธีพิจารณาของศาลนั้น ๆ
        ๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอบสวนแล้วสั่งให้ออกโดยเห็นว่าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลนั้น
        ๖) สภาเทศบาลวินิจฉัยให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่เสื่อมเสียแก่เทศบาล
        ๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง หรือเสื่อมเสียแก่เทศบาลหรือราชการ ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือไม่มาประชุมสภาเทศบาลสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร
        สำหรับเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลตามเหตุในข้อ ๔) กรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลแขวง หรือศาลจังหวัดในกรณีที่ไม่มีศาลแขวงเป็นผู้วินิจฉัย แต่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้วินิจฉัย และเหตุตามข้อ ๕) กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอบสวนแล้ว สั่งให้ออกโดยเห็นว่าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็ได้กำหนดให้อำนาจดังกล่าวเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นกัน
       
        ๑.๓.๒.๒ คณะเทศมนตรี ประกอบด้วย
       
        (ก) นายกเทศมนตรีคนหนึ่ง และ
        (ข) เทศมนตรี สำหรับเทศบาลตำบลและเทศบาลเมืองให้มีเทศมนตรี ๒ คน แต่ในกรณีที่เทศบาลเมืองแห่งใดมีรายได้จัดเก็บตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไปให้มีเทศมนตรี ๓ คน สำหรับเทศบาลนครให้มีเทศมนตรี ๔ คน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี โดยความเห็นชอบของสภาเทศบาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๒ และมาตรา ๕๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล หากประธานหรือรองประธานสภาเทศบาลได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาเทศบาลผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาเทศบาลตามมาตรา ๓๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙ คือ
        ๑) สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลชุดที่คณะเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ให้คณะเทศมนตรีที่ออกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการในหน้าที่ของคณะเทศมนตรีต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
        ๒) สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณ และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัตินั้น หรือสภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด
        ๓) ความเป็นเทศมนตรีของนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลง หรือเทศมนตรีต้องออกทั้งคณะ หรือ
        ๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะออกจากตำแหน่ง
       
        กรณีตาม ๒) ๓) หรือ ๔) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว หรือดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีใหม่ การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีใหม่ต้องทำภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง
        สำหรับเทศมนตรีนั้น ความเป็นเทศมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ดังนี้
        ๑) สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลสิ้นสุดลง
        ๒) ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
        ๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สอบสวนแล้วสั่งให้ออกโดยเห็นว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับเทศบาล หรือในกิจที่กระทำให้เทศบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
        ๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกเพราะเหตุปรากฏว่าเทศมนตรีผู้นั้นปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ
       
        อย่างไรก็ดี เหตุสิ้นสุดความเป็นเทศมนตรีตาม ๒) นั้น แต่เดิมพระราช บัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่ได้กำหนดให้การลาออกมีผลนับแต่วันที่ยื่นใบลาออกดังเช่นที่กล่าวข้างต้น แต่ได้กำหนดให้การลาออกของเทศมนตรีมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตอบรับใบลาเป็นหลักฐาน หากเป็นกรณีไม่ตอบรับต้องพ้นกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันที่รับใบลาออก การลาออกนั้นจึงมีผลสมบูรณ์โดยนับแต่วันที่พ้นกำหนด ๓๐ วัน
        คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกจากตำแหน่ง ไม่มีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรีอีกตลอดวาระของเทศบาลนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
        ในการดำเนินกิจการของเทศบาล คณะเทศมนตรีมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการบริหารกิจการของเทศบาล มีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า และพนักงานเทศบาลเป็น ผู้ปฏิบัติการของเทศบาล โดยมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาลตามมาตรา ๓๘ ส่วนสภาเทศบาลอาจตั้งกระทู้ถามคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ตามมาตรา ๓๑ และหากคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ให้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาเทศบาลหรือคณะเทศมนตรีเพื่อมีมติเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        นอกจากงานที่เป็นการดำเนินกิจการของเทศบาลแล้ว หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร ให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรี ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาลหรือหัวหน้าแขวงเทศบาลมีอำนาจหน้าที่เปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ตามมาตรา ๔๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๑ กำหนดอำนาจหน้าที่ดังกล่าวไว้แล้ว
        เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะท้องถิ่นใดขึ้นเป็นเทศบาลแล้ว ให้นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีทำหน้าที่อย่างเดียวกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่เฉพาะในเขตเทศบาลนั้น ๆ เท่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรและกำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยกำนันและผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาลนั้นจะต้องพ้นจากหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดอำนาจหน้าที่ที่นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีจะต้องกระทำแทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านไว้แล้ว(12)
       
        ๑.๓.๓ หน้าที่ของเทศบาล
       
        พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดหน้าที่ของเทศบาลออกเป็น ๒ ประการ คือ
       
        ๑. หน้าที่ที่เทศบาลต้องทำ ได้แก่ หน้าที่ที่กฎหมายจัดตั้งกำหนดให้เทศบาลต้องทำ
        ๒. หน้าที่ที่เทศบาลอาจจัดทำ ได้แก่ หน้าที่ที่กฎหมายจัดตั้งกำหนดให้เทศบาลพิจารณาจัดทำตามความสามารถและความจำเป็นของแต่ละเขตเทศบาล
       
        โดยหน้าที่ของเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนครนั้น พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดให้เทศบาลแต่ละประเภทมีหน้าที่มากน้อยแตกต่างกันตามขนาดของเทศบาลแต่ละประเภท
        หน้าที่ของเทศบาลแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๑๐ ประเภท ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล คือ
        ๑. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
        ๒. การสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกันและระงับโรคติดต่อ การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล การให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ ทางระบายน้ำ สถานที่รักษาคนเจ็บไข้ สุสานและฌาปนสถาน การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน ที่สาธารณและของท้องถิ่นทั่วไป และการจัดให้มีและบำรุงกิจการอย่างอื่นที่จำเป็นเพื่อการสาธารณสุข
        ๓. การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำ ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม
        ๔. การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ได้แก่ การให้มีไฟฟ้า ประปา น้ำสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ โรงรับจำนำ และสถานสินเชื่อท้องถิ่น การดับเพลิง และการป้องกันและระงับ สาธารณภัย
        ๕. การศึกษา ได้แก่ การจัดตั้งและบำรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา การศึกษาภาคบังคับ
        ๖. การสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ การให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
        ๗. การบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
        ๘. การสันทนาการ ได้แก่ การจัดให้มีและบำรุงสวนสาธารณะ สวนสัตว์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่สำหรับการกีฬา
        ๙. เทศพาณิชย์
        ๑๐. หน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยหรือกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล เช่น งานทะเบียนตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ งานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ งานจัดทำโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๔๐๙/ว.๑๑๙๕ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๒ เป็นต้น
       
        ๑.๓.๔ การจัดทำกิจการเทศบาล
       
        ๑.๓.๔.๑ พื้นที่จัดทำ แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดให้เทศบาลจัดทำกิจการได้เฉพาะในเขตพื้นที่ของเทศบาลเท่านั้น แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ กำหนดให้เทศบาลอาจจัดทำกิจการบางอย่างนอกเขตเทศบาลได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เทศบาลดำเนินกิจการในอำนาจหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น ดังนั้น เทศบาลจึงอาจจัดทำกิจการในหน้าที่ได้ ดังนี้
        (ก) ภายในเขตเทศบาล ตามหลักการเทศบาลต้องจัดทำกิจการในเขตท้องที่ของเทศบาลเอง ทั้งนี้ เพราะกิจการที่เทศบาลต้องจัดทำหรืออาจจัดทำเป็นกิจการในเขตท้องที่ของเทศบาลเอง ทั้งนี้ เพราะกิจการที่เทศบาลต้องจัดทำหรืออาจจัดทำเป็นกิจการที่มีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลนั้น ๆ
        (ข) ภายนอกเขตเทศบาล ในบางกิจการเทศบาลอาจทำกิจการนอกเขตเทศบาลได้ หากปรากฏว่ากิจการดังกล่าวเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำ และเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตเทศบาลของตน โดยเทศบาลที่จะจัดทำกิจการนอกเขตจะต้องได้รับความยินยอมจากสภาแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาเทศบาล สภาจังหวัด หรือสภาตำบล และจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๕๗ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
       
        ๑.๓.๔.๒ วิธีการจัดทำ การจัดทำกิจการต่าง ๆ ของเทศบาลนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดวิธีในการจัดทำกิจการไว้เพียงแต่เฉพาะเทศบาลเป็นผู้จัดทำเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ กำหนดให้เทศบาลสามารถลงทุนร่วมกับบุคคลอื่นได้ เทศบาลจึงสามารถจัดทำกิจการในอำนาจหน้าที่ได้หลายวิธี ได้แก่
        (ก) เทศบาลทำเอง
        (ข) เทศบาลจัดทำร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด
        (ค) สหการ
       
        กรณีเทศบาลจัดทำกิจการเองนั้น หมายถึง กิจการที่พนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงกิจการที่เทศบาลจ้างผู้อื่นดำเนินการในลักษณะจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของ เช่น หน้าที่ในการกำจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น
        กรณีเทศบาลจัดทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด วิธีการนี้เทศบาลสามารถจัดทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมีเงื่อนไขในการจัดทำสำหรับการร่วมทุนกับบริษัทจำกัดที่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ด้วยว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นจะต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค(13) และเทศบาลจะต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละเก้าสิบของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ซึ่งในกรณีที่มีหลายเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือองค์การบริหารส่วนตำบลถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียวกัน ให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกัน แต่สำหรับบริษัทจำกัดที่ไม่มีเอกชนถือหุ้นรวมอยู่ด้วย พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ตามมาตรา ๕๗ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
        กรณีเทศบาลจัดทำกิจการในรูปแบบสหการนั้น หมายถึง การที่เทศบาลตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปร่วมกันจัดตั้งองค์การโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดทำกิจการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาล โดยมีรายได้จากการสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์รวมทั้งอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สหการมีคณะกรรมการบริการที่ประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย การยุบเลิกสหการต้องกระทำโดยตราพระราชกฤษฎีกาเช่นกัน ดังที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
       
        ๑.๓.๕ เทศบัญญัติ
       
        พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดให้เทศบาลมีอำนาจออกข้อบังคับแห่งเทศบาล เรียกว่า “เทศบัญญัติ” โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย
       
        ๑.๓.๕.๑ เหตุที่จะออกเทศบัญญัติ เป็นไปตามมาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐ คือ เทศบาลอาจออกเทศบัญญัติได้ในกรณีดังต่อไปนี้
        (ก) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        (ข) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เทศบาลออกเทศบัญญัติ หรือให้อำนาจตราเทศบัญญัติ
        สำหรับการทำเทศพาณิชย์ต้องออกเป็นเทศบัญญัติเสมอ เว้นแต่กิจการที่มีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ จะไม่ออกเป็นเทศบัญญัติก็ได้ (มาตรา ๖๑)
       
        ๑.๓.๕.๒ ขั้นตอนในการออกเทศบัญญัติ เป็นไปตามมาตรา ๖๒ ถึงมาตรา ๖๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลโดยมี ๓ กรณีคือ
       
        (ก) กรณีเทศบัญญัติทั่วไป เมื่อสภาเทศบาลร่างเทศบัญญัติเสร็จแล้ว ในกรณีเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัติไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกรณีเทศบาลตำบลให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัติไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนด ๑๕ วัน ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับร่างที่เสนอมา ก็ให้ลงชื่ออนุมัติภายในกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัตินั้นจากประธานสภาเทศบาล หลังจากนั้นต้องประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาล ๗ วัน จึงมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน ถ้ามีความระบุไว้ในเทศบัญญัติว่าให้ใช้บังคับทันทีก็ให้ใช้บังคับทันที ก็ให้ใช้บังคับในวันที่ประกาศนั้น
        แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติที่เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งคืนเทศบัญญัตินั้นไปยังสภาเทศบาลเพื่อพิจารณาใหม่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติจากประธานสภาเทศบาล ถ้าสภาเทศบาลยืนยันตามร่างเดิม สภาเทศบาลต้องส่งร่างนั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับจากประธานสภาเทศบาล ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วยกับร่างที่เสนอ ให้ส่งกลับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อลงชื่ออนุมัติ ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นชอบด้วยกับร่างที่เสนอ ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นเป็นอันระงับไป
        (ข) กรณีเทศบัญญัติงบประมาณ ขั้นตอนในการเสนอร่างเทศบัญญัติงบประมาณนั้นดำเนินการเช่นเดียวกับการเสนอร่างเทศบัญญัติทั่วไป แต่หากเป็นกรณีที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณ ในกรณีเทศบาลตำบลให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็ว ในกรณีเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างนั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณ ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป
        ในกรณีที่เทศบัญญัติงบประมาณออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณปีนั้นไปพลางก่อนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        (ค) กรณีเทศบัญญัติชั่วคราว ในกรณีฉุกเฉิน สภาเทศบาลไม่อาจเรียกประชุมได้ทันท่วงที คณะเทศมนตรีอาจออกเทศบัญญัติชั่วคราวได้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้ว ก็ให้ใช้บังคับได้
        อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประชุมสภาเทศบาลคราวต่อไป คณะเทศมนตรีจะต้องนำเสนอเทศบัญญัติชั่วคราวนั้นต่อสภาเทศบาลเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาเทศบาลอนุมัติแล้ว เทศบัญญัติชั่วคราสนั้นก็เป็นเทศบัญญัติต่อไป แต่ถ้าสภาเทศบาลไม่อนุมัติ เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นอันตกไปใช้บังคับต่อไปไม่ได้ ส่วนกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างที่ใช้เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นถือว่ามีผลโดยชอบ การตกไปของเทศบัญญัติชั่วคราวไม่มีผลกระทบถึงกิจการดังกล่าว
        คำอนุมัติหรือไม่อนุมัติของสภาเทศบาลกรณีนี้ ต้องทำเป็นเทศบัญญัติ
       
        ๑.๓.๖ การงบประมาณและการคลัง
       
        โดยที่เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล เทศบาลจึงมีงบประมาณของตนเองและสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินและมีสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนเองได้ โดยในส่วนงบประมาณประจำปีนั้นเทศบาลต้องตราเป็นเทศบัญญัติงบประมาณประจำปีซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในส่วนเทศบัญญัติงบประมาณ สำหรับการจัดการเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของเทศบาลนั้น ให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคลังรวมตลอดถึงวิธีการงบประมาณ การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สิน การจัดหาพัสดุและการจ้างเหมาตามมาตรา ๖๙ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบการคลัง การบัญชี หรือการเงินอื่น ๆ ของเทศบาลปีละครั้งตามมาตรา ๗๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        สำหรับรายได้และรายจ่ายของเทศบาลนั้น พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดไว้ดังนี้
       
        ๑.๓.๖.๑ รายได้ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘ คือ เทศบาลอาจมีรายได้จากเงินดังต่อไปนี้
        (ก) รายได้จากภาษีตามที่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ (14)
        (ก.๑) ภาษีอากรที่เทศบาลจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและ
       ที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย และอากรฆ่าสัตว์
        (ก.๒) ภาษีที่รัฐจัดเก็บและแบ่งให้แก่เทศบาล ได้แก่ ภาษี
       มูลค่าเพิ่ม ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต และภาษีธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด
        (ก.๓) ภาษีอากรที่รัฐจัดเก็บและมอบให้เทศบาลทั้งจำนวน ได้แก่ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน
        (ข) รายได้จากค่าธรรมเรียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
        (ค) รายได้จากทรัพย์สินของเทศบาล
        (ง) รายได้จากสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์
        (จ) รายได้จากพันธบัตรเงินกู้ หรือเงินกู้ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
        (ฉ) เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ และนิติบุคคลต่าง ๆ ซึ่งกรณีการกู้เงินนี้แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดให้กู้เงินได้แต่เฉพาะจากกระทรวง ทบวง กรม และองค์การต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้มีการกู้เงินจากนิติบุคคลได้ด้วย
        (ช) รายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด
        (ซ) รายได้จากเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
        (ฌ) รายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
       
        ๑.๓.๖.๒ รายจ่าย เป็นไปตามมาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ คือ เทศบาลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้
        (ก) เงินเดือน
        (ข) ค่าจ้าง
        (ค) เงินตอบแทนอื่น ๆ เช่น เงินค่าป่วยการให้แก่นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล เงินค่าป่วยการให้แก่ประธานสภา รองประธานสภา สมาชิกสภาเทศบาล เงินค่าเบี้ยประชุมซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดตามฐานะของเทศบาล เป็นต้น
        (ง) ค่าใช้สอย
        (จ) ค่าวัสดุ
        (ฉ) ค่าครุภัณฑ์
        (ช) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
        (ซ) เงินอุดหนุน
        (ฌ) รายจ่ายอื่นใดที่มีผลผูกพันตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
        อนึ่ง ในส่วนรายจ่ายของเทศบาลนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดรายจ่ายไว้เพียง ๗ ประเภท ได้แก่ เงินเดือน ค่าใช้สอยรายจ่ายในการลงทุน การ ชำระหนี้เงินกู้ การจ่ายตามข้อผูกพัน และรายจ่ายในกิจการอื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนด แต่โดยที่การกำหนดรายจ่ายเช่นนี้มิได้มีการกำหนดความรับผิดชอบผูกพันการชำระเงินกู้ที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกันไว้ให้แน่นอน จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘ แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนรายจ่ายของเทศบาลให้รัดกุมยิ่งขึ้น (15) ดังที่ปรากฏข้างต้น
       
        ๑.๓.๗ การกำกับดูแลเทศบาล
       
        พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับเทศบาลไว้ ดังนี้
       
        ๑.๓.๗.๑ การกำกับดูแลการกระทำ มีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้น ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอำนาจดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถชี้แจง แนะนำ ตักเตือน และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้ ในกรณีนี้กฎหมายยังได้กำหนดให้อำนาจแก่นายอำเภอในการช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลเทศบาลอีกด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        เมื่อนายอำเภอในกรณีเทศบาลตำบล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเห็นว่า คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจก่อความเสียหายแก่เทศบาลหรือเสียหายแก่ทางราชการ และนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ได้ชี้แจง แนะนำ ตักเตือน แล้วไม่ปฏิบัติตามให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเพิกถอนหรือระงับการปฏิบัติของคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีไว้ก่อนได้ แล้วรีบรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายใน ๑๕ วัน เพื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะได้วินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา ๗๒ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
        นอกจากนี้ เมื่อมีความจำเป็นอาจให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงได้ โดยให้อำนาจหน้าที่ของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอันเกี่ยวกับเทศบาลเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย ตามมาตรา ๗๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
       
        ๑.๓.๗.๒ การกำกับดูแลตัวบุคคล ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า คณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้ ตามมาตรา ๗๓
        นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมีอำนาจยุบสภาเทศบาล เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งหรือแต่งตั้งสมาชิกเทศบาลใหม่ได้ ตามมาตรา ๗๔
       
       ๑.๔ จากเทศบาลไปสู่การจัดตั้งสุขาภิบาลในปี พ.ศ. ๒๔๙๕
       
        ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีการตรากฎหมายจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นใช้บังคับทั่วประเทศเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. ๑๒๗ กฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม ๒ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และใช้เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ขึ้นเพื่อเปลี่ยนฐานะของสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลให้มีฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล การเปลี่ยนฐานะดังกล่าวเนื่องมาจากการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลมีโครงสร้างไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลเองก็ยังมีความไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย
       
        สุขาภิบาลก่อนได้รับการยกเลิกตามกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล เป็นดังนี้
       
        ๑.๔.๑ โครงสร้างของสุขาภิบาล
       
        สุขาภิบาลจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นแห่ง ๆ ไปเช่นเดียวกับเทศบาล โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เช่น ต้องเป็นท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ มีพื้นที่และจำนวนราษฎรตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด การจัดตั้งสุขาภิบาลนั้น มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๙๕ ให้ทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยระบุชื่อและเขตของสุขาภิบาลไว้ด้วย
        สุขาภิบาลไม่มีสภาเป็นองค์กรที่ประชุมเหมือนกับสภาเทศบาลของเทศบาล แต่มี “คณะกรรมการสุขาภิบาล” ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง องค์กรที่ประชุมและองค์กรบริหารกิจการของสุขาภิบาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล
        คณะกรรมการสุขาภิบาลประกอบด้วย
        (๑) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแห่งท้องที่ที่สุขาภิบาลนั้นตั้งอยู่เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง หรือประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยการเลือกตั้ง
        เดิมนั้นประธานกรรมการสุขาภิบาล ได้แก่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแห่งท้องที่ที่สุขาภิบาลนั้นตั้งอยู่ แต่ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยเพิ่มมาตรา ๘ ทวิ เข้าไป กำหนดให้สุขาภิบาลที่มีฐานะการคลังเพียงพอที่จะบริหารงานประจำของสุขาภิบาลได้ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยสามารถมีประธานกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งได้
        (๒) ปลัดอำเภอแห่งอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่สุขาภิบาลนั้นตั้งอยู่แล้วแต่กรณี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งขึ้นจำนวน ๑ คน เป็นกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง
        (๓) กำนันแห่งตำบลซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของตำบลนั้นอยู่ในเขตสุขาภิบาล เป็นกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง
        (๔) ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งราษฎรในเขตสุขาภิบาลนั้นเลือกตั้งขึ้น ๙ คน
        กรรมการตาม (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
       
        ๑.๔.๒ อำนาจและหน้าที่ของสุขาภิบาล
       
        มาตรา ๒๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลได้กำหนดให้สุขาภิบาลอาจทำกิจการภายในเขตสุขาภิบาลได้รวม ๒๐ อย่าง เช่น การจำกัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การป้องกัน และระงับโรคติดต่อ การจัดให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง การสาธารณูปการ การป้องกันและระงับการส่งเสริมราษฎรให้ได้รับการศึกษาอบรม เป็นต้น
        นอกจากิจการภายในเขตสุขาภิบาล มาตรา ๒๕ ทวิ แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลยังกำหนดให้สุขาภิบาลสามารถทำกิจการนอกเขตได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่า การนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตสุขาภิบาล และได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาลหรือสภาจังหวัดแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย
        อนึ่ง มาตรา ๒๕ ตรี แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล ได้กำหนดถึงกรณีที่สุขาภิบาลอาจทำการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวและต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย
       
        ๑.๔.๓ ข้อบังคับสุขาภิบาล
       
        มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๙๕ กำหนดให้สุขาภิบาลมีอำนาจตราข้อบังคับสุขาภิบาลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อบังคับที่ใช้บังคับแก่ราษฎรในเขตสุขาภิบาลได้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในกรณีดังต่อไปนี้ คือ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล และในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้สุขาภิบาลออกข้อบังคับหรือให้มีอำนาจออกข้อบังคับได้
        ข้อบังคับสุขาภิบาลจะใช้บังคับได้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงชื่ออนุมัติ ข้อบังคับสุขาภิบาลจะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดได้ไม่เกิน ๑๐๐ บาท และถือว่าเป็นความผิดลหุโทษ
       
        ๑.๔.๔ การงบประมาณและการคลัง
       
        มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล ได้กำหนดถึงรายได้และรายจ่ายของสุขาภิบาลไว้ ดังนี้
        รายได้ เป็นไปตามมาตรา ๒๙ อันได้แก่ ภาษีอากรตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ รายได้จากทรัพย์สินของสุขาภิบาล รายได้จากการสาธารณูปโภคของสุขาภิบาล พันธบัตรหรือเงินกู้ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินที่มีผู้อุทิศให้เป็นการกุศลสาธารณประโยชน์ เงินรายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
        รายจ่าย เป็นไปตามมาตรา ๓๐ อันได้แก่ เงินเดือน ค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง รายจ่ายในการลงทุน การชำระหนี้เงินกู้ การชำระหนี้เงินกู้ การจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายในกิจการอื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
       
        ๑.๔.๕ การกำกับดูแลสุขาภิบาล
       
        มาตรา ๓๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสุขาภิบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือให้ระงับการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือขัดต่อระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และมีอำนาจหน้าที่ชี้แจง แนะนำ ตักเตือนสุขาภิบาล ตรวจสอบกิจการและเรียกรายงานเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากสุขาภิบาลมาตรวจตลอดจนเรียกพนักงานสุขาภิบาลหรือกรรมการสุขาภิบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนได้
       
       ๑.๕ จากสุขาภิบาลไปสู่การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี พ.ศ. ๒๔๙๘
       
        รูปแบบการปกครองประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยปรากฏมีการจัดตั้งสภาจังหวัดขึ้น ซึ่งสภาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นเป็นการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่กำหนดให้สภาจังหวัดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับงบประมาณที่ตั้งทางจังหวัด ตลอดจนการแบ่งสรรเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างเทศบาลในจังหวัด ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. ๒๔๘๑ ให้สภาจังหวัดแยกออกจากกฎหมายเทศบาล ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจังหวัด จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ทั้งนี้ เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นว่าประชาชนที่อยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาลควรจะได้มีการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประชาชนในเขตเทศบาลและสุขาภิบาลด้วย กฎหมายดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด จนครั้งสุดท้ายแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และใช้บังคับมาจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นดังนี้
       
        ๑.๕.๑ การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด
       
        องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดนอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนกลาง ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘
       
        ๑.๕.๒ โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
       
        โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ประกอบด้วย สภาจังหวัด คณะกรรมการสภาจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด
       
        ๑.๕.๒.๑ สภาจังหวัด มาตรา ๑๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด กำหนดไว้ประกอบด้วย
        (ก) ประธานสภาจังหวัด ๑ คน
        (ข) รองประธานสภาจังหวัด ๑ คน
        (ค) สมาชิกสภาจังหวัด จำนวนตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
        แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ กำหนดให้สมาชิกสภาจังหวัดประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ได้แก่
        ๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดอย่างน้อย ๑๒ คน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นอย่างน้อยอำเภอละ ๑ คน ถ้าอำเภอใดมีราษฎรเกิน ๓๐,๐๐๐ คน ให้อำเภอนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ๑ คนทุกสามหมื่น เศษของสามหมื่นถ้ากึ่งครึ่งให้นับเป็นสามหมื่น
        แต่ถ้าคำนวณตามเกณฑ์ข้างต้นยังไม่ได้จำนวนสมาชิกครบ ๑๒ คน ก็ให้ถือว่าอำเภอหนึ่งมีสมาชิกได้ ๑ คน และจนวนสมาชิกที่ยังขาดอยู่ให้คำนวณโดยเอาสิบสองหารจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับคำนวณสมาชิกเพิ่ม อำเภอใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุดให้อำเภอนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ๑ คน แล้วเอาผลลัพธ์หักจำนวนราษฎรของอำเภอนั้นออก เหลือเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนราษฎรของอำเภอนั้น ในการพิจารณาเพิ่มสมาชิกที่ยังขาดจำนวนอยู่ ให้กระทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไปจนได้สมาชิกครบจำนวน ๑๒ คน
        ๒) สมาชิกประเภทที่ ๒ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ประกอบด้วย ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งโดยเลือกจากนายกเทศมนตรี ประธานกรรมการสุขาภิบาล และผู้ที่มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และต้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด
        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่ององค์ประกอบของสมาชิกสภาจังหวัด โดยกำหนดให้สภาจังหวัดประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด โดยกำหนดจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดตามสัดส่วนของราษฎรในแต่ละจังหวัดตามหลักฐานทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ดังนี้
        ๒.๑) จังหวัดใดที่มีราษฎรไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ คน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้ ๑๘ คน
        ๒.๒) จังหวัดใดที่มีราษฎรเกิน ๒๐๐,๐๐๐ คน แต่ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้ ๒๔ คน
        ๒.๓) จังหวัดใดที่มีราษฎรเกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน แต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้ ๓๐ คน
        ๒.๔) จังหวัดใดที่มีราษฎรเกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คนขึ้นไป ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้ ๓๖ คน
        ในอำเภอหนึ่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้ ๑ คน เมื่อได้รวมจำนวนสมาชิกตามเกณฑ์ข้างต้นแล้วยังไม่ครบจำนวนสมาชิกที่จะมีการเลือกตั้งได้ ให้เอาจำนวนสมาชิกที่จังหวัดจะพึงมีได้ไปหารจำนวนราษฎรทั้งจังหวัด ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับคำนวณสมาชิกเพิ่ม โดยอำเภอใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุดให้อำเภอนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อีก ๑ คน แล้วให้เอาผลลัพธ์มาหักจากจำนวนราษฎรของอำเภอนั้น เหลือเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนราษฎรของอำเภอนั้น ในการพิจารณาเพิ่มสมาชิกที่ยังขาดจำนวนอยู่ ให้กระทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไปจนได้สมาชิกครบจำนวนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๐
        ประธานและรองประธานสภาจังหวัดนั้น มาตรา ๑๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาจังหวัด โดยเลือกจากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ สมาชิกสภาจังหวัดจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๕ ปี ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘
        สมาชิกภาพของสมาชิกสภาจังหวัดสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ คือ
        ๑) ถึงคราวออกตามวาระหรือยุบสภาจังหวัด
        ๒) ตาย
        ๓) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
        ๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบสวนแล้วสั่งให้ออก เมื่อปรากฏว่าต่อมาเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด
        ๕) สภาจังหวัดวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่สภา หรือกระทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของจังหวัด มติในข้อนนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง
        สำหรับเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาจังหวัดตามเหตุในข้อ ๓) นั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ไม่ได้กำหนดให้การลาออกมีผลนับแต่วันที่ยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ได้กำหนดให้การลาออกของสมาชิกสภาจังหวัดมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตอบรับใบลาเป็นหลักฐาน หากไม่ตอบรับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับใบลา ให้ถือว่าการลาออกมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่พ้น ๓๐ วัน
        สภาจังหวัดทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการดำเนินกิจการส่วนจังหวัด
       
        ๑.๕.๒.๒ คณะกรรมการสภาจังหวัด มาตรา ๓๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด กำหนดไว้ว่าประกอบด้วย
        (ก) คณะกรรมการสามัญประจำสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาจังหวัด โดยเลือกจากจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดที่มีอยู่
        (ข) คณะกรรมการวิสามัญซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาจังหวัด โดยเลือกจากจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดที่มีอยู่ หรือเลือกจากผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาจังหวัดก็ได้
       
        ๑.๕.๒.๓ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ร่วมงานอื่น ๆ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๙ คือ
        (ก) ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
        (ข) นายอำเภอ
        (ค) ข้าราชการส่วนจังหวัด
        โดยให้ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชารองจากผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด
        ในการดำเนินกิจการส่วนจังหวัดนั้น มาตรา ๒๙ กำหนดไว้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมติของสภาจังหวัด โดยในการประชุมพิจารณาของสภาจังหวัดนั้น คณะกรมการสภาจังหวัดจะเป็นผู้กระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใด ๆ อันอยู่ในวงงานของสภา แล้วรายงานต่อสภาตามมาตรา ๒๗ นอกจากนี้สมาชิกสภาจังหวัดมีสิทธิตั้งกระทู้ถามผู้ว่าราชการจังหวัดในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค คำสอบถามและการตอบให้บันทึกหรือทำเป็นหนังสือเสนอกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของจังหวัด หรือเกี่ยวกับนโยบายราชการบริหารส่วนกลางตามมาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
        ในเรื่องการตรวจสอบการกระทำกิจการของผู้ว่าราชการจังหวัดนี้แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้ของสมาชิกสภาจังหวัดเกี่ยวกับงานในกิจการส่วนจังหวัดได้ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของจังหวัด หรือเกี่ยวกับนโยบายราชการบริหารส่วนกลาง แต่บทบัญญัติในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ กลับไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะไม่ตอบกระทู้ของสมาชิกสภาจังหวัดเกี่ยวกับงานในอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมีผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ต้องตอบกระทู้ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งก็ได้มีการแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นดังที่ปรากฏข้างต้น
       
        ๑.๕.๓ หน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินกิจการส่วนจังหวัดภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลและกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล โดยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๑๑ ประเภท ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑ คือ
        ๑. การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
        ๒. การสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกันและบำบัดโรค การจัดตั้งและบำรุงสถานพยาบาล การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน ที่สาธารณะ การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล การจัดให้มีสุสานและฌาปนสถาน
        ๓. การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การจัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ ท่าเทียบเรือ
        ๔. การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ได้แก่ การให้มีและบำรุงไฟฟ้า ประปา น้ำสะอาด ตลาด การชลประทานราษฎร การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
        ๕. การศึกษา ได้แก่ การจัดการประถมศึกษา การอาชีวศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา และการส่งเสริมวัฒนธรรม
        ๖. การสังคมสงเคราะห์และการประกันสังคม
        ๗. การบำรุงส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
        ๘. การสันทนาการ ได้แก่ การจัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สถานที่ประชุมราษฎร
        ๙. แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายต้องแบ่งให้เทศบาลและสุขาภิบาล
        ๑๐. จัดการดูแล คุ้มครอง และหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนจังหวัด
        ๑๑. กิจการอื่นที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของราษฎรและท้องถิ่น หรือหน้าที่อื่นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่กิจการท้องถิ่น
        ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องดำเนินการภายในวงเงินงบประมาณที่ตั้งทางจังหวัดซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาจังหวัด
        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้มีหน้าที่ทำการพาณิชย์ และกำหนดหน้าที่ในการแบ่งสรรเงินให้กว้างขวางขึ้นจากเดิม กำหนดหน้าที่ต้องแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายต้องแบ่งให้แก่เทศบาลและสุขาภิบาลแก้ไขเป็นหน้าที่ในการแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น แม้ว่าในขณะนั้นราชการส่วนท้องถิ่นจะมีเพียงเทศบาลและสุขาภิบาลก็ตาม ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๑
       
        ๑.๕.๔ การจัดทำกิจการส่วนจังหวัด
       
        ๑.๕.๔.๑ พื้นที่จัดทำ แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำกิจการเฉพาะในเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการนอกเขตเทศบาลได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงอาจจัดทำกิจการในหน้าที่ได้ ดังนี้
        (ก) ภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
        (ข) ภายนอกเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยต้องปรากฏว่ากิจการดังกล่าวจำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตของตน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะจัดทำต้องได้รับความยินยอมจากสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑ ทวิ เพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
       
        ๑.๕.๔.๒ วิธีการจัดทำ การจัดทำกิจการส่วนจังหวัดนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดวิธีในการจัดทำกิจการไว้เพียงแต่เฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้จัดทำเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถลงทุนร่วมกับบุคคลอื่นได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงสามารถจัดทำกิจการส่วนจังหวัดได้ ๒ วิธี ได้แก่
       
        (ก) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำเอง
        (ข) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำเองร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด
        กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำเองนั้น หมายถึง กิจการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และหรือข้าราชการส่วนจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการซึ่งรวมถึงกิจการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจ้างบุคคลอื่นดำเนินการในลักษณะจ้างแรงงานหรือจ้างทำของด้วย
        กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการร่วมลงทุนในบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดในกรณีเทศบาลซึ่งกล่าวไว้แล้วข้างต้น(16) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
       
        ๑.๕.๕ ข้อบัญญัติจังหวัด
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจออกข้อบังคับแห่งท้องถิ่น เรียกว่า “ข้อบัญญัติจังหวัด” โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
        ๑.๕.๕.๑ เหตุที่จะออกข้อบัญญัติจังหวัด จะต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒ คือ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด
        (ก) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของจังหวัดที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด
        (ข) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกข้อบัญญัติจังหวัดหรือให้อำนาจออกข้อบัญญัติจังหวัด
        (ค) ในกรณีที่มีกฎหมายให้เทศบาลออกเทศบัญญัติหรือให้อำนาจออกเทศบัญญัติ จะมีพระราชกฤษฎีกาให้จังหวัดออกข้อบัญญัติจังหวัดก็ได้
        สำหรับการทำกิจการส่วนจังหวัดที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์ ต้องออกเป็นข้อบัญญัติจังหวัดเสมอ แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓ ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
       
        ๑.๕.๕.๒ ขั้นตอนในการออกข้อบัญญัติจังหวัด เป็นไปตามมาตรา ๓๔ ถึงมาตรา ๓๗ อันได้แก่
        (ก) กรณีข้อบัญญัติจังหวัดทั่วไปและข้อบัญญัติจังหวัดงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสมาชิกสภาจังหวัดจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติจังหวัด เมื่อสภาจังหวัดร่างข้อบัญญัติจังหวัดเสร็จแล้ว ให้นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยให้ลงชื่อภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างนั้น หลังจากนั้น ต้องประกาศไว้โดยเปิดเผยที่ศาลากลางจังหวัด ๑๕ วัน จึงมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน ถ้ามีข้อความระบุไว้ในข้อบัญญัติว่าให้ใช้บังคับทันที ก็ให้ใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศนั้น
        แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติจังหวัดที่เสนอมา ให้ส่งร่างข้อบัญญัติจังหวัดนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นชอบด้วยกับร่างที่เสนอ ให้ร่างข้อบัญญัติจังหวัดนั้นเป็นอันระงับไป
        (ข) กรณีข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราว ในกรณีฉุกเฉินไม่สามารถเรียกประชุมสภาจังหวัดได้ทันท่วงที ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจออกข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราวได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสามัญประจำสภาจังหวัด และเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่ศาลากลางจังหวัดแล้ว ก็ให้ใช้บังคับได้
        อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภาจังหวัดคราวต่อไป ให้นำข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราวเสนอต่อสภาจังหวัดพิจารณา ถ้าสภาจังหวัดมีมติอนุมัติก็ให้ข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราวนั้นเป็นอันใช้ได้ต่อไป ถ้าสภาจังหวัดมีมติไม่อนุมัติ ให้ข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราวนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ข้อบัญญัติจังหวัดชั่วคราวนั้น
       
        ๑.๕.๖ การงบประมาณและการคลัง
       
        องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงมีงบประมาณของตนเองและสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินและมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนเองได้ โดยในส่วนงบประมาณประจำปีต้องตราเป็นข้อบัญญัติจังหวัดสำหรับการจัดการเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนจังหวัด ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยในเรื่องดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
        สำหรับรายได้และรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดไว้ดังนี้
        ๑.๕.๖.๑ รายได้ เป็นไปตามมาตรา ๔๐ อันได้แก่
        (ก) รายได้จากภาษีอากรตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้
        (ข) รายได้จากค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้
        (ค) รายได้จากทรัพย์สินส่วนจังหวัด
        (ง) รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ของจังหวัด
        (จ) รายได้จากพันธบัตรหรือเงินกู้ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้
        (ฉ) รายได้จากเงินกู้จากระทรวง ทบวง กรม นิติบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ โดยจังหวัดต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกรณีเงินกู้นี้ แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ กำหนดให้กู้เงินได้แต่เฉพาะกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้มีการกู้เงินจากนิติบุคคลได้ด้วย
        (ช) รายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
        (ซ) รายได้จากเงินที่มีผู้อุทิศให้เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์
        (ฌ) รายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
        นอกจากนี้ ภาษีที่กฎหมายกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแบ่งให้เทศบาลหรือให้เทศบาลจัดเก็บเพิ่มเติมนั้น จะตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วน หรือปันให้จังหวัด หรือให้จังหวัดจัดเก็บ หรือจัดเก็บเพิ่มขึ้นเฉพาะท้องที่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาลเพื่อกิจการส่วนจังหวัดด้วยก็ได้ อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการเพิ่มเติมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแบ่งส่วน หรือปัน หรือจัดเก็บ หรือจัดเก็บเพิ่มขึ้นในส่วนอากรค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ และค่าผลประโยชน์ ซึ่งเป็นรายได้เทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยรายได้เทศบาล ทั้งนี้ เพื่อกิจการส่วนจังหวัดได้อีกด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙
       
        ๑.๕.๖.๒ รายจ่าย เป็นไปตามมาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๖ อันได้แก่
        (ก) เงินเดือน
        (ข) ค่าจ้าง
        (ค) ค่าตอบแทนอื่น ๆ
        (ง) ค่าใช้สอย
        (จ) ค่าวัสดุ
        (ฉ) ค่าครุภัณฑ์
        (ช) ค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
        (ซ) เงินอุดหนุน
        (ฌ) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
        อนึ่ง ในส่วนรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น แต่เดิมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดรายจ่ายไว้ ๗ ประเภท ได้แก่ เงินเดือน ค่าใช้สอย ค่าจ้าง รายจ่ายในการลงทุน การชำระหนี้เงินกู้ รายจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายอื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนด แต่โดยที่รายจ่ายดังกล่าวยังไม่เหมาะสม จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๖ ให้สอดคล้องกับหลักงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล(17) ดังที่ปรากฏข้างต้น
       
        ๑.๕.๗ การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัด
       
        ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนี้
       
        ๑.๕.๗.๑ การยุบสภาจังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่จะยุบสภาจังหวัดเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ได้ แต่คำสั่งยุบสภาจังหวัดต้องแสดงเหตุผลและกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายใน ๙๐ วัน
        ๑.๕.๗.๒ การเพิกถอนมติสภาจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นผู้แทนของราชการบริหารส่วนกลางในส่วนภูมิภาคมีอำนาจเพิกถอนมติของสภาจังหวัดที่มิใช่ข้อบัญญัติจังหวัดได้เมื่อเห็นว่ามตินั้นเป็นการเมืองแห่งรัฐหรือฝ่าฝืนกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับของทางราชการ หรือนอกเหนือกิจการส่วนจังหวัด แต่ต้องสั่งเพิกถอนภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่สภาจังหวัดมีมติ ถ้าพ้นกำหนด ๖๐ วันแล้วจะสั่งเพิกถอนไม่ได้และต้องปฏิบัติตามมตินั้น
        สภาจังหวัดจะอภิปรายคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเพิกถอนมติของสภาจังหวัดไม่ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
       
       ๑.๖ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดไปสู่การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลในปี
       พ.ศ. ๒๔๙๙
       
        ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ขึ้นใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไดกำหนดเพิ่มการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ในครั้งนี้จึงเกิดมีการปกครองในรูปแบบ “สภาตำบล” ขึ้น โดยมีแนวความคิดมาจากการที่การปกครองท้องที่ตำบล หมู่บ้าน ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีความเจริญพอจะยกระดับขึ้นเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลหรือสุขาภิบาลได้ ดังนั้น การจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจึงจำเป็นจะต้องฝึกสอนและให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสร่วมฝึกปฏิบัติด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งที่ ๒๒๒/๒๔๙๙ ให้จัดตั้งสภาตำบลขึ้น
        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เช่นกันได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ. ๒๔๙๙ จัดตั้งหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เรียกว่า “องค์การบริหารส่วนตำบล” ขึ้น ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด
        ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีการจัดรูปแบบการบริหารงานในตำบลใหม่ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งที่ ๒๗๕/๒๕๐๙ มายกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๒๒/๒๔๙๙ โดยปรับปรุงสภาตำบลที่เคยกำหนดแยกเป็นฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร เปลี่ยนเป็นรูปแบบการบริหารในรูปคณะกรมการ เรียกว่า “คณะกรรมการสภาตำบล”
        ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ขึ้น ยกเลิกหน่วยการปกครองแบบองค์การบริหารส่วนตำบลและสภาตำบลเดิมเปลี่ยนเป็น “สภาตำบล” มีคณะกรรมการสภาตำบลที่มีกำนันเป็นประธาน มีผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรหมู่บ้านละ ๑ คน เป็นกรรมการ ซึ่งรูปแบบคณะกรรมการสภาตำบลใหม่นี้คล้ายคลึงกับคณะกรรมการสภาตำบลตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ๒๗๕/๒๕๐๙
        ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ขึ้นใช้บังคับ โดยเหตุผลหลักในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้เนื่องจากสภาตำบลตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถบริหารและดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายฉบับนี้ยังคงใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างของสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นดังนี้
       
        ๑.๖.๑ สภาตำบล
       
        ๑.๖.๑.๑ การจัดตั้งสภาตำบล
       
        ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้ตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองส่วนท้องที่ส่วนที่อยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาลมีสภาตำบลทำหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ และมาตรา ๖ แห่งกฎหมายดังกล่าว
       
        ๑.๖.๑.๒ โครงสร้างของสภาตำบล
       
        โครงสร้างของสภาตำบลตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบด้วย
        ๑. สมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล และแพทย์ประจำตำบล
        ๒. สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้น หมู่บ้านละ ๑ คน
        สภาตำบลมีกำนันเป็นประธานสภาตำบลและมีรองประธานสภาตำบล ๑ คน ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากสมาชิกสภาตำบลตามมติสภาตำบลตามมาตรา ๘
        สมาชิกสภาตำบลจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ตามมาตรา ๑๑
        สมาชิกภาพของสมาชิกสภาตำบลสิ้นสุดลงเพราะเหตุดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล คือ
        ๑. ตาย
        ๒. ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ โดยถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
        ๓. มีการยุบสภาตำบล
        ๔. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับสภาตำบล หรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบล ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสมาชิกสภาตำบลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับสภาตำบลหรือในกิจการที่ได้กระทำให้แก่สภาตำบลอยู่ก่อนดำรงตำแหน่ง
        ๕. สภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของตำบล มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาตำบลเท่าที่มีอยู่
        ๖. นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้ง หรือไม่ได้อยู่ประจำหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันเกิน ๖ เดือน หรือขาดประชุมสภาตำบลติดต่อกัน ๓ ครั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร
        ๗. ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าบกพร่องในทางความประพฤติ
        ประธานสภาตำบลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการสภาตำบลตามมติของสภาตำบล
       
        ๑.๖.๑.๓ หน้าที่ของสภาตำบล
       
        มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้สภาตำบลมีหน้าที่ในการพัฒนาตำบลตามแผนงานโครงการและงบประมาณของสภาตำบล เสนอแนะส่วนราชการในการบริหารราชการและพัฒนาตำบล ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
        นอกจากนี้ สภาตำบลอาจดำเนินกิจการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ คือ
        ๑. จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
        ๒. จัดให้มีน้ำและบำรุงทางน้ำและทางบก
        ๓. จัดให้มีน้ำและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
        ๔. คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        ๕. บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
        ๖. ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
        ๑.๖.๑.๔ การจัดทำกิจการสภาตำบล
       
        (ก) พื้นที่จัดทำ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้สภาตำบลจัดทำกิจการได้ ดังนี้
        (ก.๑) ภายในเขตสภาตำบลตามมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก.๒) ภายนอกเขตสภาตำบล โดยต้องปรากฏว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและได้รับความยินยอมจากท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
        (ข) วิธีการจัดทำ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้สภาตำบลสามารถจัดทำกิจการโดยวิธีดังต่อไปนี้
        (ข.๑) สภาตำบลจัดทำเอง
        (ข.๒) สภาตำบลร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น จัดทำกิจการร่วมกัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและได้รับความยินยอมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       
        ๑.๖.๑.๕ ข้อบังคับสภาตำบล
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ไม่ได้กำหนดให้อำนาจสภาตำบลออกข้อบังคับแห่งสภาตำบลขึ้นใช้บังคับในเขตสภาตำบลของตนเอง เว้นแต่สภาตำบลมีอำนาจในการออกข้อบังคับสภาตำบลเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของตนเอง โดยให้จัดทำตามระเบียบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดตามมาตรา ๓๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
        ข้อบังคับสภาตำบลที่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาตำบลเสนอนายอำเภอเพื่ออนุมัติ
        ส่วนการปฏิบัติหน้าที่หรือการทำกิจการใด ๆ ของสภาตำบล รวมทั้งวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการคลัง การงบประมาณ การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจัดหาพัสดุและการจ้างเหมานั้นให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
        ๑.๖.๑.๖ การงบประมาณและการคลัง
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของสภาตำบล ดังนี้
        (ก) รายได้ กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑ อันได้แก่ รายได้จากทรัพย์สินของสภาตำบล รายได้จากสาธารณูปโภคของสภาตำบล เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ เงินอุดหนุนและรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้ รายได้อื่นตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นของสภาตำบล
        (ข) รายจ่าย กำหนดไว้ในมาตรา ๓๓ อันได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนอื่น ๆ ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ ค่าสาธารณูปโภค เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
       
        ๑.๖.๑๗ การกำกับดูแลสภาตำบล
       
        ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับสภาตำบล ดังนี้
        (ก) การกำกับดูแลการกระทำ มาตรา ๓๘ กำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
        ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการของสภาตำบลไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ นายอำเภอมีอำนาจยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้ และรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อวินิจฉัย
        ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าว
        ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลเป็นไป โดยชอบแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเพิกถอนการยับยั้งของนายอำเภอ
        แต่ถ้านายอำเภอไม่รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ยับยั้ง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไม่วินิจฉัยภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้การยับยั้งของนายอำเภอและอำนาจสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
        (ข) การกำกับดูแลตัวบุคคล มาตรา ๓๙ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาตำบลได้ หากปรากฏว่าสภาตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่
        นอกจากนี้ ในกรณีที่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบสภาตำบลเป็นผลมาจากการกระทำของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งเป็นสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง หรือบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกระทำด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งโดยให้ถือเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ด้วย
       
        ๑.๖.๒ องค์การบริหารส่วนตำบล
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน ๓ ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท หรือตามเกณฑ์เฉลี่ยตามที่ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยอาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๔๔ โดยให้สภาตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล พ้นจากสภาพแห่งสภาตำบลนับแต่วันที่ได้มีประกาศจัดตั้งเป็นต้นไป ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
       
        ๑.๖.๒.๑ โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบล
       
        โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก) สภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาตรา ๔๕ กำหนดไว้ว่า ได้แก่
        (ก.๑) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยตำแหน่ง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล
        (ก.๒) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลหมู่บ้านละ ๒ คน
        สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วย ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งนายอำเภอได้แต่งตั้งขึ้นตามมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๘
        สมาชิกภาพของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง เพราะเหตุเช่นเดียวกับสมาชิกสภาตำบล(18)
        สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๖ ดังนี้
        ๑. ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล
        ๒. พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับสภาตำบลร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
        ๓. ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบล
       
        (ข) คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ ผู้ที่นายอำเภอแต่งตั้งขึ้นตามมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๕๘ คือ
        (ข.๑) กำนัน
        (ข.๒) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่เกิน ๒ คน
        (ข.๓) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งไม่เกิน ๔ คน
        คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย ประธานกรมการบริหารและกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
        ประธานคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๒ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล คือ
        (๑) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ (๔ ปี)
        (๒) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอโดยให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
        (๓) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
        กรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔ คือ
        (๑) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นอายุหรือยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
        (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่
        (๓) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอโดยให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
        (๔) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
        (๕) ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
        (๖) สภาตำบลมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดให้พ้นจากตำแหน่ง
        ในกรณีกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลผู้นั้นเป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเพราะเหตุบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ด้วย
       
        ๑.๖.๒.๒ หน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล
       
        ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ดังนี้
        (ก) หน้าที่ต้องทำ กำหนดไว้ในมาตรา ๖๗ อันได้แก่
        (ก.๑) จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
        (ก.๒) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูล
        (ก.๓) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
        (ก.๔) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
        (ก.๕) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
        (ก.๖) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
        (ก.๗) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        (ก.๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
        (ข) หน้าที่อาจจัดทำ กำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ อันได้แก่
        (ข.๑) ให้มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร
        (ข.๒) ให้มีน้ำและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
        (ข.๓) ให้มีน้ำและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
        (ข.๔) ให้มีน้ำและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
        (ข.๕) ให้มีน้ำและส่งเสริมกลุ่มเกษตรและกิจการสหกรณ์
        (ข.๖) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
        (ข.๗) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
        (ข.๘) คุ้มครอง ดูแล และรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
        (ข.๙) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
        (ข.๑๐) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
        (ข.๑๑) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
       
        ๑.๖.๒.๓ การจัดทำกิจการองค์การบริหารส่วนตำบล
       
        (ก) พื้นที่จัดทำ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำกิจการได้ดังนี้
        (ก.๑) ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก.๒) ภายนอกเขตองค์การบริหารส่วนตำบล โดยต้องปรากฏว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ทั้งนี้ โดยได้รับความยินยอมจากท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๓
        (ข) วิธีการจัดทำ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลสามารถจัดทำกิจการโดยวิธีดังนี้
        (ข.๑) องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำเอง
        (ข.๒) องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ทั้งนี้ โดยได้รับความยินยอมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       
        ๑.๖.๒.๔ ข้อบังคับตำบล
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบังคับแห่งท้องถิ่นได้ เรียกว่า “ข้อบังคับตำบล” ได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล
        ขั้นตอนในการออกข้อบังคับตำบลเป็นไปตามมาตรา ๗๑ คือ คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีสิทธิเสนอร่างข้อบังคับตำบล เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับ ให้ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศใช้เป็นข้อบังคับตำบลต่อไป
        ในกรณีที่นายอำเภอไม่เห็นชอบด้วยร่างข้อบังคับตำบล ให้ส่งคืนร่างข้อบังคับไปยังสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับตำบลดังกล่าว เพื่อให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบังคับตำบลใหม่ แต่ถ้าร่างข้อบังคับตำบลนั้นเป็นร่างข้อบังคับที่กำหนดให้มีโทษปรับ เมื่อนายอำเภอไม่เห็นชอบด้วย ให้ร่างข้อบังคับตำบลนั้นตกไป เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบมวนร่างข้อบังคับที่นายอำเภอส่งคืนมาแล้ว มีมติยืนยันตามร่างข้อบังคับเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานคณะกรรมการบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศใช้เป็นข้อบังคับตำบลโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายอำเภอ แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ยืนยันภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับคืนจากนายอำเภอ หรือยืนยันด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างข้อบังคับตำบลนั้นตกไป
       
        ๑.๖.๒.๕ การงบประมาณและการคลัง
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล ดังนี้
        (ก) รายได้ กำหนดไว้ในมาตรา ๘๒ อันได้แก่
        (ก.๑) รายได้จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก.๒) รายได้จากสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก.๓) รายได้จากกิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล
        (ก.๔) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
        (ก.๕) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้
        (ก.๖) รายได้อื่นตามที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้
        (ก.๗) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
        (ก.๘) รายได้อื่นตามที่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล
        (ข) รายจ่าย กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕ อันได้แก่
        (ข.๑) เงินเดือน
        (ข.๒) ค่าจ้าง
        (ข.๓) ค่าตอบแทนอื่น ๆ
        (ข.๔) ค่าใช้สอย
        (ข.๕) ค่าวัสดุ
        (ข.๖) ค่าครุภัณฑ์
        (ข.๗) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
        (ข.๘) ค่าสาธารณูปโภค
        (ข.๙) เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น
        (ข.๑๐) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
       
        ๑.๖.๒.๖ การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล
       
        พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์การปกครองส่วนกลางกับองค์การบริหารส่วนตำบล ดังนี้
        (ก) การกำกับดูแลกิจการ มาตรา ๙๐ กำหนดไว้ให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นายอำเภอมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจง สอบสวน ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใด ๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบได้
        (ข) การควบคุมตัวบุคคล มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ กำหนดไว้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ หากปรากฏว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่
        ในกรณีที่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผลจากการกระทำของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งหรือบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกระทำการด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งโดยถือว่าเป็นการออกจากตำแหน่งเพราะเหตุบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
        นอกจากนี้ หากปรากฏว่าคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งคณะหรือกรรมการบริหารส่วนตำบลบางคนออกจากตำแหน่งได้
        ในกรณีที่การกระทำอันเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งคณะหรือกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนพ้นจากตำแหน่งเป็นผลจากการกระทำของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านผู้นั้นออกจากตำแหน่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเพราะเหตุบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
       
       ๑.๗ จากการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปไปสู่การจัดตั้งองค์กรปกครอง
       ส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ : กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
       
        นอกเหนือจากการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล ซึ่งสามารถจัดให้มีขึ้นทั่วประเทศในพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้ว ประเทศไทยยังมีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นอีกสองแห่ง คือ การจัดการปกครองท้องถิ่นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งมีการจัดรูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นแตกต่างจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปแบบอื่น ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
       
        ๑.๗.๑ กรุงเทพมหานคร
       
        การจัดการปกครองท้องถิ่นกรุงเทพมหานครนั้น แต่เดิมมีการจัดตั้งเป็นเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖
        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน (19) เรียกว่า “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้รวมเทศบาลกรุงเทพธนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยในส่วยท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีอีกตำแหน่งด้วย
        ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ปรับปรุงการจัดการปกครองจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็น “กรุงเทพมหานคร” จัดการปกครองแบบราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร และมีสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยกเลิกเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีซึ่งเป็นการปกครองแบบราชการส่วนท้องถิ่น
        ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ได้เปลี่ยนการปกครองกรุงเทพมหานครจากราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่นมาเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว กรุงเทพมหานครจึงไม่มีฐานะเป็นจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคซ้อนอยู่เช่นจังหวัดอื่น ๆ อีกต่อไป(20) โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหารได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
        ในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตรา ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างของกรุงเทพมหานครก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นดังนี้
       
        ๑.๗.๑.๑ การจัดตั้งกรุงเทพมหานคร
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ และมีการแบ่งพื้นที่การบริหารออกเป็นเขตและแขวงตามมาตรา ๗
       
        ๑.๗.๑.๒ โครงสร้างของกรุงเทพมหานคร
       
        โครงสร้างของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบด้วย สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
        (ก) สภากรุงเทพมหานคร มาตรา ๑๐ บัญญัติให้ประกอบด้วย
        (ก.๑) ประธานสภากรุงเทพมหานคร ๑ คน
        (ก.๒) รองประธานสภากรุงเทพมหานครไม่เกิน ๒ คน
        (ก.๓) สมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามจำนวนเขตเลือกตั้งละ
       ๑ คน(21)
        สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตกรุงเทพมหานครดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑
        ประธานและรองประธานสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของสภากรุงเทพมหานครที่เลือกจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมดตามมาตรา ๒๕
        สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗
        สมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครสิ้นสุดเพราะเหตุดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ คือ
        ๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภากรุงเทพมหานคร หรือมีการยุบสภากรุงเทพมหานคร
        ๒) ตาย
        ๓) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภา
       กรุงเทพมหานครและให้มีผลนับแต่วันถัดจากวันยื่นหนังสือลาออก
        ๔) ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
        ๕) ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร หรือบริษัทซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้นหรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
        ๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
        ๗) ขาดการประชุมสภากรุงเทพมหานครตลอดสมัยประชุมที่มีการกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภากรุงเทพมหานคร
        ๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร้องขอ หรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาและสภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้ออก เพราะเห็นว่า ได้กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง มติของสภากรุงเทพมหานครกรณีนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
        (ข) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมดำเนินการ ได้แก่
        (ข.๑) รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกิน ๔ คน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๕
        (ข.๒) เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ๑ คน และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินจำนวนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๖
        (ข.๓) ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี) จำนวนรวมกันไม่เกิน ๙ คน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗
       
        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
        การดำเนินกิจการของกรุงเทพมหานครนั้น มาตรา ๕๐ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีสิทธิตั้งกระทู้ถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับงามในหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของกรุงเทพมหานครตามมาตรา ๓๖
        นอกจากนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้ด้วยตามมาตรา ๓๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
       
        ๑.๗.๑.๓ หน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
       
        มาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๑๓ ประเภท ดังนี้
        ๑. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
        ๒. การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
        ๓. การสาธารณสุข ได้แก่ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การอนามัยครอบครัว การรักษาพยาบาล
        ๔. การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การจัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ การขนส่ง การวิศวกรรมจราจร ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม
        ๕. การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น การจัดให้มีตลาด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์ การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออักและจัดที่อยู่อาศัย การควบคุมความปลอดภัยและการรักษาอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
        ๖. การผังเมือง การควบคุมอาคาร
        ๗. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
        ๘. การศึกษาและส่งเสริมการกีฬา
        ๙. การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
        ๑๐. การสังคมสงเคราะห์และการส่งเสริมการประกอบอาชีพ
        ๑๑. การสันทนาการ เช่น ให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
        ๑๒. การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
        ๑๓. หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
        นอกจากนี้ บรรดาอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะมอบให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติก็ได้ โดยต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี โดยในกรณีที่ทำเป็นข้อบังคับหรือประกาศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
       
        ๑.๗.๑.๔ การจัดทำกิจการกรุงเทพมหานคร
       
        (ก) พื้นที่จัดทำ ได้แก่
        (ก.๑) ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา ๘๙
        (ก.๒) ภายนอกเขตกรุงเทพมหานคร โดยต้องปรากฏว่ากิจการดังกล่าวจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ตามมาตรา ๙๓
        (ข) วิธีการจัดทำ กรุงเทพมหานครอาจจัดทำกิจการกรุงเทพมหานครได้หลายวิธี ดังนี้
        (ข.๑) กรุงเทพมหานครจัดทำเอง
        (ข.๒) กรุงเทพมหานครจัดทำร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด
        (ข.๓) สหการ
        (ข.๔) กรุงเทพมหานครมอบให้เอกชนกระทำกิจการแทน
        กรณีกรุงเทพมหานครจัดทำกิจการเองนั้น หมายถึง กิจการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ/หรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร และ/หรือลูกจ้างกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงกิจการที่กรุงเทพมหานครจ้างบุคคลอื่นดำเนินการในลักษณะจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของด้วย
        กรณีกรุงเทพมหานครจัดทำร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดกรุงเทพมหานครจะกระทำกิจการดังกล่าวได้ต่อเมื่อสภากรุงเทพมหานครมีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทที่จัดตั้งหรือถือหุ้นนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค และกรุงเทพมหานครต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ตามมาตรา ๙๔
        กรณีสหการนั้น กรุงเทพมหานครอาจดำเนินกิจการในอำนาจหน้าที่ร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยจัดตั้งเป็นสหการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนของกรุงเทพมหานครและองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา ๙๕
        กรณีมอบให้เอกชนกระทำกิจการแทนนั้น กรุงเทพมหานครอาจมอบกิจการในอำนาจหน้าที่ให้เอกชนกระทำแทนได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนตามมาตรา ๙๖
       
        ๑.๗.๑.๕ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบังคับแห่งท้องถิ่น เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร”
        (ก) เหตุที่จะออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามมาตรา ๙๗
       อันได้แก่
       
        (ก.๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ
       กรุงเทพมหานคร
        (ก.๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจตรา
       ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
        (ก.๓) การดำเนินการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร
        (ก.๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ
        (ข) ขั้นตอนในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามมาตรา ๙๘ ถึงมาตรา ๑๐๘ มี ๓ กรณี คือ
        (ข.๑) กรณีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครทั่วไป
        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยกรณีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครลงนามรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด
        เมื่อสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครภายใน ๗ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครที่ผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานคร
        แต่ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยร่างข้อบัญญัติที่เสนอ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยให้สภากรุงเทพมหานครภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับร่างข้อบัญญัติจากสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ส่งให้สภากรุงเทพมหานครภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วย และให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับต่อไป
        ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยและส่งให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ สภากรุงเทพมหานครจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาล่วงพ้นไป ๓๐ วันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งกลับให้สภากรุงเทพมหานคร
        ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องลงนามในร่างข้อบัญญัติดังกล่าวแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากสภากรุงเทพมหานคร ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ลงนามภายในเวลาที่กำหนด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับ
        ส่วนร่างข้อบัญญัติที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วย ให้เป็นอันตกไป ซึ่งร่างที่ตกไปนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเสนอใหม่ได้เมื่อพ้น ๑๘๐ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น
        ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครสิ้นอายุหรือมีการยุบสภากรุงเทพมหานคร บรรดาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่สภากรุงเทพมหานครยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบหรือที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมิได้ลงนามและประกาศใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานครให้เป็นอันตกไป
        (ข.๒) กรณีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเงิน
        การเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอ กรณีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เว้นแต่งบประมาณรายจ่ายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอเท่านั้น
        การพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเงินจนประกาศใช้บังคับ กระทำเช่นเดียวกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครทั่วไป เว้นแต่การพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครนั้น ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครเลือกคณะกรรมการวิสามัญ(22) เพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับได้
        กรณีสภากรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน ๘ คน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน ๗ คน เป็นคณะกรรมการร่วมพิจารณาหาข้อยุติ แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อสภากรุงเทพมหานครภายใน ๑๐ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการร่วม
        ถ้าสภากรุงเทพมหานครยังไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเป็นอันตกไปและให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครถ้ามีข้อเสนอของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
        ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภากรุงเทพมหานครจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๔๕ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นครั้งแรก
        ถ้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับได้
        (ข.๓) กรณีข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร
        ในระหว่างที่ไม่มีสภากรุงเทพมหานครหรือในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครให้ทันท่วงทีไม่ได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกข้อกำหนดกรุงเทพมหานครใช้บังคับดังเช่นข้อบัญญัติ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
        อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครคราวต่อไปให้นำข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่ออนุมัติ ถ้าสภากรุงเทพมหานครอนุมัติแล้ว ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป ถ้าสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติ ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไประหว่างที่ใช้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้น
        การอนุมัติหรือไม่อนุมัติข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       
        ๑.๗.๑.๖ การงบประมาณและการคลัง
       
        กรุงเทพมหานครมีการจัดการการคลังและทรัพย์สินของตนเอง โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดประเภทรายได้และรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ดังนี้
        (ก) รายได้ กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๗ อันได้แก่
        (ก.๑) รายได้จากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร
        (ก.๒) รายได้จากการสาธารณูปโภคของกรุงเทพมหานคร
        (ก.๓) รายได้จากการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร การทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่น หรือสหการ
        (ก.๔) ภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นของเทศบาลหรือของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ
        (ก.๕) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้
        (ก.๖) ค่าบริการ
        (ก.๗) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตร เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
        (ก.๘) เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคล อื่น ๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
        (ก.๙) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนราชการ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และเงินสมทบจากรัฐบาล
        (ก.๑๐) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
        (ก.๑๑) เงินกู้จากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การะหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
        (ก.๑๒) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
        (ก.๑๓) เงินช่วยเหลือหรือเงินค่าตอบแทน
        (ก.๑๔) รายได้จากทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อแสวงหากำไรในกรุงเทพมหานครตามที่จะมีกฎหมายกำหนด
        (ก.๑๕) รายได้จากการเก็บภาษีทรัพย์สินหรือค่าธรรมเนียมพิเศษตามที่จะมีกฎหมายพิเศษกำหนด
        (ก.๑๖) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของกรุงเทพมหานคร
        (ข) รายจ่าย กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ อันได้แก่
        (ข.๑) เงินเดือน
        (ข.๒) ค่าจ้างประจำ
        (ข.๓) ค่าจ้างชั่วคราว
        (ข.๔) ค่าตอบแทน
        (ข.๕) ค่าใช้สอย
        (ข.๖) ค่าสาธารณูปโภค
        (ข.๗) ค่าวัสดุ
        (ข.๘) ค่าครุภัณฑ์
        (ข.๙) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
        (ข.๑๐) รายจ่ายอื่นตามกฎหมายหรือระเบียบของ
       กรุงเทพมหานคร
        (ข.๑๑) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
       
        ๑.๗.๑.๗ การกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับกรุงเทพมหานคร ดังนี้
        (ก) การกำกับดูแลการกระทำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร เพื่อการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานครในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การปฏิบัติใด ๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขัดต่อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒๓
        (ข) การกำกับดูแลทางการเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้แก่กรุงเทพมหานครได้ ตามมาตรา ๑๒๒
       
        ๑.๗.๒ เมืองพัทยา
       
        การจัดการปกครองเมืองพัทยานั้น สืบเนื่องมาจากความต้องการจัดระเบียบสุขาภิบาลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และโดยที่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับเมืองพัทยาหลายประการ จึงได้จัดระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นราชการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยยกเลิกสุขาภิบาลนาเกลือ จัดตั้งเมืองพัทยาขึ้น และตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ กำหนดให้มีการปกครองท้องถิ่นที่มีผู้บริหารเป็นผู้จัดการนครตามระบบ Council Manager Plan ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างของเมืองพัทยาก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นดังนี้
       
        ๑.๗.๒.๑ การจัดตั้งเมืองพัทยา
       
        ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดให้เมืองพัทยาเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล
       
        ๑.๗.๒.๒ โครงสร้างของเมืองพัทยา
       
        โครงสร้างของเมืองพัทยาตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบด้วยสภาเมืองพัทยาและปลัดเมืองพัทยา
        (ก) สภาเมืองพัทยา
        (ก.๑) สมาชิกประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตเมืองพัทยา ๙ คน
        (ก.๒) สมาชิกประเภทที่สอง ได้แก่ สมาชิกซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ๘ คน โดยแต่งตั้งจากบุคคลสาขาอาชีพต่าง ๆ กันจำนวน ๔ คน และผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเมืองพัทยาจำนวน ๔ คน
        สมาชิกสภาเมืองพัทยาจะต้องทำการเลือกนายกเมืองพัทยาจากบรรดาสมาชิกสภาเมืองพัทยาทั้งหมดเพื่อทำหน้าที่ประธานสภาเมืองพัทยา ตามที่มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาได้กำหนดไว้
        สภาเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ คือ
        ๑) วางนโยบายและอนุมัติแผนเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการเมืองพัทยา
        ๒) พิจารณาและอนุมัติร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยา
        ๓) แต่งตั้งสมาชิกเป็นคณะกรรมการสามัญและแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเมืองพัทยา แล้วรายงานต่อสภาเมืองพัทยาเพื่อให้คำแนะนำแก่สภาเมืองพัทยาหรือปลัดเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี
        ๔) ควบคุมการปฏิบัติราชการของปลัดเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย
        สมาชิกภาพของสภาเมืองพัทยาสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘ คือ
        ๑) ถึงคราวออกตามวาระของสภาคือ ๔ ปี หรือเมื่อมีการยุบสภาเมืองพัทยา
        ๒) ตาย
        ๓) ลาออก โดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
        ๔) ขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา
        ๕) มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา
        ๖) สำหรับกรณีประเภทที่หนึ่งต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่อื่นใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของเมืองพัทยาหรือบริษัทซึ่งเมืองพัทยาถือหุ้น หรือดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือพนักงานท้องถิ่น
        ๗) สภาเมืองพัทยามีมติให้ออกเพราะเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่เมืองพัทยา โดยมีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๖ คนเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาเมืองพัทยาพิจารณา และมติข้อนี้ต้องมีสมาชิกสภาเมืองพัทยาไม่น้อยกว่า ๑๑ คนเห็นชอบด้วยกับญัตติดังกล่าว ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่สภาเมืองพัทยามีมติ
        ๘) ไม่มาประชุมสภาเมืองพัทยาสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร ในการนี้ให้นายกเมืองพัทยารายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง
        ๙) สำหรับกรณีสมาชิกประเภทที่สองซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเมืองพัทยา สมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงเมื่อพ้นจากตำแหน่งอันเป็นเหตุที่ได้รับการแต่งตั้ง
        สำหรับนายกเมืองพัทยานั้น มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว นายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังนี้
        ๑) ขาดจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาเมืองพัทยา
        ๒) ลาออกจากตำแหน่ง โดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
        ๓) สมาชิกไม่น้อยกว่า ๖ คนเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาเมืองพัทยาเลือกนายกเมืองพัทยาใหม่ และสภาเมืองพัทยามีมติเห็นชอบด้วยในญัตติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๑๑ เสียง
        ๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งและหน้าที่
        (ข) ปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยา
        (ข.๑) ปลัดเมืองพัทยาจำนวน ๑ คน มาจากการที่นายกเมืองพัทยาเสนอชื่อผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาและเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่กฎหมายว่าด้วยเมืองพัทยากำหนดอย่างน้อย ๒ คน แต่ไม่เกิน ๓ คน ให้สภาเมืองพัทยาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเป็นปลัดเมืองพัทยาตามมาตรา ๔๙
        (ข.๒) รองปลัดเมืองพัทยาจำนวนไม่เกิน ๒ คน มาจากการที่ปลัดเมืองพัทยาแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยากำหนด ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นคุณสมบัติเดียวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นปลัดเมืองพัทยา ตามมาตรา ๔๙
        ปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยานั้นเป็นไปตามสัญญาว่าจ้างที่มีข้อกำหนดทั้งในเรื่องการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และเงื่อนไขอื่น ๆ ในการทำงานของปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยา ซึ่งสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นไปตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และให้มีอายุจ้างคราวละ ๔ ปี ตามมาตรา ๕๐
        ในการว่าจ้างปลัดเมืองพัทยา ให้นายกเมืองพัทยาเป็นคู่สัญญาในนามของเมืองพัทยา ส่วนการว่าจ้างรองปลัดเมืองพัทยา ให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นคู่สัญญาในนามของเมืองพัทยา
        ปลัดเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๓ คือ
        ๑) ร่างแผนเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา
        ๒) บริหารกิจการตามนโยบายและแผนของสภาเมืองพัทยา
        ๓) ร่างข้อบัญญัติงบประมาณและข้อบัญญัติอื่นเพื่อเสนอต่อสภาเมืองพัทยา
        ๔) ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของกระทรวง
       มหาดไทย และข้อบัญญัติเมืองพัทยา
        ๕) รวบรวมปัญหาในการบริหารราชการเมืองพัทยาต่อสภาเมือง
       พัทยา
        ๖) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของเมืองพัทยาต่อสภาเมือง
       พัทยา
        ๗) ปฏิบัติงานอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่า
       ด้วยเมืองพัทยา
        ปลัดเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังที่กำหนดไว้ในมาตรา
       ๕๕ คือ
        ๑) สัญญาจ้างสิ้นอายุและไม่มีการต่ออายุสัญญาจ้างใหม่
        ๒) ตาย
        ๓) ลาออกจากตำแหน่ง โดยยื่นใบลาออกต่อนายกสภาเมืองพัทยาตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาจ้าง
        ๔) ขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกเป็นปลัดเมืองพัทยา
        ๕) กระทำการที่ผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
        ๖) ปลัดนายกเมืองพัทยาเลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุที่ได้ระบุในสัญญาจ้าง
       
        ๑.๗.๒.๓ อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
       
        มาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้เมืองพัทยาดำเนินกิจการเมืองพัทยาภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยเมืองพัทยา ดังนี้
        ๑. การรักษาความสงบเรียบร้อย
        ๒. การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
        ๓. การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
        ๔. การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
        ๕. การรักษาความสะอดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ
        ๖. การกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
        ๗. การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
        ๘. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ
        ๙. การควบคุมอนามัยในร้ายจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
        ๑๐. การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
        ๑๑. หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของเทศบาลหรือของเมืองพัทยา
       
        ๑.๗.๒.๔ การจัดทำกิจการเมืองพัทยา
       
        (ก) พื้นที่จัดทำ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดให้เมืองพัทยาจัดทำกิจการได้หลายวิธี ดังนี้
        (ก.๑) ภายในเขตเมืองพัทยา ตามมาตรา ๖๗
        (ก.๒) ภายนอกเขตเมืองพัทยา โดยต้องปรากฏว่ากิจการดังกล่าวเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ที่อยู่ภายในเมืองพัทยา หรือเป็นประโยชน์แก่เมืองพัทยา โดยเมืองพัทยาจะต้องได้รับความยินยอมจากท้องถิ่นที่เข้าไปดำเนินการและจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาตามมาตรา ๖๙
        (ข) วิธีการจัดทำ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดให้เมืองพัทยาสามารถจัดทำกิจการได้โดยวิธี ดังนี้
        (ข.๑) เมืองพัทยาจัดทำเอง
        (ข.๒) เมืองพัทยาจัดทำร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทซึ่งเป็น นิติบุคคลตลอดจนถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว
        (ข.๓) สหการ
        กรณีเมืองพัทยาจัดทำเองนั้น หมายถึง กิจการที่ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา และ/หรือพนักงานเมืองพัทยาเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงกิจการที่เมืองพัทยาจ้างบุคคลอื่นดำเนินการในลักษณะจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ
        กรณีเมืองพัทยาร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ตลอดจนถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อสภาเมืองพัทยามีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาและได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเมืองพัทยาต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินร้อยละห้าสิบของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ในกรณีที่เมืองพัทยาร่วมก่อตั้งหรือถือหุ้นในบริษัทที่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ด้วย บริษัทนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค
        กรณีสหการ หมายถึง กิจการในอำนาจหน้าที่ที่เมืองพัทยาจัดทำร่วมกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยการปกครองท้องถิ่น โดยจัดตั้งเป็นองค์กร มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนเมืองพัทยาและผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี
       
        ๑.๗.๒.๕ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจออกข้อบังคับแห่งท้องถิ่น เรียกว่า “ข้อบัญญัติเมืองพัทยา” โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
        (ก) เหตุที่จะออกข้อบัญญัติเมืองพัทยา เป็นไปตามมาตรา ๗๓ อันได้แก่
        (ก.๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา
        (ก.๒) เมื่อมีข้อบัญญัติให้เมืองพัทยาออกข้อบัญญัติได้
        (ก.๓) เมื่อเมืองพัทยาจะจัดทำกิจการที่มีลักษณะเป็นการให้บริการโดยมีค่าตอบแทน
        (ก.๔) เมื่อเมืองพัทยาจะจัดทำกิจการที่มีลักษณะเป็นเทศพาณิชย์
        (ข) ขั้นตอนในการออกข้อบัญญัติเมืองพัทยา เป็นไปตามมาตรา ๗๔ ถึงมาตรา ๘๐ มี ๓ กรณีด้วยกัน คือ
        (ข.๑) กรณีข้อบัญญัติเมืองพัทยาทั่วไป
        ปลัดเมืองพัทยาจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาต่อสภาเมืองพัทยา เพื่อให้สภาเมืองพัทยาพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน ๗ วัน
        ถ้าสภาเมืองพัทยาพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติให้ปลัดเมืองพัทยาส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน ๑๕ วัน ซึ่งหากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติ ให้ปลัดเมืองพัทยาเสนอนายกเมืองพัทยาเพื่อลงชื่อและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติต่อไป
        แต่หากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติให้ปลัดเมืองพัทยาเสนอสภาเมืองพัทยาเพื่อพิจารณาใหม่ ในกรณีที่สภาเมืองพัทยามีมติยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๑๑ เสียง ให้ปลัดเมืองพัทยาเสนอนายกเมืองพัทยาเพื่อลงชื่อและประกาศใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าสภาไม่ยืนยันหรือยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่า ๑๑ เสียง ให้ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป
        ข้อบัญญัติเมืองพัทยาให้ใช้บังคับได้เมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่ศาลาว่าการเมืองพัทยาแล้ว ๓ วัน
        ในกรณีที่อายุของเมืองพัทยาสิ้นสุดหรือมีการยุบสภาเมืองพัทยา บรรดาร่างข้อบัญญัติที่สภาเมืองพัทยายังไม่ได้พิจารณาและยังพิจารณาไม่เสร็จ ให้ตกไป
        (ข.๒) กรณีข้อบัญญัติเมืองพัทยาว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย
        ขั้นตอนในการเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเป็นเช่นเดียวกับการเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติทั่วไป
        ในกรณีที่ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีนั้นไปพลางก่อน
        ในกรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ไม่พอสำหรับการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณให้ตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
        (ข.๓) กรณีข้อบัญญัติเมืองพัทยาชั่วคราว
        ในกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นรีบด่วนเกี่ยวกับการบริหารราชการเมืองพัทยาและไม่อาจเรียกประชุมสภาเมืองพัทยาให้ทันเวลาได้ เมื่อได้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดเมืองพัทยาอาจเสนอร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาเพื่อให้นายกเมืองพัทยาลงชื่อและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติชั่วคราวได้
        อย่างไรก็ดี ในการประชุมคราวต่อไปปลัดเมืองพัทยาต้องนำข้อบัญญัติชั่วคราวเสนอต่อสภาเมืองพัทยาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาเมืองพัทยาอนุมัติให้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติได้ต่อไป แต่ถ้าสภาเมืองพัทยาไม่อนุมัติข้อบัญญัติชั่วคราวนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศการไม่อนุมัติข้อบัญญัติชั่วคราวให้ประชาชนทราบโดยเร็ว
       
        ๑.๗.๒.๖ การงบประมาณและการคลัง
       
        เมืองพัทยามีการจัดการการคลังและทรัพย์สินของตนเอง โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดประเภทรายได้และรายจ่ายของเมืองพัทยา ดังนี้
       (ก) รายได้ กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ อันได้แก่
        (ก.๑) รายได้จากทรัพย์สินของเมืองพัทยา
        (ก.๒) รายได้จากสาธารณูปโภคของเมืองพัทยา
        (ก.๓) รายได้จากการพาณิชย์ของเมืองพัทยา
        (ก.๔) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตรเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังร่วมกันและตราเป็นข้อบัญญัติแล้ว
        (ก.๕) เงินกู้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาและกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ถ้าเป็นเงินกู้จากต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย ทั้งนี้ ต้องออกเป็นข้อบัญญัติ
        (ก.๖) เงินอุดหนุน
        (ก.๗) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
        (ก.๘) เงินช่วยเหลือและค่าตอบแทน
        (ก.๙) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
        (ก.๑๐) รายได้จากทรัพย์สินของแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อมุ่งแสวงหากำไรในเมืองพัทยาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
        (ก.๑๑) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของเมืองพัทยา
        (ข) รายจ่าย กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒ อันได้แก่
        (ข.๑) เงินเดือน
        (ข.๒) ค่าจ้างประจำ
        (ข.๓) ค่าจ้างชั่วคราว
        (ข.๔) ค่าตอบแทน
        (ข.๕) ค่าใช้สอย
        (ข.๖) ค่าวัสดุ
        (ข.๗) ค่าครุภัณฑ์
        (ข.๘) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
        (ข.๙) เงินอุดหนุน
        (ข.๑๐) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
        (ข.๑๑) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติกำหนด
        สำหรับการคลัง การงบประมาณ การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สิน การพาณิชย์ การซื้อ การจ้าง และเรื่องเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย
       
        ๑.๗.๒.๗ การกำกับดูแลเมืองพัทยา
       
        พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับเมืองพัทยา ดังนี้
        (ก) การกำกับดูแลการกระทำ มาตรา ๙๙ กำหนดไว้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยา เพื่อการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้เมืองพัทยาชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาได้
        ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย หรือข้อบัญญัติเมืองพัทยา และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ชี้แจง แนะนำ ตักเตือนแล้ว แต่ปลัดเมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร แต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรีบด่วนจะรอช้ามิได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของปลัดเมืองพัทยาไว้ก่อนได้ตามาตรา ๑๐๐ อย่างไรก็ดี ในการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในกรณีนี้ หากปลัดเมืองพัทยาเห็นว่าเป็นการสั่งการโดยมิชอบ จะนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยก็ได้ ตามมาตรา ๑๐๑
        นอกจากนี้ บรรดาเรื่องที่เมืองพัทยาต้องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงมหาดไทยนั้น ให้ปลัดเมืองพัทยาเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ทำความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวง มหาดไทย แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๙๘
        (ข) การกำกับดูแลทางการเงิน ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการรับเงิน การจ่ายเงิน การบัญชี การเงิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ของเมืองพัทยา และเมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอปลัดเมืองพัทยาเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา
       
       ๑.๘ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) : จุดเริ่มต้นของการปกครอง
       ส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
       
        จากการศึกษารายละเอียดของโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวมีโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการกำกับดูแลที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีบทบัญญัติบางส่วนยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ
       
        (๑) โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละองค์กรดังกล่าวยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งหมายให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น กล่าวคือ กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายยกเว้นเทศบาลและกรุงเทพมหานคร ได้มีการกำหนดให้สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการแต่งตั้งขององค์กรปกครองส่วนกลางหรือองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งมีผลทำให้การตัดสินใจดำเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นอาจไม่เป็นไปตามความต้องการหรืออาจไม่เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างของเมืองพัทยา พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดให้การบริหารเมืองพัทยามีองค์ประกอบสองส่วน คือ สภาเมืองพัทยาและปลัดเมืองพัทยา โดยในส่วนสภาเมืองพัทยาได้กำหนดให้มีสมาชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น จำนวน ๙ คน เกือบเท่าจำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนี้ยังอาจมีสิทธิได้รับเลือกเป็นนายกเมืองพัทยาได้อีกด้วย ซึ่งนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยาที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจการเมืองพัทยาโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและอนุมัติแผนดังกล่าว นอกจากนี้ นายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยายังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติร่างข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเมืองพัทยา รวมทั้งข้อบัญญัติงบประมาณของเมืองพัทยา และมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติราชการของปลัดเมืองพัทยา ซึ่งอำนาจหน้าที่ ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นอำนาจหน้าที่สำคัญที่อาจกระทบต่อการดำเนินกิจการของท้องถิ่นทั้งสิ้น
        (๒) อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในบางเรื่องยังมีลักษณะไม่ชัดเจนและซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค อันเป็นการขัดต่อหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้มักเกิดข้อโต้แย้งและปัญหาในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ในการจัดทำผังเมือง การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของกรมการผังเมืองและการเคหะแห่งชาติ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในการดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งไม่ชัดเจนและซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ นอกจากนี้ บรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ยังมีข้อบกพร่องที่สำคัญในเรื่องอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่โดยหลักการกระจายอำนาจแล้ว อำนาจหน้าที่ดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนกลางหรือองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค เช่น หน้าที่ในการทะเบียน หน้าที่ในการจัดทำผังเมือง เป็นต้น ซึ่งการมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินกิจการในหน้าที่ควรเป็นขององค์การปกครองส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค เช่นนี้จะเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพของผลการดำเนินกิจการและเป็นปัญหาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเจียดจ่ายงบประมาณและกำลังคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่จำกัดไปจัดทำกิจการที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของกิจการที่เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยแท้ได้
       
        (๓) บทบัญญัติของกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้ ยังขาดบทบัญญัติในส่วนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สิทธิของประชาชนในท้องถิ่นในการเข้าชื่อขอให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องต่าง ๆ หรือสิทธิของประชาชนในท้องถิ่นในการร่วมกันขับไล่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ดำเนินกิจการท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือดำเนินการขัดหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือดำเนินกิจการท้องถิ่นเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายแก่ท้องถิ่น เป็นต้น
       
        (๔) การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางเรื่องยังเกินขนาดความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม ทำให้กระทบต่อสาระสำคัญของการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น เช่น อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ในการออกคำสั่งถอดถอนคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีในกรณีที่เห็นว่า คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่เสื่อมเสียแก่ เกียรติศักดิ์ ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรืออำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการยุบสภาเทศบาล เป็นต้น
        สาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ การขาดกรอบในการจัดทำร่างกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งกรอบดังกล่าวหมายถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายหลักของประเทศ สำหรับกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นกฎหมายที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๓๔) ดังนั้น เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ จึงได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ จึงไม่เป็นการกล่าวที่เกินไปนักว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งรายละเอียดของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) นั้น จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป
       
       เชิงอรรถ
       1.รายละเอียดโปรดดู ชูวงศ์ ฉายะบุตร, การปกครองท้องถิ่นของไทย, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
       ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๓๙), หน้า ๒๖.
       2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, พงศาวดารสยาม เล่ม ๑, (พระนคร :
       โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๖๘), หน้า ๑๕. อ้างโดย ชูวงศ์ ฉายะบุตร, อ้างแล้ว, หน้า ๓๑-๓๒.
       3. โภคิน พลกุล และคณะ, รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น, เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๓๗, หน้า ๔-๕.
       4. เพิ่งอ้าง, หน้า ๘.
       5. อัจฉราพร กมุทพิสัย, ประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง, (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๒), หน้า ๓๕๓-๓๖๑. อ้างโดย โภคิน พลกุล และคณะ, เพิ่งอ้าง, หน้า ๙.
       6. โภคิน พลกุล และคณะ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๘, หน้า ๗.
       7. สิริพร มณีภัณฑ์, การจัดทำบริการสาธารณะท้องถิ่นในประเทศไทย : ศึกษาจากปัญหาที่เกิดขึ้น ในกรณีเทศบาลและกรุงเทพมหานคร, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๘), หน้า ๔๐.
       8. พรชัย รัศมีแพทย์, หลักกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทย, (นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๕), หน้า ๓.
       9. สุขสมาน วงศ์สวรรค์, ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ บำรุงสาส์น, ๒๕๒๗), หน้า ๔๐๐ อ้างโดย โภคิน พลกุล และคณะ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๓, หน้า ๒๓.
       10. พรชัย รัศมีแพทย์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๓, หน้า ๖.
       11. ประยูร กาญจนดุล, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๓๔๖.
       12. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐, ตอนที่ ๖๖, ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๖
       13. ได้แก่ งานก่อสร้าง ขยาย บูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุง และบำรุงรักษางานทางหลวง งานทางรถไฟ งานประปา งานไฟฟ้า งานโทรศัพท์ งานระบายน้ำ งานวางท่อขนส่งปิโตรเลียม และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการในระดับพื้นดินหรือใต้หรือเหนือพื้นดิน (ข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานด้านสาธารณูปโภค พ.ศ. ๒๕๒๙) นอกจากนี้ ยังได้แก่ การเดินรถไฟ การเดินรถราง การขุดคลอง การเดินอากาศ การประปา การชลประทาน การไฟฟ้า การประกันภัย คลังสินค้า ธนาคารออมสิน และเครดิตฟองซิเอร์ (พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑)
       14. สิริพร มณีภัณฑ์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๒, หน้า ๑๓๖.
       15. ปรากฏตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙
       16. โปรดดูรายละเอียดในหน้า ๒๑
       17. ปรากฏตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๖
       18. โปรดดูรายละเอียดจากสภาตำบล, หน้า ๕๖-๕๗.
       19. เหตุที่รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน โปรดดูชูวงศ์ ฉายะบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๖, หน้า ๒๑.
       20. โภคิน พลกุล และคณะ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๘, หน้า ๒๓.
       21. เขตเลือกตั้งถือตามเกณฑ์ ๑๐๐,๐๐๐ คน เป็นประมาณ (มาตรา ๑๑)
       22. คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ ให้มีกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิเสนอชื่อบุคคล ผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ไม่เกินจำนวนกรรมการทั้งคณะ (มาตรา ๓๙)
       
       อ่านต่อ
       
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4): การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
       ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
       ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1266
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 20:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)