ครั้งที่ 193

17 สิงหาคม 2551 16:05 น.

       ครั้งที่ 193
       สำหรับวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551
       
       “การห้ามชุมนุมสาธารณะ”
       
       เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทบรรณาธิการครั้งที่ 189 เกี่ยวกับเรื่องของการ ชุมนุมสาธารณะโดยผมได้นำตัวอย่างของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบการชุมนุมสาธารณะในต่างประเทศมาเสนอเพื่อ “ชี้” ให้เห็นว่า จริงๆแล้ว การใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะอาจก่อให้เกิดปัญหาบางประการตามมา รวมทั้งอาจไปกระทบสิทธิอื่นๆของประชาชนอื่นได้ การมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้การชุมนุมสาธารณะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยปลอดภัยและไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพอื่นๆของประชาชนอื่น
       บทบรรณาธิการครั้งที่ 189 ถูกนำไปใช้อ้างอิงในหลายๆที่มี website หลายแห่งที่นำไปเป็นฐานในการตั้งกระทู้ แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนอยู่มาก
       ผมไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเลยที่วันหนึ่งได้เห็นนายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมสาธารณะ เช่นเดียวกับที่ไม่แปลกใจเมื่อมีที่รัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาให้ข่าวว่า จริงๆแล้ว พรรคพลังประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะไปที่สภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ที่ผมแปลกใจก็คือ ทำไมเนื้อหาสาระ ของทั้งร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายถึงได้ “น่าเกลียด” ปานนั้นครับ
       เรามาดูร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 63 กันก่อน ของเดิมวรรคแรกเขียนไว้สั้นๆแต่เพียงว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” แต่ของใหม่ที่นายกรัฐมนตรีเสนอได้เขียนข้อความเพิ่มเติมต่อท้าย ข้อความดังกล่าวในวรรคแรกเข้าไปเสียยืดยาวคือ “ไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จมากล่าวหา ไม่ปลุกระดมปัญญาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดมาร่วมชุมนุม” ความต่อท้ายที่เพิ่มเข้าไปนี้ นักกฎหมายดูแล้วคงรู้สึกเหมือนกันคือ “น่าเกลียด” เกินกว่าที่จะอยู่ในรัฐธรรมนูญครับ เพราะถ้อยคำ ดังกล่าวไม่ใช่เป็นถ้อยคำที่มาจาก “หลักเกณฑ์” หรือ “กระบวนการ” ใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นถ้อยคำที่เขียนขึ้นมาจาก “ความรู้สึก” ที่ได้รับจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครับ เป็นไปได้หรือครับที่เราจะใช้ “ความรู้สึก” หรือ “ความกังวล” ส่วนตัวของเรามาเขียนเอาไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ครับ ที่ถูกข้อเสนอของการแก้ไขรัฐธรรมูญต้องมีเหตุผล มีตรรกะที่ถูกต้องมาจากฐานความคิดที่กว้างไกล ผ่านการศึกษาวิเคราะห์มาแล้วเป็นอย่างดี จึงจะทำให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญออกมาดี และเกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้ แถมยังใช้ถ้อยคำที่ไม่กระจ่างและกำกวมเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ดุลพินิจกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คงไม่เป็นผลดีต่อการชุมนุมสาธารณะเท่าไรนัก!!!
       ส่วนร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. …. นั้นก็ “แสดงให้เห็นถึง” หลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่ “แย่” ยิ่งไปกว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ข้างต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชนได้เสนอ ร่างกฎหมายดังกล่าว ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย “ผู้เสนอ” ได้ให้ข้อมูลว่าเป็นการนำเอาร่างกฎหมายเก่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอเอาไว้แต่ก็ไม่สามารถพิจารณาต่อไปได้เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อสิ้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชนก็เลย “ยืม” มาเสนอใหม่
       เมื่อผมได้อ่านร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุุมในที่สาธารณะ พ.ศ. …. จบแล้วก็เกิดความรู้สึก “แย่ๆ” ขึ้นมากับเรื่องสำคัญในเบื้องต้น 2 เรื่อง เรื่องแรกก็เป็นความรู้สึกแย่ที่มีต่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่พอมาถึงวันนี้คงพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า การรัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า อุตส่าห์เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากับมือแท้ๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เสนอร่างกฎหมายที่ไม่ได้เรื่องเข้าที่ประชุมก็ประชุมไม่ได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ !!! ความรู้สึกแย่เรื่องที่สอง ก็เป็นเรื่องของการที่สมาชิกพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในระบอบประชาธิปไตยที่คุยกันนักว่าเป็นพรรคการเมืองของประชาชน แต่กลับไปเอาร่างกฎหมายที่จัดทำในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่มีประชาธิปไตยเลยมาเสนอเป็นไปได้อย่างไรครับ !!! ที่ถูกที่ควรนั้น พรรคพลังประชาชนน่าจะต้องตั้ง คณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาดูว่า บรรดากฎหมายที่ออกมาในช่วงรัฐประหารนั้นมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างหรือเปล่ามากกว่าที่จะไปหยิบยืมเอากฎหมายที่จัดทำในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยเช่นวันนี้ครับ ผมว่าเป็นเรื่อง “ร้ายแรง” และ “ดูถูกประชาชน” มากนะครับที่นำเอาร่างกฎหมายของ สนช. ฉบับนี้มาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันครับ !!!
       ลองมาพิจารณาดูเนื้อหาของร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะกันดีกว่าครับ ผมอ่านจบแล้วก็พบว่ามีปัญหาอยู่แทบทุกมาตราเลยทีเดียว ผมคงขอนำมาสรุปอย่างคร่าวๆเป็นข้อๆไปจะสะดวกกับการอ่านครับ
       1. ร่างกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ การควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่ใช่การจัดระเบียบการชุมนุมในที่่สาธารณะดังเช่นชื่อของร่างกฎหมายครับ
       2. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่่ครอบคลุมถึงการเดินขบวน (demonstration)
       3. หลักการสำคัญของร่างกฎหมายคือ การชุมนุมในที่สาธารณะต้องขออนุญาตก่อน ถ้าไม่ขออนุญาตมีโทษจำคุกหรือปรับ
       4. คณะกรรมการที่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากภาครัฐทั้งหมด
       5. คำสั่งของคณะกรรมการที่ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะถือเป็นที่สุด
       
6. แม้คณะกรรมการจะอนุญาตให้มีการชุมนุมไปแล้ว แต่ในร่างกฎหมายก็ยังให้อำนาจประธานกรรมการที่จะสั่งยุติการชุุมนุมในที่สาธารณะได้ตลอดเวลา
       7. เมื่อใดที่มีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม การชุมนุมต่อจากนั้นถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกหรือปรับ
       8. ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมที่ฝ่าฝืนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้สลายการชุมนุมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม
       9. การชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้รับอนุญาตแล้ว ต่อมาเกิดเหตุวุ่นวาย ผู้จัดให้มีการชุมนุมมีโทษจำคุกหรือปรับ
       
       ทั้งหมด 9 ข้อคือ สาระสำคัญบางประการที่ผมย่อมาจากร่างพระราชบัญญัติจัดการชุมนุมในที่ สาธารณะ พ.ศ. .… ครับ
       อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ไม่น่าเชื่อนะครับว่าร่างกฎหมายนี้จะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่น่าเชื่อจริงๆครับ วันนี้คงต้องตั้งคำถามถึงผู้เสนอร่างกฎหมายและรัฐบาลกันแล้วว่า อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างสภาที่มาจากการเผด็จการกับสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แทบไม่เห็นความแตกต่างของการ “มอง” ประชาชนโดยองค์กรที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายเลยครับ !
       เพื่อให้บทบรรณาธิการครั้งนี้มีความเป็น “รูปธรรม” มากขึ้น ผมในฐานะผู้ที่เห็นด้วยกับการ มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะก็อยากจะขอเสนอ “หลักเกณฑ์สำคัญ” บางประการที่ควรจะอยู่ในกฎหมายดัังกล่าวดังนี้ ครับ
       1. ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการจัดการชุมนุมให้เป็นระบบและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพอื่นๆของประชาชนอื่น ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อห้ามหรือควบคุมการชุมนุมครับ
       2. การชุมนุมหรือเดินขบวนทุกครั้งจะต้องทำการแจ้งให้ “ฝ่ายปกครอง” ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อจัดระบบการจราจรและการชุมนุมให้ดำเนินไปด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องมีใครได้รับความเดือนร้อนจากการชุมนุมหรือเดินขบวน
       3. “ฝ่ายปกครอง” ที่ว่านี้ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมีการชุมนุมหรือเดินขบวน เช่น นายกเทศมนตรี หรือผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
       4. การไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมหรือเดินขบวนในเรื่องใด ต้องเขียนไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และให้อำนาจดุลพินิจแก่ผู้อนุญาตน้อยที่สุด คำสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำไปอุทธรณ์ต่อสภาท้องถิ่นหรือฟ้องต่อศาลปกครองได้
       5. ควรมีการกำหนดไว้ในกฎหมายถึงสถานที่สำคัญๆ ที่ห้ามชุมนุมหรือเดินขบวนรอบบริเวณ พื้นที่ดังกล่าว เช่น พระราชวัง สถานที่ราชการต่างๆ โบราณสถานที่สำคัญๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสถานที่ดังกล่าว หากการชุมนุมหรือการเดินขบวน กลายสภาพไปเป็นการจลาจลไปครับ
       6. ควรมีระยะเวลาที่จะต้อง “หยุด” การชุมนุมเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณที่มีการชุมนุมได้ พักผ่อนกันบ้่าง เช่น ห้ามชุมนุมหลังเที่ยงคืน ถึง 6 โมงเช้า เป็นต้น
       
       ส่วนอื่นๆนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องให้ผู้ที่จะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไปทำการศึกษาค้นคว้ากัน ต่อไปครับ อย่าลืมนะครับว่าการเขียนกฎหมายที่ดีต้องไม่ใช่การเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้กับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญจันทร์เรือง เรื่อง “การเมืองเรื่องของเดมะกอก (demagogue)” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ได้ลงเผยแพร่ "ที่่อื่น" ไปก่อนหน้านี้ แต่ข้อเท็จจริงบางประการคลาดเคลื่อน ในวันนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่คลาดเคลื่อนแล้ว เราก็เลยนำบทความดังกล่าวคือ "คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ 984/2551 ถูกต้องหรือไม่ ?? (การกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวกรณีฟ้องขอเพิกถอนคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา ขึ้นทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร”)" มาเผยแพร่ พร้อมๆกับบทความที่สาม คือบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ 984/2551 (กรณีศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา)" ที่เขียน "โต้" บทความของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ลองอ่านดู "คำตอบ" ทางกฎหมายมหาชนของนักวิชาการทั้งสองดูนะครับ ว่าอะไรคือ "การกระทำทางรัฐบาล"
       
       มีข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 10 ประจำปี 2551 เรื่อง “การเมืองและวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม” ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจลองเข้าไปอ่านดูได้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2551 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1256
เวลา 18 เมษายน 2567 16:40 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)