ครั้งที่ 192

3 สิงหาคม 2551 17:29 น.

       ครั้งที่ 192
       สำหรับวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551
       
       “ได้เวลานับถอยหลัง”
       

       ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่น่าสนใจที่สุดที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานะทางการเมืองของรัฐบาลก็คือ การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ที่ คตส.เป็นโจทก์ฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กับคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นพร้อมผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 47 คน เป็นจำเลย
       การรับฟ้องคดีดังกล่าวของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี ข้อ “น่าคิด” หลายประการ ที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ความรับผิดของคณะรัฐมนตรี” ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นของใหม่ ซึ่งต่อไปในภายภาคหน้าคงมีผู้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีตามมาอีกมากมายหากผลของคำพิพากษาออกมาในลักษณะที่ว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆที่เป็น เรื่อง “นโยบาย” ที่แม้รัฐมนตรีบางคนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมิได้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นยังไม่เกิดขึ้นและยังไม่มีการพูดถึงกันในวันนี้ เพราะสืบเนื่องมาจากการรับฟ้องคดีดังกล่าวเกิดปัญหาน่าคิด “เร่งด่วน” ตามมาคือ การที่มีรัฐมนตรี 3 คน ในรัฐบาลชุดปัจจุบันเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เลยเกิดปัญหาข้อสงสัยตามมาว่า เมื่อศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา รัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันทั้ง 3 คนจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และมาตรา 275 ที่เกี่ยวกับการถอดถอนออกจากตำแหน่งและการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวไว้ว่า เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นคงเป็นข้อสงสัยที่เกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฐมนตรีว่าเมื่อถูกกล่าวหาในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดหนึ่ง จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีอีกชุดหนึ่งหรือไม่ ทั้งๆที่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดแรกเป็นคนละตำแหน่งกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดหลัง
       ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีความกระจ่างเพราะหากพิจารณาดูตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็จะพบว่า ตัวบทกฎหมายกล่าวแต่เพียงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทันทีเมื่อศาลรับฟ้อง แต่บังเอิญในเรื่องดังกล่าวตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมิได้กำหนดไว้ว่าหากได้กระทำความผิดในขณะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดก่อนแล้ว ต่อมาถูกกล่าวหาเมื่อเข้ามาอยู่ในรัฐบาลชุดใหม่จะต้องทำอย่างไร จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม
       มีผู้คนสอบถามผมถึงประเด็นข้างต้นกันมากทั้งสื่อมวลชนและผู้คนทั่ว ๆ ไปซึ่งผมก็ไม่ได้ให้คำตอบใครที่ชัดเจนนักเพราะเป็นเรื่องที่ผมมองว่าข้อกฎหมายไม่ชัดเจนพอข้อกฎหมายไม่ชัดเจนก็เลยทำให้การให้ความเห็นของแต่ละคนต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนความเห็นของตนที่อาจเป็น “คุณ” หรือเป็น “โทษ” กับรัฐมนตรีทั้ง 3 ได้ แต่อย่างไรก็ตามหากเรามาลอง “คิด” อย่างรอบคอบเราก็คงหาคำตอบให้กับเรื่องดังกล่าวได้ไม่ยากนัก เพราะการที่ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็เพื่อ “ป้องกัน” มิให้บุคคลดังกล่าวที่มี “อำนาจรัฐ” อยู่ในมือต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอันอาจส่งผลต่อการดำเนินการพิจารณาของศาลได้ เช่น พยานอาจไม่กล้ามาให้ปากคำ เป็นต้น และนอกจากนี้เมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาในเรื่องร้ายแรงจนถึงขนาดที่ศาลรับฟ้องแล้ว ความไว้วางใจในบุคคลดังกล่าวย่อมจะต้อง “ลดลง” ไปด้วย รวมไปถึงความ “สง่างาม” ของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ย่อม “ลดลง” ไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองที่ผมเข้าใจว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ครับ ซึ่งเมื่อเอาสิ่งที่ผมกล่าวไปมาเทียบเคียงกับกรณี 3 รัฐมนตรี ที่เป็นปัญหา แม้จะมีการยอมรับกันในระดับหนึ่งว่าตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีความชัดเจนทำให้เกิดข้อ สงสัยตามมาว่าจะครอบคลุมถึงความเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ด้วยหรือไม่ หากเราลองมองในอีกด้านหนึ่งโดยเปลี่ยนตัวละครใหม่มาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันถูกกล่าวหาและศาลรับฟ้องในคดีที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน คำตอบคงชัดเจนนะครับว่า “ความไว้วางใจ” และ “ความสง่างาม” ของการเป็นนายกรัฐมนตรีคงต้อง “ลดลง” อย่างมากด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปของ 3 รัฐมนตรีน่าจะเป็น “สิ่งที่ไม่เหมาะสม” และอาจก่อให้เกิด “ความไม่ถูกต้อง” ตามมาอีกมากมายในอนาคตเพราะหากในวันที่ยังไม่มีคำตอบ ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของรัฐมนตรีทั้ง 3 แล้วบรรดาท่านเหล่านั้นบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ในวันข้างหน้าหากมีคำตอบที่ “เป็นทางการ” ว่าท่านต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับฟ้อง การใดๆที่ท่านทำไปในระหว่างนั้นก็คงจะ “ใช้ไม่ได้” ซึ่งก็จะนำมาซึ่งข้อถกเถียงและปัญหาตามมาอย่างไม่รู้จบครับ ก็คงต้องขอฝากความเห็นไว้ ณ ที่นี้ว่า เพื่อป้องกันตนเองและระบบ รัฐมนตรี ทั้ง 3 ควรรีบลาออกเพื่อลดปัญหาและเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดและไม่ต้องกังวลกับ “สถานะ” ของตนเองครับ
       จริง ๆ แล้วการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคำฟ้องคดีทุจริตหวยบนดินเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่นำมาสู่การ “นับถอยหลังทางการเมือง” ของไทยนะครับ ในวันนี้ผมรู้สึก “ไม่แน่ใจ” กับอนาคตของประเทศไทยและของการเมืองไทยอย่างมากเพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วน แล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ “สุ่มเสี่ยง” กับความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังเดินหน้าเข้ามาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (อีกแล้ว) ซึ่งก็คาดเดาได้ว่าความวุ่นวายจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะเคยเกิดความวุ่นวายขึ้นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วเมื่อไม่ถึง 3 เดือนที่ผ่านมานี่เองครับ นอกจากการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังรอวัน “ระเบิด” ก็ยังมีอยู่อีกมากมายหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระทั้งหลาย การยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบควบคุมคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาที่ถือหุ้น การกล่าวหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่ามีที่มาที่ไม่ครบขั้นตอนตามกฎหมาย การกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งกรณีพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่โปร่งใส การกล่าวหาตุลาการศาลปกครองกรณีวินิจฉัยมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญว่ามีสองมาตรฐาน การกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เป็นกลาง การกล่าวหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมไปถึงการกล่าวหาการจัดซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศว่าเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เรียกได้ว่ากล่าวหากันจนไม่รู้อะไรเป็นอะไรแล้วครับ ถ้าข้อกล่าวหาทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของศาลหรือของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็เป็นที่ “แน่นอน” ได้เลยว่าคงยุ่งวุ่นวายกันน่าดู การฟ้องกันไปฟ้องกันมาจะส่งผลทำให้ “ระบบ” การเมืองการปกครองของเราต้องถึงขนาดเกือบ ๆ “ล่มสลาย” กันเลยทีเดียวครับ และหากข้อกล่าวหาทั้งหมดส่งผลทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยแล้ว เราคงต้องนับหนึ่งกันใหม่ในหลาย ๆ เรื่องครับ ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองของเราวุ่นวายไปอีกนานทีเดียว ประกอบกับการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่มองอย่างไรก็คาดเดาได้ว่าคงยากที่จะจบลงอย่างดี ผมเข้าใจว่าในวันนี้ รัฐบาลคงไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เราคงต้องทำใจกันทุกฝ่ายเพราะดู ๆ แล้ว เหตุการณ์ชุมนุมน่าจะ “หนักขึ้น” ทุกวัน ๆ ครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมมองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่ม “นับถอยหลังทางการเมือง” กันแล้วนะครับ !!!
       
       ส่วนการที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กับพวกเป็นเวลา 2 ปี ข้อหาร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ ฯ จำนวน 546 ล้านบาท คดีดังกล่าวเป็นคดีแรกที่ครอบครัวชินวัตรถูกพิพากษาว่าผิด และก็ยังมีคดีรออยู่ข้างหน้าอีกมาก คำพิพากษาดังกล่าวเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าการ “นับถอยหลังทางอนาคต” ของอดีตนายกรัฐมนตรีได้เริ่มขึ้นแล้วเช่นกัน บรรดาคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวซึ่งมีอยู่มากมายหลายคดี กำลังใกล้จะถึง “จุดจบ” ที่ดู ๆ ไปแล้วก็รู้สึกว่า “อาการหนัก” เช่นเดียวกับอาการของรัฐบาลที่มีสารพันปัญหารุมเร้าดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ
       ถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ “นับถอยหลังทางการเมือง” ของรัฐบาล หรือ การ “นับถอยหลังทางอนาคต” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นสิ่งที่บรรดาคอการเมืองและผู้คนทั่ว ๆ ไปต้องคอยเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิดแล้วว่า การนับถอยหลังทั้งสองกรณีนั้นจะนำไปสู่อะไรต่อไปครับ เรามีบทเรียนหลายครั้งแล้วกับ “การจลาจล” ภายในประเทศที่นำไปสู่จุดจบคือ “การรัฐประหาร” เหตุเลวร้ายที่อุดรธานีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา น่าจะ “บอก” อะไรบางอย่างกับสังคมได้ว่า การแบ่งฝ่ายกันอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” ในเวลานี้ คงเป็นหนทางนำไปสู่ “การนับถอยหลังทางอนาคตของประเทศไทย” ที่ชัดเจนที่สุดครับ ผมคงพูดอะไรมากไม่ได้ นอกจากจะพูดว่า นึกถึงอนาคตของประเทศไทยกันบ้างนะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 2 บทความมานำเสนอ บทความแรกจากคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง แห่งสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ในคราวนี้ เขียนเรื่อง “ฤากงล้อประวัติศาสตร์จะย้อนรอย ๖ ตุลา ๑๙” ส่วนบทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง “ไทยควรมี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะหรือไม่” ของอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1253
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:07 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)