คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

20 กรกฎาคม 2551 13:32 น.

       อันเนื่องมาจาก “การเสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’: สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ” โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551 ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวถึงกันมากในวงวิชาการ และยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็น “สาธารณรัฐ” กันมาก ยิ่งส่งผลให้องค์ความรู้ในเรื่องรูปแบบของรัฐแบบราชอาณาจักรและสาธารณรัฐได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
       
       คำอธิบายรัฐธรรมนูญเรียงมาตราว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย เล่มนี้เป็นการพิมพ์ขึ้นใหม่โดยตัดตอนจากคำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 เฉพาะหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งท่านอาจารย์หยุดได้เรียบเรียงขึ้นอย่างละเอียด มีหลักวิชาอ้างอิง และสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่มีรูปลักษณะของรัฐเป็นราชอาณาจักร ในส่วนที่เป็นความเห็นของท่านเอง ท่านก็ได้แสดงไว้อย่างเปิดเผย และเห็นได้ชัดว่าในกรณีของประเทศไทยท่านนิยมเลื่อมใสการจัดรูปของรัฐในลักษณะที่เป็นราชอาณาจักรยิ่งกว่าสาธารณรัฐ โดยท่านได้แสดง “ผลดี” ของการมีพระมหากษัตริย์ไว้ถึง 7 ประการด้วยกัน
       
       หากท่านทั้งหลายอ่านคำอธิบายของท่านโดยตลอดแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าท่านได้อธิบายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้เท่าที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ตามหลัก “the King can do no wrong”) ในส่วนใดที่ท่านเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจ และหากพระองค์จะใช้พระราชอำนาจนั้นแล้ว การกระทำของพระองค์ย่อมถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ท่านก็ได้แสดงเหตุและผลไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนด้วย นอกจากประเด็นเรื่องพระราชอำนาจแล้วท่านยังอธิบายหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการใช้อำนาจอธิปไตยโดยสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนหลักการจัดรูปของรัฐเป็นรัฐเดี่ยวและรัฐรวมไว้ด้วย จึงนับเป็นตำรา Classic อีกเล่มหนึ่งที่ยังสามารถใช้ศึกษาได้จนถึงปัจจุบัน ควรอย่างยิ่งที่ผู้สนใจในประเด็น “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” จะได้ศึกษาทำความเข้าใจ
       
       ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1244
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)