|
|
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 16 กรกฎาคม 2551 12:44 น.
|
คำบรรยายกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4): การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้วางหลังเกณฑ์สำหรับใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีสาระสำคัญเป็นการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองได้และมีอิสระในการดำเนินงาน บทบัญญัติที่ถือว่าเป็น หลักสำคัญ ในการกระจายอำนาจ คือ มาตรา ๗๘ ซึ่งปรากฏอยู่ในหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยมีใจความสำคัญ คือ
มาตรา ๗๘ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
บทบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางที่รัฐจะดำเนินการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนในการปกครองหรือดูแลท้องถิ่นของตนได้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลตามมาคือเป็นการแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง
นอกเหนือจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ ยังได้บัญญัติไว้ในหมวด ๙ เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นรวม ๑๐ มาตราด้วยกัน คือ มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๙๐ และต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่หลายฉบับเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด
๑. บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๔๐)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๙๐ โดยมีสาระสำคัญรวม ๗ ประการ คือ
๑.๑ หลักสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่น : ความเป็นอิสระ
มาตรา ๒๘๒ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมาตราแรกของบทบัญญัติในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้บัญญัติถึงหลักสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยการให้อิสระดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับ รูปแบบของประเทศ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑ แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
ความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่นมีได้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
(ก) ความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ได้แก่ การที่รัฐมอบอำนาจให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นที่จะมีอิสระในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการบริหารท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานและเพื่อจัดทำบริการสาธารณที่ดีและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
(ข) ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเครื่องชี้วัดถึงความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การมีอำนาจบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมายถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจปกครองและบังคับบัญชาพนักงานของตน กล่าวคือ มีอำนาจกำหนดตำแหน่ง สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง จัดการเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทำงาน ตลอดจนให้คุณให้โทษพนักงานรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เมื่อพ้นจากงาน(1) ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หากเป็นไปได้ดีและมีประสิทธิภาพก็จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างประสบผลสำเร็จ
(ค) ความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง เนื่องจากภารกิจสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีเงินมาเพื่อใช้จ่ายและดำเนินการ ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดหาเงินมาใช้จ่าย ก็จะต้องรอรับการจัดสรรเงินจากส่วนกลางซึ่งจะส่งผลทำให้ความเป็นอิสระด้านการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อส่วนกลางได้จัดสรรเงินมาให้ก็จะต้องเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินซึ่งก็จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับหนึ่ง ดังนั้น ความเป็นอิสระทางด้านการเงินและการคลังจึงได้แก่การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณและรายได้เป็นของตนเอง โดยมีอำนาจในการใช้จ่ายเงินเหล่านั้นได้อย่างอิสระพอสมควร ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
ส่วนการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณและรายได้เป็นของตนได้เองได้นั้น ก็จะต้องได้รับมอบอำนาจในการจัดเก็บภาษีบางประเภทจากรัฐ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากประชาชนได้โดยตรง
๑.๒ โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่เดิมนั้นโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักจะประกอบด้วย ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าไปมีส่วนร่วมปกครองท้องถิ่นในบางระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่การเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดในองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือกำนันในสุขาภิบาล เป็นต้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ โดยกำหนดโครงสร้างและรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา ๒๘๕ อันมีรายละเอียดโดยสรุปได้ดังนี้ คือ
(ก) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา ๒๘๕ วรรคหนึ่ง) บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย คือ มีการแยก องค์กรฝ่ายสภา และ องค์กรฝ่ายบริหาร ออกจากกัน
เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบกับโครงสร้างของสุขาภิบาลซึ่งมีอยู่เพียงองค์กรเดียว คือ คณะกรรมการสุขาภิบาลที่ทำหน้าที่เป็นคณะผู้บริหารกิจการทั้งปวงของสุขาภิบาล รับผิดชอบทั้งในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารและองค์กรฝ่ายสภา
(ข) สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง (มาตรา ๒๘๕ วรรคสอง) บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเช่นเดียวกันกับบทบัญญัติที่ผ่านมาที่มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย คือ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นจากประชาชนในเขตท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อท้องถิ่น
เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและเมืองพัทยา ที่มีสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยตำแหน่งประกอบด้วย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
(ค) คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น (มาตรา ๒๘๕ วรรคสาม) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการบริหารโดยตัวแทนของประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น จึงมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผู้บริหารท้องถิ่นเพียงคนเดียว หรืออาจเป็นในรูปของคณะผู้บริหารท้องถิ่นก็ได้ โดยผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านั้นมีที่มาได้ ๒ ทาง คือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนดังเช่นที่ใช้กันอยู่ในกรุงเทพมหานครที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นดังเช่นที่ใช้กันอยู่ในเทศบาลที่สภาเทศบาลเลือกสมาชิกมาทำหน้าที่นายกเทศมนตรีและคณะเทศมนตรี
เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสุขาภิบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีคณะผู้บริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม
(ง) วิธีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา ๒๘๕ วรรคสี่) ในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๒๘๕ แห่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ในมาตรา ๒๘๕ วรรคสี่ จึงได้กำหนดถึงวิธีการเลือกตั้งไว้ว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับระบบการเลือกตั้งระดับชาติคือการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(จ) วาระการดำรงตำแหน่ง (มาตรา ๒๘๕ วรรคห้า) ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่างมีวาระการดำรงตำแหน่งที่เท่ากัน คือคราวละ ๔ ปี
การที่รัฐธรรมนูญกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไว้ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของเทศาลที่มีอยู่ เพราะพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้สมาชิกสภาเทศบาลมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี
(ฉ) ข้อห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง (มาตรา ๒๘๕ วรรคหก) มีการกำหนดถึงข้อห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งคณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ว่า ห้ามเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
๑.๓ อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้หลายประการในหมวด ๙ การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
(ก) ลักษณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา ๒๘๔) รัฐธรรมนูญได้กำหนดลักษณะสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงิน และการคลัง
เพื่อให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ได้กำหนดถึงการดำเนินการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระไว้ในมาตรา ๒๘๔ ว่า จะต้องมีกฎหมายกำหนดอำนาจและหน้าที่ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ และเพื่อให้การกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้มีการจัดทำกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจซึ่งจะต้องประกอบด้วยสาระสำคัญบางประการ เช่น มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง มีการจัดสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดอำนาจหน้าที่และกิจการทั้งหลายดังกล่าวด้วย
(ข) ภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ๒ กรณีด้วยกัน
(ข.๑) หน้าที่และสิทธิในการจัดการท้องถิ่น (มาตรา ๒๘๙) รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น รวมทั้งยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐด้วย
(ข.๒) อำนาจหน้าที่เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา ๒๙๐) เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ อันได้แก่ การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นอกเขตพื้นที่เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
๑.๔ รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติไว้ให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน โดยจะต้องบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (มาตรา ๒๘๔)
๑.๕ การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระจากส่วนกลางมากขึ้น มาตรา ๒๘๘ แห่งรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติถึงเรื่องการบริหารงานบุคคลไว้ว่า
(ก) การแต่งตั้งและการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นก่อน ส่วนคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประกอบด้วยผู้แทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ
(ข) การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือนและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อองค์กรบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ คือ คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการพนักงานเทศบาล คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด และคณะกรรมการพนักงานสุขาภิบาล ก็จะต้องถูกยกเลิกไป
๑.๖ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อีก ๒ กรณีด้วยกัน คือ
(ก) การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มาลงคะแนนที่จะถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ใดไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป (มาตรา ๒๘๖)
รายละเอียดของการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังจะได้ศึกษาในส่วนต่อไป
(ข) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะสามารถเข้าชื่อร้องของต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ แต่จะต้องจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นเสนอมาด้วย (มาตรา ๒๘๗)
รายละเอียดของการเข้าชื่อเสนอข้องบัญญัติท้องถิ่นถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
๑.๗ การกำกับดูและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอิสระในการดำเนินงานของตน แต่ความเป็นอิสระนั้นก็จะต้องไม่มากเกินไปจนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อการปกครองของส่วนกลาง ดังนั้น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางจึงยังคงมีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า การกำกับดูและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้ (มาตรา ๒๘๓)
๒. รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๔๐)
ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ บทบัญญัติต่างๆของรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องได้พากันเสนอขอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐
ในส่วนนี้จะทำการนำเสนอถึงรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลนั้น เนื่องจากสุขาภิบาลมีโครงสร้างไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบกับปัจจุบันการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลที่มีอยู่เดิมให้เป็นเทศบาลตำบล พร้อมทั้งยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลในวันที่กฎหมายประกาศใช้บังคับ (๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒) ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลอีกต่อไปในสารบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย
๒.๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เสีย เนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ทั้งจังหวัดที่อยู่นอกเขตสุขาภิบาลและเทศบาล ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ ออกใช้บังคับเพื่อกระจายอำนาจการปกครองให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล จึงมีการตรากฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสียใหม่ให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและการพ้นจากตำหน่งของประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด การยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดรวมทั้งอำนาจหน้าที่บางประการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัดเพื่อจัดทำกิจการส่วนจังหวัดอันเป็นกิจการที่แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น เขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้แก่เขตจังหวัดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๒.๑.๑ โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๒.๑.๑.๑ สภาการบริหารส่วนจังหวัด สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดของแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากันอยู่ในระหว่างจำนวน ๒๔ คน ถึง ๔๘ คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในเขตจังหวัดนั้นๆ โดยมีรายละเอียดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคสาม แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ
ก. จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ๒๔ คน
ข. จังหวัดใดมีราษฎรเกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน แต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ๓๐ คน
ค. จังหวัดใดมีราษฎรเกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน แต่ไม่เกิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ๓๖ คน
ง. จังหวัดใดมีราษฎรเกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ๔๘ คน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กำหนดวิธีการในเบื้องต้นไว้ในมาตรา ๙ วรรคสี่ ว่า ในอำเภอหนึ่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ๑ คน เมื่อรวมจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากแต่ละอำเภอแล้ว จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วในข้อ ก. ถึงข้อ ง. ข้างต้น ให้ดำเนินการดังนี้คือ เอาจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจะพึงมีได้ไปหารจำนวนราษฎรทั้งจังหวัด ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับคำนวณสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยอำเภอใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุดให้อำเภอนั้นมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน แล้วให้เอาผลลัพธ์ดังกล่าวหักออกจากจำนวนราษฎรของอำเภอนั้น เหลือเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนราษฎรของอำเภอนั้นในการพิจารณาเพิ่มสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ยังขาดจำนวนอยู่ และให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไปจนได้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดครบจำนวน
๒.๑.๑.๒ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เดิมนายกการบริหารส่วนจังหวัด เป็นฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งสามารถทำได้ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘๕ วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๔๐) ที่ว่า คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเป็นชอบของสภาท้องถิ่น แต่ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และ กำหนดไว้ในมาตรา ๓๕ ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๕ และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ส่วนจำนวนรองนายกรองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น มาตรา ๓๕/๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้วางเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ
ก. ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีจำนวน ๔๘ คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน ๔ คน
ข. ในกรณีที่สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีจำนวน ๓๖ คน หรือ ๔๒ คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน ๓ คน
ค. ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีจำนวน ๒๔ คน หรือ ๓๐ คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน ๒ คน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕/๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ คือ
๑. กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติและนโยบาย
๒. สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด
๓. แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๔. วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
๕. รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๖. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
การพ้นจากตำแหน่งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๖ ซึ่งกฎหมายก็ได้เปิดโอกาสให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้
๒.๑.๒ อำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้รวม ๑๐ ประการ และนอกจากนี้ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ ยังได้กำหนดถึงอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อีก ๒๙ ประการด้วยกัน
กิจการส่วนจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๒ มีดังต่อไปนี้
ก. ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
ข. จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ค. สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
ง. แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
ฉ. อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๔๙๘ เฉพาะภายในเขตสภาตำบล
ช. คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซ. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
ฌ. จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดและกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ญ. จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่บริหารส่วนจังหวัด
สำหรับอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในเขตสภาตำบลตามข้อ ฉ. จะได้แก่อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ อันได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันโรค การกำจัดขยะมูลฝอย การบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร การจัดให้มีน้ำสะอาด โรงฆ่าสัตว์ ตลาด ไฟฟ้า แสงสว่าง รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ส่วนอำนาจหน้าที่อื่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากอำนาจหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๔๙ ยังได้บัญญัติถึงการดำเนินกิจกรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้อีกหลายกรณี คือ
ก. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจกรรมใดๆ อันเป็นหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่นอกเขตจังหวัดได้เมื่อได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เกี่ยวข้อง
ข. กิจการใดเป็นกิจการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพึงจัดทำตามอำนาจหน้าที่ถ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่จัดทำ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำกิจการนั้นได้
ค. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยเรียกค่าบริการได้โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
ง. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน
นอกจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวไปแล้วทั้งหมดอันเป็นอำนาจหน้าที่ตามบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้ คือ
(๑) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(๒) การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(๓) การประสานและให้ความร่วมมือในการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๔) การแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๕) การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๖) การจัดการศึกษา
(๗) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(๘) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
(๙) การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
(๑๐) การจัดตั้งและดูและระบบบำบัดน้ำเสียรวม
(๑๑) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
(๑๒) การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ
(๑๓) การจัดการและดูแลสถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ
(๑๔) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
(๑๕) การพาณิชย์ การส่งเสริมการลงทุน และการทำกิจการไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นหรือจากสหการ
(๑๖) การสร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๑๗) การจัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
(๑๘) การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
(๑๙) การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันการควบคุมโรคติดต่อ
(๒๐) การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
(๒๑) การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร
(๒๒) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๒๓) การจัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด
(๒๔) จัดทำกิจการใดอันเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขต และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกระจายอำนาจประกาศกำหนด
(๒๕) สนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(๒๖) การให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๒๗) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
(๒๘) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒๙) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
๒.๑.๓ ข้อบัญญัติจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจตราข้อบัญญัติจังหวัด เพื่อใช้บังคับในเขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบัญญัติท้องถิ่นอื่นในเขตจังหวัดนั้นในกรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ
ก. เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐
ข. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราข้อบัญญัติ
ค. เพื่อการดำเนินการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ข้อบัญญัติทั้งหลายจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ได้แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินกว่า ๖ เดือน และหรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อบัญญัติจังหวัดมี ๓ ประเภท คือ ข้อบัญญัติจังหวัดทั่วไป ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และข้อบัญญัติชั่วคราว
๒.๑.๓.๑ การตราข้อบัญญัติจังหวัดทั่วๆไป มีกระบวนการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๒ ถึงมาตรา ๕๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่อไปนี้ คือ
ก. ร่างข้อบัญญัติจังหวัดจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การ
ข. ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ค. เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาและเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติใด ให้ประธานสภาส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ความเห็นชอบ
หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๕๓ วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งร่างข้อบัญญัติให้นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เป็นชอบด้วย ให้ส่งร่างข้อบัญญัติพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาใหม่ ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติและแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบต่อไป แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ยืนยันภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติหรือยืนยันร่างข้อบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่า ๒ ใน ๓ ให้ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป
๒.๑.๓.๒ การตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม นับได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีกระบวนการจัดทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๔ ถึงมาตรา ๕๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ภายหลังจากที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแล้ว และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าคนเพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้ง โดยแก้ไข ปรับปรุง หรือยืนยันสาระสำคัญในร่างข้อบัญญัตินั้น ทั้งนี้ ให้ยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประโยชน์ของท้องถิ่นและประชาชนเป็นสำคัญ คณะกรรมการดังกล่าวให้ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติไม่รับหลักการ และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และมิได้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการได้ภายในกำหนดเวลา หรือกรรมการหรือประธานกรรมการไม่ปฏิบัติหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และมิได้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่กรรมการหรือประธานกรรมการดังกล่าวให้ครบตามจำนวน คณะกรรมการจะต้องพิจารณาร่างข้องบัญญัติให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ตั้งประธานธรรมการในคราวแรกแล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานกรรมการรวบรวมผลการพิจารณาแล้ววินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วแล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งร่างข้อบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหรือประธานกรรมการให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยเร็ว แล้วให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสนอร่างข้อบัญญัติดังกล่าวต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด หากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่เสนอร่างข้อบัญญัตินั้นต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะต้องพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือมีมติไม่เห็นชอบให้ตราข้อบัญญัตินั้น ให้ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป และให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีมีคำสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๒.๑.๓.๓ ข้อบัญญัติชั่วคราว ในกรณีฉุกเฉินจะเรียกประชุมสภาจังหวัดให้ทันท่วงทีไม่ได้ มาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดไว้ให้อำนาจแก่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะออกข้อบัญญัติชั่วคราวที่มิใช่ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสามัญประจำสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน และเมื่อได้ปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นแล้วให้ใช้บังคับได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดคราวต่อไป นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะต้องนำข้อเสนอบัญญัติชั่วคราวนั้นเสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่ออนุมัติ เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอนุมัติแล้วให้ใช้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าสภาไม่อนุมัติ ให้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นอันตกไป โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้น
๒.๑.๔ การงบประมาณและการคลัง
งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจัดทำเป็นของตนเองแยกต่างหากจากงบประมาณแผ่นดิน งบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจะต้องจัดทำเป็นข้อบัญญัติ ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้งบประมาณปีก่อนไปพลางก่อน
งบประมาณรายจ่ายจะมีได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้
ก. กิจการที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ คือ กิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒.๑.๒
ข. กิจการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ถ้าในปีใดที่จำนวนเงินซึ่งได้รับอนุมัติไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณไม่พอสำหรับการใช้จ่ายประจำปีก็ดี หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายขึ้นใหม่ในระหว่างปี มาตรา ๕๙ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนดให้ต้องทำเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
๒.๑.๔.๑ รายได้ มาตรา ๗๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบัญญัติไว้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
ก. ภาษีอากรตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
ข. ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ค. รายได้จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ง. รายได้จากสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
จ. รายได้จากการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ฉ. รายได้จากพันธบัตรหรือเงินกู้ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
ช. เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การหรือนิติบุคคลต่างๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
ซ. เงินอุดหนุนหรือรายได้อื่นตามที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้
ฌ. เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
ญ. รายได้อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
สำหรับภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตและค่าปรับดังที่ปรากฏในข้อ ก. และ ข. ข้างต้นนี้ มาตรา ๖๐ ถึงมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ ได้กำหนดรายละเอียดเอาไว้ว่า ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ค่าภาคหลวงแร่ ภาษีจากน้ำมันและยาสูบ เป็นต้น
๒.๑.๔.๒ รายจ่าย มาตรา ๗๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบัญญัติไว้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้
ก. เงินเดือน
ข. ค่าจ้าง
ค. เงินตอบแทนอื่นๆ
ง. ค่าใช้สอย
จ. ค่าวัสดุ
ฉ. ค่าครุภัณฑ์
ช. ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่นๆ
ซ. เงินอุดหนุน
ฌ. รายจ่ายอื่นใดตามที่มีข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
ส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรรมการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น มาตรา ๗๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบัญญัติไว้ว่า ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการคลัง การงบประมาณ การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การดำเนินกิจการการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด การจัดหาพัสดุและการจัดจ้าง การให้ได้รับสวัสดิการของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น มาตรา ๗๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบัญญัติไว้ว่าให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยซึ่งจะต้องออกมาโดยคำนึงถึงความเป็นอิสระ ความคล่องตัว และความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
๒.๑.๕ การกำกับดูแล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘๓ ถึงเรื่องการกำกับดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นไว้ว่า การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
กฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กำหนดเรื่องการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้ โดยในมาตรา ๗๗ ถึง มาตรา ๘๐ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
ก. ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการโดยทั่วไปขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ข. ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้ แล้วให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันออกคำสั่ง ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องวินิจฉัยสั่งการเรื่องดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด คำสั่งของรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวให้ถือเป็นที่สุด
ค. ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งเพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมิใช่ข้อบัญญัติได้ในกรณีที่ปรากฏว่ามตินั้นฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หรือเป็นมติที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติและจะต้องแสดงเหตุผลของการเพิกถอนมตินั้นไว้ในคำสั่งด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังยืนยันมติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่าที่มีอยู่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานการยืนยันมติดังกล่าวและเหตุผลของการเพิกถอนมติของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อรัฐมนตรีภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติยืนยันมติเดิม ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องวินิจฉัยสั่งการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ง. ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำเนินการสอบสวนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ หากพบว่าบุคคลดังกล่าวละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของประชาชน และหากผลการสอบสวนปรากฎว่า บุคคลใดมีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจ สั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง คำสั่งของรัฐมนตรีในกรณีนี้ให้ถือเป็นที่สุด
จ. ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ในกรณีที่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม คำสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดของรัฐมนตรีจะต้องแสดงเหตุผลไว้ด้วย
๒.๒ เทศบาล
เทศบาล มิได้จัดตั้งขึ้นทั่วทั้งประเทศ แต่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งๆ ไป ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยเมื่อรัฐพิจารณาเห็นควรที่จะยกฐานะท้องถิ่นใดขึ้นเป็นเทศบาล ก็ตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะท้องถิ่นนั้นเป็นเทศบาลเป็นแห่งๆไป
เทศบาลมีฐานะเป็นทบวงการเมืองเเละเป็นนิติบุคคลดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
๒.๒.๑ ประเภทของเทศบาล
ปัจจุบันพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ ถึงมาตรา ๑๑ ให้เทศบาลมีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๒.๒.๑.๑ เทศบาลตำบล มาตรา ๙ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดไว้ว่าได้แก่ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล กฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะว่าการเป็นเทศบาลตำบลจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงมหาดไทยได้วางหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งเทศบาลตำบลเอาไว้ และนอกจากนี้เทศบาลตำบลจำนวนหนึ่งยังมีที่มาจากการที่เมื่อพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลและกำหนดให้บรรดาสุขาภิบาลที่มีอยู่มีฐานะเป็นเทศบาลตำบล
๒.๒.๑.๒ เทศบาลเมือง มาตรา ๑๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดให้เทศบาลเมืองมีอยู่สองรูปแบบ คือ
ก. ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด
ข. ท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนขึ้นไป และมีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
การจัดตั้งเทศบาลเมืองต้องทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย
๒.๒.๑.๓ เทศบาลนคร มาตรา ๑๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดไว้ว่าเทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป และมีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
การจัดตั้งเทศบาลจะต้องทำหน้าที่เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งจะต้องระบุชื่อและเขตของเทศบาลเอาไว้ด้วย
๒.๒.๒ โครงสร้างของเทศบาล
โครงสร้างของเทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
เดิมโครงสร้างของเทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ใหม่และเพิ่มรูปแบบของผู้บริหารเทศบาลเข้ามาอีก ๑ รูปแบบ คือ นายกเทศมนตรี โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลว่าเทศบาลใดจะมีการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลแต่ละแห่งโดยมีวิธีการดังนี้ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลใดจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลนั้น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเพื่อให้จัดทำประชามติในเขตเทศบาลนั้น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้จัดทำประชามติในเขตเทศบาลนั้นว่าจะกำหนดให้การบริหารเทศบาลใช้รูปแบบคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรี ผลของประชามติให้นำมาใช้เมื่อมีการบริหารเทศบาลเป็นการทั่วไปในคราวถัดจากวันออกเสียงประชามติและให้ใช้รูปแบบการบริหารตามผลประชามตินั้นตลอดไปจนกว่าจะมีการออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลนั้นให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเทศบาลเป็นอย่างอื่น การร้องขอให้ทำประชามติดังกล่าวมาแล้วจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนครบวาระของเทศบาลหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว แต่ในปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้เพราะได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และกำหนดให้มีฝ่ายบริหารคือนายกเทศมนตรีที่มีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตเทศบาล
๒.๒.๒.๑ สภาเทศบาล สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕
สมาชิกสภาเทศบาล อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ ลดลงจาก ๕ ปีมาเป็น ๔ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๘๕ แห่งรัฐธรรมนูญ สำหรับจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลของเทศบาลแต่ละประเภทนี้จะไม่เท่ากัน อยู่ในระหว่างจำนวน ๑๒ คน ถึง ๒๔ คน ขึ้นอยู่กับประเภทของเทศบาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ดังนี้
ก. สภาเทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๑๒ คน
ข. สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๑๘ คน
ค. สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๒๔ คน
๒.๒.๒.๒ นายกเทศมนตรี กฎหมายว่าด้วยเทศบาลได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของเทศบาลไทย มาตรา ๔๘ เบญจ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีไว้หลายประการด้วยกัน เช่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น
นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย โดยมาตรา ๔๘ อัฎฐ แห่งกฎหมายว่าด้วยการเทศบาลได้กำหนดจำนวนเทศมนตรีไว้ดังนี้ คือ
ก. เทศบาลตำบล ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน ๒ คน
ข. เทศบาลเมือง ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน ๓ คน
ค. เทศบาลนคร ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน ๔ คน
นายกเทศมนตรีเป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ สัตตรส แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
๒.๒.๓ อำนาจหน้าที่ของเทศบาล
มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเทศบาลไว้รวม ๓๑ ประการด้วยกัน คือ
- จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตน
- จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
- จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
- การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ
- การสาธารณูปการ
- การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ
- การพาณิชย์และการส่งเสริมการลงทุน
- การส่งเสริมการท่องเที่ยว
- การจัดการศึกษา
- การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
- การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
- การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
- การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- การส่งเสริมกีฬา
- การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
- การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
- การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
- การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
- การจัดให้มีการควบคุมการฆ่าสัตว์
- การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
- การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- การผังเมือง
- การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร
- การดูแลรักษาที่สาธารณะ
- การควบคุมอาคาร
- การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
นอกจากนี้ ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาลเองก็ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเทศบาลไว้โดยแยกเป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร รวมทั้งยังมีบทบัญญัติให้เทศบาลสามารถทำกิจการนอกเขตเทศบาลหรือกระทำการร่วมกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งกล่าวโดยสรุปแล้วกิจการที่เทศบาลทุกประเภทจะทำได้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น ๘ ประเภทใหญ่ๆ คือ(2)
ก. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่น การดับเพลิง การป้องกันและระงับสาธารณภัย
ข. การสาธารณสุข เช่น การจัดให้มีและบำรุงสถานที่พิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้ การป้องกันและระงับโรคติดต่อ การรักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การจัดให้มีและบำรุงสวนสาธารณะ สุสานและฌาปนสถาน เป็นต้น
ค. การสาธารณูปการ เช่น การสงเคราะห์มารดาและเด็ก การสงเคราะห์คนชา คนอนาถา เด็กกำพร้า เป็นต้น
ง. การโยธาสาธารณะ เช่น การสร้างและบำรุงทางบกทางน้ำ การจัดให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎร เป็นต้น
จ. การศึกษา เช่น การจัดตั้งและบำรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา การจัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา เป็นต้น
ฉ. การสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์ เช่น การประปา การไฟฟ้า การเดินรถประจำทาง ตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม กิจการโรงรับจำนำ เป็นต้น
ช. การทะเบียนราษฎร์
ซ. การบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
กิจการทั้งหลายเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องจัดทำภายในเขตเทศบาลของตน
อำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้ได้มีการเพิ่มเติมโดยการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการเพิ่มหน้าที่กับเทศบาลอีกหลายประการ เช่น เพิ่มหน้าที่ให้กับเทศบาลตำบลในการส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น หรือการเพิ่มหน้าที่ให้กับเทศบาลนครในการควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหาสพและสถานบริการอื่นการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม จัดให้มีและควบคุมตลาดท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง รวมทั้งการส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เทศบาลอาจทำกิจการอื่นๆ ได้อีกตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ ทวิ และ ๕๗ ตรี แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล คือ
ก. การทำกิจการภายนอกเขต เทศบาลอาจออกไปทำกิจการต่างๆ ภายนอกเขตของตนได้โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ
(ก.๑) การนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตของตน
(ก.๒) ได้รับความยินยอมจากเทศบาล สภาจังหวัดหรือสภาตำบล แห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและ
(ก.๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ข. การทำการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือหุ้นในบริษัทจำกัด
เทศบาลทำการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ข.๑) บริษัทจำกัดนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค
(ข.๒) เทศบาลต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ในกรณีที่มีหลายเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียวกัน ให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกัน และ
(ข.๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นอกจากการดำเนินกิจการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด กฎหมายว่าด้วยเทศบาลมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ ยังได้บัญญัติให้จัดตั้งสหการขึ้นได้ สหการเป็นองค์การที่เทศบาลตั้งแต่สองเทศบาลขึ้นไปรวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันอยู่ในหน้าที่ของเทศบาลร่วมกัน สหการมีสภาพเป็นทบวงการเมือง จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะต้องกำหนดชื่อ อำนาจหน้าที่ และระเบียบการดำเนินงานของสหการไว้ สหการมีคณะกรรมการบริหารซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้อง
๒.๒.๔ เทศบัญญัติ
มาตรา ๖๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กำหนดให้เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติได้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของเทศบาลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล และในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เทศบาลตราเทศบัญญัติหรือมีอำนาจตราเทศบัญญัติได้ เทศบัญญัติมี ๓ ประเภท คือ เทศบัญญัติทั่วไปเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเทศบัญญัติชั่วคราว
๑.๒.๔.๑ การตราเทศบัญญัติทั่วๆไป มีกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๑ ทวิ ถึงมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
ก. ร่างเทศบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
ข. ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกเทศมนตรี
ค. ภายใน ๗ วันนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติใด สำหรับเทศบาลตำบลให้ประธานสภาส่งร่างเทศบัญญัติไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ส่วนเทศบาลเมืองและเทศบาลนครให้ประธานสภาส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องพิจารณาร่างเทศบัญญัติให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเทศบาลภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภยในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ว่าราการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติดังกล่าว ให้ส่งนายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วย ให้ส่งร่างเทศบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสภาเทศบาลเพื่อพิจารณาใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติคืนมา ถ้าสภาเทศบาลมีมติยืนยันตามร่างเทศบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นให้นายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติและแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบต่อไป แต่ถ้าสภาเทศบาลไม่ยืนยันภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติคืนจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือยืนยันตามร่างเทศบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสภาเทศบาลเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป
๒.๒.๔.๒ การตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ ตรีและมาตรา ๖๒ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
ในกรณีสภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าคน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งโดยแก้ไข ปรับปรุง หรือยืนยันสาระสำคัญในร่างเทศบัญญัตินั้น โดยให้ยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประโยชน์ของท้องถิ่นและประชาชนเป็นสำคัญ คณะกรรมการดังกล่าวให้ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งสภาเทศบาลเสนอจำนวนเจ็ดคน และบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งนายกเทศมนตรเสนอจำนวนเจ็ดคนโดยให้แต่งตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติไม่รับหลักการ และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการดังกล่าวในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการไม่ปฏิบัติหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลทำหน้าที่กรรมการหรือประธานกรรมการดังกล่าวให้ครบตามจำนวน คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีหน้าที่พิจารณาร่างเทศบัญญัติให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้แต่งตั้งประธานกรรมการในคราวแรก แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานกรรมการรวบรวมผลการพิจารณาให้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งร่างเทศบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหรือประธานกรรมการดังกล่าวให้นายกเทศมนตรีโดยเร็ว แล้วให้นายกเทศมนตรีเสนอร่างเทศบัญญัติดังกล่าวต่อสภาเทศบาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด หากนายกเทศมนตรีไม่เสนอร่างเทศบัญญัตินั้นต่อสภาเทศบาลภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
สภาเทศบาลจะต้องพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติจากนายกเทศมนตรี หากสภาเทศบาลพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือมีมติไม่เห็นชอบให้ตราเทศบัญญัตินั้น ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป และให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล
อนึ่ง ในการพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาเทศบาล การเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้
๒.๒.๔.๓ การตราเทศบัญญัติชั่วคราว นอกจากเทศบัญญัติทั่วๆไป และเทศบัญญัติงบประมาณดังกล่าวมาแล้ว ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาเทศบาลให้ทันท่วงทีมิได้ มาตรา ๖๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลได้กำหนดให้คณะเทศมนตรีมีอำนาจออกเทศบัญญัติชั่วคราวได้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดและเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วก็ใช้บังคับได้ แต่ต้องนำเสนอสภาเทศบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติในการประชุมสภาเทศบาลคราวต่อไป ถ้าสภาเทศบาลอนุมัติ เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นก็เป็นเทศบัญญัติต่อไป ถ้าสภาเทศบาลไม่อนุมัติ เทศบัญญัติชั่วคราวก็เป็นอันตกไปแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไประหว่างใช้เทศบัญญัติชั่วคราวนั้น
๒.๓.๕ การงบประมาณและการคลัง
เทศบาลเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงสามารถมีงบประมาณและทรัพย์สินเป็นของตนเองแยกต่างหากจากส่วนกลาง
๒.๒.๕.๑ รายได้ของเทศบาล กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ได้แก่ ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ รายได้จากทรัพย์สินของเทศบาล รายได้จากการสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์พันธบัตรหรือเงินกู้ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การหรือนิติบุคคลต่างๆ ซึ่งเทศบาลจะทำการกู้เงินได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสภาเทศบาลและได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีอผู้อุทิศให้ และเงินรายได้อื่นๆ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
นอกจากรายได้ของเขตเทศบาลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังได้กำหนดให้เทศบาลอาจมีรายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และเงินรายได้จากที่ต่างๆ อีกรวม ๒๐ กรณี คือ
- ภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- ภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่
- ภาษีป้ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย
- ภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรที่ได้รับการจัดสรรในอัตราซึ่งเมื่อรวมกับการจัดสรรตามมาตรา ๒๔ (๓) และมาตรา ๒๕ (๖) แล้วไม่เกินร้อยละสามสิบของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้หักส่วนที่ต้องจ่ายคืนแล้ว โดยเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มขึ้นในอัตราซึ่งเมื่อรวมกับอัตราตามมาตรา ๒๔ (๔) แล้วไม่เกินร้อยละสามสิบของอัตราภาษีที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร โดยเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บ
- ภาษีสรรพสามิตตามกฏหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ภาษีสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุราและค่าแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ซึ่งเก็บจากการค้าในเขตเทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกินร้อยละสามสิบของอัตราภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บ และให้ถือเป็นภาษีและค่าแสตมป์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตที่จะจัดเก็บ
- ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ รวมทั้งเงินเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และค่าธรรมเนียมล้อเลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
- ภาษีการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน
- ภาษีเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
- อากรการฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากหักส่งเป็นรายได้ของรัฐในอัตราร้อยละสี่สิบแล้วดังต่อไปนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตรให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละยี่สิบของเงินค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ภายในเขต
องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตรให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละสิบของเงินค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ภายในเขต
องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลในจังหวัดอื่นให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละสิบของเงินค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ภายในเขต
- ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมหลังจากหักส่งเป็นรายได้ของรัฐในอัตราร้อยละสี่สิบแล้ว ดังต่อไปนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามสัมปทาน ให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละยี่สิบของเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้ภายในเขต
องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามสัมปทาน ให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละสิบของเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้ภายในเขต
องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่นให้ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละสิบของเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้ภายในเขต
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีทุนทรัพย์ภายในเขต ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมยที่ดินและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
- ค่าธรรมเนียมสนามบินตามกฎหมายว่าด้วยการตามอัตราและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
- ค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้ โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของค่าธรรมเนียมที่มีการจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน
- ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับในกิจการที่กฎหมายมอบหมายหน้าที่ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการภายในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ และให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว ในกรณีกฎหมายกำหนดให้เทศบาลเป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ให้นำรายได้มาแบ่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ภายในเขตจังหวัดตามที่คณะกรรมการกระจายกำหนด
- ค่าใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามสัดส่วนที่คณะกรรมการกำหนด
- ค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะที่จัดให้มีขึ้น
- รายได้อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นของเทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล
๒.๒.๕.๖ รายจ่ายของเทศบาล กำหนดไว้ในมาตรา ๖๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนอื่นๆ ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้างและทรัพย์สินอื่นๆ เงินอุดหนุน และรายจ่ายอื่นๆ ตามข้อผูกพันหรือตามที่กฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
๒.๒.๖ การกำกับดูแล
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘๓ ถึงเรื่องการกำกับดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นว่าจะต้องทำเท่าที่จำเป็นตามกฎหมายบัญญัติ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเทศบาลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ
๒.๒.๖.๑ กระบวนการควบคุมเดิม กำหนดไว้ในมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ และมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ใช้บังคับ อันได้แก่
ก. ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในเขตจังหวัดให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลและตรวจสอบกิจการ รวมทั้งเรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตรวจตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้
ข. นายอำเภอหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลในเขตอำเภอให้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลตำบลและตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตารวจตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจง หรือสอบสวนก็ได้
ค. เมื่อนายอำเภอในกรณีแห่งเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเห็นว่า นายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่เทศบาลหรือราชการ และนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี มีอำนาจที่สั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติของนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีไว้ก่อนได้ แล้วให้รีบรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายใน ๑๕ วันเพื่อวินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควร
ง. ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า นายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยหลักฐาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้นายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดออกจากตำแหน่งก็ได้
จ. การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงสามารถทำได้ในกรณีที่มีความจำเป็น
๒.๒.๖.๒ กระบวนการกำกับดูแลใหม่ ได้แก่ กระบวนการที่กำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นส่วนสำคัญในการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานของเทศบาล อันได้แก่
ก. การออกเสียงประชามติ มาตรา ๓๒ ทวิ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศง ๒๕๔๒ ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่กิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือของประชาชนในท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือนายกเทศมนตรีอาจเสนอต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่น โดยการออกเสียงประชามติจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่กับกิจการสำคัญซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดแย้งต่อกฎหมายหรือเป็นการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่ง อนึ่ง การออกเสียงประชามติของประชาชนในเขตเทศบาลนี้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่สภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีในเรื่องที่นำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
ข. การยุบสภาเทศบาล มาตรา ๗๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาลซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กล่าวถึงเรื่องการยุบสภาเทศบาลไว้ว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเทศบาลหรือประโยชน์ของประเทศส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อยุบสภาเทศบาลได้ โดยในคำสั่งยุบสภาเทศบาลจะต้องแสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย
๒.๓ องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนับได้ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุดและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด องค์การบริหารส่วนตำบลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลไว้ในมาตรา ๔๐ ว่า สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท หรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของสภาตำบลที่ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลให้ทำโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะต้องระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ในประกาศด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
๒.๓.๑ โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
๒.๓.๑.๑ สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ จะประกาศใช้บังคับ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งอันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบลและแพทย์ประจำตำบลกับสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งอันได้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเลือกตั้งหมู่บ้านละ ๒ คน แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกาศใช้บังคับ จึงได้มีการแก้ไขโครงสร้างของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเสียใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๘๕ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงมีการแก้ไขมาตรา ๔๕ ของกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยกำหนดให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละ ๒ คน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น แต่ถ้าหากในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีเพียงหนึ่งหมู่บ้าน ก็ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน ๖ คน และในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียง ๒ หมู่บ้าน ก็ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละ ๓ คน
อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละ ๔ ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล คือ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควบคุมการปฏิบัติงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
๒.๓.๑.๔ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เดิมพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ กำหนดให้มีฝ่ายบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเรียกว่า คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยกำนันและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่เกิน ๒ คน และจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งไม่เกิน ๔ คน แต่ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๕ ที่กำหนดให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จึงมีการแก้ไขมาตรา ๕๘ ของกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลเสียใหม่ โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนส่วนตำบลประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารจำนวน ๒ คน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล แล้วเสนอให้นายอำเภอเป็นผู้แต่งตั้ง แต่อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้มีการแก้ไขตำแหน่งฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลเสียใหม่ เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และให้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล เช่น กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกและเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นต้น
๒.๓.๒ อำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดถึงหน้าที่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลไว้ ๙ ประการด้วยกัน และนอกจากนี้ มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศง ๒๕๔๒ ยังได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้เป็นเช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลรวม ๓๑ ประการด้วยกัน ที่ได้นำเสนอไปแล้วในส่วนอำนาจและหน้าที่ของเทศบาล เป็นต้น
อำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ คุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร
นอกจากอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว มาตรา ๖๘ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังได้กำหนดถึงกิจการซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำในเขตของตนได้ คือ การจัดให้มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร การจัดให้มีการบำรุงการไฟฟ้า ทางระบายน้ำ สถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ การจัดให้มีและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร การคุ้มครองดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล การจัดให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม การท่องเที่ยวและการผังเมือง เป็นต้น
๒.๓.๓ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล
มาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลได้กล่าวถึงขั้นตอนในการจัดทำข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง ๒ ประเภท คือ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วไปและข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นงบประมาณไว้ดังนี้ คือ
๒.๓.๓.๑ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วไป องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยจะกำหนดให้มีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ขั้นตอนในการจัดทำข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นดังนี้ คือ ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และเมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป แต่ถ้าหากนายอำเภอไม่เห็นชอบด้วยร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลใด ให้ส่งคืนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่นายอำเภอได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวเพื่อให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นใหม่ หากนายอำเภอไม่ส่งร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลคืนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่นายอำเภอได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว ให้ถือว่านายอำเภอให้ความเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น และถ้าหากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วมีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายอำเภอ แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ยืนยันภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลคืนจากนายอำเภอหรือยืนยันด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นอันตกไป
๒.๓.๓.๒ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นงบประมาณ มาตรา ๘๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลบัญญัติไว้ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขององค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องจัดทำเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้เสนอนายอำเภอเพื่อขออนุมัติและให้นายอำเภอพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ถ้านายอำเภอไม่อนุมัติต้องแจ้งเหตุผลและส่งคืนให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัตินั้นใหม่ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วและนายอำเภอพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่านายอำเภออนุมัติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ส่วนในกรณีที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้นายอำเภอส่งร่างข้อบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้งมติยืนยัน ถ้าผู้ว่าราชการจัวหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งไปยังนายอำเภอเพื่อลงชื่ออนุมัติ แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วย ให้ร่างข้อบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความเห็นชอบตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสนอ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการส่งไปยังนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาต่อไปดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
๒.๓.๔ การงบประมาณและการคลัง
องค์การบริหารส่วนตำบลมีรายได้และรายจ่าย ดังต่อไปนี้
๒.๓.๔.๑ รายได้ รายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม ๒๐ ประเภทเช่นเดียวกับรายได้ของเทศบาลดังที่ได้กล่าวไปแล้วในส่วนของรายได้ของเทศบาลข้างต้น ส่วนในกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลเองก็ได้บัญญัติถึงรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ในมาตรา ๗๔ ถึงมาตรา ๘๔ อันได้แก่ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ซึ่งสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราและเล่นการพนัน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียม รวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ค่าภาคหลวงแร่ รวมถึงรายได้จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล รายได้จากสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนตำบลและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นต้น
๒.๓.๔.๒ การกำกับดูแล
มาตรา ๙๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลได้กำหนดให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใดๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบก็ได้ และเมื่อนายอำเภอเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดปฏิบัติการในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเสียหายแก่ราชการและนายอำเภอได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้ามิได้ ให้นายอำเภอมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไว้ตามที่เห็นสมควรได้ แล้วให้รีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทราบภายในสิบห้าวันเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว ส่วนการกระทำของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ฝ่าฝืนคำสั่งของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้ถือว่าไม่มีผลผูกพันองค์การบริหารส่วนตำบล
นอกจากนี้แล้ว กฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังกำหนดถึงการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบลไว้อีก ๒ กรณีด้วยกัน คือ
๒.๓.๕.๑ การยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาตรา ๙๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดไว้ว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม นายอำเภอจะรายงานเสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจที่จะยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้แต่จะต้องแสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย
๒.๓.๕.๒ การสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง มาตรา ๘๒ แห่งกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลบัญญัติไว้ว่า หากปรากฎว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนที่ละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอสั่งสอบสวนโดยเร็ว และในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ใดผู้หนึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง ก็ให้นายอำเภอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมด้วยก็ได้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้ถือเป็นที่สุด
๒.๔ กรุงเทพมหานคร
การจัดการปกครองท้องถิ่นกรุงเทพมหานครนั้น แต่เดิมมีการจัดตั้งเป็นเทศบาลนครกรุงเทพมหานครและเทศบาลนครธนบุรีขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖
ต่อมาในปี พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน(3) เรียกว่า จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้รวมเทศบาลกรุงเทพธนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีอีกตำแหน่งด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีการประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ปรับปรุงการจัดการปกครองจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็น กรุงเทพมหานคร จัดการปกครองแบบราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร และมีสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยกเลิกเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีซึ่งเป็นการปกครองแบบราชการส่วนท้องถิ่น
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนการปกครองกรุงเทพมหานครจากราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่นมาเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว กรุงเทพมหานครจึงไม่มีฐานะเป็นจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคซ้อนอยู่เช่นจังหวัดอื่นๆ อีกต่อไป(4) โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตรา ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างของกรุงเทพมหานครก่อนการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นดังนี้
๑.๔.๑ การจัดตั้งกรุงเทพมหานคร
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ และมีการแบ่งพื้นที่การบริหารออกเป็นเขตและแขวงตามมาตรา ๗
๑.๔.๒ โครงสร้างของกรุงเทพมหานคร
โครงสร้างของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบด้วย สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(ก) สภากรุงเทพมหานคร มาตรา ๑๐ บัญญัติให้ประกอบด้วย
(ก.๑) ประธานสภากรุงเทพมหานคร ๑ คน
(ก.๒) รองประธานสภากรุงเทพมหานครไม่เกิน ๒ คน (ก.๓) สมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามจำนวนเขตเลือกตั้งคนละ ๑ คน(5)
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตกรุงเทพมหานครดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑
ประธานและรองประธานสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของสภากรุงเทพมหานครที่เลือกจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมดตามมาตรา ๒๕
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗
๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภากรุงเทพมหานคร หรือมีการยุบสภากรุงเทพมหานคร
๒) ตาย
๓) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภากรุงเทพมหานครและให้มีผลบังคับนับแต่วันถัดจากวันยื่นหนังสือลาออก
๔) ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
๕) ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร หรือบริษัทซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้นหรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
๗) ขาดการประชุมสภากรุงเทพมหานครตลอดสมัยประชุมที่มีการกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภากรุงเทพมหานคร
๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร้องขอ หรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาและสภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้ออก เพราะเห็นว่า ได้กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง มติของสภากรุงเทพมหานครกรณีนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ข) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมดำเนินการ ได้แก่
(ข.๑) รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกิน ๔ คน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๕
(ข.๒) เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ๑ คน และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินจำนวนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๖
(ข.๓) ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี) จำนวนรวมกันไม่เกิน ๙ คน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
การดำเนินกิจการของกรุงเทพมหานครนั้น มาตรา ๕๐ ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีสิทธิตั้งกระทู้ถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของกรุงเทพมหานครตามมาตรา ๓๖
นอกจากนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้ด้วยตามมาตรา ๓๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
๑.๔.๒.๑ หน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
มาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ๑๓ ประเภท ดังนี้
๑. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
๒. การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
๓. การสาธารณสุข ได้แก่ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การอนามัยครอบครัว การรักษาพยาบาล
๔. การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การจัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ การขนส่ง การวิศวกรรมจราจร ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม
๕. การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น การจัดให้มีตลาด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์ การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดที่อยู่อาศัย การควบคุมความปลอดภัยและการรักษาอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
๖. การผังเมือง การควบคุมอาคาร
๗. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
๘. การศึกษาและส่งเสริมการกีฬา
๙. การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
๑๐. การสังคมสงเคราะห์และการส่งเสริมการประกอบอาชีพ
๑๑. การสันทนาการ เช่น ให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
๑๒. การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
๑๓. หน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ บรรดาอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะมอบให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติก็ได้ โดยต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี โดยในกรณีที่ทำเป็นข้อบังคับหรือประกาศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑.๔.๒.๒ การจัดทำกิจการกรุงเทพมหานคร
(ก) พื้นที่จัดทำ ได้แก่
(ก.๑) ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา ๘๙
(ก.๒) ภายนอกเขตกรุงเทพมหานคร โดยต้องปรากฎว่ากิจการดังกล่าวจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ตามมาตรา ๙๓
(ข) วิธีการจัดทำ กรุงเทพมหานครอาจจัดทำกิจการกรุงเทพมหานครได้หลายวิธี ดังนี้
(ข.๑) กรุงเทพมหานครจัดทำเอง
(ข.๒) กรุงเทพมหานครจัดทำร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด
(ข.๓) สหการ
(ข.๔) กรุงเทพมหานครมอบให้เอกชนกระทำกิจการแทน
กรณีกรุงเทพมหานครจัดทำกิจการเองนั้น หมายถึงกิจการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ/หรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร และ/หรือลูกจ้างกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงกิจการที่กรุงเทพมหานครจ้างบุคคลอื่นดำเนินการในลักษณะจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของด้วย
กรณีกรุงเทพมหานครจัดทำร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด กรุงเทพมหานครจะกระทำกิจการดังกล่าวได้ต่อเมื่อสภากรุงเทพมหานครมีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทที่จัดตั้งหรือถือหุ้นนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค และกรุงเทพมหานครต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินร้อยละ ๕๐ ของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ตามมาตรา ๙๔
กรณีสหการนั้น กรุงเทพมหานครอาจดำเนินกิจการในอำนาจหน้าที่ร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยจัดตั้งเป็นสหการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนของกรุงเทพมหานครและองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา ๙๕
กรณีมอบให้เอกชนกระทำกิจการแทนนั้น กรุงเทพมหานครอาจมอบกิจการในอำนาจหน้าที่ให้เอกชนทำแทนได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนตามมาตรา ๙๖
๑.๔.๒.๓ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติในในเขตพื้นที่ของตนเรียกว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
(ก) เหตุที่จะออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามมาตรา ๙๗ อันได้แก่
(ก.๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
(ก.๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
(ก.๓) การดำเนินการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร
(ก.๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ
(ข) ขั้นตอนในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามมาตรา ๙๘ ถึงมาตรา ๑๐๘ มี ๓ กรณี คือ
(ข.๑) กรณีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครทั่วไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยกรณีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครลงนามรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด
เมื่อสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบ และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานคร
แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติที่เสนอ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยให้สภากรุงเทพมหานครภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับร่างข้อบัญญัติจากสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ส่งให้สภากรุงเทพมหานครภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วย และให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับต่อไป
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยและส่งให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ สภากรุงเทพมหานครจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาล่วงพ้นไป ๓๐ วันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งกลับให้สภากรุงเทพมหานคร
ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องลงนามในร่างข้อบัญญัติดังกล่าวแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากสภากรุงเทพมหานคร ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ลงนามในเวลาที่กำหนด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับ
ส่วนร่างข้อบัญญัติที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วย ให้เป็นอันตกไป ซึ่งร่างที่ตกไปนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเสนอใหม่ได้เมื่อพ้น ๑๘๐ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น
ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครสิ้นอายุหรือมีการยุบสภากรุงเทพมหานคร บรรดาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่สภากรุงเทพมหานครยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมิได้ลงนามและประกาศใช้บังคับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานคร ให้เป็นอันตกไป
(ข.๒) กรณีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเงิน
การเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอ กรณีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เว้นแต่งบประมาณรายจ่ายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอเท่านั้น
การพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเงินจนประกาศใช้บังคับ กระทำเช่นเดียวกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครทั่วไป เว้นแต่การพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครนั้น ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครเลือกคณะกรรมการวิสามัญ(6) เพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับได้
กรณีสภากรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน ๗ คน เป็นคณะกรรมการร่วมพิจารณาหาข้อยุติ แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อสภากรุงเทพมหานครภายใน ๑๐ วันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการร่วม
ถ้าสภากรุงเทพมหานครยังไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเป็นอันตกไปและให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครถ้ามีข้อเสนอของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภากรุงเทพมหานครจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นครั้งแรก
ถ้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับได้
(ข.๓) กรณีข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร
ในระหว่างที่ไม่มีสภากรุงเทพมหานครหรือในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครให้ทันท่วงที่มิได้ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกข้อกำหนดกรุงเทพมหานครใช้บังคับดังเช่นข้อบัญญัติ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครคราวต่อไป ให้นำข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่ออนุมัติ ถ้าสภากรุงเทพมหานครอนุมัติแล้ว ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป ถ้าสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติ ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไประหว่างที่ใช้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้น
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
๑.๔.๒.๔ การงบประมาณการคลัง
กรุงเทพมหานครมีการจัดการการคลังและทรัพย์สินของตนเอง โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดประเภทรายได้และรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ดังนี้
(ก) รายได้ กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๗ อันได้แก่
(ก.๑) รายได้จากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร
(ก.๒) รายได้จากการสาธารณูปโภคของกรุงเทพมหานคร
(ก.๓) รายได้จากการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร การทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่น หรือสหการ
(ก.๔) ภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นของเทศบาลหรือของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ
(ก.๕) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(ก.๖) ค่าบริการ
(ก.๗) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตร เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
(ก.๘) เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่างๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
(ก.๙) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนราชการ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น และเงินสมทบจากรัฐบาล
(ก.๑๐) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
(ก.๑๑) เงินกู้จากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
(ก.๑๒) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(ก.๑๓) เงินช่วยเหลือหรือเงินค่าตอบแทน
(ก.๑๔) รายได้จากทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อแสวงหากำไรในกรุงเทพมหานครตามที่จะมีกฎหมายกำหนด
(ก.๑๕) รายได้จากการเก็บภาษีทรัพย์สินหรือค่าธรรมเนียมพิเศษตามที่จะมีกฎหมายพิเศษกำหนด
(ก.๑๖) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของกรุงเทพมหานคร
(ข) รายจ่าย
(ข.๑) เงินเดือน
(ข.๒) ค่าจ้างประจำ
(ข.๓) ค่าจ้างชั่วคราว
(ข.๔) ค่าจ้างตอบแทน
(ข.๕) ค่าใช้สอย
(ข.๖) ค่าสาธารณูปโภค
(ข.๗) ค่าวัสดุ
(ข.๘) ค่าครุภัณฑ์
(ข.๙) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
(ข.๑๐) เงินอุดหนุน
(ข.๑๑) รายจ่ายอื่นตามกฎหมายหรือระเบียบกรุงเทพมหานคร
(ข.๑๒) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
การเงินและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครนั้น ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ
๑.๔.๒.๕ การกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนกลางกับกรุงเทพมหานคร
(ก) การกำกับดูแลการกระทำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร โดยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานครในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การปฏิบัติใดๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขัดต่อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒๓
(ข) การกำกับดูแลทางการเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้แก่กรุงเทพมหานครได้ ตามมาตรา ๑๒๒
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกาศใช้บังคับไม่ปรากฏว่าโครง สร้างอำนาจและหน้าที่การงบประมาณและการคลังของกรุงเทพมหานครขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีการแก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
๒.๕ เมืองพัทยา
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจาการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น แต่เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเมืองพัทยาที่ใช้กันอยู่มีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาโดยสัญญาจ้างและสภาเมืองพัทยาที่มีบางส่วนมาจากการแต่งตั้งยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงได้มีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยเมืองพัทยาฉบับเดิมและมีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ ขึ้นใหม่แทน
๒.๕.๑ โครงสร้างของเมืองพัทยา
เมืองพัทยาเป็นนิติบุคคลประกอบด้วยสภาเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยา
๒.๕.๑.๑ สภาเมืองพัทยา มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้สภาเมืองพัทยาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๒๔ คน ซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
สภาเมืองพัทยามีอำนาจดังที่ปรากฏในมาตรา ๓๙ แห่งกฎหมายว่าด้วย
ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา คือตราข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก ข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาเมืองพัทยา รองประธานสภาเมืองพัทยา คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการของสภาเมืองพัทยา วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งและตอบกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยและกิจการอื่นอันเป็นหน้าที่ของสภาเมืองพัทยา
๒.๕.๑.๒ นายกเมืองพัทยา ในเมืองพัทยาให้มีนายกเมืองพัทยาคนหนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
นายกเมืองพัทยามีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน ๒ วาระไม่ได้
นายกเมืองพัทยาอาจแต่งตั้งรองนายกเมืองพัทยาจำนวนไม่เกิน ๔ คน ซึ่งมิใช่สมาชิกเมืองพัทยาเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการเมืองพัทยาตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
นายกเมืองพัทยามีอำนาจและหน้าที่ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ แห่งกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการของเมืองพัทยาคือ กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหาราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย สั่งอนุมัติและอนุญาตเกี่ยวกับราชการของเมืองพัทยา และวางระเบียบเพื่อให้งานของเมืองพัทยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นต้น
๒.๕.๒ อำนาจและหน้าที่ของเมืองพัทยา
มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดถึงอำนาจและหน้าที่ของเมืองพัทยาในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น รวม ๓๑ ประการด้วยกันเช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาตามกฎหมายจัดตั้งเมืองพัทยานั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา ๖๒ รวม ๑๔ ประการด้วยกัน คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม การจัดการจราจร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การกำจัดมูลฝอยสิ่งปฏิกูลและการบำบัดน้ำเสีย การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือและที่จอดรถ การควบคุมอนามัยและความปลอดภัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพและสถานบริการอื่น การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว การบำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น รวมตลอดทั้งอำนาจหน้าที่อื่นตามกฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา
๒.๕.๓ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
มาตรา ๗๐ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาได้กำหนดถึงเรื่องที่สภาเมืองพัทยาจะตราเป็นข้อบัญญัติได้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
- เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบัญญัติได้
- การให้บริการโดยมีค่าตอบแทน
- การพาณิชย์
- การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ
ข้อบัญญัติเหล่านี้จะกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกิน ๖ เดือน และโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทไม่ได้
ข้อบัญญัติเมืองพัทยามี ๒ ประเภท คือ ข้อบัญญัติทั่วไปและข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๒.๕.๓.๑ ข้อบัญญัติเมืองพัทยาทั่วไป การเสนอร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยานั้น มาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดไว้ว่าจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกเมืองพัทยา สมาชิกสภาเมืองพัทยา หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และหากเป็นร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกสภาเมืองพัทยาจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกเมืองพัทยา
เมื่อสภาเมืองพัทยาพิจารณาร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาแล้วเห็นชอบด้วยมาตรา ๗๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยากำหนดให้ประธานสภาเมืองพัทยาส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายใน ๗ วันนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยามีมติเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องพิจารณาให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเมืองพัทยาภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัตินั้น หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบให้ส่งคืนนายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป
แต่ถ้าหากเป็นที่สภาเมืองพัทยาพิจารณาร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาแล้วไม่เห็นชอบด้วย มาตรา ๗๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาบัญญัติให้ร่างข้อบัญญัติตกไป
๒.๕.๓.๒ ข้อบัญญัติประมาณรายจ่ายประจำปีและข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม มาตรา ๗๕ และมาตรา ๗๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ได้กำหนดถึงกระบวนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไว้ว่า สภาเมืองพัทยาจะต้องพิจารณาร่างข้อบัญญัติทั้ง ๒ ประเภทให้เสร็จภายใน ๔๕ วันนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยาได้รับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น หากไม่เสร็จทันกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสภาเมืองพัทยาให้ความเห็นชอบและให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายต่อไป
แต่ในกรณีที่สภาเมืองพัทยาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภาเมืองพัทยาตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งสภาเมืองพัทยาแต่งตั้ง ๗ คน และบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกซึ่งนายกเมืองพัทยาเสนอ ๗ คน และให้กรรมการทั้ง ๑๔ คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน คณะกรรมการต้องพิจารณาและรายงานการพิจารณาต่อสภาเมืองพัทยาภายใน ๑๔ วันนับแต่วันแต่งตั้งประธานคณะกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ประธานคณะกรรมการรวมผลการพิจารณาแล้ววินิจฉัยชี้ขาดและรายงานต่อสภาเมืองพัทยาโดยเร็ว และถ้าสภาเมืองพัทยายังไม่เห็นชอบด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการหรือผลการวินิจฉัยของประธานคณะกรรมการ ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นเป็นอันตกไป และให้รัฐมนตรีสั่งยุบสภาเมืองพัทยา
๒.๕.๔ การงบประมาณและการคลัง
เมืองพัทยามีรายได้และรายจ่ายดังต่อไปนี้
๒.๕.๔.๑ รายได้ รายได้ของเมืองพัทยาบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม ๒๐ ประการด้วยกันเช่นเดียวกับรายได้ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาเองก็ได้บัญญัติถึงรายได้ของเมืองพัทยาไว้ในมาตรา ๘๐ ถึงมาตรา ๙๐ อันได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้ายและอากรการล่าสัตว์และค่าธรรมเนียม รวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน รายได้จากทรัพย์สินของเมืองพัทยา รายได้จากสาธารณูปโภคของเมืองพัทยา รวมทั้งเงินอุดหนุนจากรัฐ เป็นต้น
๒.๕.๔.๒ รายจ่าย รายจ่ายของเมืองพัทยาบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๑ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา อันได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
๒.๕.๕ การกำกับดูแล
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเมืองพัทยาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
๒.๕.๕.๑ การสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกเมืองพัทยา มาตรา ๙๖ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเห็นว่านายกเมืองพัทยาปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เมืองพัทยาหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ชี้แจงแนะนำหรือตักเตือนแล้วแต่นายกเมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร แต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรีบด่วนที่จะรอช้ามิได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกเมืองพัทยาได้ตามที่เห็นสมควร
๒.๕.๕.๒ การสั่งระงับการดำเนินกิจการบางประเภท มาตรา ๙๗ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่เมืองพัทยาดำเนินการนอกเขตเมืองพัทยาและกิจการนั้นมีลักษณะที่อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในเขตเมืองพัทยา หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขหรือกระทำการใดๆได้ตามสมควร ในกรณีที่เมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตามและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการดังกล่าวก็ได้
๒.๕.๕.๓ การยุบเมืองพัทยา มาตรา ๙๘ แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาบัญญัติไว้ว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้ ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องแสดงเหตุผลในการสั่งยุบสภาเมืองพัทยาไว้ในคำสั่งด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) โดยรัฐสภาได้ทำการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติถึงเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด ๑๔ มาตรา ๒๘๑ ถึงมาตรา ๒๙๐ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติต่างๆเทียบเคียงกับบทบัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้วพบว่าโดยทั่วไปมีหลักการที่สำคัญเช่นเดียวกัน คงมีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางประการเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ขึ้น การปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีสาระสำคัญรวม ๗ ประการ คือ
๓.๑ หลักสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่น : ความเป็นอิสระ
มาตรา ๒๘๑ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมาตราแรกของบทบัญญัติในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นได้บัญญัติส่วนสาระสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ในการให้อิสระดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับรูปแบบของประเทศที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑ แห่งกรัฐธรรมนูญคือประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
๓.๒ โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มาตรา ๒๘๔ แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันประกอบด้วย สภาท้องถิ่น และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นไว้โดยมีหลักการเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ
(๑) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๒) สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
(๓) คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
(๔) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
(๕) สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
(๖) คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และจะมีผลประโยชน์ขัดกับการดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติมิได้
(๗) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๘) ในกรณีที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งและจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว มิให้นำหลักเกณฑ์ในข้อ (๓) และข้อ (๖) ข้างต้นมาใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๙) การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๔ แห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้กระทำได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
๓.๓ อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้หลายประการในหมวด ๑๔ โดยมีรายละเอียดดังนี้
๓.๓.๑ อำนาจหน้าที่โดยทั่วไป เป็นไปตามมาตรา ๒๘๓ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดและประเทศเป็นส่วนรวมด้วย
เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๑) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งในการบริหารงานโดยอิสระและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่นให้จัดทำบริการสาธารณะได้โดยครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ จัดตั้งหรือร่วมกันจัดตั้งองค์การเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าเป็นประโยชน์ และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง
(๒) ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเพื่อกำหนดการแบ่งอำนาจหน้าที่และจัดสรรรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นตามระดับความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ รวมทั้งกำหนดระบบตรวจสอบและประเมินผล โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีจำนวนเท่ากัน เป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
(๓) ให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมตามลักษณะของภาษีแต่ละชนิด การจัดสรรทรัพยากรในภาครัฐ การมีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงระดับขั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น สถานะทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ
(๔) ในกรณีที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว คณะกรรมการตามข้อ (๒) จะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกินห้าปี เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของการกำหนดอำนาจหน้าที่ และการจัดสรรรายได้ที่ได้กระทำไปแล้ว โดยต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ
๓.๓.๒ อำนาจหน้าที่เฉพาะด้าน กฎหมายกำหนดไว้ ๒ กรณีด้วยกัน คือ
(๑) หน้าที่และสิทธิในการจัดการท้องถิ่น เป็นไปตามมาตรา ๒๘๙ แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น มีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานและระบบการศึกษาของชาติ โดยการจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย
(๒) อำนาจและหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามมาตรา ๒๙๐ แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติโดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
๓.๔ รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๓ วรรค ๓ และวรรค ๔ ให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน โดยจะต้องบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ
๓.๕ บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เดิมรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะเป็นพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้บัญญัติหลักการใหม่โดยให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะเป็น ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบัญญัติหลักเกณฑ์ของการบริหารงานบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา ๒๘๘ ว่า การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นโดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และอาจได้รับการพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อนตามที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อเป็นหลักประกันให้กับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการกำหนดให้มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประกอบไว้ว่าจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากันตามที่กฎหมายบัญญัติ และสำหรับเรื่องการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์ตามมาเช่นกัน
๓.๖ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากการมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อีก ๓ กรณีด้วยกันคือ
(ก) การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๕ คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ การตรวจสอบรายชื่อ และการลงคะแนนเสียงในการถอดถอนบุคลากรดังกล่าว
(ข) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๖ คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อนั้นจะต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดดังกล่าว
(ค) การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งมีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๗ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ มีการกำหนดให้
(ค.๑) ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวได้ด้วย
(ค.๒) ในกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนกระทำการเป็นเวลาพอสมควร และในกรณีที่เห็นสมควรหรือได้รับการร้องขอจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(ค.๔) ในการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นจะมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายมิได้
๓.๗ การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา ๒๘๒ แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และจะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ และนอกจากนี้องค์กรกำกับดูแลจะต้องกำหนดมาตรฐานกลางเพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลือกไปปฏิบัติได้เอง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างในระดับของการพัฒนาและประสิทธิภาพในการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละรูปแบบโดยไม่กระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจดำเนินงานตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งจัดให้มีกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานโดยประชาชนเป็นหลัก
เชิงอรรถ
1.จรูญ ศรีสุกใส, แนวทางการสร้างความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ๒๕๔๐, หน้า ๙
2. ประยูร กาญจดุล, คำบรรยายกฎหมายปกครอง, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. ๒๕๓๘,(พิมพ์ครั้งที่ ๓)
3. เหตุที่รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน โปรดดู ชูวงศ์ ฉายะบุตร,การปกครองท้องถิ่นไทย,กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๙
4. โภคิน พลกุล และคณะ, รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา,พ.ศ. ๒๕๓๗
5. เขตเลือกตั้งถือตามเกณฑ์ ๑๐๐,๐๐๐ คน เป็นประมาณ (มาตรา ๑๑)
6. คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ ให้มีกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร และผู้ว่ากรุงเทพมหานครมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ไม่เกินจำนวนกรรมการทั้งคณะ (มาตรา ๓๙)
อ่านต่อ
ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1240
เวลา 10 ธันวาคม 2567 08:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|