|
|
ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง 25 มิถุนายน 2551 14:21 น.
|
คำบรรยายกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 4. การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ระบบราชการไทยแบ่งองค์กรออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน ใช้หลักการรวมอำนาจปกครองและหลักการกระจายอำนาจผสมกัน กล่าวคือ ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้หลักรวมอำนาจปกครอง สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้หลักการกระจายอำนาจปกครอง
4.1 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่ดิน พ.ศ. 2534 ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางว่า ได้แก่ สำนักรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวงซึ่งสังกัดสำนักรัฐมนตรีหรือกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
4.1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติให้มีสำนักรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวงและในวรรค 3 ของมาตราดังกล่าวก็ได้บัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
ภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ส่วนราชการที่ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และไม่อยู่ภายใต้ กระทรวง ทบวง กรมใด ปัจจุบันมีส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ทั้งสิ้น 12 ส่วนราชการ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยส่วนราชการจำนวน 9 แห่ง คือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการอีก 3 แห่ง ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นกัน คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น อยู่ใต้บังคับบัญชาของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักรัฐมนตรีและให้มีรองนายกรัฐมนตรี หรือมีทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
4.1.2 กระทรวง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 8 บัญญัติกระทรวงมีส่วนราชการภายใน ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และหากกระทรวงใดมีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนราชการเพื่อจัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง ก็สามารถขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายใน ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็ได้
ในกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรับสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด อนุมัติ โดยจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้
ในกระทรวง มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง ในการปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวง ให้มีรองปลัดกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการตามที่ปลัดกระทรวงมอบหมาย แต่ถ้าหากกระทรวงใดมีการจัดกลุ่มภารกิจ จะให้มีรองปลัดกระทรวง้พิ่มขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจก็ได้ หรือถ้าหากกระทรวงใดมีภารกิจเพิ่มขึ้นก็อาจมีรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้นได้ตามกระบวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
สำนักงานรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงและราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ
ในปัจจุบัน เมื่อนับรวมสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีฐานะดป็นกระทรวงด้วยแล้ว ประเทศไทยมีกระทรวงรวมทั้งสิ้น 20 กระทรวงด้วยกันคือ
(๑) สำนักนายกรัฐมนตรี
(๒) กระทรวงกลาโหม
(๓) กระทรวงการคลัง
(๔) กระทรวงการต่างประเทศ
(๕) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(๖) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(๗) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(๘) กระทรวงคมนาคม
(๙) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๑๐) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(๑๑) กระทรวงพลังงาน
(๑๒) กระทรวงพาณิชย์
(๑๓) กระทรวงมหาดไทย
(๑๔) กระทรวงยุติธรรม
(๑๕) กระทรวงแรงงาน
(๑๖) กระทรวงวัฒนธรรม
(๑๗) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๑๘) กระทรวงศึกษาธิการ
(๑๙) กระทรวงสาธารณสุข
(๒๐) กระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ 4.1.1 ดังนั้น ในที่นี้จึงขอนำเสนออำนาจหน้าที่และการแบ่งส่วนราชการภายในของกระทรวงทั้ง 19 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
4.1.2.1 กระทรวงกลาโหม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม ส่วนการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมนั้น มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 10 กำหนดให้กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมราชองครักษ์
(๔) กองทัพไทย
โดยในกองทัพไทยนั้น มาตรา 17 พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ประกอบด้วย ส่วนราชการดังต่อไปนี้คือ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก
กองทัพเรือ กองทัพอากาศ
4.1.2.2 กระทรวงการคลัง มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดินภาษีอากรการรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการคลังนั้น มาตรา 11แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมธนารักษ์
(๔) กรมบัญชีกลาง
(๕) กรมศุลกากร
(๖) กรมสรรพสามิต
(๗) กรมสรรพากร
(๘) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
(๙) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
(๑๐) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
4.1.2.3 กระทรวงการต่างประเทศ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ และราชการอื่นตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการต่างประเทศนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการกงสุล
(๔) กรมพิธีการทูต
(๕) กรมยุโรป
(๖) กรมวิเทศสหการ
(๗) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(๘) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
(๙) กรมสารนิเทศ
(๑๐) กรมองค์การระหว่างประเทศ
(๑๑) กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
(๑๒) กรมอาเซียน
(๑๓) กรมเอเชียตะวันออก
(๑๔) กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
4.1.2.4 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ
(๔) สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว
4.1.2.5 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
(๔) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
(๕) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
4.1.2.6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายใน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมชลประทาน
(๔) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
(๕) กรมประมง
(๖) กรมปศุสัตว์
(๗) กรมพัฒนาที่ดิน
(๘) กรมวิชาการเกษตร
(๙) กรมส่งเสริมการเกษตร
(๑๐) กรมส่งเสริมสหกรณ์
(๑๑) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(๑๒) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
(๑๓) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
4.1.2.7 กระทรวงคมนาคม มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงคมนาคม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงคมนาคมนั้น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงคมนาคมมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
(๔) กรมการขนส่งทางบก
(๕) กรมการขนส่งทางอากาศ
(๖) กรมทางหลวง
(๗) กรมทางหลวงชนบท
(๘) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
4.1.2.8 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวน อนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมควบคุมมลพิษ
(๔) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
(๕) กรมทรัพยากรธรณี
(๖) กรมทรัพยากรน้ำ
(๗) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
(๘) กรมป่าไม้
(๙) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(๑๐) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
(๑๑) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.1.2.9 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอุตุนิยมวิทยา และการสถิติ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมไปรษณีย์โทรเลข
(๔) กรมอุตุนิยมวิทยา
(๕) สำนักงานสถิติแห่งชาติ
4.1.2.10 กระทรวงพลังงาน มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพลังงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพลังงาน
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงพลังงานนั้น มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพลังงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
(๔) กรมธุรกิจพลังงาน
(๕) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
(๖) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
4.1.2.11 กระทรวงพาณิชย์ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงพาณิชย์นั้น มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการค้าต่างประเทศ
(๔) กรมการค้าภายใน
(๕) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
(๖) กรมทรัพย์สินทางปัญญา
(๗) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(๘) กรมส่งเสริมการส่งออก
4.1.2.12 กระทรวงมหาดไทย มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงมหาดไทยนั้น มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการปกครอง
(๔) กรมการพัฒนาชุมชน
(๕) กรมที่ดิน
(๖) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๗) กรมโยธาธิการและผังเมือง
(๘) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
4.1.2.13กระทรวงยุติธรรม มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมเสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม
ส่วนการจัดรเบียบภายในกระทรวงยุติธรรมนั้น มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงยุติธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมคุมประพฤติ
(๔) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
(๕) กรมบังคับคดี
(๖) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
(๗) กรมราชทัณฑ์
(๘) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(๙) สำนักงานกิจการยุติธรรม
(๑๐) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
(๑๑) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
4.1.2.14 กระทรวงแรงงาน มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงแรงงาน
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงแรงงานนั้น มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงแรงงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการจัดหางาน
(๔) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
(๕) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(๖) สำนักงานประกันสังคม
4.1.2.15 กระทรวงวัฒนธรรม มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงวัฒนธรรมนั้น มาตรา 37แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการศาสนา
(๔) กรมศิลปากร
(๕) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(๖) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
4.1.2.16 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มาตรา 39แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมวิทยาศาสตร์บริการ
(๔) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
4.1.2.17 กระทรวงศึกษาธิการ มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนการจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการนั้น มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 10 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
(๔) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(๕) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(๖) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
4.1.2.18 กระทรวงสาธารณสุข มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงสาธารณสุขนั้น มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการแพทย์
(๔) กรมควบคุมโรค
(๕) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
(๖) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
(๗) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
(๘) กรมสุขภาพจิต
(๙) กรมอนามัย
(๑๐) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
4.1.2.19 กระทรวงอุตสาหกรรม มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มาตรา 45 มีแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมโรงงานอุตสาหกรรม
(๔) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
(๕) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
(๖) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
(๗) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(๘) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
(๙) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
4.1.3 กรม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมไว้ว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแห่งส่วนราชการของกรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรม โดยในกรมหนึ่งมีอธิบดีหนึ่งคนเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เกิดผลตามเป้าหมาย แนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะมีรองอธิบดีเพื่อช่วยอธิบดีปฏิบัติราชการได้
กรมอาจแบ่งส่วนราชการได้เป็น 2 ประเภทคือ สำนักงานเลขานุการกรมและกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเทากอง โดยสำนักงานเลขานุการกรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของกรมและราชการที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ มีเลขานุการกรม ส่วนกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองหรือส่วนราชการอื่นนอกเหนือจากนั้น ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ โดยให้มีผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองหรือหัวหน้าส่วนราชการอื่นนอกจากนั้น เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
4.1.4 ส่วนราชการไม่มีสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้มี ส่วนราชการซึ่งไม่อยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง จำนวน 9 แห่งคือ
(๑) สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์
(๒) สำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์
(๓) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนาและดูแลรักษาศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๔) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(๕) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๖) ราชบัณฑิตยสถาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ทางวิชาการและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๗) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๘) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๙) สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ส่วนราชการทั้งหมดมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เว้นแต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
4.1.5 การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน
โดยที่สภาพปัญหาของระบบราชการไทยที่ผ่านมาประการหนึ่งคือความล่าช้าในการปฏิบัติงานซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในภาคราชการว่าไม่โปร่งใส ประชาชนมีความไม่ไว้วางใจและเกิดความเบื่อหน่ยในการทำงานของภาคราชการ สาเหตุที่ทำให้การบริหารราชการมีความล่าช้านั้นเกิดจากหลายสาเหตุ และสาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งคือ งานภาคราชการมีขอบเขตกว้างขวาง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อมิให้ทุกเรื่องไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาเพียงผู้เดียว กล่าวคือถ้าเรื่องใดที่ต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตำแหน่งใด ก็ต้องให้มีการมอบอำนาจการตัดสินใจในเรื่องต่างๆเหล่านั้นลงไปสู่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนั้นโดยตรง แต่โดยที่มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เคร่งครัดมาก กล่าวคือได้กำหนดตำแหน่งของบุคคลเจ้าของอำนาจที่จะเป็นผู้มอบอำนาจและตำแหน่งของบุคคลผู้รับมอบอำนาจไว้ตายตัว จึงทำให้การมอบอำนาจดังกล่าวไม่สามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นโดยตรง ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการอนุมัติ หรือการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการบางอย่างซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของอิบดี กรณีเช่นนี้แม้ว่าจะเป็นอำนาจตามกฎหมายแต่ก็มิใช่อำนาจเฉพาะตัว แต่อธิบดีสามารถมอบอำนาจการออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่รองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าได้ตามมาตรา 38 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เท่านั้น จากปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวข้างต้นทำให้การมอบอำนาจมีการกระจุกตัวและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในปัจจุบันกระทรวงต่างๆ ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎอืนใดให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างมาตรการในการลดขั้นตอนในการขอรับบริการจากภาครัฐในการที่ประชาชนไม่ต้องลำบากและเสียเวลาในการติดต่อกับราชการ แต่ปรากฏว่ามีงานบริการหลายเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนงานได้ที่ศูนย์บริการร่วม โดยจะต้องส่งกลับไปยังผู้มีอำนาจวินิจแยของแต่ละส่วนราชการเพื่อสั่งการ อนุมัติ หรืออนุญาตก่อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการแก่ประชาชน ฉะนั้น จึงควรที่จะให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ การอนุญาต การออกคำสั่ง การปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นตามกฎหมาย หรือกฎอื่น สามารถมอบอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์บริการร่วมดังกล่าวได้ จากปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวข้างต้น จึงมีการแก้ไขในส่วนของหลักการในเรื่องการมอบอำนาจใหม่ โดยไม่จำกัดตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจทำให้สามารถมอบอำนาจลงไปได้ถึงระดับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง การกำหนดให้มีการมอบอำนาจต่อได้ รวมทั้งให้มีการมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้คล่องตัวมากขึ้น
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติแยกการมอบอำนาจออกเป็น 2 ลักษณะคือ การมอบอำนาจการปฏิบัติราชการทั่วไป และการมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ
4.1.5.1 การมอบอำนาจการปฏิบัติราชการทั่วไป บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ดังนี้
มาตรา 38 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดจนการมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมสัญญา ฟ้องคดีและดำเนินคดี หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจหรือที่ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติก็ได้
4.1.5.2 การมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายทีบัญญัติให้ออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ การมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายได้บัญญัติไว้มาตรา 38 วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 ดังต่อไปนี้
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับอำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ต้องออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ ในกรณีเช่นนั้นให้ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวมีอำนาจมอบอำนาจให้ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตามที่เห็นสมควร หรือตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีมอบอำนาจได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้มอบอำนาจกำหนด
ในกรณีตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดรายชื่อกฎหมายที่ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวอาจมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้
4.1.5.3 วิธีการมอบอำนาจ มาตรา 38 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญัติให้การมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ
4.1.5.4 การมอบอำนาจช่วง มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติถึงการมอบอำนาจช่วงไว้ว่าเมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้น โดยผู้มอบอำนาจจะกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไป โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการใช้อำนาจนั้นไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ในกรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมอบอำนาจต่อไปให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดก็ได้
4.1.6 การรักษาราชการแทน มาตรา 41 ถึงมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์การรักษาแทนในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือกรณีมีตำแหน่งว่างลงและยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดเข้ามาดำรง....ไว้ สรุปได้ดังนี้คือ
(1) ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
(2) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่นก็ได้) เป็นผู้รักษาราชการแทน
(3) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองปลัดกระทรวงหลายคน ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า (เช่น ผู้ตรวจราชการระดับ 10 หรืออธิบดีกรมหนึ่งกรมใด) เป็นผู้รักษาราชการแทน
(4) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี (เช่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) หรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
แต่ถ้านายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นสมควรเพื่อความเหมาะสมแก่การรับผิดชอบการฏิบัติราชการในกรมนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่า ( ซึ่งอาจจะอยู่ที่กรมอื่น ) เป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
(5) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อธิบดีจะแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้รักษาราชการแทนได้
(6) ให้ผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผึ่งตนแทน
(7) ในกรณีที่ผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งใดมอบอำนาจให้ผุ้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบอำนาจ
(8) ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทน
เชิงอรรถ
1. มาตรา 10 วรรค 2 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
2. มาตรา 20 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
3. มาตรา 21 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
4. มาตรา 22 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
5. มาตรา 23 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
6. มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กร พ.ศ. 2545
7. มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
8. มาตรา 33 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
9. มาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
10. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2550, สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, กุทชมภาพันธ์ 2551 หน้า 11-13
อ่านต่อ
ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1234
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 01:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|