ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง

9 มิถุนายน 2551 16:20 น.

       ครั้งที่ 1 บทนำ
       ส่วนที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
       
       การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายอาจทำได้หลายวิธี ในกรณีที่นำเอาเนื้อหา ของกฎหมายมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก เราก็จะได้กฎหมายสารบัญญัติ (substantive law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคล กับกฎหมายวิธีสบัญญัติ (procedural law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิและหน้าที่ของบุคคล แต่กำหนดเป็นกรณีที่นำเอานิติสัมพันธ์ของกฎหมายมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก เราก็จะได้กฎหมายเอกชน (private law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน กับกฎหมายมหาชน (public law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชน
        ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ให้ความหมายของกฎหมายมหาชนเอาไว้ว่า หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎรในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร ส่วนกฎหมายเอกชนหมายถึงกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะที่เท่าเทียมกัน (1)
       
        การแบ่งประเภทของกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนนั้นก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (2)
       
        1. ประโยชน์ในการนำคดีขึ้นสู่ศาล ประเทศที่มีการแบ่งแยกระบบกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนก็จะต้องทำการแยกศาลที่จะใช้ในการพิจารณาคดีตามประเภทของกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ศาลแต่ละศาลมีความชำนาญในกฎหมายแต่ละประเภทอันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในที่สุด
       
       2.ประโยชน์ในแง่กฎหมายสารบัญญัติ ประเทศที่มีการแบ่งแยกระบบกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน และมีการแบ่งแยกศาลออกเป็น 2 ระบบ หลักกฎหมายสารบัญญัติที่ใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีก็จะแตกต่างกัน
       
       3.ประโยชน์ในแง่กฎหมายวิธีสบัญญัติ เช่นเดียวกับทั้ง 2 ข้อที่กล่าวไปแล้ว เมื่อมีศาล 2 ระบบที่ใช้กฎหมายแตกต่างกัน วิธีสบัญญัติของกฎหมายก็ต้องต่างกันด้วยในศาลแต่ละศาล โดยศาลแต่ละระบบจะมีวิธีพิจารณาคดีที่สอดคล้องกับระบบของตน
       
       4.ประโยชน์ในทางวิชาการ ประเทศที่มีการแบ่งแยกกฎหมายและศาลออกเป็น 2 ระบบ ก็จะมีการแยกศึกษากฎหมายมหาชนออกจากกฎหมายเอกชน รวมไปถึงการแบ่งนักกฎหมายออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่มีความแตกต่างกันคือ นักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายเอกชน
       เมื่อมีการแบ่งประเภทของกฎหมายออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนแล้ว ภายในกฎหมายแต่ละประเภทก็ยังสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีกหลายประเภท โดยในกฎหมายเอกชนนั้นอาจแบ่งได้เป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความ เป็นต้น ในขณะที่กฎหมายมหาชนนั้นก็สามารถแบ่งแยกออกไปได้อีกหลายประเภท เช่นกัน คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายการคลังและภาษีอากร เป็นต้น แต่เนื่องจากกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมาย “ใหม่” ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน การแบ่งประเภทของกฎหมายมหาชนจึงยังไม่ “นิ่ง” เท่าที่ควร โดยนักกฎหมายสำคัญบางคนในฝรั่งเศสได้แบ่งกฎหมายมหาชนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กฎหมายมหาชนระหว่างประเทศกับกฎหมายมหาชนภายใน นักกฎหมายบางคนก็มีแนวคิดว่ากฎหมายอาญาก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน นักกฎหมายบางคนก็แบ่งประเภทของกฎหมายมหาชนออกเป็น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองและกฎหมายการคลัง ซึ่งนักกฎหมายแต่ละคนที่แบ่งประเภทย่อยของกฎหมายมหาชนไว้แตกต่างกันนั้นคงเป็นเพราะแต่ละคนใช้เกณฑ์ในการแบ่งที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม สาขาที่นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นกฎหมายมหาชนก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง(3)
       
        การแบ่งประเภทของกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนนั้นส่วนหนึ่งแล้วมีเหตุผลสำคัญที่นำมาใช้สนับสนุนการแบ่งประเภทดังกล่าวคือ แนวคิดเกี่ยวกับ”ประโยชน์สาธารณะ” โดยในกฎหมายเอกชนนั้นถือว่าเอกชนต่างฝ่ายต่างมุ่งประโยชน์ส่วนตัวของตนกฎหมายจึงต้องถือว่าเอกชนเสมอภาคและเท่าเทียมกันตามกฎหมายนิติสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นจึงต้องอาศัยความสมัครใจเข้าก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ในขณะที่กฎหมายมหาชนมีการคิดค้นรัฐขึ้นมาเป็นผู้ดูแลรักษาประโยชน์ส่วนรวมของคนจำนวนมาก ในกรณีที่ประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนแต่ละคนไม่สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมของคนหมู่มากในสังคมหรือที่เรียกว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ก็จะต้องให้ประโยชน์สาธารณะมาก่อนหรืออยู่เหนือประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนแต่ละคน ซึ่งถ้าเอกชนแต่ละคนไม่สมัครใจหรือไม่ยินยอมที่จะสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็จะต้องให้รัฐโดยองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดูแลรักษาประโยชน์สาธารณะแทนและในนามของคนหมู่มากในสังคมได้ โดยให้องค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้อำนาจหน้าที่บังคับเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะได้(4)
       
       เชิงอรรถ
       
       1 หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2523, หน้า 154
       2 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ,กฎหมายหมาชน 2 การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชนและพัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย, สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ.2537 หน้า 11-15
       3 ชาญชัย แสวงศักดิ์, คำอธิบายกฎหมายปกครอง, สำนักพิมพ์วิญญูชน, กรุงเทพฯ (พิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2551) หน้า 38
       4 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 3: ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์นิติธรรม พ.ศ. 2538 หน้า 298 - 301
       
       อ่านต่อ
       
       ส่วนที่ 2 แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
       ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
       ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
       ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1227
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 01:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)