ครั้งที่ 187

25 พฤษภาคม 2551 21:29 น.

       ครั้งที่ 187
       สำหรับวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2551
       
       “สถานการณ์การเมืองและการปฏิรูประบบข้ารัฐการในฝรั่งเศส”
       
       ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ผมยังคงอยู่ที่เมือง Aix–en-Provence ประเทศฝรั่งเศสครับ คงจะกลับไปถึงประเทศไทยปลายเดือนพฤษภาคมนี้
       ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ฝรั่งเศสก็ได้อาศัย internet เป็นเครื่องมือในการติดตามข่าวสารของประเทศไทย ก็นับว่าเป็นโชคดีของมนุษย์ที่มีระบบ internet ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ครับ เพียงแต่ข้อมูลที่เราเข้าถึงนั้นในบางครั้งก็ต้อง “ระมัดระวัง” ให้ดีว่ามีความถูกต้องและเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ผมติดตามข่าวสารของประเทศไทยผ่านสื่อ “online” หลาย website บอกตรงๆนะครับว่าบาง website อ่านแล้วก็ตกใจเลยว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตหนักมากขนาดนั้นเชียวหรือ พอไปดูwebsite อื่นแล้วกลับไม่พบข่าวลักษณะนั้น ผมมีความรู้สึกว่า บางครั้งการสร้างภาพในลักษณะร้ายให้กับผู้คนช่างทำได้ง่ายเหลือเกิน แต่ผลที่ตามมานั้นมากมายมหาศาล อย่างน้อยคน “ไกลบ้าน” ที่ต้องติดตามข่าวสารของประเทศด้วยความเป็นห่วงก็จะอดวิตกมากไม่ได้ว่าบ้านเมืองเราแย่ขนาดนั้นเชียวหรือ ?
       ผมมาอยู่ที่ Aix–en-Provence ครั้งนี้เกือบเดือน รู้สึกดีที่ได้อยู่คนเดียวโดยไม่มีใครมาวุ่นวายหรือรบกวนจิตใจ ทำให้มีเวลาคิดอะไรที่สร้างสรรค์ได้หลายเรื่อง วันหนึ่งๆหากไม่ใช้เวลาอยู่คนเดียวก็พูดคุยหรือไปไหนมาไหนกับเพื่อนอาจารย์ชาวฝรั่งเศสหลายคนที่รู้จักกันมานานหลายปีครับ การสนทนาส่วนใหญ่หากเป็นเรื่องการเมืองไทยก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมืองของเราและการรัฐประหารที่ผ่านมา ส่วนถ้าหัวข้อสนทนาเป็นเรื่องของฝรั่งเศสก็คงเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี “คนเก่ง” ของเขาเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆของประธานาธิบดีที่สร้างความผิดหวังให้กับชาวฝรั่งเศสอย่างมากครับ
       เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Sarkozy ได้รับการเลือกตั้งมาครบ 1 ปี สื่อต่างๆพากัน “ประเมิน” ผลการทำงานของประธานาธิบดีในรอบ 1 ปีว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผลการสำรวจทุกประเภทชี้ให้เห็นถึงคะแนนนิยมของประธานาธิบดีที่ตกต่ำลงจากเมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างมาก ในขณะที่มีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมานั้น คนฝรั่งเศสซึ่งแม้ส่วนใหญ่แล้วจิตใจจะเป็น “สังคมนิยม” แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่มีประธานาธิบดีเป็น “ขวา” และมีรัฐบาลเป็น “ขวา” บ้าง “สังคมนิยม” บ้าง อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วจึงเป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจที่สำคัญของชาวฝรั่งเศสว่าจะ “ขวาต่อไป” หรือ “กลับมาเป็นสังคมนิยมเช่นเดิม” ซึ่งในที่สุดแล้วฝรั่งเศสก็คงเป็น “ขวาต่อไป” ครับ ในตอนนั้นเศรษฐกิจของโลกและของประเทศกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” คนฝรั่งเศสจำนวนมากคาดหวังกับประธานาธิบดีใหม่ของเขาว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆของประเทศรวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจด้วย แต่ในที่สุดแล้วประธานาธิบดีกลับไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนักให้กับประเทศได้ ในช่วงแรกของการเข้ารับตำแหน่งก็มัวแต่ไปยุ่งเรื่องที่ไม่ควรยุ่ง รวมทั้งยังสร้างเรื่องส่วนตัวขึ้นมาอีกไม่ว่าจะเป็นการหย่า การแต่งงานใหม่ การเที่ยวพักผ่อนในต่างประเทศอย่างหรูหรา การออกงานสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนในประเทศซึ่งกำลังวิตกกังวลอย่างมากกับปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับส่วนตัวและระดับประเทศต้องหันมามองสิ่งที่ประธานาธิบดีของตนทำด้วยความไม่พอใจ สื่อมวลชนขนานนามประธานาธิบดีของตนว่าเป็น “ศิลปินทางการเมือง” (l’artiste politique) เพราะวันๆเอาแต่สร้างภาพหรือแสดงละครทางการเมืองโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติและพลเมืองครับ ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งมาครบ 1 ปี ผลการสำรวจจึงออกมาคล้ายๆกันทุกค่ายว่าประชาชนร้อยละกว่า 50 ไม่พอใจในผลการทำงานของประธานาธิบดี ซึ่งจากผลการสำรวจก็นำไปสู่หัวข้อการสนทนาที่สำคัญตามมาคือ แล้วจะทำอย่างไรกับประธานาธิบดี ซึ่งคำตอบก็มีค่อนข้างชัดเจนคือคงต้องรอไปอีก 4 ปี ให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีครับ


       หากจะถามว่ามีขบวนการในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระหรือไม่ คำตอบก็คือมีครับ มีนักศึกษา “สังคมนิยม” กลุ่มหนึ่งพยายามล่ารายชื่อเพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภาใช้กระบวนการ “ถอดถอน” (destitution) ออกจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส โดยเห็นว่าหากจะต้องรอให้ประธานาธิบดีอยู่จนครบวาระคือ 5 ปีแล้วประเทศชาติอาจล่มจมก่อนก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การล่ารายชื่อดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนักเพราะกระบวนการตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ก็ด้วยเหตุที่ละเลยต่อหน้าที่ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดี (สนใจข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน กิตยาภรณ์ ประยูรพรหม ความรับผิดอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส) นั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งในวันนี้สมาชิกรัฐสภาส่วนมากก็เป็น “พวกเดียว” กับประธานาธิบดีประกอบกับข้อกล่าวหาที่จะนำไปสู่การถอดถอนนั้นมีนักกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีทำแล้วไปกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีของตน เหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาจึงไม่เข้าข่ายที่จะทำให้ประธานาธิบดีถูกถอดถอนได้ครับ
       ในที่สุดคนฝรั่งเศสก็คงต้อง “รอ” ไปอีก 4 ปี เพื่อที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ นึกๆดูแล้วก็ “น่าสงสาร” นะครับ ที่ต้องอดทนกับสิ่งที่ไม่ควรต้องอดทน สู้บางประเทศไม่ได้ที่เอะอะก็เดินขบวนไล่ หาเรื่องสารพัดมาวิพากษ์วิจารณ์สร้างสถานการณ์แปลกประหลาด ยุให้ทหารทำรัฐประหาร รวมไปถึงการที่ทหารทำรัฐประหารเองโดยไม่มีใครยุด้วย ฝ่ายค้านหรือ “มวลชน” ต่างๆ ในฝรั่งเศสน่าจะส่งคนมา “ดูงาน” หรือ “มาเรียน” ในประเทศพวกนี้บ้างจะได้รู้ว่าจริงๆแล้วไม่ต้องอดทนรอให้นักการเมืองอยู่จนครบวาระก็สามารถเอาออกจากตำแหน่งได้หากคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจครับ !!!
       เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของข้ารัฐการทั่วประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้และผมก็ได้เคยเขียนเล่าเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 182 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองครับ ส่วนสาเหตุในการนัดหยุดงานของข้ารัฐการในครั้งนี้ก็มาจากเรื่องต่างๆหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบข้ารัฐการซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาอยู่ในขณะนี้ครับเดิมในปี ค.ศ.2007 ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของข้ารัฐการให้ทันสมัยขึ้นและสามารถตอบสนองประโยชน์สาธารณะได้ดีขึ้น กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการทำงานของข้ารัฐการให้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายประการมีีการกำหนดให้มีการฝึกอบรมข้ารัฐการที่ทำงานไปแล้วตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดและการให้ข้ารัฐการสามารถขอลาหยุดงานเพื่อไปหาความรู้เพิ่มเติมได้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วในปีค.ศ. 2007 อีกเช่นกันที่รัฐบาลในขณะนั้นพยายามที่จะปรับปรุงระบบการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 25 คณะ ประกอบด้วยบุคคลทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมาตรวจดูการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของภาครัฐต่างๆว่าเป็นอย่างไร รวมไปถึงตรวจสอบความซ้ำซ้อนของหน่วยงานและภารกิจต่างๆของรัฐที่มีอยู่อย่างมาก และในปีค.ศ. 2007 อีกเช่นกันที่ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้ออกรัฐกฤษฎีกาอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐสามารถปรับระบบการประเมินผลการทำงานของข้ารัฐการในหน่วยของตนได้โดยอาจใช้วิธีให้ผู้บังคับบัญชาสัมภาษณ์แทนการให้คะแนน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้รับรู้ศักยภาพที่แท้จริงของคนในหน่วยงานของตน รวมทั้งให้ข้ารัฐการได้ทราบด้วยว่าตนจะต้องปรับปรุงทัศนคติในการทำงานอย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานของรัฐ หรือต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านใดบ้าง สิ่งต่างๆที่เล่ามาให้ฟังนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ค่อยๆบีบคั้นอารมณ์ของข้ารัฐการในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเดือนมกราคม 2008 ที่ผ่านมา จริงๆแล้วการปฏิรูประบบข้ารัฐการของฝรั่งเศสก็มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ในฝรั่งเศสมีข้ารัฐการประมาณ 5.2 ล้านคน มีข้าราชการ 3 ประเภทคือ ข้ารัฐการพลเรือนประมาณ 2.5 ล้านคนเศษ ข้ารัฐการในสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 1 ล้านคนเศษ และข้ารัฐการในส่วนภูมิภาคอีก 1.6 ล้านคนเศษ จำนวนข้ารัฐการของฝรั่งเศสนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5 ข้ารัฐการเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งก็ทำงานตามหน้าที่ของตนไปเรื่อยๆตลอดอายุเวลาการทำงาน ซึ่งข้ารัฐการส่วนหนึ่งก็มีข้อบกพร่องที่สำคัญ คือ ขาดการพัฒนาตนเองให้ทันสมัยต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ในบางรัฐบาลมีการตั้งหน่วยงานต่างๆเพิ่มมากขึ้นตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นซึ่งในบางครั้งหน่วยงานและภารกิจใหม่ก็ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานและภารกิจที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าระบบรัฐและหน่วยงานของข้ารัฐการในฝรั่งเศสมีปัญหาหลายประการ ดังนั้นรัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ท้ายที่สุดรัฐบาลปัจจุบันจึงได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบข้ารัฐการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมาโดยมีเหตุผลสำคัญคือ เพื่อให้ระบบข้ารัฐการปรับปรุงไปในทางที่ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการลดจำนวนข้ารัฐการและลดจำนวนหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนหรือมีภารกิจหน้าที่ที่คล้ายคลึงกัน ในร่างกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆไว้ค่อนข้างชัดเจน ตัวอย่างเช่นมีการเสนอให้ลดจำนวนศาลยุติธรรมจาก 1,190 แห่งให้เหลือ 862 แห่ง ในปีค.ศ. 2011 ครับ สำหรับเหตุผลของการขอออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฎิรูประบบข้ารัฐการของรัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในคำอธิบายประกอบร่างกฎหมาย (exposé des motifs) ก็คือเพื่อขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่จะให้ข้ารัฐการประเภทหนึ่งปรับเปลี่ยนไปทำงานเป็นข้ารัฐการอีกประเภทหนึ่งได้และไปทำงานในหน่วยงานอีกประเภทหนึ่งได้ เพื่อสร้างเกณฑ์ในการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐให้มีความต่อเนื่องและสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ โดยสามารถหาลูกจ้างเข้ามาทำงานแทนที่ข้ารัฐการบางประเภทที่หยุดงานได้ และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับข้ารัฐการที่ประสงค์หรือต้องเปลี่ยนไปทำงานยังหน่วยงานอื่นโดยกฎหมายกำหนดให้อัตราเงินเดือนติดตัวไปได้ ผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ทำใหม่ข้ารัฐการส่วนใหญ่วิตกกันมากถึงสถานะของตนเองเพราะมีการกำหนดไว้ในร่างกฎหมายว่าเมื่อร่างกฎหมายประกาศใช้บังคับ ก็จะต้องมีการลดจำนวนข้ารัฐการลงในปี ค.ศ.2008 จำนวนสามหมื่นคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นบุคลากรในสถาบันการศึกษาเสียเก้าพันคน ส่วนในปี ค.ศ. 2009 ก็มีการวางแผนที่จะลดจำนวนข้ารัฐการลงอีกสามหมื่นห้าพันคนครับ ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองจึงทำให้เกิดการหยุดงานประท้วงและเดินขบวนครั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี่เองครับ จำนวนผู้ออกมาเดินขบวนนั้นฝ่ายรัฐบอกว่ามีประมาณสองแสนคนทั่วประเทศในขณะที่ฝ่ายสหภาพข้ารัฐการก็บอกว่ามีจำนวนร่วมห้าแสนคนครับ สหภาพข้ารัฐการเป็น “หัวหอก” ในการจัดให้มีการนักหยุดงานประท้วงและเดินขบวนในครั้งนี้โดยข้ารัฐการทั้ง 3 ประเภท เข้าร่วมด้วยหมดครับ ส่วนผลของการเจรจากับรัฐบาลคงพอเดาได้นะครับ รัฐบาลก็ตอบว่าคงทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพข้ารัฐการที่จะยกเลิกการลดจำนวนข้ารัฐการและปรับปรุงระบบข้ารัฐการไม่ได้เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะพิจารณาครับ
       ที่เล่าให้ฟังก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า บทบาทของสหภาพข้ารัฐการที่เราอยากจะตั้งกันเหลือเกินนั้นมีอยู่จริง แต่จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะเรื่องการปฏิรูประบบข้ารัฐการนี้ก็ดำเนินการกันมาเป็นปีแล้วครับ


       ผมพบเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ตามมาภายหลังการนัดหยุดงานของข้ารัฐการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็เลยจะขอเล่าต่อไปอีก การนัดหยุดงานในวันดังกล่าวมี “ครู” ออกมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือเกิดการหยุดเรียนในวันดังกล่าวโดยปริยายเพราะไม่มีครูมาสอนซึ่งก็ก่อให้เกิดภาระกับพ่อแม่ของเด็กเล็กที่ต้องไปทำงานซึ่งก็ไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากต้องหยุดงานเพื่อดูแลลูกที่ครูหยุดงานประท้วงครับ จริงๆแล้วเรื่องนี้เคยสร้างปัญหาให้กับ “สังคม” มาแล้วหลายหนที่ครูของเด็กเล็กนัดหยุดงาน มีการปิดชั้นเรียนเด็กต้องอยู่บ้าน ก่อนที่จะมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของครูเมื่อ 24 มกราคม ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ขอความร่วมมือจากเทศบาลให้ช่วยหาคนมาดูแลชั้นเรียนแทนครูที่หยุดงานประท้วงโดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อรักษาความต่อเนื่องของบริการสาธารณะและเพื่อไม่ให้พ่อแม่ต้องลำบาก ในการนัดหยุดงานครั้งนั้นมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการดังกล่าวไม่ถึง 2,000 แห่งจากเทศบาลทั้งหมด 36,000 แห่ง ส่วนเงินที่นำมาใช้ในการจ้างคนมาดูแลชั้นเรียนแทนครูที่นัดหยุดงานก็มาจากเงินเดือนของครูที่นัดหยุดงานเฉพาะวันที่หยุดงานนั่นเองดังที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังถึงระบบการตัดเงินเดือนบางส่วนของผู้นัดหยุดงานไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 182 ครับ
       ในการนัดหยุดงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาคือ วันที่ 15 พฤษภาคมมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการ 2,837 แห่งที่หาคนมาดูแลเด็กในระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.ครับส่วนเทศบาลอีก 30,000กว่าแห่ง (ซึ่งส่วนใหญ่นายกเทศมนตรีไม่ได้อยู่ในพรรคการเมืองเดียวกับรัฐบาลคือเป็นฝ่ายสังคมนิยม) ไม่เข้าร่วม สร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่เป็นอย่างมากครับ ร้อนถึงในเย็นวันนั้นประธานาธิบดีคนเก่งของฝรั่งเศสต้องออกโรงมาแสดงละครการเมืองเรื่องใหม่ โดยกล่าวว่าตนต้องการให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายในหน้าร้อนนี้เพื่อให้กฎหมายมีผลใช้บังคับก่อนเปิดเทอมใหม่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เกี่ยวกับหลักประกันในการให้บริการสาธารณะขั้นต่ำ (minimum service) ด้านการศึกษาในขณะที่มีการนัดหยุดงานประท้วงโดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะไปโรงเรียนในขณะที่ครูนัดหยุดงาน ครูที่จะหยุดงานต้องแจ้งให้โรงเรียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อที่โรงเรียนจะได้หาคนมาดูแลในวันที่ครูหยุดงาน ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดหาคนมาดูแลเด็กแทนครูที่หยุดงาน แต่รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยให้กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ อนึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำมาใช้เฉพาะในโรงเรียนระดับต้นสำหรับเด็กเล็กเท่านั้นครับ
       แม้ข้อเสนอของประธานาธิบดีดูแล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่ฝ่ายค้านก็ออกมาตอบโต้อย่างทันควันว่าเป็นข้อเสนอที่หากทำแล้วน่าจะขัดรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสั่งการได้ครับ
       ผมมีโอกาสคุยกับเพื่อนอาจารย์หลายคน ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีกฎหมายดังกล่าว ส่วนร่างกฎหมายเรื่องการปรับปรุงข้ารัฐการนั้นเพื่อนๆอาจารย์ของผมส่วนใหญ่ก็เห็นเหมือนกันหมดก็คือควรต้องปรับปรุงเสียทีเพราะข้ารัฐการส่วนใหญ่จะเข้าระบบ “เช้าชามเย็นชาม” ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทำงาน ครูอาจารย์ก็เป็นเช่นเดียวกันหมด บางคนสอนมาจนแก่ก็ไม่เคยเปลี่ยนเนื้อหา ตำราก็ไม่มีเป็นของตัวเอง ฟังดูคุ้นๆทั้งนั้นเลยนะครับ!!!
       อีกไม่นานร่างกฎหมายเรื่องการปฏิรูประบบข้ารัฐการคงผ่านการพิจารณาของรัฐสภาออกมาใช้บังคับ ถ้าเขาทำแล้วดี ทำแล้วได้ผล เราก็น่าจะศึกษาอย่างละเอียดแล้วเอามาลองทำดูบ้างนะครับ เผื่อจะมีอะไรดีขึ้นบ้างในบ้านเรา
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความมานำเสนอครับ บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "การแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย" ส่วนบทความที่สองเป็นบทความตอนต่อตอนสุดท้ายของ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เรื่อง "การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา" (ตอนที่3) ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1219
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)