การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (ตอนที่ 2) โดยนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

11 พฤษภาคม 2551 23:44 น.

       ๓. หนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       
หลังจากที่ได้พิจารณาในส่วนแรกของบทความถึงหลักการใช้อำนาจอธิปไตยในการทำหนังสือสัญญาประกอบกับหลักทฤษฎีในส่วนที่สองของบทความเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันไปแล้ว ผู้เขียนจะทำการวิเคราะห์ถึงกรณีหนังสือสัญญาทั้งห้าประเภทที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะสามารถดำเนินการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ ดังนี้
       
       ๓.๑ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
       หนังสือสัญญาประเภทแรกมีลักษณะที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา กล่าวคือต้องเป็นหนังสือสัญญาที่มี “บท” หรือข้อความอันเป็นการตกลงให้อาณาเขตของประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกรณีประเทศไทยจะเสียดินแดนหรือจะได้อาณาเขตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม76
       คำว่า “อาณาเขต” (เรียกแต่เดิมว่า “ขัณฑสีมา” หรือเขตแดนที่แน่ชัดและอยู่ภาใต้การปกครองเดียวกัน77 ) มิได้หมายถึงเพียงพื้นดินที่ประชิดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่มีความหมายที่รวมถึงไปถึงพื้นที่หรือดินแดนดังนี้ 78
       (๑) บริเวณแผ่นดิน (land) ซึ่งมิได้จำเป็นต้องประชิดติดกันตลอด79
       (๒) ส่วนทะเลอาณาเขต (territorial sea) วัดออกไปไม่เกิน ๑๒ ไมล์ทะเลจากเส้นฐานชายฝั่ง80 ซึ่งอาจมีเกาะ หมู่เกาะ หรือแม้แต่โขดหินตั้งอยู่ ทั้งนี้ไม่รวมไปถึงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
       (๓) พื้นดินท้องทะเล (seabed) และดินใต้ผิวดินของทะเลอาณาเขต (sub-soil)
       (๔) ห้วงอากาศเหนือแผ่นดินและทะเลอาณาเขต (territorial airspace)
       ประเทศไทยในปัจจุบันมีเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทุกด้านทั้งสิ้นสี่ประเทศอันเป็นผลมาจากการตกลงกำหนดเขตแดนระหว่างสยามกับประเทศมหาอำนาจในยุคอาณานิคมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีหนังสือสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษและฝรั่งเศสหลายฉบับ81 โดยทั่วไปการกำหนดเขตแดน (Delimitation) กระทำโดยหนังสือสัญญาและการตกลงแผนที่และมีการปักปันเขตแดน (Demarcation) ด้วยการกำหนดบนแผนที่และการปักหลักเขตแดนอ้างอิง นอกจากนี้ก็อาจมีการพึ่งที่หมายทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา สันปันน้ำ แม่น้ำ ขอบฝั่ง ร่องน้ำลึก ซึ่งส่วนที่ยังไม่ชัดเจนหรือหลักเขตที่ชำรุดก็ยังคงต้องมีการเจรจาร่วมสำรวจและดูแลรักษาจนปัจจุบัน82 หากคณะรัฐมนตรีจะทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต เช่น ทำหนังสือยอมรับการปักปันและเปลี่ยนการปักหลักเขตใหม่ หรือเปลี่ยนจากการใช้สันปันน้ำไปเป็นวิธีอื่น หรือทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งเขตก็ย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา83
       ในรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หลักการว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภานั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งที่ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเจาะจง84 และทั้งที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง เช่น ในรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับว่าการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจะต้องมีการออกกฎหมายรองรับ อีกทั้งยังบังคับว่าการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจะต้องพิจารณาความยินยอมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย85
       อย่างไรก็ดี ไม่ว่าวลี “ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย” จะมีความหมายตรงไปตรงมาเพียงไร ก็ยังมีกรณีที่สมควรกล่าวถึงเพื่อพิจารณาหนังสือสัญญาบางลักษณะด้วยความระมัดระวังยิ่ง ผู้เขียนอาจวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยตั้งข้อสังเกตว่ามีหนังสือสัญญาบางลักษณะที่แม้มิได้มีบทหรือข้อความที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยแต่ประการใด แต่หนังสือสัญญานั้นก็อาจนำมาสู่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตและมีผลผูกพันทางกฎหมายในที่สุด
       
       ข้อสังเกตที่ ๑ - หนังสือสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลและบทเรียนจากคดีเขาพระวิหาร
       หนังสือสัญญาลักษณะดังกล่าวอาจได้แก่หนังสือสัญญายอมรับอำนาจในการตัดสินพิจารณาคดีขององค์กรตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ เรื่องนี้เป็นที่คุ้นเคยดีสำหรับประเทศไทยซึ่งได้เคยยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกทั่วไปว่าศาลโลก (International Court of Justice) และคำพิพากษาในคดีเขาพระวิหารก็ได้ทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้นตั้งอยู่ในอาณาเขตอันประเทศกัมพูชามีอำนาจอธิปไตยครอบครอง86 หรือหากกล่าวในอีกนัยหนึ่ง ประเทศไทยก็จำต้องยอมรับตามสนธิสัญญาว่าพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเขาพระวิหารถือเป็นอาณาเขตของประเทศกัมพูชานั่นเอง
       ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงเหตุในด้านเนื้อหาแห่งคดี (Merits) ซึ่งได้มีผู้กล่าวถึงไว้แล้วพอสมควร87 เช่น ประเด็นการตีความสนธิสัญญาแบ่งเขตแดน 88ประเด็นการดำเนินการปักปันเขตแดนโดยคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศ (Mixed Commission) หรือประเด็นการจัดทำและการยอมรับแผนที่ภาคผนวกท้ายสนธิสัญญา (Annexed Map) แต่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงประเด็นหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยอมรับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ทำไว้และนำไปสู่การต้องยอมรับสภาพการจัดแบ่งอาณาเขตตามคำพิพากษาดังกล่าวในที่สุด
       ในคดีเขาพระวิหาร ประเทศไทยได้ยื่นคำคัดค้านในชั้นต้น (Preliminary objection) ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีที่ประเทศไทยเป็นคู่ความ ดังนั้นศาลจึงไม่สามารถพิจารณาเนื้อหาของข้อพิพาทต่อไป ประเด็นทางกฎหมายสมควรอธิบายตามลำดับดังนี้
       ในขั้นแรก ก่อนที่จะมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและก่อนจะมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ซึ่งเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติ) ประเทศไทย (หรือสยาม ณ เวลานั้น) ได้เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) และได้เคยยอมรับเขตอำนาจของศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นศาลต้นแบบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นมาทดแทนในปัจจุบัน
       ในขั้นต่อมา องค์การสันนิบาตชาติและศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศได้ถูกยุบเลิกไปและได้มีการตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาทดแทน ต่อมาเมื่อประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยก็ได้ตกลงเป็นภาคีผูกพันตามหนังสือสัญญาฉบับที่ชื่อว่า “กฎบัตรสหประชาชาติ” (United Nations Charter) และประเทศไทยก็ได้มีสภาพกลายเป็นภาคีของหนังสือสัญญา “ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาที่เป็นส่วนผนวก หรือ annex ของกฎบัตรสหประชาชาติ) โดยอัตโนมัติ 89
       ผลทางกฎหมายสำคัญที่ตามมาก็คือประเทศไทยได้ตกลงผูกพันตามบทแห่งหนังสือสัญญาในข้อ ๓๖ วรรคสองแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาตัดสินคดีบังคับกฎหมายระหว่างประเทศต่อประเทศไทยได้ หากเพียงประเทศไทยแถลงยอมรับเขตอำนาจศาล (Declare) โดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงพิเศษร่วมกับประเทศคู่พิพาท (Special Agreement) เพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด และมีเงื่อนไขว่าประเทศคู่พิพาทจะต้องได้แถลงยอมรับเขตอำนาจศาลด้วย เช่นกัน90 ทั้งนี้เพราะหลักการสำคัญในทางกฎหมายระหว่างประเทศมีว่ารัฐจะถูกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้ต้องผูกพันตามผลของคำพิพากษาไม่ได้เว้นแต่รัฐนั้นจะได้ให้ความยินยอมรับเขตอำนาจศาลตามวิธีที่กฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ 91
       ดังนั้น เมื่อประเทศกัมพูชาประสงค์จะขอให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยหรือของกัมพูชา ประเทศกัมพูชาจึงได้แถลงยอมรับเขตอำนาจของศาลตามข้อ ๓๖ วรรคสองแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และนำคดีขึ้นสู่ศาล92 และอ้างว่าด้วยประเทศไทยได้แถลงยอมรับเขตอำนาจศาลไว้ล่วงหน้าเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๓ 93แล้วศาลจึงย่อมมีเขตอำนาจพิจารณาคดีระหว่างไทยและกัมพูชาโดยสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของข้อ ๓๖ วรรคสองแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
       ท้ายที่สุดศาลก็ได้วินิจฉัยว่าประเทศไทยในเวลานั้นได้ยอมรับเขตอำนาจศาลถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่แถลงไว้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ศาลจึงตัดสินว่าศาลมีเขตอำนาจที่จะพิจารณาตัดสินคดีให้มีผลผูกพันต่อทั้งสองประเทศ94 ก่อนจะตัดสินในเนื้อหาแห่งคดีว่าพื้นที่อันเป็นที่ตั้งปราสาทเขาพระวิหารเป็นอาณาเขตของประเทศกัมพูชา
       
       ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการต้องข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยมีดังนี้
       ประการแรก หากตั้งสมมติฐานว่าคดีเขาพระวิหารมิได้ขึ้นสู่ศาลและประเทศไทยและกัมพูชาสามารถดำเนินการหาข้อตกลงได้โดยไม่มีอำนาจอื่นแทรกแซง ก็มิอาจสรุปเป็นที่แน่นอนได้ว่าท้ายที่สุดปราสาทเขาพระวิหารจะตกเป็นของฝ่ายใด หรือต่อมาอาจมีการตกลงพิเศษร่วมกันก็เป็นได้ จึงเป็นไปได้ว่าอาณาเขตไทยอาจมีมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
       ประการที่สอง คดีเขาพระวิหารเป็นตัวอย่างที่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังว่า แม้คำแถลงของประเทศไทยที่ยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๓ จะมิได้เป็นหนังสือสัญญาด้วยตัวของคำแถลงเอง แต่คำแถลงก็มีผลทางกฎหมายเป็นการแสดงความยินยอมตามเงื่อนไขการยอมรับเขตอำนาจศาลตามที่ประเทศไทยได้ตกลงตามหนังสือสัญญาอีกฉบับคือกฎบัตรสหประชาชาติและธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
       ประการที่สาม แม้คำแถลงของประเทศไทยที่ยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๓ จะมิได้กล่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยแต่ประการใด และแม้ ณ เวลาที่แถลงยอมรับประเทศไทยก็อาจมิได้คาดคิดถึงเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ท้ายที่สุดคำแถลงของประเทศไทยดังกล่าวก็ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางอาณาเขตโดยปริยายโดยผลของกฎหมายที่ประเทศไทยยอมรับตามความผูกพันโดยดี
       จากข้อสังเกตดังกล่าว หากหันมาพิจารณามาตรา ๑๙๐ ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็มิได้ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการทำถ้อยแถลงยอมรับอำนาจศาลแต่ประการใด อีกทั้งคำแถลงฝ่ายเดียวก็มิได้มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาโดยตัวของตัวเอง จึงเป็นการดีหากจะมีผู้คิดเผื่อถึงอนาคต เช่น สมมติว่าหากคณะรัฐมนตรีจะแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลระหว่างประเทศใดๆ ที่อาจส่งผลให้มีคำพิพากษาที่ผูกพันตามกฎหมายในทางระหว่างประเทศแล้ว คณะรัฐมนตรียังจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการ “แถลง” หรือไม่ ทั้งนี้ การแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาจนำไปสู่การตัดสินที่ส่งผลแตกต่างกันหลายประการ เช่น การกระทบต่ออธิปไตยเหนือพื้นที่ในอาณาเขต การกระทบต่อเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรืออาจจะส่งผลให้ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหน้าที่ตามพันธกรณีที่เป็นคดี หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ฯลฯ จึงอาจพิเคราะห์ได้ว่าหากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของมาตรา ๑๙๐ แล้ว คณะรัฐมนตรีก็สมควรจะต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อการทำถ้อยแถลงยอมรับอำนาจศาลที่อาจมีขึ้นในอนาคตในคดีที่อาจนำมาสู่ผลที่เสมือนว่าประเทศไทยได้ตกลงผูกพันตามหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนเช่นกัน
       ทั้งนี้ ผู้เขียนก็เป็นอนุชนผู้หนึ่งที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินสยามและพระคุณของเหล่าข้าราชบริพาร ตลอดจนบรรพบุรุษทั้งหลายที่ได้รักษาและกอบกู้เอกราชตลอดจนบูรณภาพแห่งอาณาเขตของประเทศจากอดีตให้เป็นปึกแผ่นมาถึงปัจจุบัน และผู้เขียนก็เชื่อในขณะเดียวกันว่าสังคมโลกปัจจุบันต้องหันมาอาศัยความร่วมมือและความยึดมั่นในกฎกติกาที่เป็นสากล แน่นอนและเชื่อถือได้มากขึ้นในทุกขณะ ซึ่งวิธีหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการดังกล่าวได้ก็ย่อมรวมถึงการสนับสนุนให้มีกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่มีความแน่นอน เปิดเผยและเป็นมาตรฐาน เช่น การยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ95 ผู้เขียนเชื่อว่าหากอาศัยชั้นเชิงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การตั้งข้อสงวนในการยอมรับอำนาจศาลตามหนังสือสัญญา หรือการตั้งเงื่อนไขข้อจำกัดในการแถลงยอมรับอำนาจศาล กอปรกับความระมัดระวังตามกรณี คงมิเสียหายอะไรหากประเทศไทยจะถือคดีเขาพระวิหารเป็นบทเรียนที่มีค่ามากไปกว่าความขยาดกลัวกฎหมายระหว่างประเทศ และหันมาพิจารณาบทบาทของรัฐสภาไทยในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอาจยอมรับเขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ ให้รอบคอบและเหมาะสม เพื่อประเทศไทยจะสามารถอาศัยกระบวนการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในยามจำเป็นได้อีกวิธีหนึ่ง
       
       ข้อสังเกตที่ ๒ - หนังสือสัญญาใช้ประโยชน์หรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
       
นอกจากหนังสือสัญญาที่เป็นการยอมรับอำนาจในการตัดสินพิจารณาคดีขององค์กรตุลาการระหว่างประเทศแล้ว หนังสือสัญญาลักษณะอื่นที่อาจส่งผลไปในทางเดียวกันที่ควรระมัดระวังก็ได้แก่ หนังสือสัญญาที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย เช่น หนังสือสัญญาตกลงการจัดการดูแลแม่น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ไม่มีบทที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ก็อาจจะมีบทที่เป็นการกำหนดภาระหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะจัดการดูแลหรือใช้สอยทรัพยากรในส่วนของตนอันอาจมีบทหรือข้อความที่เหลื่อมล้ำหรือไม่ชัดเจนไปทุกตารางพื้นที่
       ผู้เขียนอาจตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการดูแลหรือใช้สอยทรัพยากรที่เป็นหลักฐานในทางปฏิบัติที่ตามมาก็อาจเป็นมูลเหตุหนึ่งที่อาจกระทบต่ออาณาเขตของประเทศได้ เช่น หากประเทศไทยปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้อำนาจจัดการดูแลหรือใช้สอยทรัพยากรในบางพื้นที่อย่างสงบ เปิดเผยและประหนึ่งว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นเจ้าของเสียเองแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการกล่าวอ้างโต้แย้งการแบ่งเขตแดนอีกก็อาจเป็นได้ ซึ่งข้อสังเกตเดียวกันนี้เองก็ย่อมนำไปใช้กับกรณีที่อาจมีการจัดการดูแลหรือใช้สอยทรัพยากรในเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นได้
       ตัวอย่างที่อาจยกเป็นกรณีศึกษาได้ดีก็คือ สนธิสัญญาขั้วโลกใต้ ปี ค.ศ. ๑๙๕๙96 ซึ่งประเทศ ชิลี ฝรั่งเศส นอร์เวย์นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และอาร์เจนตินาได้ร่วมทำหนังสือสัญญาตกลงกันหลังจากที่ประเทศเหล่านี้ต่างอ้างว่าขั้วโลกใต้ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นอาณาเขตที่ตนมีอธิปไตย หรือมีสิทธิอธิปไตยนอกอาณาเขตเหนือพื้นที่ ซึ่งในที่สุดเมื่อมิอาจตกลงอาณาเขตหรือความเป็นเจ้าของดินแดนกันได้ รัฐก็ได้ตกลงหนังสือสัญญาดังกล่าวเพื่ออนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การศึกษาค้นคว้าวิจัย97 แต่หนังสือสัญญานี้มีบทสำคัญปรากฏอยู่ในข้อ ๔ ซึ่งเป็นบทที่ตกลงกันระหว่างรัฐภาคีว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวไม่มีบทใดปฏิเสธการอ้างอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตยของรัฐภาคีเหนือพื้นที่ดังกล่าวหรือเป็นการปฏิเสธหรือจำกัดเหตุโดยชอบของแต่ละรัฐในการจะอ้างความเป็นเจ้าของ98 ผลที่ตามมาก็คือแม้จะมีการยอมรับให้สิทธิแก่ประเทศอื่นในการจัดการดูแลหรือใช้สอยทรัพยากรในขั้วโลกใต้ แต่รัฐที่ประสงค์อ้างว่าขั้วโลกใต้ยังเป็นอาณาเขตของตนหรือเป็นเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งตนมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจก็ยังมีสิทธิกล่าวอ้างได้เต็มที่ หรือกล่าวอีกนัยก็คือ จะไม่มีรัฐใดถูกอ้างว่าได้ยอมรับ (acquiesce) ที่จะสละอำนาจหรือสิทธิของตนเหนือขั้วโลกใต้ให้แก่รัฐอื่น
       ดังนั้น หากประเทศไทยจะทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย ก็ควรจะระมัดระวังทั้งบทที่มีในของหนังสือสัญญาและบทที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือสัญญา หากเป็นกรณีที่มีการใช้สอยทรัพยากรในบริเวณที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องอาณาเขตหรือสิทธิอธิปไตยก็สมควรยืนยันในสิทธิของประเทศไทย และรัฐสภาสมควรต้องให้ข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำโดยเฉพาะในส่วนที่กระทบถึงประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
       
       ๓.๒ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
       
       
หนังสือสัญญาประเภทที่สองที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนจากในที่เคยมีมาในอดีต จากเดิมรัฐธรรมนูญเคยกล่าวถึงหนังสือที่มีบทเปลี่ยนแปลง “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” และต่อมามีการใช้คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” จนปัจจุบันได้หันมาใช้ถ้อยคำว่า “เขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ” 99
       
       กรณีศึกษา คำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓
       
เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของหนังสือสัญญาประเภทที่สอง สมควรต้องกล่าวถึงกรณีศึกษาสำคัญคือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” 100ในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายในคำวินิจฉัยส่วนสำคัญไว้ดังนี้
       “...พิจารณาอนุสัญญา ฯ มาตรา ๑๕ วรรคสอง และ มาตรา ๑ แล้ว หมายความว่า รัฐภาคีต้องเอื้ออำนวยให้รัฐภาคีอื่นเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมของตน และพยายามไม่กำหนดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพ พยายามไม่กำหนดข้อจำกัดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเอื้ออำนวยให้รัฐภาคีอื่นได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมของตนได้ด้วย เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐในการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของตนซึ่งเดิมมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับขอบเขตของอนุสัญญา ฯ มาตรา ๔ กำหนดว่า (๑) ในกรณีองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพ ให้อนุสัญญา ฯ ใช้บังคับภายในพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐภาคี และ (๒) ในกรณีกรรมวิธีและกิจกรรมซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคี ไม่ว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ณ ที่ใดให้อนุสัญญา ฯ ใช้บังคับทั้งภายในและนอก เขตอำนาจดังกล่าว ดังนั้น การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ จะมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ และการแบ่งปันผลประโยชน์ ที่ได้จาก การใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ระหว่างประเทศไทยกับรัฐภาคีอื่น เป็นการให้สิทธิและการถูกจำกัดสิทธิไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายภายในที่ใช้บังคับอยู่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักการ และขอบเขตของอนุสัญญา ฯ เห็นได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐในการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และเป็นหนังสือสัญญาที่มีบท เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       นอกจากนี้ อนุสัญญา ฯ มาตรา ๑๕ วรรคเจ็ด มาตรา ๑๖ วรรคสาม และวรรคสี่ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ...เท่าที่เหมาะสม เพื่อวัตถุประสงค์...ย่อมต้องหมายความว่า ถ้าประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ ที่มีบทบัญญัติให้ดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติดังกล่าว หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ว่าจะให้ออก หรือ พยายามออกกฎหมาย ยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือกำหนดให้มีเรื่องใด ก็ต้องอยู่ภายในวัตถุประสงค์ หลักการ และขอบเขตของอนุสัญญา ฯ ย่อมจะต้องออกหรือพยายามออกกฎหมายมาใช้บังคับ
       ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า อนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง”
101
       ที่ผ่านมาได้มีผู้วิพากษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของการตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ไว้แล้วพอสมควร102 ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเห็นพ้องว่าหลักการวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากได้ก่อให้เกิดผลประหลาดสรุปได้สองประการ
       ประการแรก คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยหลักเกณฑ์ว่า ในหนังสือสัญญาฉบับหนึ่ง แม้จะไม่ได้บังคับชัดเจนว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้ต่างประเทศมีสิทธิในการเข้าถึงหรือใช้ทรัพยากรอย่างไร และแม้หนังสือสัญญาฉบับนั้นจะยืนยันอำนาจของประเทศไทยในการใช้ดุลยพินิจในการมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในการจัดการควบคุมอย่างการเข้าถึงหรือการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมตามที่เห็นว่าเหมาะสมไว้ แต่หนังสือสัญญาฉบับนั้นก็ถือว่ามีบทเปลี่ยนแปลง “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ผลประหลาดที่ตามมาก็คือ หนังสือสัญญาทั้งปวงที่มีลักษณะตกลงว่าจะพยายามให้ความร่วมมือบางประการทั้งที่หนังสือสัญญาก็มิได้บังคับว่าประเทศไทยจะต้องผูกพันดำเนินการเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดก็จะกลายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบทั้งหมด
       ประการที่สอง คือ ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้คำว่า“เขตอำนาจแห่งรัฐ” โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างเมื่อเทียบจากที่มาที่ไปของคำดังกล่าว หากจะย้อนไปพิจารณาความเป็นมาแต่เดิมที่เคยใช้คำว่า “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” ก็สมควรจะพิจารณาคำอธิบายของศาสตราจารย์ ดร. อรุณ ภานุพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ว่าในยุคสมัยนั้น บรรดารัฐชายฝั่งต่างอ้างสิทธิของรัฐตนเหนือไหล่ทวีปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีของอ่าวไทยนั้น ประเทศเวียดนามได้ประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประเทศกัมพูชา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ส่วนประเทศไทยได้มีการประกาศเขตไหล่ทวีปในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่และเป็นการโต้แย้งสิทธิของรัฐอื่น ๆ ที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตของประเทศไทยด้วย ดังนั้น จึงเสนอให้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ว่าหากประเทศไทยสามารถดำเนินการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านได้ว่าอาณาเขตทางทะเลมีข้อยุติอย่างไร ก็ให้จัดทำในรูปของสนธิสัญญา และสนธิสัญญาดังกล่าวให้เรียกชื่อว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอธิปไตยแห่งชาติ” ส่วนสาเหตุที่ใช้คำว่า “อธิปไตย” เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลยังอยู่ในระหว่างการยกร่างโดยองค์การสหประชาชาติ และต่อมาเมื่อได้มีการยกร่างอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเสร็จสิ้นแล้ว ในปี ค.ศ. ๑๙๘๒ จึงทำให้เกิดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้อย่างชัดเจนแน่นอน และถือว่าอำนาจของรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอาณาเขตดังกล่าวเป็น "อำนาจในทางกฎหมาย” (Jurisdiction) มิใช่ “อำนาจอธิปไตย” (Sovereignty) จึงได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ระหว่างประเทศยิ่งขึ้นโดยใช้คำว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” ในมาตรา ๑๗๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ และปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ต่อมา103 แต่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ก่อให้เกิดผลประหลาดที่ตามมาก็คือถ้อยคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” กลายเป็นมีความหมายที่กว้างมากกว่าคำที่เคยใช้มาในอดีตอย่างมาก
       อย่างไรก็ตาม ในความเห็นผู้เขียน หากจะกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายผิดก็คงไม่เป็นธรรมเสียเท่าไหร่ อาจเข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ตรงตัวจากคำว่า “State Jurisdiction” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำที่ไม่น่าจะนำมาบัญญัติไว้ตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ในทางกฎหมายมหาชน โดยทั่วไปมักไม่เกิดกรณีที่จะถกเถียง “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เพราะการใช้อำนาจกฎหมายมหาชนก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการดำเนินการภายในรัฐเป็นหลัก จึงไม่เป็นที่สงสัยว่าคณะรัฐมนตรีจะสามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไทยได้หรือไม่ หรือรัฐสภาจะออกกฎหมายได้หรือไม่ หรือ ศาลจะนำตัวผู้กระทำความผิดในประเทศไทยมาขึ้นศาลไทยได้หรือไม่ หากจะมีปัญหา โดยมากก็คือเขตอำนาจที่ทับซ้อนหรือเกี่ยวโยงขององค์กรภายในรัฐ เช่น การพิจารณาคดีบางคดีควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลปกครอง เป็นต้น
       แต่หากสรุปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ104 “เขตอำนาจแห่งรัฐ” หรือ “State Jurisdiction” หรือที่ในบางครั้งใช้คำว่า “Jurisdictional Competence” (ความสามารถในการใช้อำนาจของรัฐ) หมายรวมถึงกรณีที่รัฐใช้อำนาจในแทบทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่ใช้ผ่านทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ ซึ่งอาจเป็นเพียงเรื่องภายในประเทศหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในระดับระหว่างประเทศ อีกทั้งขอบเขตอันเป็นที่จำกัดของเขตอำนาจนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน อาจกล่าวสรุปโดยสังเขปได้ว่า เขตอำนาจรัฐเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐที่มีอธิปไตย รัฐย่อมมีเขตอำนาจรัฐในบรรดากรณีที่รัฐนั้นสามารถใช้อำนาจบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายของตนได้ เช่น การที่ตำรวจไทยสามารถทำการจับกุมโจรบนอากาศยานไทย ก็เพราะรัฐไทยมีเขตอำนาจบนอากาศยานไทย การที่รัฐสภาไทยตราพระราชบัญญัติมาใช้บังคับต่อคนไทยและคนต่างชาติในราชอาณาจักรก็เป็นการอาศัยเขตอำนาจแห่งรัฐ การที่ศาลไทยสามารถบังคับกฎหมายไทยกับคนต่างชาติในประเทศไทย หรือบังคับคนทุกชาติที่กระทำผิดนอกราชอาณาจักร โดยผู้เสียหายซึ่งเป็นคนไทยได้ร้องขอ ก็เป็นกรณีอยู่ในเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือหากต่อมาประเทศไทยได้ทำหนังสือสัญญาตกลงกับต่างประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าไปเช่าที่ดินเพื่อเปิดฐานทัพทางทหาร และมีการตกลงหนังสือสัญญาว่าหากทหารไทยที่ประจำการอยู่ ณ ฐานทัพในต่างประเทศดังกล่าวได้กระทำความผิดขึ้นในบริเวณฐานทัพต่อทหารไทยด้วยกัน แม้ฐานทัพจะตั้งอยู่บนดินแดนของต่างประเทศ ต่างประเทศก็จะไม่นำกฎหมายของตนมาบังคับใช้ในฐานทัพไทย แต่จะยินยอมให้ทหารไทยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทย หากตกลงกันเช่นนี้ ก็ถือได้ว่าประเทศไทยมีเขตอำนาจในบริเวณฐานทัพที่ต้องอยู่ในต่างประเทศ เช่นกัน105
       ดังนั้น หากพิจารณาความหมายของ “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เป็นฐานการตีความตามศาลรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมตีความได้ว่าการตกลงหนังสือสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อเขตอำนาจแห่งรัฐ เช่น คณะรัฐมนตรีต้องเอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม หรือต้องเสนอให้มีการเพิ่มเติม ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย ซึ่งจากเดิมหากคณะรัฐมนตรีจะปฏิเสธทุกกรณีโดยไม่สนใจใยดีก็ถือว่าเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี แต่หลังจากผูกพันตามหนังสือสัญญา คณะรัฐมนตรีก็ย่อมต้องพิจารณาใช้ความพยายามโดยสุจริตเพื่อเอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม106 หรือต้องพยายามมีมาตรการทางกฎหมายตามมา หากถามว่ากระทบหรือเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจหรือไม่ ก็อาจคงต้องตอบว่าเปลี่ยนแปลง หากจะกล่าวว่ารัฐบาลไทยไม่ต้องดำเนินการอะไรเลยก็คงมิถูกต้องนัก แต่หากคิดย้อนกลับไปในทางเดียวกัน หากต่อมารัฐมนตรีไทยจะไปลงนามในคำแถลงหรือบันทึกการประชุมในเวทีการประชุมระหว่างประเทศที่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาและคำแถลงมีข้อความว่า จะพยายามพัฒนาการศึกษา จะมุ่งปรับปรุงระบบสาธารณสุข จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จะเพิ่มความรู้ความชำนาญให้กับเกษตรกร ฯลฯ และจะจัดประชุมกันทุกๆ ๒ ปี หากลองพิจารณาต่อไปว่าการที่รัฐมนตรีต้องกลับมาพยายามใช้อำนาจไปในทางที่ได้ประกาศไว้ดังกล่าว เช่น เสนอให้มีการออกกฎหมายพัฒนาการศึกษา หรือ ใช้อำนาจจัดสรรงบประมาณมาจัดการประชุม เช่นนี้ ก็กระทบต่อการใช้อำนาจอยู่ดีมิใช่หรือ หากตอบว่าใช่ก็ย่อมเท่ากับว่าหนังสือสัญญาอีกมากมายหลายฉบับย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาเช่นกัน 107
       ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตด้วยความเคารพว่า ผลประหลาดจากคำวินิจฉัยมีเหตุมาจากทั้งการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม108 และจากการตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยมิได้คำนึงถึงบริบท เจตนารมณ์และผลในความเป็นจริง
       
       พัฒนาการในการร่างกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐
       
จากปัญหาที่เกิดขึ้น มาตรา ๑๙๐ ในปัจจุบันจึงมิได้ใช้ถ้อยคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” แต่ได้ใช้ถ้อยคำใหม่ว่า “เขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
       แม้ผู้เขียนจะชื่นชมผู้ร่างที่ได้เลือกใช้ถ้อยคำใน มาตรา ๑๙๐ ที่ชัดเจนและไม่น่าจะถูกนำไปตีความในทางที่เป็นปัญหา แต่ผู้เขียนเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวมีใจความที่ต้องสังเกตการเรียงถ้อยคำให้ชัดเจนมิฉะนั้นก็ยังอาจมีผู้สับสนได้ ที่สำคัญเนื่องจากบริบทของมาตรา ๑๙๐ เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด การจะตีความถ้อยคำจึงต้องอาศัยความเข้าใจในหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักกฎหมายมหาชนควบคู่กัน ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์ลักษณะของหนังสือสัญญาประเภทดังกล่าวว่าต้องเข้าลักษณะดังต่อไปนี้
       ๑. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตของประเทศไทย
       ๒. ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ประเทศไทยต้องมีสิทธิอธิปไตย และ/หรือ มีเขตอำนาจ
       ๓. สิทธิอธิปไตย และ/หรือ เขตอำนาจที่ประเทศไทยมีนั้น ต้องมีอยู่ตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
       จากหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้
       ประการแรก สิทธิอธิปไตย และ/หรือ เขตอำนาจที่ประเทศไทยมีนั้น นั้น ต้องมีอยู่ตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หมายความว่าสิทธิอธิปไตย และ/หรือ เขตอำนาจดังกล่าวต้องไม่ใช่กรณีที่ประเทศไทยออกกฎหมายมาเอง หรือใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวให้เกิดสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจดังกล่าว แต่ต้องอาศัยการตกลงยอมรับในทางระหว่างประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปย่อมกระทำได้โดยการตกลงหนังสือสัญญาต่างๆ หรือ แม้ไม่มีการทำหนังสือสัญญาก็อาจยึดถือตามกรณีที่ถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (International custom หรือ customary international law)109 ซึ่งสังเกตได้ว่ารัฐธรรมนูญได้รับอิทธิพลโดยตรงจากการใช้คำในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากกฎหมายทะเล ซึ่งคำสำคัญที่ใช้โดยควบคู่กันว่า “Sovereign right” และ “Jurisdiction” ก็ได้ถูกนำมาแปลเป็นคำว่า สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจ
       ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็ได้แก่สิทธิอธิปไตยในทางทะเลและทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งหลาย เช่น สิทธิอธิปไตยที่จะสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive economic zone)110 บริเวณไหล่ทวีป (Continental shelf)111 หรือ หรือการมีเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายบนเกาะเทียมที่สร้างขึ้นในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ112 หรือการมีเขตอำนาจที่จะบังคับให้รัฐอื่นต้องเคารพกฎหมายหากจะวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำผ่านบริเวณไหล่ทวีป113
       สำหรับกรณีกฎหมายทะเล แม้ประเทศไทยย่อมอาจมีทั้งสิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจในเวลาและสถานที่เดียวกัน เช่น สิทธิใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติและเขตอำนาจควบคุมการวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำผ่านบริเวณไหล่ทวีป แต่ในบางกรณีก็อาจมีเพียงเขตอำนาจ เช่น กรณีที่ประมวลกฎหมายอาญา114 และจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้ยอมรับว่าศาลไทยย่อมมีเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอาญาต่อการกระทำผิดที่กระทำบนเรือ หรืออากาศยานที่มีสัญชาติไทย
       ประการที่สอง หนังสือสัญญาจะต้องเป็นประเภทที่พื้นที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตของประเทศไทย หมายความว่าย่อมไม่เกี่ยวกับกรณีการใช้อำนาจของรัฐหรือการอนุญาตให้ต่างประเทศหรือคนต่างชาติต้องเข้ามามีสิทธิ หรือประโยชน์แต่ประการใดในอาณาเขตไทย ทั้งนี้ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการในประเทศ หากเข้าประเภทสัญญาอื่นตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง เช่นต้องมีการออกพระราชบัญญัติบังคับไปตามหนังสือสัญญา ก็ย่อมเป็นกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา
       ทั้งนี้ สมควรย้ำให้ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาประเภทที่สองตาม มาตรา ๑๙๐ นี้บัญญัติถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ (Physical area)115 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ หรือการยอมรับข้อจำกัด หรือเงื่อนไขบนพื้นที่ดังกล่าว คำแปลรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษก็ได้ใช้คำที่ชัดเจนว่า “…a change in…extraterrotorial areas…”116 ซึ่งก็ตรงกับคำแปลอย่างไม่เป็นทางการโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา117 กล่าวคือกรณีที่ถือเป็นหนังสือสัญญาประเภทที่สองจะต้องทำให้พื้นที่เปลี่ยนแปลงไป มากขึ้น หรือน้อยลง เช่น หากประเทศไทยทำหนังสือสัญญาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านว่าจะยอมรับให้ไหล่ทวีปของประเทศเพื่อนบ้านกินพื้นที่ยาวเข้ามามากกว่าที่มีอยู่และทำให้พื้นที่ไหล่ทวีปของไทยมีน้อยลงก็ย่อมต้องด้วยลักษณะของหนังสือสัญญาประเภทที่สอง และคณะรัฐมนตรีย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา
       ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าจึงไม่มีกรณีใดๆ ภายใต้บทบัญญัติของหนังสือสัญญาประเภทที่สองนี้อันจะถูกตีความไปในทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความการกระทบถึงเขตอำนาจรัฐที่ได้วินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓ กล่าวคือ แม้หนังสือสัญญาฉบับหนึ่งจะเป็นเรื่องที่อาจกระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ แต่หากเป็นไปในทางที่ไม่ต้องมีการออกพระราชบัญญัติบังคับไปตามหนังสือสัญญา หรือไม่เข้าข้อยกเว้นอื่นๆแล้ว ก็ย่อมถือเป็นอำนาจเฉพาะของฝ่ายบริหารที่จะสามารถตกลงหนังสือสัญญาได้ เช่น หากตกลงคณะรัฐมนตรีทำหนังสือสัญญากับองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ว่าจะเอื้ออำนวยช่วยเหลือในการให้ข้อมูลเพื่อจับผู้ก่อการร้าย ก็เป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารจะอาศัยเขตอำนาจของตนใช้อำนาจ เป็นต้น
       ประการที่สาม ผู้เขียนไม่คิดว่าหนังสือสัญญาประเภทนี้จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจในทางกฎหมายทะเลหรือทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้นดังที่มีบางฝ่ายเข้าใจ หากพิจารณารัฐธรรมนูญที่ใช้ถ้อยคำใน “ตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ” แล้วย่อมมีกรณีอื่นที่เกี่ยวข้องหลายกรณี เช่น หากประเทศไทยได้ทำหนังสือสัญญาที่เรียกว่า Status of Force Agreement และเปิดฐานทัพทหารในต่างประเทศ และตามหนังสือสัญญานั้นรัฐบาลของต่างประเทศได้มียินยอมที่จะไม่ใช้กฎหมายอาญาบังคับต่อทหารไทยภายในฐานทัพ หากต่อมาคณะรัฐมนตรีไทยจะทำหนังสือสัญญาตกลงเปลี่ยนแปลงให้ประเทศอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพใช้กฎหมายอาญาบังคับต่อทหารไทยในความผิดบางฐานได้ กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังจะยินยอมเปลี่ยนแปลงลักษณะของเขตอำนาจของตนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอาญาในความผิดบางฐานภายในฐานทัพ แต่หากในตัวอย่างดังกล่าว รัฐสภาไทยได้ตราพระราชบัญญัติโดยมอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้กฎหมายภายในฐานทัพตามที่จะตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศภายใต้หนังสือสัญญา Status of Force Agreement ได้ และไม่จำต้องมีการออกพระราชบัญญัติมาบังคับให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา ก็หมายความว่าคณะรัฐมนตรีย่อมสามารถดำเนินการตกลงแก้ไขหนังสือสัญญาได้เลยแม้จะกระทบต่อเขตอำนาจรัฐก็ตาม แต่หากต่อมา คณะรัฐมนตรีจะทำหนังสือสัญญาตกลงปิดฐานทัพ หรือลดพื้นที่ของฐานทัพ ย่อมเป็นกรณีที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตอันประเทศไทยมีเขตอำนาจ คณะรัฐมนตรีย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา
       และประการที่สี่ซึ่งสำคัญยิ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตเชิงเสนอแนะว่าหากเป็นกรณีที่หนังสือสัญญานั้นมิได้มีบทเปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขต แต่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ หรือเป็นการยอมรับข้อจำกัด หรือเงื่อนไขของอำนาจของประเทศไทยบนพื้นที่ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นลักษณะตามหนังสือสัญญาประเภทที่สอง แต่ต้องพิจารณาว่าหนังสือสัญญาฉบับนั้นจะเข้าลักษณะของหนังสือสัญญาประเภทอื่นตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง หรือไม่ เช่น ต้องมีการออกพระราชบัญญัติบังคับไปตามหนังสือสัญญา หรือเป็นกรณีเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ก็ย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา แต่หากหนังสือสัญญานั้นไม่เข้ากรณีอื่นในมาตรา ๑๙๐ เลย แม้หนังสือสัญญาจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ หรือเป็นการยอมรับข้อจำกัด หรือสร้างเงื่อนไขสักเพียงไร ก็มิอาจนำหนังสือสัญญาประเภทที่สองมาเป็นเหตุให้ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาได้ มิฉะนั้นก็เสมือนว่าเรากำลังจะกลับไปตีความคำว่า “เขตอำนาจรัฐ” ในมิติของการใช้อำนาจอธิปไตยอันอาจมีส่งผลที่กำกวมและแปลกประหลาดอีกครั้ง
       ณ จุดนี้ ผู้เขียนยืนยันความเห็นว่า หนังสือสัญญาจะต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ ก็สมควรต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของหนังสือสัญญาทั้งห้าประเภทตามรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายควรระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อมีความพยายามจะกำหนดให้หนังสือสัญญาทุกประเภท “ที่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย” จะต้องมีการขอความเห็นชอบของรัฐสภาทุกครั้ง118 ผู้เขียนเข้าใจและเห็นต้องตรงทุกประการกับความหวังดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่หวงแหนอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศชาติ119 แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคำนึงถึงธรรมชาติและแก่นแท้ของ “อำนาจอธิปไตย” ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอคำอธิบายมาในส่วนแรกของบทความแล้วว่าการทำหนังสือสัญญาอันเป็นการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่อง “การใช้อำนาจอธิปไตย” ซึ่งหากดำเนินการไปโดยถูกต้องตามกระบวนการยินยอมของเจ้าของอำนาจ (ดังที่ปวงชนชาวไทยได้กำหนดไว้ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐) ก็ย่อมมิใช่การจำกัด กัดกร่อน หรือลิดรอนอำนาจ อีกทั้งหากจะตีความว่าการทำหนังสือสัญญาบางประเภทเป็นการ “เปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย” ก็ย่อมเกิดความกำกวมและนำไปสู่การตีความที่ขัดต่อบริบทความเป็นจริงดังที่ได้ปรากฏในกรณีของการตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ซึ่งต้องไม่ลืมว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศ “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “การใช้อำนาจอธิปไตย” ของรัฐเท่านั้น120 เมื่ออดีตได้สอนบทเรียนสำคัญอันทำให้รัฐธรรมนูญต้องตัดคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ออกไปเสียแล้ว ผู้เขียนก็มิอาจแน่ใจได้ว่าเหตุไฉนจึงสมควรจะกลับมากล่าวถึง “อำนาจอธิปไตย” ในลักษณะกว้างและกำกวมเช่นนี้อีก
       
       ๓.๓ หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
       

       หนังสือสัญญาประเภทต่อมาที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาก็คือหนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา121 หรือที่เรียกว่าต้องมีการอนุวัติการตามหนังสือสัญญา (Implementation) ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐธรรมนูญไทยแต่อย่างใด122 โดยในทางปฏิบัติของประเทศไทยก่อนจะเข้าตกลงหนังสือสัญญาประเภทดังกล่าวก็มักจะมีคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ123 พิจารณาว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขหรือออกกฎหมายตามมาอย่างไรบ้าง ซึ่งย่อมต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศในการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ว่าเพียงพอที่จะรองรับการทำหนังสือสัญญาแล้วหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก หรือตราพระราชบัญญัติใหม่อย่างไร
       เหตุสำคัญที่รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้มีการขอความเห็นชอบของรัฐสภา วิเคราะห์ได้ดังนี้
       ประการแรก อำนาจในการตราพระราชบัญญัตินั้นเป็นอำนาจของรัฐสภาในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย และการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และโดยทั่วไปกฎหมายจะตราขึ้นได้ก็แต่ด้วยความยินยอมของรัฐสภา124 ดังนั้น หากหนังสือสัญญาจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาในทางที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ คณะรัฐมนตรีจะกระทำโดยปราศจากความยินยอมของรัฐสภามิได้
       ประการที่สอง ไม่ว่าหนังสือสัญญาจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาในทางที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ อำนาจในการตราพระราชบัญญัตินั้นก็คงเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่เช่นเดิม หากคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการตกลงหนังสือสัญญาและบังคับผูกพันให้ต้องมีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา แต่ต่อมารัฐสภาไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมออกพระราชบัญญัติให้ต้องตรงกับที่ได้ตกลงไปตามหนังสือสัญญา ประเทศไทยย่อมมีความรับผิดในทางกฎหมายระหว่างประเทศ125 และอาจนำมาสู่การเสียประโยชน์อื่นตามมา เช่น ประเทศภาคีหนังสือสัญญาอาจอ้างสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจนกว่าซึ่งจนกว่าประเทศไทยจะได้มีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ในที่สุด126
       ในต่างประเทศ โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญก็มักจะกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องอาศัยความยินยอมของฝ่ายนิติบัญญัติก่อนเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญาอันต้องมีการออกกฎหมายเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาเช่นกัน เช่น ในกรณีของประเทศอังกฤษมีหลักจารีตประเพณีทั่วไปที่เรียกว่า Ponsonby Rule127 ซึ่งกำหนดว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องนำหนังสือสัญญาทุกฉบับที่จะมีการตกลงมาวางไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) อย่างน้อย ๒๑ วันที่สภาประชุม (Sitting Days) ซึ่งอาจไม่ต่อเนื่องทุกวันและย่อมนานมากกว่าสามอาทิตย์ เพื่อให้สภาสามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายและสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้128 แต่สภามิได้ต้องลงมติให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด129 อย่างไรก็ดี มีหนังสือสัญญาบางลักษณะที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดว่าต้องให้รัฐสภาอังกฤษให้ความเห็นชอบ เช่น หนังสือสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายสหภาพยุโรปที่กระทบกฎหมายในประเทศ130 หรือหนังสือสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายภาษีระหว่างประเทศ131 ทั้งนี้ หนังสือสัญญาใดจะมีผลบังคับเป็นกฎหมายใช้ในประเทศได้ก็แต่ด้วยพระราชบัญญัติ (Acts of Parliament) เท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นก็ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องให้รัฐสภา (Diet) ให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาเช่นกัน132 ส่วนในรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นเอกนิยมกล่าวคือไม่ต้องมีการอนุวัติการออกกฎหมายตามหนังสือสัญญา รัฐธรรมนูญเยอรมันก็ได้กำหนดให้ต้องมีการยินยอมของฝ่ายนิติบัญญัติในลักษณะการออกรัฐบัญญัติ (Federal legislation)133 ในขณะที่รัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศส แต่ก็มีพิธีขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ว่าหนังสือสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกระทบกฎหมายภายในรัฐหรือกระทบต่อบุคคลจะต้องมีการออกกฎหมาย (loi) เพื่อให้ประธานาธิบดีให้สัตยาบันหรือยอมรับผูกพันได้134
       
       ในประเทศไทย ผู้เขียนมีข้อสังเกตในกรณีจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาดังนี้
       ประการแรก หากเป็นกรณีที่ความตามหนังสือสัญญาที่จะตกลงนั้นได้มีพระราชบัญญัติรองรับและใช้บังคับอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติอีก และในเมื่อมาตรา ๑๙๐ ใช้ถ้อยคำชัดเจนว่าต้องเป็นกรณีที่ “จะต้องออกพระราชบัญญัติ” ย่อมเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา135 โดยที่รัฐบาลอาจใช้กลวิธีทางกฎหมายในการตั้งข้อสงวนที่อาจเรียกว่าคำแถลงความเข้าใจของประเทศไทยที่มีต่อถ้อยคำในหนังสือสัญญานั้น (Interpretative declaration) เพื่อแสดงว่าประเทศไทยตกลงผูกพันตามหนังสือสัญญาโดยถือเข้าใจความหมายของบทในหนังสือสัญญาไปในทางที่สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่136
       ประการที่สอง หากเป็นกรณีที่ความตามหนังสือสัญญาที่จะตกลงนั้นได้มีพระราชบัญญัติรองรับและใช้บังคับอยู่แล้วหรือพอมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แต่พระราชบัญญัติเหล่านั้นไม่รองรับผลบังคับตามหนังสือสัญญาทั้งหมด และจำเป็นต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ รัฐบาลย่อมต้องเสนอหนังสือสัญญาให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ความเห็นชอบเสียก่อนแล้วจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือสัญญา137
       ประการที่สาม หากเป็นกรณีที่ความตามหนังสือสัญญาที่จะตกลงนั้นได้มีความเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีรองรับและใช้บังคับอยู่ แต่หากการบังคับใช้หนังสือสัญญานั้นอาจส่งผลทำให้มีการขัดกันแห่งกฎหมายได้138 ก็ต้องพิจารณาไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย และย่อมไม่ใช่กรณีที่หนังสือสัญญาฉบับนั้นจะขัดต่อกฎหมายไทยอันต้องทำให้มีการแก้ไขกฎหมายอันเป็นกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา139
       ประการที่สี่ ได้เคยมีการวินิจฉัยว่าพระบรมราชโองการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย่อมเป็นกฎหมาย140 ดังนั้น เมื่อได้เคยมีพระบรมราชโองการให้ใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ สั่งให้เจ้าพนักงานทุกกระทรวงทบวง กรมและบรรดาผู้ซึ่งมีการเกี่ยวข้อง กับข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ว่า “ให้ถือตามกระทำตามความในสัญญาที่ว่านี้ทุกข้อทุกประการ” พระบรมราชโองการจึงมีผลเป็นกฎหมายอนุวัตรการตามความในสนธิสัญญาฉบับนั้น ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาใหม่แตกต่างไปจากที่ได้เคยอนุวัตรการไปแล้วก็ต้องมีกฎหมายอนุวัตรการใหม่ด้วย141
       ประการที่ห้า เคยปรากฏคำถามว่าในกรณีที่คณะรัฐมนตรียังมิได้เสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญา แต่หากคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุวัตการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับตามรัฐธรรมนูญฯ เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรียังต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ความเห็นชอบแก่สนธิสัญญาอีกหรือไม่
       ในกรณีนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า การตีความดังนี้เป็นการขัดกับบทบัญญัติมาตรา ๑๖๒ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย142 เพราะที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภากับการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรกับการประชุมของวุฒิสภานั้น เป็นลักษณะและการประชุมของที่ประชุมต่างกัน การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมของวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นการประชุมของสภาทั้งสองแยกกัน และต่างกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา ฉะนั้น ตราบใดที่หนังสือสัญญายังไม่ได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แม้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติอนุวัตการตามสนธิสัญญานั้นแล้ว ก็ยังถือไม่ได้ว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญานั้นตามรัฐธรรมนูญ 143
       ประการที่หก หากรัฐบาลไทยได้ตกลงหนังสือสัญญาใดโดยมิได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภาและต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงตามมาซึ่งมีผลทางกฎหมายแต่มิได้ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติหรือกฎหมายภายในที่มีมาอยู่แล้วเพราะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็ย่อมเป็นไปได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีในอดีตที่ มาตรา ๑๑ ตรี แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๐ ซึ่งได้ตราขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจในการลดหรือยกเว้นอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากบางประเทศเพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจแก่รัฐบาลพอเพียงในการปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ได้ตกลงไว้ในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือตรากฎหมายขึ้นใหม่อีก รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบของรัฐสภาแต่อย่างใด144
       ประการที่เจ็ด ตามระบบกฎหมายไทย ไม่อาจอาศัยหนังสือสัญญาเป็นฐานทางกฎหมายในการอ้างอิงสถานะความเป็นนิติบุคคลขององค์การระหว่างประเทศตามกฎหมายภายในประเทศได้ แม้องค์การระหว่างประเทศระหว่างประเทศที่มีการปรับปรุงใหม่นั้นจะได้เคยมีกฎหมายรับรองสถานะโดยกฎหมายไทยมาแต่ก่อนแล้ว แต่เมื่อองค์การระหว่างประเทศเปลี่ยนไปจากเดิมและแม้จะมีการทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่อ้างอิงสิทธิ์จากกฎหมายที่มีสำหรับองค์การระหว่างประเทศเดิม ก็มิอาจก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายไทยได้
       ตัวอย่างที่ควรพิจารณาคือ กรณีที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Postal Union หรือ APPU) โดยมีศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (the Asian-Pacific Postal Training Centre หรือ APPTC) ตั้งอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงว่าด้วย สิทธิพิเศษของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๒๘(Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Asian-Pacific Postal Union Regarding the Privileges of the Asian-Pacific Postal Training Centre (1985)) กับ APPU เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ อนุวัติการความตกลงดังกล่าว
       ต่อมาในการประชุมของที่ประชุมใหญ่ APPU เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก และให้สำนักงานสหภาพฯ (APPU Bureau) ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันธรรมนูญสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกที่แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และต่อมา กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงทำร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ APPU ว่าด้วยการจัดตั้ง APPU Bureau ในประเทศไทย (Draft Headquarters Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Asian-Pacific Postal Union Regarding the Establishment of the Asian-Pacific Postal Union Bureau in Thailand) พร้อมทั้งเตรียมทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. …. เพื่ออนุวัติการเมื่อร่างความตกลงดังกล่าวได้ลงนามแล้ว
       คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าในร่างความตกลงตามที่ไทยเสนอไปมีความว่า APPU Bureau เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับ APPTC ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ นั้น ตามระบบกฎหมายไทยหนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ ไม่มีผลโดยตรงต่อการใช้บังคับภายในประเทศ นอกจากจะมีกฎหมายรองรับให้ปฏิบัติได้อยู่แล้ว หรือ ตรากฎหมายใหม่มารองรับตามแต่กรณี การให้สิทธิยกเว้นการต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยบางประการต้องไม่ตีความหรือใช้ไปในทางขยายความ จึงไม่อาจถือว่า APPU Bureau เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับ APPTC ถ้าจะให้เป็น นิติบุคคลเดียวกันหรือต่อเนื่องกันก็ต้องตราเป็นกฎหมาย
       นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าเอกสิทธิ์ของ APPTC ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ ไม่อาจนำมาใช้กับ APPU Bureau โดยอนุโลมใช้ เพราะเป็นองค์กรต่างหากจาก APPTC แม้จะเกิดจากการควบรวมกันระหว่าง The Central Office และ APPTC กรณีน่าจะเทียบได้กับการควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือการควบบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต้องจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนใหม่หรือบริษัทใหม่ อีกทั้งเหตุผลและขอบเขตความคุ้มครองของศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ ต่างกับเหตุผลและขอบเขตของความตกลงที่จะทำขึ้นเพื่อตั้ง APPU Bureau จึงไม่อาจจะอนุโลมใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ กับ APPU Bureau ได้ ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรส่วนการที่ APPU Bureau จะใช้เอกสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ ในนามของศูนย์ฯ นั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้กระทำได้ 145
       ประการที่แปด ในกรณีที่เกี่ยวกับการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ (International conventions) ซึ่งก็เป็นหนังสือสัญญาประเภทหนึ่ง ประเทศหนึ่งประเทศใดย่อมจะไม่ออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยอ้างถึงร่างอนุสัญญา แต่ย่อมจะรอคอยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญานั้นเสียก่อน แล้วจึงจะมาดำเนินการออกกฎหมายภายหลัง146
       เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งโดยเนื้อหาต้องมีการมีการปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายอาญา ซึ่งประเทศไทยก็ได้แถลงว่าตราบใดที่ยังมิได้แก้กฎหมายแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะตีความว่าพันธกรณีในการมีกฎหมายในประเทศที่อนุสัญญาฯ ย่อมสอดคล้องกับกฎหมายอาญาไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน147 ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่ได้เข้าเป็นภาคีแล้ว ประเทศไทยจึงจะค่อยมาปรับปรุงกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ มากยิ่งขึ้น
       และประการสุดท้าย ผู้เขียนอาจตั้งข้อสังเกตเชิงเสนอแนะว่า หากรัฐบาลไทยได้ตกลงหนังสือสัญญาใดโดยมิได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภาทั้งที่หนังสือสัญญานั้นต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และต่อมาหลังจากตกลงทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศแล้วรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด148 เพื่อบังคับให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา เช่น หากเป็นการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยการทำหนังสือสัญญาบางฉบับอันเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในจะทำได้หรือไม่
       หากพิจารณาจากตัวบทรัฐธรรมนูญ ย่อมอ้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะรัฐบาลไทยได้ตกลงหนังสือสัญญาใดโดยมิได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จารีตประเพณีรัฐธรรมนูญไทยในลักษณะก็มิได้ปรากฏเป็นที่แน่ชัด149 อีกทั้งไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดของประเทศไทยที่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารกระทำการดังกล่าวได้ แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากการกระทำดังกล่าวสมเหตุสมผล ได้สัดส่วนและเป็นการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศจริงก็สมควรไตร่ตรองว่ารัฐธรรมนูญสมควรเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินดังกล่าวได้หรือไม่ เช่น หากจะพิจารณาไปในแนวทางเดียวกันกับการที่คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาภายหลัง150 ก็อาจให้คณะรัฐมนตรีสามารถขอความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาจากรัฐสภาภายหลังภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขเดียวกัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่สมควรยอมรับได้
       
       เชิงอรรถ
       
       76. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๕.
       77. วิษณุ เครืองาม, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒, หน้า ๖.
       78. ไพโรจน์ ชัยนาม, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๑๓, หน้า ๒๗๓-๒๗๖; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๔๖, หน้า ๒๕๐; Oppenheim, International Law (Robert Jennings and Arthur Watts eds.), 1992, pp. 661-662; Ian Brownlie, Op. Cit., pp. 105-117.
       79. เช่น ประเทศปากีสถานในอดีตที่ตั้งอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอินเดียก่อนจะมีการแยกออกเป็นบังกลาเทศ หรือดินแดนบนเกาะฮาวายซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศสหรัฐอเมริกา
       80. ข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ (United Nations Convention on Law of the Sea 10 December 1982, 1833 UNTS 397); คำอธิบายภาษาไทยดู จุมพต สายสุนทร, ย่อหลักกฎหมายทะเล, ๒๕๓๔.
       81. ตัวอย่าง เช่น เขตแดนไทย-กัมพูชา ปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔), สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗); เขตแดนไทย-ลาว ปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔), ความตกลงสยาม-ฝรั่งเศส (๒๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๔), สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗), อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๖); เขตแดนไทย-พม่า การปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-อังกฤษฉบับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๖๘, สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ค.ศ. ๑๘๗๔, สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ (๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๓),พิธีสาร ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ ; เขตแดนไทย-มาเลเซีย ปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษฉบับลงวันที่๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๙.
       82. เขตแดนทางบกมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๕,๖๕๖ กิโลเมตร ด้านกัมพูชาประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร ด้านลาวประมาณ ๑,๘๑๐ กิโลเมตร ด้านพม่าประมาณ ๒,๔๐๑ กิโลเมตร และด้านมาเลเซียประมาณ ๖๔๗ กิโลเมตร, ข้อมูลจากกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, สิงหาคม ๒๕๔๕, ที่ http://gfmis.mfa.go.th/treaty/MSdoc/KateDan.doc (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑); ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู ข้อมูลจากกองเขตแดนระหว่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม, ที่ http://www.rtsd.mi.th/section/Boundary/Boundary.html (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
       83. เช่น คณะรัฐมนตรีได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าเกี่ยวกับเขตแดนที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก และต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งที่ ๓๑/๒๕๓๔ วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๔.
       84. Hollis, Blakeslee and Ederington, Supra note 31; Anthony Aust, Supra note 33, pp. 145-160.
       85. Constitution du 4 Octobre 1958 Article 53 :
       “Les traités…ceux qui comportent cession, échange ou adjonction de territoire, ne peuvent être ratifiés ou approuvés qu’en vertu d’une loi.
       ... Nulle cession, nul échange, nulle adjonction de territoire n’est valable sans le consentement des populations intéressées.”
       86. Case Concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand), Merits, ICJ Reports 1962, p. 6, ดูคำพิพากษาฉบับเต็มและเอกสารอื่นๆ ได้ที่ http://www.icj-cij.org/docket/ (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
       87. ดู สิริ เปรมจิตต์, สงครามระหว่างไทยกับเขมรและปราสาทเขาพระวิหารของไทย, ๒๕๐๒; เสนีย์ ปราโมช, คดีเขาพระวิหาร, ๒๕๐๕; ประหยัด ศ. นาคะนาท และ จำรัส ดวงธิสาร, ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร, ๒๕๐๕; ลอง ธารา, ข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหารระหว่างกัมพูชากับไทย พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๕, ๒๕๔๑; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๖; หน้า ๑๖๐-๑๖๓ (ดูในเชิงอรรถที่ ๑๕๓).
       88. สนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา (ฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการแทนกัมพูชาโดยสภาพ ณ เวลานั้น) ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๐๔ ใน Pleadings, Oral Arguments, Documents of Case Concerning the Temple of Preah Vihear, ICJ, Volume I, p. 5.
       89. ข้อ๙๓ วรรค ๑ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ :
       “All Members of the United Nations are ipso facto parties to the Statute of the International Court of Justice.”
       90. ข้อ ๓๖ วรรคสองแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ :
       “The states parties to the present Statute may at any time declare that they recognize as compulsory ipso facto and without special agreement, in relation to any other state accepting the same obligation…”
       91. สำหรับผู้สนใจโปรดดู Hugh Thirlway, “Reciprocity in the Jurisdiction of the International Court”, in 15 NYBIL 1984, p. 97; Shabtai Rosenne, The Law and Practice of the International Court 1920-2005, 2006.
       92. Letter of Application Instituting the Proceeding from the Minister-Counsellor of at the Royal Cambodian Embassy in Paris to the International Court of Justice dated 30 September 1959 (undersigned by the Cambodian Minister of Foreign Affairs dated 15 September 1959) ใน หนังสือ Pleadings, Oral Arguments, Documents of Case Concerning the Temple of Preah Vihear Case, ICJ, Volume I Application-Pleadings, p. 4.
       93. Declaration of 20 May 1950 by the Kingdom of Thailand recognizing as Compulsory the jurisdiction of the International Court of Justice :
       "I have the honour to inform you that by a declaration dated September 20, 1929, His Majesty's Government had accepted the compulsory jurisdiction of the Permanent Court of International Justice in conformity with Article 36, paragraph 2, of the Statute for a period of ten years and on condition of reciprocity. That declaration has been renewed on May 3, 1940, for another period of ten years.
       In accordance with the provisions of Article 36, paragraph 4, of the Statute of the International Court of Justice, 1 have now the honour to inform you that His Majesty's Government hereby renew the declaration above mentioned for a further period of ten years as from May 3, 1950, with the limits and subject to the same conditions and reservations as set forth in the first declaration of Sept. 20, 1929."
       94. Case Concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand), Preliminary Objections, ICJ Reports 1961, p. 17.
       95. ปัจจุบันความแพร่หลายของการระงับข้อพิพาทโดยองค์กรตุลาการระหว่างประเทศได้รับความสนใจมาก โปรดดู Cesare P.R. Romano, “The Proliferation of International Judicial Bodies: The Pieces of the Puzzle”, in 31 New York University Journal of International Law and Politics, p. 709; Rosalyn Higgins, “A Babel of Judicial Voices? Ruminations from the Bench”, in ICLQ vol 55, October 2006, pp 791-804; ดูเพิ่ม Proliferation of International Courts and Tribunals (โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก) ที่ http://www.pict-pcti.org (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
       96. The Antarctic Treaty 1959, UNTS 402 1961, p.71; สำหรับผู้สนใจ โปรดดู G. Triggs, The Antarctic Treaty Regime: Law Environment and Resources, 1987; Olav Schram Stokke and Davor Vidas, Governing the Antarctic: The Effectiveness and Legitimacy of the Antarctic Treaty System, 1997
       97. The Antarctic Treaty Article II
       98. The Antarctic Treaty Article IV [territorial claims] :
       “1. Nothing contained in the present Treaty shall be interpreted as:
       (a) a renunciation by any Contracting Party of previously asserted rights of or claims to territorial sovereignty in Antarctica;
       (b) a renunciation or diminution by any Contracting Party of any basis of claim to territorial sovereignty
       in Antarctica which it may have whether as a result of its activities or those of its nationals in Antarctica, or otherwise;
       (c) prejudicing the position of any Contracting Party as regards its recognition or non-recognition of any other State's right of or claim or basis of claim to territorial sovereignty in Antarctica.
       2. No acts or activities taking place while the present Treaty is in force shall constitute a basis for asserting, supporting or denying a claim to territorial sovereignty in Antarctica. No new claim, or enlargement of an existing claim, to territorial sovereignty shall be asserted while the present Treaty is in force.”
       99. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ…ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       
       รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๑๖๒ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ…ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๑๗๘ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ…ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       
       รัฐธรรมนูญฯพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ…ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       
       รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ...ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา...”
       
       100. ดูเพิ่มในเชิงอรรถที่ ๑๐๒.
       101. คำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓ (เน้นคำโดยผู้เขียน), อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๖.
       102. นพนิธิ สุริยะ, ‘ก่อนที่จะมาเป็นมาตรา ๒๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และปัญหาที่ตามมาหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓’, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๒ เล่ม ๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๕; นพนิธิ สุริยะ, ‘หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ : ความหมายและทางปฏิบัติของประเทศไทย’, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๒ เดือนมิถุนายน, ๒๕๔๑; ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ‘ปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติอันเป็นผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ’, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๐ เล่ม ๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๓; ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ‘สนธิสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย’, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘; เกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง, ‘หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ’, เผยแพร่ในเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (นันทวัฒน์ บรมานันท์ บรรณาธิการ) วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙, ที่ http://pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=859 (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
       103. ดู เกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง, เพิ่งอ้าง.
       104. M. Akehurst, ‘Jurisdiction in International Law’, in British Yearbook of International Law, 1972-1973, pp.171-177; A. Lowenfeld, ‘Public Law in International Arena’, 163 Recueil des cours de l’Académie de droit international (1979), p. 321, Oscar Schachter, Supra note 23, 1991, Chapter XII; Meessen, Extra-territorial Jurisdiction in Theory and Practice, 1996; P. Schlosser, ‘Jurisdiction and International Judicial and Administrative Co-operation’, 284 Recueil des cours de l’Académie de droit international (2000); Ian Brownlie; Supra note 20, Chapter 15; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๖, หน้า ๑๔๓ และ ดูบทที่ ๕.
       105. อาทิ หนังสือสัญญา Status of Force Agreement (SOFA) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานิยมใช้ในการเปิดฐานทัพในต่างประเทศ เช่น ในญี่ปุ่น; ดูเพิ่ม Dieter Fleck, The Handbook of The Law of Visiting Forces, 2001; I. R. McConnel, “A Re-examination of the United States-Japan Status of Forces Agreement”, in Boston College International and Comparative Law Review v. 29 no. 1 (Winter 2006), pp. 165-74; Egan, “The Future of Criminal Jurisdiction over the Deployed American Soldier: Four Major Trends in Bilateral U.S. Status of Forces Agreements”, in Emory International Law Review v. 20 no. 1 (Spring 2006), pp. 291-343.
       106. ข้อ ๒๖ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙.
       107. ในเรื่องนี้ หากเกิดกรณีที่เป็นปัญหามาในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่าศาลไทยควรหันมาพิจารณาลักษณะหนังสือสัญญาในทางกฎหมายระหว่างประเทศบางประเภทที่เรียกว่า “Soft Law” หรือกฎหมายที่มีสภาพบังคับยืดหยุ่น ซึ่งเห็นได้ว่าอาจไม่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเสมอไป, ดูเทียบ บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖), เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๔๖ (เรื่อง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘); เรื่อง Soft Law ดู CM Chinkin, ‘The Challenge of Soft Law: Development and Changes in International Law’, 38 ICQL, 1989, p.850; P. Weil, ‘Towards Relative Normativity in International Law’, in 77 AJIL, 1983, p. 413; Alan Boyle, ‘Soft Law in International Law Making’, in International Law (M. Evans ed.), 2006, p. 141.
       108. ดังที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้พยายามอธิบายเหตุและความเป็นมาที่ควรตัดคำว่าเขตอำนาจแห่งรัฐออก และยอมรับว่าตนเองก็เคยเข้าใจความหมายของคำผิดไป ดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๗/๒๕๕๐ เป็นพิเศษ, หน้า ๑๗๔-๑๗๕.
       109. รัฐบาลไทยต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งคือการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาว่า “กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ” ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามแนวปฏิบัติทั่วไปและการยอมรับความเป็นกฎหมายนั้น ได้ยอมรับให้ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจของไทยในกรณีใดบ้างและประเทศไทยควรมีแนวปฏิบัติหรือท่าทีอย่างไร; ดูเพิ่ม M. Akehurst, ‘Custom as a Source of International Law’, in 47 BYBIL, 1974-1975 p. 53; Oscar Schachter, ‘New Custom: Opinio Juris and Contrary Practice’, in Theory of International Law at the Threshold of the 21st Century (J. Makarczyk), 1996, pp. 531-532.
       110. ข้อ๕๖ แห่งอนุสัญญาว่ากฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ :
       “In the exclusive economic zone, the coastal State has:
       (a) sovereign rights for the purpose of exploring and exploiting, conserving and managing the natural resources, whether living or non-living…”
       111. ข้อ ๗๗ วรรคแรก แห่งอนุสัญญาว่ากฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒.
       “…The coastal State exercises over the continental shelf sovereign rights for the purpose of exploring it and exploiting its natural resources….”
       112. ข้อ ๖๐ (๒) แห่งอนุสัญญาว่ากฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒.
       113. ข้อ ๗๙ (๔) แห่งอนุสัญญาว่ากฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒.
       114. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔ วรรคสอง.
       115. ในการอภิปรายในสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกท่านหนึ่งได้อธิบายย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของเขตดินแดน และไม่ใช่เรื่องในทางนามธรรม เช่น เรื่องอำนาจเศรษฐกิจแต่อย่างใด ดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๗/๒๕๕๐ เป็นพิเศษ, หน้า ๑๗๕ และดู คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๒, หน้า ๑๘๕.
       116. Constitution of the Kingdom of Thailand, B.E. 2550 (2007), Managed by Constitution Drafting Commission, Constituent Assembly, Bureau of Committee 3 of The Secretariat of the House of Representatives, Published in the Government Gazette, Vol. 124, Part 27a, dated 24th August B.E. 2550 (2007), at www.senate.go.th/pdf/Constitution2007.pdf, p. 105 (last accessed 30 March 2008).
       117. Unofficial Translation of the Constitution of the Kingdom of Thailand, B.E. 2550 (2007), Foreign Law Bureau, Office of the Council of State, at http://www.asianlii.org/th/legis/const/2007/1.html (last accessed 30 March 2008).
       118. บันทึกเจตนารมณ์ของมาตรา ๑๙๐ ได้ระบุว่า “หนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยต้องมีการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาทุกครั้ง”, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๒.
       119. ในการอภิปรายร่างมาตรา ๑๙๐ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งติดใจถึงเหตุที่ร่างไม่ได้กล่าวถึงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๗/๒๕๕๐ เป็นพิเศษ, หน้า ๑๗๓, ๑๗๕, ๑๗๖ และ ๑๘๒ ก่อนที่จะมีสมาชิกอีกท่านได้ชี้แจงอย่างถูกต้องว่าหากกระทบอำนาจอธิปไตยก็ย่อมต้องพิจารณาว่าต้องออกกฎหมายตามมาหรือไม่, (เรื่องเดิม หน้า ๑๘๓) แต่สมาชิกที่ติดใจท่านเดิมก็ยังยืนยันว่าหากกระทบอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องออกกฎหมาย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามิอาจเป็นเช่นนั้นทุกกรณี.
       120. โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑๙, ๒๐, และ ๑๐๑; ดูเพิ่ม Hugo Grotius, ‘DE JURE BELLI AC PACI BIBRI TRES’ (Book I), in the Classics of International Law (James Brown Scott ed.), vol. 2 Translation by Francis W. Kelsey, 1925, pp. 102-163; Rousseau, L'indépendance de l'Etat dans l'ordre international, 73 Recueil des cours (1948-II), pp. 171-253; Hans Kelsen, Principles of International Law, 1952, pp. 108-110, 155-157, 216-217
       121. ทั่วไป ดู ประจิตต์ โรจนพฤกษ์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕๒, หน้า ๘๗; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๘, หน้า ๖๕; สมพงษ์ ชูมาก, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕๒, หน้า ๙๗; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๖, หน้า ๑๕๑.
       122. ดูเชิงอรรถที่ ๑.
       123. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๔ เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมใน
       คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ (ข่าวที่ ๐๘/๐๗-๑).
       124. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓, มาตรา ๒๙ และ มาตรา ๑๕๐.
       125. International Law Commission, Draft Articles on Responsibility of States for Internationally Wrongful Acts, UN Doc A/56/10(2001) with Commentaries, Yearbook of the International Law Commission, 2001.
       126. ข้อ ๒๖ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙.
       127. United Kingdom Foreign and Commonwealth Office, The Ponsonby Rule (January 2001), at http://www.fco.gov.uk/Files/kfile/PonsonbyRule.pdf (Last accessed 30 March 2008).
       128. ดู Joanna Harrington, หน้า๑๒๖-๑๒๗, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๓๐.
       129. Lord Templeman, ‘Treaty-Making and British Parliament’, in Parliamentary Participation in the Making and Operation of Treaties: A Comparative Study, 1994, p. 153.
       130. European Parliamentary Elections Act 2002, Section 12; P. Barnes, ‘Parliamentary Scrutiny of Policy and Legislation: The Procedures of the Lords and Commons’, in Britain in the European Union: Law, Policy and Parliament (Giddings and Drewry), 2004, pp. 60-96.
       131. United Kingdom House of Commons, Parliamentary Debates, Series 6 vol 4 col WA 82 (6 May 1981).
       132. รัฐธรรมนูญประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. ๑๙๔๖(日本國憲法 หรือ Nihon-Koku Kenpō) มาตรา ๖๑ และ ๗๓.
       133. รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Grundgesetz für die Bundesrepublik Deutschland) มาตรา ๕๙ (๒).
       134. Constitution du 4 Octobre 1958 Article 53 :
       “Les traités…ceux qui modifient des dispositions de nature législative, ceux qui sont relatifs à l’état des personnes…ne peuvent être ratifiés ou approuvés qu’en vertu d’une loi.”
       135. ดู ประจิตต์ โรจนพฤกษ์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕๒, หน้า ๘๗; นพนิธิ สุริยะ, กฎหมายระหว่างประเทศ ๑, ๒๕๓๗, หน้า ๑๒๑; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๘, หน้า ๖๕; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๖, หน้า ๑๕๒; สมพงษ์ ชูมาก, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕๒, หน้า ๙๗.
       136. เช่น กรณีที่มีประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ได้แถลงตีความคำว่า “Torture” ให้สอดคล้องตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย "…With respect to the term "torture" under Article 1 of the Convention, although there is neither a specific definition nor particular offence under the current Thai Penal Code corresponding to the term, there are comparable provisions under the aforesaid Thai Penal Code applicable to acts under Article 1 of the Convention. The term "torture" under Article 1 of the Convention shall accordingly be interpreted in conformity with the current Thai Penal Code…”, ดู 1465 UNTS 85.
       137. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๓/ว.๒๐๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๖; ดู บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒), เรื่องเสร็จที่ ๖๗/๒๔๙๓ (เรื่อง บันทึกเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการความรับผิดในกรณีที่อากาศยานได้ก่อให้เกิดความความเสียหายแก่บุคคลที่สามบนพื้นดิน); บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓), เรื่องเสร็จที่ ๒๐๖/๒๔๙๔ (เรื่อง อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้าบุคคล); บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑), เรื่องเสร็จที่ ๔๙๖/๒๕๒๗ (เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗); บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓), เรื่องเสร็จที่ ๔๙/๒๕๓๐ (เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยอมรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ออกโดยประเทศอาเซียน)
       138. เช่น ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือเกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ (Hague Convention on the Protection of Children and Cooperation in respect of Inter-country Adoption) อาจมีกรณีที่ศาลต้องพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวเพื่อเลือกใช้ระหว่างกฎหมายของประเทศครอบครัวเดิมของบุตรบุญธรรม หรือกฎหมายของประเทศผู้รับบุตรบุญธรรม
       139. บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑), เรื่องเสร็จที่ ๒๕๙/๒๕๔๘ (เรื่อง การรับบุตรบุญธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก)
       140. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๗/๒๕๐๘; คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๘-๑๔๒๙/๒๕๑๒.
       141. บันทึกความเห็นกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๗), เรื่องเสร็จที่ ๒๔๖/๒๕๒๔ (เรื่อง พระบรมราชโองการให้ใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา).
       142. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๑๖๒ วรรคสอง :
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       143. บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖), เรื่องเสร็จที่ ๔๑๓/๒๕๒๖ (เรื่อง วิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย).
       144. บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา, เรื่องเสร็จที่ ๔๗๑/๒๕๒๒ (เรื่องการคงอัตราภาษีศุลกากร [Binding]).
       145. บันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖), เรื่องเสร็จที่ ๒๘/๒๕๔๖ (เรื่อง สถานภาพนิติบุคคลของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก).
       146. บันทึกความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓), เรื่องเสร็จที่ ๒๐๖/๒๔๙๔ (เรื่อง อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้าบุคคล).
       147. อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๓๖
       148. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง :
       “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
       การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้…”
       149. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗.
       150. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๔ วรรคสาม :
       “ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะ เป็นการชักช้าคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา อนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่ง หนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น”


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1217
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)