|
|
ครั้งที่ 185 28 เมษายน 2551 02:21 น.
|
ครั้งที่ 185
สำหรับวันจันทร์ที่ 28 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2551
เป้าหมายที่แท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นประเด็นร้อนที่วิพากษ์วิจารณ์กันทุกส่วนของสังคมไทย จนถึงวันที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังไม่ นิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีใดและแก้ไขในเรื่องอะไรบ้าง เหตุผลสำคัญประการเดียวที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่นิ่ง ก็เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มิได้เกิดจากเป้าหมายที่แน่นอนชัดเจนตั้งแต่แรก แต่เกิดจาก ปัญหา ของนักการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหา ส่วนตัว เพียงประการเดียวจะสร้างกระแสไม่พอใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดการ โยนหินถามทาง จากฝ่ายการเมืองมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือประเด็นต่างๆในรัฐธรรมนูญที่จะต้องถูกแก้ไข ซึ่งผมเดาเอาว่าในที่สุดแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คงจะต้องทำการแก้ไขใหญ่ที่แทบจะเรียกได้ว่าแก้ไขทั้งฉบับเพื่อให้ดู ชอบธรรม มากกว่าการแก้ไขบางมาตราเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ส่วนองค์กรใดจะเข้ามาแก้ไขนั้นผมยังไม่แน่ใจว่าในที่สุดแล้วจะเกิดองค์กรประเภท สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เพราะในวันนี้ก็มีคนพูดกันมากถึงรูปแบบขององค์กรที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วผมได้นำเสนอรูปแบบขององค์กรที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 2 รูปแบบซึ่งก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรถึงความเป็นไปได้หรือความเหมาะสมของการตั้งองค์กรในลักษณะดังกล่าวที่มีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ในข้อเสนอของผมนั้น ผมมองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ที่ในตอนนั้นมีการ ปฏิเสธ ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แต่กลับให้บุคคลที่อยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 เข้าไปมีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา เราจึงเห็นการวางกรอบให้กับนักการเมืองอย่างเข้มงวดในขณะที่บทบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างมากเช่นกัน
จากประสบการณ์ครั้งล่าสุดนี้เองที่ทำให้ผมเสนอรูปแบบขององค์กรที่จะเข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่เหมาะสมที่สุดคือต้องไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียทางตรงในรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นผู้จัดทำเพราะมิฉะนั้นจะเกิดอาการ พลิกผัน ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่พอใครเป็นผู้เข้ามายกร่างก็จะดึงทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่ตนเองหรือองค์กรของตนเอง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมี แนวคิด พื้นฐานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆตามใจผู้ร่างรัฐธรรมนูญครับ!!!
ในวันนี้ เราคงเห็นกันแล้วว่าการเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการแก้ไขเพื่อตัวเองหรือไม่ก็เป็นการแก้ไขเพื่อหนีการถูกยุบพรรคการเมือง ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะฝ่ายรัฐบาลนั้นภายหลังชนะการเลือกตั้งเข้ามาก็ นิ่ง กับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ในตอนที่มีการรณรงค์ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 นั้น กลุ่มพรรคไทยรักไทยเดิมเป็น หัวหอก ของการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงระบบการเลือกตั้งที่ย้อนกลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวที่มีความไม่เหมาะสมและสร้างปัญหาหลายๆประการ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็มีเสียงบ่นถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้อย่าง ละเอียดเกินไป จนรัฐบาลแทบจะเขียนนโยบายแท้ๆของตนเองไม่ได้เลย จากนั้นเมื่อมีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งวุฒิสภา เสียงวิจารณ์ก็เริ่มมากขึ้นเพราะสมาชิกวุฒิสภาส่วนที่มาจากการแต่งตั้งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับประชาชนตามทฤษฎีตัวแทน ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนที่มาจากการเลือกตั้งก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเพราะมีการเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งทำให้แต่ละจังหวัดไม่ว่าจะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่หรือจังหวัดขนาดเล็กมีตัวแทนของตนได้เท่ากันคือจังหวัดละคนเดียว เหตุต่างๆหลายๆเหตุที่กล่าวไปล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่มีที่มาจากความบกพร่องของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ทั้งสิ้น แต่เหตุเหล่านี้ก็มิได้ ดึงดูดใจ ให้ นักการเมือง ที่มีอำนาจเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปรับบทบัญญัติเหล่านั้นให้มีความเหมาะสม พอมามีประเด็นเรื่องพรรคการเมืองจะถูกยุบเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีความ เข้มงวด มากเกินไป ก็เลยเกิดการดำเนินการต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีเสียงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขึ้นเพราะความรู้สึกของตนส่วนหนึ่งแล้วการเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่การแก้ไขเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองบางพรรคจะต้องพบกับ วิบากกรรม อย่างที่พรรคไทยรักไทยและกรรมการบริหารพรรค 111 คน ได้เคยพบมาแล้วครับ !!!
ผมพยายามตั้งคำถามว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คืออะไร ประชาชนจะได้อะไรบ้างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนักการเมืองจะได้อะไรบ้างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำตอบที่ได้ค่อนข้างชัดเจนคือประชาชนคงไม่ได้อะไรโดยตรงเลยจากการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพราะประเด็นที่จะขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะ เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองอย่างเต็มที่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเหล่านั้นมีบางส่วนที่มีความ เกี่ยวข้อง กับคดีหรือข้อพิพาทที่กำลังมีอยู่เริ่มจากการเสนอขอแก้ไขมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่โดยส่วนตัวแล้วแม้ผมจะเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเกินไปเพราะพรรคการเมืองมีความเป็น สถาบัน อยู่ในตัวเองซึ่งความเป็นสถาบันนั้นทำให้พรรคการเมืองควรจะมีความต่อเนื่องทั้งทางด้านองค์กรและด้านอุดมการณ์ การยุบพรรคการเมืองจึงควรทำได้อย่างจำกัดและทำเฉพาะที่เป็นความผิดร้ายแรง เช่น เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นต้น แต่การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ครั้งนี้มิได้เกิดจากการศึกษาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและนักการเมืองในภาพรวมแล้วพบข้อบกพร่องจึงเสนอขอแก้ไข กลับเกิดจากนักการเมืองไปทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เหมาะสมเข้าจึงเสนอขอแก้ไขบทบัญญัติที่มีความไม่เหมาะสมนั้น ซึ่งพูดกันประสาชาวบ้านก็คงหนีไม่พ้นว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ครั้งนี้ก็เพื่อหนีการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ สิ่งที่เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปก็คือ ผลของการแก้ไขมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญจะย้อนหลังไปใช้กับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ สิ่งนี้จะพิสูจน์เจตนาที่แท้จริงของการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อใครครับ
ผมอยากจะขอฝากเรื่องสำคัญเอาไว้สองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เรื่องแรกก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญครับ จริงๆแล้วในตอนต้นของบทบรรณาธิการครั้งนี้และในบทบรรณาธิการครั้งที่ 178 ที่ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วในระหว่างวันที่ 21 มกราคมถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 ผมได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มีคนที่มาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 เข้าไปในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางส่วน จึงทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางแห่งยังคง มีอยู่ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และนอกจากนี้ก็ยังทำให้ คนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 กำหนด ซึ่งถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ผมอยากจะให้ให้ความสำคัญกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญในสองเรื่องด้วยกันครับ เรื่องแรกก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ใหม่จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคดีและข้อพิพาททั้งหลายที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการขององค์กรเหล่านั้น เพราะมิฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็จะหมดความสง่างามลงไปในทันทีเพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหนีความผิดที่ได้มีการกระทำลงไปครับ ส่วนเรื่องที่สองนั้น จากข่าวที่ปรากฏออกมาว่าจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาเป็นต้นแบบในการแก้ไข ในส่วนของวิธีการได้มาซึ่งบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ทำให้เราได้บุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางเพียงพอจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในระบบ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐประสบความล้มเหลวและเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีการนำไปอ้างเป็นเหตุในการทำรัฐประหารครับ ส่วนเรื่องที่สองที่ผมจะขอฝากเอาไว้ก็คือ เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมควรที่จะทำการ ล้มกระดาน เพื่อเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดครับ เริ่มตั้งแต่ต้องมีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสิ้นอายุลงทันทีหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาโดยเร็วและควรทำในวันเดียวกันเพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เมื่อได้สภาทั้งสองเข้ามาแล้วก็ต้องรีบจัดให้มีกระบวนการได้มาซึ่งบุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเร็วเช่นเดียวกันครับ การล้มกระดานจะทำให้เราเข้าสู่กระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อที่จะได้ส่งผลให้การดำเนินการต่างๆตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปอย่างถูกต้องชัดเจนและไม่มีข้อครหาครับ
คงต้องขอจบเรื่องรัฐธรรมนูญเอาไว้เพียงเท่านี้ครับ วันนี้สังคมแบ่งข้างกันมากเหลือเกิน เขียนอะไรไม่ถูกใจใครหน่อยก็ถูกว่าเสียๆหายๆว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ในบางครั้งเมื่อนักวิชาการให้ความเห็นตามหลักวิชาการ แต่ความเห็นนั้นมีผลไปสนับสนุนการดำเนินการต่างๆของฝ่ายหนึ่งก็ถูกหาว่าเป็นพวกของฝ่ายนั้น พอต้องให้ความเห็นทางวิชาการในอีกเรื่องหนึ่งตามหลักวิชาการเช่นกันแต่กลับกลายเป็นความเห็นที่มีผลไปสนับสนุนการดำเนินการต่างๆของอีกฝ่ายหนึ่งก็ถูกหาว่าเป็นพวกของอีกฝ่ายหนึ่ง เลยถูกหาว่าเป็นนักวิชาการที่ไม่มีจุดยืน ถามจริงๆเถอะครับ จุดยืนหรือความเป็นกลางนั้นคืออะไร อยู่ที่การตัดสินใจเลือกข้างหรืออยู่ที่เหตุผลทางวิชาการที่นำมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่ในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกันครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส" พร้อมด้วย "คำแปลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง" ส่วนเรื่องที่สอง คือบทความเรื่อง "การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา" (ตอนที่1) ทีเขียนโดย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ครับ
ผมจะเดินทางไปฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อสอนหนังสือที่เมือง Aix-en Provence โดยผมจะกลับมาถึงประเทศไทยปลายเดือนพฤษภาคม ครับ หากมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจผมจะเก็บมาเล่าให้ฟังครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1215
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|