บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

17 มีนาคม 2551 01:23 น.

       หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่มีการนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 มาศึกษาวิเคราะห์ ผู้เขียนคือ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี รูปสุวรรณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา ได้แบ่งการนำเสนอเป็น 2 ส่วนคือ บทวิเคราะห์สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) เฉพาะคำปรารภถึงหมวด 5
       
       ในส่วนแรก ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2550 โดยเปรียบเทียบกับองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญฉบับในอดีตของไทย และวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กับ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทั้งได้วิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอแนะองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ตลอดจนนำเสนอรูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของผู้เขียนเองด้วย
       
       ในส่วนที่สอง ผู้เขียนได้วิเคราะห์เนื้อหาสาระของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในตอนต้นคือ คำปรารภถึงบทบัญญัติหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยผู้เขียนได้ให้ “ข้อสังเกต” ต่อบทบัญญัติของมาตราสำคัญ ๆ ที่มีประเด็นอันควรแก่การศึกษาวิเคราะห์ โดยอธิบายว่ามีหลักการใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 อย่างไรบ้าง เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ทั้งยังได้เสนอบทบัญญัติที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมไว้ด้วย
       
       หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการศึกษาเปรียบเทียบข้อเด่น – ข้อด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550 ตลอดจนการนำเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ต่อไป
       
       ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1201
เวลา 3 พฤษภาคม 2567 11:12 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)