|
|
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๗) 3 มีนาคม 2551 16:17 น.
|
ในบทความนี้ ผู้เขียนได้นำ ตัวอย่างของกฎหมายต่างประเทศที่มี คุณภาพมาให้ผู้อ่านได้รับทราบไว้แล้วเพื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของไทย เช่น กฎหมายว่าด้วยการค้าของสหรัฐอเมริกา Section 301 ; และเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ ผู้เขียน ผู้เขียนก็ได้กล่าวถึง ตัวอย่าง ของ เอกสารประกอบร่างกฎหมายของไทย ที่ต่ำกว่า มาตรฐานสากลอย่างมาก คือ คำชี้แจง สาระสำคัญ ของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ นานาอาชีพ ในปีที่แล้วมา( พ.ศ. ๒๕๕๐) ; คำชี้แจงฯนี้ ถือว่า เป็นเอกสารทางวิชาการกฎหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เท่าที่เราเคยมีมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เพราะเป็น เอกสารที่จัดทำขึ้นสำหรับเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป(ในการทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่) เพื่อการออกเสียงประชามติ referendum ที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ; เอกสารนี้ เป็นเอกสารที่จัดเตรียม (ทำ)โดยนักกฎหมายในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าเป็น นักกฎหมายที่เก่งที่สุดและดีที่สุดของประเทศไทยที่ประเทศไทยจะพึงมี เพราะเป็นนักกฎหมายที่คัดสรรมาจากบรรดานักกฎหมายจำนวนมากของเรา ; แต่ปรากฏว่า นักกฎหมายของเรา ทำได้เพียงเท่าที่เห็นอยู่ใน เอกสารคำชี้แจง ฯ ดังกล่าว ; และถ้าท่านผู้อ่านท่านใดมีโอกาส ก็ขอได้โปรดไปอ่าน เอกสารประกอบร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วที่เขาเขียนกันเป็นปกติ ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า ความรู้ของนักกฎหมายไทย อยู่ในระดับใด
และนอกจากนั้น คณะปฏิรูปการปกครองควรต้องทราบด้วยว่า ความคิดของนักร่างกฎหมายแบบไทย ๆ ที่คิดจะเขียนรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร) กำหนดให้ สภานิติบัญญัติมีองค์ประกอบ(บุคคล)สมาชิก ที่เป็นนักกฎหมาย (ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการแต่งตั้ง) มาช่วยพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติ เพื่อให้กฎหมายมีคุณภาพดีขึ้นนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เขา)เลิกความคิดเช่นนี้ไปนานแล้ว
สมาชิกสภานิติบัญญัติ(ของเขา )เป็นสถาบันการเมืองที่มีหน้าที่สำคัญสำหรับการพิจารณากฎหมายในด้านนโยบายและหลักการ ; แต่การควบคุม คุณภาพและ ประสิทธิภาพของการออกแบบกลไกในร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะขึ้นอยู่กับ ระบบการทำ บันทึกประกอบร่างกฎหมาย ที่จัดทำโดยนักกฎหมายในระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีหน้าที่ต้องวิเคราะห์และให้ ความเห็น(ทางกฎหมาย) อย่างเป็นกลาง และมีมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการ หมกประเด็น ทั้งของนักการเมืองและของข้าราชการประจำในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (ไว้ในร่างกฎหมาย ) [โปรดย้อนไปดู Legislation Handbook ของออสเตรเลีย ที่ผู้เขียนนำมายกให้ดูเป็น ตัวอย่าง ในตอนต้น ๆ ของบทความนี้]
บันทึกประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ เป็นบันทึกที่ต้อง เปิดเผยต่อสาธารณะ และต้องเสนอต่อสภานิติบัญญัติพร้อมกับการเสนอร่างกฎหมาย ; งานการร่างกฎหมายในโลกปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นเทคนิคทางวิชาการ ที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า เกินกว่า ความสามารถของนักกฎหมาย(ไทย)ในขณะนี้ จะทำได้ ; ทั้งนี้ โดยผู้เขียนประเมินได้จาก การเปรียบเทียบ ระหว่าง ผลงานวิจัยในระดับที่นักวิชาการทางกฎหมายของเราได้รับทุนอุดหนุนจากแหล่งต่าง ๆและพิมพ์เผยแพร่อยู่ในขณะนี้ กับ เอกสารประกอบร่างกฎหมายที่นักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วจัดทำเป็นปกติในการเสนอร่างกฎหมาย(ของเขา)ต่อสภานิติบัญญัติ(ของเขา) ; และผู้เขียนเห็นว่า บรรดานักกฎหมายของเราที่ชอบชี้แจงด้วยวาจา แต่ไม่ยอมหรือไม่กล้าเขียนความเห็นของตน ออกมาเป็นเอกสารที่เป็นบันทึกลายลักษณ์อักษร (เพื่อให้สาธารณะได้ ตรวจสอบความรู้) ย่อมไม่อาจนับว่าเป็น ผู้เชี่ยวชาญ(กฎหมาย)ได้ เพราะการที่จะรู้ว่า กฎหมายฉบับใด เป็นกฎหมายที่ดีหรือไม่ดี คงมิใช่เป็นเรื่องของการโต้เถียง หรือการโต้วาที หรือการออกรายการทีวี
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ มองไม่เห็นความสำคัญของ ภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร เสียแล้ว ดังนั้น ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ย่อมไม่มี ความรู้ พอที่จะคิดไกลไปถึงบทบาทของตนเองในการประสานงานระหว่างสถาบันและองค์กรสำคัญ และ การรวมศูนย์การร่างกฎหมาย ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ (๓) นี้
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน( ในช่วงเวลาอันจำกัด )นี้ ยากกว่า ภารกิจ การจัดให้มีรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับใหม่ เพราะมีปัญหาอย่างหลากหลาย ; และการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารในบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการวางรูปแบบ form of government ในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่เสียอีก เช่นเรื่อง การแก้ไขสภาพพิกลพิการของ กระบวนการยุติธรรมในทางอาญา ของประเทศไทย เป็นต้น ; แต่การที่บทความนี้ พูดถึงเฉพาะ เรื่อง form of government ในรัฐธรรมนูญ ( ฉบับถาวร ) ก็เพราะว่า ปัญหาเรื่อง form of government เป็นเรื่องที่ สำคัญที่สุดในการกำหนดระบบสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ; และถ้าสมมติว่า รัฐธรรมนูญไทยมี ระบบสถาบันการเมืองที่ดีแล้ว เรา(คนไทย)จึงค่อยคิดแก้ กฎหมายในเรื่องอื่นต่อไป
ผู้เขียนหวังอยู่ว่า า เมื่อใด ที่นักกฎหมายและนักวิชาการไทย สามารถพัฒนา วิธีคิดของตน ให้เป็นไปหลักตรรก logic ของกฎหมายมหาชนที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา( ศตวรรษที่ ๒๐) และเลิก สอนคนไทย ว่า ระบบเผด็จการ (ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญของไทย ที่มีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้อำนาจพรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค / ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกนี้ เป็นระบอบประชาธิปไตย ; เมื่อนั้น ประเทศไทยจึงจะแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น(ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ได้ [ หมายเหตุ :- ผู้เขียนจะได้กลับมากล่าวถึง ปัญหาการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับระบบบริหารประเทศ นี้อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่ (๓) ว่าด้วยขอบเขตของ การปฏิรูปการเมือง ของประเทศ(ด้อย)กำลังพัฒนา เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจโดยสังเขปว่า กฎหมายอะไร ที่เป็น ( กฎหมาย ) ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ และกฎหมายของประเทศไทย มีความพิกลพิการอย่างไร จึงเป็นสาเหตุของการทุจริดคอร์รัปชั่นได้ โดยไม่สิ้นสุด ]
ภารกิจในการทำรัฐประหาร ทั้งในด้านการจัดให้มีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ และในด้านการบริหารราชการแผ่นชั่วคราวในระหว่างการทำรัฐประหาร (ซึ่งรวมถึงการเริ่มต้นการปฏิรูปกฎหมายในระบบบริหารประเทศ) มิใช่เป็นสิ่งที่ทำให้สำเร็จได้โดยง่าย แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นภารกิจที่จำเป็นจะต้องทำ ก่อนที่ประเทศจะล้มละลายทรัพยากรของชาติจะหมด เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น และสายเกินไปที่จะ ปฏิรูปการเมือง ; แต่ในการที่จะทำให้ภารกิจ ฯ สำเร็จได้ คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องเสียสละ คือ ต้องไม่คิดสืบทอดอำนาจ และในระหว่างการบริหารประเทศชั่วคราว คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใส และไม่แสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง เพื่อแสดงความจริงใจ และทำให้ประชาชนมีความศรัทธาและเชื่อถือ
สรุปโดยรวม ในหัวข้อ elite ประเภทที่ (๑) ของสังคมไทย (นักการเมือง(จำเป็น)ที่ได้อำนาจรัฐมาด้วย การรัฐประหาร)
ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ความล้มเหลวของการปฏิบัติตามภารกิจนี้ สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้าตั้งแต่ระยะแรกของการรัฐประหาร (วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) คือ สามารถทราบได้ตั้งแต่วันที่คณะปฏิรูปการปกครองประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ (วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙) คือ ๑๑ วันหลังการรัฐประหาร เพราะ สาระ ของระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าว ไม่มีความสัมพันธ์กับ ภารกิจของการรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงได้กลายเป็น เตรื่องมือที่ทำลายตนเอง และเป็น สิ่งที่สลายความเข้มแข็งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการแก้ปัญหาประเทศในช่วงของการรัฐประหาร(ถ้าคิดจะแก้) และในขณะเดียวกัน ก็ทำลายความหวังของคนไทย ในการปฏิรูปการเมือง
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีสิทธิที่จะไปตำหนิสถาบันใดหรือองค์กรใด ไม่ว่า จะเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ / นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี/ หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะสถาบันหรือองค์กรเหล่านี้ เป็น สิ่งที่ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯได้เป็นผู้จัดตั้งขึ้นมาเอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่มีสิทธิแม้แต่จะไปตำหนิ นักกฎหมายที่มาช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว เพราะในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครอง ถูกสันนิษฐานว่า (ควร)จะต้องมี ความรู้ (พื้นฐาน) พอที่อ่านและทราบล่วงหน้าได้ว่า รูปแบบการจัดองค์กร ของ สถาบันตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙นั้น ไม่สามารถที่จะปฎิบัติ ภารกิจของการรัฐประหารให้ลุล่วงไปได้
ขณะนี้ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้เขียนคิดว่านักการเมือง(จำเป็น)ที่บังเอิญได้อำนาจรัฐมาด้วยการ รัฐประหาร คงจะมีเวลาว่างพอที่จะกลับไปพิจารณาทบทวนได้ว่า การปฏิรูปการเมืองนั้น มิใช่เป็นเพียงการแต่งตั้ง คตส. เพื่อตรวจสอบความผิดของอดีตนักการเมืองที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่น( ซึ่งยังคงค้างคาราคาซังอยู่ในขณะนี้ และยังไม่ทราบว่า เมื่อมี คณะรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมแล้ว การดำเนินการ ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป จะเป็นอย่างไร) และ
การปฏิรูปการเมือง ก็คงไม่ไช่เป็นเพียงการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามแต่จะมีผู้เสนอชื่อ หรือการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แล้วปล่อยให้ สถาบันเหล่านี้ทำงานโดยอิสระอย่างปราศจาก จุดหมาย
แต่การปฏิรูปการเมือง หมายถึง การที่จะสร้าง ระบบสถาบันการเมืองใหม่ เพื่อทำให้การบริหารประเทศในอนาคต มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ (ขจัดหรือลดการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง) ที่จะต้องเป็นหน้าที่ของทุกสถาบันและทุกองค์กรของประเทศ ซึ่งจะต้องทำงานโดยมีจุดหมายร่วมกันและมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการทำให้สำเร็จ
การเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็น สิ่งที่ยืนยันความล้มเหลวของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ คณะปฏิรูปการปกครองฯ) ได้นำคนไทยกลับมาสุ่ ที่เดิม ณ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ก่อนมีการรัฐประหาร
ผู้เขียนไม่ทราบว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ (นักการเมือง - จำเป็น) มีความรู้สึกอย่างไร ในกรณีที่เอกสารลับ ของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คมช. (คณะปฏิรูปการปกครองฯ เดิม) ถูกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งนำไปยื่นให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณาว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกระทำผิดกฎหมายเพราะไม่วางตัวเป็นกลางในทางการเมืองในการเลือกตั้ง ( เอกสารลับ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐ เลขที่ คมช. ๐๐๓.๕/ ๔๘๐ และบันทึกปะหน้า เอกสารลับและด่วนมาก ของ ศปก.ทบ. ที่กห. ๐๔๐๗ / ๔๘๐ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐) และ นี่เป็นเพียง ตัวอย่างกรณีเดียวในขณะนี้ ; แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ต่อไปข้างหน้า เมื่อมี รัฐบาลชุดใหม่ประกอบกับการพิกลพิการในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ถ้าท่าน (นักการเมือง - จำเป็น) ยังจะ (คิด) ทำอะไรต่อไป ที่ขัดประโยชน์ของ พรรคการเมืองที่ได้เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ท่าน(นักการเมือง - จำเป็น)ได้ยกร่างขึ้นมาเอง บางทีท่าน(นักการเมือง - จำเป็น)ก็อาจจะพบว่า มีกรณี ตัวอย่างที่เกี่ยวกับตัวท่านเอง ปรากฎขึ้นอีกหลายกรณี
ในท้ายที่สุดนี้ จากข้อเท็จจริงที่ได้พิจารณามาแล้ว ได้แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ภารกิจในการรัฐประหารของตนเอง ( ทั้งในด้านการจัดหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือการปฏิรูปการเมือง และในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน) เพื่อแก้ไข สาเหตุของปัญหาวิกฤตทางการเมือง ที่คณะปฏิรูปการเมืองฯ เองได้อ้างมาเป็น เหตุผลเพื่อแสดงความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ผู้เขียนจีงขออนุญาตสรุปความเห็นด้วยความสุจริตใจว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีทั้งความรู้ และไม่มีทั้งความเสียสละ พอที่จะเข้ามาทำการ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ในอนาคต ใครก็ตาม ที่คิดจะ ปฏิรูปการเมืองให้แก่คนไทย ไม่ว่าจะโดยวิธีการรัฐประหารหรือโดยวิธีการอื่นใด ผู้เขียนก็ขอให้ประเทศไทยโชคดี ได้บุคคลที่มี ความรู้และมี ความเสียสละ อันเป็นคุณลักษณะของ statesman มากกว่าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ชุดนี้(มี)
วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันสิ้นสุดของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความตอนนี้( เดือนกุมภาพันธ์ ) ก็ปรากฏว่า ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีการประชุมกันเพื่อแถลงข่าวการสิ้นสุดของตนเอง ซึ่งได้ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และต่อมาปรับเปลี่ยนเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช. ) ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ; คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้สิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ รวมเป็นเวลาที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ดำรงอยู่ ๑๖ เดือน ๑๘ วัน ( หรือรวมเป็นวันทั้งหมด ๕๐๕ วัน )
คณะปฏิรูปการปกครอง (โดยผู้รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ) ได้แถลงขออภัยในการทำงานครั้งนี้ ที่ไม่ได้ผลตามเป้า และได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา คมช. มิได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ ทั้งฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ เพื่อให้การคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างเรียบร้อย และเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด
ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เขียนไม่ประหลาดใจที่ได้ฟังคำพูดของท่านผู้รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กล่าวเช่นนั้น เพราะเป็นคำพูดที่ตรงกับ ข้อวิเคราะห์ของผู้เขียนที่ได้เขียนไว้ในข้อ (ก)นี้ ว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ทำการรัฐประหาร โดยไม่รู้ ปัญหาของประเทศและไม่มีความรู้ และ ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงไม่สามารถกำหนด จุดหมาย อันเป็นภารกิจของการรัฐประหาร เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ในช่วงของการบริหารประเทศ(ชั่วคราว)ในระหว่างที่มีการรัฐประหารได้
ท่านผู้รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวว่า .... ที่ผ่านมา คมช. มิได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ ทั้งฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และ (ฝ่ายตุลาการ )...... ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่านผู้รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้ยืนยันว่า ในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่มี จุดหมายในการบริหารประเทศ(ในช่วงของการทำรัฐประหาร) เพื่อแก้ปัญหา(ประเทศ)อันเป็นสาเหตุของการรัฐประหาร แต่อย่างใด และดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ (หรือ คมช.)จึงมีความตั้งใจ ที่จะไม่ไปก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ; โดยเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลขึ้นแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ปล่อยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลดำเนินการโดยอิสระ สถาบันทั้งสองสถาบันจะทำงานได้ผลงานมาอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น สถาบันทั้งสองสถาบันจะแก้ปัญหา(ความเสื่อมของการบริหารประเทศ) อันเป็น สาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ต้องมีการรัฐประหารได้หรือไม่ ก็มิใช่ความสนใจของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ
นอกจากนั้น คำพูดของท่านผู้รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ยังเป็นการแสดงให้ ได้ทราบว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่มี ความรู้พอที่จะคาดหมายได้ว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่คณะปฏิรูปการปกครองได้นำมาใช้บังคับนั้น ไม่มีคุณภาพ และ(จะ)เป็นสาเหตุ ที่นำคนไทยกลับมาสู่สถานการณ์เดิมก่อนการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ; ผู้เขียนเห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่จำเป็นจะต้องขออภัยในการทำงานครั้งนี้ ที่ไม่ได้ผลตาม เป้า เพราะตามความจริงแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ มิได้มี เป้าในการทำงานแต่อย่างใด
ผู้เขียนขอเรียนว่า การคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและเป็นธรรม สมตามความปรารถนาของคณะปฏิรูปการปกครองฯ คือ การคึนอำนาจ ฯ ได้ทำให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมก่อนการรัฐประหารทุกประการ กล่าวคือ ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ถูกยกเลิกไปเพราะการรัฐประหาร) ใช้ระบบเผด็จการ ฯ โดยพรรคการเมือง และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ยังคงใช้ระบบเผด็จการ ฯ โดยพรรคการเมืองอยู่เช่นเดิม ; และ ประการที่สอง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เราก็ยังคงมีพรรคการเมืองพรรคเดิมก่อนการรัฐประหารได้รับเลือกตั้งเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐเหมือนเดิม (เพียงแต่เปลี่ยน ชื่อพรรคบ้างเล็กน้อย) ; และประการที่สาม สำหรับนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) เราก็ยังคงมีนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)หน้าเดิม ๆ พร้อมทั้งบุตรภริยาพี่น้องของนักการเมืองหน้าเดิม ๆ กลุ่มเดียวกับกลุ่มก่อนมีการรัฐประหาร ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
คำถามมีว่า ถ้าทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำการรัฐประหารมา เพื่ออะไรกันแน่ (?)
ต่อจากนี้ ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านลองไปพิจารณาศึกษาถึง สภาพ ( คุณภาพ และ ความรู้ ) ของeliteของสังคมไทย อีก ๓ ประเภท คือ ในข้อ ( ข ) จะวิเคราะห์ นักวิชาการในวงการกฎหมายของเรา ; ในข้อ ( ค ) จะว่าด้วย นายทุนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น); และ ในข้อ ( ง ) จะพูดถึง นักวิชาการไทย ประเภท the philosophes โดยผู้เขียนจะได้ให้ข้อคิดเห็น อย่างสั้นๆ เพื่อพอเป็นพื้นฐานในการคาดคะเน อนาคตของประเทศไทย ที่มีพลเมืองอยู่ ๖๓ ล้านคน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทย ที่จะต้องอยู่ภายใต้ การนำของ elite ๓ ประเภทนี้ และ ไม่รู้จะหนีไปไหน
บทสุดท้าย (ของ ข้อ (ก)) : อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปในข้อ ( ข ) ว่าด้วย elite ประเภทนักวิชาการในวงการกฎหมายของเรา บังเอิญเมื่อเร็วๆ นี้ ( ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ) ผู้เขียนได้ไปอ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับ ลงข่าวเกี่ยวกับ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ได้ไปกล่าว สุนทรพจน์พิเศษ ในงานเสวนาทางวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เรื่อง บทเรียน เลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
สุนทรพจน์ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้เป็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นสมควรถ่ายทอดมาให้ท่านผู้ฟังได้รับทราบไว้ด้วย ; ท่านกล่าวว่า ....... รัฐธรรมนูญถึงจะดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าผู้ที่จะมาใช้ช่องโหว่เป็นคนฉลาด เก่งแกมโกง ตั้งใจมาโกง ก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ให้ตัวเองได้ โดยไม่มีใบเสร็จ ......ผมขอให้อย่าหลงรัฐธรรมนูญ ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า แม้ประชาธิปไตย คือ เสียงข้างมาก แต่ถ้าเสียงข้างมากไม่ดี เป็นเสียงเลว ๆ ประเทศชาติจะรอดพ้นไปได้อย่างไร จึงได้เสนอคำว่า ธรรมาธิปไตย หมายถึงประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ต้องมีธรรมะในใจ ...........วันนี้ เราต้องยอมรับว่า เรากลับไปตั้งอยู่ที่จุดเดิมเมื่อปีกว่ามาแล้วหรือเมื่อ ๖-๗ ปีที่แล้ว จะโทษใครไม่ได้ แต่ถ้าจะโทษ คงต้องโทษสังคมไทยทั้งสังคม......... คำว่า ประชาธิปไตยนั้น ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ของตนเอง สังเกตได้จากประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ต่างๆ ล้วนใช้คำนำหน้าประเทศว่า ประชาธิปไตย เช่นจีน.... และ ผู้นำหลายประเทศในโลกนี้ใช้ประชาธิปไตยเพิ่อประโยชน์ของตนเอง เช่น ฮิตเลอร์ เปรอน มาร์กอส มูชาร์รัฟ ล้วนผ่านระบบการเลือกตั้งมาตลอด ....... แต่ไม่มีใครพูดถึงสาระของประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม ใสสะอาดบริสุทธิ์ .........ความเห็นของชาติตะวันตกเกี่ยวกับ ประชาธิปไตย ไร้ความหมาย ....เป็นเรื่องไร้สาระ ประเด็นอยู่ที่คนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วใช้อำนาจในทางที่ผิด จะเป็นมิตรกับสหรัฐและอังกฤษหรือไม่ ถ้าหากเป็นได้ ก็แสดงว่าถ้าคุณเป็นพวกเขา ไม่ว่าคุณจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร เขารับได้หมด แม้คนในสหรัฐเอง ก็ยังพูดว่า รัฐบาลของเขาเป็นคนสองหน้า .........การเลือกตั้งนั้น นอกจากจะเป็นระบอบที่ยอมรับเสียงข้างมากแล้ว ยังต้องปกป้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่บอกว่า เป็นผู้นำของคน ๑๖ ล้าน หรือ ๑๙ ล้าน แต่อีก ๑๒ ล้านที่ไม่ออกเสียง ก็นั่งคอยไปอีก ๔ ปี ....แล้วแบ่งเขตแดนเป็นสีเหลือง เขียว แดง ตัดสินว่า จะให้งบประมาณที่ไหนมากกว่ากัน อันนี้ใช้ไม่ได้......อย่าไปแยกแยะว่าเป็นนายกให้แก่คน ๑๙ ล้านคนเท่านั้น.......คนเป็นนายกฯต้องบอกว่า จะเป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ ..........เรามีการเลือกตั้ง กำลังจะมีนายกฯ รัฐบาลใหม่หน้าตาจะออกมาอย่างไร ไม่ทราบ จะสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม .........ต้องรอดูผลงาน ........
สาระในสุนทรพจน์ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีนี้ ได้ให้ข้อเท็จจริงที่ควรเป็นประสบการณ์ของคนไทย เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการแก้ ปัญหาของประเทศในอนาคต (ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีก และอาจจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ไกลนักก็ได้ )
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อความบางตอนในสุนทรพจน์ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ แตกต่างกับ สาระ ที่อยู่ในบทความ( ที่ผ่านมาของผู้เขียน) ในบางประการ ซึ่งผู้เขียนจำต้องขออนุญาตยกมากล่าวในบทความนี้ และต้องขออภัยในการที่ผู้เขียนจำเป็นต้องมีข้อสังเกต
ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญถึงจะดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าผู้ที่มาใช้ช่องโหว่ เป็นคนฉลาด เก่งแกมโกง ตั้งใจมาโกง ก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ให้ตัวเองได้ โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน........ สมัยที่มีการร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มีนักวิชาการ ผู้แทนรัฐบาลจากต่างประเทศมากมาย ชื่นชมว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ซึ่งถ้าดีจริง ทำไมจึงต้องร่างขึ้นมาใหม่ ...... พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า กฎหมายนั้น มีช่องโหว่ . ......... ต่อมาอีก ๑๐ ปีให้หลัง คนที่ได้รับมอบหมายเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องพยายามอุดช่องโหว่ ..... ซึ่งในใจผมคิดว่า เป็นรื่อง มิชชั่น อิมพอสสิเบิล หรือเป็นภารกิจที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งต่อมามี การเลือกตั้ง ก็ปรากฏเด่นชัดว่า ที่เขียนขัดขวางเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่สัมฤทธิ์ผลออกมากเท่าไหร่ .......วันนี้ เราต้องยอมรับว่า เรากลับไปตั้งต้นที่จุดเดิม เมื่อปีกว่ามาแล้วหรือเมื่อ ๖-๗ ปีที่แล้ว จะโทษใครไม่ได้ แต่ถ้าจะโทษ คงต้องโทษสังคมไทยทั้งสังคม จะโทษคนซื้อขายเสียงอย่างเดียวหรือชาวไร่ชาวนาคงไม่ถูก ตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องหยุดการแบ่งปันโทษ อาจต้องมาเริ่มต้นกันใหม่.......
ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญถึงจะดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าผู้ที่มาใช้ช่องโหว่ เป็นคนฉลาด เก่งแกมโกง ตั้งใจมาโกง ก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ให้ตัวเองได้ โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน; แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้ มิได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ จะเป็น รัฐธรรมนูญที่ดี หรือดีเลิศ และผู้เขียนขอเรียน ว่า ในบรรดานักวิชาการและผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศมากมาย ที่ชื่นชมต่อท่านองค์ปาฐกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี นั้น มิได้มี ผู้เขียน รวมอยู่ด้วย
ผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่า รัฐธรรมนูญที่ดีเลิศ จะไม่สามารถป้องกันคนฉลาด เก่งแกมโกง ที่ตั้งใจมาโกงได้ แต่รัฐธรรมนูญที่ดี ( หรือดีเลิศ ) ก็สามารถที่จะลด ช่องโหว่ และลด โอกาส ของ คนฉลาด เก่งแกมโกงที่ตั้งใจจะมาโกง ไม่ให้สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ให้ตัวเองได้ โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน ได้มาก แม้ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีดังกล่าวจะป้องกันได้ไม่สมบูรณ์ ( ร้อยเปอร์เซ็นต์ ) ; และผู้เขียนเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี เพราะได้สร้างระบบที่เป็น ช่องโหว่ ให้คนฉลาดเก่งแกมโกง สามารถทุจริตและหาประโยชน์ให้แก่ตนเองได้ อย่างมากมาย
ในบทความนี้ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึง ความผิดพลาด ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๕๓๙ ) ในหลาย ๆ ด้าน แต่ผู้เขียนยังมิได้กล่าวถึง ชื่อของ ผู้ที่เกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐นี้ ไว้ในบทความนี้แต่อย่างใด ; ผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณากล่าวถึงปัญหานี้ในปาฐกถาหรือสุนทรพจน์พิเศษของท่าน ; และดังนั้น เพื่อให้บทความนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอเรียนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อท่านผู้อ่านว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ ร่างขึ้นโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม โดย รธน.( ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๙ ; สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีจำนวนสมาชิก ๙๙ คน( รวมทั้งท่านอดีตนายกรัฐมนตรีที่กล่าวสุนทรพจน์นี้ด้วย) โดยมี นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ และมี นายกระมล ทองธรรมชาติ กับ นางยุพา อุดมศักดิ์ เป็นรองประธานสภาฯ และมี คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง มีกรรมาธิการจำนวน ๑๗ คน โดยมีท่านอดีดนายกรัฐมนตรีท่านนี้ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ฯ
อันที่จริง ผู้เขียนได้ติดตามปัญหาเรื่องการออกแบบ( เขียน )รัฐธรรมนูญของเรามาโดยตลอด และผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับ การปฏิรูปการเมือง มาหลายบทความ รวมทั้ง บทความหลังจากที่เราได้มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ (เมื่อ ๑๕ ปีก่อน) ด้วย ; บทความในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้เขียนได้เขียนเพือขอให้รัฐบาลในขณะนั้น จัดให้มีการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ (และพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ - ปฏิรูปการเมือง) ก่อนที่รัฐบาลในขณะนั้นจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ เพื่อกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.( เท่า นั้น ) ตามคำเรียกร้องของนักวิชาการ และนักการเมือง ( ที่มาจากการเลือกตั้ง )ในขณะนั้น และก่อนที่จะทำการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ; แต่รัฐบาลในขณะนั้น ไม่ได้ทำตามบทความของผู้เขียน
ตลอดเวลาที่ผ่านมาและแม้ในปัจจุบัน ผู้เขียนเคยหวังว่า เราจะมี Elite ในระดับผู้นำประทเศ ( ไม่ว่าจะเป็น ท่านผู้ใด ก็ตาม ) ที่จะทำให้ประเทศไทยมีการปฏิรูปการเมือง เพราะผู้เขียนกล่าวอยู่เสมอว่า นักวิชาการเช่นผู้เขียนนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ และการเปลี่ยนแปลง ( ทางการเมือง )ของสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมี elite ( ในระดับผู้นำประเทศ ) ชี้นำเท่านั้น; เพราะ Elite ในระดับผู้นำประเทศ เป็น ผู้นำ ที่มีบารมีพอ - ที่จะชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด คนไทยเราจึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ( การปฏิรูปการเมือง )
ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณา ข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้ ผู้เขียนได้เคยพูดถึง ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง( นายทุนธุรกิจ ) ตามรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ของไทย มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว และผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง ( คือ มีบทบัญญัติกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง - บัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค -บัญญติให้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ) ; และข้อเท็จจริง ก็ปรากฎแล้วว่า นายทุนธุรกิจของเราได้ร่วมกันลงทุนจัดตั้งพรรคการเมืองและอาศัย การเลือกตั้ง (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) ประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ สร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาดังกล่าว เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ( ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ) ต่อเนื่องกันมากว่า ๑๕ ปี ( ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ ) และก็ปรากฎว่า ประเทศเราได้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด มากบ้างน้อยบ้างมโหฬารบ้าง ตามแต่โอกาส
และในขณะนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ( ที่เพิ่งประกาศใช้บังคับ ) ก็ยังคงใช้ form of government ใน ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ( หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ) เราก็มีคณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่เป็นที่ทราบกันว่า เป็นตัวแทน ( หรือ ภริยา ญาติพี่น้อง ) ของนายทุนธุรกิจกลุ่มต่างๆ ซึ่ง( ไม่สามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ด้วยตนเอง เนื่องจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตามกฎหมาย ฯลฯ ) มอบหมายให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน
ผู้เขียนเชื่อว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี คณะรัฐมนตรี ในลักษณะตัวแทนของนายทุนธุรกิจที่มีอำนาจสั่งการที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังเช่นนี้ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกคณะรัฐมนตรีของเราว่า คณะรัฐมนตรีร่างทรง บ้าง ; หรือ เป็น คณะรัฐมนตรีนอมินี บ้าง ; หรือ เป็น คณะรัฐมนตรีหุ่นเชิด บ้าง ; หรือเป็น คณะรัฐมนตรีพร็อกซี่บ้าง ; ฯลฯ
เป็นที่ชัดเจนว่า การที่ข้อเท็จจริง facts ดังกล่าวข้างต้นนี้ สามารถเกิดขึ้น เป็น ความเป็นจริง reality ได้ ก็เพราะว่า อำนาจเผด็จการของพรรคการเมือง ; รัฐธรรมนูญของเราได้สร้างระบบพรรคการเมือง(บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ) ที่ทำให้ พรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันสูงสูดที่ผูกขาดอำนาจรัฐ เหนือสภาผู้แทนราษฎร ; ดังนั้น พรรคการเมือง (และนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมือง ที่ที่ลงทุนตั้งพรรคการเมือง ) ที่ควบคุม เสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎรในระบบรัฐสภา parliamentary system ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๐ จึงมีอำนาจกำหนดตัวบุคคลที่จะเป็น รัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวผู้ใด; ระบบนี้ เป็นระบบที่เคยใช้และเคยเป็นปัญหาการเผด็จการ ของพรรคการเมือง (และของนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมือง)มาแล้ว ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร
ปัญหามีว่า Elite ในระดับผู้นำประเทศของเรา มองความเป็นจริง reality ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรานี้ อย่างไร ; Elite ในระดับผู้นำประเทศ อาจจะมองความเป็นจริง reality นี้ และมีความเห็นเพียงว่า การเขียนรัฐธรรมนูญที่ดี เป็นเรื่องของ มิชชั่น อิมพอสสิเบิล หรือเป็นภารกิจที่เป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งต่อมามี การเลือกตั้ง ก็ปรากฎเด่นชัดว่า ที่เขียนขัดขวางเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่สัมฤทธิผลออกมาเท่าไหร่
ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างออกไปจากท่านอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ความเป็นจริง -reality ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะเราเขียนรัฐธรรมนูญไม่เป็น และเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ๑๐ ปี การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็มิได้แตกต่างไปจาก รัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่อย่างใด
ผู้เขียนจะขออธิบาย ด้วยภาษาง่าย ๆ ที่ไม่เป็นวิชาการเกินไป สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป อีกครั้งหนึ่งว่า ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ เกิดขึ้นในประเทศไทย(ประเทศเดียวในโลก)ได้อย่างไร และเป็นปัญหาของประเทศไทย ได้อย่างไร
ในสังคมไทย เรามี eliteที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมือง อยู่ ๒ ประเภท (จำพวก) คือ elite ประเภทแรก ได้แก่ นายทุนธุรกิจ (ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ) และ elite ประเภทที่สอง ได้แก่ นักกฎหมายและนักวิชาการ
elite ประเภทแรก ได้แก่ นายทุนธุรกิจ (ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ)ในสังคมไทย ซึ่ง(ตามความเห็นของผู้เขียน)ประเทศไทยอาจจะค่อนข้างโชคร้าย ที่เราบังเอิญมี elite ประเภทนี้ที่เห็นแก่ตัวเป็นจำนวนมากไปหน่อย ; นายทุนธุรกิจ มองเห็น โอกาสในการใช้เงินในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เพื่อเข้ามาใช้ อำนาจรัฐเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว (ตามแต่โอกาสจะอำนวย) จึงได้คิด รูปแบบของรัฐธรรมนูญ (ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / บัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค / บัญญติให้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ) เพื่อที่พวกตนจะได้ ลงทุนจัดตั้งพรรคการเมืองและออกเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในการเลือกตั้งให้แก่ ผู้ที่สมัครมาอยู่ในสังกัดของตน ซึ่งผู้ที่สมัครมาอยู่ในสังกัดของตนนอกจากจะไม่เสียเงินในการเลือกตั้ง(หรือเสียเงินนัอยลง)แล้ว ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน(จากพรรคการเมือง)ในขณะที่เป็น ส.ส.อีกด้วย ; บทบัญญัติที่กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้หลักประกันแก่พวกตน(นายทุนธุรกิจ)ว่า ถ้าบรรดาพวกตนลงทุนมากพอและได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว คนอื่นจะมาแย่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีไปจากพวกตนที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไม่ได้ ; บทบัญญัติที่กำหนดให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค ก็เพื่อให้เป็นบทบัญญัติสำหรับควมคุม ส.ส. ที่ได้รับเงินของพวกตนในการเลือกตั้ง (และเงินช่วยในระหว่างเป็น ส.ส.)ไปแล้ว มิให้เปลี่ยนใจออกนอกสังกัด หรือไม่เชื่อฟังพวกตน เพราะถ้าเปลี่ยนใจหรือไม่ซื่อสัตย์ พวกตนก็สามารถทำให้ ส.ส.ดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้
และในสังคมไทย เราก็บังเอิญ มี elite ประเภทที่สอง ที่เป็น นักกฎหมายและนักวิชาการ ; elite ประเภทนี้ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มนักกฎหมายและนักวิชาการที่ไม่มีความรู้พอและไม่เข้าใจว่า ทำไม ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ และทำไมประเทศอื่นทั้งโลกเขาจึงไม่เขียนรัฐธรรมนูญให้ใช้ ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง นักกฎหมายและนักวิชาการกลุ่มนี้ไม่สามารถคิดหา เหตุผลมาอธิบายได้ เพราะเคยเรียนมามาก แต่ไม่ค่อยได้ คิด ; และกลุ่มที่สอง ได้แก่ ได้แก่ กลุ่มนักกฎหมายและนักวิชาการที่ได้รับประโยชน์และตำแหน่งต่าง ๆ (ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม )จากบรรดานักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เจ้าของพรรคการเมือง ดังนั้น ความเห็นทางวิชาการ(ที่ให้แก่ประชาชน)ของนักกฎหมายและนักวิชาการกลุ่มนี้จึงขาดความสุจริตใจ (ตามหลักสังคมวิทยา) โดยมีแนวโน้มที่จะมองประโยชน์ส่วนตัว และแม้แต่เมื่อสองสามวันมานี้ ผู้เขียนก็ยังได้ยินนักกฎหมายบางคนพูด ถึง ความกตัญญูที่มีต่อนักธุรกิจการเมือง ที่ได้ให้ตำแหน่งทางการเมืองแก่ตน
elite ประเภทที่สอง(นักกฎหมายและนักวิชาการ ทั้งสองกลุ่ม)นี้ คล้อยตามและสนับสนุน รูปแบบของรัฐธรรมนูญ ที่ elite ประเภทแรก(นายทุนธุรกิจ) คิดขึ้น โดยไม่เตือนให้สังคมไทยพึงสังวรณ์ว่า รูปแบบนี้เป็น ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ และไม่บอกแก่คนไทยว่า การเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา parliamentary system นั้น หมายถึงว่า พรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะควบคุม อำนาจรัฐทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและได้เป็น รัฐบาลไปด้วย ; ดังนั้น พรรคการเมืองและเจ้าของพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) จึงสามารถเอาตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาล (คือ ตำแหน่งรัฐมนตรี /ตำแหน่งการเมืองต่าง ๆ ในส่วนราชการ / ตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ / ฯลฯ ) มาแบ่งปันกันในระหว่างเจ้าของพรรคการเมืองได้ และในขณะเดียวกัน นักการเมืองเจ้าของพรรคการเมืองนั้นก็สามารถทำการทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติได้ (โดยยากที่จะหาใบเสร็จ) เพราะพรรคการเมืองดังกล่าวได้ควบคุมกลไกของรัฐทั้งหมด รวมทั้งสามารถใช้ สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายได้ตามแต่ใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบายหรือไม่ ฯลฯ
ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ที่ elite ทั้งสองประเภทของสังคมไทย ร่วมมือกันเขียน(สร้าง)ให้แก่คนไทย(ฉบับเดียวในโลก)นั้น ได้ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ยังใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ; ฉะนั้น การที่ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวในสุนทรพจน์หรือปาฐกถาของท่าน ว่า ต่อมาอีก ๑๐ ปีให้หลัง คนที่ได้รับมอบหมายให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องพยายามอุดช่องโหว่ ........ต่อมามี การเลือกตั้ง ก็ปรากฏเด่นชัดว่า ที่เขียนขัดขวางเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่สัมฤทธิ์ผลออกมากเท่าไหร่ ....... คำกล่าวนี้ จึงไม่ตรงต่อความจริงที่เกิดขึ้น ; การที่เรา(คนไทย)ต้องกลับมาสู่ ที่เดิมอีก ก็เพราะ คนที่ได้รับมอบหมายให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ของเรา ยังเขียนรัฐธรรมนูญไม่เป็นและยังใช้ ระบบเดิมอยู่ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึง ๑๐ ปี คนที่ได้รับมอบหมายให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยัง คิดไม่ออกว่า ปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศไทย เกิดจากอะไร
ผู้เขียนได้กล่าวอุปมาอุปมัยไว้แล้วข้างต้นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญ ที่สร้าง ระบอบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง เปรียบเสมือน เป็นการที่เอา ปลาย่างไปวางไว้ต่อหน้าฝูงแมว แล้วคอยห้าม (ขัดขวาง)แมวไม่ให้มากินปลาย่าง ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเข้าทำกัน ; สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ ทำ ปลาย่าง ไม่ให้เป็นปลาย่าง คือ ไม่สร้าง การผูกขาดอำนาจรัฐ โดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่สังคมมีความอ่อนแอ ซึ่งทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้ง(ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของประเทศ) ยังอ่อนไหวต่ออิทธิพลการใช้เงินและการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นแรงจูงใจ (ในการใช้สิทธฺออกเสียง) ; ดังนั้น จึงคาดหมายในทางสังคมวิทยาได้ว่า พรรคการเมืองที่จะเข้ามาผูกขาด อำนาจรัฐ ย่อมได้แก่พรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมทุนของกลุ่มนักนายทุนธุรกิจ
การเอาปลาย่าง (การผูกขาด อำนาจรัฐ)ไปวางไว้ต่อหน้านักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ก็หมายความว่า เป็น การเชิญชวนให้นายทุนธุรกิจลงทุนให้มากที่สุดในการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้โดยมีการผูกขาดอำนาจรัฐ (ปลาย่าง)เป็นสิ่งล่อใจ เช่น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และอื่น ๆ ฯลฯ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ รัฐธรรรมนูญของเรา (ด้วยความไม่ฉลาดและด้วยความความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ของนักกฎหมายและนักวิชาการ) ก็ได้บัญญัติ(เป็นลายลักษณ์อักษร) ให้เป็นประกันในความแน่นอนของการผูกขาดอำนาจ(ปลาย่าง)สำหรับแมวไว้ให้แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ อำนาจรัฐจึงเป็นของ พรรคการเมือง ที่มีนายทุนธุรกิจเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เป็นของ สภาผู้แทนราษฎรหรือของ คณะรัฐมนตรี ; และ ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญของเรา ได้สร้าง ภาพลวงตาว่า เราเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ตามความเป็นจริง สถาบันทั้งสอง (สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล)ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสั่งการและในการหาประโยชน์ของ พรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)
เมื่อ พรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ได้เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็หาความร่ำรวยจากการทุจริตคอร์รับชั่นจากทรัพยากรของชาติ และนำเงินที่ได้มานั้นมาแจกจ่ายให้แก่กลุ่มและพรรคพวกของตนเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ)ครั้งต่อไป และเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐและทำการทุจริต คอร์รับชั่นจากทรัพยากรของชาติ (ในสภาพพิกลพิการของกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและระบบการบริหารของเรา ) ต่อเนื่องกันไป
ดังนั้น เรา(คนไทย)จึงไม่ควรประหลาดใจว่า เพราะเหตุใด นักการเมืองของเราจึงมีแต่นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ)หน้าเดิม ๆ และลูกหลานพี่น้องของนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ; การที่เรามีนักการเมืองหน้าเดิม ๆ และลูกหลานพี่น้องของนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ก็เพราะรัฐธรรมนูญของเราเอง (ฉบับเดียวในโลก) บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ (ประกอบกับสภาพสังคมของเราที่ยังมีความอ่อนแอ) และผู้เขียนก็เชื่อว่า เราก็คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป และนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ของเรา ก็จะทุจริตคอร์รัปชั่นและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ (ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่นโดยตรงที่ไม่มีใบเสร็จหรือการคอรัปชั่นทางนโยบาย) ต่อไป
จนกว่าประเทศไทยจะมีการปฏิรูปการเมือง (และปฏิรูปกฏหมายระบบบริหาร) ซึ่งคาดหมายในทางสังคมวิทยาได้ว่า คงจะไม่เกิดมาจากการริเริ่ม ของ elite ประเภทแรก คือ นายทุนธุรกิจ เจ้าของพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐ อยู่ในขณะนี้ หรือจนกว่าประเทศไทยจะ ................ ; และ นี่คือ อนาคตของประเทศไทยและของคนไทย ๖๓ ล้านคน
ผู้เขียนเห็นว่า การที่การเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ปรากฎ ผล(สัมฤทธิ) ออกมาเช่นนั้น(ตามที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้) เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนที่ได้รับมอบหมายให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่(หลังจากการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาแล้ว ๑๐ ปี) ยังคงทำ ผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) เช่นเดียวกับ การผิดพลาดที่ได้เคยทำมาแล้วในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั่นเอง
ผู้เขียนเห็นว่า เราคงจะโทษ สังคม (ไทย) ไม่ได้ ไม่ว่าจะโทษสังคมทั้งสังคมหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสังคม เพราะสังคม(ไทย)ประกอบด้วยคนจำนวนมาก เคยเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ; สภาพสังคม เป็นผลของการดำรงชีวิตที่ต่อเนื่องกันมาในทางประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยปี ; ดังนั้น สังคม(ไทย) จึงเป็น สิ่งกำหนดให้ - given ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเปลี่ยนแปลงได้ยากและต้องใช้เวลานาน(มาก); สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ กฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม และ กฎเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด ก็คือ form of government หรือระบบสถาบันการเมือง (สถาบันที่ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ) ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ; ซึ่งแน่นอนว่า ในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องมีการเลือกตั้งเพื่อให้มี ผู้แทนมาใช้อำนาจแทนประชาชนที่มีเป็นจำนวนมาก
ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเพราะ ความไม่รู้ หรือ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของนักกฎหมายและนักวิชาการของเราเอง ที่ออกแบบสร้างระบบสถาบันการเมือง ที่ทำให้ นายทุนธุรกิจสามารถรวมทุนกันตั้งพรรคการเมืองและอาศัยการเลือกตั้ง(ในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอ) เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้ ทั้งใน สภาผู้แทนราษฎรและการเป็น รัฐบาล (ในระบบรัฐสภา parliamentary system) ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเรา (ประเทศเดียวในโลก)
ถ้ารัฐธรรมนุญไม่ดี ก็ต้องโทษคนเขียนรัฐธรรมนูญ(ไม่ว่า จะเป็นใคร) จะโทษสังคมไม่ได้ และคนเขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรจะแบ่งปันโทษไปให้คนอื่น คงต้องรับไปเต็ม ๆ ; และรัฐธรรมนูญฉบับใด จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี หรือไม่ดี ก็คงจะไปฟังจาก คำชื่นชม ของบรรดาผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศมากมาย ที่มาแสดงความยินดีกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรีองค์ปาฐก ไม่ได้ เพราะต่างประเทศ (เขา)ก็มีประโยชน์ของประเทศของเขา ตามที่ท่านองค์ปาฐกอดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้แล้วในปาฐกถาของท่านเอง ; และประเทศไทย (เรา)ก็มีประโยชน์ของเรา(คนไทย) เอง ที่จะต้องรักษาไว้
สังคมในปัจจุบัน เป็น สังคมของ ความรู้ knowledge society ซึ่งทุกคนทราบดี ; ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการก็ได้พยายามทำหน้าที่ของผู้เขียน คือ การให้ ความรู้แก่สังคมไทยด้วยการเขียนบทความ ฯลฯ ; ถ้า Elite ในระดับผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ใด จะมี vision และใช้ความเป็น ผู้นำของท่านในการตัดสินใจที่จะให้ ความรู้ แก่สังคมไทยว่า ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญของเรา( ประเทศเดียวในโลก )นี้ เป็นสาเหตุของสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน(การมีคณะรัฐมนตรีโนมินี) และประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง ; และ เพียงเท่านี้ สังคมไทยก็จะมีความรู้ และสนใจที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ผู้เขียนจะต้องมาเขียนบทความยาว ๒๐๐ ๓๐๐ หน้า นี้ ; [หมายเหตุ คำว่า การเปลี่ยนแปลง - a change ในที่นี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ระบบสถาบันการเมือง ; มิใช่เปลี่ยนแต่ ชื่อและ พ.ศ. ของรัฐธรรมนูญเดิม มาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังคงใช้ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง เหมือนเดิม ดังเช่นการเปลี่ยนแปลง จาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ มาเป็น รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๐ ]
Elite ในระดับผู้นำประเทศ จะต้องตัดสินใจเอง และมี visionที่จะมองไปข้างหน้าด้วยตนเอง เพราะในขณะนี้ ประเทศไทยเราแวดล้อมและเต็มไปด้วยนักกฎหมายและนักวิชาการ ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ( เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ) อยู่เป็นจำนวนมาก ; ดังนั้น Elite ในระดับผู้นำประเทศ ของเรา คงไม่สามารถพึ่งพาอาศัยนักกฎหมายและนักวิชาการ เหล่านี้ได้ และ ความรู้ ของนักกฎหมายและนักวิชาการเหล่านี้ ก็คงไม่ช่วยให้ vision ของ Elite ในระดับผู้นำประเทศ มองไปข้างหน้าได้ไกลสักเพียงใด นอกจากจะพูดคำว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
ผู้เขียนขอเรียนและขอรับรองว่า ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีเคยไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำอยู่นั้น ไม่มีประเทศใดที่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้ พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับ ส.ส.ให้ต้องปฏิบัติตามมติพรรค / และให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ( เท่านั้น ) แม้แต่ประเทศเดียว ; และไม่ใช่แต่เฉพาะแต่ การไม่มีบทบัญญัติทั้ง ๓ ประการพร้อมกันเหมือนกับรัฐธรรมนูญของไทยเท่านั้น ผู้เขียนขอรับรองว่า รัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น ไม่มีบทบัญญัติแม้แต่พียงบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่ง ในบรรดาบทบัญญัติทั้ง ๓ ประการนั้น
อนาคตของประเทศไทย เป็นความรับผิดชอบของ Elite ในระดับผู้นำประเทศ มากกว่าที่จะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนหรือของคนไทยทั่วไป
(วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
อ่านต่อ
หน้า 28
หน้า 29
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1196
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 22:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|