|
|
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๖) 3 มีนาคม 2551 16:17 น.
|
(๓.๓) ทำไม ภารกิจประการที่สอง ( การบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงรัฐประหาร) ของ คณะกรรมการปฏิรุปการปกครองฯ จึงล้มเหลว (?) ; ในระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ยังมีภารกิจอีกประการหนึ่ง ที่จะต้องทำ ก็คือ การบริหารราชการแผ่นดิน
ภารกิจนี้ แม้ว่าจะมิใช่ ภารกิจที่เป็นเป้าหมายของการรัฐประหารที่จะต้องทำให้สำเร็จ เหมือนกับภารกิจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ (เพื่อประเทศจะได้เข้าสู่กลไกปกติในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ) ก็ตาม แต่โดยสภาพของภารกิจ ภารกิจการบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่าภารกิจแรก(การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ) และนอกจากนั้น ยังเป็นเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ไม่สามารถทำให้สิ้นสุดลงได้(ภายในเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และดังนั้น จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯจะทำได้ ดีที่สุดเพียงใด
ตามรัฐธรรมนูญ ( ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มอบหมายภารกิจนี้ ให้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับ รัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) ประกอบกับ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ แต่งตั้งขึ้นตามประกาศ ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ดูเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัคริย์ทรงเป็นประมุขจะ มองไม่เห็นความยากและความสำคัญของภารกิจนี้ และ ดูเหมือนว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี(และคณะรัฐมนตรี)ขึ้นแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็คิดว่า ตนเองหมดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน และมักจะปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯถูกสื่อมวลชนซักถามเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ รัฐบาล หรือเป็นหน้าที่ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และ ข้อนี้ ก็เป็นอีกข้อหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึง ความไม่รู้ (ในปัญหาของประเทศ) ของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
ผลงาน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ / รัฐบาล (นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ) / และ คตส. ในช่วงเวลาของการรัฐประหาร (พ.ศ. ๒๕๕๐) เป็นอย่างไร ; ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นเกี่ยวกับ ความรับผิดชอบของคณะปฏิรูปการปกครองฯในภารกิจนี้ ผู้เขียนจะขอประมวล ผลงานของสถาบันทั้ง ๓ สถาบันดังกล่าว มาพิจารณากันดูก่อน เพราะ ผลงานของสถาบันดังกล่าว จะเป็นข้อเท็จจริง factsที่แสดงให้เห็น ความผิดพลาดของการออกแบบการจัดองค์กรของสถาบันฯ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ (ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ)
ในการประมวลข้อเท็จจริงนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวอย่างรวบรัดตามข่าวที่ปรากฏจากสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา(พ.ศ. ๒๕๕๐) และแม้ว่าผู้เขียนจะได้ติดตามการทำงานของสถาบันเหล่านี้มาพอสมควร แต่ผู้เขียนก็จะขอไม่ระบุ กรณีตัวอย่างไว้ในบทความนี้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบถึงตัวบุคคล
(๑) ฝ่ายนิติบัญญัติ ในการทำงานของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายอาชีพ ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิก สนช. ต่างคนต่างทำ ไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกัน ถึงปัญหาของบ้านเมืองอันเป็นต้นเหตุของการทำรัฐประหาร และไม่มีแสวงหา วิธีแก้ปัญหา ซึ่งเป็นภาระเร่งด่วนของประเทศ / ร่างกฎหมาย ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนใหญ่และจำนวนมาก เป็นกฎหมายที่เป็นเรื่องปลีกย่อย หรือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ของ กลุ่มผลประโยชน์ของตนเอง และมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินจำนวนน้อย / ความหลากหลายของสมาชิกของ สนช.ทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคในการจัดลำดับความเร่งด่วนของการพิจารณาร่างกฎหมาย ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม / สมาชิกที่เป็นนักนิยมสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน(เอกชน) พยายามผลักดันร่างกฎหมายของตนเอง เพื่อหาความนิยมให้แก่ตนเอง / ไม่มีการประสานงานระหว่างรัฐบาล(คณะรัฐมนตรี)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีจุดหมายร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาของประเทศ / ในหลาย ๆ ครั้ง ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นอุปสรรคแก่การออกกฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ส่วนราม ด้วยเหตุผลความเชื่อส่วนตัวของสมาชิกบางท่าน / บางครั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายของรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ได้มีการชี้แจงกันมาก่อนแล้ว / บางครั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แสดงความขัดแย้งกับตัวบุคคลในรัฐบาล โดยจะขอเปิดอภิปรายบุคคลในคณะรัฐมนตรี / ฯลฯ
(๒) ฝ่ายบริหาร ผุ้เขียนมีความเห็นว่า การทำงานของคณะรัฐมนตรีขาด การนำ และไม่มีการกำหนดจุดหมายร่วมกันในการทำงานของคณะรัฐมนตรี / รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีต่างคนต่างทำ และขัดแย้งกันเอง / ผลงานของรัฐมนตรีหลายท่าน ขาดการวิเคราะห์ทางวิชาการและขาดคุณภาพ และพยายามผลักดันผลงานของตนเอง / รัฐมนตรีบางท่านมี แผล(ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย) ที่นักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ(ตั้งใจ)ใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ เพื่อมิให้รัฐมนตรีคิดริเริ่มในการทำงาน (ใส่เกียร์ว่าง) เพื่อรอโอกาสที่ตนเองจะกลับเข้ามามีอำนาจในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ / รัฐมนตรีไม่ประสานงานกับ คตส. / รัฐมนตรี (ที่มีอำนาจกำกับดูแลส่วนราชการ)ไม่ประสานงานกับหน่วยงานอื่น / รัฐมนตรีหลายท่านขาดความมั่นใจในการทำงาน และไม่สามารถแก้ปัญหาได้เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ / ฯลฯ
(๓) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ผู้เขียนเห็นว่า เป็นสถาบันเดียวในบรรดา ๓ สถาบันที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีความตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างแท้จริง แต่เป็นการทำงานอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล หรือแม้แต่จากคณะปฏิรูปการปกครองฯ ; ผลงานของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ปรากฏให้เห็นชัดเจนจากสื่อมวลชนและจากเอกสารสมุดปกเหลืองที่คตส.ได้จัดพิมพ์ขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องทราบว่า ผลงานของ คตส.เป็นเพียง ส่วนแรกของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และกระบวนการยุติธรรมยังไม่เสร็จสิ้น ; และในบทความนี้ ผู้เขียนได้ยก ตัวอย่างหลายตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่ผ่านมา(ไม่นานนัก) ที่แสดงให้เห็นถึงความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ (ในทุกระดับ) และผู้เขียนได้เตือนท่านผู้อ่านและคนไทยไว้แล้วว่า กระบวนการยุติธรรมของเราไม่ได้อยู่ใน มาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย (เช่น สิงค์โปร์และเกาหลีไต้)
ข้อเท็จจริง facts ที่ยืนยันความเห็นของผู้เขียนในเรื่อง ความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ก็คือ ถ้าท่านผู้อ่านคิดทบทวนย้อนกลับไปในเวลาที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านจะพบว่า ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ที่ร่ำรวยจากการทุจริตคอร์รัปชั่น (มัก)จะหาโอกาสเข้าสู่ วงการการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การสมัครรับเลือกตั้งหรือการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เพื่อเข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ส.ส. สัดส่วนในปัจจุบัน) หรือเพื่อเป็นรัฐมนตรี ; คำถามมีว่า ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น ; เหตุผล ก็อาจอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ก็เพราะ กระบวนการยุติธรรมของเราสามารถถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองได้โดยง่าย
ผู้เขียนคงไม่สามารถพูดได้ว่า การเข้าสู่ วงการการเมือง สามารถทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้ แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดตาม กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ท่านผู้อ่านก็จะพบว่ามีสิ่งที่ผิดปกติหลายประการเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของเรา เช่น การล่าช้าในการดำเนินคดี / การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดี / และการยุติการสอบสวนหรือยุติคดีด้วย เหตุผล ที่เราคาดไม่ถึง รวมทั้งการที่ เรื่องเงียบหายไป หรือปล่อยให้คดีขาดอายุความ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดรับผิดชอบ ฯลฯ เป็นต้น
และ ในเมื่อ ระบบสถาบันการเมืองของเราตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงเป็น ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ผู้เขียนก็คิดว่า สิ่งที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัตน์ ก็คงจะดำรงอยู่ได้อีกไม่นาน
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตั้งชื่อสมุดปกเหลืองที่ตนเองจัดพิมพ์ขึ้น ไว้ว่า ฝากไว้ในแผ่นดินโดยมีรูปและชื่อของกรรมการทุกท่านพิมพ์ไว้ในด้านในของปกหลัง ; ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการตั้ง ชื่อที่เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นอย่างมาก เพราะต่อไปในอนาคตที่ไม่ไกลนัก สิ่งที่ คตส. เหลืออยู่และจะฝากไว้ในแผ่นดิน ก็คือ ตัวสมุดปกเหลืองเล่มนี้ เอง แต่ไม่ใช่ ผลงานของ คตส. เพราะผลงานของ คตส. จะถูกลบล้างไปในที่สุด (เช่นเดียวกับ คตส. ชุดที่หนึ่ง ในอดีต) [หมายเหตุ อำนาจหน้าที่ของ คตส. ได้ขยายไปถึง วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศใช้บังคับ วันที่ ๖ กันยายน]
เท่าที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดว่า ในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารราชการแผ่นดิน ของสถาบันทั้งสอง คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รัฐบาล ( ที่จัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ) ต่างฝ่ายต่างพยายามจะแสดงความเป็นอิสระจากกัน และต่างคนต่างทำงานเป็นเอกเทศของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึง ที่มาของตนเองและไม่คำนึงถึงภารกิจเร่งด่วน ที่จะต้องกระทำเพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศ ที่ตนเองมีเวลาอันจำกัดอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร(ก่อนการมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่) เท่านั้น ; และอันที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่า ผลงานทั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และของ รัฐบาลไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า มีผลงานแต่อย่างใด
นี่ คือ ความล้มเหลวในภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน ของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเดียวกับ ความล้มเหลวในภารกิจประการแรก (การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)
ใคร คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ใน ความล้มเหลว ของการบริหารราชการแผ่นดิน (ในช่วงของการรัฐประหาร ปี พ.ศ. ๒๕๕๐)
ผู้เขียนคิดว่า ในกรณีที่ รัฐบาล ชุดที่ผ่านมา ในพ.ศ. ๒๕๔๙ ๒๕๕๐ ไม่ ทำงานตามที่เราคาดหมายว่ารัฐบาลควรจะทำ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงตำหนิ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ ทำงานตามที่ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ควรจะทำ ท่านผุ้อ่านหลายท่านคงวิจารณ์หรือตำหนิ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ; ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย
ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ก็คือ คณะปฏิรูปการปกครองฯ และ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ เพราะ ตามหลักของการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ที่ใช้อำนาจสูงสุด จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรก ; ดังนั้น ในกรณีนี้ คณะปฏิรูปการปกครองฯเป็นผู้ที่วางระบบการคัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นผู้ที่เลือกและเสนอแต่งตั้งตัวบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เขียนขึ้นเอง ( ซึ่งจะโทษ นักกฎหมายที่อาสาเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญให้ - คงไม่ได้)
ตัวบุคคล ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยเป็นอย่างไร ก็คงเป็นอย่างนั้น เคยมีพฤติกรรมอย่างไร ก็คงมีพฤติกรรมอย่างนั้น; เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯเป็นผู้เลือกและมอบหมาย ภารกิจให้บุคคลทั้งสองทำด้วยตนเอง และภารกิจไม่สำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ และจะถ่ายโอนไปยังผู้ที่ตนเองเลือกและมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ปฏิบัติภารกิจ ไม่ได้ ; ส่วนที่ผู้ได้รับมอบหมายหรือได้รับแต่งตั้ง(ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก สนช. หรือ นายกรัฐมนตรี) จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแยกจากกัน
ถ้าจะปฏิบัติภารกิจ ( การบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหาร) ให้สำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะทำอย่างไร (?) ; เช่นเดียวกับในข้อ (๓.๒)ที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่า คงไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะมาพูดว่า ความผิดพลาดใน (ภารกิจ) การบริหารราชการแผ่นดิน ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ว่า มีอะไรบ้าง และคงไม่มีประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน ที่จะพูดถึง ผลของความล้มเหลวของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่เราเห็น ๆ กันอยู่แล้ว ในขณะนี้
ผู้เขียนคิดว่า จะมีประโยชน์และเป็น ความรู้มากกว่า ถ้าเราจะพูดว่า ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะปฏิบัติ ภารกิจ (การบริหารราชการแผ่นดินให้สำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ในส่วนที่เกี่ยวกับ ภารกิจนี้ อย่างไร หรือ ต้องทำอะไรบ้าง
ผู้เขียนเห็นว่า หากจะไม่ให้การปฏิบัติภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีความผิดพลาด คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นจะต้องมี ความรู้ และ มีข้อที่จะต้องพิจารณา ก่อนที่เขียน(ออกแบบ) รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว (พ.ศ.๒๕๔๙) ๓ ประการ ดังนี้
ข้อที่ (๑) ประการแรก คณะปฏิรูปการปกครองฯ มีความจำเป็นต้องรู้ถึง ลักษณะของภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน ว่า มีอย่างไร
คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นต้องรู้ว่า ในการทำรัฐประหาร ภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นภารกิจต่างหากโดยเฉพาะ แยกออกจาก ภารกิจ การจัดให้มีรํฐธรรมนูญฉบับใหม่; คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่ควรปะปนกัน เพราะวิธีแก้ปัญหาในสองภารกิจนี้ไม่เหมือนกัน และความรับผิดชอบก็ไม่เหมือนกัน
ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะมีขอบเขต มากกว่าและยากกว่าการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติ และเป็นภารกิจที่ไม่สามารถที่จะทำให้เสร็จสิ้นลงได้ในช่วงของการรัฐประหาร เนื่องจากเวลาที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะปฏิบัติภารกิจนี้จะจำกัดอยู่เพียงเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญ (ถาวร) ฉบับใหม่ เสร็จสิ้นเท่านั้น ; ความท้าทายของภารกิจนี้ จึงอยู่ที่ว่า คณะปฏิรูปการปกครองจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ให้มากที่สุดและให้ดีที่สุด ได้เพียงใด และอย่างไร
ในหัวข้อที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึง ขอบเขตของงานที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองฯ โดยแบ่งไว้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้ คือ (๑) การบริหารประเทศ ซึ่งเป็นภาระปกติของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ / ปัญหาความยากจนของประชาขน/ ปัญหาการปราบปรามยาเสพติด / ปัญหาความปลอดภัยของประชาชน / ปัญหาฉุกเฉินที่เกิดจากภัยธรรมชาติ / ฯลฯ ; (๒) การเร่งรัดนำบุคคลที่กระทำความผิดฉ้อโกงแผ่นดินมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรม ( เท่าที่ กระบวนการยุติธรรมที่พิกลพิการของเราในปัจจุบัน จะเปิดโอกาสให้ทำได้ ) ; (๓) การตราหรือการแก้ไข กฎหมายที่สำคัญ(รวมทั้ง กฎหมายที่เกี่ยวกับ กระบวนการยุติธรรม) ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ให้ได้มาตรฐานหรือใกล้เคียงกับมาตรฐาน ของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นรากฐานของการบริหารประเทศตาม ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเขียนขึ้น
แต่ตามความเป็นจริง ความสำคัญในงานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร มิใช่อยู่ที่ขอบเขต ของงานที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง (ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ) ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงของความสำเร็จของงานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะอยู่ที่ ลักษณะของ วิธีการทำงานของงานบริหารราชการแผ่นดิน
งานบริหารราชการแผ่นดิน(ที่กล่าวมาทั้งหมด ๓ ประเภทข้างต้น) จะมีวิธีทำงาน อยู่ ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นงานบริหารที่ ฝ่ายบริหารสามารถบริหารไปได้ด้วยตนเอง(โดยไม่ต้องตรากฎหมาย) เพราะฝ่ายบริหารมี อำนาจอยู่แล้วในระบบบริหารราชการทั่วไป หรือเป็นเพราะมีบทกฎหมายที่ได้ตราไว้แล้วบัญญัติให้อำนาจไว้ และลักษณะที่สอง เป็นงานที่ ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องตรา (หรือแก้ไข) กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะบทกฎหมายที่มีอยู่แล้ว มีข้อบกพร่อง หรือเป็นเพราะจำเป็นจะต้องตราบทกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อการวางระบบบริหารพื้นฐานของประเทศที่เรายังไม่เคยมี ก็ตาม
งานในลักษณะที่สอง คือ งานที่ ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องตรากฎหมายนี้ ซึ่งในกรณี จะเห็นได้ว่า มีสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอยู่ ๒ สถาบัน (คือ ฝายบริหาร - นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่งจะไม่เหมือนกับภารกิจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมี องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียว ; และดังนั้น ถ้าต้องการ ให้การปฏิบัติภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร สำเร็จไปด้วยดี ในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว(ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งระบบสถาบันการเมือง - ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ก็จำเป็น จะต้องคำนึงถึงการมี จุดหมายร่วมกัน และการประสานการทำงาน ระหว่างสองสถาบัน ( รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องตรากฎหมาย จะมีความสำคัญมากกว่า งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ต้องตรากฎหมาย เพราะสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่เข้ามา ผูกขาดอำนาจ ตลอดจนการบิดเบือนอำนาจ (abuse of power)เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งของนักการเมืองและของข้าราชการประจำ ล้วนแล้วแต่มาจากข้อบกพร่องของ ตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้มาตรฐาน(สากล)ทั้งสิ้น ; การที่นักการเมืองที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่ถูกดำเนินคดีและฟ้องร้องลงโทษ ก็เพราะความพิกลพิการใน กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องการการแก้ไขโดยการตรากฎหมาย ; รวมตลอดไปถึง ถ้าหากจะคิด แปลงระบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นระบบที่ถาวรในทางหนึ่งทางใด ก็ต้องตราเป็นกฎหมายเช่นเดียวกัน ; พูดรวม ๆ ก็คือ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบบริหารพื้นฐานของประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว(แต่มีข้อบกพร่อง) หรือต้องออกเป็นกฎหมายใหม่ ล้วนต้องตราเป็นกฎหมายโดยผ่านสภานิติบัญญัติทั้งสิ้น
การที่ รัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่มี ความคิดจะวาง รากฐานระบบการบริหารประเทศไว้โดย บทกฎหมายสำหรับอนาคต และคิดแต่เพียงว่า เข้ามาบริหารประเทศเพียงเพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อ ความเป็นประชาธิปไตย; ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่สั้นและง่ายเกินไป และทำให้ประเทศไทยเสียเวลาในการพัฒนาประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ ; รัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทราบว่า การบริหารประเทศในลักษณะนี้ (ด้วยมติคณะรัฐมนตรี)นั้น เมื่อรัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองฯพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ทุกอย่างก็จะกลับสู่ ที่เดิม ก่อนการรัฐประหาร ภายในเวลาไม่นานนัก ( ดังที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ อยู่ในขณะนี้) ; และถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดได้เพียงเท่านี้ ก็ไม่ควรทำรัฐประหาร
ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯมีความตั้งใจและมีความเสียสละที่แท้จริง คณะปฏิรูปการปกครองฯ ย่อมอยู่ใน ฐานะ ที่สามารถ จะตราและแก้ไขบทกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากมาย(หลายฉบับ) และสามารถอธิบายและทำให้ประชาชนเข้าใจได้ เพราะการแก้ไขบทกฎหมายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหวังได้ จากบรรดานักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่รวบรวม พรรคพวกลงทุนตั้งพรรคการเมืองและใช้เงินในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และโดยทางสังคมวิทยา (พฤติกรรม) ย่อมไม่มีนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)คนใดที่ได้ลงทุนใช้จ่ายเงินไปแล้วในการเลือกตั้ง ที่จะไม่แสวงหากำไรคืน(จากทรัพยากรของชาติ) ; ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ( และรัฐบาล และ สภานิติบัญญํติแห่งชาติ) มิได้มี จุดหมายในภารกิจนี้เลย
คณะปฏิรูปการปกครองและคนไทย ควรจะต้องรู้ว่า รัฐบาลของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ไม่มีความประสงค์ ที่จะตรา กฎหมายที่ทำให้การบริหารประเทศ มีระบบ (บริหาร) ที่ดี และมีความโปร่งใส - transparency ตามแนวทางของกฎหมายมหาชน ยุคใหม่ เพราะการมีระบบบริหารที่ดีและมีความโปร่งใสจะทำให้ โอกาสในการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ลดลง ; และ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)จึงชอบการบริหารด้วย มติคณะรัฐมนตรี และ การมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสั่งการแทนคณะรัฐมนตรี โดยอ้างว่า เพื่อความคล่องตัวในการบริหารประเทศ [หมายเหตุ สำหรับ ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคของหลักกฎหมายมหาชนว่า การเขียนกฎหมายอย่างไร จึงจะทำให้ กฎหมาย เป็น กฎหมายที่ดี; ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวในหัวข้อ (๓.๒) ที่ว่าด้วย ขอบเขตของการปฏิรูปการเมืองของ ประเทศไทย - ประเทศที่ด้อยพัฒนา(ทางกฎหมาย) ใน ส่วนที่ (๓) ต่อไป]
ข้อที่ (๒) การออกแบบ การจัดองค์กรของ ระบบสถาบันการเมือง (ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙) จำเป็น จะต้องให้สอดคล้อง กับ ลักษณะของภารกิจ
สิ่งที่สำคัญในการบริหาร (ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดิน) ก็คือ การจัดองค์กร(organization) ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับ ภารกิจ ; ซึ่งในกรณีของการรัฐประหาร ก็คือ การจัดองค์กรของ ระบบสถาบันการเมือง( สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาล) ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับลักษณะของภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องตรากฎหมาย
ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า ในขณะที่เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ ในดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ กับ นักกฎหมายและนักวิชาการ ที่มาช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว )ได้มีการปรึกษาหารือและพิจารณาถึงการออกแบบ(รัฐธรรมนูญชั่วคราว) ที่ต้องคำนึงถึง ความจำเป็นที่จะต้องมีการประสานงานระหว่าง รัฐบาล กับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการออกกฎหมาย หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการพิจารณาถึงปัญหานี้ ย่อมแสดงถึง ความไม่รู้ และ ความไม่พร้อมของการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างมาก
วิธีการและหลักเกณฑ์ในการคัดสรรตัวบุคคลพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นรัฐบาล เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ ของภารกิจ - งานบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหาร
ผู้เขียนเห็นว่า นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นภาระปกติของรัฐบาลแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการบิดเบือนอำนาจเพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (ควร)จะต้องกำหนดให้ การทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส transparency ที่อยู่บนพื้นฐานของวิธีการที่กำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย (มิใช่การบริหารโดยมติของคณะรัฐมนตรี) ให้เป็นจุดหมายของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลชั่วคราวในช่วงของการรัฐประหาร และจะต้องทำให้เกิดขึ้นสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลต่อ ๆไป ด้วย
อันที่จริงแล้ว ภารกิจนี้ ก็คือ การเริ่มต้น การปฏิรูป - ระบบบริหารประเทศในระดับล่างของกฎหมายปกครอง (administrative law) เพื่อให้รับกับ การปฏิรูป ระบบสถาบันการเมือง ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ (constitutional law) นั่นเอง ; ซึ่งภารกิจนี้ มี กฎหมายที่จะต้องมีการปฏิรูปเป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาอันจำกัด รัฐบาล(ชั่วคราว)ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ คงทำได้เท่าที่ทำได้เท่านั้น
การกำหนดจุดหมายและภารกิจ (การบริหารราชการแผ่นดิน)อย่างชัดเจนและเปิดเผยไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงเหตุผล ของการกำหนด วิธีการคัดสรรและ การเลือกตัวบุคคลเพื่อการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเพื่อเป็นฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพราะข้อกำหนดเหล่านี้ จะทำให้ได้บุคคล ที่เหมาะสมกับ ภารกิจ ซึ่งจะมีหน้าที่ต้องทำภารกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้บรรลุจุดหมาย ซึ่ง คงมิใช่เพียงแต่ว่า จะตั้งบุคคลใด ๆ จากกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามแต่จะกำหนดขึ้นมา โดยอ้างเพียงว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
เท่าที่ปรากฎ จากการตรวจสอบดูบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราชไทย ๒๕๔๙ (มาตรา ๕) ที่กำหนดให้มีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภุมิภาคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ฯลฯ และ(มาตรา ๑๔) กำหนดไว้มีความว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรคนหนึ่ง โดยในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และ ฯลฯ แสดงให้เห็นได้ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองฯ มิได้มีการกำหนด ภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล(ชั่วคราว)ในช่วงของการรัฐประหารแต่อย่างใด และคณะปฏิรูปการปกครองฯอาจคิดว่า การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร คงเหมือน ๆ กับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติ ซึ่งแล้วแต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและ รัฐบาลที่คณะปฏิรูปการปกครองแต่งตั้งมาแล้ว จะดำเนินการไปได้เองตามความคิดเห็นของตนเอง และด้วยเหตุนี้ การคัดสรรตัวบุคคลในสถาบันการเมืองทั้งสอง (สมาชิกสภานิติบัญญัติ และคณะรัฐมนตรี) จึงไร้ จุดหมาย
จากการประเมิน ผลงานของสถาบันการเมือง( สภานิติบัญญัติแห่งชาติและ รัฐบาล)ในช่วง ๑ ปี ๓ เดือน (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) แสดงให้เห็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ และบุคคลในรัฐบาล ไม่เข้าใจและไม่ทราบว่า ในช่วงเวลา(อันจำกัด)ของการรัฐประหาร ตนมีภารกิจเร่งด่วนในตรากฎหมายเพื่อแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ (ควร)จะต้องทำให้สำเร็จ ในเรื่องใดบ้าง
ข้อที่ (๓) คณะปฎิรูปการปกครอง ฯ จำเป็น ต้องเป็น แกนกลาง ของการปฏิบัติภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ (ถาวร)ฉบับใหม่
เมื่อได้ทราบ ขอบเขต และ ลักษณะของวิธีการทำงานของ ภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจน รูปแบบของสถาบันและองค์กรของรัฐที่จะทำหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดและจำเป็นที่สุด ก็คือ การประสาน การทำงาน ของสถาบันและองค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่
ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงจะต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคณะปฏิรูปการปกครองฯของตนเองให้ชัดเจน และวาง วิธีการทำงานของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ให้แน่ชัดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ประการแรก ก็คือ นอกเหนือจากการเปิดเผยและการทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป(เกี่ยวกับภารกิจ)ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภารกิจ( การบริหารราชการแผ่นดิน)ที่จำเป็นต้องทำในช่วงของการรัฐประหาร กับสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดย คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ต้องไม่ลืมว่า ตนเองมีหน้าที่ กำกับดูแล การปฏิบัติการตามภารกิจ ให้สำเร็จุล่วงไปให้มากที่สุดที่จะทำได้ อีกทั้งคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะ ต้องเข้าใจ จุดอ่อน ของสภาพทางสังคมวิทยาของระบบราชการและของข้าราชการไทยที่ไม่อยากทำงานให้แก่รัฐบาลชั่วคราว
สิ่งที่ขาดหายไป ในรํฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็คือ การประชุม (forum)ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ กับหัวหน้าของสถาบันหรือองค์กรของรัฐที่สำคัญ ๆ ซึ่ง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสานงาน / ติดตามผลงาน / และร่วมกันแก้ปัญหาในทางบริหาร และที่สำคัญก็คือ เพื่อกำหนด ภารกิจที่จำเป็นต้องทำ(การปฏิรูปกฎหมาย) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพราะภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจกำหนดล่วงหน้าครั้งเดียวและให้เป็นที่สุดได้
เท่าที่ปรากฎ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ (มาตรา ๓๔)บัญญัติไว้ เพียงว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นคณะปฏิรูปการเมือง ฯ) และในกรณีที่เห็นสมควร ประธานมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกัน(ระหว่าง คมช. และ ครม.) ในปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้ ; ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครอง มองไม่เห็นบทบาทของตนเอง ใน ภารกิจที่สำคัญนี้
ประการที่สอง ในการปฏิบัติ ภารกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหารให้สำเร็จนี้ คณะปฏิรูปการปกครองฯจำเป็นจะต้องมี ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับสภาพทางวิชาการกฎหมายของประเทศ(ไทย) คือ ต้องทราบว่า ระดับความรู้และความสามารถของนักวิชาการในวงการกฎหมาย(ของไทย)ในปัจจุบัน ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในระดับสากลของประเทศที่พัฒนาแล้ว(มาก) และประเทศไทยเต็มไปด้วยนักกฎหมายประเภทศรีธนญไชย แต่ในทางกลับกัน ภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดินที่จำเป็นต้องตราหรือแก้ไขกฎหมาย จะมีเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น สิ่งที่จำเป็น ต้องทำ [แต่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น เพราะคิดว่าประเทศไทยเต็มไปด้วย นักกฎหมายที่มีปริญญา(บัตร)อยู่จำนวนมาก] ก็คือ การรวม หน่วยการร่างกฎหมาย (เฉพาะกิจ) และนำเอานักกฎหมายที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดว่า ดีที่สุด(เท่าที่ประเทศไทยจะพึงมี ) มาไว้ในหน่วยนี้ เพื่อทำให้การร่างกฎหมายที่เป็นภารกิจเร่งด่วน สามารถทำให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว พร้อมทั้งการจัดบันทึกอธิบายร่างกฎหมายฯ (โดยมีการกำหนดมาตรฐาน) ; คณะปฏิรูปการปกครองและรํฐบาล ไม่ควรปล่อยให้ส่วนราชการแต่ละแห่งต่างคนต่างเขียนกฎหมายด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นกฎหมายที่ขาด คุณภาพแล้ว ยังมีแนวโน้มที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะเขียนกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการขยายอำนาจของตนเอง
คณะปฏิรูปการปกครองฯควรจะต้องทราบด้วยว่า คุณภาพ (การออกแบบกลไก mechanism ของ(ร่าง)กฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย แม้แต่กับสถาบันที่เกี่ยวกับการร่างกฎหมายของเราเอง ; ผู้เขียนเห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ อยู่ในฐานะที่จะกำหนดวิธีการร่างกฎหมาย เพื่อให้คนไทยเห็นเป็น แบบอย่างได้ว่า กระบวนการร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาทำกันอย่างไร และ มาตรฐานของการทำ เอกสารประกอบร่างกฎหมายมีความสำคัญอย่างไร และก่อให้เกิดความโปร่งใส transparency ในการตรากฎหมายได้ อย่างไร ; สิ่งเหล่านี้ จะเป็นการให้ประสบการณ์แก่สังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งของ การปฏิรูปการเมือง
อ่านต่อ
หน้า 27
หน้า28
หน้า 29
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1195
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 22:44 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|