สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๒๑)

25 ธันวาคม 2550 21:37 น.

       “การบิดเบือน”หลักการและกลไกของระบอบประชาธิปไตย คืออย่างไร และ “ใคร”เป็นผู้ได้รับประโยชน์ : ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ซึ่งเป็น ลักษณะเฉพาะ ( characteristics)ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ : และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่เขียนเช่นนี้ ; และเพื่อความเข้าใจของท่านผู้อ่าน ผู้เขียนขอให้รายละเอียดอย่างสั้น ๆโดยสังเขป เกี่ยวกับ “ประเด็น”ต่าง ๆ ที่ ผู้เขียนได้ตรวจสอบรายละเอียดในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ดังนี้ [หมายเหตุ : บางส่วนของ “รัฐธรรมนูญ(ต่างประเทศ)”ที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบ ผู้เขียนได้นำมาพิมพ์เผยแพร่ให้ท่านผู้อ่านทราบ เป็น “เอกสารวิชาการ”ในหนังสือที่จัดพิมพ์ โดยสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามที่ได้อ้างมาข้างต้น]
       - ประเด็น การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค พบว่า รัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศ ( และประเทศอื่น ๆ เท่าที่ตรวจดู)ไม่มีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และท่านผู้อ่านคงได้ทราบมาแล้วว่า แม้แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง
       รัฐธรรมนูญของประเทศสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์)ซึ่งเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้มีอยู่เพียง ๕ ประเทศ ก็ไม่มีบทบัญญัตินี้เช่นเดียวกัน; รัฐธรรมนูญของประเทศจีน ไม่มีแม้แต่การระบุคำว่า “พรรคคอมมิวนิสต์”ไว้ในรัฐธรรมนูญ และดูเหมือนว่า มีรัฐธรรมนูญของประเทศคิวบาเพียงประเทศเดียว ที่ในรัฐธรรมนูญมีคำว่า “พรรคคอมมิวนิสต์” โดยระบุว่า The Communist Party of Cuba เป็น the organized vanguard of the Cuban nation
       - ประเด็น บทบัญญัติรัฐูรรมนูญที่ให้หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. พบว่า รัฐธรรมนูญส่วนมากของประเทศเสรีประชาธิปไตย มีบทบัญญัติที่ให้หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. (ให้เป็นไปตามมโนธรรมของตน)
       - ประเด็น อำนาจของพรรคการเมืองในการมีมติ (ที่มีผล)ให้ ส.ส.ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของการเป็น ส.ส. พบว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญของประเทศใดแม้แต่ประเทศเดียว ที่มีบทบัญญัติเช่นนี้ รวมทั้งรัฐธรรมนูญของประเทศสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์)
       
- ประเด็น บทบัญญัติบังคับให้การเต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี”ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น พบว่า รัฐธรรมนูญ(ที่ใช้ระบบรัฐสภา)ของประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศไม่มีบทบัญญัตินี้ และเช่นเดียวกัน บทบัญญัตินี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญของประเทศสังคมนิยม(คอมมิวนิสต์) ; ประเทศเหล่านี้ ถือว่า หลักการของระบอบประชาธิปไตย อยู่ที่อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการให้ความเห็นชอบในตัวบุคคลที่จะเป็นรัฐบาล และบุคคลใดก็ตาม ที่เป็นบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ย่อมเป็น “คนที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี” ได้
       โดยสรุป จะเห็นได้ว่า ระบบสถาบันการเมือง – form of government ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐)ของเรา ได้ออกนอกกรอบของหลักการของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ของรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล และไม่เป็น “ประชาธิปไตย”
       การบิดเบือนไปจากหลักการของระบอบประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ บรรดา “นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น” ที่ครอบงำพรรคการเมือง อยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙) ; เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่รัฐธรรมนูญของเขาเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎร(ของเขา) มีโอกาสเลือก คนที่ดีที่สุดของสังคม ให้มาเป็น “นายกรัฐมนตรี”ได้ โดยไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่า สภาจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. เท่านั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของเราในขณะนั้น(พ.ศ. ๒๕๓๙ ) แสดงพฤติกรรม “ความเห็นแก่ตัว”ให้ปรากฎ มากกว่านักการเมือง ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       ทั้งนี้ โดยยังไม่ต้องพูดถึง “พฤติกรรม”ของบรรดานายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) ที่ได้จัดตั้งพรรคการเมืองและลงทุนออกเงินล่วงหน้า ช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส.ในสังกัดพรรคของตนในการเลือกตั้ง ว่า ทำไมนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)เหล่านี้ จึงต้องการให้รัฐธรรมนูญมีบทบัญญติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค และมีบทบัญญัติ ตัด “ สิทธิของสภาผู้แทนราษฎร”ในการที่จะเลือก “บุคคลภายนอกที่ดีกว่า” มาเป็นนายกรัฐมนตรี ; ท่านผู้อ่านคงคิดได้เอง ว่า บุคคลเหล่านี้ (นายทุนธุรกิจ –ระดับท้องถิ่น) ต้องการบทบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง(โดยการอ้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” – ที่ไม่ตรงกับความเห็นสากล) หรือต้องการบทบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ (?) (?)
       
       นักกฎหมายในวงการวิชาการทางกฎหมาย ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙) : ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่บิดเบือนไปจาก “หลักการ”ของระบอบประชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ elite ของสังคมไทย ที่เป็นนักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมาย
       อันที่จริง ระบบเผด็จการใน “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ในรัฐธรรมนูญของไทยนั้น เกิดขึ้นค่อนข้างแปลก เพราะตามความเป็นมาแต่เดิม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดย”พรรคการเมือง”นี้ มิได้มุ่งหมายจะให้เป็นระบบเผด็จการสำหรับพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ แต่มุ่งหมายสำหรับ “พรรคการเมือง”ที่เป็นพันธมิตรของนักการเมือง (ทหาร)ที่มาจากการปฏิวัติ
       
โปรดดูข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง เริ่มตั้งแต่ จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งยกร่างโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่แต่งตั้งโดย สภานิติบัญญัติ” ตามธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๑๕)
       ถ้าท่านผู้อ่านนึกย้อนดูเหตุการณ์ก่อนมีการรัฐประหาร(โดยคณะปฏิวัติ)ในปลายปี (เดือนพฤศจิกายน) พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้อ่าน คงจะจำได้ว่า ในขณะนั้น เรามีรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นทหาร ซึ่งปรากฎว่า ในการเสนอ“กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ”ซึ่งรัฐบาลต้องให้สภาผู้แทนราษฎร ให้ความ เห็นชอบในแต่ละปี รัฐบาลจะต้องเจรจาต่อรอง “งบ ส.ส.”(ที่ ส.ส.แต่ละคนจะได้รับ )ให้เป็นที่พอใจเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว งบประมาณของรัฐบาลก็จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร(และรัฐบาลต้องลาออก) ; จำนวนเงินของ “งบ ส.ส.”นี้ ส.ส.จะ ขอเพิ่มขึ้นทุก ๆปี ; และนอกเหนือไปจากนั้น ในการลงมติของสภาผุ้แทนราษฎร ในเรื่องสำคัญ ๆ ของรัฐบาลแต่ละครั้ง ก็จะเป็นข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับการแจก “ซองขาว”ในห้องน้ำของสภาผู้แทนราษฎร
       ดังนั้น ในการร่างรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้มี นักวิชาการจำนวนหนึ่ง คิดเอา “ระบบพรรคการเมือง”มา กำกับการทำงานของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพื่อที่รัฐบาลจะได้ต่อรองกับ ส.ส. อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน (แทนการซื้อเสียง ส.ส.ในการลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม) ; แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก( รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗)นั้น ยังอาจถือไม่ได้ว่า เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”โดยสมบูรณ์แบบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ยอมให้ ส.ส.ย้ายพรรคการเมืองได้ภายใน ๖๐ วันในกรณีที่พรรคการเมืองเดิมมี “มติ”ให้ ส.ส.พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง
       “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง( ที่สมบูรณ์แบบ)” เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ( ฉบับก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ) โดยความคิดทางวิชาการของนักวิชาการในขณะนั้น(พ.ศ. ๒๕๒๑) ได้เปลี่ยนแปลงไปจากความคิดเดิม ; รัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๒๑ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้สร้าง“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” โดยบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง และพร้อมกันนั้น ได้กำหนดให้พรรคการเมืองมีอำนาจมากขึ้นในการควบคุม ส.ส.ในสังกัดพรรค ซึ่งผู้เขียนคิดว่า นักวิชาการ(ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ )สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้าว่า หากนักการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ(ทหาร) จะ เป็น“รัฐบาล”ต่อไป (หลังจากการปฏิวัติและมีการเลือกตั้งแล้ว ) ก็คงจะต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมือง (ที่อยู่ในความครอบงำของนักการเมืองที่เป็นพันธมิตรของทหาร) และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะ pattern ทางการเมืองเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติมาแล้ว
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ให้ อำนาจแก่พรรคการเมืองมากขึ้น คือ ให้พรรคการเมืองสามารถมีมติให้ ส.ส. พ้นจากสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงทันทีที่พรรคมีมติ โดย ส.ส.ไม่มีสิทธิย้ายพรรคการเมืองภายใน ๖๐ วัน ( ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เคยให้โอกาสไว้) และมาตรการนี้ เป็น “มาตรการ”ที่ออกนอกกรอบของหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง (และเป็นประเทศเดียวในโลก)
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔) ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมาธิการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”หลังการปฏิวัติ ; ยกเว้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการฯ ที่แต่งตั้งโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”หลังการปฏิวัติ เช่นเดียวกัน แต่ได้มีการเปลี่ยนสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติใหม่ทั้งชุด(โดยสมาชิกของสภาสนามม้า) หลัง “เหตการณ์ วันที่ ๑๔
       ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖” [หมายเหตุ :โปรดดู การเปลี่ยนแปลง ตัวบทรัฐธรรมนูญ ฉบับต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นได้ จาก เอกสารวิชาการ หมายเลข ๑ ส่วนที่ ๑.๒ ว่าด้วย “วิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ไปสู่ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนักธุรกิจนายทุน” ใน หนังสือที่จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า ดังกล่าวข้างต้น ]
       จะเห็นได้ว่า ด้วย “ความไม่รอบรู้”และ “ความไม่รอบคอบ”ของนักวิชาการ ที่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาความทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ ของ ส.ส.”ที่เกิดขึ้นก่อนการปฎิวัติ พ.ศ. ๒๕๑๕ (ซึ่งในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐นี้ ก็ยังแก้ไม่ได้) ได้นำไปสู่การสร้าง ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง ซึ่งในที่สุด ได้ก่อให้เกิดผลเสียแก่ประเทศ และเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รับชั่น(อย่างร้ายแรง)ต่อเนื่องกันมาจนถึงขณะนี้ (ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐)
       ผู้เขียนเห็นว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”ที่เริ่มก่อตัวขึ้นด้วยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้กลายเป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(สมบูรณ์แบบ)”ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑) นั้น นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศในทางกายภาพ (physically) ที่เป็นทรัพยากรและเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมากแล้ว ยังสร้างความเข้าใจผิดในหลักการของระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนไทยและทำความเสียหายให้แก่ระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเสียหายทางสังคม (socially)ของสังคมไทยอย่างร้ายแรง อีกด้วย
       การที่พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจต่างมุ่งหมายที่จะให้จำนวน “ส.ส.”ในสังกัดพรรคการเมืองของตน มีจำนวนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (เพื่อหวังเข้ายึดครอง “อำนาจรัฐ”ในระบบรัฐสภา) นายทุนธุรกิจเหล่านี้ย่อมกระทำ โดยทุก ๆ วิธีการเพื่อให้บรรลุจุดหมาย ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ; สิ่งที่ตามมา ก็คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเคยชินต่อ “การซื้อขายเสียง” / ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีศักยภาพ จะเคยชินต่อการได้รับ “เงินตอบแทน”ในการเลือกพรรคการเมืองที่ตนจะอยู่ในสังกัด / ผู้ที่เป็น ส.ส. จะเห็นว่าการได้รับ “เงินช่วยเหลือ”เป็นรายเดือนจากพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่เป็นปกติ / ทั้งนี้ โดยไม่กล่าวถึง ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เช่น การให้ตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการและตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ การให้สิทธิพิเศษในการทำสัญญากับทางราชการ ฯลฯ ; สิ่งเหล่านี้ คือ ความเลวร้าย - vice ที่เกิดจากการที่รัฐธรรมนูญได้สร้าง”ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ” โดยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.
       ในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสครั้งหนึ่ง (ในขณะการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑) ผู้เขียนในฐานะที่เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เคยทักท้วงใว้ว่า การเขียนบทบัญญัติเช่นนี้จะมีผลเสียมากกว่าผลดี และมี “วิธีการ”อื่นที่ดีกว่า แต่ข้อทักท้วงของผู้เขียนมิได้รับการรับฟัง
       “เหตุผล” ที่นักวิชาการอ้างกันในขณะนั้น(พ.ศ. ๒๕๒๑ และอ้างกันอยู่ในขณะนี้(พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑) ก็คือ ถ้าไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ เพราะ ส.ส.จะขายเสียง ในสภา ; ผู้เขียนเห็นว่า เราสามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้รัฐบาล มีเสถียรภาพได้ โดยไม่ต้องบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ถ้าเราศึกษาและมี”ความรู้”พอ และประเทศที่พัฒนาแล้วก็ได้แสดง “แนวทาง”ในการแก้ไขปัญหานี้ให้เราได้เห็นแล้วในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (rationalized systems)
       
       (จาก)“ระบบเผด็จการทหาร” ที่ได้อำนาจรัฐมาด้วยการรัฐประหาร - (มาสู่)“ระบบเผด็จการนายทุนธุรกิจ” ที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วยการเลือกตั้ง(ที่ต้องใช้เงิน)”: “พฤษภาทมิฬ” เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง จาก “ระบบเผด็จการทหาร” มาสู่ “ระบบเผด็จการนายทุนธุรกิจ”
       ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปรากฎว่า ได้มีนักวิชาการจำนวนมากในวงการมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ออกมาเรียกร้องให้เขียนบทบัญญัติใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เพื่อแสดง “ความเป็นประชาธิปไตย”
       นักวิชาการเหล่านี้ มองไม่เห็น “ความผิดปกติ”ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค และการให้อำนาจแก่พรรคการเมืองในการผูกขาดอำนาจรัฐและสามารถบังคับ”มติ”ของ ส.ส.ได้ และนักวิชาการเหล่านี้ มองไม่เห็น “ความสำคัญ"ของสภาพสังคมในทางสังคมวิทยาที่มีผลต่อการเลือกตั้ง (“การเลือกตั้ง” ภายใต้สภาพสังคมไทยที่อ่อนแอและความพิกลพิการของระบบบริหาร) ซึ่งตรงกันข้าม กับนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)
       ผู้เขียนเห็นว่า นักการเมือง – นายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น(ที่มาจากการเลือกตั้ง) รู้ “เรื่อง(การเลือกตั้งกับสภาพสังคม) ”ดีกว่าและฉลาดกว่า นักวิชาการแบบไทย ๆ และนักการเมือง – นายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่นเหล่านี้ฉวยเอาประโยชน์จาก “ความไม่รู้”ของนักวิชาการ
       ก็ในเมื่อนักกฎหมายในวงการวิชาการกฎหมาย ได้ให้ “บริการ”แก่นักการเมือง(ทหาร)ที่มาจากการปฏิวัติ ด้วยการสร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ไว้สำหรับพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับทหาร (มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ จนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔) แล้ว ดังนั้น เมื่อ “ทหาร”จำเป็นต้องถอนตัวออกจากการเมืองเพราะเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ก็ไม่ยากอะไร ที่จะทำให้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(สมบูรณ์แบบ)”นั้น เป็นระบบเผด็จการของ “นายทุน”ที่ลงทุน ตั้งพรรคการเมือง ; ซึ่งก็ เพียงแต่เติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ เพียงมาตราเดียวว่า “นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.” เพียงเท่านี้ อำนาจรัฐ (ซึ่งเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองอยู่แล้ว) ก็จะเป็นของนายทุนเจ้าของพรรค (ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง)ในทันที
       ด้วยเหตุนี้ หลังจากเหตุการณ์”พฤษภาทมิฬ” บรรดาพรรคการเมืองในขณะนั้น (ไม่ว่าจะเป็น “พรรคเทพ” หรือ “พรรคมาร” ) จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.”
       
       อันที่จริง หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรา(คนไทย)มีเวลาที่จะทบทวนข้อบกพร่องของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔” อยู่ระยะหนึ่ง ; เราคงจำได้ว่า ในขณะที่สังคมไทยยังมีความหวั่นไหวอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เรา(คนไทย)ก็บังเอิญได้นายกรัฐมนตรี(พระราชทาน)และคณะรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลที่เป็นกลาง เข้ามาบริหารประเทศอยู่ชั่วระยะหนึ่งประมาณ ๓ เดือนเศษ ; ซึ่งในระหว่างนี้ ถ้าเราคิดจะ“ปฏิรูปการเมือง”ก็คงสามารถทำได้
       และในช่วงเวลานี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความบทหนึ่งขอให้ “คณะรัฐบาล”ในขณะนั้น ทำการวิจัยรูปแบบ – form of government ที่ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญของไทย และทำการ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระบบการบริหารใน “ระบบรัฐสภา”แบบเดิม ๆ ; แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ข้อเรียกร้องของผู้เขียนไม่ได้รับการพิจารณา ; และผู้เขียนคิดว่า ประเทศไทยได้สูญเสีย “โอกาส”ที่จะปฏิรูปการเมือง (ด้วยเหตุด้วยผลในทางวิชาการ)ไปอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับที่เราได้เคยได้สูญเสียโอกาสเช่นนี้ในอดีตมาแล้ว ๒ – ๓ ครั้ง หลังจากที่มี “เหตุการณ์”ที่ทำให้เราได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลที่เป็นกลาง คือ ไม่ใช่ทั้งบุคคลที่ได้อำนาจรัฐมาจากการรัฐประหาร และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ “นักการเมือง”ที่มาจากการเลือกตั้งที่ต้องลงทุน; แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะโทษผู้ใดไม่ได้ นอกจาก “ความโชคร้าย”ของประเทศไทย
       [หมายเหตุ แต่ไม่ว่าใครก็ตาม ที่คิดจะ “ปฏิรูปการเมือง” คงจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทั่วไป เข้าใจให้ได้ว่า เพราะเหตุใด จึงต้องมี “การปฏิรูปการเมือง” และรูปแบบ – form of government ของ “ระบบรัฐสภา- parliamentary system”แบบเดิม ๆ ที่เราใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญ(ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้) มีข้อบกพร่องอย่างไร ; การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง เป็นบทบัญญัติที่ออกนอกกรอบของ “หลักการ”ของระบอบประชาธิปไตย อย่างไร และหากไม่มีการปฏิรูปการเมืองแล้ว “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) จะก่อให้เกิดปัญหาการเมืองในอนาคตและก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร ตลอดจนต้องอธิบายให้ได้ว่า “รุปแบบ – form of government”ตามข้อเสนอใหม่ในการปฏิรูปการเมืองนั้น ดีอย่างไ รและจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตาม “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อย่างมีประสิทธิภาพ) ได้อย่างไร]
       
       ในที่สุด ในเดือนกันยายน (วันที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬประมาณ ๓เดือนเศษ ก็ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (มาตรา ๑๕๗) กำหนดให้ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”(เท่านั้น) โดย รธน. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังจากที่รัฐบาล(พระราชทาน)ได้ยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ (ในวันที่ ๑๓ กันยายน)
       ผลในที่สุด ก็คือ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ (เดือนกันยายน) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่นักวิชาการ(จำนวนหนึ่ง) ตั้งใจจะสร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง”ไว้สำหรับทหาร โดยให้พรรคการเมือง (ที่เป็นพันธมิตรของทหาร) จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับทหาร ก็กลายเป็นว่า นักวิชาการนั้นได้สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ให้แก่ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและ ครอบงำพรรคการเมืองต่าง ๆอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๔)
       “รูปแบบการปกครอง - form of government” ตามรัฐธรรมนูญของเรา (คนไทย)
ก็เปลี่ยน “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” จาก“ระบบเผด็จการ - ทหาร” ที่ได้มาอำนาจรัฐมาด้วยการรัฐประหาร มาสู่“ระบบเผด็จการ - นายทุนธุรกิจ” ที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วยการเลือกตั้ง(ที่ต้องใช้เงิน)
       และเรา (คนไทยทั้งประเทศ) เรียก ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง นี้ว่า เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       ทั้งนี้ ตามที่ “นักธุรกิจนายทุน”(ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ)ที่ลงทุนในพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐ และ “นักวิชาการแบบไทย ๆ” ที่ให้บริการแก่นักการเมือง(ทั้งนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐมาด้วยการรัฐประหารและนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐมาด้วยการเลือกตั้ง) สอนให้เราเรียกเช่นนั้น
       
       (วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
       
       อ่านต่อ
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1175
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 23:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)