ครั้งที่ 172

28 ตุลาคม 2550 23:35 น.

       ครั้งที่ 172
       สำหรับวันจันทร์ ที่ 29 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2550
       
       “โหมโรงเลือกตั้ง”
       
       ภายใต้ความสับสนวุ่นวายทางการเมืองที่นักการเมือง “บางกลุ่ม” ยัง “หาที่ลง” ไม่ได้ วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการก็ถูกกำหนดมาแล้วว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม ครับ คนที่เบื่อข่าวการตั้งพรรคการเมือง การยุบรวมพรรคการเมือง ในวันนี้คงต้องทำใจกันต่อไปอีกอย่างน้อยเกือบเดือนเพราะแม้มาตรา 101(3)แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะกำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้งก็ตาม แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ได้ “ผ่อนผัน” เกณฑ์ดังกล่าวเอาไว้ในมาตรา 296วรรคสองว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้งครับ ด้วยบทเฉพาะกาลนี้เองทำให้การเมืองของเราจะไป “นิ่ง” เอาก็เกือบปลายเดือนพฤศจิกายนนั่นแหละครับ
       ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคมนี้น่าจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เท่าที่ผมมองดูในวันนี้ในเบื้องต้น ผมเห็นว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ พรรคการเมืองกับนักการเมือง การกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม และการสนับสนุนจากภาครัฐในการเลือกตั้งครับ องค์ประกอบ3ประการนี้ “น่าจะ” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคมที่จะถึงเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับการ “ยอมรับ” จากทุกฝ่ายครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอพูดเพียงเรื่องเดียวคือพรรคการเมืองกับนักการเมืองครับ ภายใต้บรรยากาศของการจับขั้วทางการเมืองในวันนี้ เราคงพอมองเห็นแล้วว่ากลุ่มการเมืองใหญ่ๆที่มีบทบาทในสังคมช่วง2-3เดือนผ่านมามีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มไทยรักไทยเดิมที่กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชน กลุ่มฝ่ายค้านเดิมอันได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนที่ยังคง “เหนี่ยวแน่น” กันอยู่ ส่วนกลุ่มที่ 3 ยังไม่มีความชัดเจนและค่อนข้าง “วุ่นวาย” จึงขอเรียกว่า “กลุ่มอะไรก็ไม่รู้” ไปก่อนครับ ภาพของกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองนั้นมีความ “นิ่ง” และ “ชัดเจน” อยู่ในตัวโดยไม่ต้องอธิบายและไม่ต้องมีข้อสงสัยใดๆเลยเพราะทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีทางเข้ามารวมกันได้สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ช่วงระยะเวลาสั้นๆที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้เองครับ ส่วนกลุ่มที่สามคือ “กลุ่มอะไรก็ไม่รู้” นั้นผู้ที่เข้ามารวมกลุ่มส่วนหนึ่งมีที่มาค่อนข้าง “สับสนวกวน” และ “ไม่ชัดเจน” อยู่ในตัวครับโดยมีบางคนที่เคยอยู่พรรคไทยรักไทยมาก่อน เคยเดินตามหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารคนเหล่านี้ก็ “ตีจาก” พรรคการเมืองเก่าอย่างเลือดเย็น พร้อมเต็มที่ที่จะเข้าสู่อำนาจ “กับใครก็ได้” จึงมารวมตัวกันประกาศออกมาว่าจะตั้งพรรคทางเลือกที่สามบ้าง พรรคทางเลือกใหม่บ้าง พรรคทางสายกลางบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่สำเร็จเพราะความไม่ลงตัวของการจัดสรรเรื่องอำนาจนั่นเองครับ เรื่องคงอยู่ที่ว่า “นายทุน” เองก็อยากมีตำแหน่งสำคัญๆในพรรคการเมือง ในขณะที่นักการเมืองประเภท “เขี้ยวลากดิน” เองก็หวังตำแหน่งนั้น ส่วนบรรดา “ลูกทีม” ก็เช่นกันที่พยายามให้ความสำคัญกับตัวเองและกับกลุ่มย่อยของตัวเอง ในวันนี้การรวมกลุ่มของคนเหล่านี้จึงยังไม่นิ่งและเราก็ยังมองไม่ออกว่า “ทางเลือกที่สาม” “ทางเลือกใหม่” หรือ “ทางสายกลาง” ของคนเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรครับ พฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ของการเมืองในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นการเมืองที่ไม่นิ่ง การเมืองที่วุ่นวาย การเมืองที่น่าเบื่อ การเมืองที่น่ารำคาญ การเมืองที่ไม่มีสัจจะ การเมืองที่ไม่มีจุดยืน การเมืองที่กลายเป็นเรื่องตลกฯลฯ
       ผมไม่ทราบว่า นักการเมืองที่ออกมาเสนอตัวว่าเป็น “ทางเลือกที่สาม” “ทางเลือกใหม่” หรือ “ทางสายกลาง” นั้นมี “ความรู้ความเข้าใจ” เกี่ยวกับคำที่ตัวเองออกมาเสนออย่างไรบ้าง เพราะสำหรับผมไม่ว่าจะเป็น “ทางเลือกที่สาม” “ทางเลือกใหม่” หรือ “ทางสายกลาง” สิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดก็คือ “นโยบายทางการเมือง” ที่มีความ “แตกต่าง” จากนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ นโยบายทางการเมืองเช่นว่านี้จะต้องจัดทำโดย “ผู้รู้” ผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบทั้งทางด้านทฤษฎีและจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาแล้ว เมื่อได้เปรียบเทียบกับ “ข้อด้อย” หรือ “ข้อบกพร่อง” ของนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วพบว่าสิ่งที่ตนจะนำเสนอนั้นน่าจะ “ดีกว่า” และจะ “เกิดผลดีกับประเทศชาติและประชาชน” หากนำมาปฏิบัติได้ นี่แหละครับถึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ทางเลือกที่สาม” “ทางเลือกใหม่” หรือ “ทางสายกลาง” แต่เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะดูด้วยอะไรก็ตามยังมองไม่เห็นทางเลยครับ ก็แต่ละคนล้วนเป็นคนที่ “คร่ำหวอด” มี “ประวัติ!” อยู่ในวงการการเมืองมานาน แถมบางคนก็ยังมี “ชื่อเสียง!” ในหลายๆด้านอีกด้วยครับ ส่วนบางคนนั้นก็อายุมากเหลือเกิน มากเกินกว่าจะเปลี่ยน “ความคิด” และ “พฤติกรรม” ทางการเมืองของตนได้แล้ว ใครจะเชื่อก็เชื่อนะครับแต่ผมเองไม่คิดเลยว่า “กลุ่มอะไรก็ไม่รู้” นี้จะเข้ามาเป็น “ทางเลือกใหม่” หรือ “ทางสายกลาง” สำหรับประเทศไทยได้ครับ นอกจากนี้แล้วในระหว่างความชุลมุนของการรวมกลุ่ม ก็มีผู้หวังดีออกมา “ทวงบุญคุณ” หรือ “คุย” (ก็สุดแล้วแต่จะเรียก)ว่าเป็นผู้ “ปั้นนายกรัฐมนตรี” มากับมือ ลองออกมารับสารภาพกับสังคมได้ขนาดนี้ผมว่าเราหาตัว “จำเลย” ที่ถูกต้องได้แล้วนะครับ เพราะหากพบว่าบรรดานายกรัฐมนตรีที่ผู้นั้น “ปั้น” มาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ประเทศชาติต้องเสียหาย “ผู้ปั้น” น่าจะต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายของประเทศชาติด้วยนะครับ !!! ผมลองคิดดูเล่นๆว่าจะให้ผู้นั้นมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรก็คิดไม่ออก คงจะให้รับผิดชอบอะไรมากไม่ได้ เอาเป็นว่าเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้าย เลิกเล่นการเมือง หันหน้าเข้าวัดหรือไม่ก็พักผ่อนอยู่กับลูกหลานอย่างสงบดีกว่านะครับ อย่างน้อยก็จะทำให้การเมืองของเรา “ดีขึ้น” จริง เพราะจะมีนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่นักการเมืองรุ่นเก่ามากขึ้นครับ
       พูดถึงนักการเมืองไปแล้วก็อดพูดถึงพรรคการเมืองไม่ได้ ในวันนี้นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆก็ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควรครับ ผมคงไม่พูดถึง “กลุ่มอะไรก็ไม่รู้” เพราะไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และอีกอย่างเท่าที่พบเห็น นโยบายทางสายกลางนั้นเป็นนโยบายที่ “ผู้คิด” คิดว่า การรวมกลุ่มของคนเข้ามาเป็นกลุ่มใหม่คือ “ทางสายกลาง” เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องไปรอดูนโยบายอะไรทั้งนั้นครับ นโยบายที่เหมาะสมก็คงหนีไม่พ้น “รวมกับใครก็ได้ !!! ทำอะไรก็ได้!!!ที่จะทำให้ตนอยู่ในวงจรอำนาจ” ครับ ผมจะขอพูดนโยบายของกลุ่มการเมือง 2 กลุ่มแรกที่นโยบาย ที่ค่อนข้าง “นิ่ง” แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มแรกคือ พรรคพลังประชาชนนั้น เป็นที่แน่นอนว่ายึดนโยบายทุกอย่างของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็มีจุดขายอยู่ที่ โครงการประชานิยมต่างๆ ที่ว่ากันว่า สามารถ “ซื้อใจ” ประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศไปได้ และยัง “มัดใจ” ประชาชนเหล่านั้นให้ผูกติดอยู่กับพรรคไทยรักไทยต่อไปได้อย่างไม่เสื่อมคลายครับ เราคงไม่ต้องมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กันนะครับว่า นโยบายประชานิยมนั้นคืออะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง ใครสนใจลองเข้าไปดูที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 143 วันที่ 17-29 กันยายน 2549 ดูครับ
       สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ นโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่พรรคพลังประชาชนครับ เท่าที่ฟังดูและเท่าที่เห็นจากบรรยากาศการเมืองภายในประเทศที่จำนวนคนจนยังมากกว่าคนรวยหลายพันเท่า นโยบายประชานิยมน่าจะเป็นนโยบายที่ยังคง “ใช้ได้” กับประชาชนและเป็นนโยบายที่ “จำเป็น” อย่างมากในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้ครับ แต่เมื่อเรามาดูนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้นำเสนอออกมาบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าเป็นนโยบายประชานิยมดีๆนี่เองครับ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหน้าตาเสียใหม่เพื่อไม่ให้ใครมาว่าเอาได้ว่า “ลอกทักษิณ” ครับ ด้วยความกลัวว่าจะลอกทักษิณนี่เองที่ทำให้นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองอื่นมีลักษณะ “ขี่ม้าเลียบค่าย” อ้อมไปอ้อมมา ไม่กล้าฟันธงลงไปตรงๆ ว่า จะใช้นโยบายประชานิยม ก็น่าแปลกใจนะครับ ผมว่าอะไรที่เขาทำมาดีแล้วแม้เราจะเห็นว่าผู้ทำไม่ดี เราก็สามารถคงสิ่งที่เขาทำไว้ได้ครับ เพราะในที่สุดแล้วประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งผมเห็นว่าระหว่างประชาชนผู้ได้รับประโยชน์กับประชาชนต้องมาก่อนนั้นอย่างแรกน่าจะดีกว่า เพราะหากจะให้ประชาชนมาก่อนแต่ไม่ได้อะไรติดมือติดไม้ไปเลยก็คงจะต้องเสียเวลาไปเปล่าๆนะครับ !!! ลอกไปเถอะครับ อะไรที่ดีๆ อะไรที่ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ก็เอามาใช้ให้หมดเถอะครับ จุดประสงค์สูงสุดของการเข้ามาบริหารประเทศคือการสร้างความเจริญให้กับประเทศและสร้างความสุขให้กับประชาชนนะครับ เพียงแต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปและหาคำตอบให้ได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็คือ หากต้องการ “คง” โครงการประชานิยมทั้งหลายเอาไว้และหากจะต้องทำโครงการประชานิยมเพิ่มขึ้นมาอีก จะเอา “เงิน” จากไหนมาใช้ทำโครงการครับ เรื่องนี้พรรคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยมต้องอธิบายให้ประชาชนฟังอย่างครบถ้วนกระบวนความด้วยครับว่า หากจะทำโครงการต่างๆ ต่อไป จะเอาเงินจากไหนมาสนับสนุนโครงการเหล่านั้น เท่าที่ทราบรัฐบาลที่ผ่านมานำเงินมาใช้ทำโครงการประชานิยมจากหลายที่รวมถึง “เงินในอนาคต” คือการออกพันธบัตรรัฐบาลด้วยซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมถูกต้อง มีตัวอย่างหลายๆ ประเทศในโลกนี้ใช้นโยบายประชานิยม สังคมนิยม หรือรัฐสวัสดิการ ที่เขาใช้วิธีเก็บภาษีต่างๆ จาก “คนรวย” เช่น ภาษีมรดก ภาษีรถยนต์คันที่ 2 ขึ้นไป ภาษีบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ภาษีที่ดินในส่วนที่เกินความจำเป็นที่จะใช้อยู่อาศัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายประชานิยม ต้องให้คำตอบกับสังคมด้วยนะครับว่า นโยบายดีๆ เหล่านั้นซึ่งต้องใช้เงินมากจะเอาเงินจากไหนมาจัดทำโครงการครับ !!!
       จริงๆ ผมยังมีเรื่องให้เขียนอีกมากเลยนะครับ แต่เนื่องจากพื้นที่เรามีจำกัดและเวลาผมก็มีไม่มากจึงขอติดไว้คราวหน้าโดยผมจะขอเวลาไปทำการบ้านอ่านรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก่อน แล้วเราจะดู 2 เรื่อง ที่ยังค้างอยู่คือ การกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม และ การสนับสนุนจากภาครัฐในการเลือกตั้ง ครับ
       
       ในครั้งนี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความ ด้วยกัน บทความแรกยังคงเป็น “ตอนต่อ” บทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาแห่งกฎหมายมหาชนไทย ที่นอกจากจะเขียนยังไงก็ไม่จบเสียทีแล้วก็ยังทวีการวิจารณ์ที่ “เข้มข้น” ขึ้นเรื่อยๆ ครับ บทความดังกล่าวมีชื่อว่า “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2" ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ อาจารย์วรรณภา ติระสังขะ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศสที่ได้เขียนบทความเป็นภาษาฝรั่งเศสเรื่อง "La participation du citoyen en Thaïlande" ส่งมาร่วมกับเราครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1160
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)