|
|
ครั้งที่ 169 15 กันยายน 2550 17:23 น.
|
ครั้งที่ 169
สำหรับวันจันทร์ 17 กันยายน ถึงอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2550
เราได้อะไรจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านแม้จะมามีข่าวคราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเมืองอยู่ไม่มากนักแต่ข่าวแต่ละข่าวก็ถูกทำให้เป็นเรื่อง ใหญ่โต โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งก็คาดเดาได้ว่าอีกไม่กี่วันเรื่องเหล่านั้นก็จะเงียบหายไปเอง คล้ายกับหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารที่มีการให้ข่าวเกี่ยวกับการกระทำต่างๆของรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างน่ากลัว ไม่กี่วันหลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป แล้วไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นมาแทนที่ครับ
สังคมไทยเป็นอะไรไปก็ไม่ทราบ ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย (น่าจะยังเป็นอยู่นะครับ !!!) อีกไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้ง แทนที่ข่าวคราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะเป็นข่าวใหญ่ที่สุดของประเทศกลับกลายเป็นว่าข่าวเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหารระดับสูงเป็นข่าวใหญ่ที่สุดแทน เห็นได้จากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์แทบจะทุกฉบับในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งข่าวตามสถานีโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วยครับ ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมสังคมถึงได้ให้ ความสำคัญ กับการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้บัญชาการทหารบกกันนัก ก็แค่ ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งครับ แต่ถ้าประเทศไทยเราเป็น รัฐทหารสมบูรณ์แบบ ที่ปกครองโดย ระบบทหาร นั่นแหละครับที่เราจะต้องให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมากกับตำแหน่งเหล่านั้นเพราะคนเหล่านั้นจะเป็นผู้มาใช้อำนาจ ปกครองประเทศและประชาชน ครับ หรือว่าผมสับสนไปเองที่เข้าใจว่าวันนี้เรายังเป็นประเทศที่ปกครองโดยพลเรือนอยู่ก็ไม่ทราบนะครับ !!!
วันที่ 19 กันยายน เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ครั้งล่าสุด ของประเทศไทยครับ ก็เป็นโอกาสดีที่สังคมจะต้องหันมา ประเมิน ผลของการรัฐประหารดังกล่าวว่าเป็นอย่างไรบ้าง คงจะใช้คำว่าประสบผลสำเร็จไม่ได้เพราะก็อย่างที่ทราบกันอยู่นะครับว่า การรัฐประหารในสายตาของทั่วโลกเป็นสิ่งที่ รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าการทำรัฐประหารประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้างเหมือนอย่างที่บรรดา ท่านทั้งหลาย ออกมาพูดก็คงจะทำให้สถานะของประเทศเราดู ด้อยพัฒนา ไปหน่อยในสายตาประชาคมโลกและก็คงเป็นที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลกที่จะ ดูถูก เราเอาได้ว่าไม่รู้จักระบอบประชาธิปไตยจนถึงขนาดต้องมาให้ความสำคัญกับ ผลสำเร็จ ของการรัฐประหารครับ!!!
หากจะถามว่า 1 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้อะไรบ้างก็คงมีคำตอบจำนวนมากและหลากหลายสุดแล้วแต่ว่าจะถามใครครับ ผมคิดว่าคำถามดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและอนาคตของชาติในวันข้างหน้าเพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นใหม่ๆ ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งต่างออกมาแสดงความยินดีกับการรัฐประหารอย่างออกนอกหน้า สื่อมวลชนทั้งหลายต่างพากันให้ข่าวถึงความสำคัญของการรัฐประหารว่าส่งผลทำให้ วิกฤติ ของประเทศจบสิ้นลงโดยไม่ได้คาดเดาถึงสิ่งที่จะตามมาในระยะเวลาต่อไป เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์์วิจัยถึงผลของการรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ ไม่รู้จัก การแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยครับ หากผลการวิเคราะห์วิจัยออกมาว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้รู้กันไปเลยว่าระบอบการปกครองที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศคือระบอบอะไรครับ
ในส่วนของผมนั้น ผมก็แอบประเมินผลที่เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เอาไว้เหมือนกัน โดยผมมีประเด็นที่จะยกขึ้นมาพูดคุย ณ ที่นี้รวม 4 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งผมคิดว่าทั้ง 4 ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ ประเด็นแรก ก็คือเหตุที่อ้างกันว่าการรัฐประหารก็เพื่อให้เกิดการแก้วิกฤติของประเทศในขณะนั้น ในประเด็นนี้ก็คงต้องยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานนะครับว่าจริง ! เพราะภายหลังการรัฐประหาร อดีตท่านผู้นำของเราก็พ้นจากตำแหน่งทันที ทำให้เสียงเรียกร้องที่มีมาก่อนหน้านี้ให้ท่านผู้นำลาออกจบลงครับ แต่ถ้าจะถามต่อไปว่าแล้ววิกฤติของประเทศจบลงจริงหรือไม่ คำตอบก็คงเป็นที่ทราบกันนะครับว่า จนถึงทุกวันนี้วิกฤติของประเทศได้ขยายลุกลามออกไปมากจากวิกฤติด้านการเมืองที่มีประเด็นใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกหลายประเด็นไปจนถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจาก ความไม่ใช่มืออาชีพ และ อคติ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สร้างความลำบากให้กับประชาชนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่อ้างว่าการรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติของประเทศนั้น หากจะว่าจริงก็จริงอยู่ไม่กี่วันเพราะหลังจากนั้นการรัฐประหารก็ทำให้เกิดวิกฤติต่างๆตามมาอีกมากมายครับ ประเด็นต่อมาคือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ดีอยู่แล้ว ถึงจะไม่ดีที่สุด ถึงจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ด้วยความที่ไม่เข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองประเทศที่ดีพอหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้คณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วก็ สั่งไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา พยายามสร้างกลไกและกระบวนการต่างๆขึ้นอย่างมากมายเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมและดูดียิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ตนฉีกทิ้งไป วันนี้สังคมก็ได้พิสูจน์ไปแล้วว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 จะได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ แต่ทันทีที่จบการออกเสียงประชามติ ทุกฝ่ายก็ออกมาเสนอความเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลายๆประเด็น และนอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังมีสิ่งที่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างมากอีกประเด็นหนึ่งคือ หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับ ผมยังไม่เห็นมีใครออกมายอมรับว่าเป็น เจ้าของ หรือ ผู้ร่าง รัฐธรรมนูญตัวจริงเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่พอมีผลใช้บังคับใหม่ๆก็มีบรรดามิสเตอร์รัฐธรรมนูญออกมาให้ความเห็น ออกมาอธิบายกลไกต่างๆของรัฐธรรมนูญกันหลายคนสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนในหลายๆประเด็นครับ ก็ดูแปลกๆนะครับที่ไม่มีใครออกมา อ้างความเป็นเจ้าของ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือว่ามี อะไร กันอยู่ เพราะเห็นตอนก่อนที่จะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีความพยายามกันเหลือเกินที่จะเข้าไปเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแถมยังมีผู้คอยให้ข่าวอยู่ตลอดเวลาด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ครับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความแตกแยกในสังคมอย่างมาก มีการแบ่งฝ่าย แบ่งค่าย แบ่งพวกกันอย่างชัดแจ้ง และในที่สุดก็ทำให้สังคมแยกออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่เป็นพวกคณะรัฐประหารกับฝ่ายที่เป็นพวกอำนาจเก่า ถ้าหมุนเวลากลับไปได้ ผมอยากจะเสนอว่าไม่ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 เลยนะครับ ไหนจะเสียของดีๆไป ไหนจะเสียเงินเสียทองไปตั้งเยอะ กลับได้ของที่มีตำหนิมาใช้ครับ ส่วนประเด็นที่สามที่ผมอยากจะกล่าวต่อไปก็คือเรื่องเงินครับ ผมไม่ทราบว่าพอมีใครให้คำตอบผมได้ไหมว่านับแต่วันทำรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมี ค่าใช้จ่าย เท่าไหร่ เอาเฉพาะค่าใช้จ่าย ที่ถูกต้อง ตามกฎหมายก็ได้ครับ ลองนึกดูนะครับว่านับแต่วันรัฐประหารเรามีการตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมามากมายไม่ว่าจะเป็น คมช. สนช. สสร. คตส. ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ได้รับเงินกันคนละเท่าไรก็ไม่ทราบ มีค่าใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่ทราบ นอกจากองค์กรแล้วก็ยังมีบรรดากระบวนการต่างๆที่ใช้เงินกันอย่างมโหฬาร เช่นการออกเสียงประชามติ การย้ายสนามบินภายในประเทศมาไว้ที่ดอนเมือง เป็นต้น มีใครพอจะบอกหรือรวบรวมตัวเลขมาแสดงได้ไหมครับว่า ต้นทุนของการรัฐประหารนั้นมีอยู่เท่าไหร่ ส่วนถ้าจะให้ดีมากขึ้นขอแถมเรื่องงบประมาณด้านการทหารให้ชัดๆอีกครั้งหนึ่งเพราะมีเสียง เล่าลือ มากเหลือเกินครับว่ามีการใช้จ่ายเงินกันอย่างมาก มีการตั้งงบประมาณในหลายๆหน่วยงานเพื่องานที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พูดถึงรัฐวิสาหกิจก็ต้องขอแถมอีกเรื่องหนึ่งคือ อยากให้มีการประเมินกันให้แน่นอนว่าการแต่งตั้งทหารเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจภายหลังการรัฐประหารนั้น ในที่สุดแล้ว 1 ปีผ่านไปเกิดผลดีหรือผลเสียกับรัฐวิสาหกิจ ผมเห็นเป็นข่าวแทบจะทุกวันเลยครับว่ามีปัญหาในหลายๆที่ !!! ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในบทบรรณาธิการนี้ก็คือประเด็นการเมืองครับ สิ่งที่คณะรัฐประหารทำไม่ได้ก็คือทำให้นักการเมืองเป็นนักการเมืองของประชาชนครับ นี่คือความล้มเหลวของทั้งระบบการเมืองและการรัฐประหารที่ไม่สามารถ ให้ นักการเมืองที่ดีกับประชาชนได้ บรรยายกาศของการเมืองในวันนี้ดูๆแล้วน่า สังเวช ครับ นักการเมือง หน้าเดิมๆ พากันวิ่งไล่จับกันเพื่อรวมกลุ่มกันเพื่อจะหาทางเข้ามาเป็นรัฐบาล การรวมกลุ่มของนักการเมืองก็ไม่ได้มีจุดอะไรที่ ยึดโยง กับประชาชนเลยครับ พรรคฝ่ายค้านเดิมสมัยรัฐบาลที่แล้วก็พยายามเกาะกันไว้เพื่อที่จะหาทางเป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า พรรครัฐบาลเดิมก็มีสองขั้ว ขั้วที่ยังอยากอยู่อย่างเดิมก็หาหัวหน้าคนใหม่ ส่วนขั้วที่ อยาก จะไปรวมกับกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมก็พยายามแยกตัวออกมากันหลายกลุ่มตั้งชื่อให้สวยๆที่ดูแล้วน่าจะเป็น ทางเลือกใหม่ ที่ดู เป็นกลาง แต่เอาเข้าจริงๆก็ต้องคอยดูกันต่อไปแล้วกันนะครับว่าจะเป็นอาการของการ ชนะไหนเล่นด้วย ไหมครับ บทสรุปคงเป็นว่าเข้าได้กับทุกฝ่ายเพราะพรรคเรา เป็นกลาง ครับ !! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองของเราที่ผมผิดหวังอย่างมาก เพราะที่นักการเมืองควรพูดควรเสนอในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ เกี่ยวข้องกับประชาชน มากกว่า เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง ของตนเองนะครับ ผมยังไม่เห็นนโยบายทางการเมืองสวยๆจากพรรคการเมืองใดเลยครับ มัวแต่ยุ่งกับการเน้นตัวบุคคลที่มาเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มของตน ให้ข่าวกันจนน่าเวทนาว่าท่านเสียสละเพื่อชาติ ท่านทำเพื่อบ้านเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นคนอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง คาดเดาได้ไม่ยากครับว่าเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาสู่วงการเมืองอีกรอบคนเหล่านี้จะเข้ามาทำอะไร ที่น่าเวทนาไปกว่านี้ก็คือ มีการปล่อยข่าวอยู่ตลอดเวลาว่า ทหารใหญ่ จะเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มซึ่งทำให้พรรคหรือกลุ่มนั้น มีราคา มากขึ้นไปอีก แปลกไหมครับที่ในวันนี้เกิดเหตุการณ์ ย้อนยุค แบบนี้ขึ้นได้ ไม่ต้องแปลกใจครับ ลองตรวจสอบ ประวัติศาสตร์การเมือง ดูก็จะพบว่าตัวละครเกือบทั้งหมดคงเดิมเว้นแต่ตัวละครที่เป็น ทหารใหญ่ เท่านั้นที่เปลี่ยนครับ ผมมองว่าตราบใดก็ตามที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองยังไม่มีนโยบายการเมืองที่ชัดเจนและโดดเด่นที่สามารถตอบคำถามทุกคำถามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ไปถึงไหนหรอกครับ ที่ถูกที่ควรเป็นในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น พรรคการเมืองทั้งหมดต่างก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ที่ควรทำก็คือสร้างนโยบายทางการเมืองใหม่ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศทุกปัญหาได้ ผมไม่ได้คาดฝันว่าจะเห็นพรรคการเมืองของเรามีนโยบายทางการเมืองเหมือนกับในต่างประเทศที่แต่ละพรรคก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่านโยบายของตนเป็นแบบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อนุรักษ์นิยม ขวาจัด สิ่งแวดล้อม ฯลฯหรอกครับ เพียงแต่อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจนบ้าง ไม่ใช่ว่านักการเมืองทุกคนสามารถย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดก็ได้ พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถรวมกันเข้าเป็นรัฐบาลได้ ซึ่งหมายความว่าทุกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองทุกคนมี จุดยืน ร่วมกันมีนโยบายเดียวกัน หรือไม่ก็อาจคิดอีกแบบหนึ่งได้ว่าไม่มีจุดยืนอะไรเลยนอกจากการ หาโอกาส เข้าไปอยู่ในอำนาจครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองวันนี้จึงเป็น สิ่งเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ความอยู่รอดทางการเมืองของพรรคการเมืองและของนักการเมืองย่อมมาก่อนประชาชนครับ !!
จริงๆแล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมอยากจะนำมากล่าวถึงในที่นี้แต่เนื่องด้วยทั้งเวลาและเนื้อที่ที่มีจำกัดก็ต้องขอจบเท่านี้ครับ แต่ก่อนจบขอฝากประเด็นไว้ให้ช่วยคิดกันต่อไปด้วยว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่เดิมรัฐบาลนี้ได้กล่าวโทษรัฐบาลเก่าว่าเป็นต้นเหตุนั้น ในวันนี้มีข้อสรุปหรือยังครับ เช่นเดียวกับการระเบิดที่กรุงเทพฯเมื่อวันส่งท้ายปีเก่าที่ผ่านมา วันนี้ตกลงสรุปได้หรือยังครับว่าเกิดจากฝ่ายใด หลายๆอย่างที่กล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือสร้างแรงหนุนให้กับการรัฐประหารในช่วงเวลาหนึ่ง กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำความจริงให้ปรากฏในปัจจุบันแล้วครับ เพราะในวันนี้ผมคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งคงต้องการคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า 1 ปี ที่ผ่านมาคนไทยและประเทศได้อะไรจากรัฐประหารครับ
สัปดาห์นี้เรามีบทความเพียงบทความเดียวแต่เป็นบทความที่เขียนร่วมกัน 3 คนระหว่าง นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นายจีรชาญ อนันต์ณัฐศิริ และนางสาววิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจกับตลาดการเงินไทย ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความครับ
พบกับใหม่ วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1150
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|