สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๙)

11 สิงหาคม 2550 16:06 น.

       ข้อสังเกตประการสุดท้ายในเรื่อง การเลือกตั้ง ส.ส. ก็คือ (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราได้เปลี่ยนวิธีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งรวมกันตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ (มาตรา ๑๐๔ วรรคสี่) มาเป็นการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ( ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ วรรคสาม) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองที่มี “เงิน” เนื่องจากทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวสามารถตรวจสอบ “ผล”ของการ “ซื้อเสียง”ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจ(ในทางวิชาการ) ก็คือ เพราะเหตุใด ความข้อนี้จีงไม่ปรากฏใน คำชี้แจง สาระสำคัญฯ ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติ
       
       (๒) ความเป็นอิสระของ ส.ส. จากพรรคการเมือง ในข้อ ๒.๓ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนด “รายการ”ให้ส.ส.เป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมืองเพื่อให้ทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนอย่างเต็มที่ ไว้ ๒ ประเด็น คือ (๑)ประเด็นแรก กำหนดให้ ส.ส. มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม / การอภิปราย / การลงมติไม่ไว้วางใจ (มาตรา ๑๕๘ วรรคสอง และ (๒)ประเด็นที่สอง ให้ ส.ส. (มีอิสระ) สามารถเสนอร่างกฎหมายได้โดยไม่ต้องขออนูญาตจากพรรคการเมืองของตน (มาตรา ๑๓๘ (๒))
       ความเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนไม่คิดว่า รายการ ๒ รายการนี้ จะเป็นการให้ “ส .ส.เป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมืองเพื่อให้ ส.ส.ทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนอย่างเต็มที่ ”ได้ (ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯที่ได้เขียนไว้ในคำชี้แจง สาระสำคัญฯ )
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าจะให้ ส.ส. มีความอิสระจริง(อย่างเต็มที่)จะต้องยกเลิกบทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองและมีบทบัญญัติประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง เหมือนอย่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) ผู้เขียนคิดว่า ในการเขียน “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น องค์กรที่รับผิดชอบคงต้องระมัดระวังการเขียนให้อยู่ในขอบเขตของความเป็นจริง - reality
       
       “ที่มา”ของ ส.ว. (ข้อ ๒.๔) คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กล่าวว่า “ ให้ส.ว.ปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง” และเพื่อให้การเป็นไปตามที่กล่าวไว้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯจึงกำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน ๑๕๐ คน แบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก - ส.ว.เลือกตั้ง มีจำนวน ๗๖ คน(เลือกตั้งมาจากจังหวัด จังหวัดละ ๑ คน) และประเภทที่สอง - ส.ว.สรรหา มีจำนวน ๗๔ คน โดยมีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง (ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ / ประธานกรรมการการเลือกตั้ง /ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน / ผุ้พิพากษาศาลฎีกาฯ หนึ่งคน / ตุลาการศาลปกครองฯ หนึ่งคน – มาตรา ๑๑๓) ดำเนินการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม(จะเป็น ส.ว.)จากผู้ประกอบอาชีพในภาค (อาชีพ)ต่าง ๆ (ภาควิชาการ / ภาครัฐ /ภาคเอกชน / ภาควิชาชีพ / ภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ฯ ลฯ– มาตรา ๑๑๔)
       ความเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า “ที่มา”ของส .ว. จะเป็นสาเหตุของวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคตอันไม่ไกลนัก เพราะแนวความคิด – concept ในการตั้งคณะกรรมการมาสรรหาบุคคล มาเป็นสมาชิกใน “สถาบันการเมือง”นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล
       ผู้เขียนไม่จำเป็นจะต้องสนับสนุนหรือโต้แย้งว่า การใช้วิธีการสรรหาจะทำให้ได้ “คนดี” ที่ดี(กว่า)วิธีการเลือกตั้ง มาเป็น ส.ว. หรือไม่ และผู้เขียนก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนหรือโต้แย้งว่า “คณะกรรมการสรรหา”ประกอบด้วยบุคคลที่เชื่อถือได้หรือไม่ เพราะผู้เขียนเห็นว่า เพียงแต่ “วิธีการ สรรหา” เป็นวิธีการที่ไม่ยอมรับกันเป็นสากลในการเขียนรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน - constitutionalism เท่านั้น ก็เป็น “เหตุ”เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้เกิด “วิกฤติการณ์ทางการเมือง”ในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงใช้บทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจในการ “ซื้อเสียง”ในการเลือกตั้ง และ “ซื้อ ส.ส.(ในพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่า พรรคอะไร)” เพื่อกลับเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐอีกครั้งหนี่ง โดยอ้าง “เหตุ”ดังกล่าว
       อันที่จริง ความผิดพลาดในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นำเอา “วิธีการสรรหา” มาเป็น “ที่มา”ของ ส.ว. (สถาบันการเมือง) นั้น มิได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ)
       วิธีการสรรหาตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ว.ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือ วิธีการที่เป็น “ที่มา”ของบุคคลที่เป็นองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญเอง (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๑๙ ถึง มาตรา๒๕)นั่นเอง ; ดังนั้น องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพียงแต่นำเอาวิธีการที่ตนเองได้มาเป็นองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ มาเขียนเป็นวิธีการของการได้มาซึ่ง ส.ว.ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่ง(สมมติว่า) จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งกรณีเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปตามปกติทางสังคมวิทยา (พฤติกรรม) ที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า
[หมายเหตุ : ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก(ฉบับรับฟังความคิดเห็น) “ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ”ได้เสนอให้นำระบบของตนเองเข้าใช้เป็น “ที่มา” ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จำนวน๑๖๐คน ตาม(ร่าง)มาตรา ๑๐๖ แต่เมื่อปรากฎว่า มีเสียงไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญจึงได้ผ่อนคลายลง และลดจำนวนลง ให้เหลือ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา เพียงครึ่งหนึ่ง คือ ๗๔ คนในจำนวนทั้งหมด ๑๕๐ คน]
       ตามความเห็นของผู้เขียน ความผิดพลาดในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่มา ของ ส.ว.) เป็นความผิดพลาดของผู้ที่เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”ที่ทำการรัฐประหารมานั่นเอง เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯควรหรือน่าจะต้องทราบว่า เมื่อจัดตั้งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างใด ก็ย่อมได้รัฐธรรมนูญมาอย่างนั้น
       
       
การที่(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการแบ่ง ส.ว.ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง – ส.ว.เลือกตั้ง และประเภทที่สอง – ส.ว.สรรหา ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาการมีอิทธิพลของพรรคการเมืองเหนือ ส.ว. ตามที่ได้เคยเกิดขี้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เพราะ
       สำหรับ ส.ว. ประเภทเลือกตั้ง เป็นที่ทราบกันดีและเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่า ในการเลือกตั้ง ส.ว. ผู้สมัครรับเลือกตั้ง(ส.ว.)จำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดย่อมต้องอาศัย“หัวคะแนน”ของพรรคการเมือง ดังนั้น ในทางปฏิบัติ จึง เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว. (ส่วนมาก)จะเป็นอิสระจากอิทธิพลของพรรคการเมืองหรือบุคคลในพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ โดยจะไม่กล่าวถึง การที่ ผู้สมัคร ส.ว.บางคนอาจได้รับ“เงิน”ช่วยเหลือการเลือกตั้ง”จากพรรคการเมือง หรือแม้แต่ ส.วบางคน(หลังเลือกตั้งแล้ว) อาจได้รับ “เงินช่วยเหลือกิจกรรมสังคม” จากพรรคการเมือง ; เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และคงจะเกิดขึ้นต่อไปเช่นเดียวกันตาม(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งนี้เพราะสภาพสังคมไทย ยังคงไม่ เปลี่ยนแปลง
       สำหรับ ส.ว.ประเภท ส.ว.สรรหา ซึ่งนอกจากจะมี ความยุ่งยากที่จะเกิดจากการจัดประเภทองค์กรตาม “ภาค(อาชีพ)”ต่าง ๆ (ภาควิชาการ / ภาครัฐ / ภาคเอกชน / ภาควิชาชีพ / ภาคอื่น – มาตรา ๑๑๔) ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้ “คณะกรรมการสรรหา”คัดเลือก (ซึ่งย่อมจะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์) และความยุ่งยากที่จะมาจากการเลือกสรร(ตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ว.)ของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งจะทำให้ บุคคลที่เป็นกรรมการสรรหาถูกวิจารณ์และเสี่ยงต่อความเชื่อถือในตำแหน่งแล้ว วิธีการสรรหาตามที่(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด ยังเป็นวิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล(ในระบอบประชาธิปไตย) สำหรับการ แสวงหาตัวบุคคลในสถาบันการเมือง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกด้วย
       
       สรุปได้ ก็คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” (ส.ส. และ ส.ว.)ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี้ ไม่มีบทบัญญัติส่วนใดที่เป็นการแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ และนอกจากนั้น ยังกลับเป็นบทบัญญัติจะที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองมากกว่าเดิม
       “ที่มา”ของ ส.ว.นี้ จะเป็นต้นเหตุของวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคต ซึ่งยังไม่สามารถคาดหมายได้ว่า วิกฤติการณ์ในอนาคตจะทำความเสียหายแก่ชาติและแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากน้อยเพียงใด และจะมี “ผู้ใด”เข้ามาแก้ปัญหา(หรือเข้ามาฉวยโอกาส) สำหรับผู้เขียนเห็นว่า “ที่มา”ของ ส.ว. ตามที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เป็นที่พึงปรารถนา และสมควรที่ “ผู้ที่มีอำนาจ”อยู่ในขณะนี้ จะต้องพิจารณาแก้ไข( ในขณะนี้)โดยเร็ว ดีกว่าการเสี่ยงต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่า ผู้ใดจะเป็น “ผู้ที่มีอำนาจ”ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ [หมายเหตุ :- แนวความคิดของ”ผู้ที่มีส่วนในการรัฐประหาร”ที่คิดว่า จะติดตามการแก้ปัญหาประเทศ ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ เพื่อถ่วงดุลอำนาจของพรรคการเมืองของนักธุรกิจนายทุน(ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังคงใช้ระบบบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวความคิดที่ผิด และความคิดตามแนวทางนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลว มาแล้วในอดีตไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งผู้เขียนจะได้ให้ข้อสังเกตต่อไปใน ส่วนที่ ๓ ข้อ (๓.๔) ว่าด้วย ภาวะผู้นำ ของ “ผู้นำ(ทางการเมือง)” ในช่วงการปฏิวัติ ฯ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙]
       
       “ที่มา” ของรัฐบาล (ข้อ ๒.๒) คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้กำหนดมาตรการในหัวข้อนี้ไว้ รวม ๗ รายการ เพื่อ จำกัดการผูกขาดและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล
       
ในบรรดา ๗ รายการดังกล่าว เป็นรายการปลีกย่อย ๕ รายการ ( คือ เป็นรายการที่เกี่ยวกับการตรากฎหมาย ๓ รายการ และเป็นรายการที่เกี่ยวกับรัฐบาลรักษาการและอัยการ อีก ๒รายการ - โปรดดู การสรุปย่อ ในข้อ (๑.๑)) โดยมีรายการทึ่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับรัฐบาล เพียง ๒ รายการ คือ รายการที่เกี่ยวกับ “นายกรัฐมนตรี ” ๑ รายการ และรายการที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ๑ รายการ
       
       (๑) ว่าด้วย นายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการยกร่าง เสนอมาตรการไว้เพียงมาตรการเดียว คือ ให้นายกรัฐมนตรีอยู่(ในตำแหน่ง)ได้ไม่เกิน ๘ ปี – มาตรา ๑๗๑ วรรคสี่
       จากการเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถยืนยันด้วยความแน่ใจได้ว่า ขีดความสามารถในทางวิชาการทางกฎหมายขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) สูงไม่พอที่จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งแรกที่ “ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ”(ของต่างประเทศ) จะต้องทำเพื่อตรวจดูว่า การผูกขาดอำนาจรัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คือ การตรวจดูความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เรียกว่า forms of government หรือ systems of government ;
       การที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอมาตรการกรณีห้ามนายกรัฐมนตรี(ไม่ให้อยู่ในตำแหน่งเกิน ๘ ปี) ซึ่งเป็นกรณีที่มีความสำคัญน้อย(มาก) เกินกว่าที่จะมี “ผล”เป็นการแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ ก็ดี และการที่ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แยกนำ “รายการ”เกี่ยวกับสิทธิของ ส.ส.ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี(และรัฐมนตรี) ไปกล่าวไว้ใน แนวทางที่ ๔ ข้อ ๔.๒ – ๘ โดยไม่นำมาพิจารณารวมกันก็ดี ย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญมองไม่เป็นความสำคัญของการเชื่อมโยงกันในระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติใน “รูปแบบ”ของระบบการปกครอง
       ข้อเท็จจริงเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง การขาดพื้นฐานความรู้ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) เป็นอย่างมาก [หมายเหตุ : ผู้เขียนจะพูดถึงปัญหานี้ ในตอนที่ (๒) ส่วนที่หนึ่ง ข้อ (๑.๒) ว่าด้วย สิ่งที่ควรรู้ก่อนการแก้ใขรัฐธรรมนูญ ]
       
       (๒) ว่าด้วยพรรคการเมือง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสนอมาตรการว่า ห้ามควบรวมพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาในระหว่างอายุของสภา เพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา – มาตรา ๑๐๔ วรรคสอง
       ผู้เขียนเห็นว่า ความสมควรหรือความไม่สมควรของการเพิ่มเติมบทบัญญัติ(เรื่องนี้)ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อาจทำให้ชัดขึ้นได้ด้วยการตั้งคำถามกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่ควบรวมกัน แต่ลงคะแนนเหมือน ๆ กัน เพราะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเงินอุดหนุนจากนักธุรกิจนายทุนคนเดียวกัน เช่นนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเห็นว่า การลงคะแนนเสียงดังกล่าว เป็นเสียงข้างมากที่ ผิดปกติ หรือไม่ (?) ; ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่า พรรคการเมือง(หลายพรรค)ดังกล่าวสามารถลงมติได้และเป็นเสียงข้างมากที่ไม่ผิดปกติ (เพราะตามกฎหมาย เป็นคนละพรรค) ปัญหาก็จะกลับมาว่า แล้วเราจะห้าม พรรคการเมือง(ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากนักธุรกิจนายทุนคนเดียวกัน)ไม่ให้ควบรวมกัน เพื่อประโยชน์ อะไร (?) ; ในการแก้ปัญหาประเทศ กฎหมายจะต้องมีความมุ่งหมายทำ “ความเป็นจริง”ให้ปรากฎ มิใช่เขียนกฎหมาย ที่ทำให้เกิด “การอำพราง”ความเป็นจริง
       
       ผู้เขียนต้องสารภาพว่า ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ)ของเรา จึงเสนอมาตรการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพียงเท่าที่ปรากฏมานี้ ; และ “ข้อเท็จจริง” เหล่านี้ ได้ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถคาดหวังอะไรได้จาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และคนไทย(อาจ)เสียเวลาไปทั้งปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยเปล่าประโยชน์
       
       ต่อไป จะเป็นการให้ความเห็นของผู้เขียนใน แนวทางที่ ๓ และ แนวทาวที่ ๔ ซึ่งจะเป็นการให้ข้อสังเกตอย่างรวบรัดสั้น ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
       
       (๓) การแก้ไขบทบัญญัติ รธน. ในแนวทางที่ ๓ (ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ลดการผูกขาด “อำนาจรัฐ” ฯลฯ) คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ได้กล่าวขี้นต้นไว้ว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับเดิม)มุ่งเน้นให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความเข้มแข็งและมีประสิทธภาพต้องไม่ใช่การผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว จนนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องลดการผูกขาดอำนาจและสร้างดุลยภาพของอำนาจทางการเมืองขึ้น” ; และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนดมาตรการสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม ในแนวทางนี้ไว้ ๕ หัวข้อ คือ
       ๓.๑ มาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯ ( มี ๓ รายการ )
       ๓.๒ ประโยขน์ทับซ้อน(ทางธุรกิจ) ของ ส.ส.- ส.ว. / นายกฯ-รัฐมนตรี (มี ๒ รายการ)
       ๓.๓ การแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ฯ ขยายถึงทรัพย์สินในการครอบครองของ “บุคคลอื่น” (มีรายการเดียว)
       ๓.๔ การพ้นจากตำแหน่งโดยคำพิพากษา) ของ ส.ส.- ส.ว. / นายกฯ-รัฐมนตรี (มีรายการเดียว)
       ๓.๕ ประโยชน์ทับซ้อน(การ ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง / การออกเสียงในสภา ) ของ
       ประธานสภา – รองประธานสภาผู้แทนราษฎร / นายกฯ-รัฐมนตรี (มี ๒ รายการ)
       [หมายเหตุ : โปรดดู “รายการ” ในรายละเอียด จาก หัวข้อ ( ๑.๑) ข้างต้น]
       
       ความเห็นของผู้เขียน ในแนวทางที่ ๓ นี้ เป็นบทบัญญติรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมเกือบทุกข้อ คือ เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม / การหลีกเลี่ยงการแสดงทรัพย์สินด้วยการโอนทรัพย์ให้ผู้อื่น / การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในทางธุรกิจ / การออกเสียงในสภาในเรื่องที่มีส่วนได้เสีย / การดำรงตำแหน่งสาธารณะที่มีอำนาจหน้าที่ขัดแย้งกัน ในขณะเดียวกัน ฯ ลฯ ; ยกเว้น ข้อ ๓.๔ เพียงข้อเดียว ซึ่งเป็นการแก้ไขถ้อยคำในเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง(ของ ส.ส.และรัฐมนตรี)ตามคำพิพากษาของศาลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่อง มาจากการตีความอย่างบิดเบือนโดย“ตุลาการ”ของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต (เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีบางคน) ทั้ง ๆที่ถ้อยคำในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว
       คงต้องเป็นที่ยอมรับกันว่า กฎเกณฑ์ทางจริยะธรรมของนักการเมืองในประเทศที่ด้อยพัฒนา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะในสังคมที่ด้อยพัฒนา นักการเมือง(ที่ได้รับการเลือกตั้ง)ที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ย่อมไม่ประสงค์ที่จะสร้างกฎเกณฑ์ที่ควบคุมตนเอง และในขณะเดียวกัน สังคมของประเทศด้อยพัฒนาก็มีสภาพอ่อนแอเกินกว่า ที่จะสร้างสภาพบังคับทางสังคมเพื่อให้นักการเมืองมีจริยธรรมได้ (และคงต้องรออีกนานหลายสิบปี จนกว่าสภาพสังคมของประเทศด้อยพัฒนา จะเปลี่ยนแปลง )
       
       แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขบทบัญญัติเหล่านี้ เป็นการแก้ไขในรายการปลีกย่อย ที่ไม่สามารถถือได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ ที่เป็นการ “การปฏิรูป(การเมือง)”
       
       (๔) การแก้ไขบทบัญญัติ รธน. ในแนวทางที่ ๔ (ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ในแนวทางที่ ๔ ซึ่งเป็นแนวทางสุดท้ายนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวไว้ว่า องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถูกแทรกแซงและล้มเหลวในการทำงาน ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบทั้งระบบ ; และคณะกรรมมาธิการยกร่างฯได้กำหนดมาตรการในแนวทางนี้ไว้ ๓ หัวข้อ คือ
       ๔.๑ การสรรหา(บุคคล)ในองค์กรตรวจสอบ – ( การปรับปรุงองค์ประกอบของ “คณะกรรมการสรรหา”) มีรายการเดียว
       ๔.๒ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และระบบการทำงานของ องค์กรตรวจสอบ มี ๑๐ รายการ
       ๔.๓ จัดให้มีระบบการตรวจสอบ การทำงานขององค์กรอิสระ มี ๓ รายการ
       
       ความเห็นของผู้เขียน ในแนวทางที่ ๔ นี้ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่(จำนวนมาก)ให้แก่ องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน(ปัจเจกชน)และเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ; “องค์กร”ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในมาตรการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอไว้ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ / ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง / ศาลปกครอง / คณะกรรมการการเลือกตั้ง. / คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ / ผู้ตรวจการแผ่นดิน / องค์กรอัยการ / ผู้ไต่สวนอิสระ(ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ / คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ฯ / สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (โปรดดู “รายการ”.ในรายละเอียดใน หัวข้อ (๑.๑) )
       [หมายเหตุ ทั้งนี้ โดยผู้เขียนจะไม่พูดถึง “รายการ”ที่เกี่ยวกับการลดจำนวน ส.ส.ในการเข้าชื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ให้เหลือเพียง ๑/๕ และ ๑ /๖ ตามลำดับ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้นำมาเอาใส่ไว้ใน แนวทางที่ ๔ หัวข้อ ๔.๒ – ๘ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อธิบายว่า ได้แก้ไขเพื่อให้ ส.ส. เปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น ; ทั้งนี้เพราะว่า กรณีนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับ “องค์กรตรวจสอบ”หรือ “องค์กรอิสระ”แต่อย่างใด และ ผู้เขียนคิดว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯอาจใส่ “รายการ”นี้ผิดที่]
       
       ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตใน แนวทางที่ (๔)นี้ ๓ ประการ ดังนี้
       ข้อสังเกตของผู้เขียนในประการแรก ก็คือ เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มิได้มีการวิเคราะห์ความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ไว้ก่อน(ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) ดังนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯจึงไม่ทราบถึง “สาเหตุ”ของการผูกขาดอำนาจรัฐ(ของสถาบันการเมือง)ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯจีงไม่สามารถมีข้อเสนอที่เป็น “มาตรการ”ที่มีจุดหมายเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุง“ระบบสถาบันการเมือง”(ที่เป็นต้นเหตุของการผูกขาดอำนาจรัฐ)ได้ ; คณะกรรมาธิการยกร่างฯจีงได้ (พยายาม)กำหนดให้องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระต่าง ๆ ( ถึง ๑๐ องค์กร) เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของสถาบันการเมือง ( ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตย)
       ผู้เขียนเห็นว่า การเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญเช่นนี้ เป็นการผิดพลาดขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) เพราะแนวทางการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งระหว่างองค์กรตรวจสอบฯ กับสถาบันการเมืองในอนาคตข้างหน้า และจะนำไปสู่ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในที่สุด
       ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขการผูกขาดอำนาจรัฐจะต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณา “รูปแบบของการปกครอง – forms of government” เพื่อสร้างรูปแบบของระบบสถาบันการเมือง ที่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างสถาบันการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ด้วยกันก่อน และหลังจากนั้น จึงจะพิจารณากำหนดให้ศาลหรือองค์กรตรวจสอบอื่น ที่เป็นสถาบันอิสระทางวิชาชีพเข้ามาทำ หน้าที่ ณ จุดที่เหมาะสม
       ข้อเสนอขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ)ที่ปรากฎในแนวทางที่ (๔)นี้ จึงเป็นข้อยืนยันในขีดความสามารถของวงการวิชาการในทางกฎหมายของเรา อีกครั้งหนึ่ง
       
       ข้อสังเกตของผู้เขียนประการที่สอง ก็คือ องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระในแนวทางที่ ๔ มีอยู่อย่างหลากหลาย (๑๐ องค์กร) ปัญหามีว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่ารูปแบบการจัดองค์กร และวิธีพิจารณาความ(หรือวิธีการทำงาน) ขององค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระเหล่านี้ เป็นไปโดยเหมาะสมหรือไม่ (เพราะตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ในองค์กรเหล่านี้ ก็อาจบิดเบือนการใช้อำนาจ – abuse of power ได้ เช่นเดียวกันตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่เคยบิดเบือนอำนาจมาแล้ว) ; ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงต้องการการเขียน(ออกแบบ)กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง ที่ต้องการการวิเคราะห์และต้องการ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”ที่อธิบายโครงสร้าง / จุดหมาย / ความคาดหมายในความสัมฤทธิผล เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เราไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอธิบายโครงสร้างและวิธีปฏิบัติงายของ องค์กรแรกที่จะต้องทำ “หน้าที่”หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับ คือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง – กกต.” กับอำนาจการออกใบเหลืองใบแดง
       การที่เรา(ประเทศไทย) ต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยองค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระจำนวนมากไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็น “ข้อเท็จจริง”ที่แสดงให้เห็นว่า กลไกการบริหารของรัฐ ที่เป็นมาตรฐานปกติของประเทศ(ตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ)ของเรา เป็นกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเรา(คนไทย)คงจะต้องคิดว่า เราจะทำประการใด ในเมื่อขีดความสามารถในวงการวิชาการทางกฎหมายของเรา ยังสูงไม่พอ (ที่จะออกแบบกฎหมายเหล่านี้)
       
       ข้อสังเกตประการที่สาม ก็คือ เนื่องจากการกำหนด “อำนาจหน้าที่”ขององค์การตรวจสอบและองค์กรอิสระ (ต่าง ๆ) ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้กำหนดและแยก “ความมุ่งหมาย”ของมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า การใด กำหนดขึ้นเพื่อ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน(อันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล ) และการใดกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ(ของส่วนรวม) ; ดังนั้น มาตรการตาม”รายการ”ต่าง ๆ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เสนอและเรียงลำดับปะปนกันไว้เป็นจำนวนมาก(ในทั้ง ๔แนวทาง)นั้น จีงไม่สามารถนำมาประเมินหรือวิเคราะห์ ได้ว่า มาตรการเหล่านั้น จะก่อให้เกิด “ผล”อย่างไรในการบริหารประเทศ และจะทำให้ระบบการบริหารประเทศ(ไทย)ในอนาคตตาม(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ หรือไม่เพียงใด (?) ; ผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย) กำลังอยู่ในความมืด
       

       
       อ่านต่อ
       หน้า 10
       หน้า 11
       หน้า 12
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1137
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 22:47 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)