|
|
ประชามติ (Referendum) : รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ฤาไม่เอารัฐบาล (เผด็จการ) โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ 22 กรกฎาคม 2550 22:39 น.
|
ตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ ด้วยคะแนนเสียง 98 จากจำนวนเต็ม 100 คน ซึ่ง 2 คะแนนที่หายไป ก็มิได้เกิดจากการงดออกเสียง หรือออกเสียงคัดค้านแต่อย่างใด แต่เนื่องจากที่สมาชิกท่านหนึ่งได้เดินทางไปต่างประเทศ ส่วนอีกท่านหนึ่ง เข้ามาร่วมประชุมไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาในการลงมติใช้เวลาเพียง 30 นาที โดยการประชุมในครั้งนั้นได้มีมติให้วันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นวันที่มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
จากจุดกำเนิดดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปมขัดแย้งในทางสังคมและทางการเมือง ออกมาเป็นหลายฝ่าย อาทิเช่น
1. ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมิต้องพิเคราะห์ถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายนี้เห็นว่า กระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ที่มาของ สนช.ไม่ถูกต้อง ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน บ้างก็อ้างหลักต้นไม้มีพิษ ในทางกฎหมาย บ้าง บ้างก็ไม่ชอบใจนโยบายของรัฐบาล บ้างก็ไม่ชอบการรัฐประหาร กลุ่มที่เสนอแนวคิดนี้ จะเห็นได้จากกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังบางท่าน กลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มที่เรียกร้องในท้องสนามหลวง จนปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มดาวกระจาย
2. ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย รายมาตราแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่มีลักษณะ ถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้า อาทิเช่น การบัญญัติ นิรโทษกรรมลงในรัฐธรรมนูญ อันเสมือนเป็นการยอมรับการรัฐประหาร เป็นวิถีทางหนึ่งอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ บ้างก็อ้างว่าเป็นการร่างในลักษณะเพิ่มบทบาทให้กับภาคราชการ จนถอยหลังไปสู่ระบบเจ้าขุนมูลนาย บ้างก็อาศัยมาตราที่ฝ่ายตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์ มาเป็นข้ออ้างในการไม่รับทั้งหมด บ้าง เช่น กรณีการไม่บรรจุพระพุทธศาสนา ในร่างรัฐธรรมนูญ
3. ฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมิต้องพิเคราะห์ถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มนี้เห็นว่า ประเทศประสบปัญหาและทางตันมามากพอแล้ว จึงควรจะหยุดการสร้างปัญหา บ้างก็อ้างว่าเพื่อเป็นการถวายในหลวงบ้าง และก็อีกนานาจิตตัง กลุ่มคนเหล่านี้ จะเห็นได้จาก กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพรรคการเมืองบางพรรค กลุ่มที่ไม่ชอบอำนาจเก่า กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายและการทำงานของรัฐบาล และของคมช. สุดท้าย
4. ฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย แล้วเห็นว่า ยังมีส่วนดีอยู่บ้าง ช่วยป้องกันการคอรัปชั่น ได้ส่วนหนึ่ง ขจัดปัญหากระบวนการสรรหาในองค์กรอิสระ มีระบบตรวจสอบที่นำระบบศาลเข้ามาช่วยมากขึ้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติครอบคลุมและแก้ปัญหาการบังคับใช้ได้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จะเห็นได้เป็นการทั่วไปในลักษณะทางสายกลาง
จากปมขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ การลงประชามติ ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นจุดสุดท้ายหรือทางเดินสุดท้ายในการชี้ขาด หรือการแสดงความต้องการของคนบางกลุ่ม จนกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองอย่างหนึ่ง อันบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของการลงประชามติในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนพิจารณาถึงเนื้อหาของร่าง ฯ ว่ามีความเหมาะสมในการปกครองหรือไม่ มิได้ให้แสดงออกถึงการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น จากจุดนี้ ผู้เขียน จะขอกล่าวถึงการหลักการและแนวคิดในการลงประชามติ หรือ Referendum ของไทย และของต่างประเทศ ว่ามีที่มาอย่างไร และแนวคิดดังกล่าวจะตอบโจทก์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น
1. แนวคิดเรื่องการออกเสียงประชามติ ( Referendum)
ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ( Democracy System ) ที่มีการปกครอง โดยประชาชน แล้ว จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน โดยรูปแบบแรก เรียกว่า ประชาธิปไตยทางตรง ( Democracy Direct) และรูปแบบที่สอง เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ( Democracy Representative ) โดยประชาธิปไตยทางตรงจะเป็นรูปแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมทางตรงของพลเมืองทุกคนในการใช้อำนาจทางการเมือง ในขณะที่รูปแบบที่สอง คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นจะเป็นรูปแบบที่อำนาจทางการเมืองถูกมอบหมายให้ตัวแทน ที่ได้รับการเลือกตั้งจากพลเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการของตนเอง 1
ประชาธิปไตยทางตรงนั้น มีที่มาย้อนหลังไปได้ถึงสมัยกรีกโบราณ หรือ เมื่อประมาณ 200 ปี ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเธนส์ ( Athens) และรัฐอื่น ๆ ของกรีก ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละรัฐของกรีกเป็นรัฐขนาดเล็ก มีประชาชนไม่มากและประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับค่อนข้างดี ดังนั้น จึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำหนดมาตรการในการปกครองตนเองได้ โดยประชาชนทั้งหมดของแต่ละรัฐจะเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ด้วยการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตัดสินปัญหาต่าง ๆ2 ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
2. ความหมายของคำว่า ประชามติ
คำว่า ประชามติ หรือ Referendum หรือบางรัฐเรียกว่า Plebiscite มีรากฐานมาจากภาษาลาติน (Latin) ที่เรียกว่า Plebiscita ซึ่งหมายถึง การลงคะแนนเสียง หรือการลงคะแนน ชี้ขาด โดยประชาชนทั่วไปเป็นผู้ชี้ขาดในการยอมรับหรือปฏิเสธ ข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งของรัฐ อาทิเช่น การลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Constitution amendment) หรือกฎหมาย หรือการลงประชามติเพื่อกำหนดแนวทางในการปกครองประเทศ จึงถือได้ว่าการลงประชามติ เป็นประชาธิปไตยทางตรงแนวหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย นอกจาก การเลือกตั้งโดยทั่วไป ( General Election) การเลือกตั้งทางอ้อม ( Indirect Election) หรือการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (Local Election)
3. การลงประชามติในประเทศต่าง ๆ
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การลงประชามติ ได้แพร่หลายไปสู่ในหลายประเทศ ( Referendums by country) ในการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการปกครองประเทศหรือในการออกกฎหมาย ซึ่งมีมากกว่า 13 ประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา อิหร่าน ชิลี ไอร์แลนด์ อิตาลี นิวซีแลนด์ โรมาเนีย เซอร์เบีย สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ บราซิล โครเอเชีย ฝรั่งเศส เปอร์โตริโก (Pureto Rico) อังกฤษ หรือแม้แต่กระทั่งในภาคพื้นเอเชียเอง เช่น ประเทศสิงคโปร์ 3 ซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ ดังนี้
3.1 ประเทศบราซิล
ในประเทศบราซิล ได้มีการนำเสนอโดยรัฐบาลให้ประชาชนลงประชามติ ในเรื่องการอนุญาตให้มีการขายอาวุธปืน (Firearms) หรือการส่งออกไปนอกประเทศ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธดังกล่าว ในประเทศตนเอง โดยใช้ชื่อโครงการว่า โครงการปลดอาวุธ หรือลดอาวุธ ( Project disarmament) ซึ่งก็มีผู้โหวตให้ความยินยอมถึง 122 ล้านคน เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005
3.2 ประเทศสเปน
ในปี ค.ศ. 1976 รัฐบาลของประเทศสเปน ได้จัดให้มีการลงประชามติของประชาชน ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ภายหลังที่เกิด การเสียชีวิตของ Francisco Franco ซึ่งผลการลงประชามติดังกล่าว ปรากฏว่า ชาวสเปน (Spaniards) เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง ถึง 94 % และอีกครั้งหนึ่ง คือ การลงประชามติในการเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ (NaTo) ในปี ค.ศ. 1986
3.3 ประเทศเวเนซูเอล่า
ในประเทศเวเนซูเอล่า เอง ก็ได้มีการจัดให้มีการลงประชามติในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Hugo Chavez ว่าจะให้ดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2004 ซึ่งผลการลงประชามติดังกล่าว ปรากฏว่า ชาวเวเนซูเอล่า ประมาณ 59% หรือกว่า 5 ล้านแปดแสนคน ไม่เลือก Chavez ส่วนอีก 42 % หรือกว่า 3 ล้านเก้าแสนคน ยังคงเลือก โดยมีผู้ Non-Voting ถึง 30%
3.4 ประเทศฝรั่งเศส
ในประเทศฝรั่งเศส เองก็ได้มีการกำหนดวิธีการลงประชามติไว้ ในกรณีที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ในสภา ที่เรียกว่า Super Majority in Parliament หรือมิฉะนั้น ก็มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการลงประชามติ
3.5 ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีระบบการออกเสียงประชามติ มาร่วม 200 ปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกเสียงประชามติ ระดับมลรัฐ เนื่องด้วย สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และประกอบด้วยมลรัฐ เป็นจำนวนมาก แต่ละมลรัฐต่างก็มีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง ดังนั้น การออกเสียงประชามติของประชาชนในแต่ละมลรัฐ จึงเป็นเรื่องที่เคยชิน และมักจะมีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ อยู่บ่อย ๆในแต่ละมลรัฐ
4. การลงประชามติในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยนำเอาระบบประชาธิปไตยโดยตรงมาใช้เป็นส่วนเสริมอยู่บ้าง โดยจากรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร จำนวนทั้งหมด 17 ฉบับ ปรากฏว่ามีรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ฉบับ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยได้ด้วยวิธีการออกเสียง นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539) พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2549 อันเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว
ซึ่งความหมายของ การแสดงประชามติ ตามแบบไทยๆ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเข้าร่วมในคำเสนอที่ฝ่ายปกครองได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นจะผูกพันหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง และกฎหมายบัญญัติ
4.1 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 และฉบับปี พ.ศ. 2517
โดยทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐสภาและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยฯ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศ หรือประชาชนและทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ซึ่ง บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ปรากฎว่ามีการนำออกมาใช้ เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ แต่อย่างใด
4.2 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539)
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภา ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำการยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยได้มีการกำหนดไว้ให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญกระบวนการออกเสียงประชามติจึงไม่เกิดขึ้น
4.3 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540
ได้นำเรื่องระบบการออกเสียงประชามติ มาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในมาตรา 214 โดยกำหนดเหตุที่จะต้องมีการออกเสียงประชามติไว้ว่าจะต้องเป็นกิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ และนอกจากนี้ ผลของการออกเสียงประชามติก็ไม่ผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตามเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ผลของการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรี เท่านั้น
4.4 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน นั่นคือ พ.ศ. 2539 ( ฉบับชั่วคราว )
ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ในมาตรา 29 - มาตรา 31 ให้ประชาชนออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดย ถ้าเห็นชอบ ก็ให้นำร่างดังกล่าวออกบังคับใช้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ก็ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี นำรัฐธรรมนูญ ฉบับใดฉบับหนึ่ง ออกมาใช้บังคับแทน
บทวิพากษ์ การลงประชามติในประเทศไทย ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
จากแนวคิด และความเป็นมาของประเทศไทย และของต่างประเทศจะเห็นได้ว่า การนำประชามติ อันเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางหนึ่งมาใช้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในต่างประเทศเอง บางครั้งการคำนึงถึงเสียงของประชาชนในการลงประชามติ มากเกินไป ก็อาจเกิดผลของประชามติ ที่ไม่ตรงหรือไม่ถูกต้องเจตนารมณ์ ของการลงประชามติในเรื่องนั้น ๆ เช่น
- ล่าสุดกรณี ของประเทศฝรั่งเศส ในการลงประชามติครั้งที่ 10 ในเรื่องของธรรมนูญยุโรป เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2548 ผลปรากฏว่า มีผู้ให้ความเห็นชอบ 45.32 % และมี ผู้ไม่ให้ความเห็นชอบ 54.68 % ซึ่งจำนวนที่ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง มิได้มาจากการพิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียของการเข้าเป็นสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรป หรือ European Constitution แต่มีนัยสำคัญที่ไม่เห็นด้วย กับรัฐบาล Jacques Chirac ทั้งแนวนโยบาย ต่าง ๆ ของรัฐที่ประทบต่อส่วนได้เสียของประชาชน เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ระบบประกันสังคม การขยายระยะเวลาการทำงาน การปฏิรูประยะเวลาเกษียณอายุ ฯ ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดที่ไม่ยอมรับในความสามารถ ของรัฐบาล และประจวบเหมาะกับการลงประชามติ จึงมิได้เกิดความสงสัยเลยว่า นั่นคือ ช่องทางหนึ่งที่ประชาชนจะอาศัยโอกาสนี้ ลงโทษรัฐบาลของตน ซึ่งเมื่อผลเกิดขึ้นเช่นนี้ หลังจากนั้นเพียง 2 วัน นาย Pierre Raffarin จึงลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
- และเหตุการณ์ ดังที่กล่าวมาในประเทศฝรั่งเศส มิได้เกิดเพียงประเทศเดียว ในอารมณ์ของการไม่เอารัฐบาล หรือไม่พอใจรัฐบาล โดยผ่านการแสดงออกทางประชามติ เพราะหลังจากนั้นเพียง 3 วันให้หลัง คือ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ประเทศเนเธอร์แลนด์ เอง ประชาชนก็ออกเสียงประชามติ ในเรื่องธรรมนูญยุโรป เช่นเดียวกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบในการเข้าเป็นสนธิสัญญาดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งไม่ชื่นชอบในแนวนโยบาย ของ Jan Peter Balkenende ( Prime Miniater)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การลงประชามติ บางครั้งก็เป็นการลงประชามติที่ก่อให้เกิดแนวทางในการปกครองประเทศ หรือมีผลต่อแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น ในประเทศบราซิล ในเรื่องการขายอาวุธ สเปน ในกรณีการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ และในเวเนซูเอล่า แต่อีกแนวทางหนึ่ง อาจเป็นการลงประชามติที่มิได้ตรงตามเจตนารมณ์ ในเรื่องประชามตินั้น ๆ แต่เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจผู้ปกครอง โดยการแสดงออกผ่านประชามติ จนทำให้บางประเทศใช้ การลงประชามติ ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ เรียกว่า Referendum Consult คือ เป็นการขอคำปรึกษาจากประชาชน โดยผลประชามติดังกล่าว ไม่ผูกพันรัฐแต่อย่างใด เช่น ในประเทศกรีก สเปน และประเทศลักซัมเบอร์ก ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
จากประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของทั่วโลก ที่เคยผ่านการใช้วิธีการออกเสียงประชามติ จนมาถึงปัจจุบัน อันเป็นรอยต่อของประเทศไทย จึงสามารถมองเห็นถึงอนาคตได้ว่า การออกเสียงประชามติ ในการรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ของประเทศไทย อาจเจริญรอยตามแบบในอารยประเทศ กล่าวคือ ปัจจัยในการรับหรือไม่รับ มิได้อยู่กับแต่เพียงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เพียงอย่างเดียว ตามที่รัฐบาลต้องการที่จะให้เป็นอันเป็นเป้าวัตถุประสงค์ของการลงประชามติ แต่อาจมีปัจจัยที่แฝงอยู่ในการลงประชามติ ที่จะถึงนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
ปัจจัยแฝงดังกล่าว อาทิเช่น
- ความไม่พอใจในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
- ความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ อาทิ
เช่น มาตรการกันสำรองค่าเงินบาท 30 % เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่ก่อให้เกิดการเสียหายทางบัญชีของรัฐ อัตราการว่างงานของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม หรือในเรื่องการแก้ปัญหาทางภาคใต้
- ความไม่พอใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มิได้มีการร่าง ตามความต้องการของคนบางกลุ่ม เช่น นักการเมือง พระภิกษุ หรือองค์กร NGO บางส่วน
- ความไม่พอใจในตัวรัฐมนตรี หรือบุคคลในรัฐบาล อันมาจากความไม่เชื่อมั่นในความสุจริต และท่าทีที่มีลักษณะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
- กลุ่มอำนาจเก่า หรือ กลุ่มที่ประชาชนยังนิยมชมชอบในรัฐบาลทักษิณ โดยในปี พ.ศ. 2548 มีผู้มาจดทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคถึง 14 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2549 ที่มีการจัดการเลือกตั้ง มีผู้เลือกพรรคไทยรักไทย ถึง 16 ล้านคน
เหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยแฝง ที่อาจเกิดขึ้นในการลงประชามติ ในครั้งนี้ ดังนี้ ผู้เขียน จึงเห็นเป็นอย่างยิ่งว่า การลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 อาจจะเป็นทางที่บ่งบอกถึงอนาคตของประเทศ หรือสะท้อนนัยสำคัญอย่างหนึ่ง ว่า จะเป็นการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฤาไม่เอารัฐบาล (เผด็จการ) สิ่งเหล่านี้ จะมีคำตอบและเห็นประจักษ์ในไม่ช้า และจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่จะถูกบันทึก เช่นเดียวกับต่างประเทศ
เชิงอรรถ
(1) นันทวัฒน์ บรมานันท์ ,การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ฯ (ตอนที่ 1),www.Pub-Law.net เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545.
(2) กมล สมวิเชียร ,ประชาธิปไตยกับสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์,2520) หน้า ก.
(3) http://en.wikipedia.org/wiki/Referendum. วันที่ 9 กรกฎาคม 2550
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1120
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:03 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|