ครั้งที่ 93

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "คอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของฝรั่งเศส"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตอย่างสงบสุขมาก ๆ อยู่ที่เมือง Aix-en-Provence โดยผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมบรรยายแล้วก็เพื่อค้นเอกสารต่าง ๆ สำหรับนำกลับไปใช้ทำงานที่ประเทศไทยครับ ผมทำการบรรยายไปแล้ว
       ส่วนหนึ่ง ยังมีค้างอยู่อีกหนึ่งครั้งตอนใกล้ ๆ ปลายเดือนตุลาคมครับ ผมเข้าใจว่าผมคงกลับกรุงเทพ ฯ ได้เร็วกว่ากำหนดเพราะเขาเชิญผมมา 2 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กันยายน-15 พฤศจิกายน แต่หากผมบรรยายครบจำนวนตามข้อตกลงแล้วก็ว่าจะกลับก่อนครับ ผมคงกลับประมาณเดือนตุลาคมนี้หากเป็นไปได้ครับ
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศสก็เพิ่งเปิดเทอมใหม่ของปีการศึกษา 2005 ครับ แต่ก็ไม่ทุกแห่งนะครับเพราะบางที่ก็ยังไม่เปิดเทอม และเมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่ webmaster ของ www.pub-law.net ได้เดินทางมาเรียนต่อที่ฝรั่งเศสครับ ก็คงต้องขอ “อวยพร” ผ่าน website แห่งนี้นะครับว่าขอให้เรียนสำเร็จตามความตั้งใจทั้งของ “ตนเอง” และของ “เจ้าของทุน” ซึ่งหมายรวมถึง ทั้งเจ้าของเงิน ทั้งหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งผู้ที่อุตส่าห์เหนื่อยยากลำบาก “หาทุน” มาให้ด้วยครับ!!! จะอย่างไรก็ไม่ว่า ขอให้ “ตั้งใจ” หาความรู้ “ตั้งใจ” เรียนหนังสือให้มาก ๆ หน่อย อย่างน้อยก็ต้อง “ตั้งใจ” ให้ “มากกว่า” สมัยที่ทำ website นี้อยู่นะครับ “ข้อผิดพลาด” หรือ “ข้อบกพร่อง” ทั้งหลายจะได้ “ลดน้อย” ลงไปบ้าง เอาใจช่วยครับ!!!
       เมื่อเปิดเทอมที่ผ่านมาของฝรั่งเศสมีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์อยู่หลายฉบับครับ ก็ไม่รู้ว่า “ใครลอกใคร” นะครับ!!! แต่ที่รู้แน่ ๆ คือฝรั่งเศสซึ่งเป็นนัก “วางระบบ” ที่ดี (ซึ่งเห็นได้จากการวางระบบกฎหมาย การเมือง การปกครอง แม้กระทั่งผังเมือง ฯลฯ) ได้พยายามสร้างระบบที่ “สมบูรณ์” สำหรับเรื่องดังกล่าว เราลองมาดูกันนะครับ ผมอ่านหนังสือพิมพ์ทำให้ทราบเรื่อง่า สำหรับเปิดเทอมปีการศึกษา 2005 นี้ นาย François FILLON รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้จัดทำแผนการที่จะให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (notebook) ใช้ครับ!!! เห็นไหมครับว่าใครลอกใคร เราคงยังจำโครงการ “คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร” ของ “ท่านผู้นำ” ของเราได้นะครับ!!!
       คงต้องขอเล่าถึงโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของฝรั่งเศสที่ผมมองดูว่าเขาได้พยายามทำอย่างเป็น “ระบบ” ก่อนครับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโฆษณาว่า นักศึกษาจะมีคอมพิวเตอร์ใช้โดยเสียเงินเท่ากับค่ากาแฟต่อวันครับ สาระสำคัญก็คือ รัฐบาลเสนอให้นักศึกษามีคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วใช้โดยเสียเงินผ่อนชำระวันละ 1 ยูโร ซึ่งใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารที่คิดดอกเบี้ยต่ำ โครงการดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแถลงว่า มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่เข้าร่วมโครงการด้วยหลายราย และมีคอมพิวเตอร์ให้นักศึกษาเลือกซื้อกว่า 30 แบบครับ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจำนวนประมาณ 2.23 ล้านคนมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้มากกว่าเดิมที่มีอยู่ประมาณ 8% เป็น 17% ภายใน 1 ปีครับ ลองมาดูระบบที่เขาทำกันครับ ในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของเงิน รัฐบาลได้เจรจาขอให้ธนาคารเอกชนจำนวน 9 แห่งเข้าร่วมโครงการโดยขอให้จัดให้นักศึกษาได้กู้ยืมเงินสำหรับนำไปซื้อคอมพิวเตอร์ในโครงการดังกล่าวและคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ โดยในคอมพิวเตอร์รุ่นมาตรฐานที่มีราคา 1000 ยูโร (ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 20-30% ครับ!!!) นั้น นักศึกษาจะผ่อนชำระเดือนละ 30 ยูโรเป็นเวลา 3 ปี แต่ถ้าหากนักศึกษาต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นไปก็สามารถทำได้โดยอาจผ่อนเดือนละประมาณ 45-60 ยูโรครับ ส่วนที่มาของคอมพิวเตอร์นั้น รัฐบาลยืนยันว่าต้องเป็นคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วที่ยังคงขายอยู่ในท้องตลาด หมายความว่ายังไม่ตกรุ่นครับ!!! และนอกจากนี้ คุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้เพิ่มด้วยก็คือ ต้องมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องได้เกิน 3 ชั่วโมง ต้องสามารถบันทึกข้อมูลลงบน CD-ROM ได้และสามารถเล่น internet ไร้สายได้ครับ มีบริษัทผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วเข้าร่วมโครงการด้วยหลายบริษัท เช่น Toshiba, Sony, NEC, IBM, HP, DELL และ Apple เป็นต้นครับ
       แค่นี้ยังไม่พอนะครับ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความรู้โดยผ่านระบบ internet รัฐบาลจึงได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการให้การใช้ internet ไร้สาย ทั้งในบริเวณมหาวิทยาลัยและในหอพักนักศึกษา (campus) สามารถทำได้ฟรีครับ!!! โดยกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งไปดำเนินการและรัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว 60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
       ที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การสร้าง “ระบบ” ที่ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญนะครับ การกู้เงินจากธนาคาร การซื้อคอมพิวเตอร์ก็ซื้อจากบริษัทผู้ผลิต (ซึ่งหมายความว่าต้องมีการรับประกันด้วยและการซ่อมบำรุงก็สามารถทำโดยบริษัทผู้ผลิตครับ) แถมมหาวิทยาลัยยังให้บริการระบบ internet ไร้สายฟรีอีกด้วย เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลเห็นว่าระบบ internet เป็นแหล่งความรู้ใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักศึกษา ดังนั้นจึงได้ทำการสนับสนุนอย่างเป็นระบบครับ
       ที่เล่าให้ฟังก็คงเพื่อ “เล่า” ให้ฟังเฉย ๆ ครับ พอดีผมไม่ได้ติดตามโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของท่านผู้นำด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้างและไปถึงไหนแล้ว ก็เลยไม่อยาก “เปรียบเทียบ” ครับ ใครอยากทราบข้อมูลของไทยก็ลองเอาไปเทียบเคียงกันดูแล้วกันครับ
       จริง ๆ ก็คงต้องดูกันที่ “เป้า” มากกว่าว่าประโยชน์ที่ “ผู้ซึ่ง” ได้รับมีมากน้อยแค่ไหน การซื้อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องในวันนี้คงไม่ใช่เฉพาะใช้เล่นได้หรือใช้ในงานพิมพ์อย่างเดียวนะครับ คงต้องพิจารณาไกลไปถึงระบบพัฒนาความรู้โดยผ่านทาง internet ด้วยครับ
       ในสัปดาห์นี้ บทความที่นำเสนอก็คงเป็นตอนที่ 2 ของงานวิจัยของผมเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ที่ลงต่อจากคราวที่แล้วและก็คงลงต่อไปเรื่อย ๆ อีกหลายตอนจนกว่าจะจบเรื่องครับ ส่วนคอลัมน์ใหม่ของเราที่เพิ่งเปิดไปเมื่อคราวที่แล้วคือ “นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน” นั้นก็ได้รับความสนใจจากแฟน ๆ จำนวนมาก ในการนี้ นักศึกษาไทยแห่ง Auvergne คนหนึ่งคือ คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ก็ได้ส่งบทความเรื่อง “การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส” มาร่วมกับเราครับ แม้จะไม่ค่อยเป็น “มหาชน” เท่าไหร่แต่ก็ลงให้ด้วยความเต็มใจนะครับ เพราะผม “ชื่นชม” ความเป็นนักวิชาการของทุกคนอยู่แล้ว อยากให้ “รุ่นเยาว์” ทั้งหมายเป็นนักวิชาการ “แท้ ๆ“ กันมาก ๆ ประเทศเราจะได้พัฒนาไปด้วยดีครับ ก็ต้องขอขอบคุณนักวิชาการรุ่นเยาว์เอาไว้ด้วยครับ และก็หวังว่านักศึกษาไทยในต่างประเทศคนอื่น ๆ หากพอมีเวลาว่างอยู่บ้างก็เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับว่า ในวงการกฎหมายที่ตนเองอยู่หรือสัมผัสมีอะไรแปลกใหม่บ้าง
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=112
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)