ประกาศคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 ใช้บังคับย้อนหลังได้จริงหรือ? โดย คุณชนินท์ ติชาวัน

8 กรกฎาคม 2550 21:00 น.

       การอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 13.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ไปเสร็จสิ้นตอนกลางดึกของวันเดียวกันใช้เวลาหลายชั่วโมง คำวินิจฉัยประกอบไปด้วยคำร้องของผู้ร้องคืออัยการ ผู้ถูกร้องอันหมายถึงพรรคการเมืองแก้ข้อกล่าวหา จากนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่จะชี้ถูกชี้ผิดในข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในข้อกฎหมาย นับเป็นการเรียนรู้การเมืองการปกครองว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรที่เรียกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งสิ้น 9 ท่าน
       อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการอ่านคำวินิจฉัยที่ยาวนานที่สุดก็ว่าได้ แต่ก็อาจจะด้วยเหตุที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในรายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องบันทึกไว้ให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ทำความเข้าใจข้อเท็จจริง ว่านี่คือกฎเกณฑ์กติกาที่จะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ป้องกันข้อโต้แย้งใดๆ ที่อาจจะมีขึ้น โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาใช้ลงโทษพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กอีก 3 พรรค ในขณะที่ปล่อยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้นจากข้อกล่าวหาของการยุบพรรค
       การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จะตัดสินยุบหรือไม่ยุบนั้น เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่คณะตุลการฯ หากเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงหรือบ่งชี้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ก็เป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดสินให้ต้องยุบพรรคนั้น แต่ข้อที่จะต้องพิจารณาและถือเป็นเรื่องที่สำคัญในทางกฎหมายก็คือเมื่อได้ตัดสินยุบพรรคแล้ว ประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 จะสามารถนำมาใช้บังคับในกรณีนี้ได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่ว่า ประกาศคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 นั้น เป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังจากที่ได้มีการกระทำและถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด จนเป็นเหตุให้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ให้มีการยุบพรรคนั่นเอง
       
       เหตุผลของคำวินิจฉัยที่ให้ประกาศ ค.ป.ค. ฉบับที่ 27 ใช้บังคับย้อนหลังได้
       
คณะตุลาการฯ ได้ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า ทำไมประกาศ ค.ป.ค. ฉบับที่ 27 ซึ่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสินให้ยุบพรรคสามารถใช้บังคับย้อนหลังได้ โดยให้เหตุผลว่า “คณะตุลาการฯ เห็นว่าประกาศ ค.ป.ค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค”
       ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่การกระทำของผู้ถูกร้องเกิดก่อนประกาศฉบับดังกล่าวใช้บังคับ จังมีปัญหาว่าประกาศ ค.ป.ค.ฉบับที่ 27 เป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้บังคับหรือไม่
       หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้นมีที่มาจากหลักการณืที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ แต่หลักการดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำอันเป็นความผิดอาญาเท่านั้น ดังที่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำนั้น จะต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” ซึ่งหลักการนี้ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอตีดหลายฉบับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2522 เป็นต้นมา
       ประกาศ ค.ป.ค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 นั้น แม้เป็นบทบัญญัติที่มีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 ที่กระทำการดังกล่าวก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ต้องรับผลตามมาตรา 69 กล่าวคือ จะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้เท่านั้น
       แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 เพื่อมิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้
       บทบัญญติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงมีอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตหลายฉบับ รวมทั้งในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดอายุหรือระดับการศึกษาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิลงคะแนน หรือการห้ามบุคคลบางประเภทเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น ประกาศ ค.ป.ค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้”
       
จากเหตุผลของคำวินิจฉัยในส่วนที่ให้ ประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 มีผลย้อนหลังได้ ตามที่ผู้เขียนได้ยกขึ้นกล่าวข้างต้น ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเองมีความเห็นที่แตกต่างจากคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้อ่านไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกับผู้เขียนแต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอตามหลักการและเหตุผลต่อไปนี้
       
       1.ข้อความคิดเบื้องต้น
       ภายใต้หลักนิติรัฐ อันเป็นหลักพื้นฐานของการปกครองที่ว่ารัฐ องค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการ ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้หลักดังกล่าวทั้งสิ้น เมื่อกล่าวถึงนิติรัฐก็อาจจะมีการให้ความหมายและมีการแบ่งแยกหลักย่อยของหลักนิติรัฐ ซึ่งก็จะมีการให้ความหมายและมีการแบ่งแยกที่แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้ว หลักนิติรัฐก็คือรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายตามหลักแห่งเหตุแห่งผลเพื่อการอาศัยอยู่รวมกันของมนุษย์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และมุ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขของสังคมโดยรวม นิติรัฐจึงเป็นหลักที่ให้หลักประกัน ปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนจากการกระทำของรัฐ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงจำเป็นต้องเคารพหลักนิติรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       ภายใต้แนวคิดของลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ถือเป็นแรงบันดาลใจของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยลัทธินี้ยอมรับกันว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีศักดิ์ศรีและถึงแม้ว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จะมีลักษณะที่เป็นนามธรรมอยู่มาก แต่ก็ย่อมปรับแปรให้เป็นรูปธรรมในลักษณะหนึ่งได้โดยให้มนุษย์ มีความสามารถในการกำหนดวิถีชีวิตของตนได้ด้วยตนเอง มนุษย์แต่ละคนจะมีความสามารถเช่นว่านี้ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อแต่ละคนมีแดนแห่งเสรีภาพ ภายในแดนแห่งเสรีภาพของตนนี้ แต่ละคนจะคิดหรือกระทำการใดๆ ก็ได้อย่างอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงตามอำเภอใจของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้ปกครอง
       
       2.ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
       การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นถือว่าเป็นการที่รัฐใช้อำนาจในการจำกัดสิทธิของประชาชน การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตาม ประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 นั้น จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสิทธิการเลือกตั้งเป็นสิทธิประเภทใดและมีลักษณะอย่างไร
       
       2.1 ประเภทของสิทธิและเสรีภาพ
       
สิทธิและเสรีภาพอาจจำแนกออกเป็นประเภทๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยในที่นี้จะใช้การกำเนิดของสิทธิและเสรีภาพ เป็นข้อพิจารณา ซึ่งสามารถจำแนกสิทธิและเสรีภาพออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง โดยอาศัยเหตุที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่สังคมการเมืองที่เรียกว่ารัฐจะอุบัติขึ้น โดยสิทธิพลเมืองนั้นจะมีได้ก็แต่เฉพาะการภายหลังที่รัฐได้เกิดขึ้นแล้ว
       สิทธิมนุษยชน (Human rights) ซึ่งได้แก่บรรดาสิทธิและเสรีภาพที่ถือกันว่าเป็นคุณลักษณะประจำตัวของมนุษย์ และไม่อาจพรากไปจากประชาชนได้ โดยไม่มีผลเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของประชาชน สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพในเคหะสถาน เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในครอบครัว สิทธิและเสรีภาพทางสังคมและเศรษฐกิจบางประการ เช่น สิทธิในทรัพย์ เป็นต้น
       สิทธิพลเมือง (Citizen rights) ซึ่งได้แก่บรรดาสิทธิและเสรีภาพในอันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเจตนารมณ์ของรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือ สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง เช่น เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นต้น ซึ่งสิทธิประเภทนี้รัฐต้องเกื้อหนุนและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเหล่านี้ได้
       
       3. แนวคิดในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
       ในสังคมที่อยู่ภายใต้การปกครองนั้น ย่อมประกอบไปด้วยปัจเจกชนที่มีสิทธิและเสรีภาพ เป็นของแต่ละคน ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว รวมถึงการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อเป็นการสนองความต้องการของปัจเจกชนโดยรวมหรือประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นในนานาประเทศต่างก็มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องรับรองเรื่องดังกล่าวไว้ และเป็นเรื่องที่รัฐไม่สามารถปฏิเสธได้ การที่รัฐจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้นจะกระทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีหลักก็ต้องมีข้อยกเว้น ในเรื่องดังกล่าวรัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็ต่อเมื่อรัฐออกกฎหมายให้อำนาจแก่รัฐในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้โดยอาจมีการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาในการจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้น อาจแยกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ สิทธิและเสรีภาพที่ไม่อาจจะจำกัดได้ กล่าวคือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่มีบทบัญญัติรับรองไว้อย่างสมบูรณ์ (Absolute) ไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดๆ เช่นสิทธิในการนับถือศาสนา รัฐจะบังคับให้ประชาชนต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะหรือห้ามมิให้ประชาชนนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ สิทธิในการนับถือศาสนาจึงเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ สิทธิในลักษณะที่สองคือ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐอาจจำกัดได้ ภายใต้บังคับของกฎหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิทธิที่มีบทบัญญัติรับรองไว้อย่างสัมพัทธ์ (Relative)ซึ่งหมายความว่า การที่รัฐจะจำกัดสิทธิได้นั้น จะต้องตรากฎหมายออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้น สิทธิเสรีภาพประเภทนี้ได้แก่สิทธิในการกระทำ ซึ่งการใช้สิทธิเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อภายนอก และอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคมได้ไม่มากก็น้อย ดังนี้ สิทธิในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นสิทธิที่อาจจำกัดได้ เนื่องจากการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย แต่ละคนจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพของตนกระทำการใดๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้อื่นหรือต่อประโยชน์ส่วนรวม (General Interest) หรือประโยชน์มหาชน (Public Interest) ไม่ได้
       สิทธิการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งสิทธิที่บุคคลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐได้อุบัติขึ้นแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสิทธิที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนนั่นเอง ดังนั้นรัฐจึงชอบที่จะจำกัดสิทธิการเลือกตั้งนี้ได้ รวมทั้งสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะมอบสิทธิการเลือกตั้งนี้ให้กับประชาชนภายใต้เงื่อนไขเช่นไร แต่อย่างไรก็ตามการตรากฎหมายออกมาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงหลักการและลักษณะของกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วย
       
       4. ลักษณะทั่วไปของกฎหมายที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
       ข้อที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือ สิทธิเลือกตั้งนี้สามารถที่จะออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดสิทธิได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในเบื้องต้นเสียก่อน กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นต้องมีลักษณะสำคัญ 5 ประการคือ
       4.1 กฎหมายต้องมีลักษณะทั่วไป คำว่ากฎหมายต้องมีลักษณะทั่วไปนั้นมิได้หมายความว่า กฎหมายต้องมีการใช้บังคับกับราษฎรทุกคนเหมือนกัน แต่หมายความว่า กฎหมายต้องมีการใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับ แก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
       4.2 กฎหมายต้องมีความแน่นอนชัดเจน กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะต้องบัญญัติกำหนดไว้ให้แจ้งชัดว่าให้บุคคลประเภทใด กระทำอย่างไร หรือห้ามมิให้กระทำอย่างไร ในกรณีใด และเพื่อประโยชน์อะไร ความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายนั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและขาดเสียไม่ได้ แก่การที่ราษฎรจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพแห่งตนทั้งในทางกายภาพและในทางจิตใจ บุคคลย่อมไม่กล้าตัดสินใจใช้สิทธิหรือกระทำการอย่างใดๆลงไป ถ้าหากไม่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้าว่าการกระทำนั้นๆ ของตนจะมีผลทางกฎหมายอย่างไรและผลทางกฎหมายใดจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ จะทำให้ตนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เพื่อประกัน “ความมั่นคงในนิติฐานะ” (Legal Security) เช่นว่านี้ของประชาชน
       4.3 กฎหมายต้องไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลัง หมายความว่า กฎหมายที่ใช้บังคับนั้น จะต้องประกาศโฆษณากฎหมายนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการล่วงหน้าในราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่จะนำไปใช้บังคับแก่ประชาชน และใช้กฎหมายนั้นบังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้วก่อนวันที่ได้มีการประกาศโฆษณากฎหมายนั้นในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้
       
ผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1/2489 เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพ.ศ.2475 มาตรา 14 บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีของชนชาวไทยไว้แต่เพียงสั้นๆ ว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การประกอบอาชีพ” บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ดังซึ่งคัดกล่าวไว้ข้างต้น มีข้อความรับรองถึงเสรีภาพของบุคคลในการต่างๆ ดังระบุไว้นั้น จริงอยู่ไม่มีคำโดยตรงว่ามีเสรีภาพในการกระทำ แต่ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 14 เป็นข้อบัญญัติรับรองเสรีภาพในการกระทำด้วย เพราะคำว่ามีเสรีภาพบริบูรณ์นี้ หมายความย่อๆ ว่า ทำได้ตามใจชอบ เช่น เรามีทรัพย์ เราจำทำอะไรแก่ทรัพย์นั้น หรือจะเอาทรัพย์นั้นทำอะไรแก่ใครก็ได้ หากการกระทำนั้น อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย คำว่ามีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย จึงไม่หมายแต่เฉพาะเพียงไม่ให้ใครมาทำอะไรแก่เรา แต่หมายรวมถึง เราจะทำอะไรก็ได้ด้วย หากการนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมาย สรุปความตามมาตรา 14 รับรองว่า บุคคลทุกคนอาจที่จะทำ จะพูด จะเขียน ฯลฯ อย่างไรก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือต้องไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น การบัญญัติลงโทษก็ดี ประโยคที่ว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย” นี้ ย่อมต้องหมายถึงบทกฎหมายในเวลากระทำ เวลาพูด เวลาเขียน ฯลฯ จะหมายถึงบทกฎหมายที่จะออกต่อไปภายหน้าด้วยไม่ได้ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตรา 14 นี้ เป็นหลักประกันซึ่งรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน หากแปลว่า รวมถึงกฎหมายอันจะมีมาในภายหน้าแล้ว บุคคลผู้กระทำ ผู้พูด ผู้เขียน ฯลฯ จะรู้ได้อย่างไรว่า การกระทำของตน การพูด การเขียน ฯลฯ นั้น ตนทำ พูด เขียน ฯลฯ ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะต่อไปอาจมีกฎหมายออกมาว่าอย่างไรก็ได้ บทบัญญัติแห่งมาตรา 14 จะไม่เป็นหลักประกันและไม่มีประโยชน์ที่จะบัญญัติไว้ ศาลฎีกาพร้อมกันประชุมปรึกษาเห็นว่า จะแปลเช่นนั้นไม่ได้ และต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ว่าบุคคล ย่อมพูด ย่อมเขียน โดยไม่ต้องห้าม และจะไม่ต้องรับโทษทัณฑ์แต่อย่างใด ในเมื่อการกระทำ การพูด การเขียน ฯลฯ เช่นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามหรือบัญญัติว่าเป็นความผิด และหากกฎหมายใดบัญญัติย้อนหลังลงโทษการกระทำ การเขียน การพูด ฯลฯ ที่แล้วมาย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ประโยคที่ว่า “ภายในบังคับแห่งกำหมาย” ในมาตรา 14 นั้นเองแสดงให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ มีอำนาจที่จะขีดวงเสรีภาพในการดังกล่าวในมาตรา 14 นั้นได้ แต่เมื่อจะขีดวงประการใด ก็ย่อมต้องประกาศเป็นกฎหมายขีดวงไว้เสียก่อน จะขีดวงย้อนหลังทำให้หลักประกันที่ประกันตามมาตรา 14 ให้ไว้สูญเสียไปได้ไม่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงพร้อมกันพิพากษาว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488 ที่มีความว่า ไม่ว่าการกระทำอันบัญญัติว่าเป็นอาชญากรสงครามนั้น จะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงคราม และจะต้องได้รับโทษดังที่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เฉพาะที่บัญญัติลงโทษการกระทำก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 มาตรา 14 และเป็นโมฆะตามมาตรา 61 ที่ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆเป็นโมฆะ”
       
จากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นว่าการตรากฎหมายใดให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้น เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ นอกจากนี้ ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การที่รัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดที่ได้บัญญัติรับรองหลัก ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้” นั้น คำว่า “โทษทางอาญา” ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้าใจว่าหมายความจำกัดเฉพาะแต่โทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ซึ่งได้แก่ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน เท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างอื่นๆของประชาชน เช่นการตัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย เพราะฉะนั้น การตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลไม่ว่าการใดๆ ย่อมเป็นการไม่ชอบ
       4.4 กฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักแห่งความได้สัดส่วน หลักแห่งความได้สัดส่วนนั้นประกอบด้วยหลักการย่อยๆ 3 หลักการด้วยกัน ได้แก่
       หลักความเหมาะสม (Principle of suitability) ซึ่งหมายความว่า มาตรการทางกฎหมายนั้นจะต้องเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการให้เกดิผลได้จริงในทางปฏิบัติ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะกระได้ก็เฉพาะแต่เพียงเพื่อจัดระเบียบแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น ไม่ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์มหาชนเท่านั้น
       หลักแห่งความจำเป็น (Principle of necessity) หมายความว่า การออกกฎหมายมาใช้บังคับแก่ประชาชนต้องเป็นมาตรการที่จำเป็นแกการดำเนินการให้เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎฆมายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้กล่าวคือป็นมาตรการที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด
       หลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Principle of Proportionality in the Narrow sense) หมายความว่ามาตรการทางกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับแก่ราษฎรนั้นต้องเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนยิ่งกว่าที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่เอกชนและหรือแก่สังคมโดยส่วนรวม
       4.5 กฎหมายต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสารัตถะแห่งสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพจะจำกัดได้ด้วยการตรากฎหมาย แต่กฎหมายที่ว่านั้น ก็หาได้มีอำนาจตัดหรือเพิกสิทธิและเสรีภาพด้วยไม่ การจำกัดสิทธิเสรีที่ล่วงเข้าไปกระทบถึงแก่น(Core) หรือสารัตถะ (essence) ของสิทธิและเสรีภาพเช่นนี้ แม้ตามรูปแบบแล้วจะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพแต่ตามเนื้อหาแล้วมีผลไม่แตกต่างกับกฎหมายที่ตัดสิทธิหรือเสรีภาพ ดังนั้น การตรากฎหมายที่มีลักษณะเช่นนี้ย่อมกระทำไม่ได้
       
       5.ประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 ใช้บังคับย้อนหลังได้จริงหรือ
       
จากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้น แม้สิทธิการเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิที่รัฐมอบให้แก่บุคคลในภายหลังก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าสิทธิเลือกตั้งนี้เป็นสิทธิที่นอกจากรัฐจะต้องรับรองคุ้มรองแล้ว รัฐจะต้องเกื้อหนุนและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองได้ เมื่อสิทธิทางการเมืองนี้เป็นสิทธิที่รัฐได้มอบให้ จึงไม่ใช่สิทธิที่รัฐได้รับรองโดยสมบูรณ์ กล่าวคือรัฐสามารถที่จะตรากฎหมายออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธินี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถที่จะทำได้ตามอำเภอใจ การจำกัดสิทธิจะต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นหลักการที่อยู่เบื้องหลังของการปกครองรัฐ ,หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามแนวความคิดของลัทธิปัจเจกชนนิยม เพราะฉะนั้น การจำกัดสิทธิโดยกฎหมายนั้นจึงต้องพิจารณาถึงหลักการในทางกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิด้วยซึ่งในกรณีนี้หลักการที่สำคัญคือ หลักความไม่มีผลย้อนหลังของกฎหมาย เนื่องจากว่า การที่บุคคลใดจะกระทำการใดนั้น บุคคลนั้น จำเป็นจะต้องรับรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตนรวมทั้งต้องรับรู้ถึงผลของการกระทำของตนด้วยว่าหากได้กระทำการเช่นนั้น กฎหมายได้กำหนดผลหรือลงโทษหรือตัดสิทธิ หรือให้สิทธิอย่างไรบ้างเพื่อจะได้เป็นข้อพิจารณาของบุคคลในการตัดสินใจที่จะกระทำการนั้นหรือไม่ หากให้กฎหมายที่ตราออกมาภายหลังอันเป็นผลร้ายต่อบุคคลที่ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับนั้นใช้บังคับ ก็เท่ากับว่า “ความมั่นคงแห่งนิติฐานะของบุคคล” (Legal Security) ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักนิติรัฐ เพราะฉะนั้น หลักที่ว่าไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ นั้นจึงไม่น่าที่จะใช้บังคับเฉพาะโทษในทางอาญาเท่านั้น แต่น่าจะน่าจะหมายถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างอื่นๆของประชาชน เช่น การตัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย ดังนั้น จากเหตุผลของคำวินิจฉัยที่ว่าหลักการห้ามตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น ใช้ได้เฉพาะกรณีของการบัญญัติโทษอาญาเท่านั้น หากผลร้ายที่กฎหมายกำหนดขึ้นไม่ใช่โทษอาญา ผู้บัญญัติกฎหมายย่อมบัญญัติกฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลได้ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นการตีความหมายที่แคบจนเกินไป
       ผลร้ายที่เกิดขึ้นจากประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 คือ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคมีกำหนดห้าปีนั้น ผลร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังไปกระทบสิทธิของบุคคลอย่างรุนแรง ประกาศ คณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 ดังกล่าวในส่วนที่เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคล จึงไม่อาจใช้บังคับได้ เพราะขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ระบบกฎหมายไม่ยอมให้มีการตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลก็เนื่องมาจากต้องประกันความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลที่มีต่อการใช้อำนาจของรัฐ อันเป็นหลักการที่สำคัญของนิติรัฐ ซึ่งจะต้องเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอย่างสมเหตุสมผลและความยุติธรรมเป็นใหญ่ บุคคลย่อมไม่อาจเชื่อถือการใช้อำนาจของรัฐได้เลย หากไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนกระทำวันนี้ ต่อไปในภายหน้ารัฐจะออกกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ตนอย่างไร หรือสิ่งที่ตนกระทำในวันนี้แล้วมีผลร้ายแค่นี้ ต่อไปภายหน้ารัฐจะออกกฎหมายเพิ่มเติมผลร้ายให้มากขึ้นอีกหรือไม่
       เพราะฉะนั้น ผู้เขียนเห็นว่าประกาศคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 ที่กำหนดให้เพิกถอนสิทธิผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคนั้น เฉพาะส่วนที่ย้อนหลังไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและจบลงแล้ว กล่าวคือ ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการกล่าวหาให้ยุบพรรคการเมืองที่ค้างการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เพราะหากระบบกฎหมายยอมรับว่าหลักการไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ จะใช้บังคับเฉพาะโทษในทางอาญาเท่านั้น ก็เท่ากับว่าต่อไปในภายหน้า รัฐจะตรากฎหมายออกมาเพื่อจำกัดสิทธิในเรื่องใดๆ ให้มีผลย้อนหลังถึงการกระทำของบุคคลที่ได้สิ้นสุดลงแล้วได้ตลอดเวลากระนั้นหรือ หากเป็นเช่นนี้ความมั่งคงในนิติฐานะและความเชื่อมั่นในการใช้อำนาจรัฐจะมีอยู่ได้อย่างไร การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความสงบสุขของสังคม ซึ่งถือเป็นหลักสูงสุดของนิติรัฐจะบรรลุความมุ่งหมายได้อย่างไร


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1116
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)