|
|
ตุลาการภิวัฒน์กับทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจการปกครอง โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ 24 มิถุนายน 2550 22:14 น.
|
ตามที่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำเสนอร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับร่างแรก หรือที่เรียกว่า ร่างฉบับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ได้เกิดกระแสสนับสนุนและมีการต่อต้านในหลายประเด็น ไม่ว่า จะเป็นประเด็น
1. พระพุทธศาสนาควรบรรจุในรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. การสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ว. ควรมีหรือไม่
3. การลดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมควรหรือไม่
4. วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรีควรมีกี่ปี
5. ส.ส. ควรจบปริญญาตรีหรือไม่
6. ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อยังสมควรต้องมีหรือไม่
7. การนิรโทษกรรมสมควรบัญญัติไว้หรือไม่
8. สิทธิชุมชนจะทำได้จริงหรือไม่
9. และอื่น ๆ อีกนานาจิตตัง ขึ้นอยู่กับว่าใครเสียประโยชน์ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ก็จะออกมาท้วงติงในประเด็นต่าง ๆ
แต่ประเด็นที่สำคัญ ที่ผู้เขียนมุ่งจะศึกษาในบทความนี้ นั่นคือการที่ สภา ร่างรัฐธรรมนูญ มุ่งให้ความสำคัญกับองค์กรตุลาการ ในการนำตัวองค์กรหรือบุคลากรในองค์กร มาเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ โดยสังเกตได้จากการมอบอำนาจให้องค์กร ตุลาการ เข้ามามีส่วนในการชี้ขาดอำนาจในหลายมาตรา อาทิเช่น
1. มาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมืองให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
2. มาตรา 107 บัญญัติว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ .......ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ....
ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว ใน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงมีข้อถกเถียงทางวิชาการอยู่ว่า การร่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ อยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดใด หรืออาจจะเป็นตามคำกล่าวของนักวิชาการบางท่าน ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับไทยไทย โดยมองข้ามหลักการถ่วงดุลอำนาจของกันและกัน หรือที่เรียกว่า Check and Balance ซึ่งหลักการที่นำองค์กรตุลาการ หรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ มาเป็นผู้มีอำนาจในการแก้วิกฤต ของฝ่ายบริหาร เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ หรือจะเป็นการสร้างอำนาจให้องค์กรหนึ่ง จนขาดการตรวจสอบหรือคานอำนาจจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ นั่นคือสิ่งที่น่าค้นหา
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียน จึงขอกล่าวถึง แนวความคิดในการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ มิให้อีกฝ่ายมาล่วงล้ำหรือ ใช้อำนาจเกินขอบเขตของตน และเพราะเหตุใดหลักการนี้จึงสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก แต่กลับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทย กลับมีกระบวนการคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
1. ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ ( Separation of Powers)
เริ่มต้นมีขึ้นในศตวรรษที่ 17 ซึ่งผู้ที่คิดค้นแนวความคิดดังกล่าวคือ Montesquieu ( 1689- 1755) โดยได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือที่รู้จักกันในนาม The Spirit of Law หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวได้มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาและของประเทศฝรั่งเศส เป็นอย่างมากในระยะนั้น
มองเตสกิเออ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้วางหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง และอาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่สนใจรูปแบบการปกครองของอังกฤษ คนแรกๆ หลังจากที่มาเยือนประเทศอังกฤษ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดย มองเตสกิเออ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จในการปกครองประเทศของอังกฤษว่า การที่ประเทศอังกฤษมีเสรีภาพในทางการเมืองมากที่สุด เพราะว่าอำนาจหน้าที่ของรัฐ ได้แบ่งแยกไปยังอำนาจ หรือองค์กรต่าง ๆ โดยไม่มีอำนาจหรือองค์กรใด ที่จะมีอำนาจโดยเด็ดขาดที่จะบีบบังคับประชาชนได้ เสรีภาพของประชาชนจะไม่มีเลย ถ้าอำนาจเหล่านั้นไปรวมอยู่ที่องค์ใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียว โดย มองเตสกิเออ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า 1
1. อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจเกี่ยวกับการวางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ
2. อำนาจบริหาร คือ อำนาจในการใช้ หรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
3. อำนาจตุลาการ คือ อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดี
มองเตสกิเออ ตอกย้ำว่า เมื่อใดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารรวมอยู่ที่คนคนเดียวหรือองค์กรเจ้าหน้าที่เดียวกัน อิสรภาพย่อมไม่อาจมีได้ เพราะจะเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากกษัตริย์ หรือสภาเดียวกันอาจบัญญัติกฎหมายแบบทรราชย์.....เช่นเดียวกันอิสรภาพจะไม่มีอยู่ ถ้าอำนาจตุลาการไม่แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติและการบริหาร หากรวมอยู่กับนิติบัญญัติ ชีวิตและอิสรภาพของคนในบังคับจะอยู่ภายใต้การควบคุมแบบพลการ เพราะตุลาการอาจประพฤติด้วยวิธีรุนแรงและกดขี่.... ทุกสิ่งทุกอย่างจะถึงซึ่งอวสาน... 2
เมื่อพิจารณาจากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า มองเตสกิเออ ไม่ต้องการให้อำนาจอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว เพราะตามธรรมดา บุคคลใดก็ตามซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ มักจะใช้อำนาจเกินเลยเสมอ ดังนั้นเพื่อจะมิให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงจำต้องจัดให้มีอำนาจหนึ่งหยุดยั้งอีกอำนาจหนึ่ง ตามวิถีทางแห่งกำลัง หรือที่เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า อำนาจย่อมหยุดยั้งได้ซึ่งอำนาจ หรือที่เรียกว่า Power Stop Power มองเตสกิเออ ยังได้กล่าวต่อไปว่า การแบ่งแยกอำนาจนั้นจะมีได้แต่เฉพาะในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เท่านั้น ส่วนในประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ หรือ สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ อำนาจทั้งสามจะถูกรวบให้เป็นอำนาจเดียว
ดังนั้น กล่าวโดยสรุป มองเตสกิเออ เห็นว่า การแบ่งแยกอำนาจ คือ การมอบอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ลักษณะ อันประกอบด้วย รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ด้านการบริหาร บ้านเมือง รัฐสภาในฐานะองค์กรด้านนิติบัญญัติ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ด้านออกกฎหมาย และศาลยุติธรรม ในฐานะองค์กรด้านตุลาการ ที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีต่าง ๆ ภายใต้แห่งระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (Check and Balance ) ระหว่างทั้ง 3 องค์กร นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำนาจตุลาการนั้น โดยลักษณะแล้ว สมควรเป็นอำนาจที่มีอิสระ และจะไปอยู่ร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ โดยเด็ดขาด
1.1 การดำรงตำแหน่งของบุคคลในแต่ละองค์กร ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง
ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจได้มีมานานแล้ว แต่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมโดยการนำเสนอของมองเตสกิเออ ซึ่งมีการจำแนกอำนาจรัฐออกเป็นสามอำนาจและเขายังได้พัฒนาความคิดขึ้นโดยได้เรียกร้องให้มีการจัดแบ่งอำนาจและแยกตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจเป็นแต่ละคนอีกด้วย ตามคำกล่าวที่ว่า ห้ามสวมหัวโขนสองใบในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามหลัก Conflict of Interests คือห้ามบุคคลเดียวกันดำรงตำแหน่งในองค์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในขณะเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดกรณีที่ผลประโยชน์ขัดกันจากการใช้อำนาจระหว่างองค์กรได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันก็ย่อมสามารถลงคะแนนเสียงในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภาเพื่อสนับสนุนตนเองหรือพวกพ้องในฐานะของฝ่ายบริหารได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่สามารถทำให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ได้อย่างเต็มรูปแบบ 3
1.2 ความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ
ตามหลักการแล้วอำนาจในการจัดทำกฎหมายนั้น ถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในกรณีที่กฎหมายที่ออกมานั้นมีข้อความไม่ชัดเจนหรือต้องมีการพิจารณาว่ากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาถึงองค์กรที่จะมีหน้าที่ควบคุมกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาว่าคือองค์กรใด ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวนี้ได้มีการยอมรับถึงแนวคิดที่ให้ศาลมีอำนาจในการควบคุมกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ดังที่ปรากฏในคดีบรรทัดฐาน คือ Marbury v. Madison ที่ได้วางหลักไว้ว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายที่สภาคองเกรสตราขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเป็นการตัดสินทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรง 4 โดยคดีดังกล่าวได้แสดงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ คือ โดยหลักแล้วองค์กรนิติบัญญัติเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ดังนั้น การจะให้ผู้ออกกฎหมายเป็นผู้ตีความกฎหมายที่ตนออกมาเสียเองถือว่าเป็นการรวบอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการไว้ที่องค์กรนิติบัญญัติแต่ผู้เดียวซึ่งหาเป็นการสมควรไม่ เนื่องจากจะขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ดังนั้น จึงถือได้ว่าศาลเป็นองค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยทางกฎหมายเพื่อป้องกันระบบเผด็จการรัฐสภาได้ ( tyranny by assembly)
1.3 ความสัมพันธ์ของอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ
ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้น ได้ยึดถือหลักสำคัญประการหนึ่ง คือการรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ซึ่งมิได้ถือว่าเป็นการคุ้มครองตัวผู้พิพากษาหรือยอมให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีตามอำเภอใจ แต่เป็นการรับรองความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมายและนำกฎหมายที่มีอยู่มาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงแห่งคดีด้วยความรอบคอบให้เป็นไปตามกฎหมายโดยวิจารณญาณแห่งวิชาชีพของตน เพื่อรักษาและปกป้องความยุติธรรมให้ดำรงอยู่ ในการพิจารณาของศาลนั้นหากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่ฝ่ายปกครองเข้ามาเป็นจำเลยในคดีซึ่งอำนาจที่ฝ่ายปกครองได้กระทำลงถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหาร ดังนั้น จึงเห็นว่าองค์กรศาลหาได้มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีทางปกครองอันเป็นการกระทำที่เกิดจากอำนาจบริหารไม่ ซึ่งเป็นการยึดถือตามหลักการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ในทางตุลาการและหน้าที่ในทางปกครอง หากเป็นการกระทำนอกเหนือจากการกระทำผิดทางอาญาของตัวข้าราชการแล้ว ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ 5 จึงอาจกล่าวได้ว่า คดีที่ฝ่ายปกครองเป็นจำเลยไม่อาจถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมได้
บทสรุป
เมื่อพิเคราะห์ตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 จะเห็นได้ว่ายังคงยึดถือหลักการในการแบ่งแยกอำนาจ โดยแบ่งอำนาจเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ แต่สิ่งที่เป็นปัญหานั่นคือ การนำฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี ( ตามมาตรา 193) มาเกี่ยวข้องในเรื่องดังต่อไปนี้
1.ประเด็นตามมาตรา 107 บัญญัติว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ .......ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน หนึ่ง คน เป็นกรรมการ....
ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาแล้ว ซึ่งเป็นองค์กรฝ่าย นิติบัญญัติ จะเห็นได้ว่า มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองร่างกฎหมาย ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายการเมือง ดังนั้น การที่จะนำองค์กรตุลาการ ซึ่งมีอำนาจในการวินิจฉัยอรรถคดี ไปมีส่วนร่วมในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นการขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย และขัดกับหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน การนำอำนาจอธิปไตยไปใช้ต้องมาจากการที่ประชาชนมอบอำนาจดังกล่าวให้รัฐ มิใช่มาจากกลุ่มบุคคลที่มิได้มีการคัดสรรหรือเชื่อมโยงกับประชาชน มาเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งตามธรรมชาติองค์กรทั้ง 3 ต้องมีความเป็นอิสระต่อกัน และไม่ยุ่งเกี่ยวกัน และตามหลัก Conflict of Interests คือห้ามบุคคลเดียวกันดำรงตำแหน่งในองค์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในขณะเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดกรณีที่ผลประโยชน์ขัดกันจากการใช้อำนาจระหว่างองค์กรได้
และสิ่งที่น่าแปลกในประเด็นสมาชิกวุฒิสภา นั่นคือผู้ร่างให้เหตุผลในการกำหนดสิทธิของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 111 ว่า สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองมิได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อมิให้สมาชิกวุฒิสภาเข้ามาเกี่ยวข้องในฝ่ายบริหารอันเป็นการขัดกันในหลักการใช้อำนาจอธิปไตย 6 นั่นก็คือ เป็นการบอกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติต้องแยกออกจากฝ่ายบริหารและห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกัน แต่ส่วนกระบวนการในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา กลับนำองค์กรตุลาการมามีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของผู้ร่าง ฯ ว่าสรุปแล้ว จะยึดถือหลักการใด ในการร่างรัฐธรรมนูญ
2. ประเด็นตามมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมืองให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ซึ่งเมื่อพิจารณาในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่า เกิดการรวมตัวของทั้ง 3 อำนาจ โดยเข้ามาเกี่ยวข้องกัน ทั้ง ๆ ที่ทั้ง 3 อำนาจ ต่างมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันและเกิดมาเพื่อ Check and Balance ซึ่งกันและกัน โดยองค์กรตุลาการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอรรถคดี ก็มาช่วยแก้ไขปัญหาฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองร่างกฎหมาย และตรวจสอบฝ่ายบริหาร ก็มาช่วยแก้ไขปัญหาฝ่ายบริหาร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาเหตุผลอธิบายในทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ ที่ผู้ร่าง ฯ เคยให้เหตุผลในมาตรา 111 มิได้ นอกจากเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ อำนาจใหม่ขององค์กรตุลาการขึ้นมา นอกเหนือจากการปฎิบัติหน้าที่ในการวินิจฉัยอรรถคดี
ดังนี้ เมื่อพิจารณาถึงทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การนำองค์กรตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับองค์กรฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง มากเกินไปอาจนำไปสู่ยุควิกฤติตุลาการ เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2535 และยังขัดหรือแย้งกับทฤษฎีในการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง นอกจากนี้ยังขัดหรือแย้งกับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงกับประชาชนได้ ซึ่งขัดหรือแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้กระบวนการในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการดังกล่าว ก็มิได้มีการบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลการใช้อำนาจแต่อย่างใด ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว อำนาจในการบริหารประเทศ จึงไม่ควรจะมีกลุ่มคนหรือคณะใด ที่มิได้มีที่มาจากประชาชนเป็นผู้ตัดสิน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็น ผู้ตัดสิน ด้วยเหตุนี้ การตราหรือร่างกฎหมายใดจึงควรเป็นไปตามหลักการและเหตุผลในทางกฎหมาย มากกว่าที่จะร่างโดยเพียงแต่จะแก้ไขปัญหาทางการเมือง และความชอบ หรือไม่ชอบส่วนตัวของผู้ร่าง โดยขาดหลักการทางกฎหมาย และเหตุผลทางนิติศาสตร์อันอาจกระทบต่อหลักกฎหมายในอนาคต
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงขอยกคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า " แต่ถ้าการใช้อำนาจในทางกฎหมายนั้นไม่ได้เป็นการใช้อำนาจซึ่งเป็นไปตามหลักของเหตุผล เป็นการใช้อำนาจในทางกฎหมายแบบเดียวกับอำนาจทางการเมือง อันตรายก็จะบังเกิดขึ้นกับระบบกฎหมาย เพราะในที่สุดแล้ว คนก็จะไม่ให้ความเชื่อถือในกฎหมาย คนก็จะคิดว่ากฎหมายไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นเรื่องของอำนาจ จึงไม่ต้องสนใจเหตุผล แต่สนใจเพียงว่าใครมีอำนาจ และที่สุดแล้วก็จะไม่เกิดการยอมรับ แล้วระบบกฎหมายทั้งระบบก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ หรือหากดำรงอยู่ได้ ก็อาจจะดำรงอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี คนก็จะถูกกดให้ต้องฟัง แต่จะไม่ใช่การยอมรับจากห้วงลึกของจิตใจ ง่ายๆ คือยอมรับเพราะถูกกดให้ยอมรับ เพราะอำนาจกดอยู่ แต่ไม่ได้ยอมรับเพราะเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ยุติธรรมหรือสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือปัญหาใหญ่ในสายตาผม นี่คือปัญหาที่กำลังเกาะกินระบบกฎหมายของเรา" 7
.................................................................
เชิงอรรถ
1.มานิตย์ จุมปา. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2543)
2.พรชัย เลื่อนฉวี, กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง, (กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2546)
3.สมยศ เชื้อไทย,คำอธิบายหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป,หน้า 148.
4.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,คำอธิบายกฎหมายมหาชน เล่ม 3,(กรุงเทพฯ:นิติธรรม,2538)หน้า 147-148
5.สุรพล นิติไกรพจน์,ทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจกับการห้ามศาลพิจารณาคดีที่ฝ่ายปกครองเป็นจำเลย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2536.
6.สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ฉบับรับฟังความคิดเห็น),หน้า 77.
7.http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=3/Jun/2550&news_id=143142&cat_id=220100
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1111
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 17:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|