ครั้งที่ 161

28 พฤษภาคม 2550 00:26 น.

       ครั้งที่ 161
       สำหรับวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2550
       
       “ จุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญ”
       

       ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมผมมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรามากเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เองที่ผมไม่ค่อยอยากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากเท่าไรนัก ขณะที่เขียนบทบรรณธิการนี้ผมอยู่ที่ประเทศโมร็อคโค อีก2 วันก็จะข้ามไปประเทศสเปนแล้วก็ต่อด้วยประเทศโปรตุเกส จากนั้นกลับไปถึงประเทศไทยได้ 4 วันผมก็ต้องออกมาประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมต้องขอ “ออกตัว” ไว้ก่อนว่า บทบรรณาธิการครั้งนี้และครั้งหน้าอาจไม่มีสาระอะไรมากมายนัก อยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศโมร็อคโคก็มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศนี้น้อยเหลือเกินครับ เอาเป็นว่าเขียนเรื่องประเทศไทยอย่างที่เคยจะง่ายกว่าสำหรับผมครับ
       ก่อนออกเดินทางมาต่างประเทศครั้งนี้ บรรดาองค์กรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (พ.ศ.2549) กำหนดให้มีหน้าที่ในการให้ความเห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นประชาชนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่างก็ทยอยกัน “เปิดประเด็น” ความเห็นของตนเองออกมากันบ้างหลายองค์กรแล้ว ผมฟัง ๆ ดูแล้วเห็นว่ามีประเด็น “ร่วม” อยู่หลายประเด็นที่ผมคงจะหยิบยกเอามาคุยกันในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้องค์กรสำคัญๆ จำนวนหนึ่งให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ซึ่งก่อนที่จะออกเดินทางมาจากประเทศไทย มีหลายองค์กรที่เริ่มแสดงความคิดเห็นของตนออกมาบ้างแล้ว ก็เป็นไปตามความคาดหมายว่าประเด็นใหญ่ ๆ ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในสังคมเวลานี้คือ ประเด็นเรื่องการบัญญัติศาสนาพุทธไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นเรื่ององค์กรแก้วิกฤต ประเด็นเรื่องรัฐสภาและประเด็นเรื่องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้พิพากษา ความเห็นทั้ง 4 ก็ได้กลายมาเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของความเห็นขององค์กรที่มีหน้าที่ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญครับ
       
       ประเด็นเรื่องการบัญญัติศาสนาพุทธไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมที่ในวันนี้ยัง “คาดเดา” ไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผมไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพราะถูก “อบรม” มาว่าศาสนาเป็นเรื่อง “เปราะบาง” ที่ควร “หลีกเลี่ยง” ที่จะนำมา “วิพากษ์วิจารณ์” ครับ ! โดยส่วนตัวแล้วคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร หากเราตอบว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศหรือรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการระเบียบการปกครองประเทศ ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามว่า ควรบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาสนานั้นเป็นเรื่อง “ทางธรรม” ในขณะที่การปกครองประเทศเป็นเรื่อง “ทางโลก”ครับ ทั้งสองสิ่งควรที่ “แยกจากกัน” ครับ ซึ่งในเรื่องการแยก “ทางโลก” ออกจาก “ทางธรรม” นั้นก็เป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในบ้านเรามาเป็นเวลาช้านานแล้ว พระสงฆ์ไปออกเสียงเลือกตั้งยังไม่ได้เลยครับ! ฉะนั้นหากเราจะยึดหลักของการแบ่งแยกเรื่องทางโลกออกจากเรื่องทางธรรมอย่างชัดเจนแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องทางโลกเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของรัฐ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การยืนยันและการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็น “คนละเรื่อง” กับการนับถือศาสนาของประชาชน ก็คงต้อง “ประกาศ” กันอย่างชัดเจนไปเลยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะบัญญัติเรื่องศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการนับถือศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับ “เหตุ” ในการมีรัฐธรรมนูญครับ !
       
       ประเด็นเรื่ององค์กรแก้วิกฤตของประเทศก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนพูดกันมากเหลือเกิน ผมเองก็ได้บอกไปหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าในโลกนี้มีหลายรูปแบบและหลายวิธีการที่ให้อำนาจประมุขของประเทศที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศด้วยกระบวนการที่พิเศษ และไม่เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้กันอยู่ แล้วก็มีทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นด้วยครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 16 ผมไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรดีเพราะจริง ๆ แล้วเจตนาที่ต้องการที่จะให้มี “กลไก” ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่คงต้องศึกษากันให้ละเอียดและรอบคอบกว่านี้ว่า “ใคร” จะเป็นผู้ใช้ “กลไก” ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศและควรจะวางระบบการตรวจสอบการใช้กลไกดังกล่าวอย่างไรครับ การเขียนบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวไว้อย่าง “กว้าง” ในรัฐธรรมนูญ นอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ยังอาจจะเป็น “เหตุ” ที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในวันข้างหน้าได้อีกด้วยครับ ประเด็นนี้ควรตัดออกไปเลยจะเหมาะสมกว่า เพราะบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น “อ่อน” เหลือเกินครับ!!! แต่ถ้าหากผู้ใดจะดื้อดึงเอาไว้ก็คงต้องย้อนกลับไปศึกษาจากประสบการณ์ของต่างประเทศดูบ้างว่าเขาทำอย่างไรกันและมีปัญหาหรือเปล่าครับ เรื่องสำคัญแบบนี้เราจะมาเขียนกันโดยปราศจากศึกษาหาความรู้ไม่ได้หรอกครับ รัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ที่เราจะมา “แสดงความรู้สึก” ว่าชอบหรือไม่ชอบใครครับ!
       
       ประเด็นต่อมาคือประเด็นเรื่องระบบรัฐสภาก็เป็นไปตามความคาดหมายครับ โดยระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบปกตินั้น คำตอบจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนในทุก ๆประเด็นไม่ว่าจะเป็น จำนวน วิธีการเลือกตั้งที่ค่อนข้างจะ “ย้อนยุค” เหลือเกินครับ ไม่ทราบว่าคิดอะไรกันอย่างไรถึงได้เสนอสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มองเห็นว่าเป็นปัญหาของประเทศ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 กลับมองเห็นว่าเป็นทางรอดของประเทศครับ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็เช่นเดียวกันที่ไม่ชัดเจนในทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็น จำนวน วิธีการได้มาที่แบ่งเป็นภาค ผมคิดว่าการ “สุกงอม” ทางความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เรื่องแบบนี้เราจะมาเชื่อ “เลข8” กันไม่ได้หรอกครับ คงต้องโทษรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2549 ที่ให้เวลากับผู้ร่างรัฐธรรมนูญน้อยเกินไปจนไม่มีเวลาที่จะทำการศึกษาประเด็นสำคัญเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนทำการร่างรัฐธรรมนูญครับ ส่วนเรื่องวุฒิสภานั้น ประเด็นนี้ผมพูดไปหลายครั้งมากแล้วว่า สิ่งแรกที่ต้องตอบคือ ควรจะมีระบบวุฒิสภาต่อไปหรือไม่ เพราะมีหลาย ๆ ประเทศในโลกที่ใช้ระบบสภาเดียวครับ หากตอบได้ว่าควรมีวุฒิสภาต่อไปก็ต้องถามต่อว่าจะให้วุฒิสภาทำหน้าที่อะไรบ้าง หากจะให้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ก็คงต้องหาวิธีการได้มาที่ยึดโยงกับประชาชน และปลอดจากการเมืองให้มากที่สุด ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากครับ การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นสิ่งที่ย้อนยุคเหลือเกินอีกสิ่งหนึ่งครับ เพราะในเมื่อประชาชนเคยมีโอกาสได้ “เลือก” สมาชิกวุฒิสภามาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำไมจึงต้องถูก “ลิดรอน” สิทธินี้ไปด้วยครับ การเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งดูเป็นสิ่งที่ง่ายเหลือเกินที่จะคิด แต่ผมเห็นว่าการมีคำตอบที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นและยากนะครับ ! ในประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการที่ฝ่ายตุลาการออกมาปฏิเสธไม่ยุ่งกับ “การเมือง” นั้น ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วผมได้เขียนแสดงความ “คารวะ” ต่อความคิดที่ “ถูกต้อง” ดังกล่าวเอาไว้แล้ว ในครั้งนี้คงไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรกันมากนัก ผมดีใจที่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับความคิดและข้อเสนอดังกล่าวที่ “ผิด” ทั้งตรรกะทั่ว ๆ ไป และทั้งเหตุผลทางวิชาการด้วยครับ ผมคงไม่มีอะไรพูดมากนัก คงต้องขอ “แนะนำ” ด้วยว่าหากจะมีผู้ใดสนใจอยากเล่นการเมือง หรือเข้ามาคุมเกมทางการเมืองก็สามารถทำได้โดยตรงโดย “โดด” ลงมาเล่นการเมืองกันอย่างเปิดเผยและชัดเจนจะเหมาะสมมากกว่าจะดึงเอาองค์กรทั้งองค์กรลงมาเล่นด้วย เพราะในที่สุดแล้วหาก “โชคร้าย” และมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดที่ “พัง” แต่จะเป็น “ระบบ” ที่ “พัง” ซึ่งเราก็คงคาดเดากันได้ไม่ยากว่าหากระบบพังลงแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งองค์กรและต่อประเทศชาติตามมาอย่างมากมายครับ
       ผมไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วมีแค่4ประเด็นนี้หรือเปล่า ที่จะเป็น “เหตุ” ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จะไม่มีโอกาสได้ “เกิด” เพราะดู ๆ แล้วมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากมายหลายประการที่ทำให้หน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญดู “น่าเกลียดน่ากลัว” ครับ นี่ยังไม่นับรวมถึง “เหตุ” ของการเกิดขึ้นของร่างรัฐธรรมนูญ และตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญนะครับ คงต้องรอดูกันต่อไปอีกสัก 1-2 อาทิตย์ครับ ว่าโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสามบทความด้วยกัน เริ่มต้นจาก บทความแรกคือบทความเรื่อง “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ : มุมมองทางกฎหมายมหาชน” โดยคุณ ศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สองคือบทความเรื่อง “ข้อคิดเห็นบางประการในการบรรจุพุทธศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ” โดยคุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบทความที่สามคือบทความเรื่อง  “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี” โดยคุณบุญเสริม นาคสาร เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ สำหรับบทความอีกหลายบทความที่ส่งมาร่วมเผยแพร่ ผมขอทยอยลงในครั้งต่อๆไปครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1108
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)