|
|
ปัญหาการให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของ กกต. โดย คุณจรูญ ศรีศุขใส 11 มิถุนายน 2550 01:22 น.
|
ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 233 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่ออุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต.ได้ วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต.เห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ส.ส.)ให้เสนอความเห็นต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยและวรรคท้ายบัญญัติว่า ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์แล้วน่าจะมีปัญหาหรือคำถามตามมาหลายประการ ดังนี้
ประการที่ 1 การเลือกตั้งอาจไม่เสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ กกต.คือผู้ที่ชนะการเลือกตั้งหรือผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็จะร้องคัดค้านคำสั่งของ กกต. และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ระงับการเลือกตั้งไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษา ซึ่งศาลก็จำเป็นต้องสั่งให้ระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน เพราะหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปตามที่ กกต. กำหนด หากภายหลังศาลวินิจฉัยว่า คำสั่งเลือกตั้งใหม่หรือคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความเสียหายก็จะเกิดทั้งแก่รัฐที่ต้องเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งและผู้ร้องที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ เมื่อจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันไม่ได้ก็ไม่อาจเปิดประชุมสภาครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะได้บัญญัติผ่อนปรนไว้ในมาตรา 91 ว่า มี ส.ส. ถึง จำนวน 95% แล้วก็ประชุมสภาได้ แต่ก็ไม่แน่ว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้ ส.ส. มากถึง 95% กรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีประกาศกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ก็จะมีปัญหาเช่นกัน ยิ่งมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง แยกจากเลือกตั้งสมาชิกสภาก็จะยิ่งมีปัญหาเพราะจะเกิดความล่าช้าทั้งในส่วนของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ปัญหาความล่าช้านี้มิได้เกิดจาก กกต. แต่เป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาของศาล แม้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 214 จะให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็วก็ตาม ก็ยังต้องมีการสืบพยานผู้ร้องผู้คัดค้านอยู่ดี การที่ไม่อาจเปิดประชุมสภาครั้งแรกได้ภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่อาจประกาศผลการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน ก็จะเป็นประเด็นให้โต้เถียงกันได้ว่าเป็นความบกพร่องขององค์กรใดหรือไม่
ประการที่ 2 สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาล ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้สิทธิเฉพาะผู้เสียหายจากการที่ กกต.สั่งให้เลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจึงมีปัญหาว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นที่ไม่ใช่ผู้ชนะการเลือกตั้งแต่ก็ได้รับผลกระทบจากการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล คัดค้านการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ได้หรือไม่ เช่น ก.ชนะการเลือกตั้ง ข. ซึ่งเป็นผู้สมัครได้ร้องเรียนว่า ก.ซื้อเสียง ขอให้เลือกตั้งใหม่ กกต.วินิจฉัยให้เลือกตั้งใหม่ ก.มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ แต่ในทางกลับกันถ้า กกต.วินิจฉัยยกคำร้องและประกาศผลการเลือกตั้งให้ ก. ได้รับเลือกตั้ง ข.จะมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาล คัดค้านการประกาศผลเลือกตั้งได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าหลักการของร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ต้องการให้การใช้อำนาจของ กกต.ถูกตรวจสอบได้โดยศาล เมื่อให้สิทธิแก่ ก. ยื่นคำร้องต่อศาลได้ ก็ควรให้สิทธิแก่ ข. ได้ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นก็จะเป็นการจำกัดการใช้สิทธิทางศาลของบุคคลและอาจเป็นการเลือกปฏิบัติไม่ยอมรับหลักบุคคลเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตยซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ก็ได้รับรองเอาไว้ การปฏิเสธสิทธิของ ข. ก็เท่ากับจงใจเขียนรัฐธรรมนูญให้ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ และถ้ายอมรับว่า ข. มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการประกาศผลเลือกตั้งของ กกต.ได้ก็จะมีปัญหาอีกว่าจะให้ยื่นต่อศาลใด ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ซึ่งตามลักษณะของคดีเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางกฎหมายของหน่วยงานของรัฐย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองและคงจะประหลาดเมื่อเป็นคดีเลือกตั้งฟ้องคัดค้านคำวินิจฉัยของ กกต. หากผู้ชนะคดีฟ้องต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม แต่ถ้าผู้แพ้การเลือกตั้งฟ้องต้องฟ้องต่อศาลปกครอง
ประการที่ 3 ปัญหาความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเคยวินิจฉัยในทำนองว่า การใช้อำนาจของ กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่ถูกตรวจสอบโดยศาล คือ เมื่อเป็นองค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดและได้ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้ ก็ไม่ควรจะถูกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรอื่นอีก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจของ กกต.ถูกตรวจสอบได้โดยศาล หลักความมีอำนาจเด็ดขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอีกต่อไป องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่นนอกจาก กกต. เช่น ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็จะถูกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลเช่นเดียวกัน และความในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (5) ที่ให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมาตรา 230 วรรคสองก็จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไม่ใช่ กกต.แล้ว
ประการที่ 4 ในกรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 233 วรรคท้ายกำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ จึงอาจมีคำถามได้ว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วคู่กรณีจะยื่นฎีกาอีกได้หรือไม่ เพราะมิได้กำหนดให้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ถ้าจะตอบว่าย่อมเป็นที่สุดเพราะรัฐธรรมนูญมิได้ให้สิทธิยื่นฎีกาได้อีก ก็จะมีคำถามได้อีกว่า แล้วเหตุใดในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 265 จึงต้องกำหนดให้มติของวุฒิสภาในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นที่สุดด้วย
ประการที่ 5 มีปัญหาว่าศาลใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 233 วรรคสอง กำหนดว่า กรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต.เห็นควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้เสนอความเห็นต่อศาลเพื่อวินิจฉัย ซึ่งก็คือต้องให้ศาลให้ความเห็นชอบก่อนระบบกฎหมายเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมา องค์กรที่มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมี 2 องค์กร คือ ศาล และ กกต. ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งหลายกรณีถ้าศาลวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดกฎหมายได้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปพร้อมกันด้วยเลย และในกรณีมีหลักฐานเชื่อว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมกฎหมายให้ กกต. มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครได้ไม่เกิน 1 ปี อำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่เป็นอำนาจเฉพาะของ กกต. ดังนั้นการกำหนดให้ กกต.ต้องเสนอเรื่องให้ศาลให้ความเห็นชอบก่อนถ้าต้องการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครจึงเท่ากับเป็นการให้ดุลพินิจหรือให้อำนาจแก่ศาลพิจารณาว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาว่าควรเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เป็นการใช้อำนาจหรือใช้ดุลพินิจทางปกครอง การให้ศาลใช้อำนาจทางปกครองเช่นนี้จึงน่าจะมีปัญหาว่าศาลได้ก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายปกครองหรือไม่ ชอบด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ เพราะหลักการนี้ต้องการให้ศาลทำหน้าที่ทบทวน ตรวจสอบ (review) การกระทำของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การทบทวนหรือตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นต้องเริ่มจากการที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายเสียก่อน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองถ้าเห็นว่าการใช้อำนาจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ขอให้ศาลทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองได้ ดังนั้นถ้าต้องการให้การใช้อำนาจของ กกต.ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งถูกตรวจสอบได้ก็ควรให้ กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้แล้วให้ผู้เสียหายไปใช้สิทธิร้องคัดค้านต่อศาลเอาเองก็จะไม่มีปัญหาว่าศาลได้ก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครองหรือไม่
ประการที่ 6 มีข้อน่าสังเกตว่าอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครมิใช่อำนาจตามรัฐธรรมนูญของ กกต. แต่เคยเป็นอำนาจของ กกต. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว และก็ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับใหม่จะให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะเขียนกฎหมายลูกให้คล้อยตามกฎหมายแม่ แต่นี่เรากลับเขียนกฎหมายแม่ให้คล้อยตามกฎหมายลูก ซึ่งขณะที่เขียนกฎหมายแม่กฎหมายลูกก็ยังไม่มีและมีข้อที่น่าจะพิจารณาต่อไปว่า กกต.ยังสมควรมีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อยู่ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะการใช้อำนาจนี้เป็นการใช้อำนาจทางตุลาการ ตัดสิทธิของบุคคล แต่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 40 กกต.มีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการเลือกตั้งแต่ไม่มีอำนาจยับยั้งผู้สมัครที่ทุจริตในการเลือกตั้งไม่ให้ลงสมัครได้ จึงมีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้ กกต. มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่ทุจริตได้ไม่เกิน 1 ปี มีผลให้ผู้สมัครนั้นไม่อาจเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญการใช้อำนาจของ กกต. ถูกตรวจได้โดยศาลเหมือนกับองค์กรอื่นทั่วไปของรัฐ จึงน่าพิจารณาว่ายังคงจำเป็นให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครได้เหมือนเดิมหรือไม่
ข้อเสนอ จากปัญหาดังกล่าวผู้เขียนขอเสนอว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ มีพระบรมราชโองการฯแต่งตั้ง ก็ควรจะได้รับความเชื่อถือในระดับหนึ่ง ถ้าต้องการให้ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริตเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพก็ควรให้อำนาจเด็ดขาดแก่ กกต. ด้วย โดยก่อนประกาศผลการเลือกตั้งให้ กกต.มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่ทุจริต แต่ถ้าได้ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว หาก กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ กกต.มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของ กกต.ต่อศาลได้ เช่นนี้น่าจะทำให้ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต เที่ยงธรรมและเสร็จสิ้นโดยเร็ว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1107
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|