การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี โดย คุณบุญเสริม นาคสาร

28 พฤษภาคม 2550 00:26 น.

       การศึกษาเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารนั้น หากศึกษาแต่เฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีที่เป็นองค์กรกลุ่มเท่านั้นโดยไม่ทำการศึกษาถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เป็นการศึกษาที่แยกส่วน ทำให้มองภาพรวม (Macro) เรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรสูงสุดฝ่ายบริหารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากการใช้อำนาจรัฐขององค์กรฝ่ายบริหาร สามารถแยกได้เป็น 2 ฐานะ คือ การใช้อำนาจรัฐในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กับการใช้อำนาจรัฐในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายปกครอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ รัฐบาล (Government) และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง (Administrative Organs) 1 โดยองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารอาจกระทำการได้ใน 2 ลักษณะ ถ้ากระทำการที่มีลักษณะเป็นการเมือง (Political Action) หรือเป็นการกระทำในเชิงนโยบาย ถือว่ากระทำการในฐานะที่เป็นรัฐบาล ตรงกันข้าม ถ้าหากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำ (Routine) ถือว่ากระทำการในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายปกครอง บทความนี้จึงได้นำเสนอรูปแบบของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมี 5 รูปแบบ ดังนี้
       1.การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ
       2.การใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
       3.การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       4.การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภา
       5.การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา
       
       1. การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ
       1.1 สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 มาตรา 262 และมาตรา 177
       
(1) การควบคุมตรวจสอบเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี
       รัฐธรรมนูญ มาตรา 219 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีตราขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ ได้ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ 2
       (2) การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ร่างกฎหมายใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้นำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อส่งความเห็นดังกล่าวนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 262
       ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2548 โดยเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. .... ที่กำหนดว่าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีที่ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อจะเริ่มทำการผลิต หรือไม่แจ้งสถานที่ผลิตและการย้ายสถานที่ผลิต หรือการไม่แจ้งการได้มาหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องจักร เป็นต้น ให้ศาลมีคำสั่งริบเครื่องจักรได้เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ การริบทรัพย์สินเป็นโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 การริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญาแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ 1) ทรัพย์สินที่ศาลจะต้องริบไม่ว่าจะเป็นของบุคคลใดก็ตามตามมาตรา 32 2) ทรัพย์สินที่ศาลจะต้องริบ เว้นแต่เป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดตามมาตรา 34 และ 3) ทรัพย์สินที่อยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะริบทรัพย์หรือไม่ก็ได้ เว้นแต่เป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามมาตรา 33 เห็นได้ว่าการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามีความมุ่งหมายลงโทษผู้กระทำความผิดหรือมีทรัพย์สินนั้นไว้เป็นความผิด การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลสั่งริบเครื่องจักรโดยศาลไม่มีดุลพินิจว่าจะริบเครื่องจักรหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่าเจ้าของเครื่องจักรจะรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ และไม่ให้โอกาสเจ้าของเครื่องจักรได้พิสูจน์ว่ารู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ เป็นการริบโดยเด็ดขาด ไม่ได้พิจารณาถึงความผิดและความเหมาะสมในการลงโทษ เป็นการใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเกินกว่าความจำเป็นและกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 มาตรา 32 และมาตรา 48
       ถึงแม้ว่า การตรากฎหมายจะเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน และโดยที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้ให้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีในการริเริ่มเสนอร่างกฎหมายได้ และในบางกรณีคณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอกฎหมาย อันเนื่องมาจากเป็นร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน 3 ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ร่างกฎหมายที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาส่วนใหญ่เป็นร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จึงเป็นไปได้ว่า คณะรัฐมนตรีอาจเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายมีรูปแบบหรือกระบวนการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนร่างกฎหมายนั้นให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แม้ว่าร่างกฎหมายนั้นวุฒิสภาจะไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 175(2) หรือวุฒิสภาได้แก้ไขร่างกฎหมายนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 175(3) แต่ฝ่ายบริหารก็อาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ยืนยันร่างกฎหมายเดิมที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีได้อยู่ดี 4 ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนี้ จึงถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีอีกทางหนึ่ง
       (3) การตรวจสอบร่างกฎหมายใดว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ยับยั้งไว้หรือไม่
       การวินิจฉัยตรวจสอบร่างกฎหมายในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เห็นว่าร่างกฎหมายที่เสนอหรือส่งให้พิจารณาเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ต้องยับยั้งไว้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาจึงส่งร่างกฎหมายนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 177
       ถึงแม้ว่าการตรากฎหมายจะเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน และโดยที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีในการริเริ่มเสนอร่างกฎหมายได้ และในบางกรณีคณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 และในทางปฏิบัติแล้ว ร่างกฎหมายที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาส่วนใหญ่เป็นร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จึงเป็นไปได้ว่าคณะรัฐมนตรีอาจเสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ต้องยับยั้งไว้ แล้วอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนร่างกฎหมายนั้นให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวนี้ จึงถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีอีกทางหนึ่ง อย่างไร ก็ดี ไม่เคยมีกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดมีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ต้องยับยั้งไว้
       
       1.2 องค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266
       
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรือมีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นหรือประธานรัฐสภา อาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266
       องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และปัญหาที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานตาม คำวินิจฉัยที่ 54/2542 ว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 แยกได้เป็น 2 กรณี คือ (1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีอำนาจกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือไม่ เพียงใด หรือ (2) องค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปมีปัญหาโต้แย้งกันว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กรหนึ่ง
       การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 เป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นที่มีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่กับคณะรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในประเด็นปัญหาความขัดแย้งนั้น หรือไม่ 5
       
       1.3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295
       
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง หากผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 6
       การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 295 ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นการตรวจสอบตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี การตรวจสอบดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 295 กรณีดังกล่าวนี้ ถือเป็นการตรวจสอบคณะรัฐมนตรีโดยทางอ้อม
       
       1.4 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198
       การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ได้แก่ การตรวจสอบกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าบทบัญญัติของกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีความหรือมีข้อพิพาทกันในศาลก่อน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็มีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198
       การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่มีผู้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาโดยไม่ต้องมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหารก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 นี้ ถือเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยอ้อม เพราะว่าการริเริ่มเสนอกฎหมายในรูปแบบพระราชบัญญัติของไทยส่วนใหญ่เป็นการเสนอโดยคณะรัฐมนตรีตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้แล้ว การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 นี้ รวมถึงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วด้วย และกล่าวได้ว่า การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะว่าตามปกติแล้ว กระบวนการตราพระราชบัญญัติของรัฐสภาอาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งในด้านเนื้อหา หรือรูปแบบก่อนที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศใช้บังคับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 262 แต่ในกรณีการตราพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรีนั้น ไม่อาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในด้านเนื้อหาก่อนที่พระราชกำหนดนั้นจะได้รับอนุมัติจากรัฐสภา ไม่มีช่องทางใดเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในด้านเนื้อหาได้เลย อาจทำได้แต่เพียงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง คือ เป็นการตราเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือไม่เท่านั้น หากพระราชกำหนดใดที่คณะรัฐมนตรีได้ตราขึ้น มีข้อความขัดหรือแย้งหรือมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภามีทางเลือกเพียงสองทางเลือกเท่านั้น คือ อนุมัติหรือไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 วรรคสาม เท่านั้น รัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของพระราชกำหนดนั้น ซึ่งตามปกติแล้วคณะรัฐมนตรีย่อมต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนดนั้นเพื่อใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติต่อไป ปัญหาจึงมีอยู่ว่า หากเนื้อหาของพระราชกำหนดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือมีการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดนั้นไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ก็จะไม่มีองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบได้ จนกว่ารัฐสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดนั้นแล้ว ประชาชนจึงมีสิทธิใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 หรือมาตรา 264 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการตรวจสอบ
       
       2. การใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
       
เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว คณะรัฐมนตรีจะถูกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 11(2) ส่วนการกระทำของคณะรัฐมนตรีที่จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองชั้นต้นหรือไม่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองว่า มีการกระทำใดของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองชั้นต้น สำหรับการใช้อำนาจตามกฎหมายของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีอาจถูกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลปกครองชั้นต้น หากการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9
       ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการออกพระราชกฤษฎีกา หรือกฎนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 ตัวอย่างของการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยศาลปกครองสูงสุด เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ.5/2549 คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ระหว่างผู้ฟ้องคดี(มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2-11) กับผู้ถูกฟ้องคดี (นายกรัฐมนตรี ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ 3 กระทรวงพลังงาน ที่ 4 และคณะรัฐมนตรี ที่ 5) โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การดำเนินการในขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้เสียไปทั้งหมดหรือไม่มีผลตามกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การดำเนินการต่อมา รวมทั้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ที่มีมติอนุมัติเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นและจัดตั้งบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 เสียไปด้วยเช่นกัน จึงพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
       
       3. การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพื่อลงโทษทางอาญาและพิพากษาให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 มาตรา 309 และมาตรา 294
       ตัวอย่างของการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ อ.ม.1/2546 เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตามที่มีผู้กล่าวหาว่าระหว่างที่นายรักเกียรติ สุขธนะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีเงินไหลเข้าออกในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพาน กรุงธน ของนางสุรกัญญา สุขธนะ ภริยานายรักเกียรติ นับร้อยล้านบาท น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้พิพากษาให้ทรัพย์สินของ นายรักเกียรติ จำนวน 233,880,000 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ อ.ม.2/2546 อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายรักเกียรติ สุขธนะ เป็นจำเลยว่า ขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2536 ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยไม่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ราคากลางของยาใหม่แทนฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป มีผลทำให้ไม่มีราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติประกาศใช้บังคับ อันเป็นช่องทางให้จำเลยกับพวกได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทผู้จำหน่ายยา และพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ให้ลงโทษจำคุก 15 ปี
       สำหรับคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบเสียเอง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ อ.ม.1/2548 เป็นกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ กล่าวหาว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยการออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 83 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 125 ให้จำคุกจำเลยทั้งเก้ามีกำหนดคนละ 2 ปี แต่มีเหตุอันสมควรปรานี จึงให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกาที่ อ.ม.1/2548 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการกระทำในฐานะองค์กรกลุ่มโดยการออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน น่าจะเทียบเคียงได้กับกรณีของคณะรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีที่ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีได้กระทำการร่วมกันอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯอาจพิพากษาให้รัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรีได้รับโทษจำคุกเช่นเดียวกับกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น นอกจากการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้ว อาจถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีอีกทางหนึ่ง
       
       4. การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภา
       
การใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภาในกรณีนี้ คือการถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่ง โดยมีกระบวนการเริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ริเริ่ม หรือในกรณีที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนบุคคลนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 มาตรา 304 และมาตรา 305
       การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องที่ประธานวุฒิสภาได้รับการร้องขอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเพื่อให้ถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ นั้น ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 15 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 12 เรื่อง (ตกไป 12 เรื่อง ไม่รับ/ยก 1 เรื่อง) คงเหลือ 2 เรื่อง 7 ตัวอย่างกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ตกไป คือ กรณีนายทองก้อน วงศ์สมุทร และคณะ จำนวน 163,126 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 304 เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 307 ถอดถอนนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่าบุคคลทั้งสองมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจกระทำการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยจงใจทำหนังสือแสดงเจตจำนงที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีการรวมบัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามบัญชี เป็นบัญชีเดียว เพื่อนำผลกำไรและผลประโยชน์ที่สะสมไว้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราออกมาใช้ชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟู) อันเกิดจากกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินฝากและหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งทรัพย์สินในบัญชีทุนสำรองเงินตรามิใช่ทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด แต่เป็นทรัพย์สินรวมของชาติ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และการกระทำดังกล่าวยังขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 29 ทั้งขัดต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 205 และเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ขัดต่อมาตรา 212 อีกด้วย นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ มาตรา 30 โดยกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติของราชการไทยต่อคนไทยและคนต่างด้าวให้แตกต่างกัน ประธานวุฒิสภาจึงได้ส่งคำร้องดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 305
       
       5. การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา
       
การควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา หรือที่เรียกว่า “การกระทำของรัฐบาล” ที่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรนิติบัญญัติหรือรัฐสภา แยกได้เป็น 6 รูปแบบ ดังนี้
       5.1 การตั้งกระทู้ถาม
       รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับหลักการตั้งกระทู้ถามไว้ 2 ประเภท คือ กระทู้ถามตามมาตรา 183 กับกระทู้ถามสดตามมาตรา 184
       การตั้งกระทู้ถามตามมาตรา 183 เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยื่นกระทู้ถามรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ และเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารสามารถชี้แจงและให้รายละเอียดและเหตุผลเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับการตั้งกระทู้ถามสดตามมาตรา 184 เป็นหลักการใหม่ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2540 เป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องนั้นๆ รัฐมนตรีผู้ถูกตั้งกระทู้ถามจะต้องตอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยวาจาในทันทีในวันเดียวกันกับที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถจะมอบหมายให้รัฐมนตรีอื่นมาตอบกระทู้ถามแทนได้ทัน ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้มีมากยิ่งขึ้น เพราะกลไกการตั้งกระทู้ถามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 183 ใช้ระยะเวลายาว โดยรัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อ การตอบกระทู้ถาม เพราะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามมีทางเลือก โดยการมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการตอบกระทู้ถามแทน การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 183 ไม่ตอบกระทู้ถามโดยอ้างว่าเรื่องที่ถามนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือการตอบกระทู้ถามในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทำให้กระบวนการตอบกระทู้ถามล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ กระทู้ถามบางเรื่องกว่าที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะมาตอบในสภาต้องใช้เวลานานหลายเดือน จนทำให้กระทู้ที่ถามไปนั้นลดความสำคัญลงและไม่ทันกับเหตุการณ์หรือสภาพปัญหา 8
       
       5.2 การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ
       รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดหลักการใหม่ของการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร 9 ภายใต้ข้อสมมติฐานที่ว่า ถ้าหากการควบคุมหรือการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดรูปแบบและวิธีการยื่นญัตติและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน รวมทั้งมีระเบียบและขั้นตอนการลงโทษที่เป็นรูปธรรมแล้ว จะเป็นการเสริมสร้างให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น และยังจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นกับผู้นำฝ่ายบริหารอีกด้วย
       กระบวนการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจมีการเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับกระบวนการถอดถอนและการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 - 311 ไว้อย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ในขณะที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น หากข้อกล่าวหาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 คือ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่ายค้านจะต้องยื่นข้อกล่าวหาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนอีกทางหนึ่งด้วย และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อกล่าวหาแล้ว มีมติว่า ข้อกล่าวหานั้นมีมูลความจริง ผู้ถูกกล่าวหานั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีพิจารณามีมติในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังจะต้องดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
       
       5.3 การเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ
       
รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มาตรา 187 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการลงมติ แต่คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ถือเป็นการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินอีกทางหนึ่งโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       5.4 การตั้งคณะกรรมาธิการ
       รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มาตรา 189 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา
       การตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสภาที่ต้องการจะให้พิจารณาศึกษาในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความและสมบูรณ์ก่อนที่จะนำผลการพิจารณาสรุปเป็นรายงานการพิจารณาศึกษา โดยมติความเห็นชอบของสภาผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป และถือว่า การพิจารณาศึกษาหรือสอบสวนประเด็นปัญหาหรือญัตติใดๆ ของคณะกรรมาธิการตามที่สภามอบหมายนั้น เป็นการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินรูปแบบหนึ่ง ผลการพิจารณาเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ส่งผ่านสภาไปยังฝ่ายบริหารเท่านั้น มิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของฝ่ายบริหารหรือมีเงื่อนไขกำหนด ให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาวิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของการทำงานตรวจสอบฝ่ายบริหารของระบบคณะกรรมาธิการแล้ว ต้องการที่จะให้การทำงานของฝ่ายบริหารที่ผ่านไปแต่ละวันนั้นมีความเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อสภา ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ 10
       
       5.5 การควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน
       การควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาที่ใช้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจนถึงปัจจุบันคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ซึ่งหมายความว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีใดๆ ของฝ่ายบริหารก่อนที่จะนำออกมาใช้บังคับนั้น จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากสภาก่อน อย่างไรก็ตาม การควบคุมในฐานะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติของสภานี้ หากพิจารณาถึงผลของการควบคุมแล้วค่อนข้างจะได้ผลในระดับหนึ่งและเป็นการควบคุมโดยทางอ้อม ทั้งนี้ เพราะสภามิได้ลงไปควบคุมดูแลถึงในระดับปฏิบัติ 11
       อย่างไรก็ดี การควบคุมการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนี้ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติให้รัฐบาลต้องลาออก แต่ตามจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบรัฐสภานั้น รัฐบาลก็มักจะลาออกเพราะถือว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเป็นกฎหมายสำคัญ การที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการแห่งร่างกฎหมาย จึงเท่ากับการไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยปริยายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะเลือกวิธีการยุบสภาแทนการลาออกก็ได้ 12
       
       5.6 การให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา
       
รัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่ผ่านมามีบทบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญามาโดยตลอด เพียงแต่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เองแต่ทรงใช้อำนาจผ่านทางคณะรัฐมนตรี เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มาตรา 3 และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสนธิสัญญานั้น อยู่ในหมวดของ “คณะรัฐมนตรี” ซึ่งหมายความว่า อำนาจทำสนธิสัญญาเป็นของฝ่ายบริหาร มิใช่ของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ สำหรับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มาตรา 224 วรรคสอง นั้น มีสนธิสัญญา 3 ประเภท ที่ต้องให้รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบ ได้แก่ (1) สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย (2) สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ และ (3) สนธิสัญญาที่จะต้องออกกฎหมายอนุวัตการหรือบังคับให้เป็นไปตามสนธิสัญญา
       ตามที่ได้แบ่งประเภทหรือรูปแบบของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ไว้ 5 รูปแบบดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า การกระทำของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะถูกตรวจสอบโดยองค์กรศาล ยกเว้นกรณีเดียวคือตามรูปแบบที่ 5 “การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การกระทำของรัฐบาล” หรือการกระทำทางการเมืองที่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเท่านั้น สำหรับรูปแบบที่ 4 กรณีการตรวจสอบโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนทั้งหมดเข้าชื่อเพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น ไม่ถือว่าเป็นการตรวจสอบโดยองค์กรนิติบัญญัติโดยแท้ เพราะว่าในขณะเดียวกันนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คน ก็มีสิทธิเข้าชื่อขอให้ถอดถอนได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้อกล่าวหาที่ได้เข้าชื่อนั้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบสอบแล้วมีมูล คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะส่งข้อกล่าวหานั้นให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากที่ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติการถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 วรรคสาม จึงเป็นการตรวจสอบทางกฎหมายโดยมีองค์กรศาลเป็นผู้ตรวจสอบด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่อง “การกระทำของรัฐบาล” ที่คณะรัฐมนตรีต้องถูกตรวจสอบและรับผิดชอบในทางการเมืองต่อรัฐสภาเพียงอย่างเดียว
       การพิจารณาว่า การกระทำใดเป็นการกระทำของรัฐบาลหรือไม่ ในทางทฤษฎีแล้วจำเป็นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบสามประการ คือ องค์กรผู้กระทำการ ที่มาของอำนาจกระทำการ และลักษณะของการกระทำ ควบคู่กันไป โดยต้องพิจารณาจากองค์กรผู้กระทำเป็นลำดับแรก หากเป็นการกระทำโดยองค์กรรัฐบาล (พระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี) ก็ต้องพิจารณาในลำดับถัดมาว่า เป็นเรื่องของการกระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญหรือเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นงานนโยบาย ถ้าเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางรัฐบาล เพราะเมื่อรัฐบาลตัดสินใจกระทำการลงแล้ว ต้องพร้อมที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองคือรัฐสภา 13 การกระทำของรัฐบาลในกฎหมายไทย โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ จำแนกประเภทลักษณะการกระทำของรัฐบาล 14 ดังนี้
       (1) การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
       - การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
       - การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภา
       - การเลือกและการแต่งตั้งองคมนตรี และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
       - การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง
       - การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       (2) การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามแบบพิธี
       - การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
       - การแต่งตั้งรัฐมนตรีและการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
       - การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
       - การแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า พ้นจากตำแหน่งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
       (3) การกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ
       - การประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก
       - การประกาศสงคราม
       (4) การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
       - การแต่งตั้งทูตของประเทศไทยและการรับทูตของต่างประเทศ
       - การทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ
       หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       (5) การกระทำอันเป็นที่มาแห่งเกียรติยศ
       - การสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์
       - การพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
       (6) การกระทำเกี่ยวกับความเป็นธรรม
       - การพระราชทานอภัยโทษ
       (7) การกระทำเกี่ยวกับการดำเนินงานทางรัฐสภา
       - การยุบสภา
       - การเรียกประชุมรัฐสภา
       - การขยายเวลาสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา
       - การปิดประชุมรัฐสภา
       - การตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ
       - การตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
       - การเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา
       - การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
       (8) การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน
       (9) การกระทำในทางนโยบาย
       - การกระทำในทางนโยบายของคณะรัฐมนตรี
       - การกระทำในทางนโยบายของนายกรัฐมนตรี
       - การกระทำในทางนโยบายของรัฐมนตรี
       สำหรับในระบบกฎหมายของไทย การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำของรัฐบาลหรือไม่ พิจารณาได้จาก (1) แนวความคิดการกระทำทางรัฐบาลที่นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งปรากฏตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 4 กำหนดข้อยกเว้นมิให้นำกฎหมายฉบับนี้ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาใช้บังคับกับการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง และการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ และ(2) คำพิพากษาของศาลที่นำแนวความคิดการกระทำของรัฐบาลมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดี กล่าวได้ว่าในอดีตนั้นศาลไม่ได้นำแนวความคิดการกระทำของรัฐบาลมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดี สำหรับในปัจจุบันนับแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ใช้บังคับแล้วนั้น ศาลได้นำแนวคิดการกระทำของรัฐบาลมาใช้ในการพิพากษาแล้ว ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 9/2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “...การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ...”
       กล่าวโดยสรุปว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญนั้น องค์กรศาลอันประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์กรทางการเมืองคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น ที่มีอำนาจในการตรวจสอบพร้อมกับมีอำนาจในการกำหนดสภาพบังคับให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย คำพิพากษา คำสั่ง หรือมติของศาลหรือของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เช่น การวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การเพิกถอนกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีโดยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด การลงโทษจำคุกรัฐมนตรีโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น ในขณะที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นที่ไม่ใช่องค์กรศาล คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทั้ง 5 องค์กรนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้มีอำนาจในการกำหนดสภาพบังคับให้มีผลโดยตรงกับคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ ไม่มีอำนาจออกมติหรือคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม หรือไม่มีอำนาจในการยกเลิกหรือเพิกถอนการกระทำของคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้น ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่องค์กรศาลจึงสามารถกระทำโดยการยื่นคำร้องหรือฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่มีสภาพบังคับต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งสอดรับกับหลักการดำเนินงานขององค์กรศาลที่จะต้องมีผู้ร้องโดยศาลจะหยิบยกคดีมาพิจารณาโดยไม่มีผู้ร้องไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว ถือว่าสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ให้อำนาจกับฝ่ายตุลาการเท่านั้นที่มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายบริหาร 15
       สำหรับการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการย้าย การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่ง โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งในระหว่างคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ อันเนื่องมาจากอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 วรรคสองนั้น ถือเป็นข้อยกเว้นที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นการใช้อำนาจทางปกครองซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง
       โดยทั่วไปแล้ว ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่องค์กรศาล สามารถทำได้โดยการจัดทำข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำต่อหน่วยงานของฝ่ายบริหาร หากหน่วยงานสังกัดฝ่ายบริหารไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก็มีอำนาจในการรายงานให้คณะรัฐมนตรีในฐานะองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารพิจารณา หรือมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ดังนี้
       (1) บทบาทของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและรายงานผลการปฏิบัติงานระหว่างปีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาจัดส่งรายงานดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 15(7) มาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 50)
       (2) บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
       ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเรื่องใดในเวลาอันควร ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจส่งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ควบคุมหรือกำกับดูแลหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อให้สั่งการตามควรแก่กรณีก็ได้ และเมื่อระยะเวลาได้ล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญหรือเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนก็ได้ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 มาตรา 31)
       (3) บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
       - ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลย การกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป (รัฐธรรมนูญ มาตรา 200(1))
       - จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 200(5))
       - รายงานต่อนายกรัฐมนตรีในกรณีที่บุคคลหรือหน่วยงานมิได้มีการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือดำเนินการแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน ในการนี้ให้คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดในการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อการสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้วย และถ้าไม่มีการดำเนินการหรือสั่งการให้ดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจรายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ในการรายงานต่อรัฐสภาดังกล่าว หากคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม คณะกรรมการฯ จะเผยแพร่กรณีที่ไม่มีการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นให้สาธารณชนทราบก็ได้(พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 30)
       - พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15(3) กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มาตรา 15(6) กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยต่อสาธารณชน และมาตรา 15(8) กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
       
       6. บทสุดท้าย
       ถึงแม้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และต่อมาได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ มีผลใช้บังคับต่อไป และเมื่อมีประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แล้ว โดยรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายขึ้นแทนศาลรัฐธรรมนูญ และการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้โอนคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 มาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย
       ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 อยู่ก็ตาม แต่กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ออกแบบไว้ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยผลของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนี้
       1) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 และฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 แล้วจึงให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่
       2) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 13 กันยายน 2549 และฉบับที่ 20 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
       3) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป
       4) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 และฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป
       5) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไม่ได้รับผลกระทบอันเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง 16
       6) องค์กรศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี 17 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 กำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 18
       ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเนื่องมาจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงอาจสรุปได้ว่า กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 หากกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้บัญญัติรองรับไว้อีกครั้งในระดับพระราชบัญญัติ จะไม่สามารถนำกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญนั้นมาใช้บังคับได้ ส่วนกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฯ รับรองให้มีผลบังคับใช้ต่อไปจึงจะสามารถนำมาใช้บังคับได้ ตามที่ได้กล่าวมานี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของรัฐที่จะต้องมีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้ก่อตั้งไว้ให้มีผลใช้ได้ต่อไป แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
       ความจริงแล้วการออกแบบระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มีความเหมาะสมและสามารถทำงานได้ดี ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกล่าวถึงกันมากคือกระบวนการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความไม่เป็นกลางหรือถูกแทรกแซงจนไม่เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จนคณะปฏิรูปการปกครองฯ นำมาเป็นสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
       ตามที่บทความนี้ได้นำเสนอถึงระบบหรือรูปแบบของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และได้ชี้ให้เห็นว่า กลไกเหล่านี้มีความสำคัญ สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ว่า จะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้กลไกการตรวจสอบเหล่านี้อยู่ ข้อเท็จจริงนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีกลไกการตรวจสอบเหล่านี้อยู่ต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังยกร่างขึ้น
       
       เชิงอรรถ
       1.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. “หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง”, ในหนังสือ คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2547, หน้า 151.
       2.โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2541, 16/2546, 29-30/2547
       3.นโยบายของรัฐบาลชุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ระบุว่า ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีถือว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา 173 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีจำนวน 5 ฉบับ คือ (1)ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (3) ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน (4) ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และ (5) ร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
       4.โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2545
       5.โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542,26/2543,33/2543, 2/2546,31/2547 และ 29/2548
       6.โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 31/2543
       7.สีหนาท ประยูรรัตน์ และคณะ. เอกสารการสัมมนาผลการศึกษา เรื่อง “การสร้างความร่วมมือในการปราบปรามคอร์รัปชั่น” วันที่ 15 มิถุนายน 2548 ณ โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 21.
       8.มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ รายงานการวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารและเสถียรภาพของรัฐบาล” (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547) หน้า 14
       9.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 “มาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 201 วรรคสอง ด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนตามวรรคสาม
       การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 304 ก่อนมิได้ และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 304 แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินการตามมาตรา 305”
       “มาตรา 186 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
       ให้นำบทบัญญัติมาตรา 185 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
       10.มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ, เพิ่งอ้าง, หน้า 20-21.
       11.มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ, เพิ่งอ้าง, หน้า 22.
       12.สมคิด เลิศไพฑูรย์. คำอธิบายกฎหมายการคลัง. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2541, หน้า 278.
       13.สาโรช โชติพันธุ์ “การควบคุมการกระทำของรัฐบาลโดยรัฐสภา” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2541 หน้า 68
       14.สาโรช โชติพันธุ์, เพิ่งอ้าง, หน้า 253 - 385
       15.อย่างไรก็ดี มีกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่องค์กรศาลซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีแล้วเป็นยุติ มีสองกรณี คือ กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อกล่าวหาตามคำร้องขอถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 และไต่สวนข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป กรณีที่สอง คือ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาใช้ดุลยพินิจไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198
       16.โปรดดูรายละเอียดคำชี้แจงสำนักเลขาธิการ คปค. เรื่อง หน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งหรือรองรับ ลงวันที่ 24 กันยายน 2549
       17.โปรดดูรายละเอียดประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549
       18.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 วรรคแรก “บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ ...”


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1104
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)