ครั้งที่ 160

13 พฤษภาคม 2550 22:08 น.

       ครั้งที่ 160
       สำหรับวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2550
       
       “ตุลาการภิวัตน์ของจริง”
       
       สำหรับผู้ที่ติดตามอ่านบทบรรณาธิการ 2 ครั้ง ที่ผ่านมาที่ผมเขียนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในวันนี้ ผลการเลือกตั้งก็ออกมาแล้วว่า นาย Nicolas Sarkozy แห่งพรรคอนุรักษ์นิยมได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อจากนาย Jacque Chirac แห่งพรรคเดียวกันครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การเมืองฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะเมื่อทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในตอนเย็นของวันเลือกตั้ง ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่เนื่องจากไม่พอใจนโยบายหลาย ๆ เรื่องของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครับ
       ผมกลับมาถึงประเทศไทยได้ 2 สัปดาห์แล้ว พอมีเวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้เสียเวลาอ่านให้ละเอียด เพราะดูในภาพรวมแล้วพบว่า ไม่สามารถเทียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญครับ ที่กล่าวเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นะครับ แต่เมื่อพิจารณาดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เรามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาครับ เพราะอย่างน้อยในด้านรูปแบบ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็เกิดจากความพร้อมใจกันของทุกฝ่ายในชาติที่ช่วยกันร่าง ไม่ได้เกิดหรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จึงเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ “ดีกว่า” การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ครับ ส่วนในด้านเนื้อหานั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เขียนขึ้นภายใต้ “กรอบ” ที่มี “ตรรกะ” และ “ชัดเจน” ในขณะที่หลังจากที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จบแล้ว ผมมีความรู้สึกว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญคงประสงค์ที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เนื่องจากกลัวว่าจะถูกหาว่า “ลอก” หรือ “ไม่มีผลงาน” ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับความไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญโดยตรง ร่างรัฐธรรมนูญจึงออกมาได้แค่นี้และก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักครับ
       ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่ง ผมได้เคยพูดไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีใครฟัง เราคงไม่สามารถให้หมอฟันที่แม้จะ “เคย” เรียนแพทย์ทั่วไปมาก็ตาม แต่เมื่อ “ทำฟัน” จนชำนาญมาเป็นเวลาหลายสิบปี หมอฟันผู้นั้นคงจะไปผ่าตัดหัวใจไม่ได้ และถ้ายังขืนบอกว่าให้ทำได้ก็คงจะ “เสี่ยง” และ “ไม่ชำนาญ” เท่ากับแพทย์ที่ผ่าตัดหัวใจมาหลายสิบปีเช่นกันฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้น ในเมื่อโครงสร้างของสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ไม่ได้เน้นความชำนาญเป็นพิเศษเอาไว้ ร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้แค่นี้ก็ดีแล้วครับ!!!
       ในเรื่องเดียวกัน ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ได้สัมภาษณ์ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2550 หน้า 16 ได้ลงข่าวดังกล่าวไว้มีใจความสรุปได้ว่า ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับบ้าน ตอนนี้ถือว่าหลังคาและฝาแข็งแรง แต่ราวบันไดบิด หน้าต่างเบี้ยว ซึ่งสามารถแก้ไขได้หลังเลือกตั้ง ส่วนเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้กล่าวไว้ว่า การทำงานของกรรมาธิการทั้ง 35 คน เหมือนการทำแกงเขียวหวานโดยพ่อครัว แม่ครัว 35 คน จนไม่เป็นแกงเขียวหวานแต่เป็นแกงโฮะ ต้องปรับปรุงแก้ไขอีกหลายจุด ผมอ่านคำสัมภาษณ์ของบุคคลทั้งสองด้วยความเศร้าใจเพราะเราต้องไม่ลืมนะครับว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 35 คนนั้นถือเป็น “สุดยอด” ของ “คนเก่ง” ที่มีหน้าที่เข้าไปผลิตรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคนใช้ ยิ่งไปกว่านี้หากไปดูคำให้สัมภาษณ์ของประธาน คมช. ตอนก่อนที่จะเสนอรายชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของ คมช. จำนวน 10 คน ทาง คมช. ก็ “คุย” ตลอดว่าจะเสนอรายชื่อ “ผู้ชำนาญ” เข้ามาเสริมทัพ 25 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้จะมาบอกว่า คนที่เราได้มาเพื่อสร้างบ้านหลังหนึ่งสามารถทำได้แค่ “หลังคา” หรือ “ฝาผนัง” หรือพ่อครัวที่จ้างมาทำ “แกงเขียวหวาน” สามารถทำได้แค่ “แกงโฮะ” อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไรครับ ค่าตอบแทนในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็รับกันไปแล้วคนหนึ่งตั้งเยอะแยะ!!! ผมคงไม่เสียเวลาที่จะ “วิจารณ์” ผู้ใดทั้งนั้นเพราะถึงวันนี้ ก็คงรู้ถึง “ฝีมือ” กันดีอยู่แล้วครับ เหตุการณ์จะทำให้ต้องอับอายไปมากกว่านี้อีกหากสภาร่างรัฐธรรมนูญแปรญัตติ “รื้อ” ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือหากมีเสียงคัดค้านจากองค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความเห็น จะทำอย่างไรดีครับถ้าผู้รับเหมาที่คุยว่าเป็นมืออาชีพสร้างบ้านมาแล้วผู้คุมงานสั่งรื้อบ้านทิ้งทั้งหลังเพื่อสร้างใหม่ ถ้าเป็นเช่นนี้คงต้องเปลี่ยนอาชีพและไม่ควรคิดที่จะกลับมา “สร้างบ้าน” อีกต่อไปนะครับ
       
กลับมาสู่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญกันดีกว่าครับ จากการติดตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์พบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันมากในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยกับบางประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่เนื่องจากผมไม่ประสงค์ที่จะแสดงความเห็นเพิ่มเติมอะไรทั้งนั้น จึงขอที่จะไม่ออกความเห็นเพื่อเสริมหรือสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ เพราะแสดงความเห็นไปนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้วก็ยังจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็นอีกด้วย มีเพียงประเด็นใหญ่ประเด็นเดียวที่อยากจะขอกล่าวถึงในบทบรรณาธิการครั้งนี้คือ เรื่องการกำหนดให้ฝ่ายตุลาการเข้าไปมีบทบาทหลาย ๆ อย่างในร่างรัฐธรรมนูญครับ
       คงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ได้สร้างศาลเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ศาล คือ ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ การสร้างศาลทั้งสองขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลปกครอง ทำให้ “กฎหมายเอกชน” และ “กฎหมายมหาชน” แยกออกจากกันโดยปริยาย กล่าวคือ นับแต่วันที่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ศาลยุติธรรมที่มีมาแต่เดิมจะทำหน้าที่เป็นศาลที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนและเป็นศาลที่ “ใช้” กฎหมายเอกชน ในขณะที่ศาลปกครองก็เข้าไปรับบทบาทในการทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองด้วยกันและฝ่ายปกครองกับเอกชน จึงเป็นศาลที่ “ใช้” กฎหมายมหาชนเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่พิจารณาปัญหาอันเกิดจากรัฐธรรมนูญและการเมือง ก็เป็นศาลที่ใช้กฎหมายมหาชนด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในวันนี้เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีความเชี่ยวชาญในกฎหมายเอกชน ส่วนศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลที่มีความเชี่ยวชาญในกฎหมายมหาชนครับ ผลของการแบ่งแยกศาลออกเป็นสองระบบ แบ่งแยกผู้พิพากษาของทั้งสองศาลออกจากกัน และแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนออกจากกัน ทำให้เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับ “ตัวบุคคล” ที่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการที่จะเข้ามาใช้กฎหมาย เพราะหากเราให้ตุลาการศาลปกครองไปทำงานโดยใช้กฎหมายเอกชนเป็นหลักก็คงจะ “สู้” ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่ได้เพราะโดยหน้าที่นั้นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมใช้กฎหมายเอกชนเป็นหลักอยู่แล้วครับ
       เมื่อพิจารณาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็จะพบว่า มีการกำหนดให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเข้าไป “เกี่ยวข้อง” กับการดำเนินกิจการต่าง ๆ “ในทางการเมือง” เป็นอย่างมาก ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่มากแล้วว่าไม่เหมาะสม เพราะทุกวันนี้ก็มีผู้พิพากษาตุลาการออกมาทำงานอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ผู้พิพากษาตุลาการกันอยู่บ้างแล้ว เช่น สอนหนังสือหรือทำวิจัย เป็นต้น แต่กรณีดังกล่าวแม้จะไม่ใช่ “หน้าที่” โดยตรงของผู้พิพากษาตุลาการ แต่ก็เป็นการทำหน้าที่ที่ “ยอมรับ” ได้เพราะเป็นหน้าที่ทางวิชาการและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมรวมทั้งเป็นการทำงานที่ “ไม่มีความเสี่ยง” ต่ออาชีพหลักใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
       สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงเป็นประการแรกก็คือ การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้พิพากษาตุลาการเข้าไปมีบทบาทมากในร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวคงมีที่มาจากสองทาง ทางแรกคงเนื่องมาจากในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งอดีตผู้พิพากษาตุลาการและผู้พิพากษาตุลาการเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนทางที่สองก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงต้องการ “ลดทอน” อำนาจนักการเมืองให้มากที่สุด จึงไป “เพิ่มอำนาจ” ให้กับองค์กรที่คิดว่าเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีคุณธรรม ด้วยเหตุนี้เองที่หน้าที่หลาย ๆ อย่างจึงไปตกอยู่กับผู้พิพากษาตุลาการ โดยหน้าที่ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการสรรหาวุฒิสภา การแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรที่จะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศด้วย นอกจากนี้แล้ว ผู้พิพากษาตุลาการก็ยังมีหน้าที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการ “ตรวจสอบ” อันเป็นหน้าที่ “ตามปกติ” ของตนอีกด้วย
       ในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกตัวบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายตุลาการเข้ามา “เกี่ยวข้อง” เพราะแม้ฝ่ายตุลาการจะมีความเป็นกลางและมีความเป็นอิสระอย่างไรก็ตาม จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายที่ต้องการ “ถูกแต่งตั้ง” จะเคารพหลักว่าด้วยความเป็นกลางและความเป็นอิสระของผู้พิพากษา วันหนึ่งหากเกิดการ “วิ่งเต้น” ขึ้นและเป็นปัญหา ฝ่ายตุลาการก็อาจจะต้องเจอกับ “วิกฤติตุลาการ” รอบใหม่ที่อาจรุนแรงและทำให้เกิดการเสื่อมศรัทธาได้มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ.2535 ก็ได้ ซึ่งในครั้งนั้นหลาย ๆ คนคงยังจำได้ดีกว่า ฝ่ายตุลาการได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ หากเกิดปัญหาขึ้นจาก “คน” ที่ฝ่ายตุลาการคัดเลือกเข้าไป ฝ่ายตุลาการจะต้อง “รับผิดชอบ” อะไรบ้างหรือไม่ ถ้าเรายังไม่ลืม คงจำกันได้ว่า กรรมการการเลือกตั้งชุดที่ผ่านมาที่มีปัญหาถึงขนาด “เข้าห้องขัง” นั้นมีบางคนได้รับการเสนอชื่อมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยนะครับ!!! ผมเห็นว่า ทางที่ดีควรทบทวนดูให้ดี ๆ ว่า ควรหรือไม่ควรที่จะให้ฝ่ายตุลาการออกมาทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง “อย่างมาก” กับ “การเมือง” นะครับ จริงอยู่แม้จะมี “คนเก่ง” บางคน “เถียง” ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็ให้ฝ่ายตุลาการเข้าไปร่วมในการคัดสรรตัวบุคคล แต่ก็อย่างที่พูดไปแล้วข้างต้นว่าเรายังโชคดีที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึงเรื่องบางเรื่องเนื่องมาจากหลายเหตุผล รวมไปถึงความกลัวข้อหา “หมิ่นศาล” ด้วย ทางที่ดีผมว่า เราควรเลิกยุ่งกับฝ่ายตุลาการเสียที ปล่อยให้ทำงานตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างมากเพราะเท่าที่ทราบขณะนี้คดีความต่าง ๆ ก็แทบจะกล่าวได้ว่า “ล้นศาล” อยู่แล้ว ผู้พิพากษาตุลาการเองก็มีจำนวนไม่มาก ยังจะไปรบกวนกันอีกทำไมครับ
       หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของฝ่ายตุลาการก็คือ การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดีการเมืองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังที่ผมได้พูดไปแล้วข้างต้นถึงการแบ่งแยกระบบศาล ระบบกฎหมาย และผู้พิพากษา ผมคิดว่าคงไม่ต้องกล่าวซ้ำอะไรมากนัก การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมด้านกฎหมายมหาชนควรอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองตามระบบกฎหมายที่มีการแบ่งอย่างชัดเจนไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ครับ การเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะตรวจสอบ และยิ่งเมื่อพิจารณาดูร่างมาตรา 218 ประกอบก็จะพบว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจศาลปกครองที่จะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ได้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชัดขึ้นไปใหญ่ว่าการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองครับ
       สองเรื่องที่กล่าวไปแล้วเป็นสองเรื่องใหญ่ที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงและกังวลพอสมควร เคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม จึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เกิดขึ้น ไม่ควรทำอะไรมากมายเพราะในวันข้างหน้าเมื่อมีการเลือกตั้งและการเมืองการปกครองกลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เราค่อยมาคิดกันใหม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีที่สุดกันอย่างไรครับ
       ก็เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้นำเอาเอกสารสรุปผลการประชุมคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการจัดทำความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของศาลยุติธรรม ที่ออกมาสอดคล้องและสอดรับกับแนวความคิดของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง คือ ศาลยุติธรรมไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยผลการประชุมเกิดจากการรวบรวมความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่เห็นว่า ผู้พิพากษาควรต้องรักษาความเป็นกลาง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภารวมทั้งการเข้าไปสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมซึ่งอาจทำให้สูญเสียความเป็นกลางได้ รายละเอียดมีอยู่มากคงต้องหาอ่านเองครับ
       ผมรับทราบเรื่องการแสดงจุดยืนของศาลที่ไม่ต้องการอำนาจใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ด้วยความยินดีอย่างยิ่งที่ตุลาการจำนวนหนึ่งยังคงเป็นตุลาการที่ “ตั้งมั่น” ในหน้าที่ของตน สำหรับผมนั้นหน้าที่ของตุลาการคือ พิจารณาพิพากษาอรรถคดี ในช่วงที่ผ่านมา ตุลาการได้ออกมาร่วมแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่ว่าเป็นการกระทำที่ “ออก” นอกกรอบของหน้าที่ตุลาการแต่ก็เป็นสิ่งที่เรายอมรับกัน วันนี้มีความพยายามที่จะ “ดึง” ฝ่ายตุลาการออกมานอกกรอบมากขึ้นโดย “ผู้ดึง” ไม่ได้เป็น “เจ้าของ” อำนาจตุลาการและก็ไม่ได้เป็นความประสงค์ที่แท้จริงของ “ฝ่ายตุลาการ” เลย ดังนั้น เมื่อตุลาการส่วนใหญ่ “ทราบ” ความประสงค์ดังกล่าวและมองอย่าง “ทะลุ” ว่าสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นหน้าที่ที่แท้จริงของฝ่ายตุลาการและเป็นสิ่งที่จะสร้าง “ปัญหา” ให้กับวงการตุลาการในวันข้างหน้า มติของฝ่ายตุลาการจึงออกมาในลักษณะดังกล่าวคือ ประสงค์ที่จะทำหน้าที่ที่แท้จริงของตนเอง นี่คือสิ่งที่ควรเรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” มากกว่าเพราะการดึงตุลาการออกมาทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตุลาการไม่ใช่สิ่งที่ควรทำครับ ตุลาการจึงต้อง “ภิวัตน์” เพื่อกลับไปทำหน้าที่ปกติเช่นเคยของตนเองต่อไปครับ 125 ปีที่สถาบันศาลทำหน้าที่มาอย่างดีจะยังคงอยู่ต่อไป จึงไม่ควร “เสี่ยง” กับการเข้ามา “เกี่ยวข้อง” กับการเมือง ก็ต้องขอแสดงความ “คารวะ” ต่อ “ศาลยุติธรรม” ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ส่วนผู้ใดอยากจะอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไปก็คงต้อง “ออก” มาเป็นรายบุคคลจะเหมาะสมกว่าครับ
       บทความสัปดาห์นี้เรามี 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “ตุลาการไม่ใช่ผู้วิเศษ” โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างบนร่างรัฐธรรมนูญ 2550” โดย รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองมา ณ ที่นี้ด้วย และนอกจากนี้ เรายังมีบทความอีกหลายบทความที่ติดค้างอยู่ ซึ่งผมจะทยอยลงในครั้งต่อๆไปครับ
       ผมได้รับทราบข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา "ปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส ด้วยความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการไว้อาลัย ผมขอนำเสนอบทความของศาสตราจารย์ดร.ปรีดี พนมยงค์ 2 บทความ คือบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ”และบทความเรื่อง “"ประชาธิปไตย" เบื้องต้นสำหรับสามัญชน"บทความทั้ง 2 บทความนี้ แม้จะเป็นบทความเก่า แต่ผมเชื่อว่ายังเป็นบทความที่ทันสมัยสำหรับคนไทยอยู่ตลอดเวลา เพราะแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะผ่านมานานถึง 75 ปีแล้ว แต่คนไทยก็ยังไม่รู้ซึ้งถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” และ “รัฐธรรมนูญ” ดีพอ ผมจึงขอนำบทความทั้งสองบทความนี้มาเผยแพร่ โดยบทความทั้งสองบทความนี้ผมได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ให้นำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการต่อไปครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2550
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1101
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)