ครั้งที่ 91

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "ทำผิดต่อแผ่นดิน ตรวจสอบย้อนหลังได้และไม่ควรมีอายุความ"
       ผมเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสเมื่อวานนี้ครับ ก็คงไม่มีอะไรเล่ามากนัก เพราะทุกอย่างเหมือนเดิม รถติดจากสนามบินเข้ามาถึงในเมืองใช้เวลาร่วมสองชั่วโมง แต่ที่แปลกก็คือในเมืองรถไม่ติดเลยครับ วันแรกก็ไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่ เดินเล่นแล้วก็พักผ่อน วันรุ่งขึ้น (15 ก.ย.) ถึงได้มีนัดที่สำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญครับ
       ตอนที่นั่งอยู่บนเครื่องบินมีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จริง ๆ แล้ว ก่อนเดินทางมาผมก็คิดอยู่แล้วเหมือนกันว่าอยากจะเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องที่ “หน่วยงานของรัฐ” หลายต่อหลายแห่งจะ “ตรวจสอบ” บุคคลแห่งปีที่กล้า “ท้าทาย” ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น “ท่านผู้นำ” ของเรา แต่ผมก็คิดว่าไม่น่าจะมีประเด็นสาระอะไรมากนัก ผมคิดผิดครับเพราะข่าวจากหนังสือพิมพ์ทำให้ผมทราบว่า “ท่านผู้นำ” ของเราได้วาง “แนวทาง” เอาไว้ในเรื่องดังกล่าว ผมจึงต้องขอเขียนกล่าวถึงเรื่องนี้บ้างนะครับ
       คงไม่ต้องมานั่งเล่าถึงคดีของคุณเอกยุทธฯ เพราะเราคงได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้วว่า คุณเอกยุทธฯ ทำอะไรผิด!!! ปัจจุบันที่คุณเอกยุทธฯ กลับมา “ท้าทาย” ท่านผู้นำอยู่ได้ก็เพราะว่าคดีของคุณเอกยุทธฯ นั้น “ขาดอายุความ” ไปแล้วครับ คุณเอกยุทธฯ ก็เลยเดินอยู่ในเมืองไทยได้ แต่ถ้าหากเดินอยู่เฉย ๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะคงไม่มีใครไปทำอะไรได้ อย่างเก่งก็คงแค่ “หลบหน้า” บรรดา “โจทก์” เก่า ๆ ทั้งหลาย แต่นี่คุณเอกยุทธฯ ดันมาสร้าง “โจทก์” ใหม่ที่เป็น “ท่านผู้นำ” ของเรา ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น เพราะคุณเอกยุทธฯ ไป “ลบหลู่” อำนาจของท่านผู้นำ ทำให้ “ท่านผู้นำ” ไม่สบอารมณ์ “ท่านผู้นำ” ก็เลยออกอาการต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งอาการที่ไม่ค่อยสุภาพด้วยในหลาย ๆ เรื่อง ผลสรุปจากการออกอาการของ “ท่านผู้นำ” ก็คือ หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานต่างก็ออกมา “ตั้งท่า” ใช้มาตรการต่าง ๆ กับคุณเอกยุทธฯ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภาษีหรือแม้กระทั่งที่มีข่าวออกมาว่าจะใช้กฎหมาย ปปง. ไปยึดทรัพย์คุณเอกยุทธฯ ประเด็นหลังนี้ผมเข้าใจว่าคงต้องเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่าจะนำกฎหมาย ปปง. มาใช้กับคุณเอกยุทธฯ ได้หรือไม่ เพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ความผิดที่คุณเอกยุทธฯ ทำนั้น “เกิดขึ้นก่อน” ที่จะมีกฎหมาย ปปง. แถมปัจจุบันคดีดังกล่าวก็ขาดอายุความไปแล้วด้วย คงต้องรอดูกันต่อไปว่า จะหาหนทางนำเอากฎหมายฉบับนี้มาเล่นงานคุณเอกยุทธฯ ได้ด้วยวิธีใดครับ!!!
       สำหรับผู้ที่เป็น “แฟน” ของ www.pub-law.net คงเคยผ่านตาไปกับบทบรรณาธิการบางครั้งที่ผมพยายามนำเสนอแนวคิดที่ว่า คดีที่มีผลเป็นการทำผิดต่อแผ่นดิน ไม่ควรมีอายุความ เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา หากจะเริ่มนับกันตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ก็จะพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในประเทศไทยจำนวนมาก เราเคยมีกฎหมาย “ยึดทรัพย์” บรรดาผู้ที่สังคมขนานนามว่าเป็น “ทรราชย์” หลาย ๆ คนอยู่หลายครั้ง เราทราบกันอย่างไม่เป็นทางการว่า นักการเมืองคนไหนมี “ประวัติ” ในเรื่องทุจริตคอรัปชั่น แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า บุคคลเหล่านั้นหรือลูกหลานของบุคคลเหล่านั้นต่างก็ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข มีหน้ามีตาในสังคม เดินบนถนนได้อย่างไม่อับอายใคร ทั้ง ๆ ที่ทุกบาททุกสตางค์ที่ตนเองใช้อยู่นั้นมีที่มาจากการทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้น สมควรหรือไม่ครับที่จะ “หาทาง” นำเอาทรัพย์สินทั้งหมดของคนเหล่านั้นกลับมาเป็นของแผ่นดิน มาสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือทำอะไรก็ได้ที่ประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ครับ ผมเห็นด้วยกับ “ท่านผู้นำ” ในแนวคิดที่จะ “หาทาง” เล่นงานคุณเอกยุทธฯ ครับ แต่ก็ต้องขอวิงวอน “ท่านผู้นำ” ไว้ด้วยว่า ควรต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบและเสมอภาค ง่ายที่สุดก็คงจะต้องเริ่มพิจารณาจาก “บุคคลสาธารณะ” ทั้งหลายก่อนว่า ที่ผ่านมาเคยมีประวัติในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นอย่างไรครับ แล้วก็หาทางเอาสมบัติและทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนมาเป็นของประเทศชาติครับ มีหรือไม่มีใบเสร็จตรวจสอบได้ไม่ยากหรอกครับ เห็น ๆ กันอยู่ว่าเกิดกันมาอย่างไร อยู่ในโรงเรียนอะไร ตั้งแต่เล็กจนโตเคยมีสมบัติติดตัวมากันบ้างไหม? พิสูจน์ได้ไม่ยากครับ ส่วนประเด็นที่พูดกันว่า กฎหมายย้อนหลังไม่ได้นั้น จริง ๆ ก็ถูกนะครับที่กฎหมายจะมีผลย้อนหลังเป็นโทษกับคนไม่ได้ แต่ผมก็ขอฝากตัวอย่างไว้ 1 ตัวอย่างนะครับคือ มาตรา 68-3 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน (ประกาศใช้บังคับ ค.ศ. 1958) มาตรานี้เป็นมาตราใหม่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมไปเมื่อปี ค.ศ. 1995 นี่เองครับ สาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบของนักการเมืองมีมาก กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น จึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวดใหม่เข้าไป 3 มาตรา คือ หมวด 10 ความรับผิดทางอาญาของรัฐมนตรี กำหนดให้มีศาลอาญาแห่งสาธารณรัฐ (la Cour de justice de la République) ทำหน้าที่พิจารณาความผิดของรัฐมนตรีที่ทำในตำแหน่งหน้าที่และถือเป็นความผิดทางอาญาในขณะที่กระทำความผิดนั้น ในมาตรา 68-3 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของหมวด 10 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้กับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้จะใช้บังคับได้ ซึ่งความหมายของมาตรา 68-3 นี้ก็คือ การ “ไม่มีอายุความ” ของความผิดที่รัฐมนตรีได้ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนนั่นเองครับ ก็คงต้องขอฝาก “ท่านผู้นำ” ไว้ด้วยนะครับว่า ถ้าจะ “ทำ” ก็ทำแบบนี้ดีกว่าครับ จะได้เสมอภาคกันหน่อย ย้อนหลังไปเอาผิดกับบรรดาผู้ทรยศคดโกงประเทศชาติและประชาชนกันให้หมด บ้านเมืองจะได้ “สะอาด” เสียทีครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ เรื่อง “เสรีภาพทางกายภาพตามแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส” ของ ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้อ่านกันครับ ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์เกรียงไกรฯ ไว้ ณ ที่นี้
       พบกันใหม่วันที่ 4 ตุลาคม 2547 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=110
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 01:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)