ตุลาการมิใช่ผู้วิเศษ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

13 พฤษภาคม 2550 22:08 น.

       ผมเชื่อว่าระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการน่าจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากกว่าหน่วยงานอื่น ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาตุลาการน่าจะมีระบบการควบคุมจริยธรรมและคุณธรรมที่เข้มข้นมากกว่าวงการอื่น ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาตุลาการน่าจะมีความรู้ความเชี่ยวในตัวบทกฎหมายกฎหมายดีกว่าผู้อื่น แต่ผมไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาตุลาการจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองการปกครองมากกว่าผู้อื่นจนต้องมีบทบาทหน้าที่ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างๆอยู่นี้อย่างมากมายนอกเหนือจากหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษา อรรถคดีตามปกติ
       
       บทบาทที่ว่านี้มีทั้งการสรรหาองค์กรอิสระทั้งหมดที่โดยหลักแล้วถือได้เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารประเภทหนึ่งเพียงแต่ไม่ขึ้นการบังคับบัญชาต่อนายกรัฐมนตรี เท่านั้นเองมิใช่อำนาจอธิปไตยใหม่หรืออำนาจอธิปไตยที่สี่แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและแม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อำนาจ การสรรหาอยู่ในมือของคณะบุคคลเพียงห้าคน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอัตราส่วนของตุลาการสามในห้าเข้าไปแล้วและสองรายหลังนี้ลืมไปได้เลยหากมีการยุบสภาหรือครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้วรอเลือกตั้งใหม่ อำนาจทั้งหมดจึงตกอยู่กับฝ่ายตุลาการล้วนๆ
       
       ที่น่าทึ่งมากก็คือผู้พิพากษาตุลาการยังเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งคณะกรรมการที่ว่านี้ประกอบไปด้วยประธาน ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาฯจำนวน ๑ คน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ จำนวน ๑ คน
       
       และที่น่าตกใจก็คือผู้พิพากษาตุลาการยังเป็นกรรมการในองค์กรเทวดาตามมาตรา ๖๘ วรรคสองที่บัญญัติว่าในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธาน ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งประเด็นที่ว่าแล้วมันจะได้ผลหรือไม่เพียงใดนั้นมีผู้วิพากษ์ไว้มากแล้ว แต่ในที่นี้จะพิเคราะห์ในประเด็นที่เป็นการนำ ผู้พิพากษาตุลาการเข้าไปทำหน้าที่ตัดสินปัญหาทางการเมือง ซึ่งมิใช่ปัญหากฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการว่ามีความถูกต้องหรือเหมาะสมตามหลักของการแบ่งแยกอำนาจเพียงใด
       
       นอกเหนือจากความรู้พื้นฐานทั่วๆไปที่เราเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเราสามารถจำแนกการใช้ได้เป็นอำนาจบริหารที่ผู้ใช้อำนาจคือคณะรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติที่ผู้ใช้อำนาจคือรัฐสภาและอำนาจตุลาการที่ผู้ใช้อำนาจคือศาลแล้ว ในการบริหารราชการบ้านเมืองของประเทศประชาธิปไตยนั้นจำเป็นจะต้องใช้หลัก “นิติรัฐ” ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
       
       (๑) บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะมีอำนาจสั่งการให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ต่อเมื่อ มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้งและจะต้องใช้อำนาจนั้นภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้
       
       (๒) บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรนั้น จะต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนพอสมควรว่า ให้องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารองค์กรใดมีอำนาจล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใด และภายในขอบเขตอย่างใด และกฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎร เกินขอบเขตแห่งความจำเป็นเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะ
       
       (๓) การควบคุมไม่ให้การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       จะเห็นได้ว่าในสาระสำคัญของหลัก “นิติรัฐ”ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของ แต่ละองค์กรไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าแต่ละฝ่ายมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ฉะนั้น การที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจและบทบาทหน้าที่ของฝ่ายตุลาการด้วยการก้าวล่วงไปยังอำนาจอธิปไตยอื่น อันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารนอกเหนือจากการใช้อำนาจตุลาการของตนดังเช่นที่กล่าวมาในตอนต้นนั้นจึงไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
       
       อย่าลืมว่าผู้พิพากษาตุลาการก็คือปุถุชนคนธรรมดา ย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง และแน่นอนว่าว่าย่อมมิใช่เทวดาหรือผู้วิเศษที่จะดลบันดาลให้การเมืองการปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดังที่บางคนคาดหวัง
       
       น่าเสียดายที่ตามมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญฯฉบับชั่วคราวปี ๔๙ กำหนดให้ ๑๒ องค์กรและคณะบุคคลที่เสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรตุลาการนั้นมีเพียงศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ซึ่งน่าจะเปิดกว้างรับฟังความเห็นไปยังศาลในลำดับล่าง หรือแม้กระทั่งสำนักงานศาลฯซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นองคาพยพขององค์กรตุลาการเช่นกันด้วย ว่าเขาเหล่านั้นมีความคิดเห็นต่อบทบาทของผู้พิพากษาตุลาการในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อย่างไร
       
       บางทีความเห็นที่ได้อาจจะทำให้ใครหลายคนหน้าแตกเป็นริ้วชนิดที่หมอไม่รับเย็บ ต้องรีบเข้าเกียร์ถอยหลังจนแทบไม่ทันก็เป็นได้ ดังบันทึกความเห็นของศาลฎีกาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้เมื่อ ๑ พ.ค.ที่ผ่านมาก็คงเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี
       ------------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1097
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)