|
|
A Coup for the Rich โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง 16 เมษายน 2550 01:45 น.
|
ผมไม่รู้จัก อ.ใจ อึ้งภากรณ์ เป็นการส่วนตัวมาก่อนแม้ว่าจะมีโอกาสร่วมเสวนาทางวิชาการบ้างเป็นบางครั้ง แต่เมื่อได้มีโอกาสอ่าน A Coup For the Rich : THAILANDs POLITICAL CRISIS ที่ อ.ใจเขียนจนจบแล้วจึงรู้จัก อ.ใจมากขึ้น และแน่นอนที่สุดก็คือรู้จักการเมืองไทยในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอธิบายที่มิใช่มาจากนักวิชาการหรือนักวิเคราะห์กระแสหลัก(mainstream analysis) แต่เป็นคำอธิบายในทางเลือกอื่น(alternative explanation)
น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นยาขมสำหรับคนไทย แต่เนื้อหาที่บรรจุนั้นกลับเข้มข้น น่าบริโภคเป็นอย่างยิ่ง อ.ใจได้อธิบายถึงแนวความคิดของผู้ที่ไม่เอาทั้งทักษิณและคณะรัฐประหาร(No to Taksin and No to the Coup) โดยชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าทักษิณหรือรัฐประหารก็ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมรับของคนชั้นนำในสังคมที่สนับสนุนรัฐประหารที่เห็นว่าคนจนมีประชาธิปไตยมากเกินไป(too much democracy) และโดยเขาเหล่านั้นแบ่งประเทศไทยว่ามีสองชนชั้นใหญ่ๆคือชนชั้นกลางที่กระจ่างแจ้งและเข้าใจประชาธิปไตย(enlightened middle-classes who understand democracy) กับชาวชนบทและชาวเมืองที่ยากจนอันแสนจะโง่เขลา(ignorant rural and urban poor)
และยังได้ถ่ายทอดมุมมองของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มองว่าประชาชนชาวไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาให้การศึกษา(I suspect many Thais still lack a proper understanding of democracy:The people have to understand their rights and their duties
I think it is important to educate the people about true democratic rule)
นอกจากนั้น อ.ใจยังได้วิพากษ์นักวิชาการที่มีชื่อเสียง อาทิ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ธีรยุทธ์ บุญมี และอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ว่าปัจจุบันได้หันมาส่งเสริมแนวความคิดคุณค่าของเอเชีย(the idea of Asia values)เพื่ออธิบายเหตุผลของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ โดยนักวิชาการเหล่านี้มองว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ(Thai-style democracy)นั้นเป็นสิ่งควรจะเป็นระบบผสมโดยการแบ่งปันอำนาจระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนนโยบายประชานิยมของไทยรักไทยนั้นจะถูกแทนที่ด้วยรัฐสวัสดิการ(social welfare)
ในส่วนของกลุ่มพลังที่มีส่วนผลักดันขับไล่ทักษิณก่อนการรัฐประหารที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ.ใจได้วิเคราะห์แยกแยะถึงองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆที่ทำให้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยสรุปแล้วผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดและควบคุมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯทั้งหมดคือสนธิ ลิ้มทองกุลนั่นเอง เพราะมีทั้งเงินทุน สื่อ ฯลฯ อยู่ในมือ โดยมองว่าแกนนำที่เหลือเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น
อ.ใจได้กล่าวถึงการกลับมาสถาปนาระบอบกษัตริย์ของอังกฤษเพียง ๑๑ ปีภายหลังการปฏิวัติ ค.ศ.๑๖๔๐ ของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ภายหลังการเสียชีวิตเขา แต่ระบอบกษัตริย์ที่ได้กลับคืนมาก็ไม่เหมือนเดิมดังแต่ก่อนเพราะกฎหมายศักดินาและระบบเศรษฐกิจเก่าแก่ได้ถูกทำลายลง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังติดอยู่กับการสนับสนุนจากพ่อค้าและผู้ดี โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบพระเจ้าชารลส์ที่๒ ว่าเป็นกษัตริย์โดยพระคุณของพระเจ้า แต่ในความจริงแล้วเป็นโดยพระคุณของบรรดาพ่อค้าและพวกผู้ดีทั้งหลาย(Charles(the 2nd)was King by Grace of God,but really King by the Grace of merchants and squires)
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงคนเดือนตุลาฯอันเป็นผลผลิตของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ต้องหนีเข้าป่าไปร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อครั้งเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่ในที่สุดก็กลับมาเข้าร่วมกับรัฐบาลไทยรักไทย โดยเปลี่ยนอุดมการณ์ไปโดยเห็นว่าอุดมการณ์เดิมไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้
เขาเหล่านั้นเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน(Dual Track) โดยพัฒนานโยบาย ทุนนิยมและ เศรษฐกิจประชาชน(ชุมชน)ไปในขณะเดียวกัน(development policy,where Capitalismand the Peoples Economy(Commmunity based activities) went hand in hand)หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่าเสรีนิยมบวกกับประชานิยมนั่นเอง
ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของคนเดือนตุลาฯในไทยรักไทยห่างเหินจากกระบวนการความเคลื่อนไหวของประชาชนแปรเปลี่ยนเป็นนายทุนและรัฐมนตรีผู้สูงศักดิ์อย่างเต็มตัว นโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ออกมาไม่เคยมีความตั้งใจที่จะเก็บภาษีคนรวยอย่างเต็มที่
ในช่วงแรกนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนไทยเกือบทั้งหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักธุรกิจบางคนรู้สึกว่าตนถูกกีดกันจากการเข้าร่วมเสวยผลประโยชน์ที่มีแต่เพียงพลพรรคไทยรักไทยเท่านั้น จึงเริ่มมีการแสดงความไม่พอใจและนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านในที่สุด
และบทสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้สรุปว่าต้นตอแห่งปัญหาที่แท้จริงนั้นมีรากเหง้ามาจากรัฐไทยนั่นเอง โดยลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงเหตุการณในสมัยรัฐบาลทักษิณ กรณีตากใบ ฯลฯ จนท้ายสุดคือเหตุการณ์สึนามิที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ผลที่ตามมากลับไม่ใช่(The Tsunami was natural ,but its effects were not)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนจากหลายๆส่วนที่ไม่สามารถนำมากล่าวถึงได้หมด แต่โดยสรุปแล้วผมเห็นเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ(ที่แท้จริง)เพียงคนเดียว แต่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าความเจริญงอกงามทางวิชาการในระบอบประชาธิปไตยก็เริ่มต้นจากการยอมรับในความเห็นที่แตกต่างมิใช่หรือ
คิดว่าคนไทยคงจะได้มีโอกาสอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย อย่าปล่อยให้แต่ฝรั่งหรือคนรู้ภาษาอังกฤษได้อ่านเท่านั้นนะครับ
-------------------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1078
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 07:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|