ครั้งที่ 89

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม."
       ช่วงเวลาเกือบเดือนที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่าชาวกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งผมด้วยคงจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน คือ รู้สึกว่าถูก “บังคับ” โดยปริยายให้รับทราบว่า ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคมนี้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผมใช้คำว่า ถูกบังคับโดยปริยาย ก็เพราะไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของกรุงเทพฯ บนถนนใหญ่หรือตามตรอก ซอก ซอย ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะละสายตาไปจากป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ติดอยู่เต็มเมืองไปหมดครับ
       ผมมองดูป้ายหาเสียงเหล่านั้นด้วยความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง ในฐานะชาวกรุงเทพฯ เมืองของผม “สกปรก” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สายไฟฟ้าตามถนนโยงระเกะระกะไม่มีระเบียบ ตู้โทรศัพท์จำนวนมากที่ตั้งอยู่บนทางเท้าอย่างไม่มีศิลปะ บางจุดจะพบว่ามีตู้โทรศัพท์ตั้งเรียงกันอยู่กว่า 10 ตู้ติด ๆ กัน ทางเท้าที่ใช้เป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ ที่วางขายของ หรือที่ทิ้งขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ไม่มีความสวยงาม และเมื่อถึงฤดูเลือกตั้งเช่นในช่วงระยะเวลานี้ กรุงเทพฯ ก็ยิ่งสกปรกเข้าไปใหญ่ บรรดาป้ายหาเสียงทั้งหลายติดกันอยู่เต็มเมืองไปหมด ติดกันอย่างไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย และไม่สนใจวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯ แค่ขับรถออกจากซอยบ้านก็รู้สึกหงุดหงิดแล้วเพราะไม่สามารถมองเห็นรถที่วิ่งมาบนถนนใหญ่ได้ถนัดเนื่องจากมีแผ่นป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้าและต้นไม้ บดบังทัศนะวิสัยในการมองรถที่วิ่งอยู่บนถนน ผมไม่ทราบว่าบรรดาเจ้าของป้ายหาเสียงเหล่านั้นจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้างหรือเปล่ากับป้ายหาเสียงของตนเองที่สร้างความเดือดร้อนลำบากให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และก่อให้เกิดความสกปรกกับเมืองที่ตนเองกำลังอยากจะเข้ามาทำงานด้วยครับ!!! เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า มลพิษในกรุงเทพฯ มากอยู่แล้วเพราะรถยนต์ทั้งหลายต่างก็ปล่อยควันพิษออกมา เวลานี้ป้ายต่าง ๆ กลายเป็น “มลภาวะทางสายตา” ของชาวกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมาอีกที่ ณ วันนี้เราเองไม่สามารถหลบหลีกได้นอกจากจะ “หลับตา” ครับ!!! จริง ๆ แล้ว ผมอยากจะฝากประเด็นไปยัง กกต. ด้วยว่า การโฆษณาหาเสียงนั้นสามารถทำได้หลายวิธีครับ!!! ที่ฝรั่งเศสเขากำหนดให้ติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งได้เฉพาะในบริเวณที่ฝ่ายปกครองกำหนด เช่น หน้าที่ทำการเขต อำเภอ เทศบาล หรือหน้าโรงเรียน วัด เป็นต้น ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็คงมีวิธีการของเขาที่แตกต่างกันไปครับ ที่ผมอยากจะฝากไปยัง กกต. ก็คือทำอย่างไรที่จะให้การติดป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งอยู่ในกรอบอย่างเป็นระเบียบและไม่ไปทำลายทัศนียภาพของเมืองเช่นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ครับ
       แต่อย่างไรก็ดี ป้ายหาเสียงเหล่านี้ก็ให้แง่คิดอะไรกับเราได้บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความรู้” และ “ความสามารถ” ของผู้สมัคร ผมอ่านป้ายหาเสียงเหล่านี้อย่างตั้งใจแล้วก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึง “อำนาจ” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราลองมาดูตัวอย่างของ “ข้อความ” ที่ปรากฏอยู่ตามป้ายหาเสียงเหล่านี้กันก่อนครับ
       - กรุงเทพจะเปลี่ยนไป
       - ตั้งลูกขุนเมืองร่วมกันตัดสินการงาน
       - เพิ่มสวนสาธารณะทุกพื้นที่
       - แก้ปัญหาจราจร
       - เชื่อมโยงรถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า
       - รถเมล์ระบบใหม่ จราจรลื่นไหล รถอะไรก็คล่องตัว
       อ่านแล้วก็รู้สึกดูดีและมีความฝันขึ้นมาว่า กรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปครับ แต่เมื่อพิจารณาดูอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 89 แล้วจะพบว่า บางประเด็นที่มีการนำมาหาเสียงนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะดำเนินการได้เลย ขอยกตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียวคือ การแก้ปัญหาจราจรครับ ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ เป็นปัญหาหนักที่ทำให้มีผู้เสียคำพูดกันไปแล้วกับการที่อาสามาแก้ปัญหาจราจร แต่ก็ไม่สามารถทำได้ การแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครคงไม่ได้เป็นหน้าที่และผมก็เข้าใจว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคงไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาจราจรได้หรอกครับ คงต้องหัดคิดง่าย ๆ กันบ้างนะครับ เราลองมองดูปัญหากันก่อนว่า รถติดเพราะอะไร หลาย ๆ คนคงตอบได้ว่า รถติดเพราะคนใช้รถส่วนตัวกันมาก กับคนไม่เคารพกฎจราจร ทางแก้ปัญหามีไหม มีครับ แต่ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเด็ดขาดที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา เพราะการที่คนใช้รถส่วนตัวมากก็เพราะบริการขนส่งมวลชนไม่ดีพอหรือไม่สะดวกพอครับ เราคงทราบว่าใน กทม. นั้น ขสมก. เป็นหัวเรือใหญ่ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำบริการขนส่งมวลชนในเขต กทม. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครับ!!! ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องขนส่งมวลชนหลัก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง เพราะตนเองไม่มีอำนาจครับ ส่วนปัญหาที่ว่าคนไม่เคารพกฎจราจรนั้น เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรุงงเทพมหานครมีอำนาจดูแลเฉพาะการวิศวกรรมจราจรเท่านั้น (ติดไฟสัญญาณ ตีเส้นตามถนน) ส่วนการจัดการจราจร การดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎจราจรทั้งหลายเป็นหน้าที่ของตำรวจครับ!!! ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แค่คิด “ง่าย ๆ” แค่นี้ก็พอจะมองภาพออกแล้วนะครับว่า การแก้ปัญหาสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานครไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเลยครับ จะขึ้นข้อความบางข้อความที่ปรากฏอยู่บนป้ายหาเสียง จึงเป็นข้อความที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติครับ!!! การหาเสียงก็คงเป็นการหาเสียงนั่นแหละครับ เหมือนเดิมและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ!!! คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งกันแล้ว จะทำได้อย่างที่ตัวเอง “เข้าใจ” หรือเปล่าครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความของ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “จังหวัดบูรณาการ : จากจังหวัดอาณานิคมรัฐสู่จังหวัดอนุรัฐ” มาให้ผู้อื่นได้หาความรู้กันครับ ผมต้องขอขอบคุณ ดร.เชาวนะฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย นอกจากนี้แล้ว ก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=107
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)