ครั้งที่ 156

18 มีนาคม 2550 22:04 น.

       ครั้งที่ 156
       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2550
       
       “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง”
       
       ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา บรรยากาศของการร่างรัฐธรรมนูญก็ยังเหมือนเดิม มีการโยนหินถามทางในหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้คือก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาพูดเป็นทำนองว่าควรเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีอาจมาจากคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ วันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปหลายเดือนแล้ว แต่ความคิดดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการใช้เหตุผลกันร้อยแปดเหตุผลซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ขาดฐานสนับสนุนทางวิชาการทั้งสิ้น ตอนนี้คงยังไม่เหมาะที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพราะคงต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาก่อนว่าจะมีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ครับ
       วันที่ 19 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 6 เดือนของการรัฐประหาร ผมคิดว่าคณะรัฐประหารคงต้อง “ทบทวน” ดูบทบาทและการกระทำของตัวเองและของรัฐบาลว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ประเทศชาติและประชาชนได้อะไรจาก “การกระทำ” ของท่าน ปัญหาภาคใต้ที่ท่านคุยนักคุยหนาว่าแก้ไขได้ในวันนี้เป็นอย่างไรครับ ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะให้ “เป็นธรรม” กับประเทศชาติและประชาชนจริง ๆ ควรประเมินด้วยว่า “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารและการกระทำที่เกี่ยวเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นจำนวนเท่าไร เพราะในวันนี้ ผมเข้าใจว่าไม่ว่าโพลไหนก็ตาม ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อคณะรัฐประหารและรัฐบาลลดลงอย่างแทบไม่น่าเชื่อครับ ก็ขอฝากเป็นการบ้านสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องให้ข้อมูลกับประชาชนทั้งสองด้าน คือ ด้านผลงานที่ท่านคิดว่าท่านทำให้ประเทศชาติ และด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกท่านนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาครับ
       เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการออกเสียงประชามติกันมาก บทความหลายบทความในหน้าหนังสือพิมพ์แสดงความวิตกถึงผลของประชามติที่จะเกิดขึ้นและความเสียดายเงินจำนวนกว่า 2000 ล้านที่จะต้องใช้ในการออกเสียงประชามติ เรื่องนี้ผมพูดไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมาว่า คนไทย “ถูกหลอก” ให้มาออกเสียงให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.เพื่อให้สิ่งที่มีที่มาที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยครับ ตอนนี้ต้องช่วยกันคิดแล้วว่าจะมีทางใดบ้างที่จะ “เลี่ยง” ไม่ให้มีการออกเสียงประชามติได้ครับเพราะผมเกรงว่าจะมีความวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอนครับ!
       ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกันที่ผมได้มีโอกาสไปอภิปรายหลาย ๆ ครั้งเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งได้มีโอกาสเห็นแบบสอบถามต่าง ๆ ที่ทำจากหลายสำนักเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนที่ต้องการให้มีในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เลยทำให้ได้ความคิดว่า การทำแบบสอบถามนั้นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการจัดทำ เพราะเท่าที่ผมเห็นมานั้น แบบสอบถามทั้งหลายล้วนมีผลเป็นการ “ชี้นำ” ให้ผู้ตอบคำถามเกือบทั้งนั้น ดังตัวอย่างเช่นคำถามว่า นายกรัฐมนตรีควรเป็น ส.ส.หรือไม่ มีคำตอบ 2 คำตอบคือ ควรเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับ ใครเป็นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ผมว่าถ้าเราพิจารณาข้อความที่เป็น “คำตอบ” ทั้งสองข้อก็จะเห็นตรงกันคือ ข้อหลังนั้นใช้ถ้อยคำที่ “แข็ง” ในช่วงต้นคือ “ใครเป็นก็ได้” ซึ่งถ้อยคำนี้เองน่าจะเป็นถ้อยคำที่ทำให้คน “ไม่กล้า” ที่จะเลือกตอบคำถามในข้อหลังครับ
       มีหลายคำถามที่ผมคิดว่า ควรมีคำอธิบายให้ผู้ตอบคำถามทราบถึง “ระบบ” ทั้งระบบด้วย เพราะหากเราตั้งคำถามเฉย ๆ ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แล้วต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามคำถามขึ้นจริงแล้วไม่เป็นไปตามที่ประชาชนตอบคำถาม ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ครับ มีอยู่คำถามหนึ่งที่ผมสนใจคือ มีความพยายามที่จะให้สิทธิประชาชนมากขึ้นกว่าที่มีในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จึงมีกระแสสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเอง “ฟ้อง” ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง ซึ่งฟังดูแล้วก็รู้สึกว่าดี แต่จะมีปัญหาตามมาหรือไม่อย่างไร ก็คงต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเพราะไม่เช่นนั้นคนที่จะตกที่นั่งลำบากก็คือองค์กรเหล่านั้นเพราะจะต้องเจอกับผู้ที่มาฟ้องด้วยเรื่องต่าง ๆ มากมายจนแทบจะไม่มีเวลาทำงานตามปกติครับ เพื่อความรอบคอบน่าจะศึกษาให้ดีก่อน คงต้องไปดูของต่างประเทศว่าเขาทำอย่างไรกันบ้างในเรื่องการให้ประชาชนฟ้ององค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้โดยตรง มีหลักเกณฑ์อย่างไรกันบ้าง ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงกติกาของการให้ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในต่างประเทศรวม 4 ประเทศคือ เบลเยี่ยม เยอรมัน โปรตุเกส และสเปน ครับ ลองดูกติกาของประเทศเหล่านี้ก่อนแล้วค่อย “หาทาง” นำมาปรับใช้กับประเทศไทยสำหรับองค์กรทั้งหลายที่ไม่จำกัดเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญครับ ส่วนผู้ที่สนใจจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก็ต้องเข้าไปค้นดูรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านั้นเอาเองครับ แต่ถ้าจะให้ง่ายหน่อยก็ลองดูงานวิจัยของผมที่ทำให้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2548 เรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ” ครับ
       ประเทศเบลเยี่ยม มีองค์กรคล้ายกับศาลรัฐธรรมนูญ เรียกชื่อว่า ศาลชี้ขาดข้อพิพาท (la Cour d’arbitrage) ซึ่งประกอบด้วยตุลาการจำนวน 12 คนที่ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์ มีวาระการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ศาลชี้ขาดข้อพิพาทมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ ชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดจากกฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ควบคุมสนธิสัญญาระหว่างประเทศมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนนั้น รัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยมให้สิทธิประชาชนที่จะร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวกับการที่กฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้ โดยประชาชนสามารถเสนอปัญหาดังกล่าวได้โดยตรงต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์นั้นได้ หรืออาจยื่นผ่านศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมก็ได้ โดยประชาชนผู้ที่จะฟ้องคดีดังกล่าวได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง (direct) เฉพาะตัว (personnel) เกิดขึ้นอยู่ในขณะยื่นฟ้อง (actuel) และมีความแน่นอนถาวร (certain) ครับ และเพื่อไม่ให้เรื่องฟ้องคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชี้ขาดข้อพิพาทมากเกินไป กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ได้จัดตั้งองค์คณะตรวจสอบขึ้นมากลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลชี้ขาดข้อพิพาทก่อนครับ
       ประเทศเยอรมนี ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันประกอบด้วยตุลาการจำนวน 16 คน ตุลาการกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) และอีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกจากสภาสูงแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 12 ปี ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีอำนาจหน้าที่หลายประการรวมทั้งการพิจารณาข้อร้องเรียนของประชาชนด้วย กฎหมายพื้นฐาน (Basic law) ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญของเยอรมันได้บัญญัติให้บุคคล (ซึ่งหมายถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ใดก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของอำนาจรัฐต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี โดยผลกระทบที่ว่าอาจมาจากกฎหมาย กฎ ระเบียบของฝ่ายปกครอง หรืออาจมาจากคำพิพากษาก็ได้ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในกรณีที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น กฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำของฝ่ายบริหารที่ใช้มาตรการทางปกครองแล้วไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำของฝ่ายตุลาการคือคำพิพากษาที่เกิดจากกระบวนพิจารณาของศาลที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำพิพากษาที่เกิดจากกฎหมายที่ใช้ในการตัดสินคดีเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคำพิพากษาที่ตัวคำพิพากษาเองมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีข้อสังเกตสำหรับการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายตุลาการว่า กรณีนี้ไม่ถือเป็นการทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกา เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบได้เฉพาะประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำพิพากษาเท่านั้น จะตรวจสอบกรณีอื่น ๆ เช่น ข้อเท็จจริง ไม่ได้ และก็เช่นเดียวกับในประเทศเบลเยี่ยม มีการตั้งองค์คณะกลั่นกรองขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบในเบื้องต้นก่อนว่าเรื่องที่ประชาชนฟ้องมีมูลหรือไม่ หากมีมูลก็เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปครับ
       ประเทศโปรตุเกส ศาลรัฐธรรมนูญ (Tribunal Constitutionnel) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 13 คน ที่รัฐสภาแต่งตั้งจำนวน 10 คน และอีก 3 คนมาจากตุลาการจำนวน 10 คนแต่งตั้ง รัฐธรรมนูญโปรตุเกสได้เปิดช่องทางให้มีการฟ้องขอให้ทบทวนคำพิพากษาศาลยุติธรรมได้ โดยคำพิพากษาที่จะถูกนำมาให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ปฏิเสธการนำกฎหมายบางฉบับมาใช้โดยอ้างว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เป็นคำพิพากษาที่ใช้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดี เป็นคำพิพากษาที่นำกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้ในการพิจารณาคดี โดยผู้ฟ้องคดีอาจเป็นประชาชน นิติบุคคล คนต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษา กระบวนการควบคุมคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นกระบวนการควบคุมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลได้โดยตรงเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตน
       ประเทศสเปน ศาลรัฐธรรมนูญ (Tribunal Constitutionnel) ประกอบด้วยตุลาการ 12 คนที่กษัตริย์แต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน จากวุฒิสภาจำนวน 4 คน รัฐบาลเสนอ 2 คน และจากสภาตุลาการ (Conseil Général du Pouvoir Judiciaire) อีก 2 คน ศาลรัฐธรรมนูญของสเปนมีอำนาจหน้าที่มากมายรวมทั้งการรับคำฟ้องโดยตรงของประชาชนในกรณีที่เกิดการกระทำของอำนาจรัฐที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ การพิจารณาคดีประเภทนี้เรียกว่า Amparo โดยรัฐธรรมนูญสเปนได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ และหากมีการกระทำใดของฝ่ายปกครอง เช่น การออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำทางตุลาการ เช่น คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ไปกระทบต่อประชาชน ประชาชนก็สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยมีหลักสำคัญคือ ผู้ที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้ดำเนินการให้มีการเยียวยาทุกข์โดยวิธีการอื่นมาหมดแล้ว เช่น มีการขอให้ฝ่ายปกครองแก้ปัญหาให้ตนแล้ว มีการดำเนินการทางศาลจบสิ้นแล้ว เมื่อไม่ได้รับการเยียวยาจึงค่อยมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ฟ้องคดีอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และเหตุแห่งการฟ้องคดีที่ต้องระบุไว้ในคำฟ้องคือ ต้องการให้ความชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น และนอกจากนี้เพื่อให้เป็นการกลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการตั้งแผนกตรวจสอบขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลและอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
       เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของประเทศทั้ง 4 ที่ผมได้นำเสนอไปข้างต้นพอสรุปได้ดังนี้คือ ศาลชี้ขาดข้อพิพาทของเบลเยี่ยมมีอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากกฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารที่ไปกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติคือ กฎหมาย การกระทำต่าง ๆ ที่ฝ่ายปกครองดำเนินการตามกฎหมายและไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงการกระทำของฝ่ายตุลาการคือ คำพิพากษาที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ สำหรับศาลรัฐธรรมนูญของโปรตุเกสก็มีอำนาจในการพิจารณาคำพิพากษาที่มีปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ส่วนในประเทศสเปนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญของสเปนก็มีอำนาจที่จะพิจารณาการกระทำทางปกครองและการกระทำทางตุลาการที่ไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนกรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีนั้น ทั้งสี่ประเทศที่นำเสนอต่างก็เปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกำหนดเกณฑ์ไว้แตกต่างกันในบางประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถสรุปได้ว่า ประชาชนทุกคนที่มีส่วนได้เสียสามารถฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใต้กฎเกณฑ์บางประการ เช่น ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ความเสียหายต้องมีอยู่ในขณะฟ้องคดี เป็นต้น และในประเทศเบลเยี่ยม เยอรมัน และสเปน ก็ได้สร้างกลไกในการตรวจสอบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ “กลั่นกรอง” คำฟ้องของประชาชนก่อนที่จะเสนอคำฟ้องนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป เพื่อมิให้มีเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปครับ
       เห็นไหมครับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ “ตั้งคำถาม” ง่าย ๆ เพื่อให้ได้ “คำตอบ” ง่าย ๆ ทุกคำถามมีคำอธิบาย มีกระบวนการ มีกลไก ที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดก่อนว่าการปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ ผมไม่คิดว่าการตั้งคำถามแล้วเอาคำตอบที่ประชาชนต้องการมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ครับ คงต้องใช้เวลาศึกษาให้ดีก่อนว่า รูปแบบไหนที่เหมาะสมกับประเทศไทย มาตรการไหนที่จะทำให้การดำเนินการขององค์กรต่าง ๆ เป็นไปอย่างดีไม่ติดขัด ฯลฯ จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายสิบประเทศที่มีกลไกให้สิทธิประชาชนฟ้อง “ศาลหรือองค์กรพิเศษ” ได้โดยตรงครับ ผู้สนใจก็ไปศึกษารายละเอียดกันต่อครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความมานำเสนอ เริ่มจากบทความเรื่อง “ข้อควรคำนึงในการร่างรัฐธรรมนูญ” ของคุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความต่อมาคือบทความเรื่อง “ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ.2550” ของคุณชรินทร์ สัจจามั่น แห่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และบทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง “ความไม่รู้เรื่องการเลือกตั้งของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ด้วยครับ นอกจากบทความทั้งสาม เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่อีก 2 เล่มครับ ลองเข้าไปสำรวจดูในหนังสือตำราได้ครับ
       วันที่ 28 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ผมจะเดินทางไปเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille 3 ประเทศฝรั่งเศสและจะอยู่ที่นั่น 1 เดือนครับ มีอะไรน่าสนใจจะเก็บมาเล่าให้ฟังครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1068
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:12 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)