|
|
ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ. 2550 โดย คุณชรินทร์ สัจจามั่น 18 มีนาคม 2550 22:02 น.
|
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ. 2550 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสร้างความสมานฉันท์เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาและลดปริมาณเรื่องร้องเรียนและร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งระเบียบนี้เริ่มมีผลใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศนับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา
แม้ว่า กกต.จะมีเจตนารมณ์ที่ดีในการออกระเบียบฯ ดังกล่าวเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยรวมตามแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาล แต่ก็มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าการบังคับใช้ระเบียบฯ ดังกล่าวอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติได้โดยเฉพาะกรณีการกำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ กกต.จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากข้อ 6 1 แห่งระเบียบฯ ดังกล่าว กกต. มิได้กำหนดขึ้นโดยพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 2 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กล่าวคือ
1.ค่าใช้จ่ายในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ กกต.จังหวัดต้องดำเนินการภายหลังประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามข้อ 5 3 แห่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ. 2550 เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการควบคุมการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. มิใช่ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แต่อย่างใด เพราะ กกต.นอกจากดำเนินการเลือกตั้งแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และโดยหน้าที่ดังกล่าว กกต. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 4 มาตรา 105 5 และมาตรา 106 6 ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ กกต.ประจำจังหวัดทำหน้าที่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต. บรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการควบคุมการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. และ กกต.ประจำจังหวัด ซึ่ง กกต. ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 493/2547 วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (กรณีค่าตอบแทนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน คณะอนุกรรมการไต่สวน และชุดป้องปรามและหาข่าว) ที่เคยวินิจฉัยว่า กกต. นอกจากดำเนินการเลือกตั้งแล้วยังมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และโดยหน้าที่ดังกล่าว กกต.ได้อาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นฯ ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่น และข้อกำหนด กกต.ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนและชุดป้องปรามและหาข่าวดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต. บรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการควบคุมการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. กกต. จึงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ
2. ระเบียบฯ ข้อ 6 เป็นการออกระเบียบที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย เนื่องจาก กกต.ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้น การกำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามข้อ 5 แห่งระเบียบฯ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่สามารถทำได้ เพราะขัดหรือแย้งกับมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อไปว่า กรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิใช่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ อย่าง อย่างไร เพื่อเมื่อเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแล้วย่อมไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นสมควรอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยของ กกต. จะต้องพิจารณาทบทวนความชอบด้วยระเบียบฯ ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นกรณีการเพิกถอนระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. , ส.ว. ใน อดีตที่ผ่านมา
*********************************
เชิงอรรถ
1. ข้อ 6 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามข้อ 5 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ในการเบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
2. มาตรา 10 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมดเว้นแต่ค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ฯลฯ
3. ข้อ 5 เมื่อมีเหตุที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและได้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนผู้สมัคร บุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเรื่องดังต่อไปนี้ ฯลฯ
4. มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ ระเบียบ ข้อกำหนด หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
5. มาตรา 105 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
6. มาตรา 106 คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดำเนินการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1064
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:08 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|