|
|
ผลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามระบบกฎหมายฝรั่งเศส โดย ดร.บุบผา อัครพิมาน 5 มีนาคม 2550 00:44 น.
|
ปัญหาเกี่ยวกับการชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองโดยอนุญาโตตุลาการกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในประเทศไทย และโดยที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ข้อพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองสามารถชี้ขาดได้โดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีผลให้ยุติปัญหาที่ว่า สัญญาทางปกครองจะมีการอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดออกมาแล้ว ผลของคำชี้ขาดมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร การบังคับให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดทำได้อย่างไร หรือหากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดจะโต้แย้งได้อย่างไร รวมทั้งการเข้าไปตรวจสอบคำชี้ขาดเป็นอำนาจของศาลใดและศาลที่มีอำนาจจะสามารถควบคุมตรวจสอบคำชี้ขาดได้มากน้อยเพียงไร คำถามเหล่านี้ ศาลไทยได้ให้คำตอบไว้ในบางเรื่องบางประเด็น ซึ่งสามารถศึกษาในเชิงเปรียบเทียบได้ เช่น ในคดีขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ (คดีไอทีวี) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ หรือคดีขอให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางประกง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ส่วนบทความชิ้นนี้ จะขอนำเสนอแนวทางคำตอบของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองแตกต่างจากระบบกฎหมายของไทยเรา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการและการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ
1. การควบคุมตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศส การชี้ขาดข้อพิพาททางปกครอโดยอนุญาโตตุลาการจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายอนุญาตไว้ให้ทำได้เท่านั้น แต่ในกฎหมายที่อนุญาตให้มีการอนุญาโตตุลาการได้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมคำชี้ขาดไว้ ดังนั้น ในเรื่องของการควบคุมคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงต้องศึกษาจากแนวคำพิพากษาของศาล
จากคำพิพากษาของศาลปกครองฝรั่งเศสนั้น ศาลปกครองมีแนวโน้มที่จะเข้าควบคุมคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอย่างค่อนข้างเข้มงวด โดยไม่ปล่อยให้องค์กรอนุญาโตตุลาการมีเสรีภาพในการชี้ขาดอย่างอิสระ เช่น สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสในฐานะศาลปกครองได้ยอมรับให้มีการฟ้องอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เสมอ ซึ่งนักกฎหมายส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่าการควบคุมโดยการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอย่างเข้มงวดเกินไปทำให้ระบบการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการขาดคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับสถาบันอนุญาโตตุลาการ นั่นคือ เสรีภาพในการทำคำชี้ขาด ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะลดบทบาทของศาลในคดีที่มีการฟ้องโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ส่วนในระบบกฎหมายของประเทศอื่น ๆ ในภาคพื้นทวีปยุโรป เช่น เบลเยี่ยม เยอรมัน หรือกรีซ เป็นต้น การควบคุมคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยศาลจะมีลักษณะไม่เข้มงวดมากนัก โดยจะให้อำนาจศาลในการสั่งเพิกถอนหรือสั่งว่าคำชี้ขาดเป็นโมฆะเท่านั้น ซึ่งหลักกฎหมายที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาด เป็นหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการยุติธรรมที่ดี (Principe dune bonne justice) อันได้แก่ หลักการให้เหตุผลในคำชี้ขาด และหลักบางอย่างเกี่ยวกับกระบวนการวินิจฉัย เช่น หลักสิทธิการโต้แย้งคัดค้าน (Droit de la défense) หรือหลักการให้คู่กรณีทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน เป็นต้น
นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลปกครองเหนือคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการด้วย บางความเห็น ต้องการให้การควบคุมคำชี้ขาดอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าศาลยุติธรรมมีประสบการณ์ในเรื่องอนุญาโตตุลาการมากกว่า ในขณะที่บางความเห็นสนับสนุนระบบที่เป็นอยู่ในฝรั่งเศส ที่ให้พิจารณาจากข้อพิพาทหลักว่าเป็นคดีปกครองหรือคดีแพ่ง
1.1 การควบคุมตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการประเภทต่างๆ
โดยหลัก การควบคุมตรวจสอบในการวินิจฉัยคดีของศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองจะมีระบบการควบคุมตรวจสอบโดยศาลชั้นที่สูงกว่า และศาลชั้นที่สูงกว่าจะควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลล่าง 2 ส่วน คือ การตรวจสอบรูปแบบหรือกระบวนการ และการตรวจสอบส่วนของเนื้อหา โดยศาลที่สูงกว่าสามารถวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของศาลต้นในส่วนของเนื้อหาได้ด้วย ซึ่งศาลจะนำระบบการควบคุมตรวจสอบดังกล่าวมาใช้กับกรณีการควบคุมตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ในทางวิชาการจึงมีปัญหาที่ถกเถียงกันในส่วนของการตรวจสอบเนื้อหาของคำชี้ขาดว่าขัดกับเหตุผลการมีระบบอนุญาโตตุลาการและจุดเด่นของการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการที่ต้องการให้เรื่องพิพาทหลุดพ้นจากระบบศาลหรือไม่
ในทางปฏิบัติ การแทรกแซงของศาลเพื่อเข้าไปตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกซึ่งไม่ใช่เหตุผลในทางวิชาการ กล่าวคือ ศาลมีแนวโน้มจะตรวจสอบแทรกแซงคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศมากกว่ากรณีการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยในการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ ศาลจะทำหน้าที่เหมือนตนเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ คือ ตรวจสอบคำชี้ขาดทั้งในส่วนของรูปแบบและกระบวนการ และส่วนของเนื้อหาด้วย ในขณะที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ศาลจะควบคุมให้อนุญาโตตุลาการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ และตรวจสอบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
1.1.1. การโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ
การโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศอยู่ภายใต้มาตรา 1481-1491 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งหลักการสำคัญ คือ การให้อุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศต่อศาลได้ เว้นแต่คู่กรณีปฏิเสธที่จะใช้สิทธิดังกล่าวโดยได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้ง
หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หลักตามมาตรา 1481 วรรคสอง ที่กำหนดว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่อาจถูกขอให้พิจารณาใหม่ และไม่อาจฎีกาคำชี้ขาดได้ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของอนุญาโตตุลาการ เพราะหลักการขอให้พิจารณาใหม่ เป็นการขอให้ศาลที่วินิจฉัยคดีพิจารณาคดีใหม่เมื่อเข้าเงื่อนไขบางประการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่น่าจะนำมาใช้กับการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนการฎีกานั้น โดยที่ฝรั่งเศสถือว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเปรียบเสมือนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ดังนั้น จึงไม่อาจนำไปฎีกาได้โดยตรง แต่คำชี้ขาดนั้นอาจถูกอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรืออาจถูกฟ้องเพิกถอนได้ และคำวินิจฉัยของศาลที่พิจารณาอุทธรณ์หรือที่เพิกถอนคำชี้ขาดจึงอาจถูกนำมาฎีกาต่อศาลสูงได้
ส่วนมาตรา 1482 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานสองประการ คือ ประการแรก คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดในข้อกฎหมาย (rendue en droit) อาจถูกอุทธรณ์ได้ ส่วนคำชี้ขาดที่อ้างหลักความเป็นธรรม (rendue en équité) นั้น ไม่อาจอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่คู่กรณีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หลักนี้เป็นหลักทางแพ่ง ดังนั้น จึงใช้บังคับในกรณีของอนุญาโตตุลาการทางแพ่ง ส่วนในอนุญาโตตุลาการทางมหาชนที่มีคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครอง หากเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกิจกรรมที่มีลักษณะทางพาณิชย์ ผู้วิจัย คือ นาย Apostolos Patrikios เห็นว่า น่าจะใช้หลักเดียวกันนี้ได้ เพราะ
(1) จากการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่อนุญาตให้อุทธรณ์เนื้อหาของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลจะทำหน้าที่เพียงดูรูปแบบและกระบวนการทำคำชี้ขาดเท่านั้นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นเสีย
(2) จากผลทางปฏิบัติที่ผ่านมา แม้กฎหมายฝรั่งเศสจะเขียนเรื่องการอุทธรณ์คำชี้ขาดไว้ แต่การอุทธรณ์คำชี้ขาดในทางปฏิบัติเกิดขึ้นน้อยมาก
ดังนั้น การฟ้องโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่จึงเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด ตามมาตรา 1484 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพื่อโต้แย้งสิ่งที่กระทบต่อหลักการพื้นฐานของอนุญาโตตุลาการ โดยหลัก ศาลไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาของคำชี้ขาด ซึ่งกรณีที่จะฟ้องเพิกถอนได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1484 ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ในลักษณะที่ค่อนข้างจะจำกัดอำนาจของศาล
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำชี้ขาดหรือการฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาด ด้วยหลักความเป็นเอกภาพแห่งการฟ้องคดี เงื่อนไขการฟ้องเพิกถอนและการฟ้องอุทธรณ์จะต้องเหมือนกัน และกระบวนพิจารณาในคดีเพิกถอนกับกระบวนพิจารณาอุทธรณ์จะต้องเหมือนกัน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1487 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
สำหรับอำนาจของศาลที่จะพิจารณาคำชี้ขาดมีมากน้อยเพียงใดนั้น ในกรณีทั่วไป มีข้อสันนิษฐานว่า ศาลสามารถยกอำนาจของตนเพื่อพิจารณาคดีทั้งข้อกฎหมายและเนื้อหาของคดีด้วย แต่หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาไว้ชัดแจ้งว่าจะไม่ใช้สิทธิฟ้องศาล เจตนาดังกล่าวจะมีผลให้ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาในเนื้อหาของคำชี้ขาด มีเพียงอำนาจพิจารณารูปแบบหรือกระบวนการเท่านั้น อย่างไรก็ดี การแสดงเจตนาไม่ใช้สิทธิฟ้องศาล ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องเพิกถอนหากคู่กรณีเห็นว่าคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น อยู่ภายใต้หลักทั่วไปของคดีฟ้องเพิกถอน โดยสิ่งที่ศาลจะนำมาใช้เพิกถอนคำชี้ขาดหนึ่ง ๆ เพราะเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีดังนี้
(1) ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาด เมื่อปรากฏว่า อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่มีสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ โดยคู่กรณีต้องโต้แย้งความไม่มีอยู่ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จึงจะสามารถนำคำชี้ขาดมาโต้แย้งในประเด็นนี้ได้ในชั้นศาล ส่วนกรณีสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะนั้น ได้แก่ กรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งลงนามโดยไม่ความสามารถ หรือเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่สมบูรณ์ เช่น เพราะถูกข่มขู่หรือฉ้อฉล หรือ
(2) เมื่อปรากฏว่า คำชี้ขาดเป็นของอนุญาโตตุลาการนายเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบ หรือเมื่อคำชี้ขาดทำโดยองค์คณะอนุญาโตตุลาการที่มีองค์ประชุมไม่ชอบ ทั้งนี้ คู่กรณีต้องโต้แย้งความไม่ชอบดังกล่าวตั้งแต่ต้น
(3) กรณีอื่น ๆ ที่ศาลอาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาด เช่น
- อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยไม่สอดคล้องกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในทางปฏิบัติศาลมักอ้างเหตุนี้ในการวินิจฉัยคำชี้ขาด เพราะเป็นหลักที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้สามารถตีความให้ศาลมีอำนาจได้ โดยศาลจะอาศัยหลักนี้ตีความว่าศาลมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของคำชี้ขาดทั้งในส่วนรูปแบบและเนื้อหาของคำชี้ขาด
- อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดโดยไม่เคารพต่อหลักวิธีพิจารณาทั่วไป เช่น หลักการฟังความทุกฝ่าย (Principe du contradictoire) หลักความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นต้น
- สำหรับคำชี้ขาดที่ศาลออกคำบังคับให้แล้ว ห้ามมิให้ฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นอีก แต่คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ออกคำบังคับให้นั้น อาจถูกโต้แย้งต่อศาลชั้นอุทธรณ์ได้
ข้อสังเกต ผลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำสั่งทางปกครองนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ การฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น ไม่มีผลเป็นการทุเลาการบังคับโดยอัตโนมัติ แต่การฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ มีผลให้ไม่อาจปฏิบัติการตามคำชี้ขาดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ ตามมาตรา 1486 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ข้อวิจารณ์ที่ว่า อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะสำคัญที่เป็นจุดเด่นของกระบวนอนุญาโตตุลาการซึ่งเน้นความรวดเร็ว
1.1.2 การโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ระบบเกี่ยวกับการโต้แย้งคำขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีความเป็นเอกเทศ เน้นที่ความง่ายและชัดเจนของกระบวนการ แต่ยังคงหลักการบางประการที่ใช้อยู่ในกระบวนการโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ คือ การแยกการอุทธรณ์คำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดกับการฟ้องเพิกถอนออกจากกัน ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้น กฎหมายเปลี่ยนแปลงไปในแนวโน้มที่จะให้การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไม่อยู่ภายใต้ระบบศาลภายในประเทศ
ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของฝรั่งเศส (มาตรา 1501-1507) ได้แยกสถานะของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และกระบวนการฟ้องโต้แย้งคำชี้ขาดทั้งสองประเภทก็แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น อำนาจในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลภายในจะมีอำนาจเพิกถอนเฉพาะคำชี้ขาดที่ทำโดยอนุญาโตตุลาการภายในเท่านั้น ไม่มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้โดยตรง แต่ศาลภายในมีอำนาจโดยอ้อมเหนือคดีการเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำในต่างประเทศ กล่าวคือ (1) ศาลภายในมีอำนาจพิจารณาคดีการโต้แย้งคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อด้อยคือ จะต้องมีการฟ้องบังคับตามคำชี้ขาดเสียก่อนซึ่งผู้เริ่มคดีคือฝ่ายตรงข้าม หากไม่มีการฟ้องบังคับตามคำชี้ขาดที่ศาลภายในประเทศ อำนาจศาลก็ไม่เกิด (2) ศาลภายในมีอำนาจรับฟ้องคดีโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลที่ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาด ซึ่งจะมีปัญหาในทำนองเดียวกับอำนาจการฟ้องในกรณีแรก
สำหรับแนวโน้มของศาลภายในในการวินิจฉัยคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ศาลยุติธรรมจะตัดสินในลักษณะที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการฟ้องคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้น แต่ศาลปกครองมีแนวโน้มจะควบคุมตรวจสอบคำชี้ขาดที่เคร่งครัดกว่า ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้เกิดข้อถกเถียงในทางวิชาการขึ้น และเป็นที่มาที่ผู้ที่เห็นว่าควรจำกัดบทบาทของศาลปกครองพากันเสนอว่า เพื่อความเป็นเอกเทศของระบบ ไม่ควรให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือบัญญัติกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการควบคุมคำชี้ขาดที่มีลักษณะทางปกครองของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้ชัดเจน
1.2 การฟ้องคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการในทางปกครอง
ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้น จึงมีปัญหาว่าหากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการควรจะให้ศาลใดมีอำนาจพิจารณา ซึ่งมีความเห็นเป็นสองแนวทาง
แนวทางแรก พิจารณาจากเนื้อคดีเดิมว่าเป็นคดีทางแพ่งหรือทางปกครอง หากเป็นคดีแพ่ง การอนุญาโตตุลาการก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม หากเป็นคดีปกครอง การอนุญาโตตุลาการจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
แนวทางที่สอง ไม่ว่าเนื้อคดีเดิมจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง ควรให้การอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมทั้งหมด เพราะพิจารณาเรื่องเขตอำนาจได้ง่ายและศาลยุติธรรมก็มีประสบการณ์ในคดีพิพาทลักษณะนี้มากกว่า
ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา สภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสเคยวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ แต่มิใช่คดีโต้แย้งเกี่ยวกับคำชี้ขาดโดยตรง แต่เป็นการพิจารณาการโต้แย้งคำวินิจฉัยที่ตัดสินเกี่ยวกับคำชี้ขาด (เช่น การโต้แย้งคำบังคับตามคำชี้ขาด หรือการโต้แย้งคำปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาด)
1.2.1 วิธีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการทางปกครอง
สภาแห่งรัฐในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐ เคยให้ความเห็นไว้ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถถูกอุทธรณ์ต่อศาลได้เสมอ เว้นแต่มีกฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้ง 1 อย่างไรก็ดี ในทางคดี ศาลยุติธรรมและศาลปกครองตีความในเรื่องสิทธิการอุทธรณ์คำชี้ขาดไว้แตกต่างกัน โดยศาลยุติธรรมยอมรับให้คู่กรณีมีสิทธิแสดงเจตนาปฏิเสธไม่ให้มีการอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ เพราะในทางแพ่ง หลักการพิจารณาคดีโดยศาลสองชั้น ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ในขณะที่ สภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครอง กลับเห็นในทางตรงกันข้ามว่า การปฏิเสธไม่ให้อุทธรณ์ขัดกับหลักการพิจารณาคดีสองชั้นซึ่งเป็นหลักที่ต้องการพิทักษ์และเป็นหลักประกันให้แก่คู่ความจึงเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น คู่กรณีไม่อาจทำข้อตกลงล่วงหน้าเพื่อปฏิเสธการใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่คู่กรณีอาจปฏิเสธไม่อุทธรณ์ภายหลังจากเกิดข้อพิพาทได้
เมื่อศาลปกครองให้อุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีทางปกครองได้ ดังนั้น การอุทธรณ์ต้องอยู่ในเงื่อนไขทั่วไปของการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลด้วย กล่าวคือ ระยะเวลาการอุทธรณ์คำชี้ขาดต้องทำภายใน 2 เดือน และคำอุทธรณ์ต้องให้เหตุผล นอกจากนี้ การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำชี้ขาด (ถือว่าคำชี้ขาดเป็นคำวินิจฉัยเทียบเท่ากับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น) ทำให้ขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 1486 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ว่าการฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดมีผลเป็นการยุติการปฏิบัติตามคำชี้ขาดไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษาและคดีถึงที่สุด ซึ่งเป็นหลักที่ใช้อยู่ในคดีพิพาทเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางแพ่ง ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำชี้ขาดให้สอดคล้องกันทั้งในทางแพ่งและทางปกครอง
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่สืบเนื่องจากสภาแห่งรัฐรับอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครองก็คือ สภาแห่งรัฐจะหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาของคำชี้ขาดมาพิจารณาด้วย เว้นแต่คู่กรณีจะแสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น
นอกจากนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังอยู่ภายใต้หลักทั่วไปของการฟ้องคดีที่ว่า การฎีกาคำวินิจฉัยของศาลสามารถทำได้เสมอ แม้จะมีกฎหมายกำหนดว่าคำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุดไม่อาจโต้แย้งใด ๆ ต่อคำวินิจฉัยนั้นได้ก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักศาลสองชั้น ดังนั้น เมื่อถือเสมือนหนึ่งว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครองเป็นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ดังนั้น จึงอาจฎีกาคำชี้ขาดได้เสมอ อย่างไรก็ดี มีผู้เสนอความเห็นว่า ควรให้คำชี้ขาดถูกฟ้องเพิกถอนได้เสมอ แล้วจึงค่อยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอีกทีหนึ่ง
1.2.2 เขตอำนาจศาลเหนือคดีเกี่ยวกับการโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครอง
ประเทศต่าง ๆ ในเขตภาคพื้นทวีปยุโรป กำหนดเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีการโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแตกต่างกันออกไป ในกรีซและอิตาลีนั้น การโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและการขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นการชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองหรือข้อพิพาททางแพ่ง ส่วนในเยอรมันและโปรตุเกตุ การโต้แย้งคำชี้ขาดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดต้องดูว่าเนื้อหาของข้อพิพาทเป็นข้อพิพาททางปกครองหรือเป็นข้อพิพาททางแพ่ง
ในฝรั่งเศสนั้น การแบ่งเขตอำนาจศาลมีรากฐานอยู่ที่การแบ่งอำนาจทางปกครองและอำนาจทางศาล (autorité administrative et autorité judiciaire) ซึ่งอำนาจของศาลปกครองถือเป็นอำนาจทางปกครองอย่างหนึ่ง ดังนั้น ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย (juge de la légalité) การโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ส่วนจะโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลชั้นใดนั้น โดยที่การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถือเป็นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ดังนั้น การโต้แย้งคำชี้ขาดจึงต้องโต้แย้งต่อศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ แต่เนื่องจากมีรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 31 ธันวาคม 1987 กำหนดว่า ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติขณะนี้ สภาแห่งรัฐจึงทำหน้าที่เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ให้กับการโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครอง ซึ่งสอดคล้องลักษณะของกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ต้องการความรวดเร็วด้วย
2. การปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครอง
โดยทั่วไป เมื่อมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผลที่เกิดตามมาตามปกติหากคู่กรณียอมรับคำชี้ขาดโดยดีและยอมปฏิบัติตามก็ไม่มีปัญหาใด แต่หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับคำชี้ขาด การบังคับให้คู่กรณียอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดจะต้องทำกันในศาลของรัฐ
แน่นอนว่าการยอมรับและปฏิบัติตามคำชี้ขาดย่อมเป็นสิ่งที่ปรารถนาและสอดคล้องกับการก่อตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการขึ้นมา ซึ่งการปฏิบัติตามคำชี้ขาดจะอยู่ภายใต้หลักสุจริต (bonne foi) ทั้งนี้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขเรื่องความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณี และคำชี้ขาดนั้นได้ถูกกระทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
2.1 เงื่อนไขการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
โดยหลักทั่วไป ระบบกฎหมายฝรั่งเศสถือว่า คำชี้ขาดเป็นนิติกรรมทางตุลาการประเภทหนึ่ง ดังนั้นเมื่อได้มีการทำคำชี้ขาดแล้ว คำชี้ขาดย่อมมีผลผูกพันต่อคู่กรณีทันที (autorité de la chose jugée) แต่สภาพบังคับ (force exécutoire) หรือการบังคับตามคำชี้ขาดโดยการใช้มาตรการบังคับ หากคู่กรณีไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ต้องอาศัยอำนาจศาลของรัฐในการออกคำบังคับตามคำชี้ขาด (exequatur) ก่อน คำชี้ขาดนั้นจึงจะมีสภาพบังคับ (force exécutoire) ดังนั้น คำชี้ขาดจึงมีลักษณะต่างจากคำสั่งทางปกครองที่มีสภาพบังคับโดยทันที
หลักดังกล่าวนี้มีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งอนุสัญญากรุงวอชิงตัน ลงวันที่ 8 มีนาคม 1965 ได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา 54 ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีค่าเท่ากับคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของศาลภายในของประเทศสมาชิก ดังนั้น คำชี้ขาดในกรณีนี้จึงมีทั้งผลผูกพันและสภาพบังคับในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามคำชี้ขาดให้ก่อน ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีการตรวจสอบว่า คำชี้ขาดมีจริงหรือไม่ หรือกระบวนการทำคำชี้ขาดขัดต่อข้อกำหนดของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ดี ยังคงถือว่าการควบคุมให้มีการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต้องอาศัยอำนาจศาล โดยการควบคุมโดยศาลดังกล่าวมิได้ไปทำให้ความเป็นอิสระ (autonomie) ของอนุญาโตตุลาการเสียไป เพราะการควบคุมคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยศาลมีลักษณะเป็นเพียงการควบคุมทางรูปแบบและจำกัดขอบเขตของการควบคุมเพียงให้คำชี้ขาดนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา การออกคำบังคับตามคำชี้ขาดของศาลไม่ถือเป็นการเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของคำชี้ขาดให้เป็นนิติกรรมทางตุลาการ เพราะคำชี้ขาดมีสภาพเป็นนิติกรรมทางตุลาการตั้งแต่ต้นนับแต่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดแล้ว
สำหรับปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลเหนือคดีข้อพิพาทที่ได้มีการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้น แต่เดิมเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ปัจจุบันเป็นที่ยุติในระดับหนึ่ง เมื่อศาลปกครองได้รับพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธไม่ออกคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทำให้ยากที่จะปฏิเสธว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจออกคำบังคับตามคำชี้ขาด ดังนั้น ในเรื่องเขตอำนาจศาลจึงควรพิจารณาจากประเภทของคำชี้ขาดว่าเรื่องที่ชี้ขาดนั้นอยู่ในขอบเขตของกฎหมายปกครองหรือกฎหมายแพ่ง และเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลที่จะให้การปฏิบัติตามคำชี้ขาด การโต้แย้งการปฏิบัติตามคำชี้ขาด และเนื้อหาของข้อพิพาทเรื่องเดียวกันอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายและเขตอำนาจศาลเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ ได้มีการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำชี้ขาดหากเนื้อหาของข้อพิพาทเป็นเรื่องทางปกครอง และศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการออกคำบังคับในกรณีนี้ คือ ศาลปกครองชั้นต้น
2.2 วิธีการบังคับ
เมื่อศาลได้ออกคำบังคับตามคำชี้ขาด (exequatur) แล้ว ปัญหาต่อมา คือ เรื่องการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำบังคับ เพราะในการบังคับคดีต่อนิติบุคคลมหาชนนั้น ยังต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายปกครองด้วย โดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด คือ หลักความคุ้มกัน (immunité dexécution) ฝ่ายปกครอง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากในทางวิชาการ และเป็นปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับการบังคับคดีปกครองด้วย ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากว่า ภายใต้หลักนิติรัฐ ฝ่ายปกครองย่อมต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล แต่ในทางปฏิบัติ หนี้ตามคำพิพากษามักเป็นเพียง หนี้ในทางจิตใจ (obligation morale) เท่านั้น มิใช่หนี้ที่แท้จริง เมื่อปรากฏว่าวิธีการบังคับให้ฝ่ายปกครองทำตามมีอยู่น้อย
นอกจากนี้ ก่อนปี ค.ศ. 1995 ยังมีการห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งบังคับฝ่ายปกครองให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ (injonction) ด้วย ซึ่งมาจากหลักการแบ่งแยกศาลปกครองออกจากฝ่ายปกครองในฐานะผู้ปฏิบัติ การปฏิเสธอำนาจของศาลในการออกคำสั่งต่อฝ่ายปกครอง มีผลทำให้มีการปฏิเสธอำนาจศาลในการบังคับให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลด้วย เพราะหาก injonction เป็นคำสั่ง การบังคับคดีให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลก็ต้องเป็นมากกว่านั้น คือ เป็นการลงโทษ อย่างไรก็ดี หลักห้ามมิให้ศาลออกคำสั่ง injonction มีเหตุผลสนับสนุนน้อยเมื่อศาลยุติธรรมมิได้ถือหลักนี้ด้วย หลักนี้จึงค่อย ๆ หมดบทบาทลงในศาลปกครองด้วย ขณะเดียวกัน เหตุผลในทางตรงข้ามสนับสนุนให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งต่อฝ่ายปกครองเพราะเป็นหลักการทางนโยบายในการชั่งน้ำหนักระหว่างศาลกับฝ่ายปกครองมากกว่าเป็นหลักการทางกฎหมายล้วน ๆ
สำหรับหลักห้ามศาลบังคับคดีต่อฝ่ายปกครองมาจากหลักพื้นฐานที่เป็นสากลหลักหนึ่ง คือ หลักความคุ้มกันของฝ่ายปกครองนั่นเอง หลักความคุ้มกันของฝ่ายปกครองทำให้ไม่อาจนำหลักทางแพ่งมาใช้ในทางปกครองได้ ซึ่งหลักนี้มีลักษณะทั่วไป โดยในระบบกฎหมายภายในมักจะอธิบายหลักนี้ด้วยการอ้างความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ ความต่อเนื่องของบริการสาธารณะจะเสียไปหากยินยอมให้มีการบังคับฝ่ายปกครอง ส่วนในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น หลักความคุ้มกันจะถูกอธิบายด้วยหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ (souveraineté de lEtat) เพราะเป็นการยากที่จะบังคับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยไม่กระทบถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น
ดังนั้น จึงชัดเจนว่า หลักความคุ้มกันมีเหตุผลสนับสนุนที่แน่นหนา ทำให้ไม่อาจบังคับคดีต่อรัฐและนิติบุคคลมหาชนได้ แต่ก็ยังคงมีปัญหาสำหรับองค์การมหาชนที่มีลักษณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (établissement public industriel et commercial หรือ EPIC) เพราะองค์การเหล่านี้อยู่ภายใต้หลักกฎหมายเอกชน ดังนั้น จึงมีผู้เห็นว่า ทรัพย์สินขององค์การมหาชนที่มีลักษณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมควรจะอยู่ในข่ายการบังคับคดีได้ แต่ในความเป็นจริง ศาลยังใช้หลักองค์กรมาพิจารณา คือ ห้ามบังคับคดีกับนิติบุคคลมหาชนทุกประเภทรวมทั้ง EPIC ด้วย
อย่างไรก็ดี ได้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลบางส่วนที่แสดงให้เห็นแนวโน้มที่จะบังคับคดีกับทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในบัญชีสาธารณะ (comptable public) ขององค์การมหาชนที่มีลักษณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น กรณีของการรถไฟ (SNCF) ศาลตัดสินว่า ทุนหรือทรัพย์สิน (fonds) ของ SNCF ที่มีอยู่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการทางพานิชยกรรม ไม่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลมหาชนจึงอยู่ภายใต้การบังคับคดีตามหลักกฎหมายแพ่ง ซึ่งคดีนี้มีประโยชน์ต่อแนวทางปฏิบัติในเรื่องการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาก เพราะ SNCF เป็นองค์กรหนึ่งที่มักจะนำข้อพิพาทของตนให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด อย่างไรก็ดี ข้อยุติในเรื่องนี้ยังมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะในคดีข้างต้น ศาลชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในทางตรงข้ามกับศาลฎีกาว่า ทรัพย์สินของนิติบุคคลมหาชนไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี 2 และศาลยุติธรรมได้มีคำวินิจฉัยยืนยันคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ในคดี BRGM 3 ส่วนศาลปกครองหรือสภาแห่งรัฐยังไม่เคยวินิจฉัยคดีการบังคับคดีต่อฝ่ายปกครอง แต่สภาแห่งรัฐในฐานะที่ปรึกษาของรัฐบาลยืนยันไว้ในความเห็นของตนว่า ไม่อาจใช้มาตรการบังคับต่อฝ่ายปกครองได้ 4
ดังนั้น ในทางปฏิบัติมาตรการที่ใช้บังคับต่อนิติบุคคลในทางกฎหมายเอกชนให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุณาโตตุลาการไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะกฎหมายแพ่งสามารถแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว แต่สำหรับการบังคับตามคำชี้ขาดต่อนิติบุคคลในทางมหาชนยังเป็นปัญหาอยู่ ว่าจะใช้หลักเดียวกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองได้หรือไม่ เพียงใด
มาตรการหนึ่งที่ใช้ในการบังคับฝ่ายปกครองให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองคือ การปรับ (astriente) ฝ่ายปกครองที่ไม่ทำตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งวิธีการนี้จะใช้เฉพาะในศาลปกครอง ไม่นำไปใช้ในศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงมีปัญหาว่าจะนำไปใช้ในอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ ซึ่งนักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจการสั่งให้จ่ายค่าปรับดังกล่าว เป็นอำนาจที่มาจาก รัฐบัญญัติ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 1980 และรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 1963 ซึ่งใช้สำหรับศาลปกครองเท่านั้น ดังนั้น ไม่ใช้บังคับแก่กรณีอนุญาโตตุลาการ แต่มีเสียงส่วนน้อยเห็นว่า น่าจะนำมาใช้กรณีการบังคับตามคำชี้ขาดได้โดยอนุโลม เพราะการปฏิเสธของนิติบุคคลมหาชนที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งสามารถถูกฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครองได้ และทำให้สามารถนำรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 1980 มาใช้บังคับได้ แต่การนำมาใช้อาจมีข้อจำกัด เพราะความซับซ้อนและความล่าช้าของกระบวนวิธีพิจารณาอาจเป็นปัจจัยที่ผู้มีส่วนได้เสียไม่อยากดำเนินการฟ้องศาล และข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ข้อเด่นของการอนุญาโตตุลาการที่เน้นความรวดเร็วเสียไป
อย่างไรก็ดี รัฐบัญญัติฉบับนี้น่าจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพที่จะนำมาปรับใช้ในการบังคับให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามคำชี้ขาด โดยเฉพาะ ในมาตราแรกของกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า เมื่อคำวินิจฉัยทางตุลาการมีผลผูกพัน ให้ฝ่ายปกครองจ่ายเงินในจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน ภายในเวลา 4 เดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งศาล ซึ่งคำวินิจฉัยที่มีผลผูกพัน (autorité de la chose jugée) น่าจะรวมถึงคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย
3. บทสรุป
ปัญหาประการแรก สำหรับผลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล ในภาคพื้นทวีปยุโรปบางประเทศ เช่น กรีซ อิตาลี คดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมทั้งสิ้น ส่วนในฝรั่งเศส เนื่องจากศาลปกครองเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีเขตอำนาจเหนือคดีโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำชี้ขาดที่เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางปกครอง และถือว่าอนุญาโตตุลาการทำหน้าที่เสมือนศาลชั้นต้น ดังนั้นการโต้แย้งคำชี้ขาดต้องโต้แย้งต่อศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ แต่ตามกฎหมาย ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์มีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น การโต้แย้งคำชี้ขาดจึงต้องโต้แย้งต่อสภาแห่งรัฐ นอกจากนี้ สภาแห่งรัฐหาได้จำกัดอำนาจของตนเฉพาะการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ แต่รับพิจารณาการอุทธรณ์เนื้อหาของคำชี้ขาดด้วย
ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงมีปัญหาว่าศาลปกครองกับศาลแพ่งใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบคำชี้ขาดไม่เท่าเทียมกัน แต่ในภาพรวมนั้น หากเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ การตรวจสอบของศาลจะจำกัด กล่าวคือ การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ศาลภายในไม่มีอำนาจเพิกถอนโดยตรง แต่มีอำนาจโดยอ้อม เมื่อมีการโต้แย้งคำบังคับตามคำชี้ขาดหรือเมื่อศาลปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาด และศาลจะตรวจสอบเฉพาะกระบวนการในการทำคำชี้ขาดและตรวจสอบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ดี ศาลปกครองยังมีแนวโน้มจะเข้าไปควบคุมคำชี้ขาดเคร่งครัดกว่าศาลยุติธรรม
ส่วนที่มีปัญหาค่อนข้างมาก คือ การตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำภายในประเทศ
ในอนุญาโตตุลาการทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม เนื้อหาของคำชี้ขาดสามารถถูกฟ้องอุทธรณ์ได้ เว้นแต่ คู่กรณีจะแสดงเจตนาปฏิเสธโดยชัดแจ้งที่จะไม่อุทธรณ์ โดยศาลจะตรวจสอบทั้งข้อกฎหมายและเนื้อหาของคดี ส่วนการฟ้องเพิกถอนสามารถทำได้เสมอ และเหตุที่ศาลยุติธรรมใช้เพื่อเพิกถอน เช่น สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีอยู่ หรือเป็นโมฆะ หรือการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่ชอบ หรือพิจารณาโดยองค์ประชุมที่ไม่ชอบ หรืออนุญาโตตุลาการสั่งไม่สอดคล้องกับหน้าที่ หรือโดยไม่เคารพต่อหลักวิธีพิจารณาคดีทั่วไป เป็นต้น
ส่วนอนุญาโตตุลาการทางปกครอง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนั้น คำชี้ขาดสามารถถูกอุทธรณ์ในเนื้อหาได้เสมอ เว้นแต่มีกฎหมายห้ามโดยชัดแจ้ง ส่วนคู่กรณีไม่อาจทำข้อตกลงล่วงหน้าปฏิเสธการใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ เพราะศาลปกครองเห็นว่า หลักการพิจารณาคดีโดยศาลสองชั้นเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ส่วนการฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดนั้น ศาลปกครองใช้หลักเดียวกับศาลยุติธรรม แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ คือ การฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีผลเป็นการทุเลาการบังคับไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษา ส่วนการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไม่เป็นการทุเลาการบังคับ
ปัญหาเกี่ยวสภาพบังคับของคำชี้ขาด โดยหลัก คำชี้ขาดมีผลผูกพันทันที แต่จะมีสภาพบังคับเมื่อศาลออกคำบังคับตามคำชี้ขาด (ซึ่งแตกต่างจากคำสั่งทางปกครองที่มีสภาพบังคับโดยทันที) ทั้งนี้ ยกเว้นข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนที่อยู่ภายใต้อนุสัญญากรุงวอชิงตัน 1965 ที่กำหนดให้คำชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีผลผูกพันและสภาพบังคับโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล
ปัญหาสุดท้าย คือ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้บังคับฝ่ายปกครองให้ทำตามคำชี้ขาด ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดในการบังคับให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดในคดีทางแพ่ง แต่ฝ่ายปกครองได้รับความคุ้มครองตามหลักความคุ้มกันของฝ่ายปกครอง และจะใช้หลักการเดียวกับการบังคับตามคำพิพากษาได้มากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติของฝรั่งเศส ซึ่งหากถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยทางตุลาการประเภทหนึ่ง(ซึ่งศาลปกครองฝรั่งเศสถือดังนี้ตลอดมา) การนำวิธีการบังคับตามคำพิพากษาในคดีทางปกครองมาใช้ในการบังคับให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือ คำชี้ขาดแม้มีผลผูกพันคู่กรณีแต่ไม่มีสภาพบังคับต้องอาศัยอำนาจศาลในการออกคำบังคับตามคำชี้ขาดเสียก่อน ดังนั้น การบังคับคดีให้ปฏิบัติตามคำบังคับตามคำชี้ขาดก็เป็นการบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างหนึ่ง จึงน่าจะใช้หลักการบังคับคดีทั่วไปมาใช้ได้
เชิงอรรถ
1.C.E. Avis du 6 mars 1986, Section travaux publics, No 339710, Revue de larbitrage 1992, pp. 397-399
2.Cour dappel de Paris, 11 juillet 1984, SNCF/Groupement regional des ASSEDIC de la régin parisienne, AJDA, 1984, p. 615
3.1er chamber civile du 12 décembre 1987
4.Avis du 6 février 1979 relatif aux offices publics dHLM et aux offices publics daménagement et de construction. EDCE 1979-1980 p.216
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1059
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|