|
|
Old paradigm - กระบวนทัศน์เก่า ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ค.ศ.2006) โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ 5 มีนาคม 2550 00:44 น.
|
Old paradigm - กระบวนทัศน์เก่า ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ค.ศ.2006)
(จาก นิทานเรื่อง สภาออกแบบบ้านแห่งชาติของประเทศสารขันธ์
ปาฐกถาพิเศษ วันปรีดี พนมยงค์ วันที่๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ - ก่อนการปฏิวัติ ๔ เดือน)
-------------------------------------------------------------
[หมายเหตุ :- บทความนี้ เป็นบทความที่ผู้เขียนเขียนต่อเนื่องกับ คำอภิปรายของผู้เขียนในการอภิปรายที่จัดโดยสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ ( ก่อนการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปฯ ๗ วัน) ในหัวข้อเรื่อง New Paradigm กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒
ในการอภิปราย ณ วันดังกล่าว ผู้เขียนตั้งใจให้เป็นการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้มีเวลาไปอ่านเองและพิจารณาเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงได้แจกเอกสารทางวิชาการที่เป็นตัวบทรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ จำนวนถึง ๖ ชุด แต่สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะพูดถึงนิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน (ศตวรรษ ที่ ๒๐) ซึ่งเป็น วิธีคิดของนักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้ท่านผู้อ่านจะได้นำวิธีคิดดังกล่าวไปศึกษา และเปรียบเทียบกับความคิดของวงการวิชาการไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะนี้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า วิธีคิดและเหตุผลของนักวิชาการไทยที่ปรากฎในขณะนี้มีความแตกต่างและมิได้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง และ(อาจ)ทำให้การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐นี้ ต้องล้มเหลวเหมือนกับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ที่ผ่านมาเมื่อสิบปีก่อน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
ฉะนั้น ผู้เขียนขอแนะนำว่า ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลาพอและประสงค์จะศึกษาโดยละเอียด ก็โปรดอ่านคำอภิปรายของผู้เขียนในการอภิปรายในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ ประกอบด้วย ซึ่งจะปรากฎอยู่ใน www.pub-law.net หรือ ในหนังสือ กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๙ ๒๕๕๐). ที่สถาบันพระปกเกล้าเพิ่งจัดพิมพ์ขึ้น ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้]
----------------------------------------------------------------
เพื่อความสะดวกและความเข้าใจของท่านผู้อ่านก่อนที่จะเริ่มอ่านบทความนี้ ผู้เขียนขอเรียนว่า บทความนี้ ผู้เขียนได้กำหนดสารบัญไว้ ดังต่อไปนี้ โดยจะเขียนต่อเนื่องกันไปและคาดว่า จะเขียนจบลงพร้อม ๆ กับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญของเรายกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ
ความเบื้องต้น (ทำไม ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้)
(๑) นิทานเรื่อง สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์
(๒) สภาพ วิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย
(๒.๑) ความเห็นทั่วไป
(๒.๒) นักกฎหมายกับสังคมวิทยา และ นักสังคมวิทยากับกฎหมาย
(๒.๓) นิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน (ศตวรรษ ที่ ๒๐ - ๒๑)
(๒.๔) ในอนาคต วงการวิชาการทางกฎหมายของเราจะไปได้ไกลเพียงใด
(๓) Old Paradigm กับ New Paradigm ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่)
ตอนที่หนึ่ง การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙)
(๓.๑) Old Paradigm ในนิทานเรื่องสภาออกแบบบ้านฯของประเทศสารขันธ์
(๓.๒) Old Paradigm กับ ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ )
บทเรียนบทแรกของคนไทย Old Paradigm
(ก) สภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๙
(ข) บทวิเคราะห์ของผู้เขียน
๑) ลักษณะเฉพาะ ของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙)
๒) ความผิดพลาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ( ผลงานของ ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙)
๓) สาเหตุของความผิดพลาดในรัฐธรรมนุญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดจากความผิดพลาดในรูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ( ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙)
ตอนที่สอง การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๙)
(๓.๓) New paradigm ข้อเสนอใหม่บนพื้นฐานของนิติปรัชญา ศตวรรษ ที่ ๒๐
(ก) คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ - New Paradigm
(ข) คำอธิบายของผู้เขียน
๑) ลักษณะเฉพาะ ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการพิเศษฯ New
Paradigm)
๒) โครงสร้างขององค์กรฯ บนพื้นฐานทางสังคมวิทยาของไทย
(๓.๔) Old Paradigm ข้อเสนอของพรรคการเมืองไทย ๒ พรรค (พ.ศ. ๒๕๔๙)
(๓.๕) Old Paradigm กับ ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๔๙ (รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ของคณะปฏิรูปฯ )
- บทเรียนบทที่สองของคนไทย Old Paradigm
(ก) สภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ตามรัฐธรรมนูญของคณะปฏิรูปฯ พ.ศ. ๒๕๔๙
(ข) บทวิเคราะห์ของผู้เขียน
๑) ลักษณะเฉพาะ ของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. พ.ศ.๒๕๔๙)
๒) โครงสร้างขององค์กรฯ (เหมือน ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙)
( ๔) คณะปฏิรูปฯ จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทย ได้สำเร็จหรือไม่
บทสุดท้าย ความพิการของสังคมไทย
ภาคผนวก การวิเคราะห์การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา(หวยบนดินหวยใต้ดิน): แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา
-----------------------------------------------------------------------
ความเบื้องต้น (ทำไม ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้)
ก่อนอื่น ผุ้เขียนขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า บทความนี้เป็นบทวิเคราะห์สภาพการเมืองของไทยในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งอาจถูกหรือผิด และท่าน ผู้อ่านอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ย่อมเป็นความอิสระของท่านผู้อ่าน และหากบทความนี้บังเอิญ ทำให้ท่านผู้ใดไม่สบายใจหรือไม่พอใจ ขอได้โปรดให้อภัยด้วย เพราะมิใช่เป็นความตั้งใจของผู้เขียน
ทำไม ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ (?) คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ผู้เขียนเขียนบทความนี้ เพราะ ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านได้ระลึกว่า เราได้เคยปฏิรูปการเมืองมาแล้วครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิรูปการเมืองครั้งนั้น ก็คือรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเราไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการบริหารประเทศภายไต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐโดยนักการเมือง ซึ่งเป็นนักธุรกิจนายทุนที่ เลือกตั้งเข้ามาโดยใช้เงินและอิทธิพล (ในขณะที่สังคมไทยมีสภาพอ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) และบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนต้องมีการปฏิวัติในเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่เพิ่งผ่านมา คือสิบปีหลังจากการมีรัฐธรรมนุญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ; และในขณะนี้ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เรากำลังเริ่มการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ โดยคณะปฏิวัติ (ซึ่งเรียกชื่อตนเอง ว่า คณะปฏิรูปฯ) ที่ให้สัญญากับคนไทยว่า จะปฏิรูปการเมือง ( คือ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ภายในกำหนดหนึ่งปี ; นี่คือ เหตุผลข้อที่หนึ่งที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้
เหตุผลข้อต่อ ๆ มา(ในการเขียนบทความนี้) ก็คือ ผู้เขียนมีเหตุผลหลาย ๆ ประการ ที่ทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า คณะปฏิรูปฯ จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทยได้สำเร็จ ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงว่า การปฏิรูปการเมืองของคณะปฏิรูป จะทำได้สำเร็จภายในกำหนดหนึ่งปีตามที่คณะปฏิรูปฯสัญญาไว้ หรือแม้จะนานกว่านั้น ; และผู้เขียนก็ยังไม่กล้าเดาว่า ถ้าเราปฏิรูปการเมืองไม่สำเร็จ อะไรจะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเมื่อไร (จะเกิดในปีหน้า พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือจะเกิดขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า)
เหตุที่ทำให้ผู้เขียนไม่คิดว่าคณะปฏิรูปฯจะปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ ประการแรก ก็คือ วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (หรือกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว(พ.ศ. ๒๕๔๙) ของคณะปฏิรูปฯ เป็นวิธีการที่ เหมือน ๆ กับ วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และผู้เขียนมีความเห็นว่า วิธีการเดิม ไม่น่าจะให้ผลงาน output ที่ผิดไปจากเดิม ; และนอกจากนั้น ในบางประการ วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดโดยคณะปฏิรูปฯ น่าจะเกิดผลเสียในอนาคต มากกว่าวิธีการเดิมใน พ.ศ. ๒๕๓๙ นั่นก็คือ การที่คณะปฏิรูปฯได้กำหนดให้มีการลงประชามติ - referendum โดยไม่ผ่านสถาบันประมุขของประเทศ (หลักการนี้ เหมือนกับข้อเสนอของพรรคไทยรักไทย สภาปฏิรูปการเมืองในเดือนกันยายนพ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งความเหมือนนี้ อาจเป็นเพราะเหตุบังเอิญที่มีแนวความคิด concept ตรงกัน หรืออาจลอกเลียนกันมา)
ประการที่สอง ก็คือ โดยที่ ผู้เขียนมีความเห็นว่า วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ (หรือ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีผลโดยตรงต่อแนวทางในการกำหนดรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเราประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็น การปฏิรูปการเมือง; และ คำว่าการปฏิรูปการเมืองในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่า คงมิได้หมายความเพียงว่า ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อะไรก็ได้ (และมีการเลือกตั้ง )เท่านั้น แต่คงมีความหมายด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่วางระบบสถาบันการเมืองและระบบการบริหารพื้นฐานประเทศฯ ที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และไม่นำคนไทยกลับเข้าสู่วงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle) อีก
สิ่งที่ผู้เขียนเป็นกังวล ก็คือ เพราะเหตุใด วงการวิชาการ( ทั่ว ๆ ไป)ของเรา จึงเห็นว่า วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ แบบเดิม ๆ จะทำให้คนไทยได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นการปฏิรูปการเมือง ทั้งที่วิธีการแบบนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นความล้มเหลวมาแล้วในการปฏิรูปการเมืองครั้งก่อน และเพราะเหตุใด วงการวิชาการของเราจึงไม่คิดและไม่ตระหนักว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญนั้นต้องการความเชี่ยวชาญ มิใช่เป็นเรื่องของสามัญสำนึก ฯลฯ ; ความกังวลนี้ทำให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับไปศึกษาถึง นิติปรัชญา หรือวิธีคิดที่วงการวิชาการไทยยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการตรวจสอบและตั้งประเด็นเกี่ยวกับ มาตรฐานของตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้สอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของเรา เพราะผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีเหล่านี้ ย่อมเป็นนักวิชาการพื้นฐาน ที่เป็น elite ของสังคมไทย
ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาที่เกิดจากวิธีคิดแบบเดิม ๆในวงการวิชาการไทย (และนำวิธีการแบบเดิม ๆมาใช้เพื่อแก้ปัญหา โดยมิได้ติดตามวิเคราะห์ถึงผลที่เคยเกิดขึ้นแล้ว) เป็นปัญหาสำคัญในทางวิชาการของประเทศ และด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้เขียนและตั้งชื่อบทความบทนี้ ว่า Old Paradigm ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ; และปัญหานี้เป็นประเด็น ที่ผู้เขียนได้นำไปปาฐกถาและอภิปรายในโอกาสต่าง ๆที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดอยู่ในขณะนี้ ;
ในการพูดของผู้เขียนก่อนมีการปฏิวัติประมาณ ๕- ๖ เดือน (ซึ่งขณะนั้น มี เหตุการณ์ทางการเมืองที่ พอจะทำให้คาดหมายได้ว่า อาจจะต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง) ผู้เขียนก็ได้นำประเด็นเรื่อง ความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ Old Paradigm v/s New Paradigm ก่อนที่จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - การปฏิรูปการเมืองไปพูดในที่ต่าง ๆสองสามครั้ง โดยหวังไว้ว่า ท่านผู้ฟังจะได้นำประเด็นนี้ไป คิดไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้าถ้าหากจะมีการปฏิรูปการเมืองกันจริง ๆ
เราก็ได้ทราบและพูดกันอยู่แล้วว่า ตามตำราการบริหารในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะปฏิรูปอะไรก็ตาม เราต้องปฏิรูปวิธีคิดของเราเสียก่อน ; ดังนั้น ถ้าเราคิดจะปฏิรูปการเมือง เราก็ต้องหันมาทบทวนตรวจสอบวิธีคิดของเราเสียก่อน คือ พิจารณาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ - paradigmของเราในการมองหาสาเหตุของปัญหาทาง การเมือง เพื่อ เราจะได้มองเห็น ปัญหาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง ( reality) แล้วจึงค่อยกำหนด วิธีการแก้ปัญหา; การเขียนบทความนี้ เป็นโอกาสที่ ผู้เขียนจะได้นำ สาระที่ผู้เขียนได้เคยพูดไว้ก่อนการปฏิวัติ มากล่าวซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่งเพื่อความสมบูรณ์และความต่อเนื่องในการพิจารณาปัญหาการปฏิรูปการเมืองในบทความนี้
ประการที่สาม ข้อกังวลประการที่สามนี้เป็นข้อกังวลที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เพราะเมื่อผู้เขียนเริ่มเขียนบทความนี้ (เกี่ยวกับการวิเคราะห์ ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะการกำหนด กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน กระบวนทัศน์ paradigm ทางความคิด ผู้เขียนก็เริ่มมีความรู้สึกว่า ผู้เขียนพิจารณาปัญหาการปฏิรูปการเมืองของประเทศ ยังไม่ครบถ้วนและยังไม่จบ เพราะการวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ - paradigmในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการพิจารณาปัญหาเพียงด้านเดียว คือพิจารณาประเมินจากด้านวิชาการว่า การปฏิรูปการเมืองของเรา(อาจ)จะล้มเหลวเนื่องจากขีดความสามารถของวงการวิชาการที่เรามีอยู่ในปัจจุบันไม่สูงพอ และยังต่างระดับกับประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก (ตามความเห็นของผู้เขียน) ;
แต่เมื่อมีการปฏิวัติ(โดยคณะปฏิรูปฯ)เกิดขึ้น ปัญหาว่า ประเทศไทยจะปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจปัญหาทางวิชาการให้กับสังคมไทยเพียงอย่างเดียว แต่คงต้องพิจารณาวิเคราะห์ไปถึงบทบาทของคณะปฏิรูปฯด้วย ว่า คณะปฏิรูปฯ (คมช.และรัฐบาล) จะดำเนินการเพียงใด และเมื่อใดที่คณะปฏิรูป(คมช.และรัฐบาล) จะบอกกับตนเองและบอกกับคนไทยว่า คณะปฏิรูปได้ปฏิรูปการเมืองให้คนไทยแล้ว หรือจะบอกเพียงว่า " คณะปฏิรูปได้จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คนไทยแล้ว ทั้งนี้เพราะประโยคสองประโยคนี้มีความหมายต่างกันอย่างมาก ; และการวิเคราะห์นี้ จะเป็นการประเมินในด้านการเมือง
นักนิติปรัชญา(ชาวต่างประเทศ)ในสำนักสังคมวิทยา sociological school ในศตวรรษที่ ๒๐ สอนเราไว้ว่า นักกฎหมายจะต้องสนใจศึกษาและวิจัยพฤติกรรมของคนด้วย จึงจะสามารถนำ กฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือ(ของสังคม)ในการพัฒนาสังคมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ; ดังนั้น ถ้าจะให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ของการปฏิรูปการเมืองของไทย ครั้งที่ ๒ นี้ ผู้เขียนคงต้องทำการวิเคราะห์การทำงานของคณะปฏิรูป (คมช.และรัฐบาล)จากด้านสังคมวิทยาด้วย ( ! ) : เพราะการปฏิรูปการเมืองของเรา(อาจ)ล้มเหลวได้เนื่องจากคุณลักษณะ - qualificationsของตัวบุคคลในคณะปฏิรูปฯ(ที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้) ว่า จะมีความเข้าใจในปัญหาและความหมายของคำว่าการปฏิรูปการเมืองมากน้อย เพียงใด ; เหมือน ๆ กับ ที่การปฏิรูปการเมืองที่เคยล้มเหลวมาเนื่องจากขีดความสามารถของวงการวิชาการของเราใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และกำลังจะล้มเหลวในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้างหน้านี้ (ตามความเห็นของผู้เขียน)
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้เขียนเพิ่มหัวข้อที่ (๔) ว่าด้วย คณะปฏิรูปฯ จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทย ได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะลองพิจารณาวิเคราะห์ทางการเมืองและนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง (ซึ่งท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้) และก็คงอีกไม่นานนัก ท่านผู้อ่านก็จะมีโอกาสนำความเห็นที่ได้มาจากการศึกษาวิเคราะห์ของผู้เขียน ไปเปรียบเทียบกับความเป็นจริง (reality)ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อนึ่ง จากการติดตามข่าวคราวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจ ที่พบว่า เมื่อมีบุคคลใน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)หรือบุคคลในรัฐบาลออกความเห็นในประเด็นบางประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มักจะปรากฏว่า มีนักวิชาการและนักประชาธิปไตยจำนวนมากมีปฏิกริยาโต้ตอบและออกมาตำหนิว่าบุคคลดังกล่าวไม่ควรหรือไม่มีสิทธิที่จะชี้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคณะปฏิรูปเป็นผู้ที่ใช้อำนาจรัฐที่ได้มาจากการปฏิวัติ ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการและนักประชาธิปไตยดังกล่าว ; เพราะ ผู้เขียนเห็นว่า บุคคลเหล่านี้ควรและมี หน้าที่(ไม่ใช่มีแต่ สิทธิเท่านั้น)ที่จะต้อง ชี้นำว่า รัฐธรรมนูญที่ดี ควรจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ขาดหายไปที่บุคคลดังกล่าวจะต้องทำ ก็คือ การชี้นำนั้นจะต้องประกอบด้วยการให้เหตุผล ว่า ข้อเสนอที่ตนชี้นำนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร และ เพราะเหตุใด ;
ผู้เขียนเห็นว่า บุคคลดังกล่าวเมื่อได้ทำการปฏิวัติมาแล้ว จะต้องทำตัวและแสดงตัวให้ปรากฏต่อสังคมว่า ตนเองมิได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และทำการปฏิวัติมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ; และ ตามความจริง ผู้เขียนเห็นว่า การชี้นำ(ด้วยเหตุด้วยผล)ของคณะปฏิวัติ น่าจะต้องมีน้ำหนักและได้รับความเชื่อถือมากกว่า ความเห็นของอดีตนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและเข้ามาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการบิดเบือนอำนาจรัฐ abuse of power (จนทำให้ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญต้องล้มเหลว) ด้วยซ้ำไป
แต่สิ่งที่ผู้เขียนประหลาดใจมากยิ่งกว่า การออกมาตำหนิของนักวิชาการและนักประชาธิปไตย ก็คือ การยอมรับของบุคคลใน คมช. และบุคคลในรัฐบาลเองว่า ตนจะไม่ชี้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ; เพราะเท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาและเคยพบมา มีแต่ว่า ใครก็ตามที่ปฏิวัติและอาสาเข้ามาทำการปฏิรูปการเมืองแล้ว ผู้นั้นย่อมต้องมีแนวความคิดและต้องรับผิดชอบในการทำให้การปฏิรูปการเมืองนั้นจนเป็นผลสำเร็จ และต้องพยายามอธิบายและทำความเข้าใจกับสังคมให้ได้ว่า สิ่งที่ตนทำไปนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร ; แต่สำหรับการปฏิวัติของเรา กลับปรากฏว่า เมื่อคณะปฏิรูปของเราปฏิวัติมาแล้ว คณะปฏิรูปก็จัดให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกที่คัดเลือกกันเองจากสมัชชานานาอาชีพ ที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อ ความเป็นประชาธิปไตย และคณะปฏิรูปของเราสัญญาว่า ถ้าได้รัฐธรรมนูญอะไรมา ก็เอาอย่างนั้นเพื่อความเป็นประชาธิปไตย (?)
ผู้เขียนเห็นว่า ชนชั้นนำ elite เป็นส่วนสำคัญของสังคม ที่จะนำทางให้สังคมมีการพัฒนา ; ถ้าชนชั้นนำ elite ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ / นักประชาธิปไตย / นักปฎิวัติหรือรัฐประหาร ไม่สนใจต่อการอธิบายและการให้เหตุผลที่สมบูรณ์และถูกต้องต่อสังคมแล้ว ผู้เขียนก็คิดว่า สังคมไทยคงไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น สังคมที่มีเหตุผล (rational society)ได้ เพราะสังคมไทย(คนส่วนใหญ่)คงต้องทำมาหากินและไม่มีเวลาว่างพอที่จะคิดเองและมองเห็นปัญหาการเมืองตามสภาพความเป็นจริงได้ ; ดังนั้น ถ้าชนชั้นนำไม่ทำหน้าที่นี้ให้แก่สังคมแล้ว สังคมไทยก็คงเป็นสังคมที่อ่อนแอ และเป็นที่ที่นักการเมืองจะเข้ามาใช้อำนาจรัฐ (ด้วยการเลือกตั้งที่ใช้เงินและอิทธิพล) เพื่อการแสวงหาประโยชน์โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย (แบบไทย ๆ)ได้ต่อไปและตลอดไป ; ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่สังคมไทย(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นนำ elite) จะต้องศึกษาและต้องทำความเข้าใจ ก็คือ คำว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ที่เราพูด ๆ กันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีความหมายอย่างไร และเราเคยล้มเหลวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพราะเราเข้าใจความหมายคำว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตยเหมือน ๆ กับที่เรากำลังเข้าใจอยู่ในขณะนี้ ใช่หรือไม่ และดังนั้น ในท้ายที่สุด บทความนี้(ตามความตั้งใจของผู้เขียนที่จะเขียนต่อไปเรื่อย ๆ ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในสารบัญ ) ก็จะขอจบลงด้วย บทสุดท้าย ที่ว่าด้วย - ความพิการของสังคมไทย]
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะเริ่มอ่านบทความนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการประเมินด้านวิชาการ (ในหัวข้อที่ ๑ ถึง ๓) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขีดความสามารถของวงการวิชาการไทยในการกำหนดรูปแบบขององค์กรและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(เพื่อการปฏิรูปการเมือง) ; ผู้เขียนจะขอนำ สาระที่ผู้เขียนได้ไปพูดและอภิปรายไว้ก่อนการปฏิวัติ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบพอเป็นสังเขปไว้ด้วย เพื่อความต่อเนื่องในการทำความเข้าใจกับการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองที่เขียนในบทความนี้ ดังต่อไปนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเรียนไว้ตั้งแต่ต้นนี้ว่า ในบทความนี้ จะไม่มีความเห็นของผู้เขียนในเรื่องที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยควรเป็นอย่างไร หรือ ควรแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ; บทความนี้เป็นบทความที่วิเคราะห์ขีดความสามารถของวงการวิชาการไทยบนตัวอย่างของการออกแบบองค์กรและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ; และแน่นอนว่า ถ้าหากพบว่า วงการวิชาการของเราไม่มีขีดความสามารถพอที่จะออกแบบองค์กรและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองสำเร็จได้ ผู้เขียนก็ไม่คิดว่า วงการวิชาการของเราจะมีขีดความสามารถพอที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้คนไทยได้ เพราะการออกแบบระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยากกว่าและต้องการการมองปัญหาที่ลึกกว่า การออกแบบองค์กรและกระบวนการเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาก
เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ (ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะมีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปฯเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน เพียง ๗ วัน) ผู้เขียนได้ไปร่วมอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จัดโดยสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในวันนั้น ผู้เขียนได้อภิปรายโดยใช้หัวข้อเรื่องว่า new paradigm กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ และหลังจากนั้นมา ได้มีท่านที่สนใจหลายท่านบอกกับผู้เขียนว่า ผู้เขียนยังพูดไม่ชัดเจนว่า อะไร คือ กระบวนทัศน์ใหม่ - new paradigm และอะไร คือ กระบวนทัศน์เก่า - old paradigm ถ้ามีโอกาส ขอให้ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย
อันที่จริง ผู้เขียนได้เคยพูดถึงเรื่อง old paradigm ในการปฏิรูปการเมืองมาแล้วครั้งหนึ่งก่อนที่จะมาอภิปรายเรื่อง new paradigm ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น แต่ผู้เขียนไม่มีเวลานำ สาระที่ผู้เขียนไปพูดไว้ครั้งนั้นมาเขียนเป็นบทความ และสื่อมวลชนก็ไม่ได้นำความที่ผู้เขียนไปพูดในวันนั้นมาถ่ายทอดให้ท่านผู้ที่อ่านสื่อมวลชนทราบโดยเต็มสาระ ดังนั้น จึงมีผู้ที่ได้รับทราบประเด็นเรื่อง old paradigm นี้ไม่มากนัก; ฉะนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนจึงขอกลับมาเขียนเรื่อง กระบวนทัศน์การปฏิรูปการเมือง ที่เป็น old paradigmอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เราได้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปฯ ที่ได้กำหนดให้มีสมัชชาและจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่(ในปัจจุบัน)ขึ้นแล้ว เพราะเราจะได้มาลองพิจารณาดูว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะปฏิรูปในขณะนี้ เป็นกระบวนการที่เป็น old paradigm หรือ เป็น new paradigm
ผู้เขียนได้พูดถึง กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น old paradigmครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ (ซึ่งเป็นเวลาก่อนการปฏิวัติวันที่ ๑๙ กันยายน ประมาณ ๔ เดือน) โดยพูดในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาพิเศษในวันปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ; และหัวข้อที่ผู้เขียนใช้ในการปาฐกถาในวันนั้น คือ เราจะเรียกชื่อ ระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าเป็น ระบอบอะไร
การพูดในวันนั้น ผู้เขียนได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น(ก่อนถูกยกเลิกโดยการปฏิวัติของคณะปฏิรูปฯในวันที่๑๙ กันยายน)ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจลงมติให้ ส.ส.(ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง)ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.ได้ถ้าหาก ส.ส.นั้นไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคการเมือง ซึ่งบทบัญญัติเช่นนี้ ขัดกับหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส.ส.จะต้องมีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และใช้ความคิดเห็นได้ตามมโนธรรมของตน โดยต้องไม่อยู่ภายไต้อาณัติและการมอบหมายใด ๆ ; และในวันนั้น ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เพราะเหตุใด วงการวิชาการของไทยทั้งประเทศจึงมองไม่เห็น ความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐
เมื่อ ผู้เขียนได้กล่าวถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว ผู้เขียนก็ได้พูดถึงความผิดพลาดในการเขียน(design) รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ที่ทำให้เกิด ระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) และเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอรัปชั่น (ทั้งที่เป็นการคอร์รัปชั่นที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย)โดยนักการเมือง ตลอดจนการแสวงหาประโยชน์ฉ้อโกงทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นของส่วนตัวของนักการเมืองและพรรคพวกอย่างมากมาย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศแล้ว และ ผู้เขียนได้ให้ความเห็นในประการสุดท้ายไว้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี การปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมในการบริหารประเทศ
ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในการปาฐกถาครั้งนั้น (๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ก่อนมีการปฏิวัติ ๔ เดือน) ว่า ในการปฏิรูปการเมือง ผู้ที่คิดจะปฏิรูปการเมืองจะต้องคิดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรก ได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน( รธน.พ.ศ. ๒๕๔๐ ในขณะนั้น) เพื่อจัดตั้ง องค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่สอง ได้แก่ การคิดยกร่าง(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราว่า จะให้มี สาระอย่างไร
ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา)ได้ย้ำให้ท่านผู้ฟัง คิดถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกว่า การแก้ใขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้เพราะเราต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีสาระอย่างไร จะดีหรือไม่ดี ย่อมขึ้นอยู่กับองค์กรที่ยกร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและอยู่ใกล้ตัว ก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน(รธน. ๒๕๔๐)นี้เอง เพราะทั้ง ๆที่นักการเมืองและนักวิชาการของเรา พยายามให้เรา(คนไทย)เรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราก็มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.(องค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เราคิดว่า เป็นสภาที่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยเรามีการเลือกสรรตัวแทนจากทุกจังหวัดรวม ๗๖จังหวัดมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และเรามีการสรรหานักวิชาการอย่างเข้มงวดมาร่วมร่างอีก ๒๓ คน รวมเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถึง ๙๙ ท่าน ; แต่แล้วท่าน(ผู้ฟัง)เคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ในขณะที่นักวิชาการและผู้ที่มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญมีความภูมิใจว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมหรือเพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ที่ ส.ส.ร. (องค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ) ยกร่างขึ้นมา จึงสร้าง ระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้นายทุนธุรกิจเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นทรัพยากรของชาติอย่างมโหฬาร(อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่) ให้แก่คนไทย
ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา) ได้ถามผู้ที่มาฟังว่า ท่านผู้ฟังเคยคิดสงสัยและถามตัวเองหรือไม่ว่า สมาชิก ส.ส.ร (องค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ) มีเจตนาที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญให้เกิด ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองเช่นนี้จริง ๆ หรือว่าเป็นเหตุบังเอิญเพราะได้ยกร่างขึ้นด้วยความไม่รู้ ; และถ้าผู้เขียนจะพูดว่า การสร้างระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมือง เป็นเจตนาของนายทุนธุรกิจ(ท้องถิ่น)ที่ในขณะนั้นครอบงำการเมืองและพรรคการเมืองของประเทศไทยอยู่ และ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ของ ส.ส.ร. ; ท่านผู้ฟังจะเชื่อผู้เขียนหรือไม่
ในการปาฐกถาครั้งนั้น ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา)ได้ทบทวนเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ว่า ตามความจริง ระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมืองของเราเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว มิใช่เพิ่งมาเริ่มต้น เมื่อรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย คือ
หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ทำให้ทหารหมดบทบาททางการเมืองแล้วประมาณ ๖ เดือน นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ได้เรียกร้องให้มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.โดยอ้างว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และคณะรัฐบาลในขณะนั้น( เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕) ก็ดำเนินการเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ตามการเรียกร้อง ฯ ทั้งนี้ โดยคนไทยไม่ได้สังเกต และไม่มีนักวิชาการคนใดออกมาเตือนเราว่า ในขณะนั้น รัฐธรรมนูญ(พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้มีบทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองและมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่พรรคการเมืองในการมีมติให้ ส.ส.ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ได้อยู่แล้ว (บทบัญญัติทั้งสองกรณี เป็นบทบัญญัติที่นักวิชาการของเราเขียนใว้ให้สำหรับรัฐบาลที่จะมีนายกรัฐมนตรีมาจากทหาร และเป็นบทบัญญัติที่ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติ ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว) ; ดังนั้น การเพื่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕) กำหนดบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น จึงเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักธุรกิจนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองโดยแท้ และเป็นบทบัญญัติที่นำไปสู่และก่อให้เกิดการรวมทุนของนักธุรกิจนายทุนเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าครอบครองอำนาจรัฐโดยอาศัยการเลือกตั้ง(ที่ต้องใช้เงินและอิทธิพล)ตามสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอและขาดประสบการณ์ (ที่หลายท่านเรียกว่า เป็นสังคมอุปถัมภ์)
แต่ ในระยะแรก(หลัง พ.ศ. ๒๕๓๕) ระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมือง เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ท้องถิ่น)สองสามพรรคกระทำการร่วมกัน คือ ร่วมกันเป็นรัฐบาลและร่วมกันควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร(ในระบบรัฐสภา) ; และตามความเป็นจริง reality การร่วมกันกระทำการดังกล่าว ได้ทำให้ระบบการถ่วงดุลระหว่างสถาบันทางการเมือง(รัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร)ในระบบรัฐสภา ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ; และ การถ่วงดุลระหว่างสถาบันการเมือง ฯ(ในระบบรัฐสภา) จึงจะมีอยู่ก็แต่เพียงเป็นตัวอักษรในตัวบทรัฐธรรมนูญและในตำรา ที่อาจารย์ของเราใช้สอนนักศึกษาให้ท่องจำในการบรรยายสอนของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เท่านั้น
และถ้าเรานึกย้อนลงไป ก็จะพบว่าการทุจริตคอรัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ที่ผิดปรกติก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าท่าน(ผู้ฟัง)นึกย้อนให้ดีท่านก็คงจะนึกออกว่า ได้แก่กรณีอะไรบ้าง (แต่ผู้เขียนขออนุญาตไม่ยกมากล่าว) เพียงแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นในระยะนั้น ยังไม่รุนแรงเท่ากับในระยะหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ทั้งนี้เนื่องจากว่า ในขณะนั้น ยังมีการคานกันและการแก่งแย่งกันในระหว่างพรรคการเมืองของนักธุรกิจนายทุน(ท้องถิ่น)ด้วยกันเองสองสามพรรค
ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่หนึ่ง นักการเมืองซึ่งได้แก่ นักธุรกิจนายทุน(ท้องถิ่น)เจ้าของพรรคการเมือง ได้มีโอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ตนสามารถควบคุม ส.ส.ลูกพรรค(ที่ รับเงินช่วยเหลือจากตนในการสมัครรับเลือกตั้งและได้รับ เงินช่วยกิจกรรมสังคมเมื่อได้เป็น ส.ส.แล้ว)ให้กระชับมากยิ่งขึ้น ; บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เห็นได้ชัดว่ามาจากความต้องการของนายทุนท้องถิ่น ก็คือ การเพิ่มบทบัญญัติรัฐธรรมนูญห้ามมิให้ ส.ส.ย้ายพรรคก่อนมีการเลือกตั้งภายใน ๙๐ วัน; ซึ่งท่าน(ผู้ฟัง) คงพอจะจำได้ว่า ในการแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญครั้งนั้น(พ.ศ. ๒๕๓๙) นักธุรกิจนายทุนระดับชาติยังไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วย เพราะในขณะนั้นนักธุรกิจนายทุนระดับชาติยังไม่ได้เข้า สู่การเมือง [ วิวัฒนาการของตัวบทรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นการก่อตัวของ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(ในระบบรัฐสภา)ของไทย โปรดดูได้จาก เอกสารวิชาการ หมายเลข ๑ ดังกล่าวข้างต้น ]
แต่สิ่งที่นักธุรกิจนายทุน(ท้องถิ่น)คิดไม่ถึง ก็คือ สิ่งที่ตนเองได้แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้สำหรับตนเองในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่ชักจูงให้นักธุรกิจนายทุนระดับชาติ(ที่กำลังรอคอยอยู่ด้วยความกระวนกระวาย)เข้าสู่การเมือง เพราะนายทุนระดับชาติมองเห็นโอกาสของการใช้เงินในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ)เพื่อเข้าครอบครองอำนาจรัฐและแสวงหาประโยชน์สร้างความร่ำรายให้แก่ตนเองได้(เช่นเดียวกับนายทุนท้องถิ่น) ; ซึ่งนายทุนระดับชาติก็คิดไม่ผิด เพราะพรรคการเมืองที่นักธุรกิจนายทุนระดับชาติร่วมทุนกันจัดตั้งขึ้นนั้นสามารถประสพความสำเร็จในการเลือกตั้งได้โดยใช้เวลาไม่นาน โดยสามารถซื้อผู้สมัครที่มีชื่อเสียง(ของพรรคการเมืองนายทุนท้องถิ่น)ให้มาเข้าสังกัดพรรคของตนได้มากมาย และสามารถซึ้อพรรคการเมือง(ขนาดเล็กและขนาดกลาง)ที่ขาดเงินที่จะต่อสู้กับพรรคการเมือง(ของตน)ที่มีทุนมหาศาล ไปได้ทั้งพรรคและบางพรรคถึงต้องยุบพรรค
ในที่สุด เมื่อพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจระดับชาติสามารถมี ส.ส.จำนวนมาก(๓๗๗ คนใน๕๐๐คน) พรรคการเมืองดังกล่าวก็ได้เป็นทั้งรัฐบาลและเป็นทั้งเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และตามความเป็นจริง reality พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจระดับชาติดังกล่าวก็ได้กลายเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ โดยไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางหรือยับยั้งการใช้อำนาจ(โดยมิชอบ)ได้ และพร้อม ๆ กันนั้น ก็อ้าง ความเป็นประชาธิไตย
และนี่ คือ ต้นเหตุ ของกระบวนทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร ซึ่ง มีทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นของสาธารณะ(public)ไปเป็นของเอกชนเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก มีทั้งการเก็บค่านายหน้าจากการประมูลงานก่อสร้างสาธารณะ มีทั้งการทำสัญญาสัมปทานผูกขาดให้แก่ตนเองและพรรคพวก ทั้งโดยสัมปทานจากภาครัฐและสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ และในท้ายที่สุด ก็คือการขายทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติให้แก่ต่างชาติ และ นี่คือ การแบ่งเงินปันผล dividend ของบรรดานักธุรกิจการเมืองที่นำเงินมาร่วมลงทุนใน การเลือกตั้งเพื่อซึ้ออำนาจรัฐ
ผู้เขียน(ผู้ปกฐาถา)บอกกับท่าน(ผู้ฟัง)ว่า ผู้เขียนไม่ทราบว่า ท่าน(ผู้ฟัง)เคยกลับมาคิดหรือไม่ ว่า เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ได้เกิดมาจากการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เราเองจัดตั้งขึ้นมา ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั่นเอง ; และมิใช่เป็นความผิดของนักการเมือง เพราะพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติของคน ที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง
ข้อความข้างต้นนี้ คือ สาระที่ผู้เขียนได้พูดในวันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ (ก่อนมีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูป ๔ เดือน) เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง Old Paradigm ในการกำหนดรูปแบบขององค์กรและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ หลังจากนั้น ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ (ก่อนการปฏิวัติ ๗ วัน) ผู้เขียนก็ได้มาพูดเรื่อง New Paradigm ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดทำเอกสารวิชาการแจกให้ท่านผู้ที่มาฟังนำกลับไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ; และในขณะนี้( เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ) เรา(คนไทย)กำลังเริ่มต้น การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ผู้เขียนก็เลยคิดว่า ผู้เขียนน่าจะเขียนบทความ ว่าด้วย Old Paradigm และ New Paradigm ไว้ด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ บทความนี้
ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่หนึ่ง(พ.ศ. ๒๕๓๙) ส.ส.ร. ได้สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง และในวันนี้ ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๐) บรรดานายทุน(ท้องถิ่น)กำลังเรียกร้องให้มีการยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้าม ส.ส.ย้ายพรรคก่อนการเลือกตั้ง ๙๐ วัน( ที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่มเขียนขึ้นเอง ในปี พ.ศ.๒๕๓๙) เพราะในขณะนั้น ตนคิดไม่ถึงว่า บทบัญญัตินี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่นักธุรกิจนายทุนระดับชาติใช้มาทำลายตนเอง(พรรคของนายทุนท้องถิ่น) และสิ่งที่คนไทยควรติดตามดูต่อไป ก็คือ นักการเมืองนายทุน(ท้องถิ่น)เหล่านี้จะมีความเห็นอย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ นี้ โดยการกล่าวอ้างว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ; ซึ่งขณะนี้( เดือนมกราคม ๒๕๕๐) ความเห็นของนักการเมืองเหล่านี้ก็ได้เริ่มปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บ้างแล้ว เช่น หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคยืนยันว่ารัฐธรรมนูญต้องบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น จึงจะเป็นประชาธิปไตย ; และหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคเรียกร้องว่า รัฐมนตรีและส.ส.จะต้องดำรงตำแหน่งพร้อมกันได้ โดยกล่าวให้เหตุผลว่า เพื่อรัฐมนตรีจะได้รับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ ฯลฯ
ผู้เขียนคิดว่า ในการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญและในการทำงานของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๔๙)หลังจากนี้ไป คงจะมีสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาวิเคราะห์อีกมาก ทั้งจากอดีตนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และจากนักวิชาการของเราเอง ; แต่ผู้เขียนขอเรียนต่อท่านผู้อ่านว่า ถ้าท่านติดตามปัญหาการปฏิรูปการเมืองและปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญ โดย วิธีคิด method of thinkingใหม่ บนพื้นฐานของนิติปรัชญาในศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ที่จะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อที่ ๒ แล้ว ท่านผู้อ่านจะรู้สึกสนุกกว่าและเข้าใจปัญหาการเมืองได้ลึกกว่าเก่า เพราะนิติปรัชญาสมัยใหม่(สำนักสังคมวิทยา sociological school)จะ สอนให้ท่านผู้อ่านมองเข้าไปในสภาพทางสังคมวิทยาของคนและของชุมชน คือ มิใช่พิจารณาหรือรับรู้เพียงภายนอกว่า บุคคลนั้น ๆ มีความคิดหรือเสนอความเห็นอย่างไรในการแก้ใขรัฐธรรมนูญ และ ด้วยเหตุผลอย่างไร ; แต่นิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน จะสอนให้ท่านต้องมองเข้าในพื้นฐานทางพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยว่า เพราะเหตุใด บุคคลนั้น ๆ จึงคิดเช่นนั้นและมีความเห็นเช่นนั้น และท่านก็จะมองเห็นถึง เจตนา(ในใจ)ของผู้ที่เสนอความเห็นและสามารถประเมินทราบได้ว่า ความเห็นพร้อมทั้งเหตุผลของผู้เสนอความเห็นนั้นมีความสมบูรณ์และถูกต้องเพียงใด และสมควรเชื่อหรือรับฟังเพียงใด
ในวันปาฐกถาดังกล่าว(วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ก่อนการปฏิวัติ ๔ เดือน) ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา)ไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ท่านที่มาว่าฟังปาฐกถาว่า เพราะเหตุใด ผลงานของ ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙(ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) จึงออกมาเช่นนั้น แต่ในการปาฐกถาครั้งนั้น ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา)ตั้งใจที่จะให้ท่านผู้ฟังได้มองเห็น จุดอ่อนในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการโดย องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. พ.ศ.๒๕๓๙ ด้วยตัวของท่านผู้ฟังเอง (โดยผู้เขียนไม่ต้องอธิบายและไม่ต้องไปถกเถียงกับผู้ใด) ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ เล่านิทานให้ท่านผู้ที่มาฟังปาฐกถาฟัง เรื่องหนึ่ง และเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบว่า นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องโกหกเช่นเดียวกับเรื่องนิทานทั้งหลาย และขอให้ท่านที่มาฟังปาฐกถากลับไปบ้าน แล้วช่วยคิดต่อให้ด้วยว่า เมื่อได้ฟังนิทานแล้ว ถ้าสมมติว่าท่านผู้ฟังเป็นผู้มีอำนาจจะทำการปฏิรูปการเมือง (ครั้งต่อไป) ท่านผู้ฟังจะกำหนดรูปแบบขององค์กรและกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไร
แม้ว่านิทานดังกล่าวจะเป็นเรื่องโกหก และเล่าให้ฟังกันสนุก ๆ เหมือนนิทานทั้งหลาย แต่ก็คงพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ถ้าเราจะจบการเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยการลงท้ายเหมือน ๆ กับนิทานทั้งหลายว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..........
นิทานดังกล่าวมีเนื้อหาค่อนข้างยาว และหลังจากการปาฐกถาแล้ว ผู้เขียนไม่พบว่า นิทานที่ผู้เขียนเล่าในวันนั้นได้มีการถ่ายทอดลงในสื่อมวลชนใด ดังนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำนิทานดังกล่าวมาเขียนไว้ในบทความนี้ เพื่อเก็บไว้สำหรับใช้ประโยชน์ในการบรรยายหรือสอนนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้มีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูป เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แล้ว ท่านผู้อ่านก็จะมีโอกาสได้เปรียบเทียบรูปแบบขององค์กรฯในนิทาน กับรูปแบบขององค์กรและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของคณะปฏิรูป (พ.ศ. ๒๕๔๙)ที่ได้ตราขึ้น หลังจากที่ผู้เขียนได้เล่านิทานเรื่องนี้มาแล้ว ๔ เดือน
(๑)
(๑) นิทานเรื่อง สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์
ผู้เขียนขอเริ่มต้นนิทานของผู้เขียนดังนี้ ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีประเทศประเทศหนึ่ง สมมติเรียกชื่อว่า ประเทศสารขันธ์(ขออนุญาตยืมชื่อประเทศ ที่จำได้ว่าเป็นชื่อที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยตั้งไว้ในเรื่องสมมติเรื่องหนึ่ง ) ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่กล่าวว่า ตนเองมีความรักใน ความเป็นประชาธิปไตย เป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาวันหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ต้องการจะสร้างบ้านหลังหนึ่งเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ โดยใช้ชื่อว่า บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และ ดังนั้น จึงมีปัญหาว่าจะได้ผู้ใดมาออกแบบบ้านหลังนี้ ซึ่งจะต้องเป็นบ้านที่สวยงามและแสดงเอกลักษณ์วัฒนธรรมประจำชาติโดยครบถ้วน
สภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และในที่สุดก็ได้ตกลงกันว่าจะจัดตั้ง สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ขึ้นสภาหนึ่ง ด้วยการตราเป็นกฎหมาย(พระราชบัญญัติ); และหลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกันมาระยะหนึ่ง ในที่สุดก็ตกลงกันเป็นหลักการว่า ประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยในบ้านทุกกลุ่ม ย่อมต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านประจำชาติและต้องมีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกของ สภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
คราวนี้ ก็มาถึงประเด็นที่จะต้องแบ่งกลุ่มประชาชนว่า การเข้าเป็นสมาชิกสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติ จะมีการแบ่งกลุ่มประชาชนได้อย่างไร และแต่ละกลุ่มควรมีสิทธิเป็นสมาชิกสภาจำนวนเท่าใด ซึ่งในประเด็นนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและถกเถียงกันค่อนข้างรุนแรง (แม้ว่าในขณะนั้น การประชุมสภาของประเทศสารขันธ์ยังไม่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ก็ตาม) และหลังจากนั้น ก็ได้มีการประนีประนอมตกลงกันว่า จะแบ่งกลุ่มประชาชนที่มีส่วนร่วมเข้าเป็นสมาชิกของสภาดังกล่าวโดยแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน กลุ่มที่สองได้แก่ ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน และกลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้าน
ต่อจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ ก็มาตกลงกันว่า จะแยกประเภทย่อยในแต่ละกลุ่มได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และสื่อมวลชนของประเทศสารขันธ์ก็ได้ติดตามลงข่าวการอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎรในแต่ละวันอย่างใกล้ชิดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเสนอความคิดอย่างไร พูดอย่างไร และรักษาสิทธิประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ใดอย่างไร และกลุ่มมวลชนภายนอกสภา ต่างก็แสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย เป็น การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย
สมมติว่า ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรของประเทศ สารขันธ์สามารถลงมติเป็นข้อยุติ และตรากฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งสภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้สำเร็จ โดยพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญ ดังนี้
ในกลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน จะแยกเป็นประเภทย่อย 3 ประเภท คือ ผู้ทำอาหาร(แม่ครัว) / ผู้ทำความสะอาด (แม่บ้าน) / คนดูแลบริเวณบ้าน(คนสวน); โดยให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดทั้ง ๓ ประเภทเลือกตั้งกันเองให้เหลือคนที่ดีที่สุดและได้คะแนนเสียงมากที่สุด ประเภทละ 5 คน และกำหนดว่าถ้าได้คะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก รวมสมาชิกกลุ่มนี้สามประเภทได้ 15 คน
ในกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มบุคคลผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ปรากฎว่า ในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ในประเด็นนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเทศได้อภิปรายและถกเถียงกันอย่างรุนแรงถึงขั้นการใช้กำลัง ว่า จะแบ่งประเภทย่อยของ ผู้ที่มีสิทธิเป็นสมาชิกของสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติกลุ่มนี้อย่างไร ส.ส. จำนวนหนึ่งอภิปรายต่อสู้เพื่อสิทธิผู้อยู่อาศัยที่เป็น สัตรี ส.ส. บางคนอภิปรายต่อสู้เพื่อสิทธิ คนพิการ บางคนก็ต่อสู้เพื่อสิทธิของ เด็ก และบางคนก็ต่อสู้เพื่อสิทธิของ เยาวชน ฯลฯ จากเดิมที่เคยกำหนดจะให้มีสมาชิก(ของสภาออกแบบบ้านฯ)ประเภทนี้ ประมาณ ๑๕ คน แต่ในที่สุด ก็ต้องมีสมาชิกสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติจากกลุ่ม(ผู้อยู่อาศัย) นี้ถึง ๒๕ คน โดยแยกเป็นประเภทย่อย ดังนี้ คือ ชาย / หญิง(สัตรี) / คนพิการ / เยาวชน / และ เด็ก ประเภทละ ๕ คน เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลุกขึ้นอภิปรายแต่ละท่าน ต่างคนต่างก็ ต้องการแสวงหาความนิยมและต้องการรักษาสิทธิของบุคคลในกลุ่มที่จะสนับสนุนตนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และดังนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกัน
ในกลุ่มที่สาม คือ กลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญ การแบ่งประเภทของบุคคลในกลุ่มนี้ ดูจะง่ายกว่ากลุ่มอื่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ถกเถียงกันเพียงน้อย เพราะเห็นได้ชัดว่า ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสร้างบ้านมีเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ วิศวกรและสถาปนิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์จึงกำหนดให้ สมาชิกสภาออกแบบบ้านฯที่มาจากบุคคลที่เป็นวิศวกร จำนวน ๕ คน และมาจากบุคคลที่เป็นสถาปนิก จำนวน ๑๐ คน รวมเป็นจำนวนสมาชิกของสภาออกแบบบ้านในประเภทนี้อีก ๑๕ คน โดยกำหนดให้ทำการเลือกตั้งกันเองให้ได้คนที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับผู้สมัครประเภทอื่น
เป็นอันว่า สมาชิกของ สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จะมีจำนวนทั้งสิ้นรวมได้ ๕๕ คน
เมื่อได้กำหนดคุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกของ สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้ว สภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ก็กำหนดองค์ประชุมและวิธีการดำเนินการของสภาออกแบบบ้านฯดังกล่าวไว้ใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งสภาออกแบบบ้านแห่งชาติฯ ตามแบบอย่างที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป คือ ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาตริ ให้มีสมาชิกของสภามาประชุมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็น องค์ประชุม และในการออกเสียงลงคะแนนให้ถือตามเสียงข้างมากเป็นประมาณ และในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด ฯลฯ
หลังจาก ที่ได้มีการจัดตั้ง สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ขี้นแล้ว ก็ปรากฎว่า สมาชิกสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติฯทุกคนต่างก็กระตือรือร้นในการทำหน้าที่ของตนอย่างขยันขันแข็งและเอาใจใส่ มีการประชุมสภาฯเพื่อกำหนดกรอบเวลาการทำงานและกรอบวิธีทำงานของสภาฯ มีการตั้งคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ เช่น คณะกรรมาธิการเพื่อเขียนแบบบ้านพิมพ์เขียว คณะกรรมาธิการเพื่อรับฟังความคิดเห็น(เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม)ขึ้นในทุกจังหวัด (ซึ่งประเทศสารขันธ์ก็บังเอิญมี ๗๖ จังหวัดเหมือนกับประเทศไทย) คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของบ้าน อีก ๓-๔ คณะ
ในการทำงานของสภาออกแบบบ้านฯ สมาชิกสภาต่างก็เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ มีการเสนอประเด็นต่าง ๆให้สภาฯ พิจารณาจำนวนมาก มีการกำหนดประเด็นในการอภิปรายและกำหนดประเด็นในการลงมติกันอย่างรอบคอบและเอาใจใส่ สภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติ มีมติต่าง ๆจำนวนมาก เป็นต้นว่า บ้านหลังนี้จะมีกี่ห้อง มีห้องอะไรบ้าง แต่ละห้องมีขนาดเท่าใด หน้าต่างและประตูของบ้านจะใช้แบบอย่างไร มีขนาดเท่าใด ห้องไหนจะทาสีอะไร หลังคาจะใช้แบบใด ใช้กระเบื้องอะไรและสีอะไร ฯลฯ
ผู้เขียนได้เล่า นิทาน ให้ท่านผู้อ่านฟังมาเป็นเวลานาน จนผู้เขียนเองก็เพลิดเพลินไปกับนิทานที่ตนเองเล่าไปด้วย จนเกือบจะลืมบอกท่านผู้อ่านว่า ในตอนจบปาฐกถาในวันนั้น ผู้เขียน(ผู้ปาฐกถา)ได้ตั้ง ปัญหา ถามท่านที่มาฟังปาฐกถาว่า อย่างไร
เมื่อจบปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์ (วันที่ 11 พฤษภาคม) ผู้เขียนได้ถามท่านผู้ที่มาฟังปาฐกถาในวันนั้นว่า ท่าน(ผู้ฟัง)สามารถคาดคะเนได้หรือไม่ว่า บ้านที่ออกแบบโดย สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของ ประเทศสารขันธ์ ตามคุณสมบัติของสมาชิกสภา(ออกแบบบ้านฯ) และตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัคิที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศสารขันธ์ได้ตราขึ้นนั้น จะเป็น บ้านที่สวยงาม / มีเอกลักษณ์ / และมีความมั่นคง สมบูรณ์แบบ ตามความมุ่งหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศสารขันธ์ ได้หรือไม่เพียงใด (?)
ในวันดังกล่าว ผู้เขียนไม่ได้ให้ความเห็นของผู้เขียนต่อผู้ที่มาฟังปาฐกถาว่า ตามความเห็นของผู้เขียน บ้านหลังนั้นจะสวยงาม(หรือไม่สวยงาม)เพียงใด แต่ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่มาฟังปาฐกถาไปช่วยคิด ตอบเอาเอง ; และตั้งแต่วันนั้น(11 พฤษภาคม) จนถึงวันนี้( มกราคม ๒๕๕๐) เป็นเวลากว่า ๘ เดือนแล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่มีโอกาสที่จะติดตามไปสอบถามความเห็นของท่านผู้ที่ได้ฟังปาฐกถาของผู้เขียนในวันนั้นว่า ณ วันนี้ ท่านผู้ฟังท่านใดมีความเห็นอย่างใด
สิ่งที่แน่นอน ก็คือ สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศสารขันธ์ ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยบุคคลที่คัดสรรกันมาอย่างหลากหลายและมาใช้สิทธิคัดเลือกกันเอง และมีวิธีทำงานโดยการลงมติด้วยเสียงข้างมาก ได้เป็นไปตามหลักการของ ความเป็นประชาธิปไตย ที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักวิชาการของประเทศสารขันธ์ต่างก็มีความภูมิใจ แต่สำหรับ บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผลงานของสภาออกแบบบ้านฯแห่งชาติของประเทศสารขันธ์ นั้น จะมีความวิจิตรพิศดารและงดงาม แสดงวัฒนธรรมของชาติ(สารขันธ์)ได้เพียงใด คงยังไม่มีใครตอบได้ (!) (!) เพราะแม้แต่สมาชิกของสภาออกแบบบ้านฯเองก็คงตอบไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าเสียงข้างมากในการลงมติของสภาฯแต่ละ ประเด็นในส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้าน จะเป็นอย่างไร
(ยังมีต่อ)
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1058
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|