อย่าร่างรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อหนีคนคนเดียว โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง

18 กุมภาพันธ์ 2550 23:50 น.

       ท่านที่เห็นชื่อเรื่องบทความนี้แล้วเข้าใจว่าผมอยู่ข้างอดีตนายกฯทักษิณแล้วละก็ ขอเรียนว่าเข้าใจผิดครับ เพราะผมเป็นฝ่ายที่ทั้งไม่เอารัฐประหารและต้านทักษิณมาโดยตลอด ฉะนั้น การที่จะอ่านบทความชิ้นนี้ต่อไปโดยคาดหวังว่าจะเป็นบทความที่เขียนขึ้นเพื่อเชียร์คุณทักษิณก็ ขอเรียนได้เลยว่าผิดหวังครับ
       
       ในขณะที่กระแสของการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถือได้ว่าเป็น “กฎหมาย” สูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันนั้นแทนที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด รองรับสิทธิประชาชนหรือสิทธิชุมชนให้มากที่สุด หรือทำอย่างไรจึงจะมีหลักประกันในความเป็นอิสระของสื่อในการเสนอข้อมูลข่าวสารโดยไม่ถูกแทรกแซงเหมือนในสมัยคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดซึ่งหมายความรวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตที่เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวก็สามารถปิดเว็บที่มีคนคลิกเป็นล้านครั้งได้ภายในชั่วอึดใจเดียวดังเช่นการปิดเว็บของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในอดีตที่ผ่านมา ฯลฯ
       
       กอปรกับกระบวนการเอาผิดคุณทักษิณและพรรคพวกก็กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็น คตส. สตง. ปปช. ฯลฯ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะรอดยาก แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกลับไปถกเถียงกันว่า ทำอย่างไรจึงจะกันคุณทักษิณออกไปหรือทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นสมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ อีก ทั้ง ๆ ที่ปัญหาที่ว่านั้น ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประชาธิปไตยนั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขได้โดยตัวของมันเอง(self correction) เพียงแต่ต้องอดทนและใช้เวลา มิใช่การฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเสียดื้อๆเช่นนี้ ซึ่งก็ยังแก้ไม่ได้อยู่ดี มีแต่จะยุ่งหนักเข้าไปอีกเพราะมีทั้งระเบิด ทั้งการเผาโรงเรียนลุกลามไปทั่วทุกภาค
       
       อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย และกฎหมายนั้นย่อมแตกต่างจากคำสั่งไม่ว่าจะเป็นคำสั่งธรรมดาหรือคำสั่งทางปกครอง เพราะกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป(general application) แต่คำสั่งธรรมดาหรือคำสั่งทางปกครองนั้นเป็นเรื่องที่ใช้กับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้นมิได้ใช้บังคับทั่ว ๆ ไป และกฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอดไป (continuity) จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโดยกระบวนการที่ถูกต้องตามขั้นตอน
       
       กฎหมายแตกต่างจากคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเพราะคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีคดีเกิดขึ้น และมีผลผูกพันระหว่างคู่ความหรือคู่กรณีเกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนกฎหมายจะวางหลักเกณฑ์ไว้ทั่ว ๆ ไปสำหรับทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม โดยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ ดังภาษิตกฎหมายที่ว่า "ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อ แก้ตัว”(ignorantia juris neminem excusat – ignorance of law shall not excuse )
       
       ในเมื่อรัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย ดังนั้น รัฐธรรมนูญย่อมจะต้องเป็นไปตามหลักที่ว่าจะต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือว่ากำหนดให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องปฏิบัติตามเท่านั้น
       
       
กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคลหรือวางความรับผิดชอบให้แก่บุคคลบางหมู่บางเหล่าก็ได้ แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าจะต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป เช่น พรบ.ประกันสังคมฯ แม้จะมีวัตถุประสงค์ให้ประโยชน์เฉพาะผู้อยู่ในข่าย แต่ก็มีผลบังคับเป็นการทั่วไป มิได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะนาย ก หรือนาย ข เท่านั้น
       
       โดยหลักของการร่างกฎหมายนั้น ย่อมต้องบัญญัติหลักเกณฑ์ออกมาเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ส่วนที่ว่าบุคคลใดจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา บางคนแทบจะไม่เคยต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญาตั้งแต่เกิดจนตายเลยก็มี แต่กฎหมายก็ต้องบัญญัติไว้เป็นการทั่วไป เมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้องแก่บุคคลใดขึ้นมาเมื่อใด ก็สามารถนำมาใช้ได้ทันที โดยมิต้องคำนึงถึงว่าบุคคลนั้นเป็นใคร
       
       กฎหมายนั้นแม้จะตราออกมาเนิ่นนานแล้วก็ย่อมยังคงเป็นกฎหมายอยู่ แม้ในบางสมัยจะไม่ได้นำมาใช้เลยดังเช่นบทบัญญัติในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่ากฎหมายหากยังไม่มีการยกเลิกไปแล้วเมื่อหยิบยกขึ้นมาใช้คราใดย่อมยังคงมีผลบังคับใช้ได้อยู่เสมอ ดังภาษิตกฎหมายที่ว่า “กฎหมายนอนหลับบางคราว แต่ไม่เคยตาย” (dormiunt aliquando leges,numquam moriuntur - the laws sometimes sleep, never die)
       
       เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำลังพยายามร่างกันอยู่นี้ ก็ย่อมที่จะงดเว้นที่จะไม่กล่าวถึงส่วนที่เป็นหลักการของรัฐธรรมนูญและส่วนที่เป็นเหตุผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียไม่ได้
       
       หลักการของรัฐธรรมนูญ (principle) ซึ่งหมายถึง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นมีหลักการอย่างไร จะต้องระบุให้ชัดว่าตกลงเราจะปกครองในระบอบไหนกันแน่ มิใช่ร่างออกมาแล้วจะเป็น"เผด็จการทุนนิยม”ก็ไม่ใช่ จะเป็น “ประชาธิปไตยขุนนางชาตินิยม”ก็ไม่เชิง และการที่จะห้อยท้ายในแต่ละมาตราว่า"ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ”นั้น ก็เอากันให้ชัดไปเลยว่าหากยังไม่มีกฎหมายบัญญัติแล้วมาตรานั้นจะใช้ได้หรือไม่ หรือจะต้องรอให้มีกฎหมายบัญญัติเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้เหมือนที่เคยๆตีความกันไว้ ซึ่งก็ยากที่ฝ่ายที่ถือครองอำนาจอยู่จะบัญญัติกฎหมายออกมาให้กระทบต่ออำนาจหน้าที่ของตนเอง ดังตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาย่อมเป็นอุทาหรณ์ได้ดี
       
       ส่วนเหตุผลของรัฐธรรมนูญ (rationale) ที่อยู่เบื้องหลังมาตราแต่ละมาตรานั้น เราสามารถค้นหาเหตุผลได้จากรายงานการประชุมของการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกถ้อยคำเพราะเป็นการบันทึกการประชุมร่างกฎหมาย หากพบว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยคำนึงแต่เฉพาะเหตุผลเพียงเพื่อว่าจะกีดกันใครคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง(ซึ่งถึงแม้ว่าจะชั่วๆดีๆแต่ก็ถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายกว่า ผู้ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหลาย) โดยไม่คำนึงถึงหลักการของรัฐธรรมนูญว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่หัวใจของระบอบคือการให้สิทธิประชาชนเลือกผู้แทนของเขาเองนั้น ย่อมเป็นการ ไม่ถูกต้องเป็นแน่ เพราะอาจจะเป็นการยึดถือเอาแต่เพียงรูปแบบ โดยมองข้ามหลักการของประชาธิปไตยไปเสีย
       
       หากแม้นว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างๆกันอยู่นี้ขาดเสียซึ่งจิตวิญญาณของประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการร่างเพื่อหนีคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวแล้วไซร้ ผมคงเป็นคนหนึ่งล่ะที่จะไปออกเสียงประชามติไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       
       แล้วอย่าเหมารวมว่าผมเป็นพวกไม่รักชาติเพราะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนที่บางคนกำลังพยายามปลุกระดมอยู่ในขณะนี้เสียล่ะ
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1055
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)