ครั้งที่ 153

4 กุมภาพันธ์ 2550 23:13 น.

       ครั้งที่ 153
       สำหรับวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550
       
       “ว่าด้วยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”
       

       ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไปราชการที่ประเทศพม่าและประเทศจีนครับ! การเดินทางไปเปลี่ยนบรรยากาศช่วยผ่อนคลายความเครียดและทำให้หายเหนื่อยไปได้บ้างครับ แต่ก็มาเสียบรรยากาศเอาตอนก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ เพราะมีผู้โทรศัพท์ข้ามประเทศมาสร้างความ “หงุดหงิดรำคาญ” ให้กับผมเป็นอย่างมากด้วยการขอให้ผมเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครับ! เหตุผลที่ทำให้ผมหงุดหงิดก็เพราะด้วยคุณสมบัติส่วนตัวคือ การเป็นศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 (ที่ผ่านการประเมินด้วยการเสนอผลงานทางวิชาการในรูปแบบของหนังสือที่เขียนเองทั้งเล่มและงานวิจัยที่ทำเองทุกชิ้น) รวมทั้งการเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2548 (งานวิจัยทำเองทุกชิ้นโดยไม่ได้ให้ผู้คนอีกฝูงใหญ่มาช่วยทำ!!!) ประกอบกับสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ผมอยู่ในสถานะที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ครับ ก็ไม่ทราบคนชวนคิดอย่างไรถึงชวนผู้มีคุณสมบัติ “เหนือกว่า” ครับ คิดจะชวนใครก็ต้องดูให้รอบคอบก่อน ก็รู้กันอยู่ว่าขนาดเป็น 1 ใน 10 ผมยังไม่ยอม แล้วผมจะยอมไปเป็นอนุกรรมาธิการทำไมครับ!
       สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็เริ่มทำงานกันแล้วและปล่อยประเด็นร้อนออกมามากมายหลายประเด็น ซึ่งก็มีประเด็นสำคัญส่วนหนึ่งที่ “กระทบ” กับนักการเมืองครับ คงต้องเข้าใจกันไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้เกิดขึ้นจากความไม่พอใจในพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งก็ตามมาด้วยความไม่ไว้วางใจในนักการเมือง ดังนั้น จึงคาดเดาได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะมีมาตรการและกลไกที่สร้าง “ความไม่พอใจ” ให้กับนักการเมืองไม่มากก็น้อย และนอกจากนี้ กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารก็ “กัน” นักการเมืองออกไปจากวงจรจนหมด เริ่มตั้งแต่ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมือง ที่ยังมีผลใช้อยู่จนกระทั่งวันนี้ รวมไปถึงการที่นักการเมืองไม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคสี่ ห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในเวลาสองปีก่อนวันได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ในเมื่อนักการเมืองถูก “กัน” ออกจากวงจรการร่างรัฐธรรมนูญ และถูก “กด” เพราะพฤติกรรมในอดีตของนักการเมืองบางกลุ่มที่เคยทำเอาไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกว่าเมื่อวันที่นักการเมืองเหล่านั้นกลับมาอยู่ในวงจรอำนาจตามเดิม จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปครับ?
       การ “กัน” นักการเมืองออกจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรานั้นดูไม่ค่อยดีนัก ข้อกล่าวหาที่ว่านักการเมืองเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในรัฐธรรมนูญนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่ “ใช้ได้” และ “น่ารับฟัง” มากพอที่จะ “กัน” นักการเมืองออกจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าหากเรามาลองพิจารณาดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญสักหนึ่งฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เราจะพบว่าผู้ที่จะเข้าข่ายว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเพียงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั่นเองครับ
       เมื่อเรามาพิจารณาดู “ที่มา” ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คนก็จะพบว่ามีกรรมาธิการจำนวนหนึ่งที่มาจากศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนเหล่านี้เข้ามาเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ! เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับนักการเมืองเพราะในปัจจุบันองค์กรจำนวนหนึ่งสิ้นสุดลงไปแล้วพร้อมกับการสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ก็มีบางองค์กรถูก “ปลุก” ให้กลับมามีชีวิตอยู่เป็นการ “ชั่วคราว” ตามประกาศ คปค.ครับ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบุคคลซึ่งอยู่ในองค์กรเหล่านี้ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในรัฐธรรมนูญจะไม่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ขององค์กรของตนและเพื่อให้องค์กรของตนมีอยู่ต่อไป จะไม่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรของตนเอง และที่สำคัญที่สุดคือ จะไม่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในประเด็นหลังนี้ก็เป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะการที่ให้คนเก่าอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะทำให้กระบวนการได้มาซึ่ง “คนใหม่” ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สังคมคาดหวังว่าจะให้เป็นการปฏิรูปการเมืองต้องหยุดชะงักลงและต้องรอไปก่อนจนกว่าคนเหล่านี้จะพ้นไปจากตำแหน่ง ที่น่าจับตามากที่สุดก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 5 คน ที่แต่งตั้งโดยประกาศ คปค. ฉบับที่ 13 และไม่ได้ระบุวาระเอาไว้ รวมทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่แต่งตั้งโดยประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ครับ ก็ต้องจับตาดูกันว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” เหล่านี้จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อ “ปกป้อง” องค์กรของตนเองให้ดำรงอยู่ต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ครับ
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าเราพิจารณาดูมาตรา 30 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ก็จะพบว่ามีข้อควรพิจารณาสองข้อ ข้อแรกคือ บทบัญญัติดังกล่าวห้ามแต่เพียงเฉพาะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม เพราะจริง ๆ แล้วควรห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 27 และมาตรา 28 ส่วนในข้อที่สองก็คือ ทำไมบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสอง ดังกล่าวจึงได้บัญญัติห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งเฉพาะในฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาเป็นตำแหน่งที่ “ไม่น่ากลัว” และ “ไม่มีอำนาจ” หรือ “อิทธิพล” ด้วยตัวของตัวเองเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับการเข้าไปเป็นกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น จริง ๆ แล้วน่าจะห้ามทั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติและในองค์กรตรวจสอบทั้งหมดจึงจะดู “เป็นกลาง” และ “ไม่มีส่วนได้เสีย” ดังที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา 30 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครับ และนอกจากนี้ ถ้าจะให้ดีไปกว่านี้น่าจะเขียนห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า ห้ามสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย ก็จะดูจริงใจมากขึ้นว่าคนเหล่านี้เข้ามาทำงานโดยมิได้มุ่งหวังที่จะมีตำแหน่งใด ๆ ในอนาคตครับ
       เรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่สังคมตั้งข้อสังเกตแต่ยังไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์กันนัก นั่นก็คือ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนครับ รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งในบางกรณีคนในรัฐบาลนั้นก็ออกมาโต้ว่าเป็นเรื่องที่ทำตามกฎหมาย จึงไม่ผิดกฎหมาย และในวันนี้หลังการรัฐประหาร เราก็กำลังพยายามทำให้สิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายนั้นกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายครับ ผลประโยชน์ทับซ้อนมีหลายรูปแบบ บางรูปแบบก็สร้างความเสียหายกับรัฐเป็นอย่างมาก บางรูปแบบก็เสียหายน้อย สมมติว่ามีข้าราชการคนหนึ่งโกงเวลาราชการไปทำงานให้กับภาคเอกชน ข้าราชการคนนั้นก็จะได้ค่าตอบแทนสองทางแต่ก็จะไม่สามารถทำงานได้ดีครบถ้วนทั้ง 2 ทาง ซึ่งในทางราชการเราถือกันว่าเป็นการทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ ผู้อ่านทุกคนคงพอมองเห็นภาพนะครับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง วันนี้ สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้เป็นความชอบธรรมและเป็นความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ผลของพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการและผู้ดำรงตำแหน่งในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนประจำอยู่แล้วสามารถรับเงินได้อีกทางหนึ่งเต็มตามจำนวนในตำแหน่งที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาครับ! เป็นเรื่องน่าสงสัยนะครับว่า คน ๆ เดียวรับเงินเดือน 2 ทางได้ แต่จะทำงานเต็มเวลาทั้ง 2 ทางได้คุ้มกับเงินที่ได้รับหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำกันได้อย่างไรทั้งผู้กำหนดและผู้รับครับ! ปัญหานี้คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอดูว่าจะมีผู้นำไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือไม่ หรือไม่ก็คงต้องรอดูว่ารัฐบาลหน้าจะเรียกคืนหรือไม่ครับ
       จริง ๆ แล้วยังมีเรื่องที่น่าสนใจกล่าวถึงเกี่ยวกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “ความเชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ” ของทั้งกรรมาธิการยกร่างและอนุกรรมาธิการยกร่าง ที่น่าเป็นห่วง เพราะมีน้อยคนเหลือเกินที่แสดงให้เห็นว่ามีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมาใช้กับคน 60 ล้านคนครับ พูดเก่งน่ะมี แต่ที่เคยเขียนหรือวิจัยเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาแล้วมีอยู่แค่เพียง 3-4 คนเองครับ แถมประธานและเลขานุการก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์รวมทั้งยังมีวิสัยทัศน์อย่างมาก ที่เป็นประธาน สสร.ในปี พ.ศ.2540 กับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักกฎหมายหมายชนที่ยอมรับกันว่ามีความเก่งรอบด้าน มีผลงานอย่างมาก ที่เป็นเลขานุการ สสร.ในปี พ.ศ.2540 ครับ ไม่ขอวิจารณ์ต่อดีกว่าครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความ มานำเสนอ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 จริงหรือ?” โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ นักศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง บทความที่สองเป็นบทความจากนักศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหงเช่นเดียวกัน เรื่อง “ข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและการเลือกตั้ง” โดย คุณชนินทร์ ติชาวัน และบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง “ยุติการฆ่าและความคิดที่จะฆ่า ก่อนจะพากันตกเหว” โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1029
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:13 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)