สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ของประชาชน ได้รับการคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 จริงหรือ ? โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ

4 กุมภาพันธ์ 2550 23:01 น.

       ภายหลังที่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งภายหลัง หัวหน้าคณะปฏิรูป ฯ หรือ คปค. จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และได้มีการบัญญัติ หลักเกณฑ์ ในการคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไว้ในมาตรา 3 1 ซึ่งได้บัญญัติว่า
       
       “ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญนี้ “
       ประกอบกับมาตรา 35 บัญญัติว่า “ บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ......”
       
       ซึ่งเมื่อพิจารณา มาตราทั้งสองประกอบกัน อาจทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของตน ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้แล้ว แต่คำถามที่ตามมา จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นั่นคือกระบวนการในการนำเสนอปัญหาหรือการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะมีวิธีการเช่นไร
       
       1. พิจารณากระบวนวิธีการใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
       ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดสิทธิในการยื่นคำร้องเฉพาะบุคคล หรือองค์กรดังต่อไปนี้
       1. ศาล ได้แก่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ๆ ในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 264
       2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประธานวุฒิสภา ในกรณีที่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราไม่ถูกต้อง หรือเห็นควรยับยั้ง ตามมาตรา 262(1)(2) มาตรา 263 และมาตรา 177 หรือเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรี ของรัฐมนตรี คนหนึ่งคนใดสิ้นสุดลง ตามมาตรา 216 วรรคสอง หรือสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนหนึ่งคนใดสิ้นสุดลง ตามมาตรา 96 หรือเห็นว่าพระราชกำหนดไม่เป็นไปตาม 218 วรรคหนึ่ง ( ตามมาตรา 219 )
       3. ประธานรัฐสภา ในกรณีที่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 262(1)(2) มาตรา 263 หรือเห็นว่ากรรมการเลือกตั้งคนหนึ่งคนใด ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา 142 หรือในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กร ต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266
       4. นายกรัฐมนตรี ในกรณีที่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 262(3)
       5. องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 266
       6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภา ในกรณีใช้สิทธิ ตามมาตรา 47 วรรคสาม มาตรา 180 และมาตรา 118(8)
       7. อัยการสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในกรณีใช้สิทธิ ตามมาตรา 63 มาตรา 295 มาตรา 198
       8. นายทะเบียนพรรคการเมือง และผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรณีใช้สิทธิ ตามมาตรา 17 มาตรา 27 มาตรา 65 มาตรา 67 มาตรา 72 มาตรา 73 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
       
       จากหลักเกณฑ์ และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของประชาชน ในการโต้แย้งว่าบทบัญญัติกฎหมายใด หรือการกระทำใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3 สามารถใช้สิทธิได้เพียง 3 ช่องทาง และถือเป็นการใช้สิทธิทางอ้อม นั่นคือ เป็นการใช้สิทธิผ่าน
       1. องค์กรศาล ตามมาตรา 264
       2. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามมาตรา 198 และ
       3. ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามมาตรา 262 โดยร้องเรียนผ่าน
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา
       และไม่เปิดช่องให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
       ดังนั้น จากหลักเกณฑ์ และบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการจะยื่นเรื่องใดก็ตามขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ ต้องเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติมาตรา หรือช่องทางในการยื่น โดยผ่านองค์กร หรือบุคคล ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติขึ้น
       
       2. พิจารณากระบวนวิธีการใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
       

       ประเด็นที่ 1 ตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 บัญญัติว่า “ บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ......ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ..”
       เมื่อพิจารณาจากข้อความดังกล่าวย่อมจะตีความ ได้ว่า คำว่า “..กฎหมายกำหนด..” หมายถึง มีกฎหมายฉบับใด ก็ตามในปัจจุบัน ที่ บัญญัติว่า ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วปัจจุบันมีกฎหมายใด ที่บัญญัติเช่นนี้ ซึ่งถ้าเป็นอดีต ก่อนรัฐประหาร คำตอบของคำถามดังกล่าว ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ หรือช่องทางในการใช้สิทธิต่างๆ ที่เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยผ่านองค์กร หรือบุคคล ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
       แต่ปัจจุบัน หากปรากฏว่า ประชาชนถูกกระทบสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ประชาชนจะดำเนินการใช้ช่องทางใด จะนำขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีต่อศาล เหมือนมาตรา 28 วรรคสอง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้หรือไม่ แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะบัญญัติไว้ใน มาตรา 35 ว่า “ บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ......ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ..” แต่กฎหมายที่กำหนดและให้อำนาจไว้ก็มีเพียงกฎหมายเดียว นั่นคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 แสดงให้เห็นว่าข้อความดังกล่าว ย่อมไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้จริงในปัจจุบัน
       
       ประเด็นที่ 2 ตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 บัญญัติว่า “ ..หรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ..”
       ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความดังกล่าว ดูเสมือนว่ามีช่องทางที่จะยื่น ต่อ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หากมิได้ใช้ช่องทาง ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว
       แต่เมื่อพิจารณา จากข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 เอง ก็มิได้กำหนดขั้นตอน หรือวิธีการ ในการยื่นหรือการนำคดี ขึ้นสู่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด
       ซึ่งแตกต่างกับ กระบวนวิธีของศาลปกครอง เอง ที่มีบทบัญญัติในการใช้สิทธิของประชาชนโดยการยื่นคำร้องเป็นหนังสืออย่างชัดแจ้ง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       
       3. บทสรุป
       
       การคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญมาก ในกระแสโลก ที่เน้นสิทธิมนุษยชน (Human rights) ตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยได้ให้ไว้แก่นานาชาติ ดังนั้น บทบัญญัติใดก็ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นบทบัญญัติที่สามารถนำไปใช้หรือนำไปปฏิบัติได้จริง และต้องชัดเจน อันไม่เกิดข้อโต้เถียงทางวิชาการ มิฉะนั้นแล้ว ย่อมเกิดคำถามเกิดขึ้นว่า สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ของประชาชน ได้รับการคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 จริงหรือ ? หรือเป็นเพียงการบัญญัติ หลักการดังกล่าวไป เพื่อเป็นการกันข้อครหา หรือเพื่อให้เกิดความสวยงามทางตัวอักษรโดยมิสามารถนำมาใช้หรือคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริงแต่ประการใด
       
       เชิงอรรถ
       1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 แหล่งที่มา www.pub-law.net/
       2.บรรเจิด สิงคะเนติ,ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ
       3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า “..บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1026
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 01:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)