|
|
ครั้งที่ 152 21 มกราคม 2550 23:08 น.
|
ครั้งที่ 152
สำหรับวันจันทร์ที่ 22 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550
รัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไร (4)
ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เราได้ประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และเราก็ได้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครบทั้ง 35 คนแล้ว เชื่อว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเราก็คงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ ว่าแต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดีกว่าฉบับปี พ.ศ.2540 หรือไม่ ยังเป็นข้อน่ากังขาอยู่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 กับฉบับปัจจุบันแล้ว พบว่า นักกฎหมายที่ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมีโดดเด่นและเป็นนักกฎหมายมหาชนอยู่แค่คนเดียว คือ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่นอกจากจะมีคนอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการแล้ว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียง 29 คน แต่ก็ประกอบด้วยคนเก่ง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ศ.ดร.อมร รักษาสัตย์ ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รศ.วิสุทธิ์ โพธิแท่น เป็นต้น ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราที่จะเกิดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรครับ!
ถ้าถามว่า ผมรู้สึกอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคงตอบลำบากเพราะในเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ผมก็คงไม่สามารถทำใจให้ยินดีปรีดากับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็น ผลพวง อันเกิดจากการรัฐประหารได้เท่าไรนักครับ
คนไทยเรา ลืมง่าย เหลือเกิน ในปี พ.ศ.2534 มีการรัฐประหารเกิดขึ้น จากนั้นเราก็มีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 ภายหลังเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็มีเสียงเรียกร้องจากประชาชน นักการเมือง และนักวิชาการจำนวนหนึ่งให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2538 ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่โดยแก้ไขตั้งแต่มาตรา 24 ไปจนถึงมาตราสุดท้ายคือมาตรา 211 เท่ากับว่าแก้ไขไปประมาณ 90% แต่นั่นยังไม่พอ แม้จะแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ เสียงเรียกร้องก็ยังมีอยู่เพราะในด้านรูปแบบนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 มีที่มาจากการรัฐประหาร ในที่สุดเสียงเรียกร้องมากขึ้น จึงเกิดการ ปฏิรูปการเมือง ขึ้น มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 อีกครั้งหนึ่ง เพิ่มหมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป โดยกำหนดวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีที่มาที่เป็นประชาธิปไตยและมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น นี่คือที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครับ ไม่ทราบมีใคร ลืม กันบ้างหรือเปล่า!
ในวันนี้ เรากำลัง ย้อนยุค กลับไปสู่จุดเดิมอีกแล้ว ผู้คนจำนวนหนึ่ง แก่งแย่ง กันเข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อที่จะให้ได้อยู่ในนั้น บางคนได้แค่นั้นก็ไม่พอ ประสงค์ที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยถึงขนาดออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คุณสมบัติ ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของพรรค์นี้มันนานาจิตตังครับ คนเก่งในสายตาของคนแต่ละคนย่อมไม่ใช่คน ๆ เดียวกันแน่ แทนที่จะมานั่งวิพากษ์คุณสมบัติของบุคคลอื่น ผมว่ามานั่งคิดกันดีกว่าว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ พอใช้ได้ เพราะในส่วนตัวผมนั้น ฟันธงได้เลยว่าภายหลังการเลือกตั้งไม่นานต้องมีเสียงเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกฉบับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 โดยมีเหตุผลเดียวกับที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีที่มาจากการรัฐประหาร เอาแค่เหตุผลนี้เพียงเหตุผลเดียวก็เพียงพอที่ประชาชนจะเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ ไม่ต้องนับเอาเหตุผลอื่น เช่น เวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญมีน้อย ผู้จัดทำรัฐธรรมนูญไม่มีความชำนาญเพียงพอ เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง เป็นต้น มาร่วมด้วยครับ
เพื่อความไม่ประมาท ผมคิดว่า เราสมควรต้องวางมาตรการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ด้วย ดังนั้น ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอเสนอ 2 ประเด็นสุดท้ายของหัวข้อ รัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไร โดยประเด็นแรกจะเป็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและประเด็นที่สองจะเป็นเรื่องประเด็นปลีกย่อยที่ควรนำเสนอไว้ในรัฐธรรมนูญครับ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ครับ อย่างที่ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นั้นมีที่มาจากการรัฐประหาร ผู้จัดทำมีเวลาจำกัด คุณสมบัติของผู้จัดทำสู้ผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ไม่ได้ ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมากนัก เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทยครับ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ จึงสมควรที่จะเปิดช่องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ด้วย โดยในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ผมคิดว่ามีประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญธรรมดาทั่ว ๆ ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ซึ่งรวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
รัฐธรรมนูญไทยในอดีตได้ให้ความไว้วางใจกับรัฐสภาที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีเพียงรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับคือ ฉบับปี พ.ศ.2492 พ.ศ.2511 และ พ.ศ.2517 เท่านั้นที่กำหนดให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอาจไม่จบลงที่รัฐสภาเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ เพราะรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับดังกล่าวได้กำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้โดยบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่รัฐสภาแก้ไขกระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศชาติและของประชาชนครับ ส่วนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ที่บัญญัติไว้ชัดเจนก็คือ กระบวนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2491 และฉบับปี พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2539) ครับ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ไปจบลงที่รัฐสภาเช่นเดียวกันครับ เพราะฉะนั้น ในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเล็กน้อย แก้ไขมาก หรือแม้กระทั่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในภาวะปกติ ก็ต้องอาศัยกลไกรัฐสภาเป็น ตราประทับ ทั้งสิ้น
คำถามที่ตามมาก็คือ ในเวลาที่ไม่มีรัฐสภา แล้วเรามีความจำเป็นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจะทำอย่างไร ผมคงตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากนักเพราะภายใต้บริบทของรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคงไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านรัฐสภา ลองนึกดูเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาก็ได้ที่เมื่อเกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรตอนต้นปี พ.ศ.2549 และมีกระแสเรียกร้องให้เอานายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนจึงจะทำได้ ในเมื่อแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและเราก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ ในที่สุดทางออกสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็คือการทำรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งครับ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรามีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้แม้ไม่มีรัฐสภาก็น่าจะเป็นการดีนะครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมขอเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นต่อไปนี้คือ การมีองค์กรเจ้าภาพที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเล็กน้อย และการแก้ไขโครงสร้างหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การมีองค์กรเจ้าภาพเพื่อดูแลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ใช้บังคับ เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิดในตัวบทรัฐธรรมนูญ นานวันเข้าปัญหาเหล่านั้นก็หายไปไม่ว่าจะหาทางออกได้หรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าคงจะดีไม่น้อย หากเรามีองค์กรที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการสักองค์กรหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่เก็บรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแล้วนำมาทำการศึกษาวิเคราะห์หาเหตุแห่งปัญหานั้นว่าเกิดจาก มนุษย์ หรือ ตัวบท ถ้าพบว่าปัญหาเกิดจากมนุษย์ก็ต้องทำความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะไปยังองค์กรนั้น แต่ถ้าพบว่าปัญหาเกิดจากตัวบท องค์กรนี้ก็จะต้องทำตัวเป็น เจ้าภาพ เพื่อดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปครับ ขอย้ำนะครับว่าต้องเป็นองค์กรที่เป็นกลาง มีความเข้มแข็งและเชี่ยวชาญทางวิชาการอย่างมาก และเป็นอิสระจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ส่วนในเวลาว่างหากไม่มีปัญหาอะไร องค์กรนี้ก็จะต้องทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้ารัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ว่ามีข้อดีข้อด้อยอย่างไรที่พอจะนำมาเป็นแบบหรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญของเราให้ดีที่สุดอยู่ตลอดเวลาครับ ส่วนคนที่จะอยู่ในองค์กรนี้ได้ก็จะต้องเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชนและรัฐศาสตร์เป็นหลักครับ
เมื่อเราได้องค์กรเจ้าภาพแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเล็กน้อยหรือการแก้ไขโครงสร้างหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะหากเราจะกำหนดให้องค์กรนี้เป็นหนึ่งในบรรดาองค์กรที่มีอำนาจเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่ายขึ้น สามารถทำได้แม้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากกำหนดให้ประชาชนสามารถเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยเสนอผ่านไปยังองค์กรเจ้าภาพเพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอของประชาชนตามหลักวิชาการก่อน หากองค์กรเจ้าภาพเห็นชอบก็นำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยครับ
เมื่อเรามีองค์กรเจ้าภาพแล้ว ต่อไปก็จะกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสองแบบ คือ การแก้ไขเล็กน้อยและการแก้ไขมากอันได้แก่การแก้ไขโครงสร้างหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของการแก้ไขเล็กน้อยนั้น ในกรณีที่มีสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีปัญหาอะไรเพราะสามารถใช้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาอันเป็นกระบวนการที่เคยใช้กันอยู่ได้ต่อไป แต่ก็สมควรเพิ่มเติมให้ องค์กรเจ้าภาพ สามารถเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยกำหนดให้ต้องเสนอผ่านองค์กรที่เป็นกลางเพื่อให้ความเห็นก่อนว่าควรแก้ไขตามที่องค์กรเจ้าภาพเสนอมาหรือไม่ องค์กรที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่นี้คือ ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาครับ เมื่อได้ไฟเขียวจากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ถ้าหากกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่าควรกำหนดให้ทำได้แต่ต้องวางกรอบของเรื่องที่จะแก้ไขไว้อย่างชัดเจนโดยระบุว่าเรื่องใดบ้างที่จะแก้ไขได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้เกณฑ์จำเป็นเร่งด่วนอย่างไรบ้าง โดยกระบวนการในการแก้ไขนั้นผมเห็นว่าเราสามารถใช้กระบวนการเดียวกันกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยข้อเสนอขององค์กรเจ้าภาพได้ คือ ให้องค์กรเจ้าภาพเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เหมือนหนึ่งเป็นรัฐสภา คือ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเล็กน้อยนั้นและการแก้ไขจะทำได้ก็ต้องได้เสียงข้างมากคือ 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมดครับ จากนั้นก็ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการครับ สำหรับในส่วนของการแก้ไขโครงสร้างหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ผมยังยืนยันความเห็นของผมว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่จะบัญญัติกระบวนการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญครับเพราะหากเรามีบทบัญญัติดังกล่าวและมีความจำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขณะที่ไม่มีรัฐสภาก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับครับ ผมเห็นว่าควรใช้แบบที่เคยทำไปแล้วจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 6 พ.ศ.2539 คือ กำหนดกระบวนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไว้เป็นหมวดพิเศษ เมื่อไรก็ตามที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขโครงสร้างของรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ให้นำบทบัญญัติหมวดดังกล่าวมาใช้ โดยในช่วงที่มีสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็ให้เป็นเรื่องของรัฐบาลและองค์กรเจ้าภาพที่จะเสนอได้เช่นเดียวกับที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอขอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ด้วย โดยอาจกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดสามารถเข้าชื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และสำหรับในกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกับกรณีแรกคือ ต้องเป็นกรณีจำเป็นจริง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้โดยให้องค์กรเจ้าภาพเสนอความเห็นของตนหรือจากการร้องขอของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วก็ดำเนินการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปได้ครับ
ข้อเสนอของผมอาจดูแปลก ๆ แต่ผมก็คิดว่าจำเป็นนะครับ เพราะในวันข้างหน้าหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ใช้บังคับได้สักพัก ก็คงมีเสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่มีที่มาที่เป็นประชาธิปไตยกว่า ตอนนั้นถ้าเราไม่มีกลไกนี้ ก็ต้องมานั่งแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้แล้ว ในส่วนขององค์กรเจ้าภาพที่ผมได้นำเสนอไปก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญอันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาความรู้ทางด้านรัฐธรรมนูญของเราต่อไปในอนาคตครับ
ข้อเสนอสุดท้ายของผมสำหรับเรื่อง รัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไร ก็คือ ประเด็นปลีกย่อยที่ผมเห็นว่าสมควรเพิ่มไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา มีหลายประเด็นครับคือ
1.ควรมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน คลื่นความถี่ เป็นสมบัติของชาติที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ ให้สัมปทาน หรือทำให้ตกอยู่ในภาระผูกพันใด ๆ ได้
2.ควรมีบทบัญญัติที่กำหนดให้การทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์มหาชน (public interest) ระดับชาติต้องได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการทำสัญญาในนามของประเทศไทยทุกประเภทกับต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนของต่างประเทศด้วย
ประเด็นสองประเด็นแรกนี้มีขึ้นก็เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนครับ
3.ควรมีบทบัญญัติที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสร้าง อิทธิพล ขึ้นทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร
4.ควรยกเลิกการเลือกตั้งในต่างประเทศ เพราะสิ้นเปลืองเกินไป
5.ควรยกเลิกการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะการไปเลือกตั้งเป็นสิทธิ เป็นความสนใจ และเป็นความสมัครใจของแต่ละคนที่ไม่ควรบังคับกัน
6.ควรกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจนในการที่ต้องออกกฎหมายตามมาเพื่อขยายบทบัญญัติให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบ
7.การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งให้ทำได้แต่สมควรรอให้เริ่มดำเนินกระบวนการได้เมื่อบุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้เกินกึ่งหนึ่งของวาระของตนก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ดำรงตำแหน่งได้พิสูจน์ตนเองด้วยการทำงานไปสักระยะหนึ่งก่อน
8.การออกคำสั่งหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือขัดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้ทำต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองโดยไม่สามารถอ้างได้ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายรับทราบแต่เบื้องต้นว่า หากทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำทั้งหลายด้วยตัวเองโดยไม่สามารถซัดทอดผู้บังคับบัญชาได้ครับ
ทั้ง 8 ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ผมมองว่ามีความจำเป็นระดับหนึ่งที่ต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครับ ก็ขอฝากเป็นข้อเสนอไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความ บทความแรกคือ บทความเรื่อง พระราชอำนาจ การลงพระปรมาภิไธย และการสนองพระบรมราชโองการ โดย อาจารย์ปิยะบุตร แสงกนกกุล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทความที่สองคือ บทความเรื่อง เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันดีไหม โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ นอกจากนี้เราก็ยังมีการประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ล่าสุดจำนวนหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้าด้วยครับ สนใจลองเข้าไปแวะชมดูก่อน และถ้าผู้ใดต้องการหนังสือเหล่านั้นก็สามารถติดต่อสั่งซื้อได้โดยตรงที่สถาบันพระปกเกล้า หมายเลขโทรศัพท์ 0-2527-7830 ถึง 9 ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1025
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|