ครั้งที่ 150

24 ธันวาคม 2549 19:47 น.

       ครั้งที่ 150
       สำหรับวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2549 ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 2550
       
       “รัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไร (2)”
       
       ผมรู้สึกดีใจที่บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วได้รับการพูดถึงอย่างมากและเป็นที่สนใจของผู้คน มีผู้ “หยิบยืม” ไปใช้มากไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือพิธีกรรายการโทรทัศน์บางคนครับ ก็อยากจะบอกไว้ ณ ที่นี้ว่า ที่ผมเขียนเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไรนั้นก็คงไม่ต้องการหวังผลอะไรทั้งนั้นเพราะสมัชชาแห่งชาติก็ไม่ได้เป็นกับเขา คงเป็นความเห็นทางวิชาการแท้ ๆ ของนักวิชาการคนหนึ่งมากกว่าครับ
       วันนี้ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ก็ได้ดำเนินไปส่วนหนึ่งแล้ว ตอนนี้เราได้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 200 คนแล้ว แม้จะรู้สึกผิดหวังที่นักกฎหมาย “มหาชน” เก่ง ๆ บางคน “หลุดโผ” แต่กลับมีนักกฎหมายที่ “ไม่เก่งเลย” บางคนติดโผก็ตาม ก็คงต้องติดตามกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราต่อไปว่าในที่สุดแล้วจะออกมาอย่างไร
       เรามาพูดกันถึงเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไรต่อกันดีกว่า ในคราวที่แล้วผมได้นำเสนอสาระสำคัญที่เกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารไปแล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จะเสนอเรื่องต่อไปคือ อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นข้อเสนอในเรื่องที่สามครับ
       อำนาจตุลาการ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ได้สร้างศาลขึ้นมาใหม่หลายศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการติดตามและประเมินการทำงานของศาลทั้งสาม ผมพบว่ามีเพียงศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่คิดว่ามีปัญหา ส่วนศาลปกครองนั้นก็สามารถเอาชนะใจคนดูด้วยคดี “แปรรูป กฟผ.” และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สร้างผลงานสำคัญไว้ในคดี “คุณรักเกียรติฯ” นั้นหากจะมีปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็คงเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไรครับ แต่ผมก็มีข้อเสนอบางประการเพื่อ “ปรับ” ระบบการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในตอนท้ายด้วยครับ
       ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้น หากเราตรวจสอบดูอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการ “ตีความ” รัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของไทยเคยมีอำนาจนี้ การไม่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็น “ทางตัน” ที่ไม่มีทางออกให้กับปัญหาหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 9 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ครับ และนอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ การที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความของตนเองได้เอง ซึ่งในเรื่องนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะสมและไม่เกิดผลดี เพราะโดยหลักแล้ววิธีพิจารณาความทั้งหลายควรออกเป็นกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา ซึ่งในประเทศไทยเรานั้น วิธีพิจารณาความแพ่ง อาญา และปกครอง ก็ออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติทั้งหมด การให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดวิธีพิจารณาความของตนได้เองจึงเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตาม “มาตรฐาน” ที่ควรเป็น เมื่อเทียบเคียงกับการทำงานของศาลอื่น ๆ ครับ ทั้งสองประการที่กล่าวไปนั้นเป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ครับ
       ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นก็มีอยู่มาก ข้อผิดพลาดประการแรกที่ถือได้ว่าร้ายแรงที่สุดและมีผลกระทบต่อประเทศชาติมากที่สุด รวมทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก ได้แก่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรกและครั้งที่สอง โดยในการตัดสินคดีแรกนั้นผลของคำวินิจฉัยทำให้คุณทักษิณฯ มี “ความชอบธรรม” ในการบริหารประเทศเรื่อยมาจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับคดีซุกหุ้นครั้งที่ 2 ไว้พิจารณา เหตุการณ์ก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก แต่กลับเป็นผลดีกับคุณทักษิณฯ เพราะสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ขึ้น เรื่องนี้คงไม่ต้องพูดกันมากเพราะเข้าใจว่าคงเป็นเรื่องที่ “อยู่ในใจ” ของผู้คนจำนวนมากอยู่แล้ว จริง ๆ ประชาชนคนไทยน่าจะลุกขึ้นมา “เรียกร้อง” ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากทั้งในคดีแรกและคดีที่สอง “รับผิดชอบ” กับความเสียหายของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงที่คุณทักษิณฯ บริหารประเทศด้วยครับ พร้อม ๆ กันก็ควร “ยกย่อง” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญคือ คุณประเสริฐ นาสกุล ในฐานะเสียงข้างน้อยในคดีแรกที่เขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวได้ “ดีเหลือเกิน” เป็นคำวินิจฉัยที่ “ตรงไปตรงมา” และ “กล้า” ที่จะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวที่ “กระแทก” ท่านผู้นำอย่างรุนแรงโดยไม่เกรงกลัวกันเลยครับ ลองหยิบมาอ่านตอนนี้ดูแล้วจะรู้ว่า “คนดี” นั้นเป็นอย่างไรครับ!!! ส่วนข้อผิดพลาดร้ายแรงประการที่สองที่แม้คนอื่นจะเห็นว่าไม่สำคัญแต่สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็คือ ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ น้อยคนนักที่จะทราบ “ความเป็นไป” ของการเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญคนแรก ซึ่งก็ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ผมจะนำมาพูด ณ ที่นี้ เอาเป็นว่า “ถ้าวันนั้น” คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดแรก “เลือก” นักกฎหมายมหาชนคนเก่งของผมไปเป็นเลขาธิการ รับรองได้ว่า “ในวันนี้” สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็น “หน่วยธุรการทางวิชาการ” ที่ดีและเข้มแข็งที่สุดในบรรดาหน่วยธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ! ที่ผมต้องพูดอย่างนี้เพราะผมเห็น “ความสำคัญ” ของหน่วยธุรการเป็นอย่างมากที่นอกจากจะเป็น “ฐานทางวิชาการ” ที่ดีให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หน่วยธุรการที่ดียังต้อง “ตรวจสอบ” และ “ประเมิน” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ตามหลักวิชาการด้วย การเป็นฐานทางวิชาการที่ดีกับการตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์คำวินิจฉัยย่อมจะทำให้คำวินิจฉัยมีความ “ถูกต้อง” และมี “คุณค่า” ทางวิชาการมากขึ้น ๆ อีกด้วยครับ!! ผมคงไม่พูดอะไรมากไปกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่อยากจะพูดมากกว่านี้ ก็คนคุ้นเคยกันทั้งนั้นครับ!!!
       ข้อผิดพลาดทั้งสองประการที่กล่าวไปแล้ว ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากนักวิชาการบางส่วนและจากประชาชนบางส่วน ทำให้ “คุณค่า” ขององค์กรลดลงอย่างน่าใจหายครับ ก็โทษใครไม่ได้ทั้งนั้นนอกจากต้องโทษตัวเอง
       ข้อเสนอของผมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่มาก จริง ๆ แล้วคิดว่าต้อง “ล้างไพ่” กันใหม่ทั้งในส่วนของตุลาการและสำนักงานครับ โจทย์แรกของสภาร่างรัฐธรรมนูญคือ จะยังคงให้มีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งผมเองนั้นเห็นว่าควรมีอยู่ต่อไปครับ ดังนั้น หากสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องกับผม!! ก็ต้องมาพิจารณา “รูปแบบ” ขององค์กรกันต่อไปว่าจะยึดถือรูปแบบเดิมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 หรือจะใช้รูปแบบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 หรือจะตั้งเป็น “แผนกพิเศษ” ในศาลปกครองหรือในศาลยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในเรื่องรูปแบบนี้ผมคงต้องขอ “ฟันธง” ไปเลยว่า จากประสบการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จะเห็นได้ว่าตุลาการ “มาแล้วก็ไป” ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น กรณีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นทั้งสองคดีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้อง “รับผิดชอบ” กับอะไรเลยแม้ผลของคำวินิจฉัยจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมากก็ตาม รูปแบบของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เองก็มีข้อบกพร่องหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่กำหนดให้มีนักรัฐศาสตร์เข้าไปเป็นตุลาการได้ ถ้าเป็นไปได้ ผม “ชอบ” รูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ครับ แต่อาจต้อง “ปรับ” เล็กน้อย โดยผมเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรประกอบด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ของแต่ละศาล เมื่อได้รับการคัดเลือกให้มาอยู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้ “ขาด” จากหน้าที่เดิมในศาลเดิม แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบวาระในศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องกลับไปทำงานที่เดิมในตำแหน่งเดิม การให้กลับไปทำงานที่เดิมได้จะทำให้มีคน “อยาก” มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นเพราะความมั่นคงในอาชีพยังคงมีอยู่ต่อไปจนเกษียณอายุราชการ และนอกจากนี้แล้ว การให้กลับไปทำงานที่เดิมได้เมื่อครบวาระยังมีผลทำให้สามารถใช้ “ระบบราชการ” ตรวจสอบการดำเนินงานที่มีปัญหาของคนที่ยัง “อยู่ในระบบต่อไป” ได้อีกด้วยครับ ก็ขอฝากรูปแบบนี้เอาไว้ด้วย แต่ถ้าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญยังชอบรูปแบบเดิมของศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็คงต้องสร้างกลไกที่ “เข้มงวด” ให้กับวิธีการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรที่จะได้นักกฎหมายที่เก่ง ดี และปลอดจากการเมือง มาเป็นตุลาการครับ ส่วนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นคงต้องปรับใหม่ทั้งหมดโดยเน้นบุคลากรที่เป็นนักกฎหมายมหาชนเป็นหลักครับ ข้อเสนอประเด็นต่อมาก็คือ จำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นผมเห็นว่า 15 คนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นั้นมากเกินไป ผมรู้สึก “รำคาญ” ทุกครั้งที่เห็นตุลาการ 15 คน “นั่งเป็นแพ” เรียงแถวหน้ากระดานอยู่บนบัลลังก์ครับ! ในเรื่องนี้ผมเคยเสนอไว้ในงานวิจัยที่ผมทำให้กับศาลรัฐธรรมนูญเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญควรแบ่งเป็นองค์คณะ แม้จำนวนตุลาการจะน้อยแต่ก็สามารถแบ่งเป็นองค์คณะได้โดยตุลาการคนหนึ่งอาจอยู่ใน 2 หรือ 3 องค์คณะได้เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันอยู่ในศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ครับ การแบ่งเป็นหลายองค์คณะจะทำให้การพิจารณาปัญหาเร็วขึ้น และหากแยกองค์คณะตามประเภทของคดีและมีการตั้งหน่วยธุรการรองรับในแต่ละองค์คณะก็จะยิ่งทำให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปได้อย่างดีและรวดเร็วด้วยครับ ดังนั้น จึงควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งเป็นองค์คณะได้โดยต้องกำหนดจำนวนของตุลาการในองค์คณะไว้ด้วย ส่วนข้อเสนอประเด็นต่อมาในเรื่องวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าโดยหลักการควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญซึ่งผมเห็นว่าควรแยกวิธีพิจารณาออกเป็นประเภทตามประเภทของคดีที่จะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเช่นกันในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ “ตีความ” รัฐธรรมนูญซึ่งผมเห็นควรว่าต้องมีครับ พูดถึงเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญคงต้องทบทวนและเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกฎหรือคำสั่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ ว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเป็นผู้ตรวจสอบกันแน่เพราะที่ผ่านมาแม้วงการวิชาการจะเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ “แย่ง” ไปตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาครับ จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญ “เข้าไปยุ่ง” ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญชอบจัดสัมมนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” เหลือเกิน จัดไปไม่รู้กี่ครั้ง พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่มในเรื่องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของตนเลยครับ ก็คงต้องเขียนเอาไว้ให้ชัดเจนถึง “หน้าที่” ของศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ครับ ส่วนข้อเสนอประการสุดท้ายของผมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญก็คือ การให้สิทธิแก่ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ข้อเสนอนี้ดูเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อ “จำนวนคดี” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องลองพิจารณาดูครับ ผมเห็นว่าหากประชาชนผู้ใดพบว่ามีกฎ คำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตนโดยตรงและเป็นกฎ คำสั่ง หรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ขัดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงให้เพิกถอนกฎหมายนั้นครับ คงต้องเขียนให้ดี ๆ เพราะมิฉะนั้นจะไปแย่งงานของศาลปกครองเข้าครับ
       นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะนำไปลองพิจารณาดู โดยเป็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครับ ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนักการเมืองถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการหรือทุจริตต่อหน้าที่ แม้ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีก็ตาม แต่ผมคิดว่าหากจะให้รวดเร็วและเป็น “มืออาชีพ” ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสัก 2 คณะ ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่และทำหน้าที่สอบสวน คณะกรรมการทั้งสองคณะนี้แยกจากกัน โดยคณะกรรมการชุดแรกมีองค์ประกอบไม่ต้องมาก จากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาและจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หากคณะกรรมการชุดแรกเห็นว่าควรรับไว้พิจารณาก็ส่งให้คณะกรรมการชุดที่สองคือ คณะกรรมการสอบสวนซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาและอัยการระดับสูง โดยต้องกำหนดวิธีการสอบสวนที่เป็นธรรมตามหลักสากล จากนั้นก็เสนอผลการสอบสวนต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ข้อเสนอของผมนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของ ป.ป.ช.แล้ว ยังทำให้การพิจารณาความผิดของนักการเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของ “มืออาชีพ” อย่างแท้จริงครับ ก็ขอฝากไว้พิจารณาดูด้วยครับ และนอกจากนี้แล้ว ผมขอฝากประเด็นต่อเนื่องไว้อีกประเด็นหนึ่งว่า หากเราปรับระบบการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผมเสนอไปข้างต้นแล้ว สมควรหรือไม่ที่จะ “เปิดโอกาส” ให้ผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านั้นสามารถเป็นโจทก์ “ฟ้อง” ได้โดยตรงต่อคณะกรรมการพิจารณาคำฟ้องครับ ผมว่าน่าจะดีนะครับที่อย่างน้อยประชาชนก็ยังมีช่องทางในการตรวจสอบนักการเมืองระดับสูงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางครับ
       บทบรรณาธิการครั้งนี้คงเขียนเรื่องข้อเสนอในการปรับปรุงอำนาจตุลาการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นเพราะหมดเนื้อที่แล้วครับ เก็บไว้ต่อในบทบรรณาธิการครั้งต่อไปแล้วกันครับ
       เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียวคือ บทความเรื่อง “รุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันจริงหรือ” ของอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความที่ส่งบทความมาร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาที่ผ่านมา
       ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2550 ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง ปราศจากโรคภัย มีพลังในการทำงานมาก ๆ และก็ประสบผลสำเร็จในทุก ๆ เรื่องที่ประสงค์ครับ
       
       พบกันใหม่ปีหน้า ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1018
เวลา 29 เมษายน 2567 04:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)