ครั้งที่ 148

26 พฤศจิกายน 2549 22:58 น.

       ครั้งที่ 148
       สำหรับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2549
       
       “สร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร”
       
       เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 2 เดือนของการทำรัฐประหาร เท่าที่ติดตามข่าวดูก็พบว่ามีผู้คนออกมาให้ความเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์กันอยู่บ้าง จากการประเมิน (ของผม!) เข้าใจว่ามีคนส่วนหนึ่งเริ่มไม่พอใจ “ผลงาน” ของทั้ง “รัฐบาล” และของ “คณะรัฐประหาร” เพราะสองเดือนที่ผ่านมา นอกเหนือจากการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ จะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ นอกเหนือจากการที่พรรคการเมืองทั้งหลายจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และนอกเหนือจากการที่เรามีรัฐบาลชุดใหม่ที่ “ว่ากันว่า” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ครับ เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ และมากไปกว่านั้น พอ 2 เดือนผ่านไป ตอนนี้เราก็เริ่มได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารและรัฐบาลกันมากขึ้น คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็มีตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองจากขั้วอำนาจเดิม นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหว แต่ที่ยัง “เงียบ” อยู่ในวันนี้ก็คือ “กลุ่มรากหญ้า” ที่ว่ากันว่าเป็น “ฐานเสียง” ที่สำคัญของรัฐบาลชุดที่แล้วและเข้าใจว่ายังเป็น “แฟนคลับ” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ อยู่ครับ!!
       เสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารและรัฐบาลนั้น ส่วนหนึ่งแล้วก็เนื่องมาจากการดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมาในระยะเวลา 2 เดือนยังไม่มีความเป็นรูปธรรมมากนัก เหตุแห่งการรัฐประหาร 4 เหตุที่คณะรัฐประหารได้แถลงไว้ คือ การทุจริต การทำบ้านเมืองแตกแยก การครอบงำองค์กรอิสระ และการหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงเบื้องสูง ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าเท่าไรนักในการดำเนินการ “จัดการ” กับผู้เป็นต้นเหตุ จึงเกิดคำถามขึ้นในสังคมมากมายว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังทำอะไรกันอยู่ และยิ่งการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 กำหนดไว้โดยอ้อมว่ารัฐบาลชุดนี้มีวาระในการดำเนินงานเพียงปีเศษ ดังนั้น การที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเหตุแห่งการรัฐประหารได้อย่างรวดเร็ว แถมยังไป “เล่น” เรื่องใหญ่ ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเรื่องการปรับโครงสร้างตำรวจหรือเรื่องหวยมาพิจารณา ก็เลยทำให้ภาพของการทำงานของรัฐบาลดู “ไร้ทิศทาง” ครับ
       ผมลองนึก ๆ ดูแล้ว พบว่า ในปัจจุบัน มี 4 เรื่องใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนโดยบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งการรัฐประหาร 4 ประการ แต่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวข้อง เรื่องเหล่านี้ “อาจ” กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจกลายมาเป็นไม่ยอมรับการรัฐประหารที่ผ่านมาได้ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาที่เรียกได้ว่า มีความชอบธรรมเพราะได้รับการยอมรับจากประชาชน กลายเป็น การทำรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรมได้ เรื่องทั้ง 4 ได้แก่ การตรวจสอบทรัพย์สิน การยกเลิกกฎอัยการศึก การปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการดำเนินการตามปกติของฝ่ายปกครอง
       ในเรื่องแรกคือ การตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แถมยังมีการให้ข่าว “รายวัน” ที่ฟังแล้วสับสนเพราะหน่วยงานที่ตรวจสอบมีหลายหน่วยงานเหลือเกิน ตอนเช้า ป.ป.ช.ให้ข่าวการตรวจสอบเรื่องหนึ่ง ตอนสายเป็นการให้ข่าวโดย ส.ต.ง. ตอนเย็นก็ถึงคิวของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (ค.ต.ส.) ฟังแล้วก็งง ๆ ว่าสรุปแล้วใครตรวจอะไรบ้างครับ ก็คงต้องปรับปรุงระบบการให้ข่าวใหม่ อย่างน้อยประชาชนก็ควรได้รับทราบข้อมูลที่เป็นระบบว่า องค์กรใดตรวจเรื่องใดบ้าง มีระยะเวลา (โดยประมาณ) เท่าไหร่ และจากนั้นจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ที่กล่าวไปนี้แม้จะฟังดูง่าย ๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนจากฝ่ายตรวจสอบครับ ถ้าตรงนี้มีความชัดเจนขึ้นและสามารถสรุปผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมคิดว่าคณะรัฐประหารน่าจะ “สอบผ่าน” เหตุประการแรกที่ทำรัฐประหารไปได้อย่างไม่ลำบากครับ
       เรื่องที่สองคือ การยกเลิกกฎอัยการศึก เรื่องนี้เป็นประเด็นที่คนทั่วไปให้ความสนใจกันมากและก็มีแรง “กดดัน” จากกลุ่มองค์กรต่างประเทศและรัฐต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ถ้าจะถามประชาชนธรรมดา ๆ คนหนึ่งว่าได้รับผลกระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ ก็คงตอบยากเพราะในชีวิตปกติประจำวันของเรานั้นแทบจะเรียกได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ เลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” นั้นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเหตุการณ์ที่ไม่สงบอยู่ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและผู้คนส่วนหนึ่งก็ตั้งข้อสงสัยปนหวาดระแวงว่าทำไมรัฐบาลยังไม่ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ทั้ง ๆ ที่ประกาศมาหลายรอบแล้วว่าจะยกเลิก จะเกี่ยวข้องหรือไม่กับการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ บินโฉบไปโฉบมาอยู่ข้างบ้าน ก็ยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่ครับ!!! ในวันนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากการพูดคุยทำให้ทราบว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่เกรงว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ซึ่งยังมี “คนรัก” อยู่มากอาจเป็น “ชนวน” สำคัญที่ทำให้เกิด “ความวุ่นวาย” “การจลาจล” หรืออาจไปไกลถึง “การปฏิวัติซ้อน” ได้ด้วยครับ! ด้วยเหตุนี้เองที่ยังคงไม่มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก แถมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาว่ามีการโยกย้ายนายทหารระดับกุมกำลังด้วยครับ ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งซึ่งรวมทั้ง “ข้าราชการ” ยังไม่ค่อยแน่ใจกับสถานการณ์ภายในประเทศของเรานัก ผมมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของข้าราชการระดับสูงที่ถูกตั้งไปเป็นอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้บ่นให้ผู้ฟังฟังว่า กังวลใจที่ตัวเองเป็น “หนู” แล้วถูกตั้งไปเป็นกรรมการสอบ “แมว” เพราะวันหนึ่ง “แมว” ก็คงจะย้อนกลับมากิน “หนู” เป็นแน่ครับ! แม้คำพูดนี้จะเป็นคำพูดของข้าราชการเพียงคนเดียว แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึง “วิธีคิด” ของคน ๆ หนึ่งที่ “ไม่แน่ใจ” ในสถานะของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมีวาระการทำงานเพียงปีเศษและเมื่อเวลาดังกล่าวผ่านไป ก็หนีไม่พ้นที่ “นักการเมือง” จะกลับมามีอำนาจใหม่! ผมไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจของข้าราชจำนวนหนึ่งหรือไม่ครับ ก็น่ากังวลนะครับเพราะจะส่งผลทำให้การทำงานปกติของข้าราชการเป็นไปอย่าง “หวาดระแวง” ครับ
       กลับมาต่อเรื่องกฎอัยการศึกครับ ไปไหนมาไหนคนก็จะถามกันอยู่ว่าทำไมรัฐบาลยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก ผมคิดว่าคงเป็นเพราะสิ่งที่เราเรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ” มากกว่านะครับ วันนี้คลื่นใต้น้ำเป็นสิ่งที่ต้องระวังมากเพราะไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหารโดยไม่มีเหตุอันควรหรือการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ที่มีเสียงสนับสนุนจำนวนมากก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำได้ทั้งสิ้น ในวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งรอดูว่าการรัฐประหารที่ดูเหมือนจะมี “ความชอบธรรม” เพราะทำให้วิกฤติของประเทศที่ยืดเยื้อมาเป็นปีจบลงอย่างง่ายดาย จะกลายเป็น “ความไม่ชอบธรรม” ขึ้นมาเพราะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศตามที่ได้อ้างไว้ในเหตุที่ต้องทำรัฐประหาร ดังนั้น การสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับสนับสนุนเหตุแห่งการรัฐประหารทั้ง 4 เหตุที่สังคมต้องการเห็น “การตัดสิน” อย่างรวดเร็วครับ รวมไปถึงการยกเลิกการใช้บังคับกฎอัยการศึกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่สงบได้จบลงแล้วด้วยครับ หากรัฐบาลเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้บังคับกฎอัยการศึกอยู่ก็สามารถคงไว้ในบางพื้นที่ ส่วนกรุงเทพมหานครนั้นคงไม่มีความจำเป็นต้องคงการใช้บังคับกฎอัยการศึกเอาไว้เพราะกรุงเทพมหานครนั้น “อยู่ในสายตา” ของทหารอยู่แล้วครับ! พื้นที่ที่น่าจะมีความจำเป็นมากที่สุดในสายตาประชาชนคือภาคใต้ที่แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว 2 เดือน แต่ความรุนแรงก็ยังคงอยู่และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาครับ ปัญหาภาคใต้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าคงจะ “หาทางออก” ลำบากและคง “ยาก” ที่จะทำให้สถานการณ์สงบครับ ไม่เชื่อก็ต้องลองดูต่อไปนะครับ ก็ขนาดไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะออกมา “ขอโทษ” หรือใช้คำว่า “ยินดีกราบเท้า” ก็ยังเกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่องต่อไปทุกวัน ผมเชื่อว่าปัญหาภาคใต้คงเป็น “เหตุเดือดร้อนรำคาญ” ให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ครับ!
       เรื่องที่สามคือเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นี่ก็คงเป็นเรื่องยุ่งอีกเรื่องหนึ่งที่ดู ๆ แล้วยังไม่ควรทำในวันนี้ รัฐบาลเข้ามาควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เมื่อรัฐบาลได้รับความนิยมมากว่านี้หรือเมื่อรัฐบาลประสบผลสำเร็จในการดำเนินการบางอย่างจึงค่อยคิดทำการใหญ่เปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ จะดูเหมาะสมกว่าครับ จากการติดตามข่าวทราบว่าจะมีการปรับโครงสร้าง “ตำรวจ” ใหม่โดยจะให้ไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอยู่ใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับผมแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งเราสามารถคิดได้สองทาง ทางแรก คือถ้าเราเห็นว่าต้องปรับโครงสร้างตำรวจจริง ๆ ก็คงต้องรีบทำเพราะภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเมืองและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาจากการเมืองเช่นกันนั้น สามารถทำอะไรต่ออะไรได้ง่ายโดยไม่ต้อง “ฟังเสียง” หรือ “เกรงใจ” ผู้อยู่ในระบบการเมืองปกติครับ ส่วนทางที่สองนั้น ถ้าเราเห็นว่ายังไม่ควรปรับเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันมีอายุเพียงปีเศษและควรปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ทำจะเหมาะสมกว่า ทางที่สองนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ควรจะต้องหาทางตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางเข้ามาทำการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีคำตอบที่แน่ชัดในทุก ๆ ประเด็น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างแล้วเกิดปัญหาตามมาจะทำให้ระบบการบริหารราชการแผ่นดินติดขัด และยิ่งเป็น “ระบบตำรวจ” ด้วยแล้ว รับรองได้ว่าวุ่นวายแน่เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการรักษาความปลอดภัยสัปดาห์ละ 7 วัน ๆ ละ 24 ชั่วโมงครับ ในส่วนตัวผมนั้น ผมขอเลือกทางที่สองเพราะคิดว่ารัฐบาลน่าจะทำเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อนจะเหมาะสมกว่าครับ!
       ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับการให้ “ตำรวจ” ไปอยู่กับ “ท้องถิ่น” ซึ่งผมคิดว่าเป็นคนละเรื่องกัน ประเทศไทยเราเป็น “รัฐเดี่ยว” ระบบรวมศูนย์อำนาจของตำรวจมีข้อดีก็คือทำให้มีเอกภาพ อำนาจรัฐมีความมั่นคงและมีมาตรฐานเดียวกัน แต่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็น “อีกเรื่องหนึ่ง” ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะไปให้ประชาชนในท้องถิ่นดูแลจัดการกันเอง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามีปัญหาเกิดขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก โดยเฉพาะที่เป็นปัญหาวุ่นวายก็คือเรื่องการถ่ายโอนบุคลากรทางการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการต่อต้านกันมาก ผมมองว่าถ้าจะให้ดีแล้วเราควรศึกษาการกระจายอำนาจทั้งระบบใหม่อีกรอบหนึ่งจะเหมาะสมกว่า โดยต้องทำการศึกษาระบบการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์แบบและการถ่ายโอนภารกิจหรือหน้าที่บางประการของส่วนกลางไปยังส่วนท้องถิ่น โดยศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ดูว่าเขามีการแก้ปัญหา “การแทรกแซง” ของทั้ง “นักการเมืองท้องถิ่น” หรือ “ทุนท้องถิ่น” อย่างไร และหาทางป้องกันไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะหากวันใดที่เกิดการแทรกแซงขึ้น วันนั้น ระบบต่าง ๆ ที่ไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะถึงคราว “ล่มสลาย” ครับ!
       เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ การดำเนินการตามปกติของฝ่ายปกครอง ที่วันนี้ ผมดู ๆ แล้วรู้สึก “หนักใจ” พอควรครับ ที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร เราได้เห็นคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดก่อนเข้าไปอยู่ในศูนย์อำนาจ อยู่รอบ ๆ รัฐบาล อยู่ในองค์กรตรวจสอบ ดู ๆ แล้วมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่อง “ทีใครทีมัน” หลังรัฐประหารไม่กี่วันข้าราชการจำนวนหนึ่งถูกโยกย้ายสับเปลี่ยน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจก็เป็นข่าวครึกโครมถึงการแต่งตั้งนายทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปเป็นประธานและกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งการ “บริหาร” รัฐวิสาหกิจนั้นต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางและมีความรู้ความสามารถในศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เช่น เศรษฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ เป็นต้น การตั้งทหารเข้าไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจจึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมายและเกิดข้อสงสัยว่า ในแผ่นดินนี้เราไม่มี “พลเรือน” ที่มีความรู้ความสามารถแล้วหรือจึงต้องเอา “ทหาร” ที่ถูกอบรมและเติบโตมาในอีกสายสาขาวิชาชีพหนึ่งมาทำหน้าที่ซึ่งไม่ได้อยู่ในความชำนาญของตนครับ การเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการตามปกติของฝ่ายปกครองอันได้แก่ การโยกย้ายที่ไม่ชอบธรรมและการเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ย่อมทำให้ “แนวร่วม” ของฝ่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ครับ!
       ปัญหาทั้ง 4 ประการที่ผมยกมาเป็นสิ่งที่ผมคิดและเห็นว่าจะทำให้ประชาชนที่เห็นการรัฐประหารเป็น “ความชอบธรรม” ของการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมากลายเป็น “ความไม่ชอบธรรม” ครับ อย่าลืมนะครับว่า พลังประชาชนสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างแม้กระทั่ง “ล้ม” รัฐบาลครับ!!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความสามบทความมานำเสนอ บทความแรกเป็นบทความของศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนคนล่าสุดของประเทศไทยจากสำนักท่าพระจันทร์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่เขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง กฎหมายทั้งหลายสิ้นสุดลงตามด้วยหรือไม่” บทความที่สองเป็นบทความของนักวิชาการขาประจำของเราคือ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้เขียนบทความเรื่อง “หนึ่งประเทศ สองรัฐบาล” และสำหรับบทความที่สามเป็นบทความของ คุณบุญเสริม นาคสาร จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้เขียนบทความเรื่อง “องค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของไทย” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1012
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)