ครั้งที่ 147

13 พฤศจิกายน 2549 04:51 น.

       ครั้งที่ 147
       สำหรับวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2549
       
       “โรงเรียนเตรียมข้ารัฐการ”
       
       ในระหว่างวันที่ 4 – 12 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อดูงานด้านการพัฒนาระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กับเลขาธิการ กพร.และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีครับ การดูงานครั้งนี้นอกจากจะน่าสนใจมากแล้ว ก็ยังได้พบสิ่งใหม่ ๆ หลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบข้าราชการของฝรั่งเศส ก็เลยขอนำมาเล่าให้ฟังกันครับ
       ประเทศฝรั่งเศสมีข้ารัฐการประมาณ 5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 60 ล้านคนเศษ ในจำนวนข้ารัฐการ 5 ล้านคนนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มข้ารัฐการที่ทำงานกับรัฐ คือ ทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีประมาณ 2.5 ล้านคน กลุ่มข้ารัฐการท้องถิ่นประมาณ 1.5 ล้านคนและกลุ่มข้ารัฐการสาธารณสุขอีกประมาณ 1 ล้านคน จำนวนข้ารัฐการ 5 ล้านคนนี้ ไม่นับรวมข้ารัฐการประเภททหาร ผู้พิพากษา และผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจประเภทต่าง ๆ ด้วย เท่าที่ทราบจำนวนข้ารัฐการของฝรั่งเศสนั้นคงที่มาหลายปีแล้ว ซึ่ง “สวนทาง” กับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปที่มีนโยบาย “ลด” ข้ารัฐการส่วนกลางและ “เพิ่ม” ข้ารัฐการส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองรูปแบบการปกครองแบบกระจายอำนาจครับ การเป็นข้ารัฐการในประเทศฝรั่งเศสนั้นถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ดีมากเพราะทั้งมีเกียรติ มีอำนาจและมีความมั่งคงในวิชาชีพ ก็คงเหมือน ๆ กับการเข้าเป็นข้าราชการบ้านเราครับ จะมีแตกต่างกันก็ตรงที่ว่าการเข้าเป็นข้าราชการในบ้านเรานั้น “ง่าย” กว่าการเข้าเป็นข้ารัฐการของฝรั่งเศส!!
       ทำไมการเข้าเป็นข้ารัฐการของฝรั่งเศสจึง “ยาก” คำตอบคงมีอยู่ในตัวแล้วว่า เนื่องจากข้ารัฐการเป็น “กลไก” สำคัญในการ “ขับเคลื่อน” รัฐไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดอันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของรัฐ ดังนั้น ข้ารัฐการจึงต้องเป็นทั้งผู้ที่มี “ความรู้” และ “ความสามารถ” พร้อมกันในเวลาเดียวกัน และต้องเป็นผู้ที่มี “ความรู้” ในหลาย ๆ ด้านทั้งในด้านวิชาการเฉพาะทางและในด้านที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองและประชาชนด้วยครับ คุณสมบัติที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นข้ารัฐการซึ่งผู้ที่แม้จะสำเร็จการศึกษาในระดับใดก็ตาม ยังไม่ถือว่ามีคุณสมบัติข้างต้นครบถ้วนเพราะสิ่งที่สถานศึกษาให้กับผู้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษานั้นเป็นเพียงการให้ความรู้ด้านวิชาการอันเป็นความรู้ “ภาคทฤษฎี” แต่เพียงอย่างเดียว ความสามารถอันเป็นความรู้ “ภาคปฏิบัติ” นั้นเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถให้ได้ ดังนั้น หากผู้ที่สำเร็จการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวเข้าไปเป็นข้ารัฐการ ก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้แต่ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งก็จะส่งผลให้การทำงานไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ดีเท่าที่ควร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ฝรั่งเศสจึงได้ตั้งโรงเรียนต่าง ๆ ขึ้นมามากมายสำหรับ “เตรียม” คนเข้าสู่ระบบข้ารัฐการประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้ารัฐการพลเรือน ข้ารัฐการทหาร ตุลาการ และผู้ประกอบวิชาชีพสำคัญ ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าจะเทียบเคียงกับบ้านเราก็คงเทียบได้กับโรงเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนนายร้อยตำรวจครับ โรงเรียนดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญที่เหมือน ๆ กันก็คือ เตรียมคนเข้าสู่ระบบโดยจะทำการ “ให้” ในสิ่งที่คนเหล่านั้น “ยังไม่ได้รับ” จากสถาบันการศึกษา เช่น เทคนิคและวิธีการทำงาน รวมไปถึงความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในฐานะข้ารัฐการด้วยครับ
       การเดินทางมาประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยครั้งมากที่ “ดูงานจนเหนื่อย” เพราะแทบจะหาเวลาว่างทำธุระส่วนตัวไม่ได้เลยครับ ผมได้ดูงานหลายหน่วยงานมาก ซึ่งถ้าจะให้เล่าให้ฟังทั้งหมดก็คงต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากผม “สนใจ” ในหน่วยงานหนึ่งซึ่ง “คาดว่า” จะจัดตั้งขึ้นในบ้านเราในเวลาอันใกล้นี้ก็เลยจะขอนำมาเล่าให้ฟังกันในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ หน่วยงานดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Institut Régional d’Administration (I.R.A.) ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงแปลได้ว่า โรงเรียนเตรียมข้ารัฐการ ครับ
       สถาบัน I.R.A. นี้เป็น “โรงเรียน” ประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เตรียมผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบรัฐในฐานะข้ารัฐการระดับกลาง (ส่วนสถาบันที่เตียมความพร้อมของคนที่จะเข้าเป็นข้ารัฐการระดับสูงนั้นมีอยู่แล้วคือ สถาบันนักปกครองชั้นสูง (Ecole Nationale d'Administration) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนายพล de Gaulle เมื่อปี ค.ศ.1945 ครับ) สถาบัน I.R.A. มีหน้าที่ “สอน” ให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาในสถาบันรู้จักใช้ “เครื่องมือ” และ “เทคนิค” ในการบริหารจัดการเพื่อให้การทำงานกับฝ่ายปกครองเป็นไปอย่างดี ถูกต้อง เข้าใจถึงภารกิจของรัฐ รู้จักการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ รู้จักประโยชน์สาธารณะ รู้จักความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน รวมไปถึงรู้จักและเข้าใจในระบบความสัมพันธ์ระหว่าง ข้ารัฐการ-รัฐ-ประชาชน ด้วยครับ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อเข้าเป็นข้ารัฐการแล้วโดยทั่วไปบุคคลดังกล่าวก็มักจะเป็นข้ารัฐการไปตลอดชีวิต การ “มี” ข้ารัฐการที่ดีและทำงานได้ผลสำเร็จก็ย่อมทำให้รัฐมีความเจริญก้าวหน้าตามมาด้วย กล่าวโดยสรุปวัตถุประสงค์ของสถาบัน I.R.A. ก็คือ การเตรียมคนเข้าสู่ระบบรัฐนั่นเอง
       การเตรียมคนเข้าสู่ระบบรัฐของสถาบัน I.R.A. นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับการเข้าไปทำงานในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพราะ I.R.A.ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับเตรียมคนเข้าทำงานกับ “ฝ่ายปกครอง” ทั้งระบบ โดย I.R.A.จะทำการ “คัดเลือก” บุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ามา “ศึกษาอบรม” เพื่อให้ออกไปเป็นข้ารัฐการที่มีความรู้ความสามารถดีได้ครับ
       สถาบัน I.R.A. ในประเทศฝรั่งเศสมีอยู่ด้วยกัน 5 แห่งที่เมือง Lyon Lille Nantes Metz และ Bastia จุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของ I.R.A. นั้นก็เนื่องมาจากในปี ค.ศ.1970 เกิดการปฏิรูประบบรัฐการของฝรั่งเศสครั้งสำคัญทำให้มีการแบ่งอำนาจให้ภูมิภาค (déconcentration)มากขึ้น  ดังนั้น จึงต้องมีการเพิ่มจำนวนข้ารัฐการจากส่วนกลางจำนวนมากเพื่อเข้าไปทำงานในส่วนภูมิภาค โดยเน้นว่า ข้ารัฐการเหล่านั้นนอกจากจะต้องเป็น “คนเก่ง” ทางวิชาการแล้วยังจะต้องเป็นคนที่ “สามารถ” ทำงานแทนส่วนกลางได้ด้วย จึงได้มีการจัดตั้งสถาบัน I.R.A.ขึ้นมาเพื่อผลิต “ข้ารัฐการพันธุ์ใหม่” ขึ้นมาครับ โดยในช่วงแรกนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดตั้ง I.R.A.ขึ้น 2 แห่งที่เมือง Lille และ Lyon ในปี ค.ศ.1971 อีกไม่นานก็ก่อตั้ง I.R.A. อีก 3 แห่งตามมา โดยในปัจจุบัน I.R.A.ทั้ง 5 แห่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเดียวกัน มีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกัน และมีการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลาครับ
       สถาบัน I.R.A.ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติในปี ค.ศ.1970 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบัน I.R.A.แต่ละแห่งมีโครงสร้างการบริหารงานภายในที่แยกจากกันแต่มีการบริหารจัดการในลักษณะเดียวกันคือ มีผู้อำนวยการสถาบันและคณะกรรมการสถาบัน ผู้อำนวยการสถาบันแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ส่วนคณะกรรมการสถาบันนั้นก็มีที่มาที่หลากหลายเพราะประกอบด้วยข้ารัฐการระดับสูง รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตภูมิภาคที่ I.R.A.ตั้งอยู่ นักวิชาการที่กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งมา และมีอดีตนักศึกษาของ I.R.A.ร่วมเป็นกรรมการด้วย
       ในปีหนึ่ง ๆ I.R.A.แต่ละแห่งจะรับนักศึกษาได้ประมาณปีละไม่เกิน 140 คน โดยจำนวนนักศึกษาที่จะรับได้นั้น กระทรวงข้ารัฐการ (Ministère de la Fonction Publique) จะเป็นผู้กำหนดโดยจะทำการจัดทำ “รายชื่อตำแหน่ง” ต่าง ๆ ที่มีอยู่และสามารถบรรจุบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งเหล่านั้นได้แยกตามภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งของ I.R.A.แต่ละแห่ง เมื่อนักศึกษาผ่านการศึกษาอบรมจาก I.R.A.แล้วก็จะสามารถเข้าทำงานในตำแหน่งเหล่านั้นได้ทันที ซึ่งก็เป็นหลักประกันที่ดีว่า เมื่อ “ผ่าน” การศึกษาอบรมจาก I.R.A.แล้วก็จะได้เข้าทำงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่ตามที่กระทรวงข้ารัฐการได้แจ้งให้ทราบตั้งแต่ต้น
       กระบวนการคัดเลือกนักศึกษาเข้า I.R.A.นั้นมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย บุคคลที่จะเข้าศึกษาที่ I.R.A.ได้ต้องผ่าน “การสอบเข้า” แต่มีการ “แยกประเภท” คุณสมบัติของผู้ที่จะสอบเข้า I.R.A.ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (มีปริญญา) ประเภทที่ทำงานอยู่ในฝ่ายปกครองอยู่แล้ว (ไม่มีปริญญา) และประเภทผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปีในที่อื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ไม่มีการจำกัดคุณสมบัติเรื่องอายุของผู้ที่จะเข้าเป็นนักศึกษาของ I.R.A. ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้นมี “นักศึกษา” คนหนึ่งอายุ 50 ปีเศษครับ! เมื่อบุคคลใดสามารถผ่านการสอบเข้ามาศึกษาใน I.R.A.ได้ บุคคลนั้นก็จะมีสถานะเป็น “ข้ารัฐการฝึกงาน” (fonctionnaire stagière) ทันทีและได้รับเงินเดือนจากรัฐอีกเดือนละ 1300 ยูโรครับ
       หลักสูตรของ I.R.A.นั้น มีระยะเวลารวม 1 ปี โดยในหลักสูตรประกอบด้วยสองส่วนสำคัญคือ การศึกษาและการฝึกงาน การศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่วิชาสำคัญ 5 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มการบริหารจัดการภาครัฐ (gestion public) เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ การติดต่อสื่อสาร คอมพิวเตอร์ สถิติ เป็นต้น กลุ่มสถาบันการเมืองและนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องระบบการเมืองของฝรั่งเศส สหภาพยุโรป กลุ่มเทคนิคกฎหมาย ที่สอนกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ข้ารัฐการ กลุ่มเทคนิคการคลัง เช่น การบัญชี การงบประมาณ การใช้จ่ายเงิน และกลุ่มภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี สเปน ส่วนการฝึกงานนั้น มีระยะเวลาทั้งสิ้น 13 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 6 สัปดาห์ ในช่วงหลังเปิดเทอมได้ 1 เดือน และช่วงหลังอีก 7 สัปดาห์ เริ่มต้นหลังจากฝึกงานช่วงแรกไปแล้ว 3 เดือน การฝึกงานถือเป็นสาระสำคัญของหลักสูตรเพราะนักเรียนจะต้องเข้าไป “ร่วมทำงาน” จริง ๆ กับฝ่ายปกครองในฐานะที่เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของฝ่ายปกครองซึ่งทำให้การฝึกงานของนักเรียน I.R.A.มีความแตกต่างจากการฝึกงานทั่ว ๆ ไปเพราะนอกจากจะต้องทำให้ได้คะแนนดีแล้วยังมี “ความรับผิดชอบ” ในฐานะข้ารัฐการกับงานที่ตัวเองทำไปด้วย
       ผมไปดูงานที่ I.R.A. 2 แห่งคือ ที่เมือง Nantes และเมือง Lille ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เหมือน ๆ กันครับ มีข้อยกเว้นบางประการที่ทำให้การศึกษาใน I.R.A.ที่ Lille แตกต่างจากที่ Nantes ก็คือ ที่ Lille นั้นมีการสอนเพิ่มมาอีก 2 เรื่อง จะเรียกว่าการสอนคงไม่ใช่เพราะในเรื่องแรกนั้น เขาก็จะจัดให้มี “การแสดง” โดยจ้างนักแสดงมืออาชีพมาสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นคล้ายกับมีหน่วยงานหนึ่งที่มีผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานที่ “มีปัญหา” และ “สร้างความกดดัน” รูปแบบต่าง ๆ ในที่ทำงาน นักศึกษาที่เข้าไปร่วมในการแสดงก็จะต้องหาทางแก้ปัญหาและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในการแสดงนี้ สถาบัน I.R.A.ได้จัดให้มี “จิตแพทย์” มาประเมินสภาพจิตของนักศึกษาหลังการแสดงด้วยครับ ส่วนเรื่องที่สอง ก็เป็นการฝึกนักศึกษาเป็นกลุ่มโดยสร้างสถานการณ์ประเภทภัยพิบัติขึ้นมาและให้นักศึกษาซึ่งสมมติว่าเป็นข้ารัฐการในหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันแก้ปัญหา โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันร่วมกันหาทางออกให้ปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การสอนทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ I.R.A.แห่งเมือง Lille คิดค้นและจัดให้มีขึ้นเพื่อฝึกให้ “ว่าที่” ข้ารัฐการสามารถ “รับมือ” กับเหตุการณ์ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในการทำงานของตนครับ
       สำหรับการสอบเพื่อจบการศึกษานั้น ก็จะมีการให้คะแนนจากการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และจากการฝึกงาน โดยในการสอบข้อเขียนก็จะสอบวิชาที่ได้ทำการศึกษาไปใน 5 กลุ่มวิชาดังกล่าวไปแล้วข้างต้น การสอบสัมภาษณ์ก็จะเป็นเรื่องการฝึกหัดให้นักศึกษาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4-5 คน โดยจะมีการแจกหัวข้อให้แต่ละกลุ่มไปศึกษาค้นคว้าล่วงหน้าแล้วมานำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพ ส่วนผลของการฝึกงานทั้งสองช่วงก็จะถูกนำมาประเมินด้วย โดยในตอนจบของการฝึกงาน “หัวหน้าหน่วยงาน” และ “พี่เลี้ยง” จะเป็นผู้ประเมินนักศึกษาที่มาฝึกงาน รวมทั้งผลของการที่ I.R.A.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของตนไปประเมินนักศึกษายังสถานที่ฝึกงานในระหว่างเวลาฝึกงานก็นำมาประกอบในการประเมินดังกล่าวด้วยครับ สำหรับผลการสอบนั้นจะมีความเกี่ยวพันกับงานที่นักศึกษาต้องไปทำต่อไปเพราะนักศึกษาของ I.R.A.สามารถ “เลือก” ทำงานได้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ ทำงานกับส่วนกลาง ทำงานกับส่วนภูมิภาค หรือทำงานเป็นฝ่ายบริหารในสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับ คะแนนที่ได้จากการสอบกับประเภทของงานที่นักศึกษาเลือกจะมีความสัมพันธ์กันโดยกรรมการสอบจะเป็นผู้ตัดสินว่านักศึกษาแต่ละคนจะไปทำงานที่ใด โดย “อิง” จากคะแนนสอบที่ได้ประกอบกับประเภทงานที่นักศึกษาเลือกครับ จากนั้น นักศึกษาเหล่านั้นก็จะเข้าเป็น “ข้ารัฐการ” ต่อไป
       กล่าวโดยสรุป การเข้าเป็น “ข้ารัฐการ” ของฝรั่งเศสนั้นก็คงยุ่งยากกว่าการเข้าเป็นข้ารัฐการของไทยอยู่มาก เพราะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ถึง 4 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ได้ปริญญา สอบเข้าโรงเรียน ผ่านการฝึกอบรมและสอบออกจากโรงเรียน จึงจะได้ทำงานเป็นข้ารัฐการครับ!!!
       สถาบัน I.R.A. เป็นสถาบันที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะมีผู้สนใจเข้าศึกษาที่สถาบันดังกล่าวเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยความยากลำบากของการเข้าเป็นข้ารัฐการประกอบกับมีผู้อยากเป็นข้ารัฐการจำนวนมาก มหาวิทยาลัยแห่งเมือง Brest จึงได้สร้างหลักสูตรพิเศษคล้ายกับหลักสูตรกวดวิชาขึ้นมาในปี ค.ศ.1972 เพื่อเตรียมคนให้สามารถสอบเข้า I.R.A.ได้ ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.1985 ก็ได้มีการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวและได้ก่อตั้งสถาบันอิสระขึ้นในมหาวิทยาลัย Brest เพื่อให้เป็นสถาบันเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานกับฝ่ายปกครอง (Institut de Préparation à l’Administration Générale หรือ I.P.A.G.) วัตถุประสงค์ของสถาบันนี้ก็คือ ให้การศึกษาในวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการสอบเข้า I.R.A.โดยในปัจจุบัน I.P.A.G. เปิดสอนสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ (Administration Publique) ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทครับ ผู้ที่เข้ามาเรียนใน I.P.A.G.ส่วนใหญ่ก็เพื่อไปสอบเข้า I.R.A. (และส่วนใหญ่ก็สอบเข้าได้ด้วยครับ) แต่ถึงแม้จะมีบางคนที่สอบเข้าไม่ได้ คนเหล่านี้ก็ได้รับปริญญาจากสถาบัน I.P.A.G.ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐครับ หลักสูตรของ I.P.A.G.นี้จะมีความสัมพันธ์กับการสอบเข้า I.R.A. การจัดการเรียนการสอนของ I.P.A.G. ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากกระทรวงข้ารัฐการ (Ministère de la Fonction Publique) ส่วนเนื้อหาของรายวิชาที่ทำการสอนก็จะเน้นด้านกฎหมายมหาชน การคลัง เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษครับ
       ในเวลาอีกไม่นานนัก ผมเข้าใจว่าเราคงจะจัดตั้งสถาบันในลักษณะเดียวกับสถาบัน I.R.A.ขึ้นในสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีครับ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าว่าสถาบัน I.R.A.ของไทยนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ส่วน I.P.A.G. นั้นก็ฝากให้เพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยกันคิดว่า ถืงเวลาหรือยังที่เราจะจัดตั้ง "โรงเรียนกวดวิชา" อย่างเป็นระบบเพื่อเตรียมคนเข้าสู่ความพร้อมในการเข้าเป็นข้าราชการครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง “การปฏิรูปการเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขในยุคโลกาภิวัตน์” ตามมาด้วยบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “วิกฤตินิติศาสตร์ไทย” และบทความสุดท้ายที่เขียนโดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะด้านการศึกษา” บทความทั้ง3 เป็นบทความที่น่าสนใจซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้ง 3 ไว้เป็นอย่างมากด้วยครับและหวังว่าคงจะส่งบทความมาร่วมกับเราเรื่อย ๆ ครับ
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1008
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)