|
|
การปฏิรูปการเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขในยุคโลกาภิวัตน์ โดย อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน 13 พฤศจิกายน 2549 04:51 น.
|
การปฏิรูปการเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นความพยายามในการฉายให้เห็นภาพบริบทการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเหตุปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่กำลังกระหนาบตีประเทศชาติแทบจะทุกทิศทาง เครื่องมือของโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็น ทุน เงินตรา และข้อมูลข่าวสาร ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดในการกำหนดทิศทางของประเทศชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคำตอบที่ได้ คือ วิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กระทั่งวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งทำให้สังคมไทยกำลังตกอยู่ในสภาพ สังคมอยู่ร้อน นอนทุกข์
เมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเดินเข้าสู่วาระของการปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสำรวจตรวจสอบถึงรากเหง้าของปัญหาสังคมให้แจ่มชัดเสียก่อน หาไม่แล้วการปฏิรูปการเมืองก็คงจะไม่สามารถค้นหาเครื่องมือทางสังคมหรือมาตรการทางกฎหมายที่ดีและเหมาะสมกับประเทศชาติในการเอาตัวรอดจากการกระหนาบตีของโลกาภิวัตน์เป็นแน่ ซึ่งโดยนัย ประเทศไทยก็ไม่อาจคืนสภาพกลับเป็น สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ได้
การปฏิรูปการเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขในยุคโลกาภิวัตน์ ประกอบไปด้วย หัวข้อสำคัญจำนวน ๔ หัวข้อ ได้แก่
(๑) ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์
(๒) การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑
(๓) การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : มุมมองใหม่ในการปฏิรูปการเมือง
(๔) การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ : การมีอำนาจเหนือภาครัฐบาลและภาคการตลาดของประชาสังคม
(๑) ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในหกนักวิชาการของเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปรูปการเมือง ที่ได้ออกไปแสดงความคิดเห็นต่อต้านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) โดยแสดงความคิดความเห็นคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฯที่จัดทำขึ้นโดยคณะนักกฎหมายของนายมีชัย ฤชุพันธ์อย่างเปิดเผย ต่อหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประเด็นต่างๆผู้เขียนเห็นว่าจะต้องมีการอธิบายข้อบกพร่องของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประสงค์บริสุทธิ์ คือ การให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กลายเป็นหนทางไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง ให้จงได้ ซึ่งการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญฯท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบเรียบร้อยเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกับการพิจารณาบริบททางสังคมควบคู่กันไป
๑.๑ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนทางสังคม
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากสมัชชาแห่งชาติ 2000 คน ซึ่งมีวิธีการสรรหาจากบัญชีรายชื่อบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ จากนั้นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจะเลือกกันเองจนเหลือสมาชิก 200 คน โดยส่งรายชื่อให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือกเหลือ 100 คน เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่ไปกับคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติเลือกจำนวน 10 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำไปให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญพิจารณาเสนอความคิดเห็น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ประชาชนแสดงประชามติ (Referundum)
เมื่อพิจารณาถึงองค์กรที่มีส่วนต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่า มีหลายองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะผู้สร้างระเบียบการคัดสรรสมัชชาแหง่ชาติ สมัชชาแห่งชาติที่จะกลายร่างเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ และประชาชน ซึ่งแต่ละองค์กรมีความสำคัญที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่าจุดสำคัญที่เป็นจุดชี้ขาดในเนื้อหาของการก่อร่างสร้างตัวของบทบัญญัติ มีอยู่หลายจุด ตั้งแต่
๑.การคัดสรรสมัชชาแห่งชาติซึ่งต้องมีการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนจำนวน 2000 คน ว่าสมัชชาจะมีหน้าตาอย่างไร
๒.การคัดเลือกสมัชชาแห่งชาติกันเองจนเหลือ 200 คน จะมีการแทรกแซงด้วยอำนาจชนิดต่างๆหรือไม่
๓.จากข้อ ๑ และ ๒ จะส่งผลกระทบไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีรูปร่างหน้าตาแบบใด
๔.คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมีรูปร่างหน้าตาแบบใด
จุดสำคัญเหล่านี้ คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรให้การจับตามองว่า ประเทศไทยจะได้บุคคลจากภาคส่วนใด เข้าไปปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคม (Sectors) บนบริบทแห่งโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปด้วย
๑.๒ ภาคส่วนทางสังคม (Sector) บนบริบทการเมืองแบบโลกาภิวัตน์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ การรัฐประหาร และการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด มีต้นตอสำคัญมาจากการเสียสมดุลทางสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหลัก ดังนั้น การทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคมที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาการปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตามประกอบไปด้วยภาคส่วนที่สำคัญสามภาคส่วน
ภาคพลเรือน (Civil Sector) ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วยพันธมิตรของประชาชนในวงกว้าง ที่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะประชาชน ภาคส่วนเหล่านี้ จะมีความเข้มแข็งในการเรียกร้องสิทธิต่างๆเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง คุณภาพของประชาสังคม ไปพร้อมๆกับการขยาย แนวร่วมของประชาสังคม ซึ่งหากได้รับความร่วมมือที่ดี ก็จะกลายเป็น ประชาสังคมคุณภาพ ซึ่งมีพลังการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสูงได้ หากภาคพลเรือน ไร้โอกาสในการเข้าถึงความรู้ และไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลกาภิวัฒน์ ภาคพลเรือนก็จะเป็นได้แค่ พลังประชาชนที่กลายเป็นเหยื่อของโลภิวัฒน์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ อนาธิปไตย หรือประชาชนบางกลุ่ม อาจถูกลดทอนคุณภาพจนกลายเป็นประชาชนใน ประชาธิปไตยแบบรับจ้างก็ย่อมได้
ภาครัฐบาล ( Government Sector) รัฐบาลเป็นภาคที่ภาคพลเรือนได้มอบอำนาจ เพื่อใช้อำนาจให้เกิดการบังคับการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการรักษากฎหมาย ความมั่นคงของชาติ เก็บภาษีอากร จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งภาครัฐบาลนั้นหากหมดซึ่งความชอบธรรม ก็อาจถูกภาคพลเรือนเรียกคืนอำนาจได้ ทั้งโดยรูปแบบทางกฎหมาย และฉันทามติโดยธรรมชาติ (เช่นกรณีรัฐประหารในประเทศไทย) ภาครัฐบาลที่ดีจะทำงานสนองตอบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อภาคพลเรือน แต่หากเป็นรัฐบาลที่เลวก็จะทำงานสนองตอบต่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง โดยไม่สนใจต่อผลประโยชน์สาธารณะ
ภาคตลาด ( Market Sector) มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก
๑.๓ ดุลยภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไปภายหลังรัฐประหาร
เมื่อพิจารณาบทบาทของภาคส่วนทางสังคมในยุคทักษิณจะพบว่า ภาคการตลาด (Marget Sector) เป็นภาคที่มีบทบาทนำในสังคมไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจาก ระบอบทักษิณ มีรากฐานของพลังอำนาจมาจากเงินตราและชื่อเสียงในทางธุรกิจในตลาดข้อมูลข่าวสาร บทบาทนำดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคการตลาดเท่านั้น แต่ยังถักทอพลังของการตลาดให้มีอิทธิเหนือ ภาคการเมือง ( Government Sector) และภาคพลเรือน (Civil Sector) ได้อย่างมากมายมหาศาล
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยในยุคทักษิณ มีภาคการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าการพัฒนาประเทศไปด้วยการผนึกเอา กลไกของรัฐบาล อันมีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา องค์กรอิสระ และศาล ทำหน้าที่ตามที่ภาคการตลาดบงการบัญชา และการหลอมรวมเอาภาคพลเรือนส่วนใหญ่ ทั้งที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัดให้กลายเป็นเครื่องมือของภาคการตลาดที่ผสมตัวกับภาครัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการนำเสนอ เมนูนโยบายประชานิยม เพื่อสร้างความชอบธรรมและเพิ่มช่องทางในการจับจ่ายเมนูนโยบายให้เกิดขึ้นกับ กลุ่มลูกค้าทางการเมือง โดยมิได้เล็งเห็นถึง ความมีอยู่ของภาคพลเรือน ที่เป็น ประชาสังคมคุณภาพ
จากเหตุปัจจัยข้างต้น สังคมไทยในยุคทักษิณ จึงเป็นยุคที่ ภาคการตลาดซึ่งหลอมรวมตัวกับภาครัฐบาล ได้สร้างแรงกดทับมหาศาล ลงบนภาคพลเรือนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ภาคการตลาดให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ การลงทุน ระบบเงินตรา ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยมิพักต้องกล่าวถึง คุณธรรมและจริยธรรมแต่ประการใด ซึ่งนั่นทำให้ภาคการตลาดสามารถใช้พลังอำนาจของตน และพลังอำนาจของรัฐบาล ดำเนินกิจกรรมด้วยแรงขับของธรรมชาติแห่ง ความโลภ โดยการเข้า แย่งยึดทรัพยากรทางสังคมของภาคพลเรือน กระทั่งการทุบทำลาย ต้นทุนทางสังคมของภาคพลเรือน ผ่านเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้ง การบัญญัติกฎหมายโดยเนติบริกร การหลีกเลี่ยงกฎหมาย การใช้องค์กรรัฐเป็นเครื่องมือทำงานสนองตอบต่อตลาดมากกว่าประโยชน์สาธารณะ กระทั่งการใช้ เทคนิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยการปิดบังข้อมูลบางส่วนที่ภาคการตลาดเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์กับตนเองและการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับภาคการตลาดในปริมาณที่เกินสมควร เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือนที่ขาดความสามารถในการเข้าถึงความรู้ให้กลายเป็น ทาสของภาคการตลาด และ สาวกทางการเมือง ไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้กระบวนการจัดตั้งการเคลื่อนไหวโดย เงินตรา ก็นำไปสู่ ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง ซึ่งทำให้ บางส่วนของ ภาคพลเรือน มิได้มีลักษณะเป็น ประชาสังคมที่มีคุณภาพเพียงพอในการดำเนินหน้าที่เรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะ
การก่อตัวของกระบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลาต่อมา คือ การปรากฏตัวของ ภาคพลเรือน ที่ไม่สามารถแบกรับแรงกดดันที่ภาคการตลาด และภาครัฐบาลกระทำต่อตนเองได้ องค์ประกอบของภาคพลเรือนในบริบทต่างๆได้มีการนำปัญหาของตนขึ้นเป็นวาระในการชุมนุมประท้วง มาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จนเหตุการณ์พัฒนาไปถึงขั้นที่จะมีการปะทะกันระหว่าง ภาคพลเรือน ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กับ ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง ซึ่งในที่สุด รัฐประหาร ได้กลายเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว
การรัฐประหารจนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ส่งผลกระทบสำคัญ ต่อภาคส่วนทางสังคมหลายประการ
ประการแรก การรัฐประหารทำให้ ภาคการตลาดในระบอบทักษิณ แยกตัวออกจาก ภาครัฐบาล เพียงชั่วคราวซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกเมื่อใด ปรากฏการณ์นับจากนี้จะมีการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นมากมาย และภายในภาคหน้า เงินตรา จะกลับมาประสานกลุ่มการเมืองต่างๆเข้าด้วยกันอีกครั้ง
ประการที่สอง ภาครัฐบาลมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินการบริหารประเทศ รัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการบริหารได้มีอิสระมากขึ้น โดยไม่มี ภาคการตลาดเข้ามาแทรกแซงมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อภาคการตลาด และ ประชาธิปไตยรับจ้าง มากน้อยเพียงใด
ประการที่สาม ภาคพลเรือนที่เหนื่อยล้ากับการชุมนุมประท้วง เริ่มมีความหวังกับการบริหารประเทศ จนหลงลืมว่า การรัฐประหาร คือจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การเริ่มนับหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒
ดังนั้น หากตรวจแถวภาคส่วนทางสังคม ณ ปัจจุบัน จะพบว่า ภาคส่วนที่อิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ภาครัฐบาล อันมีหน่วยงานต่างๆทั้ง คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระบบราชการ ในขณะที่พรรคการเมืองไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆได้
ในขณะที่ ภาคการตลาด ก็อ่อนประสิทธิภาพลงไป แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้ การข่าว การสร้างพันธมิตรนอกประเทศเพื่อปิดล้อม กระทั่งการใช้ ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง อยู่ก็ตาม แต่การดำเนินการต่างๆยังถูกควบคุมอย่างเข้มข้น โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
สำหรับภาคพลเรือนนั้น ต้องยอมรับว่า แบ่งได้เป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กับ ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง ซึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมนับจากนี้ จะตกอยู่ในมือของฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่ต้องมีการระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆของตนอย่างถูกต้อง เพื่อผลสำคัญในการนำผลประโยชน์สาธารณะที่ถูกภาคการตลาดแย่งยึดไปกลับคืนมา ซึ่งในที่นี้รวมถึง การเข้าไปมีส่วนสำคัญในวางรากฐานของประเทศชาติ ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองผ่านการเข้ามีส่วนร่วมทางในการร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๑.๔ การปรับดุลยภาพทางสังคมเพื่อผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์
ในยุคโลกาภิวัตน์อันมีภาคการตลาดเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนสังคมที่ยึดถือ การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสรณะ ได้เกิดกระบวนการทุบทำลายระบบศีลธรรมทางการเมืองของภาครัฐบาลให้เสียหายมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ภาครัฐบาลดำเนินการเพื่อเป้าหมายของภาคการตลาดมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ กระบวนการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเป็นความเดือดร้อนของภาคพลเรือนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเหตุนี้ การปรับดุลยภาพทางสังคมจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทบทวนก่อนที่ประเทศชาติกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฯ
ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ภาคพลเรือนถือเป็นผู้ก่อตั้ง ภาครัฐบาลและจัดให้มีภาคการตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาคประชาสังคมต้องมาก่อน เนื่องจากอำนาจหน้าที่และความชอบธรรมของสถาบันอื่นๆล้วนมีที่มาจากภาคพลเรือนทั้งสิ้น ภาครัฐบาลจึงควรมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันให้มีการสร้างและรักษากฎเกณฑ์ภายในเพื่อสนองตอบต่อภาคพลเรือน และควบคุมภาคการตลาดให้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ รัฐบาลจึงควรมีความสำคัญเป็นอันดับสอง และภาคการตลาดที่สามานย์จึงควรถูกควบคุมให้มีบทบาทอยู่ในลำดับสุดท้าย
เมื่อภาคพลเรือนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ การทำความเข้าใจถึงคุณภาพของภาคพลเรือน ว่าภาคส่วนย่อยภายในภาคพลเรือนมีลักษณะเป็น ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือ ภาคพลเรือนประชาธิปไตยแบบรับจ้าง ซึ่งปัญหาคุณภาพของภาคพลเรือนก็เป็นจุดชี้ขาดประการสำคัญว่า การปฏิรูปการเมืองจะดำเนินไปในทิศทางทีมีคุณภาพหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการสร้างพันธมิตรทางการเมืองภายในภาคพลเรือน ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพันธมิตรภาคพลเรือนต้องเป็น พันธมิตรที่มีคุณภาพทางความรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของสมาชิกภาคประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พันธมิตรเหล่านี้จะเบ่งบานออกเป็นช่อดอกไม้ที่สวยงาม และมีนัยในการยกย่องประชาชนในความหมายที่แท้จริง และต้องมีการทำความเข้าใจกับภาคพลเรือนให้ทราบโดยทั่วกันว่า ศัตรูที่แท้จริงของประโยชน์สาธารณะไม่ใช่มีเพียง ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉลเท่านั้น แต่รวมถึง ภาคการตลาด ที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรจาก ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จงรวมกันเข้า เพื่อช่วงชิงพื้นที่ และยึดกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ใน ค่ายกลรัฐธรรมนูญ ที่ พ่อมดรัฐธรรมนูญ สร้างเอาไว้ แล้วจงเคลื่อนตัวไปมีส่วนในการเขียน กฎกติกาที่มีประชาสังคมไทยเป็นใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยดำรงคงอยู่ต่อไปท่ามกลางโลกาภิวัตน์ที่สร้างและขับเคลื่อนโดยภาคการตลาดอันแสนสามานย์
(๒) การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑
นักวิชาการหลายท่านได้เริ่มออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มขึ้น แต่ละท่านก็มีหลักการพื้นฐานในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้แตกต่างกันออกไป บางท่านก็เสนอแนะให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาเป็นหลักการในการพิจารณาแก้ไข บางท่านก็เสนอแนะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางท่านก็เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเน้นให้น้ำหนักไปที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และหลักวิชา ซึ่งทั้งหมดพอจะสรุป หลักการเบื้องต้นที่ใช่ในการพิจารณาทั้งสิ้น สามหลักการ คือ การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
หลักการทั้งสามเป็นหลักการที่มองถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยที่ต้องมีการผสมผสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันอย่างมีดุลยภาพ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้อีกถึงการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนในเชิงลึกซึ่งจะนำไปสู่การได้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการร่างรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ และเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ จึงจำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
นอกจากการประสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันในการปฏิรูปการเมืองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วง คือ กระบวนการในการพิจารณาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยหลัก อิทัปปัจจยตา แล้ว โลกาภิวัตน์ย่อมส่งผลกระทบถึง ระบอบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริบทอื่นๆแทบจะทุกมิติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทบทวนดังกล่าว เราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ไม่อาจแยกขาดจากบริบทต่างๆที่ความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง และพึงตั้งสติให้มั่นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นการปฏิรูปการเมืองที่ยืนอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างไปจากการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจบริบทการเมืองที่มีความแตกต่างกันของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ กับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะทำการปฏิรูปการเมือง ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการผสมผสานหลักการสามประการข้างต้น และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย เป็นเพียงสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งในบรรดาสถาบันทางสังคมอื่นๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาสังคมควบคู่ไปกับเครื่องมือทางสังคมชนิดอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะทำให้เรามองสังคมในภาพรวมได้ออก และจะได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ของรัฐธรรมนูญ สถาบันที่รัฐธรรมนูญก่อตั้ง ตลอดจนกระบวนการในรัฐธรรมนูญ ได้อย่างถูกต้องตามความจริงและสอดคล้องกับบริบทสังคมนั่นเอง
๒.๑ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ : กับการเกิดขึ้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์
กำเนิดของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ มีจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนหลังกลับไปในสมัยรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 โดย รสช. ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ได้พัฒนากลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็น ยุคเริ่มต้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้คำว่าโลกานุวัตรอยู่ ความเบื่อหน่ายทางการเมืองของประชาชนได้ก่อให้เกิดแรงขับดันกลายเป็น กระแสเรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นผู้นำทางการเมืองที่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาทางสังคม จนในที่สุดประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใช้ในปี พ.ศ.2540 พร้อมๆกับการเจริญเติบโตของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์อันมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ในนามอัศวินคลื่นลูกที่สาม
หากมองถึง กระบวนการปฏิรูปการเมืองในขณะนั้น จะพบว่าปัญหาสำคัญทางการเมืองมีอยู่มากมายหลายปัญหา ซึ่ง ศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้สรุปถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นไว้ ว่าเป็นปัญหาที่ตัวแก่นกลางของอำนาจ ระหว่างอำนาจสามฝ่ายคือ อำนาจรัฐที่ใช้โดย องค์กรทางการเมือง อำนาจรัฐที่เป็นกลไกประจำในระบบราชการ และอำนาจที่ใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ ต่างๆจนนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการปกครอง ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางออกที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเมืองตามแนวทาง Constitutionalism โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐธรรมนูญที่เข้าไปจัดการความไร้เสถียรภาพ และการสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคพลเรือน
ด้วยเหตุข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นมรรคที่มีความสอดคล้องกับ ทุกข์ ทางการเมือง ณ ขณะนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดทำรายงานการวิจัย เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทั้งสิ้น 15 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มุ่งเข้าไปจัดการทำให้อำนาจมีเสถียรภาพ ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จนในที่สุดแนวความคิดต่างๆที่อยู่ในการรายงานการวิจัยชุดดังกล่าว ก็กลายเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มุ่งตอบคำถามและแก้ปัญหาในบริบทการเมือง ณ ขณะนั้น โดยที่สังคมไทยไม่อาจทราบได้ถึง การเจริญเติบโตของภาคส่วนใหม่ที่มีความร้ายกาจยิ่งกว่า ภาครัฐบาล (Government Sector) นั่นคือ ภาคการตลาด (Market Sector) ที่กำลังเข้ามาควบรวมและกินรวบประเทศชาติ
๒.๒ การทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยภาคการตลาด (Market Sector) ที่ผสานตัวกับภาคการเมือง (Goverment Sector)
ในช่วงเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฯสามารถแก้ปัญหา การเมืองเก่าได้ดีในระดับหนึ่ง มีนักการเมืองหลายท่านต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายประการ ทั้งการเสนอร่างกฎหมายสู่สภา การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ และรัฐบาลก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการสร้าง Strong Executive ซึ่งมาตรการสร้างเสถียรภาพเหล่านี้ สอดรับได้ดี กับการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบาย ประชานิยม ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคด้วยการเอาชนะใจคนในระดับรากแก้ว พร้อมๆไปกับการได้รับเสถียรภาพทางการเมืองจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้น คือ จุดเปลี่ยนและบททดสอบสำคัญของรัฐธรรมนูญและประเทศชาติ ที่ต้องแบกรับการบริหารประเทศโดย พรรคไทยรักไทย ที่ควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) และภาคการตลาด (Market Sector) เข้าด้วยกัน และนั่น คือ บริบททางสังคมใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ในหัวข้อเรื่อง ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ ผมได้กล่าวถึง ภาคการตลาด ว่ามีธรรมชาติพิเศษ คือ ภาคการตลาดมีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก
จากธรรมชาติดังกล่าว อาจสรุปได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ภาคการตลาดมีธรรมชาติที่สำคัญ ดังนี้
ภาคการตลาด ขับเคลื่อนหน้าที่ของตนเองด้วย ความโลภ
ภาคการตลาด มีวิธีการดำเนินการของตนเอง ที่ไม่มีการคำนึงถึง คุณธรรม จริยธรรมทางสังคม และกฎหมาย หรือ อาจกล่าวได้ว่า จริยธรรมของภาคการตลาด คือ ความไม่มีจริยธรรมใดๆเลยก็ว่าได้
ภาคการตลาด มีความสามารถของพลังเงินตราในการควบรวม (Take Over) ภาครัฐบาล(Government) บนวัฒนธรรมอำนาจ และควบรวมภาคพลเรือน (Civil Sector) บนวัฒนธรรมอุปถัมป์ ได้ไม่ยากนัก
คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่ใน นโยบายทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ปีกของ พรรคไทยรักไทย ทั้งสิ้น ซึ่ง ธรรมชาติเหล่านี้ได้แสดงอานุภาพในการบดขยี้ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีหลักฐานยืนยันว่ารัฐธรรมนูญถูกทำลายแทบจะทุกหมวด เช่น
การละเมิดสถาบันกษัตริย์และศาสนาเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญฯในหมวด ๑ และ ๒ เพราะ ภาคการตลาดไม่มีความสนใจสถาบันทางสังคมใดๆ นอกจากสถาบันแห่งเงินตรา และองค์กรโลกบาล
กรณีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีนโยบายฆ่าตัดตอน กรณีการสังหารประชาชนที่ตากใบ และกรือเซะ เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๓ เพราะภาคการตลาดชอบการสั่งการบังคับบัญชาที่เด็ดขาดเหมือนการสั่งลูกน้องในบริษัท
กรณีการเลี่ยงภาษีของนายทักษิณ เป็นการทำลายหน้าที่ของชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงแต่การลดต้นทุนการผลิต และการเลี่ยงภาษีก็เป็นวิธีการลดต้นทุนที่ภาคการตลาดทำอยู่เป็นประจำ
กรณีการซื้อรัฐสภา เป็นการทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงการบังคับบัญชาแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ CEO
กรณีการโกงการเลือกตั้ง เป็นการทำลายระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นนักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเอาชนะคะคานกันในทางธุรกิจที่แปลงรูปมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มีเงินตราเป็นยุทธปัจจัยโดยไม่สนใจว่าวิธีการในการเอาชนะจะถูกต้องหรือไม่
กรณีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นภาคที่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการจึงไม่ต้องการการตรวจสอบที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและถ่วงเวลาในการบริหาร
กรณีนโยบายผู้ว่า CEO และการไม่จ่ายเงินงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เป็นการทำลายระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยับเยิน เพราะภาคการตลาดมีระบบการบริหารที่มุ่งเน้นการสั่งการจากส่วนกลาง
กรณีการโอนกิจการสัมปทานให้กับสิงคโปร์ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นทำลายผลประโยชน์สาธารณะของภาคพลเรือน เพราะภาคการตลาดเป็นภาคที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ
สิ่งเหล่านี้ คือ ประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจน ถึงซากปรักหักพังของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถูกทุบทำลายอย่างไม่ชิ้นดี จาก พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีกำเนิดจากภาคการตลาด ที่ไม่มีกฎหมายอยู่ในสายตา ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งใด นอกกำไรสูงสุดของตนเองและพวกพ้อง ทั้งหมด คือที่มาของความล่มสลายของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีต้นตอมาจากเลือดและน้ำตาของเหล่าวีรชนเดือนพฤษภา
๒.๓ บริบทสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ : โจทย์ข้อใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒
จากการรวบรวมข้อเสนอแนะ ในรายงานการวิจัย เรื่อง การใช้และข้อค้นพบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ผู้เขียนเป็นจัดทำรายงานการวิจัย ทำให้ได้พบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯอยู่มากมายหลายประการ ทั้งในส่วนของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 90 วันก่อวันเลือกตั้ง การจัดระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกบฝ่ายนิติบัญญัติใหม่ การแก้ไขเรื่องการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และข้อเสนอแนะอื่นๆอีกมากมาย ผู้เขียนพบว่า ข้อเสนอแนะบางข้อเสนอ เป็นข้อเสนอโดยตรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการ ซึ่งบรรดาข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ ได้นำไปสู่คำถามสำคัญของผู้เขียนว่า ข้อเสนอต่างๆเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนพื้นฐานทางสังคมวิทยาการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หากคำตอบออกมาในกรณีแรกก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ต้องคิดค้นและตั้งคำถามต่อไปมาตรการทางกฎหมายที่เสนอสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกทุบทำลายโดยภาคการตลาดได้หรือไม่ แต่หากคำตอบออกมาในกรณีที่สองคือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ จะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงมีความคิดว่า การปฏิรูปเมืองครั้งที่ ๒ ที่กำลังจะเกิดจะขึ้น ควรมีการพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ให้แจ่มชัด ว่า ทุกข์ทางสังคมครั้งใหญ่ครั้งนี้มี สาเหตุ หรือ สมุทัย มาจากสิ่งใด เพื่อค้นหามรรควิธีที่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมให้จงได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนได้ค้นพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาทางการเมือง คือ โลกาภิวัตน์ ที่มีภาคการตลาดเป็นตัวนำ ในการควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนที่อ่อนแอ ดังนั้นฐานคิดในเบื้องต้นในการปฏิรูปการเมือง และการบูรณะรัฐธรรมนูญ จึงมีโจทย์ที่ผู้เขียนโยนสู่สังคมให้ขบคิดทั้งสิ้นห้าประการ คือ
๑.จะทำอย่างไรในการลดบาททางการเมืองของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์ ในการเข้าควบรวม ภาครัฐบาลและภาคพลเรือน
๒.จะทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐบาลที่ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าผลประโยชน์ของภาคการตลาด
๓.จะทำอย่างไรให้ภาคพลเรือนสามารถมีส่วนในการป้องกันตนเองจากภาครัฐบาลและภาคการตลาด และเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทางความจริงให้มากที่สุด
๔.จะทำอย่างไรในการวางสิ่งกีดขวางทางกฎหมายและสถาบันทางสังคมอื่นๆเพื่อป้องกันการท่วมทะลักของโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาทำลายประเทศชาติ
๕.จะทำอย่างไรให้ ภาคพลเรือน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขึ้นเป็นผู้นำเหนือภาครัฐบาล และภาคการตลาดได้อย่างแท้จริง
หากการปฏิรูปการเมืองไม่อาจตอบคำถามหรือแก้โจทย์ทั้งห้าข้อได้ ผมคิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในครั้งนี้ จะไม่มีคำตอบให้กับการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติ อย่างแน่นอน นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ ประการแล้ว การไขโจทย์ทั้ง ๕ ข้อ คือ เทียนส่องให้เห็นภูมิประเทศทางสังคม เพื่อก้าวเดินสู่ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้แล้ว
(๓) การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : มุมมองใหม่ในการปฏิรูปการเมือง
สังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ของภาคส่วนทางสังคมอย่างน้อยที่สุด ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐบาล (Government Sector) ภาคพลเรือน (Civil Sector) และ ภาคการตลาด (Market Sector) ในบทความ เรื่องการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วถึงปัญหาการเมืองไทยว่ามีที่มาจาก การที่ภาคการตลาดได้ใช้บรรดาเครื่องมือทั้ง ทุน เงินตรา และ ข้อมูลข่าวสาร เข้าควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ให้อยู่ภายใต้อาณัติของตน ระบอบทักษิณ จึงเป็นระบอบที่รวบรวมคุณลักษณะของ ภาคการตลาด ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนไว้เป็นหนึ่งเดียว
เมื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร จนสามารถขับไล่ ระบอบทักษิณ ไปได้ในระดับหนึ่ง แท้จริงแล้วความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นมีที่มาจากการใช้ เครื่องมือทางสังคมดั้งเดิม คือ การรัฐประหาร และ การใช้ข้อมูลข่าวสารทีวีผ่านดาวเทียม เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณ อย่างต่อเนื่องซึ่งประสบความสำเร็จเฉพาะในเมืองหลวงและเขตเมืองในต่างจังหวัด
จากลักษณะของสังคมโลกาภิวัฒน์ และบทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ถอดบทเรียนสำคัญ ของเหตุการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๙ กันยายน ว่าเป็นการต่อสู้กันของอำนาจจำนวนสามคู่ สำคัญ
คู่แรก คือการต่อสู้กันของ อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) กันเอง ระหว่าง อำนาจของรัฐบาลรักษาการณ์ใน ระบอบทักษิณ กับอำนาจทางการทหารของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้ของอำนาจคู่นี้เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว
คู่ที่สอง คือ การต่อสู้กันระหว่าง อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) ของคณะปฏิรูปฯ กับอำนาจ ทุน (Capital Power) ของ ระบอบทักษิณ
และคู่ที่สาม คือ การต่อสู้กัน ระหว่าง อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ของระบอบทักษิณ กับ อำนาจของพลเรือนแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้กุม อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)
จากการต่อสู้กันของอำนาจทั้งสามคู่ เราจะพบว่า ในบรรดาอำนาจและเครื่องมือที่ฝากฝ่ายต่างๆใช้ นั้น สามารถแบ่งอำนาจออกได้เป็นสามประเภท คือ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) อำนาจ ทุน (Capital Power) ของภาคการตลาด และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) ของภาคการตลาดและภาคพลเรือน อำนาจทั้งสามคือเหตุปัจจัยในสร้างจุดพลิกผัน จนสังคมไทยเดินมาถึงวาระของการปฏิรูปการเมืองตามกลไกและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด
ดังนั้น การเพ่งพินิจถึงความดำรงอยู่ของอำนาจทั้งสาม จึงเป็นบริบทพื้นฐานที่สังคมพึงตั้งสติก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย
๓.๑อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา
เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง สิ่งที่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก คือ ข้อความคิดว่าด้วยอำนาจและสถาบันทางการเมือง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ รัฐธรรมนูญ คือ บทบัญญัติของกฎหมาย ที่มีภารกิจสำคัญ ในการวางระบอบการปกครอง จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจ และสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจต่างๆ ทั้งหมด คือ กรอบแนวความคิดแบบ Classic ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาถึงการปฏิรูปการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและสถาบันทางการเมือง
สำหรับประเทศไทย นั้น เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ซึ่งแบ่งแยกอำนาจและสถาบันทางการเมือง ออกเป็นสามส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ ที่ใช้โดยรัฐสภา อำนาจบริหารที่ใช้โดยคณะรัฐมนตรีและระบบราชการ อำนาจตุลาการที่ใช้โดยศาล โดยทั้งสามอำนาจมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันละกัน อำนาจนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบอำนาจบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจบริหารตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติโดยการยุบสภา ในขณะที่อำนาจตุลาการมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ตนมีเขตอำนาจ นอกจากนี้ผลจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ได้ทำเกิดระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระขึ้นมากมายหลายองค์กร โดยอำนาจทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองมีจุดเกาะเกี่ยวกับ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งหมดคือลักษณะโดยทั่วไป ของ อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตประเทศจนนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประเด็นในการพิจารณาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องวางฐานคิดโดยคำนึงถึง อำนาจและสถาบันการเมือง ตามตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบ Classic อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า การตั้งฐานคิด จาก มุมมองดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาและปฏิรูปอำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบรัฐสภาได้ และสมมุติฐานดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ฯ 2540 ซึ่งเคยมีผู้ให้ความเห็นไว้มากมายหลายประเด็น
๓.๒ แนวความคิดของภาคส่วนต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
เมื่อพิเคราะห์บริบททางการเมืองภายในภาคอำนาจของรัฐบาล จะพบว่า ผลของการควบรวมภาคการตลาดเข้ากับภาครัฐบาล ประกอบกับมาตรการของรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ ในการสร้าง Strong Prime Minister และการแทรกแซงองค์กรอิสระด้วยอำนาจ ทุน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนย่อยๆภายในภาครัฐบาล(Government Sector) ทั้งผลกระทบต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านที่ไม่สามารถทำการตรวจสอบรัฐบาลได้ ผลกระทบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นอิสระ ผลกระทบต่อการทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรอิสระที่ทำให้เกิดคำถามจากสังคมในมากมายหลายกรณี แรงกดดันเหล่านี้ได้ผันแปรความคิดของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในภาคส่วนต่างๆจนกลายเป็นข้อเสนอแนะที่ส่วนใหญ่มุ่งผลทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารอ่อนตัวลง และเสริมความแข็งแกร่งของภาคการตรวจสอบ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ทำการรวบรวมข้อเสนอแนะในการปฏิรูปทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องอำนาจทางการเมืองไว้มากมายหลายถึง ๕๐ ประเด็น ซึ่งโดยสรุป สามารถแบ่งแยกประเด็นที่มีนักวิชาการเสนอไว้สามประเด็นหลัก คือ
๓.๒.๑ประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในภาครัฐบาล ซึ่งครอบคลุมถึงระบบการเข้าสู่อำนาจที่มีความเกี่ยวพันขององค์ประกอบสามประการ คือ ทั้งในส่วนของ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้น และอำนาจของพรรคการเมืองอ่อนตัวลง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีข้อเสนอสำคัญ คือ การเสนอให้มีศาลเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลดแอกผลการเลือกตั้งออกจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งเกินไป และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็มีข้อเสนอสำคัญ คือ ให้ตัดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีที่มาจากพรรคการเมืองออก เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
๓.๒.๒ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย โดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่าง คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การลดบทบาทของพรรคการเมืองในวุฒิสภา การห้ามถือสัมปทานของรัฐและการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรขยายไปถึงภรรยาและบุตรทั่งไม่บรรลุนิติภาวะด้วย การจัดให้มีองค์กรพิจารณาชี้ขาดในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ การจัดโครงสร้างและวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบถ่วงดุล ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้นในการตรวจสอบคณะรัฐมนตรี การลดจำนวนเสียงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจากสองในห้าเหลือหนึ่งในห้า เพื่อให้การตรวจสอบนายกรัฐมนตรีทำได้ง่ายขึ้น
๓.๒.๓ ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ได้มีข้อเสนอสำคัญ ในการลดการแทรกแซงทางการเมืองในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ การกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม การกำหนดให้การยื่นถอดถอนนักการเมืองทำได้ง่ายขึ้น การกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถยื่นเรื่องให้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้
เมื่อพิจารณา ข้อเสนอแนะในประเด็นหลักทั้งสามประเด็น จะพบว่าข้อเสนอต่างๆเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาไปที่ตัว องค์กรผู้อำนาจ ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลภายระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ และ ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อลดความเข้มแข็งของ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สร้างเสริมระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ และ ลดอิทธิพลของพรรคการเมืองในองค์กรอิสระเพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบ ซึ่งข้อเสนอโดยส่วนใหญ่ ถือเป็นข้อเสนอที่ยืนอยู่บนฐานการจัดการอำนาจ ตามกรอบแนวความคิดแบบ Classic ผสมผสานกับความพยายามในการกำจัดอำนาจของ ทุนใหญ่ หรือ ทุนโลกาภิวัตน์ ออกจากอำนาจของภาครัฐบาล
โดยสรุป ข้อเสนอของนักวิชาการ นักการเมือง ภาคส่วนต่างๆ และประชาชน คือ ความพยายามในการปฏิรูปการเมือง บนพื้นฐานของแนวความคิดในทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับความพยายามในการขจัด ลดทอน ควบคุม ภาคการตลาด (Marget Sector) จากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Government Sector) หรืออาจเรียกว่า ทฤษฎีแก้ ของปัญหา การทับซ้อนของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) นั่นเอง
๓.๓ อำนาจอ่อน (Soft Power) นวัตกรรมอำนาจของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์
จากข้อเสนอแนะของภาคส่วนต่างๆทำให้เกิดนิมิตหมายที่ดีที่สังคมไทยได้เริ่มตระหนักรู้ถึง อำนาจทุนของภาคการตลาด(Marget Sector) ที่เข้ามาแย่งยึด อำนาจรัฐบาลของภาครัฐบาล(Government Sector) จนก่อความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนอยากที่จะขยายภาพของภาคการตลาดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ให้รู้ไส้สนกลในของภาคการตลาดอย่างสั้นๆในเวลาการอ่านอันรวดเร็ว เพื่อสังคมไทยจะได้เข้าใจพัฒนาการ โครงสร้าง เครื่องมือของภาคการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงอยู่ของ อำนาจชนิดใหม่ ที่มีนอกเหนือไปจากอำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) และ อำนาจ ทุน (Capital Power) อันได้แก่ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power นั่นเอง
ในยุคโลกาภิวัตน์ ถือเป็นยุคสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือ สังคมทั่วไปรับรู้ในนามของ ยุคทองของเศรษฐกิจแห่งคลื่นลูกที่ ๓ ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวขบวน คลื่นลูก ๓ เป็นคลื่นที่เกิดตามมาหลังจาก คลื่นลูก ๒ คือ เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและการส่งออก และคลื่นลูกที่ ๑ คือ เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม การเกิดขึ้นของคลื่นทางเศรษฐกิจได้ทำให้กระบวนการผลิตสินค้า พัฒนาจาก สินค้าเกษตร ไปสู่สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่ง Benjamin R. Barber เรียกผลิตผลทางเศรษฐกิจเหล่านี้ว่าเป็น สินค้าแข็ง (Hard Good) ที่เป็นฐานในการสะสมอำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) ซึ่งถือเป็น อำนาจแข็ง (Hard Power)
สินค้าแข็ง หรือ อำนาจแข็ง หมายความว่า สินค้า หรือ อำนาจเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังเกต แลเห็น รับรู้สัมผัสด้วยความรู้สึกได้ง่าย ในส่วนของอำนาจนั้น รวมถึงอำนาจทางการทหาร อำนาจของระบบราชการ อำนาจเงินตราด้วย ซึ่ง สินค้าแข็ง หรือ อำนาจแข็ง เหล่านี้หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีต่อสังคม ภาคการตลาด (Marget Secor) และภาครัฐบาล (Government Sector) ก็จะถูกกระบวนการจาก ภาคพลเรือน (Civil Sector) ต่อต้านในรูปแบบต่างๆทั้งการชุมนุมประท้วง การบอยคอตสินค้า การต่อต้านอำนาจด้วยวิธีการรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด ทั้งนี้เนื่องจาก ภาคพลเรือน เป็นภาคผู้รับผลจาก กระบวนการผลิต และ กระบวนการใช้อำนาจ นั่นเอง
สำหรับในระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์นั้น บทบาทของเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้ถูกลดทอนลงไป พร้อมๆกับการมีอิทธิพลของ เศรษฐกิจในภาคบริการ ซึ่งถือเป็น สาระสำคัญ และวิธีการของ ภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ โดยในส่วนของภาคบริการนั้น เราอาจแบ่งภาคบริการได้สามประเภท ดังนี้
(๑) ภาคบริการแบบดั้งเดิม ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการประชาชนโดยตรงแบบดั้งเดิม เช่น การขนส่ง การรักษาโรค คนรับใช้ เจ้าของโรงแรมและผู้ช่วย นักบิน เป็นต้น
(๒) ภาคบริการแบบให้ความสะดวกกับระบบ ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการในระบบต่างๆทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อาทิ นักกฎหมาย นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นายธนาคาร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายละการวางแผน เป็นต้น
(๓) ภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) ผู้ที่สร้าง สื่อ สัญลักษณ์ การสร้างคำ การสร้างภาพลักษณ์ การสร้างความรู้สึก ลงในข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การบันเทิง เช่น นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน ปัญญาชน ครู นักเทศน์ นักการเมือง ซึ่งมีภาคนี้มีหน้าที่สำคัญในการ ถอดรื้อ จิตวิญญาณของสังคมและประชาชน และ ประกอบ จิตวิญญาณนั้นใหม่เพื่อบังคับบัญชาสังคมไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ
จากพัฒนาการของ ภาคการตลาดและบริบทการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า พรรคไทยรักไทย นอกจากจะใช้อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)ในการล้างผลาญประเทศชาติแล้ว พรรคไทยรักไทยที่มีหัวหน้าพรรคและที่ปรึกษาหลายคนที่มีความช่ำชองในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ได้ใช้อำนาจชนิดใหม่ที่มีที่มาจากภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) มาใช้ในการคอบครอง ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ผ่านกระบวนการการสร้างภาพลักษณ์ สร้างความรู้สึก ถอดรื้อ ทำลาย จิตวิญญาณทางสังคมเดิม และประกอบใหม่ในทิศทางที่พรรคไทยรักไทยต้องการ ซึ่งอำนาจเหล่านี้ เป็นอำนาจที่สังเกตและตรวจสอบได้ยาก เพราะอำนาจเหล่านี้มาในรูปแบบที่อ่อนน้อมและสวยงาม แต่เป็นอำนาจที่กินลึกลงไปถึงจิตใจคน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น อำนาจอ่อน หรือ Soft Power ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการใช้อำนาจเหนือ จิตวิญญาณของภาคพลเรือนรากแก้ว
อำนาจอ่อน หรือ Soft Power คือ อำนาจใหม่ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้นอกเหนือไปจาก อำนาจแข็ง ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งหากมองในแง่ของ ศาสตร์ อำนาจอ่อนคือ ศาสตร์แห่งสื่อ (Mediology) ที่สะกดประเทศ สะกดจิตสำนึกของประชาชน โดยใช้เครื่องมือทั้งการสร้างนิยาย สร้างภาพฝัน สร้างภาพลักษณ์ การโจมตีทางจิตใจ เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือน ที่ชอบออกต่อต้าน กับ อำนาจแข็ง ไปเป็น ผู้สยบยอม กระทั่งกลายเป็นเพียง ผู้บริโภคความจริงเสมือน ที่ถูกร่ายมนต์โดยโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector)
หากจะกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่าน ได้เกิดกระบวนการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) หรือ กระบวนการใช้ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power แทบจะทุกวัน ผ่านรายการโทรทัศน์ การโฆษณาโครงการของรัฐบาลโดยใช้งบของหน่วยงานราชการ การจัดงานบันเทิงการเมืองในพื้นที่ต่างๆ การจัดรายการวิทยุซึ่งส่งผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน กระทั่งการสร้างภาพยนตร์ เรื่อง ตาดูดาว เท้าติดดิน ที่ลาโรงไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ พรรคไทยรักไทย ได้ใช้เครื่องมือทั้งหมดของ ภาคบริการโทรสาระบันเทิง เพื่อเสริมสร้างฐานอำนาจของตนเอง นอกเหนือไปจาก อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)
การดำรงอยู่ของ อำนาจอ่อน (Soft Power) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับอำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) อันสามานย์ คือ สิ่งที่สังคมไทยต้องรู้เท่าทัน เพื่อการปฏิรูปการเมือง จะได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และถือเป็น ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม จากมาตรการแยกสลายอำนาจ ทุน (Capital Power) ออกจาก อำนาจของภาครัฐบาล(Goverment Power) ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่า นักวิชาการ นักการเมือง และภาคส่วนต่างๆ หลายท่านกำลังขบคิดกันอยู่
๓.๔ การควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)
ในบรรดาข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ข้อเสนอที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ตรงเป้าตรงประเด็นที่สุด คือ ข้อเสนอของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเธอได้ให้มุมมองของการปฏิรูปทั้งในแง่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการปฏิรูปสื่อ แท้จริง ก็คือ การปฏิรูปอำนาจข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน นั่นเองดังนั้น ข้อเสนอในการปฏิรูปสื่อ จึงควรเข้ามาผูกโยงสัมพันธ์กับ การปฏิรูปการใช้สื่อของ ภาคการตลาด และภาคการเมือง ที่ต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ ถ่วงดุล (Check and Balance) ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า นักวิชาการสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์ ควรจะมีการยกระดับมุมมองหลักการแบ่งแยกอำนาจ ของ มองเตสกิเยอร์ ที่มีหัวใจ คือ ตรวจสอบถ่วงดุล ว่าหมายถึง การแบ่งแยกอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบถ่วงดุลในทางข้อมูลข่าวสาร และการมีระบบตรวจสอบการใช้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอประการสำคัญ ของผู้เขียน ที่เป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปอำนาจทางการเมือง จึงมีดังนี้
๑.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารของพรรคการเมือง
๒.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารโครงการของส่วนราชการที่มีลักษณะส่อไปในทางเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม
๓. การจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการให้พรรคฝ่ายค้าน และภาคพลเรือนสามารถใช้สื่อเพื่อตรวจสอบภาครัฐบาล
๔.การควบคุมการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมือง รัฐบาล และหน่วยงานราชการ
๕.การจัดให้มี องค์กรสื่ออิสระ ของภาคพลเรือน ที่ปราศจากการแทรกแซง ของอำนาจรัฐบาล และ อำนาจทุนของภาคการตลาด
๖.การจัดให้ องค์กรตุลาการ มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อของภาคการเมืองและภาคการตลาดโดยไม่เป็นธรรม
ข้อเสนอดังกล่าว ดูเป็นข้อเสนอที่คิดนอกกรอบ แต่หากพิจารณากรอบทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ในความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้มีอำนาจกับพลเรือนจะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทาส กับทาส เป็นเพียงอำนาจเหนือทางร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าศักดินากับพลเรือน เป็นเพียงอำนาจเหนือที่ดิน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเรือนเป็นเพียงอำนาจทางการเมืองเหนือสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของประโยชน์สาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับพลเรือน เป็นเพียง อำนาจทุน เงินตรา ที่มีเหนือทรัพยากรของพลเรือน
แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กุมอำนาจข้อมูลข่าวสาร กับภาคพลเรือน คือ อำนาจเหนือจิตใจ ที่พร้อมร่ายมนต์ ให้พลเรือน ยอมละทิ้ง ซึ่ง ทรัพยากร สิทธิและเสรีภาพที่ชอบธรรม ที่ดิน กระทั่ง การยอมตนลงเป็น ทาส ของภาคการตลาดสามานย์ ที่ใช้อำนาจทุนแย่งยึดอำนาจจากภาคการเมือง และใช้อำนาจของข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน (Soft Power) อันชั่วร้าย แย่งยึดหัวใจคนไทยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
(๔) การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ : การมีอำนาจเหนือภาครัฐบาลและภาคการตลาดของประชาสังคม
ในเบื้องต้น คงต้องยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันมีที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาให้ความคิดความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่าง รัฐบาลทักษิณ กับ กลุ่มอำนาจเก่า และ อำนาจทุนใหม่ กับ อำนาจทุนเก่า ก็ตาม ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าว ก็มีความถูกต้องอยู่ในระดับนึง แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นการมองข้ามความมีอยู่ หรือ ดูแคลน ภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสถานการณ์ทางการเมืองให้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ในสถานการณ์การปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งในการใช้มุมมองทางวิชาการแบบเดิมๆที่ปฏิเสธพลังขับเคลื่อนทางสังคมของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยนัยเป็นการแสดงออกถึงความยอมจำนนต่อทฤษฎีทางความคิดที่ไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง เป็นการยอมจำนนต่อ ตัวบทกฎหมาย ที่ไร้แรงขับเคลื่อนและนำพาภาคพลเรือนไปสัมผัสความยุติธรรมทางสังคมได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุข้างต้น การทำความเข้าใจความดำรงคงอยู่และพลังขับเคลื่อนของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวางรากฐานทางความคิดเพื่อให้การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ดำเนินไปบนหนทางในการสร้าง สุขภาวะ ของภาคพลเรือนได้อย่างแท้จริง ซึ่งในเบื้องต้นต้องมีการทำความเข้าใจถึงความดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือนในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของภาคพลเรือนบนบริบทโลกาภิวัตน์
๔.๑ การดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์
ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาคพลเรือนถือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อผลสำคัญในการปกป้องหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ สิทธิและเสรีภาพ ภาคพลเรือนหรือ ประชาชน สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ในสองรูปแบบ ทั้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) และ ประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งจากหลักการทั้งสองหลักการได้นำไปสู่ การมีสิทธิของภาคพลเรือนในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งใน ภาครัฐบาล (Government Sector) ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลไปถึงการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ในทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญยังยอมรับความมีอยู่ของ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือเป็นปฐมฐานในการจัดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ว่าได้ และผลของประชาธิปไตยแบบทางตรง(Direct Democracy) ก็นำไปสู่การยอมรับความมีอยู่ของอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ทั้งอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งเน้นหลักการกระจายอำนาจ (Decentralisation) ก็ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้เข้าไปยอมรับความมีอยู่ของอำนาจในการปกครองตนเองของภาคพลเรือน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมุ่งสร้างระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ตอบสนองต่อปัญหาของภาคพลเรือนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง
โดยสรุป ในกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยอมรับ ความมีอยู่ของภาคพลเรือนไว้ในหลายจุด ซึ่งการยอมรับดังกล่าวจะช่วยให้ภาคพลเรือนสามารถปกป้องตนเองจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Goverment Sector) สามารถเรียกร้องให้รัฐจัดให้มีซึ่งกฎหมายและการบริหารที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆ สามารถเข้าไปส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และสามารถปกครองตนเองได้โดยอิสระจากภาครัฐบาล
ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือน ในตัวบทกฎหมายซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริงในสังคมโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องจากในสังคมโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่าง ภาครัฐบาล(Goverment Sector) กับ ภาคพลเรือน (Civil Sector) เท่านั้น แต่จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า ภาคการตลาดเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญต่อบริบทแวดล้อมทั้งหมดของสังคมการเมืองไทย อันเป็นผลจากความสำเร็จของภาคการตลาด (Market Sector) ในการควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) ด้วยอำนาจทุน (Capital Power) และการควบรวม ภาคพลเรือน (Civil Sector) ด้วย อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ สิ้นสภาพบังคับ ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ยอมรับความมีอยู่ของภาคพลเรือน โดยสิ้นเชิง
ภาคการตลาด (Market Sector) ที่ทรงอิทธิพลยิ่งได้ใช้อำนาจทุน(Capital Power) อำนาจรัฐบาล (GovermentPower) และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ทำลายล้างความมีอยู่ของภาคพลเรือน ดังนี้
๑.การใช้อำนาจทั้งสามในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นในกรณีนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด กรณีตากใบ กรณี มัสยิดกรือเซะ กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร การสังหารนายเจริญ วัดอักษร
๒.การใช้อำนาจทั้งสามในการสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทั้งกลไกการเสนอร่างกฎหมาย กลไกการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตัวอย่างเช่น กรณีการรับฟังความคิดเห็นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) การสร้างอุปสรรคในกระบวนการยื่นถอดถอนนักการเมือง( ตัวอย่างเช่น กรณีการยื่นถอดถอนอดีตนายก ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากการบล็อกโหวตในวุฒิสภา)
๓.การใช้อำนาจทั้งสามในการทำลายการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการผนึกโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขึ้นตรงต่อนโยบาย ขึ้นตรงต่อความคิด ของระบบการบริหารแบบบูรณาการอำนาจ (CEO) ผ่าน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (ตัวอย่างเช่น การเดินทางของสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นมาที่วัดพระธรรมกาย)
๔.การใช้อำนาจทั้งสามในการมอมเมาภาคพลเรือน ด้วยนโยบายประชานิยม สร้างกองทัพประชาธิปไตยรับจ้าง การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกของภาคพลเรือน การวางแผนให้ภาคพลเรือนสองฝ่ายเข้าปะทะกัน จนเป็นเหตุให้ต้องเกิดการรัฐประหาร
๕.การใช้อำนาจทั้งสามในการเอาชนะกันในทางการเมือง โดยการซื้อเสียงจากภาคพลเรือน ทำให้เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ
๖.การใช้อำนาจทั้งสามเข้าแย่งยึด ประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)ที่สงวนไว้สำหรับภาคพลเรือนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรณี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การโอนสัมปทานให้กองทุน Temasek
ประจักษ์หลักฐานที่กล่าวมาล้วนเป็นความจริงที่แสดงให้เห็นถึง ความดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งต้องมีการทบทวนกันให้ชัดเจนว่า การปฏิรูปการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีมาตรการอย่างไรในการขจัดปัญหาต่างๆและทะลายข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการปกป้องตนเองจากสังคมโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในการดำรงคงอยู่อย่างมี สุขภาวะในสังคมโลกาภิวัตน์ ที่ได้สร้างข้อจำกัดให้ภาคพลเรือนอย่างมากมาย
๔.๒ ข้อจำกัดของในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน
ในสังคมโลกาภิวัตน์ ภาคพลเรือนกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำจากทั้งภาครัฐบาลและภาคการตลาด โดยที่ภาคพลเรือนไม่สามารถต่อสู้ ป้องกันตนเองจากอำนาจต่างๆได้อย่างเต็มที่ ภาคพลเรือนจึงต้องทำการต่อต้านอำนาจด้วยเครื่องมือทางสังคมเท่าที่ตนมี แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะบัญญัติรับรองความมีอยู่ของภาคพลเรือนในรูปแบบต่างๆไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพของกระบวนการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะพบว่าภาคพลเรือนยังมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิและอำนาจของภาคพลเรือนอยู่มากมายหลายประการ อาทิ
๑.ข้อจำกัดในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพ เมื่อพิจารณากลไกในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะพบว่า ไม่มีกระบวนการในการบังคับการตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงองค์กรให้คำปรึกษาและเสนอแนะเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบังคับการทางกฎหมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นภาคพลเรือนจึงต้องทำการดิ้นรนบังคับการตามสิทธิของตนที่ถูกละเมิด โดยการพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในระบบต่างๆ ซึ่งก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระบวนการยุติธรรม ของประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ไม่เอื้อสำหรับภาคพลเรือนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจที่เพียงพอ
๒.ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เมื่อพิจารณามาตรการในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการรับฟังความคิดเห็นโดยการทำประชาพิจารณ์ จะพบว่าภาคพลเรือนยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมมีความสลับซับซ้อน มีขั้นตอนในการดำเนินการที่ภาคพลเรือนต้องเป็นผู้แบกรับภาระทั้งในแง่ของจำนวนประชาชน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ตลอดจนขั้นตอนในการพิจารณาเรื่องต่างๆที่ภาคประชาชนเสนอไปมักถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลัง หรือกระทั่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการภาครัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชน
๓.ข้อจำกัดในการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อพิจารณานโยบายของภาครัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า นโยบายต่างๆมีลักษณะสวนทางกับหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น นโยบายส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญการบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งสังเกตได้จากความพยายามในการรวบอำนาจของท้องถิ่นกลับมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด การใช้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายงบประมาณลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีความโปร่งใส หรือกระทั่งการใช้อิทธิพลของ ส.ส.ในพื้นที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นไม่อาจดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่กลับกลายเป็นเพียงฐานอำนาจทางการเมืองของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเท่านั้น
๔.ข้อจำกัดในการตรวจสอบอำนาจรัฐบาลของภาคพลเรือน เมื่อพิจารณามาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะพบว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของภาคพลเรือนจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล อย่างไรก็ตามอิทธิพลของภาครัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระฯจนองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องคุมครองภาคพลเรือนได้เต็มที่นัก นอกจากนี้องค์กรอิสระบางองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลับไม่มีอำนาจในการเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขึ้นสู่การพิจารณาขององค์กรตุลาการแต่อย่างใด ในขณะองค์กรอิสระที่เหลือก็มีขั้นตอนการดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนที่สลับซับซ้อนจนประชาชนไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง
๕.ข้อจำกัดในการปกป้องตนเองจากอำนาจทุน ในยุคโลกาภิวัฒน์สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อภาคพลเรือน คือการที่ภาคการตลาดเข้าทำการควบรวมภาครัฐบาล ซึ่งหมายถึงการควบรวมกันระหว่าง อำนาจทุนกับอำนาจรัฐบาล โดยภาคการตลาดจะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐบาลที่ต้องสนองตอบต่อผลประโยชน์สาธารณะให้ไปสนองตอบต่อผลประโยชนส่วนตน กรณีนี้สังเกตได้จากปัญหา การเจรจาลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เข้าไปทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกร กรณีปัญหาการค้าปลีก ที่กลุ่มทุนต่างชาติได้เข้ามาทำลายการค้าของชุมชนและท้องถิ่น กรณีการวางท่อก๊าซในโครงการต่างๆ ซึ่งที่สุดแล้วภาคพลเรือนก็มีหนทางในการปกป้องตนเองเพียงการชุมนุมประท้วง การใช้สิทธิทางศาลซึ่งยังคงมีอุปสรรคจากการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และการเรียกร้องให้ภาครัฐบาลเข้าไปจัดการปัญหาให้กับตนเอง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่ภาคพลเรือนจะปกป้องตนเองจากอำนาจทุนโลกาภิวัฒน์ที่ชั่วช้าได้
๖.ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในยุคโลกาภิวัตน์อำนาจใหม่ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก็คือ อำนาจข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอำนาจดังกล่าวจะใช้ไปเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าของภาคการตลาด และประชาสัมพันธ์นโยบายของภาครัฐบาลอย่างบิดเบือน อำนาจข้อมูลข่าวสารทรงอิทธิพลยิ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนให้กลายเป็นเพียงผู้บริโภคสินค้า และสาวกทางการเมืองที่มืดบอด กรณีเหล่านี้สังเกตได้จากวิถีชีวิตของภาคพลเรือนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ลัทธิบริโภคนิยมในทางเศรษฐกิจและ ลัทธิประชานิยมในทางการเมือง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ความเครียด หนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น กระทั่งความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ภาคพลเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการบริหารงานของภาครัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนได้อย่างทั่วถึง
๔.๓ ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน
จากปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ผู้เขียนได้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ไว้ทั้งสิ้นหกประการ คือ
๑.การจัดกลไกการปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่เป็นรูปธรรม โดยให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อองค์กรตุลาการได้โดยตรง และให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถสอบสวนและยื่นเรื่องให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยกรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
๒.การลดอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายลงเหลือห้าพันคน และให้สิทธิประชาชนในการเข้าร่วมการพิจารณาออกกฎหมายที่ตนเองเสนอร่วมกับรัฐสภา การลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหลือห้าพันคน และปรับปรุงระบบการทำประชาพิจารณ์ให้เป็นระบบประชามติของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาล
๓.การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยการบังคับใช้กลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายให้มีความเคร่งครัด ชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพภารกิจของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องเรียนกรณีการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อองค์กรตุลาการทีมีอำนาจหน้าที่โดยตรง
๔.การเปิดโอกาสให้ภาคพลเรือนใช้สิทธิทางศาลเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้มากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีต่อองค์กรตุลการได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดำเนินการใดๆของภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มีลักษณะขัดแย้งกบผลประโยชน์สาธารณะ
๕.การปฏิรูปกฎหมายมหาชนในทางเศรษฐกิจเพื่อการปกป้องประโยชน์สาธารณะ นอกจากการปฏิรูปการเมืองแล้ว ควรมีมาตรการในการปฏิรูปกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมามหาชนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาครัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อผลสำคัญในการลดความเชี่ยวกรากของกระแสทุนในยุคโลกาภิวัฒน์มิให้เข้ามาทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
๖.การจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่ภาคพลเรือนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ควรมีการจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่มีกำลังส่งสัญญาณกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศ โดยให้ภาคพลเรือนมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ทั้งนี้รายได้ขององค์กรสื่ออิสระควรมีที่มาจากภาษีที่จัดเก็บจากการโฆษณา และการเก็บภาษีรายการโทรทัศน์บันเทิง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1004
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|