ครั้งที่ 83

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "อภิปรายไม่ไว้วางใจกับการซื้อทีมฟุตบอล"
       ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรี 3 คนและรัฐมนตรีอีก 5 คน เมื่อวันที่ 19-21 พฤษภาคม ที่ผ่านมาครับ
       คงไม่ต้องเล่าอะไรกันมากถึงบรรยากาศของการอภิปรายไม่ไว้วางใจและผลของการลงมติ เพราะ “แฟน” การเมืองก็คงทราบดีกันอยู่แล้ว!!! แต่ผมมีข้อสังเกตสองเรื่องที่ค่อนข้างเป็นห่วงครับ ประการแรก คือจากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์จะเห็นว่า ในห้องประชุมมีคนอยู่น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรี ยิ่งตอนกลางคืนด้วยแล้วจะเห็นว่าในห้องประชุมแทบจะนับได้ว่ามีกี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเห็น “ท่านผู้นำ” น้อยเหลือเกินครับ!!! จริงอยู่ที่แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ท่านผู้นำ“ เองนั่นแหละที่เป็น “เป้า” หลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ และผู้ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลทั้งสิ้น ผมจึงค่อนข้างผิดหวังที่ “รัฐบาล” ให้ความสำคัญกับการอยู่ในที่ประชุมน้อยมากครับ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกันครับ ผมดูถ่ายทอดทางโทรทัศน์แล้วก็รู้สึก “ผิดหวัง” กับการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยของทั้งรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติครับ ส่วนข้อสังเกตประการที่สองก็คงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านคนหนึ่งพูดถึงการกระทำของรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลในขณะนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลเดียวกันนี้เองครับ โดยรองประธานสภาฯ ได้ให้เหตุผลว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และปัจจุบันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้บุคคลนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อจะอภิปรายก็ขอให้อภิปรายในตำแหน่งปัจจุบันครับ ผมเองค่อนข้างเป็นห่วงการตีความของรองประธานสภาฯมาก เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คือ การเปิดใจให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ “ตรวจสอบ” การทำงานของรัฐบาลครับ การตีความในลักษณะดังกล่าวจะทำให้กระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหมันไปได้ในอนาคต เพราะก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีสามารถ “ปรับคณะรัฐมนตรี” สลับที่นั่งของรัฐมนตรีที่เป็น “เป้า” ออกไปได้ ซึ่งก็จะทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เต็มที่ครับ ก็คงต้องฝากกันเอาไว้ในข้อสังเกตทั้งสองประการนี้นะครับ เพราะผมห่วงว่า จะไป “ทำลาย” ระบบประชาธิปไตยของเราครับ
       จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ ผมตั้งใจที่จะเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับการที่ “เรา” จะไปซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล เพราะรู้สึก “หมั่นไส้” เหลือกำลังครับ!!! แต่เมื่อคณาจารย์จากสำนักท่าพระจันทร์ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าวและส่งมาลงเผยแพร่ใน www.pub-law.net ไป เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็เลยระงับความคิดที่จะเขียนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะความเห็นค่อนข้างตรงกันครับ แต่อย่างไรก็ดี ไม่พูดซะเลยมันก็ไม่ได้นะครับ ตอนแรกที่เรื่องนี้เริ่มเป็นข่าวผมไม่ค่อยได้สนใจมากนัก เพราะเข้าใจไปว่า”ท่านผู้นำ” ของเราซึ่งร่ำรวยเหลือเกินกับเพื่อน ๆ ซึ่งร่ำรวยเหลือเกินอีกเช่นกันจะเข้าไปซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลเอาไว้เอง เพื่อประกาศศักดาของความเป็นเศรษฐี แต่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปแล้ว เพราะจะเป็นการระดมทุนจาก “เรา” คือประชาชนด้วยวิธีการออกสลากพิเศษครับ ผมคงไม่พูดประเด็นด้านกฎหมาย เพราะอยู่ในแถลงการณ์ของคณาจารย์จากสำนักท่าพระจันทร์แล้ว แต่อยากจะบอกกันตรง ๆ ว่า ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยเราครับ ผมเข้าใจว่าน่าจะเกิดจากการที่ท่านผู้นำ “สำคัญผิด” ในสาระสำคัญของหน้าที่ของท่านอย่างร้ายแรงครับ!!! ประเทศไทยมีรัฐบาลของท่านผู้นำเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลของท่านมีหน้าที่หลักที่สำคัญคือ การจัดทำบริการสาธารณะ รัฐบาลของท่านมีหน้าที่หลักในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลของท่านมีหน้าที่หลักในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ และที่สำคัญก็คือปัญหาความยากจนครับ หน้าที่ของท่านมีมากนะครับ ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่ารัฐบาลของท่านมีหน้าที่ที่จะไปทำธุรกิจข้ามชาติด้วยการไป “ลงทุน” ในทีมฟุตบอลต่างประเทศครับ!!! หรือว่าท่านผู้นำ “เผลอ” ไปเข้าใจว่าประเทศไทยมีสถานะเหมือนกัน “บริษัทรวย ๆ” ของท่านที่มีเงินเหลือแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร ก็ไปซื้อทีมฟุตบอลเล่นครับ ท่านผู้นำครับ พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทยเรายังยากจนอยู่มากนะครับ ไม่มีจะกินก็เยอะ ไม่มีการศึกษาก็มาก ผมว่าถ้าจะระดมทุนไปสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะดีกว่านะครับ เอาไว้พลเมืองของเราพอมีพอกินกันถ้วนหน้าก่อน ค่อยคิดจะไปซื้อของฟุ่มเฟือยจะไม่เหมาะสมกว่าหรือครับ ต่อไปนี้ผมจะไปขอทุนการศึกษาจากต่างประเทศมาให้ลูกศิษย์ผมได้อย่างไรล่ะครับ ก็ประเทศไทยเรา “ร่ำรวย” ขนาดไปซื้อหุ้นในสโมสรฟุตบอลต่างประเทศได้แล้ว จะมีประเทศไหนเขาจะให้ทุน “เศรษฐี” แบบเราอีกล่ะครับ!!!
       หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” เล่ม 3 พิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะแจกแล้วครับ สำหรับแฟน ๆ ของเราคงไม่ต้องกล่าวอะไรกันมาก แต่สำหรับ “แฟนใหม่” ขอเรียนให้ทราบว่า บทความดี ๆ ที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วใน www.pub-law.net นั้น ทุกปีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้กรุณาจัดพิมพ์ให้แจกจ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนครับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้พิมพ์รวมบทความนี้แจกไปแล้วสองครั้ง คือในปี พ.ศ.2545 และพ.ศ.2546 ครับ ในปีนี้ ผู้ที่สนใจอยากได้หนังสือเล่มนี้ก็คงต้องเขียนจดหมายส่งซองขนาด A4 จ่าหน้าซองถึงตนเองพร้อมติดแสตมป์ 25 บาทส่งมาที่ผมครับ“รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10330”
       นอกจากนี้ ผมขอให้ผู้ที่ขอหนังสือทุกคนส่งสำเนาบัตรแสดงตน เช่น บัตรข้าราชการ บัตรประชาชน บัตรนิสิตนักศึกษา แนบมาด้วย และขอให้ช่วยทำจดหมาย “ขอบคุณ” สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อแจกแนบมาด้วยครับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้ “มีกำลังใจ” ที่จะสนับสนุนดำเนินการทางวิชาการในลักษณะนี้ต่อ ๆ ไปครับ
       มีผู้ถามมาหลายคนว่า หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชน ฯลฯ เล่ม 1 และเล่ม 2 ยังมีอยู่อีกไหม ขอเรียนให้ทราบว่า เล่ม 1 นั้นหมดไปนานแล้ว ส่วนเล่ม 2 ยังพอมีอยู่บ้าง ผู้ที่สนใจขอรับหนังสือเล่ม 2 ด้วย ก็ต้องซองติดแสตมป์ 25 บาทมาสองซองครับ
       หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าทำไมค่าส่งแพงจังเลย ผมก็สงสัยเหมือนกันครับ ปีที่แล้วจำได้ว่าติดแสตมป์ไม่ถึง 20 บาท แต่ปีนี้หนังสือจำนวนหน้าน้อยกว่าของเดิมเล็กน้อย แต่ราคาสูงขึ้นไปมาก ก็อย่างที่ทราบนะครับว่า พอแปลงสภาพเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ไปแล้ว แม้จะยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ก็ขึ้นราคาครับ แล้วอย่างนี้จะให้ไว้ใจได้อย่างไรกับ “ไฟฟ้า” และบริการสาธารณะอื่น ๆ ครับ สงสัยพอเป็นบริษัทกันหมด เราคงหมดเนื้อหมดตัวกันแน่ ๆ นะครับ จะมีอะไรเป็นหลักประกันให้กับประชาชนได้บ้างครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีการแนะนำหนังสือดี ๆ จำนวนหนึ่งใน “หนังสือตำรา” ลองเข้าไปดูนะครับ ส่วยบทความนั้น ในสัปดาห์นี้ เราขอนำเสนอบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญ : ทำไมต้องตีความ” ที่เขียนโดย ดร.เชาวนะ ไตรมาศ นักวิชาการฝีมือดีแห่งสำนักงานศาล
       รัฐธรรมนูญ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนไว้ ณ ที่นี่ครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=100
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)