รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
____________
สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ตราไว้ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗
เป็นปีที่ ๒๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๑๗ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม พยัคฆสมพัตสร อัสสยุชมาส กาฬปักษ์ ฉัฏฐมีดิถี สุริยคติกาล ตุลาคมมาส สัตตมสุรทิน จันทรวาร โดยกาลบริเฉท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำความกราบบังคมทูลว่า ตามที่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้น เป็นการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขึ้นในประเทศไทยเป็นเบื้องต้น ด้วยพระราชประณิธานอันแน่วแน่ในอันที่จะพระราชทานพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินให้แก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล มิใช่แก่บุคคลคณะใด หรือฝ่ายใดโดยเฉพาะ ทั้งนี้ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งประเทศและทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
นับแต่วาระนั้นมาเป็นเวลาสี่สิบปีเศษ เหตุการณ์บ้านเมืองได้ผันแปรไปเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หลายครั้งหลายคราว และในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ธรรมนูญการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อรอเวลาที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เสร็จ ทำให้การบริหารประเทศในขณะนั้นมิได้เป็นไปตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตยตามควร อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงมาประชาชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น มีความรู้และความคิดอ่านทางการเมืองดีขึ้น จึงมีความตื่นตัวและปรารถนาที่จะมีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศด้วยตนเองขึ้นเป็นลำดับ ทั้งประชาชนก็มีความไม่พึงพอใจในการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ด้วย จึงในวันที่ ๑๓ และ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้มีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน และหนังสือพิมพ์ได้มีส่วนสำคัญในการแสดงประชามติอันแรงกล้าในเรื่องนี้ และในการแสดงประชามติครั้งนั้นได้มีผู้คนเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปเป็นจำนวนมิใช่น้อย และนับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ อันเป็นผลทำให้คณะรัฐบาลในยุคนั้นจำต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลใหม่ขึ้นแทน
เพื่ออนุวัตตามความปรารถนาของมหาชนในครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อร่างเสร็จ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วก็ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งขึ้นจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะกรรมาธิการคณะนี้พิจารณาแล้ว ก็ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง
ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งก็ดี คณะรัฐมนตรีเองก็ดี คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ดี สภานิติบัญญัติแห่งชาติเองก็ดี ได้สดับตรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดมา เพื่อที่จะให้รัฐ-ธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์สมดั่งความปรารถนาของประชาชน
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แสดงออกให้ปรากฎซึ่งประณิธานร่วมกันของปวงชนชาวไทยว่า จักรักษาไว้ซึ่งเอกราชแห่งชาติไทยในทุกทาง จักคุ้มครองศาสนาทุกศาสนาให้สถาพร จักเทอดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมิ่งขวัญของประเทศชาติ จักยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จักตรากฎหมายขึ้นใช้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม จักใช้มาตรการทั้งปวงในอันที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำ ในฐานะของบุคคลทั้งในทางเศรษฐกิจ และสังคมให้ลดน้อยลงเป็นลำดับ จักร่วมกันบำบัดทุกข์บำรุงสุขและจักพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของราษฎร โดยทั่วหน้าและอย่างเสมอภาค และจักธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เพื่อให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึง
อนึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นว่า การที่จะปกครองประเทศให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนทั้งมวลมีความเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้เป็นระบอบการปกครองที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศเราในอันที่จะยังให้เกิดความผาสุกแก่ปวงชนโดยทั่วกัน เพราะเหตุนี้ปวงชนจึงต้องร่วมกันมีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศ โดยเคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้อย่างเคร่งครัด และต้องพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขอันร่วมกัน ทั้งเมื่อถึงวาระจำเป็น จักต้องพร้อมที่จะอุทิศแม้ชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยนี้
เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบแล้ว ได้มีมติเห็นชอบและได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป
เมื่อได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญโดยถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ นั้น ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป
ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมจิตร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อดำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในรัฐสีมาอาณาจักร และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคลอเนกศุภผลเกียรติยศสถาพร แก่อาณาประชาราษฎรของพระองค์ สมดั่งพระบรมราชประสงค์จงทุกประการ
หมวด ๑
บททั่วไป
___________
มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๔ การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบัน พระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
มาตรา ๕ ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
มาตรา ๖ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
หมวด ๒
พระมหากษัตริย์
_____________________
มาตรา ๗ องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา ๘ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
มาตรา ๑๐ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา
มาตรา ๑๑ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๒ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
มาตรา ๑๓ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา ๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา ๑๕ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินกว่าสิบสี่คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๖ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่น หรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๗ องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ
มาตรา ๑๘ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๑๙ องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออกหรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๒๐ การแต่งตั้ง และการให้ข้าราชการในพระองค์ และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา ๒๑ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๑ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา ๒๓ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ ห้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๑ หรือ ๒๒ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ตามวรรคหนึ่งก็ดี ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว
มาตรา ๒๔ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๒๕ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ก็ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้จนกว่าจะได้ประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้ และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตามวรรคสอง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง หรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๓ วรรคสาม มาใช้บังคับ
หมวด ๓
สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
___________________________________________
มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพอันเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๙ บุคคลย่อมมีสิทธิทางการเมือง
การใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิออกเสียงแสดงประชามติ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนานิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอนดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
มาตรา ๓๑ บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
มาตรา ๓๒ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด
ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จะต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ โดยเฉพาะในกฎหมาย และจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ให้ประกันให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบ
สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกัน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
บุคคลผู้ถูกคุมขังหรือจำคุก ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร
มาตรา ๓๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในร่างกาย
การจับกุมคุมขัง หรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ผู้ถูกจับกุมหรือถูกตรวจค้นจะต้องได้รับแจ้งข้อหาหรือเหตุและรายละเอียดตามสมควรในการที่ถูกจับกุม หรือถูกตรวจค้นโดยไม่ชักช้า และผู้ถูกคุมขังย่อมมีสิทธิที่จะพบ และปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้
การแจ้งข้อหาแก่บุคคลใด ๆ จะต้องมีหลักฐานตามสมควร ว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น
ในกรณีที่มีการคุมขังตัวบุคคล ผู้ถูกคุมขังเองก็ดี พนักงานอัยการก็ดี บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังก็ดี มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
มาตรา ๓๔ ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ด้วยความรวดเร็ว และเป็นธรรม
ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ยากไร้ไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะจัดหาทนายความสำหรับตนเองได้ บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๓๕ บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง อันอาจทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญา
ถ้อยคำของบุคคลซึ่งเกิดจากการถูกทรมาน ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังบังคับหรือเกิดจากการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ถ้อยคำนั้นเป็นไปโดยไม่สมัครใจ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
มาตรา ๓๖ บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หากปรากฎตามคำพิพากษาของศาลที่รื้อฟื้นคดีขึ้น พิจารณาใหม่ในภายหลังว่า บุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไป เพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ทั้งนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๓๗ การเกณฑ์แรงงาน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งบัญญัติให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา ๓๘ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน
บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและ ครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองก็ดี การตรวจค้นเคหสถานก็ดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๓๙ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทำขวัญภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิ บรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย
การกำหนดค่าทำขวัญตามวรรคสาม ให้คำนึงถึงการได้มาสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับเหตุ และวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม
มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน
การปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์เพื่อบั่นรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำได้ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปิดโรงพิมพ์ หรือห้ามทำการพิมพ์
การให้เสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ไปให้ เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนโฆษณา จะกระทำได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ
การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเอกชน รัฐหรือหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะกระทำมิได้
มาตรา ๔๑ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นมูลฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการศึกษาอบรม เมื่อไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษา
มาตรา ๔๒ เสรีภาพในวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง
มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่น
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ
มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง
พรรคการเมืองต้องแสดงที่มาของรายได้และการใช้จ่ายโดยเปิดเผย
มาตรา ๔๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางไปรษณีย์ หรือทางอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย
การตรวจ การกักหรือการเปิดเผยจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นใดที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการใช้การสื่อสารที่จัดไว้เป็นบริการสาธารณะ
มาตรา ๔๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้
มาตรา ๔๘ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมือง
มาตรา ๔๙ สิทธิของบุคคลในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๕๐ บุคคลคนเดียว หรือหลายคนร่วมกันย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๑ สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดเพื่อการกระทำของเจ้าพนักงาน ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๕๒ บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่น ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประชาชนพลเมือง เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมายหรือกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพหรือวินัย
มาตรา ๕๓ บุคคลจะใช้สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญมิได้
หมวด ๔
หน้าที่ของชนชาวไทย
____________________________
มาตรา ๕๔ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๕๕ บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ
มาตรา ๕๖ บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๗ บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
มาตรา ๕๘ ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และสิทธิออกเสียงประชามติ บุคคลมีหน้าที่ต้องกระทำโดยสุจริต
มาตรา ๕๙ บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๖๐ บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๖๑ บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรม ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด ๕
แนวนโยบายแห่งรัฐ
___________________________
มาตรา ๖๒ บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับการตรากฎหมายและการกำหนดนโยบาย และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ
มาตรา ๖๓ รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต
มาตรา ๖๔ รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ และถือหลักเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน
มาตรา ๖๕ รัฐพึงร่วมมือกับนานาประเทศในการรักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศ และผดุงสันติสุขของโลก
มาตรา ๖๖ รัฐพึงจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ และพึงดำเนินการทุกทางเพื่อป้องกัน และปราบปรามการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ
มาตรา ๖๗ รัฐพึงจัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และมีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล
มาตรา ๖๘ กำลังทหารพึงมีโดยเหมาะสมแก่ความจำเป็นสำหรับรักษาเอกราช ความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ
มาตรา ๖๙ กำลังทหารเป็นของชาติ ไม่ขึ้นต่อเอกชน หรือคณะบุคคลใด ๆ
มาตรา ๗๐ กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐและเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ
การใช้กำลังทหารเพื่อการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๗๑ รัฐจะต้องรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน และในการดำเนินชีวิตโดยปกติสุข
มาตรา ๗๒ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรม
การจัดระบบการศึกษาอบรมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ สถานศึกษาทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ
การศึกษาอบรมชั้นอุดมศึกษา รัฐพึงจัดการให้สถานศึกษาดำเนินกิจการของตนเองได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ
สถานศึกษาของรัฐ และของท้องถิ่นพึงให้ความเสมอภาคแก่บุคคลในการเข้ารับการศึกษาอบรมตามความสามารถของบุคคลนั้น ๆ
มาตรา ๗๓ การศึกษาอบรมภาคบังคับในสถานศึกษาของรัฐ และของท้องถิ่น จะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน
รัฐพึงช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ได้รับทุนและปัจจัยต่าง ๆ ในการศึกษาอบรมทุกระดับตามสมควร
มาตรา ๗๔ รัฐพึงสนับสนุนการวิจัยในศิลปะและวิทยาการต่าง ๆ พึงส่งเสริมการสถิติ และพึงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ
มาตรา ๗๕ รัฐพึงส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมของชาติ แต่ต้องไม่กระทำโดยวิธีการอันเป็นการบังคับฝืนใจบุคคล
มาตรา ๗๖ รัฐพึงบำรุงรักษาสถานที่และวัตถุอันมีค่าในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศิลปกรรม
มาตรา ๗๗ รัฐพึงบำรุงรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม และความงามทางธรรมชาติ รวมทั้งป่าไม้ ต้นน้ำลำธารและน่านน้ำ
มาตรา ๗๘ รัฐพึงส่งเสริมการค้นหาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนชาวไทย โดยไม่ขัดกับหลักการอนุรักษกรรม
มาตรา ๗๙ รัฐพึงดำเนินการให้ความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจ และสังคมลดน้อยลง
มาตรา ๘๐ รัฐพึงจัดระบบการถือกรรมสิทธิ์และการครอบครองที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งการส่งเสริมเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม และพึงกำหนดพันธะให้เจ้าของที่ดินใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ตามความเหมาะสมแก่สภาพของที่ดิน
มาตรา ๘๑ รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินและวิธีการอื่น
มาตรา ๘๒ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงเกษตรกรรม
รัฐพึงคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในด้านการผลิตและการจำหน่ายผลผลิต
มาตรา ๘๓ รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการสหกรณ์
มาตรา ๘๔ รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
มาตรา ๘๕ รัฐพึงสนับสนุนให้เอกชนได้มีการริเริ่มในทางเศรษฐกิจ
รัฐพึงประกอบกิจการอันมีลักษณะ เป็นสาธารณูปโภคในทางที่จะให้เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคโดยเอกชน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐพึงวางมาตรการมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจโดยเอกชนที่มิได้อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าการผูกขาดตัดตอนนั้นจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อม
มาตรา ๘๖ รัฐพึงวางนโยบายประชากรให้เหมาะสมกับทรัพยากรของชาติ ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม และความเจริญในทางวิทยาการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมและเพื่อความมั่นคงของรัฐ
มาตรา ๘๗ รัฐพึงสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติหรือในการช่วยเหลือราชการ หรือปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม หรือเนื่องจากภัยธรรมชาติ
มาตรา ๘๘ รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน เพื่อสวัสดิภาพและความผาสุกของประชาชน
มาตรา ๘๙ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ และได้รับค่าแรงตอบแทนตามควรแก่อัตภาพ และคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปโดยเป็นธรรม และพึงจัดให้ผู้ทำงานรับจ้างมีความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงาน และมีหลักประกันเมื่อเจ็บป่วยและชราภาพ
มาตรา ๙๐ รัฐพึงจัดให้บุคคลทุพพลภาพมีงานทำตามความสามารถและความเหมาะสม
มาตรา ๙๑ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยโดยถูกสุขลักษณะ และพึงส่งเสริมกิจการเคหะสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย
มาตรา ๙๒ รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการอนามัยครอบครัว และพึงคุ้มครองสุขภาพของบุคคล และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
รัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า
การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า
มาตรา ๙๓ รัฐพึงบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และพึงขจัดสิ่งเป็นพิษซึ่งทำลายสุขภาพและอนามัยของประชาชน
มาตรา ๙๔ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงกีฬา
หมวด ๖
รัฐสภา
__________
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
____________
มาตรา ๙๕ รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร
รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๙๖ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามระเบียบ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่แทน
มาตรา ๙๗ ร่างพระราบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
มาตรา ๙๘ ร่างพระราชบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา ๙๙ ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา ๑๐๐ ประธานและรองประธานวุฒิสภา ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑๐๑ บุคคลจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๑๐๒ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการเมืองมิได้
มาตรา ๑๐๓ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หรือหน่วยงายของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น
(๒) ต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐ หรือหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานนั้น หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(๓) ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติกับบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญหรือเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันและมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา หรือวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑๐๔ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องแสดงสินทรัพย์ และหนี้สินของตนต่อประธานรัฐสภาตามรายการ วิธีการและกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๐๕ สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๙ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) หรือตามมาตรา ๑๒๔ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) หรือ (๑๐) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๐๖ การออกจากตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงก็ดี คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงก็ดี ย่อมไม่กระทบกระทั่งกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกรวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี
ส่วนที่ ๒
วุฒิสภา
__________
มาตรา ๑๐๗ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๗ (๑) และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งไม่เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๖ และมาตรา ๑๑๘
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๘ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเฉพาะในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนดสามปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก
มาตรา ๑๐๙ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๓
(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๗ (๑)
(๖) มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖)
(๗) ขาดประชุมตลอดสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
(๘) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๑๐ เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ เข้ามาเป็นสมาชิกแทน สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
ส่วนที่ ๓
สภาผู้แทนราษฎร
_______________________
มาตรา ๑๑๑ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยสี่สิบคน แต่ไม่เกินสามร้อยคน ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๒
มาตรา ๑๑๒ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณตามเกณฑ์จำนวนราษฎรที่กำหนดไว้ ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดหนึ่ง อย่างน้อยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินสามคน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่าสามคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้ง มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตละสามคน
ในกรณีที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่ง ให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบสามคนทุกเขตไม่ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นเขตเลือกตั้งที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตละสามคนเสียก่อน แต่เขตที่เหลือต้องไม่น้อยกว่าเขตละสองคน
ในกรณีที่จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สี่คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นสองเขต เขตหนึ่งให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองคน
มาตรา ๑๑๓ จังหวัดใดมีการแบ่งเขตเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งเขต ต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดอัตราส่วนของจำนวนราษฎรกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ใน แต่ละเขตให้ใกล้เคียงกัน
มาตรา ๑๑๔ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น
มาตรา ๑๑๕ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑) สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
มาตรา ๑๑๖ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
(๑) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๒) หูหนวกและเป็นใบ้ ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
(๓) ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
(๔) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา
มาตรา ๑๑๗ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๑) สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย และมีสัญชาติอื่นด้วยในขณะเดียวกันก็ดี บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติก็ดี ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย เว้นแต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่เกิดในต่างประเทศไม่ต้องมีคุณสมบัติดังกล่าว
(๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งแต่พรรคเดียว
มาตรา ๑๑๘ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(๓) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๑๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๕)
(๔) ต้องคำพิพากษาของศาลใดศาลหนึ่งให้จำคุก และต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในคดีนั้น
(๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๖) เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง
(๗) เป็นพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
มาตรา ๑๑๙ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๑๒๐ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๒๑ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๑๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
มาตรา ๑๒๓ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๒๔ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๓
(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๗ (๑) หรือ (๒)
(๖) มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖)
(๗) ลาออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นั้นเป็นสมาชิกยุบเลิก
(๘) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยุบเลิกพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกและไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หรือพรรคการเมืองมีมติแล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าขาดจากสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
(๙) ขาดประชุมตลอดสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
(๑๐) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๒๕ เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง เพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนนั้น เริ่มแต่วันเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
มาตรา ๑๒๖ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจ จากสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๑๘๔ แล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่ตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
ส่วนที่ ๔
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง _____________________________
มาตรา ๑๒๗ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
มาตรา ๑๒๘ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า ( ชื่อผู้ปฏิญาณ ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ "
มาตรา ๑๒๙ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา
มาตรา ๑๓๐ ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำเมื่อถึงคราวที่สมาชิกออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่ง
ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภา หรือมีการยุบสภา
ประธาน และรองประธานวุฒิสภา และประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี เมื่อ
(๑) ขากจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
(๒) ลาออกจากตำแหน่ง
(๓) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
มาตรา ๑๓๑ ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีอำนาจหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
มาตรา ๑๓๒ เมื่อประธานและรองประธานวุฒิสภา หรือประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ในที่ประชุมให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๑๓๓ การประชุมวุฒิสภาก็ดี การประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๓๔ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
สมาชิกคนหนึ่ง ย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๓๕ ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์นี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์ และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมด้วย
มาตรา ๑๓๖ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ในปีหนึ่งจะให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง หรือสภาสมัย แล้วแต่สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนด
วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีของรัฐสภาสมัยต่อ ๆ ไป ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด
มาตรา ๑๓๗ สมัยประชุมสามัญ ของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
การปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนดเวลาเก้าสิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา ๑๓๘ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุม สมัยประชุมสามัญประจำปีสมัยแรกด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้รัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
มาตรา ๑๓๙ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้
มาตรา ๑๔๐ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้
คำร้องขอดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภาให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ถ้าเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานสภาผู้ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูล และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๔๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๐ การเรียกประชุมการขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๑๔๒ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
ในกรณีที่มีการจับสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยด่วน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้
มาตรา ๑๔๓ ในกรณีที่การฟ้องสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุมสภา
การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งย่อมเป็นอันใช้ได้
มาตรา ๑๔๔ ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกคุมขัง ในระหว่างสอบสวน หรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
คำสั่งปล่อยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๓ วรรคสี่ และมาตรา ๑๙๔ วรรคสาม ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้
มาตรา ๑๔๖ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิสภาผู้แทนราษฎร แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง
(๑) การตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
(๒) การจัดสรร รับ รักษาหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
(๓) การกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
(๔) เงินตรา
ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๑๔๗ ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน
มาตรา ๑๔๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕๔ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา ๑๔๗ และลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น ต่อวุฒิสภา วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน ทั้งนี้ เว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นพิเศษ กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา
ระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๑
ถ้าวุฒิสภาไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในการที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไปยังวุฒิสภา ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน คำแจ้งของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเด็ดขาด
ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมิได้แจ้งไปว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ถือว่าร่างพระราบัญญัตินั้นมิใช่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
มาตรา ๑๔๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕๔ เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว
(๑) ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๘
(๒) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้น คืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
(๓) ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาทั้งสองต่างตั้งบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น แล้วให้คณะกรรมาธิการร่วมกันนั้น รายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วนั้น ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๘ ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน
คณะกรรมาธิการร่วมกัน ย่อมมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้ และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมาธิการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕๐ ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๙ นั้น สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไป นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้น คืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๘
ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๘
มาตรา ๑๕๑ ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๔๙ คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้มิได้
ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอนั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป
มาตรา ๑๕๒ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
มาตรา ๑๕๓ งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง
มาตรา ๑๕๔ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น ให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้นและให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา ถ้าพ้นกำหนดนั้นให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น ในกรณีเช่นนี้ และในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๘
ถ้าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น วุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕๕ การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ไว้ในพระราชบัญญัติดอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป
มาตรา ๑๕๖ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๕๗ ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
มาตรา ๑๕๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
ญัตติดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเวลาสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้ง แต่คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ระงับการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นเสียได้ เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
มาตรา ๑๕๙ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ
เมื่อการเปิดอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา
ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้นเป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
มาตรา ๑๖๐ การประชุมวุฒิสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภาแต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
มาตรา ๑๖๑ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
กรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมือง หรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๖๔ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนตามวรรคสาม
มาตรา ๑๖๒ การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๖๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒๕ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะตีความและให้ถือว่าการตีความของรัฐสภาเป็นเด็ดขาด
ในการตีความรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๖๔ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก และข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภารองประธานสภาและกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษาการอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การยืนยันขอความไว้วางใจ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
________________________________________
มาตรา ๑๖๕ ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
(๑) การให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒
(๒) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๔
(๓) การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๕
(๔) การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๖
(๕) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา ๙๙
(๖) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๗
(๗) การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๓๘
(๘) การตีความรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๖๓
(๙) การแต่งตั้ง และการให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๗๓
(๑๐) การตั้งคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๑๗๒
(๑๑) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๘๕
(๑๒) การให้ความเห็นชอบในการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามมาตรา ๑๙๓
(๑๓) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา ๑๙๔
(๑๔) การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาและสนธิสัญญาตามมาตรา ๑๙๕
(๑๕) การแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๘
(๑๖) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๘
มาตรา ๑๖๖ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ มาตรา ๙๙ มาตรา ๑๖๓ วรรคสอง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง มาตรา ๑๙๔ วรรคสอง และมาตรา ๒๒๘ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เฉพาะการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญ กรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียง กับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา
ส่วนที่ ๖ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา
________________________________________
มาตรา ๑๖๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาตามมติของรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๖๙ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในทางการบัญชีหรือการคลัง และจะต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือผู้มีตำแหน่งหรือหน้าที่ในหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานท้องถิ่น หรือผู้จัดการ กรรมการที่ปรึกษา ตัวแทนหรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การใด ๆซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไร ทั้งจะต้องไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย
มาตรา ๑๗๐ ให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และการรับจ่ายเงินและทรัพย์สินของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งของท้องถิ่นและหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๗๑ ให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภามีหน่วยราชการภายใต้บังคับบัญชาเพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข้าราชการสังกัดหน่วยราชการตามวรรคหนึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
มาตรา ๑๗๒ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาจะต้องเสนอรายงานการตรวจสอบการรับจ่ายเงินและทรัพย์สินตามอำนาจหน้าที่พร้อมทั้งข้อสังเกตต่อรัฐสภาตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
ให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาสอบสวนรายงานของผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีจำนวนมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหนึ่งคน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๑มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๗๓ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ดำรงตำแหน่งมาครบหกปี
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๙
(๕) รัฐสภามีมติให้ออก
ส่วนที่ ๗
ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา>
____________________________
มาตรา ๑๗๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๑ วรรคสองข้าราชการสังกัดหน่วยราชการใดจะเป็นข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑๗๕ การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การลงโทษและการออกจากราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑๗๖ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงและอธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หมวด ๗ คณะรัฐมนตรี
__________________
มาตรา ๑๗๗ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอีกไม่เกินสามสิบคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด จะต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๑๗๘ ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๑๗๙ รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมืองมิได้
มาตรา ๑๘๐ รัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งหรือกระทำการใด ๆ ที่ห้ามไว้มิให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงหรือกระทำตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๐๓ มิได้ เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะเป็นผู้จัดการ กรรมการที่ปรึกษา ตัวแทนหรือลูกจ้างของบุคคลห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การใด ๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไรก็มิได้ด้วย
มาตรา ๑๘๑ รัฐมนตรีต้องแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของตนต่อประธานรัฐสภาตามรายการ วิธีการ และกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๘๒ รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุม และแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา ซึ่งตนมิได้เป็นสมาชิก แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๘๓ ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดินคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร
รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อสภาผู้แทนราษฎรในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๘๔ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความไว้วางใจมติให้ความไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
มาตรา ๑๘๕ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
มาตรา ๑๘๖ ในระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินภายหลังที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถ้ามีพฤติการณ์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันความไว้วางใจอีกก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๘๗ รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา ๑๕๙
(๒) ไม่ได้รับความไว้วางใจตามมาตรา ๑๘๔ หรือมาตรา ๑๘๖
(๓) สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๔) คณะรัฐมนตรีลาออก
(๕) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๘
คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
มาตรา ๑๘๘ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๑๗ (๑) หรือ (๒) ในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ (๑) (๒)หรือ (๓) ในกรณีที่รัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ (๑) (๒)(๓) หรือ (๖)
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
(๕) สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๕๙
(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๐
(๗) มีพระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๘๙
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ และมาตรา ๑๐๖ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (๒) (๓) (๔)หรือ (๖)
มาตรา ๑๘๙ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
มาตรา ๑๙๐ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันจะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
ถ้าสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การพิจารณาพระราชกำหนดของวุฒิสภาและของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณียืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ
มาตรา ๑๙๑ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสองวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๙๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๑๙๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
กฎอัยการศึกตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะมีผลใช้บังคับเกินสามสิบวันได้อีกเป็นระยะเวลาเท่าใด ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคสาม
มาตรา ๑๙๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๓ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๙๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา หรือสนธิสัญญาพันธมิตรทางทหารต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา ๑๙๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
มาตรา ๑๙๗ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา ๑๙๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่าพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๙๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๕ การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การลงโทษ และการออกจากราชการของข้าราชการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๒๐๐ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองมิได้
มาตรา ๒๐๑ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
หมวด ๘
ศาล
______
มาตรา ๒๐๒ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
มาตรา ๒๐๓ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๐๔ การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่ง หรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้
มาตรา ๒๐๕ การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญสากลหรือวิธีพิจารณา เพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๐๖ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา ๒๐๗ ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองมิได้
มาตรา ๒๐๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่ตั้งและให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง ก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ผู้พิพากษาต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำที่คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้กำหนด
มาตรา ๒๐๙ การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล
การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
มาตรา ๒๑๐ คณะกรรมการตุลาการประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ข้าราชการฝ่ายตุลาการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งสามคนที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกแปดคน ซึ่งข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการสี่คน กับจากผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญที่เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษามาแล้ว และต้องไม่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือทนายความอีกสี่คน
ตำแหน่งของข้าราชการตุลาการผู้มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกตั้งกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
มาตรา ๒๑๑ ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๑๒ ศาลปกครองและศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษี หรือสาขาสังคม จะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของศาลตลอดจนวิธีพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น
มาตรา ๒๑๓ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลอื่นด้วยกันให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย
หมวด ๙
การปกครองท้องถิ่น
___________________________
มาตรา ๒๑๔ การจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งนครหลวง ต้องเป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครองท้องถิ่นของตน และมีอิสระในทางการภาษีอากรและการเงินแห่งท้องถิ่น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๒๑๕ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมมีสิทธิปกครองตนเอง
มาตรา ๒๑๖ การปกครองท้องถิ่นทุกระดับในทุกจังหวัดรวมทั้งนครหลวง ให้มีสภาท้องถิ่นและหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นและต้องมีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมาย
มาตรา ๒๑๗ การเลือกตั้งสมาชิกของสภาท้องถิ่น ให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
การเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น จะใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ หรือจะให้สภาท้องถิ่นเลือกตั้งจากสมาชิกของสภาท้องถิ่นก็ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
หมวด ๑๑
ตุลาการรัฐธรรมนูญ
__________________________
มาตรา ๒๑๘ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวนเก้าคนโดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการตามมาตรา ๒๑๐ เป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนฝ่ายละสามคน
ให้คณะกรรมการตุลาการเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรก และแจ้งผลการเลือกต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเมื่อรัฐสภาได้เลือกแล้วให้แจ้งผลการเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อคณะรัฐมนตรีได้เลือกแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อผู้ได้รับเลือกทั้งหมดกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธาน
ในกรณีที่ประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๒๑๙ ตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้
มาตรา ๒๒๐ ตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้รับเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๒๒๑ บุคคลจะดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญติดต่อกันสองครั้งมิได้
มาตรา ๒๒๒ ตุลาการรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
(๕) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
มาตรา ๒๒๓ เมื่อตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญว่างลงให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการตุลาการที่ได้เลือกตุลาการรัฐธรรมนูญผู้พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี เลือกตุลาการรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น
มาตรา ๒๒๔ เมื่อร่างพระราชบัญญัติใดได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๙๘
(๑) หากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
(๒) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยแล้วแจ้งให้ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ
ในระหว่างที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ถ้าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังรัฐสภาต่อไป
มาตรา ๒๒๕ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระทั่งคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
มาตรา ๒๒๖ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๒๗ วิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมาย
หมวด ๑๑
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
_______________________________________
มาตรา ๒๒๘ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ญัตติของแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ญัตติของแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
(๔) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
(๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๘ และมาตรา ๙๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒๙ ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมาตรา ๒๒๘ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการตามวรรคสอง ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศพระบรมราชโองการ และวันออกเสียงประชามติต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๒๓๐ บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๒๓๑ ในการให้ประชาชนออกเสียงตามมาตรา ๒๒๙ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลประชามติและเมื่อได้ประกาศรัฐธรรมนูญนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ถ้ามีประชามติไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป
บทเฉพาะกาล
__________________
มาตรา ๒๓๒ ในวาระเริ่มแรก พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๒๓๓
มาตรา ๒๓๓ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๓๔ นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้จนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๒๓๓ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ทำหน้าที่รัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๐๓ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรานี้
มาตรา ๒๓๕ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือคณะรัฐมนตรีหากจะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๒๓๓ เป็นคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๙ และมาตรา ๑๘๐ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีตามมาตรานี้
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
มาตรา ๒๓๖ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๘ วรรคสองมาใช้บังคับ
มาตรา ๒๓๗ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๑๔ มาตรา๒๑๖ และมาตรา ๒๑๗ ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติสามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับ
มาตรา ๒๓๘ บรรดาคำสั่งซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ที่ยังใช้บังคับอยู่ในวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไป การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๖๙ ราชกิจจานุเบกษา ๗ ตุลาคม ๑๕๑๗
|