ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
พุทธศักราช ๒๕๑๕
__________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลา-
ธิเบศรรามธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถ
บพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
ประกาศว่า
โดยที่คณะปฏิวัติ ซึ่งมี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็น
หัวหน้า ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผล
สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ และหัวหน้าคณะ
ปฏิวัติได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศ
ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑
เสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อ
ประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ให้สงบ
เรียบร้อยเป็นปกติสุขโดยรวดเร็ว และกำหนดกลไกการปกครอง
ที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และ
จิตใจของประชาชน แต่การแก้ไขสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย
เป็นปกติสุข รวมทั้งการกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสม
จะต้องใช้เวลาตามความจำเป็นแก่เหตุการณ์และในระหว่าง
ดำเนินการดังกล่าว สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณา-
จักรที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการป้องกันประเทศใช้ไป
พลางก่อน เพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความ
กราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรด
กระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครอง
ราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภานิติ
บัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้นำขึ้นทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวาย
มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและดำรงตำแหน่ง
จอมทัพไทย
มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้
มาตรา ๓ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็น
ที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือ
ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้
มาตรา ๕ ให้มีคณะองคมนตรีคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน
เก้าคน การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งองคมนตรีให้เป็นไป
ตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยเก้าสิบเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีวาระ
คราวละสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ซึ่ง
ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกได้
ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุ
อื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะทรง
แต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกแทน
ก็ได้ ในกรณีที่ได้ทรงแต่งตั้ง สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่
ในตำแหน่งได้เพียงครบตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานสภาคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
มาตรา ๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ สภานิติบัญญัติแห่ง
ชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่
ของประธานสภา รองประธานสภาและกรรมาธิการ วิธีการ
ประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การพิจารณา
ร่างรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การ
ตั้งกระทู้ถาม การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการ
อื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติโดย
คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยสมาชิกสภานิติ
บัญญัติแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรี แต่ร่างพระราชบัญญัติ
เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งหมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วย
ข้อความต่อไปนี้ทั้งหมดหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ การ
ตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือผ่อนหรือ
วางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากรจัดสรรหรือ
รับหรือรักษาหรือจ่ายหรือก่อภาระผูกพันเงินแผ่นดิน หรือการ
ลดรายได้แผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการ
ใช้เงินกู้ หรือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินตรา จะเสนอได้
ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี
ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติซึ่งสมาชิกสภานิติ
บัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสนอจะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วย
การเงินหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัย
มาตรา ๑๐ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต้องกระทำเป็นสามวาระ
สำหรับการพิจารณาในวาระที่หนึ่งและวาระที่สอง ให้เป็นไป
ตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับ
วาระที่สาม ให้กระทำได้เมื่อการพิจารณาวาระที่สองได้ล่วงพ้น
ไปแล้วสิบห้าวัน
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ
และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ประกาศใช้เป็น
รัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
การประชุมตามความในวรรคสาม ต้องมีสมาชิกมาประชุม
ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์
ประชุม
เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ความเห็นชอบใน
วาระที่สามแล้ว ให้ประธานสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูนเกล้า
ทูนกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาลงนามรับสนอง
พระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งหรือวาระที่สามให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ
ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและ
การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอตามวรรค
หนึ่ง
มาตรา ๑๒ ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือเมื่อเห็นว่าเป็นกระทู้ที่ต้องห้ามตามข้อบังคับ ในการตั้งกระทู้ถามในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกจะอภิปรายประกอบกระทู้ถามและซักถามเพิ่มเติมมิได้
มาตรา ๑๓ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ใด
จะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความ
คิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิโดยเด็ดขาด
จะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึง
กรรมาธิการของสภา ผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุม
โดยคำสั่งของสภาด้วย
ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกควบคุมหรือขัง
หรือถูกฟ้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อยหรืองดการพิจารณาในเมื่อ
ประธานสภาร้องขอ
มาตรา ๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำและมีจำนวนตามสมควรประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรี
พ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำได้
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติในขณะเดียวกันมิได้
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมชี้แจง
แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่มี
สิทธิออกเสียงลงคะแนน
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการและควบคุมการ
บริหารราชการแผ่นดิน
รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่
คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
การสิ้นสุดซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่ง
ชาติตามมาตรา ๖ ไม่กระทบกระทั่งการบริหารราชการแผ่นดิน
ของคณะรัฐมนตรีและการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและ
รัฐมนตรี
มาตรา ๑๕ เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ
เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรี
เสนอพระราชกำหนดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่ชักช้า
ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดมีผล
เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อนุมัติ
ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการ
ที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา ๑๗ ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำใดไปตามความ
ในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่ง
ชาติทราบ
มาตรา ๑๘ บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และ
พระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมี
นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช
โองการ
การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนาม
รับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๙ ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษา
อรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา ๒๐ ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๒๑ บรรดาประกาศของคณะปฏิวัติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างการปฏิวัติวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ จนถึงวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดและไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา ๒๒ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความใน
วรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิด
ขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้
สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา ๒๓ ในกรณีมีปัญหาว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้ง หรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ
เล่มที่ ๘๙ ตอนที่ ๑๙๒ ราชกิจจานุเบกษา ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕
|