รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_______________________
อานันทมหิดล

ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙
เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชชกาลปัจจุบัน

            ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๘๙ พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม ศุนสมพัตสร วิสาขมาส ศุกลปักษ์ นวมีดิถี สุริยคติกาล พฤษภาคมมาส นวมสุรทิน ชีววาร โดยกาลบริจเฉท
            สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศและทูตานุฑูต ผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกช พรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม
            ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดีฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบ ในการจรรโลงประเทศไทยให้วัฒนาถาวรสืบไปในภายภาคหน้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎรได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ครั้นแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อถือเป็นหลักการถาวรแห่งรัฐประศาสนวิธีต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งประกอบร่างรัฐธรรมนูญขึ้น
            เมื่ออนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดีนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรและสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษา เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้แต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมา
            ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ ๑๔ ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ทราบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
            สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้ กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
            ต่อมารัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่งแล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ ๒ และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้ว จึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง
            บัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จเรียบร้อยแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์ จึ่งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถจรรโลงประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยะธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี
            จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับนี้ขึ้นไว้ ประสิทธิประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นไป และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉะบับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทฉะเพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๕
            ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบุลราศีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศไทยให้บรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้อาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสมานสโมสรในสามัคคีรสธรรมเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้ยืนยงคงอยู่กับไทยรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสานสมดั่งพระบรมราชประณิธานทุกประการเทอญ

บททั่วไป

            มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
            ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
            มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หมวด ๑
พระมหากษัตริย์

            มาตรา ๓องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคาระสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
            มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
            มาตรา ๕ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
            มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา
            มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
            มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
            มาตรา ๙การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
            มาตรา ๑๐ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว
            มาตรา ๑๑ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา ๑๐ ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

หมวด ๒
สิทธิและหน้าที่ของชนชาวไทย

            มาตรา ๑๒ บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย
            มาตรา ๑๓บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่ปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน
            มาตรา ๑๔บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคระพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย
            มาตรา ๑๕ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๖ บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการโดยทางเสียภาษี และอื่นๆภายในเงื่อนไขและโดยวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด ๓
อำนาจนิติบัญญัติ
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

            มาตรา ๑๗ รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ไม่ว่าจะประชุมแยกกันหรือร่วมกัน
            มาตรา ๑๘ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
            มาตรา ๑๙ การตราพระราชบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญานั้น จะกระทำมิได้
            มาตรา ๒๐ ร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐสภาได้ทำขึ้นเสร็จแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระมหาภิไธยและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
            มาตรา ๒๑ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี รัฐสภาจะต้องปรึกษากันใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
            มาตรา ๒๒ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะเสนอมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนก็ได้
            มาตรา ๒๓ บุคคลใดจะเป็นสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนในขณะเดียวกันไม่ได้

ส่วนที่ ๒
พฤฒสภา

            มาตรา ๒๔พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน
            สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
            การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ
            มาตรา ๒๕ คุณสมบัติของผู้สมัครีรับเลือกตั้งและผู้เลือกตั้งอีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์และมีวิทยะฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปีหรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
            มาตรา ๒๖ สมาชิกภาพแห่งพฤฒสภา มีกำหนดเวลาคราวละหกปี ฉะเพาะในวารเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก แต่ผู้ที่ออกไปมีสิทธิได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก
            ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้รัฐสภาเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามความในมาตรา ๒๕ เข้ามาเป็นสมาชิกแทนตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
            มาตรา ๒๗ สมาชิกภาพแห่งพฤฒสภาสิ้นสุดลง เมื่อ
            (๑) ถึงคราวออกตามวาระ
            (๒) ตาย
            (๓) ลาออก
            (๔) ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา
            มาตรา ๒๘ ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ การประชุมพฤฒสภานั้น จะกระทำมิได้

ส่วนที่ ๓
สภาผู้แทน

            มาตรา ๒๙สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
            สมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
            การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ
            มาตรา ๓๐ คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
            มาตรา ๓๑อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดเวลาคราวละสี่ปี
            ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาจะเหลือไม่ถึงหกเดือนสมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
            มาตรา ๓๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทน เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องมีกำหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน
            การยุบสภาผู้แทนจะทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
            มาตรา ๓๓สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนสิ้นสุดลง เมื่อ
            (๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา
            (๒) ตาย
            (๓) ลาออก
            (๔) ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
            มาตรา ๓๔สมาชิกสภาผู้แทนมีสิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะได้ โดยมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่ายี่สิบสี่คน การลงมติในกรรีเช่นนี้มิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา

ส่วนที่ ๔
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง

            มาตรา ๓๕ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้
            มาตรา ๓๖ สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นชอบของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
            มาตรา ๓๗พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภานั้นๆให้เป็นประธานแห่งสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
            มาตรา ๓๘ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้นๆให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
            มาตรา ๓๙ในเมื่อประธานและรองประธานพฤฒสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกของสภานั้นๆเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
            มาตรา ๔๐การประชุมของพฤฒสภาก็ดี หรือของสภาผู้แทนก็ดี ทุกคราวต้องมีสมาชกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึ่งเป็นองค์ประชุมได้
            มาตรา ๔๑การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นไว้แต่เรื่องซึ่งมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้
            สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
            มาตรา ๔๒ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิอันเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆมิได้
            เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภาและคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมด้วย
            มาตรา ๔๓สมัยประชุมของพฤฒสภาและของสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน
            มาตรา ๔๔ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสองสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนดการประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด
            มาตรา ๔๕สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆมีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
            อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้
            มาตรา ๔๖พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงเปิดและปิดประชุม
            พิธีเปิดประชุมจะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
            มาตรา ๔๗เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองก็ได้
            มาตรา ๔๘สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนทั้งสองสภาหรือสมาชิกของแต่ละสภา มีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา มีสิทธิเจ้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองได้
            คำร้องขอดังกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใดก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภา ก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภาที่มีสมาชิกเจ้าชื่อมีจำนวนมากกว่า ถ้ามีจำนวนเท่ากัน ก็ให้ยื่นต่อประธานพฤฒสภา
            ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ
            มาตรา ๔๙ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องสมาชิกพฤฒสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนในทางอาญา ศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก่อนจึ่งพิจารณาได้ แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุม
            การพิจารณาคดีที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่า จำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันใช้ได้
            มาตรา ๕๐ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้หรือหมายเรียกตัวสมาชิกพฤฒสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนไปกักขัง เว้นไว้แต่จับในขณะกระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ประธานแห่งสภานั้นอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้
            มาตรา ๕๑
            ถ้าสมาชิกพฤฒสภาหรือสภาผู้แทนถูกกักขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุมพนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีจะต้องสั่งปล่อย ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
            คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อนให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
            มาตรา ๕๒ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อนเมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อพฤฒสภา ถ้าพฤฒสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขแล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐
            ถ้าหากพฤฒสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามพฤฒสภาแล้วก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
            ถ้าพฤฒสภาลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามที่พฤฒสภาแก้ไขเพิ่มเติมมา ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐
            ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันตามเดิมในร่างพระราชบัญญัติที่ส่งกลับคืนมาตามความในวรรคสอง หรือวรรคสามด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐
            มาตรา ๕๓ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น จะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง
            ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับการภาษีหรืออากร หรือว่าด้วยเงินตรา การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการประกัน หรือการใช้เงินกู้
            ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานแห่งสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่
            มาตรา ๕๔ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนได้ลงมติให้ใช้ได้และได้เสนอไปยังพฤฒสภานั้น พฤฒสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสามสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน พฤฒสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสิบห้าวัน
            กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้หมายถึงวันในสมัยประชุมและให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงพฤฒสภา
            ถ้าพฤฒสภาไม่ได้พิจารณาลงมติในร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนส่งมาภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่าพฤฒสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
            มาตรา ๕๕งบประมาณแผ่นดินประจำปี ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติปีก่อนนั้นไปพลาง
            มาตรา ๕๖พฤฒสภาและสภาผู้แทน มีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดิน โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
            มาตรา ๕๗ในที่ประชุมของพฤฒสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใดๆอันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้นๆยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
            มาตรา ๕๘การประชุมของพฤฒสภาและสภาผู้แทน ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต้ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ก็ให้ประชุมลับ
            มาตรา ๕๙
            พฤฒสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกในสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกในสภาก็ตามเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใดๆอันอยู่ในวงงานของสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใดๆมาชี้แจงแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือพิจารณาอยู่นั้นได้
            เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ นั้น ให้ความคุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
            มาตรา ๖๐การประชุมคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๕๙ นั้น ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนจึ่งเป็นองค์ประชุมได้
            มาตรา ๖๑พฤฒสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา

            มาตรา ๖๒ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
            (๑) การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามความในมาตรา ๙
            (๒) การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐
            (๓) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติกันใหม่ตามความในมาตรา ๒๑
            (๔) การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกพฤฒสภาตามความในมาตรา ๒๖
            (๕) พิธีเปิดประชุมรัฐสภาตามความในมาตรา ๔๖
            (๖) การลงมติความไว้ใจในคณะรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๖๙
            (๗) การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามความในมาตรา ๗๕
            (๘) การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา ๗๖
            (๙) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๕
            (๑๐) การตีความในรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๖
            (๑๑) การแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๙
            มาตรา ๖๓ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน
            มาตรา ๖๔ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของพฤฒสภาโดยอนุโลม
            มาตรา ๖๕ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้โดยอนุโลม

หมวด ๔
อำนาจบริหาร

            มาตรา ๖๖พระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบคนอย่างมากสิบแปดคน
            ในการตั้งนายรัฐมนตรี ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
            รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
            มาตรา ๖๗ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
            มาตรา ๖๘รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกย่อมมีสิทธิไปประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในพฤฒสภา สภาผู้แทน หรือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
            เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ นั้น ให้นำมาใช้โดยอนุโลม
            มาตรา ๖๙ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดินคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้ใจของรัฐสภา
            รัฐมนตรีผู้ได้รับแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวง ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อรัฐสภาในทางรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
            มาตรา ๗๐รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้ใจในคณะตามมาตรา ๓๔ หรือรัฐสภาไม่ให้ความไว้ใจตามมาตรา ๖๙ หรือเมื่อสภาผู้แทนชุดที่มีส่วนให้ความไว้ใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับหน้าที่นั้นสิ้นสุดลง ในกรณีดั่งกล่าวนี้และในกรณีที่คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเอง คณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
            มาตรา ๗๑ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงฉะเพาะตัวโดย
            (๑) ตาย
            (๒) ลาออก
            (๓) ขาดคุณสมบัติตามความในมาตรา ๒๗ (๔) มาตรา ๓๓ (๔)
            (๔) สภาผู้แทนลงมติไม่ไว้ใจ
            มาตรา ๗๒ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี หรือเมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
            ในการประชุมรัฐสภาในคราวต่อไป ให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
            คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ
            มาตรา ๗๓ในระหว่างสมัยประชุม ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการภาษีอากร หรือเงินตราฉะบับใดจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราเป็นพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งพระราชบัญญัติก็ได้
            พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามความในวรรคก่อน จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในสองวันนับแต่วันประกาศใช้ และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามแห่งมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            มาตรา ๗๔พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศให้ใช้กฎอัยยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก
            มาตรา ๗๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว
            มติให้ความยินยอมของสภา ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา
            มาตรา ๗๖พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ
            หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
            มาตรา ๗๗ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
            มาตรา ๗๘พระมหากษัตริยืทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
            มาตรา ๗๙ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๘ และมาตรา ๖๖ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ

หมวด ๕
อำนาจตุลาการ

            มาตรา ๘๐การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
            มาตรา ๘๑บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ
            มาตรา ๘๒การตั้งศาลขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยฉะเพาะแทนศาลธรรมดาที่มีตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นๆจะกระทำมิได้
            มาตรา ๘๓ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
            มาตรา ๘๔การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

หมวด ๖
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๘๕รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้
            (๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
            (๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกันเป็นสามวาระ
            (๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา
            (๔) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองชั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ซึ่งมีคำเสนอแก้ไขแปรญัตติหรือซึ่งมีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
            (๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วต้องนำเสนอรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

            (๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามชั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นกฎหมายไม่ต่ำกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา
            (๗) เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว จึ่งให้ดำเนินิการต่อไปตามความในมาตรา ๖๐

หมวด ๗
บทสุดท้าย


            มาตรา ๘๖ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ รัฐสภาทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้
            มติในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา
            มาตรา ๘๗บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
            มาตรา ๘๘ในการที่ศาลจะใช้บทกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๘๗ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วให้รายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งให้ศาลทราบ
            คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น
            มาตรา ๘๙คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีกสิบสี่คน
            ให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งเมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุ หรือถูกยุบ
            วิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

บทเฉพาะกาล

            มาตรา ๙๐ในวาระเริ่มแรก พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้เลือกตั้งภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
            องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาประกอบด้วยผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้
            ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยยกเว้นข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แต่อย่างน้อยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการประจำมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
            ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเองต่อเลขาธิการองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาภายในสิบสองวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
            วิธีการเลือกตั้งให้องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภากำหนดขึ้น
            มาตรา ๙๑ในวาระเริ่มแรก สภาผู้แทนประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ และให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มจำนวนขึ้นอีกโดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎรหนึ่งแสนคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคน ถ้าในเขตต์จังหวัดใดมีจำนวนราษฎรตามผลการสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้ายเกินกว่าหนึ่งแสนคน ให้จังหวัดนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนคน เศษของหนึ่งแสนถ้าถึงกึ่งหรือกว่า ให้นับเป็นหนึ่งแสน
            เมื่อถือเกณฑ์จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนในเขตต์จังหวัดหนึ่งๆตามความในวรรคก่อน ถ้าในเขตต์จังหวัดใดจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ได้มีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ แล้ว ก็ให้ดำเนินการเลือกตั้งฉะเพาะจำนวนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
            ให้มีการแบ่งเขตต์เลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งๆซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งคน ให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันเท่าที่จะแบ่งได้
            คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยยกเว้นข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕
            มาตรา ๙๒ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นตามความในมาตรา ๙๑ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
            มาตรา ๙๓ ให้เริ่มนับอายุสภาผู้แทนตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้และให้ถือว่าสภาผู้แทนมีจำนวนสมาชิกเต็มตามที่ได้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นในวันครบสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้ง
            มาตรา ๙๔ ก่อนที่สภาผู้แทนจะมีจำนวนสมาชิกเต็มตามที่ได้เลือกตั้งเพิ่มขึ้น รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาตามความในมาตรา ๙๐ และสภาผู้แทนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘
            มาตรา ๙๕ ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
            มาตรา ๙๖ ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะในระหว่างเวลาที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการตามความในมาตรา ๙๕ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
            ให้นำความในวรรคสองและวรรคสามแห่งมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับแก่กรณีดั่งกล่าวในวรรคก่อนโดยอนุโลม

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๓๐ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙)