พระราชบัญญัติ
รักษาคลองประปา
พ.ศ. ๒๕๒๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติรักษาคลองประปาพ.ศ. ๒๕๒๖"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"คลองประปา" หมายความว่า คลองที่การประปาใช้เก็บน้ำและส่งน้ำที่ได้มาจากแหล่งน้ำดิบ คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นคลองประปาตามมาตรา ๕
"แหล่งน้ำดิบ" หมายความว่า แหล่งน้ำที่นำน้ำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปา
"คลองรับน้ำ" หมายความว่า คลองที่ใช้รับน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบเข้าสู่คลองขังน้ำหรือคลองประปา
"คลองขังน้ำ" หมายความว่า คลองหรือที่ที่ใช้เก็บน้ำดิบสำหรับส่งเข้าคลองประปา
"เขตหวงห้าม" หมายความว่า เขตของคลองขังน้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นเขตหวงห้ามตามมาตรา ๕
"คันคลอง" หมายความว่า มูลดินที่ถมขึ้นหรือสิ่งที่ทำขึ้นเป็นคันยาวไปตามแนวคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
"ท่อส่งน้ำดิบ" หมายความว่า ท่อส่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปารวมทั้งท่ออื่นใดซึ่งส่งน้ำดิบจากคลองประปาลอดใต้คลองอื่นที่มิใช่คลองประปา
"ท่อผ่านคลอง" หมายความว่า ท่อส่งน้ำจากคลองอื่นหรือแหล่งน้ำอื่นที่ฝังลอดใต้คลองประปา
"การประปา" หมายความว่า การประปานครหลวงตามกฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยการประปาส่วนภูมิภาค หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินกิจการการประปาแล้วแต่กรณี
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ การกำหนดบริเวณใดเป็นคลองประปา คลองรับน้ำ คลองขังน้ำ และการกำหนดเขตคลองดังกล่าวหรือเขตหวงห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การเปลี่ยนแปลงบริเวณคลอง เขตคลองหรือเขตหวงห้าม หรือการยกเลิกคลองหรือเขตคลองหรือเขตหวงห้ามที่ได้ประกาศกำหนดไว้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖ ให้การประปาจัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงเขตคลองประปาและเขตหวงห้ามไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจน
มาตรา ๗ ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตเพื่อกระทำการตามที่มาตรา ๘วรรคหนึ่ง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๐ ได้บัญญัติห้ามไว้ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) ในเขตการประปานครหลวงตามกฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวง และในเขตคลองประปา คลองรับน้ำ คลองขังน้ำ และเขตหวงห้ามในจังหวัดปทุมธานี ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้ยื่นคำขอต่อการประปานครหลวง
(๒) ในเขตการประปาส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยการประปาส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อการประปาส่วนภูมิภาค
(๓) ในเขตการประปาซึ่งดำเนินกิจการโดยหน่วยงานอื่นของรัฐให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานนั้น ๆ
การขออนุญาต การอนุญาต และเงื่อนไขในการอนุญาต เพื่อดำเนินการดังกล่าวตามวรรคหนึ่งในเขตการประปาใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของการประปาตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดชักน้ำหรือวิดน้ำในคลองประปา คลองรับน้ำหรือคลองขังน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำ ระหัด แครง โชงโลง หรือเครื่องมืออื่นใดอันมีลักษณะเดียวกัน หรือทำให้น้ำในคลองดังกล่าวรั่วไหล เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การตักน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภคในครัวเรือน
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดขุดหรือขยายคลองประปา คลองรับน้ำหรือคลองขังน้ำ สร้างทำนบหรือปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นใดลงในเขตคลองดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากการประปาตามมาตรา ๗ ให้ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างในบริเวณคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ และให้สิ่งก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการประปา
มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดเดินเรือในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ถ่อค้ำ หรือจอดเรือในบริเวณที่มีป้ายหรือเครื่องหมายของการประปาแสดงว่าเป็นบริเวณที่ฝังท่อส่งน้ำดิบ
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดทำลายหรือทำให้เสียหายแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) คันคลอง
(๒) ประตูน้ำ ทำนบหรือเขื่อนของการประปา
(๓) ท่อส่งน้ำดิบ หรือท่อผ่านคลอง
(๔) สะพานข้ามคลองประปา สะพานข้ามคลองรับน้ำ หรือสะพานข้ามคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดนำหรือปล่อยสัตว์ใด ๆ ลงไปในคลองประปาคลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดเทหรือทิ้งสิ่งใด ๆ หรือระบายหรือทำให้น้ำโสโครกลงไปในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ ขยะมูลฝอย หรือสิ่งปฏิกูลลงในเขตคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดซักผ้า ล้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรืออาบน้ำในเขตคลองประปา
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะปลูกพืชชนิดหนึ่งชนิดใดในคลองประปาคลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ
(๑) ในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม หรือ
(๒) ในคลองขังน้ำซึ่งอยู่นอกเขตหวงห้าม โดยใช้เครื่องมือที่ปักหรือดักไว้ อันเป็นการกีดขวางการปฏิบัติงานของการประปา
มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙ วรรคหนึ่งมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้กระทำการตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้กระทำการตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๒๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๖๐ หน้า ๑ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๖)
หมายเหตุ
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปาซึ่งได้ตราขึ้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอันมาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งการประปาส่วนภูมิภาคแยกต่างหากจากการประปานครหลวงแล้ว ในการนี้สมควรปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีการรักษาคลองประปาในเขตของการประปาส่วนภูมิภาคในลักษณะเดียวกันกับคลองประปาในเขตของการประปานครหลวงด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|