พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง
พ.ศ. ๒๔๘๕

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐
และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔)
อาทิตย์ ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๕
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

           โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรส่งเสริมและควบคุมการชลประทานหลวงให้ดำเนินไปด้วยดี
           จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

ข้อความเบื้องต้น

           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕"
           มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           มาตรา ๓ ห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ.๑๒๑ มาใช้สำหรับทางน้ำชลประทานตามความในพระราชบัญญัตินี้
           ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
           "การชลประทาน" หมายความว่า กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มา ซึ่งน้ำหรือเพื่อกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือแบ่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายความรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำกับรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วย" (บทนิยาม "การชลประทาน" แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           "ทางน้ำชลประทาน" หมายความว่า ทางน้ำที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามความในมาตรา ๕ ว่าเป็นทางน้ำชลประทาน
           "เขตชลประทาน" หมายความว่า เขตที่ดินที่ทำการเพาะปลูกซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการชลประทาน
           "เขตงาน" หมายความว่า เขตที่ดินที่ใช้ในการสร้างและการบำรุงรักษาการชลประทานตามที่เจ้าพนักงานได้แสดงแนวเขตไว้
           "ประตูน้ำ" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อให้เรือแพผ่านทางน้ำที่มีระดับต่างกันได้
           "ทำนบ" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลผ่านหรือข้ามไป
           "ฝาย" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทดน้ำในทางน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทาน โดยให้น้ำที่เหลือจากความต้องการท้นขึ้นแล้วไหลข้ามไปได้
           "เขื่อนระบาย" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทดหรือกักน้ำในทางน้ำอันเป็นที่มาแห่งน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทาน โดยมีช่องปิดเปิดได้
           "ประตูระบาย" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อทดกัก กั้น หรือระบายน้ำ ณ ที่อื่นอันมิใช่ที่มาแห่งน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทานโดยมีช่องปิดเปิดได้
           "ท่อเชื่อม" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้น้ำไหลลอดหรือข้ามสิ่งกีดขวาง
           "สะพานทางน้ำ" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้น้ำไหลข้ามทางน้ำหรือที่ต่ำ
           "ปูม" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อบังคับน้ำให้ไหลผ่านจากทางน้ำในระดับหนึ่งตกไปสู่ทางน้ำอีกระดับหนึ่ง
           "คันคลอง" หมายความว่า มูนดินที่ถมขึ้นเป็นคันยาวไปตามแนวคลอง
           "ชานคลอง" หมายความว่า พื้นที่ระหว่างขอบตลิ่งกับเชิงคันคลอง
           "พนัง" หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นคันยาวไปตามพื้นดินเพื่อป้องกันอุทกภัย
           "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชลประทาน และหมายความรวมถึงบุคคลซึ่งอธิบดีได้แต่งตั้งตามความในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
           "นายช่างชลประทาน" หมายความว่า เจ้าพนักงานผู้เป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้างหรือการบำรุงรักษาการชลประทาน
           "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมชลประทาน
           "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑
บททั่วไป

           มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ทางน้ำชลประทานแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
           ประเภท ๑ ทางน้ำที่ใช้ในการส่ง ระบาย กัก หรือกั้นน้ำเพื่อการชลประทาน
           ประเภท ๒ ทางน้ำที่ใช้ในการคมนาคมแต่มีการชลประทานร่วมอยู่ด้วย เฉพาะภายในเขตที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน
           ประเภท ๓ ทางน้ำที่สงวนไว้ใช้ในการชลประทาน
           ประเภท ๔ ทางน้ำอันเป็นอุปกรณ์แก่การชลประทาน
           ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าทางน้ำใดเป็นทางน้ำชลประทาน และเป็นประเภทใด
           มาตรา ๖ นายช่างชลประทานมีอำนาจใช้พื้นที่ดินที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานได้เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่จำเป็นแก่การชลประทาน โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
           มาตรา ๗ ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน นายช่างชลประทานมีอำนาจที่จะใช้ที่ดินหรือสิ่งของของบุคคลใด ๆ ในที่ใกล้เคียงหรือในบริเวณที่อาจเกิดอันตรายได้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
           มาตรา ๘ รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทานหรือจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานไม่ว่าผู้ใช้น้ำจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทานโดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนด
           (๑) ทางน้ำชลประทานแต่ละสายหรือแต่ละเขตที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต
           (๒) เขตและท้องที่ซึ่งเป็นเขตชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต
           (๓) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทานหรือจากผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน
           (๔) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงานการประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
           (๕) หลักเกณฑ์ ระเบียบและวิธีการในการจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทานตลอดจนการยกเว้น ลดหย่อน หรือวิธีการผ่อนชำระค่าชลประทาน
           อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน หรือจากผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินไร่ละห้าบาทต่อปี
           อัตราค่าชลประทานสำหรับการใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปาหรือกิจการอื่น ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละห้าสิบสตางค์
           (มาตรา ๘ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           มาตรา ๘ ทวิ ให้ตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นในกรมชลประทานเรียกว่าทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน
           ค่าชลประทานที่เก็บได้ตามมาตรา ๘ ให้นำส่งเข้าบัญชีทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน
           การใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ให้กระทำได้เฉพาะการชลประทานตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
           ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศรายงานการรับจ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานในราชกิจจานุเบกษา
           รายงานการรับจ่ายเงินตามวรรคสี่ เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาทราบ
           (มาตรา ๘ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           มาตรา ๙ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน ถ้าไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น ให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำใดมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ ในเมื่อนายช่างชลประทาน ข้าหลวงประจำจังหวัด หรือนายอำเภอได้อนุญาตและกำหนดให้โดยกว้างรวมทั้งที่ทิ้งดินด้วยไม่เกินสิบเมตร แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำนั้นผ่าน
           ในการที่จะให้อนุญาตและกำหนดทางน้ำนั้น ให้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำผ่าน และให้กำหนดให้ทำตรงที่ที่จะเสียหายแก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินนั้นน้อยที่สุด

หมวด ๒
การก่อสร้าง

          มาตรา ๑๐ เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเข้าไปในที่ดินของบุคคลใด ๆเพื่อทำงานสำรวจตรวจสอบอันเกี่ยวกับการชลประทานได้ ในเมื่อได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบล่วงหน้าตามสมควร แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้น ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
           มาตรา ๑๐ ทวิ (เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗ และยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๐)
           มาตรา ๑๑ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
           ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง โดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์
           (มาตรา ๑๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๐)
           มาตรา ๑๒ (แก้ไขโดย ปว.๑๔๖ และยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๐)
           มาตรา ๑๒ ทวิ (เพิ่มเติมโดย ปว.๑๔๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๐)

หมวด ๓
การบำรุงรักษา

           มาตรา ๑๓ อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ให้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทานหรือดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน คันคลอง ชานคลอง ทำนบ พนัง หมุดระดับหลักฐานหรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการชลประทานตามที่อธิบดีกำหนด การแต่งตั้งดังกล่าวให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการชลประทานในเขตนั้นด้วย
           (มาตรา ๑๓ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๓ ทวิ เมื่อเห็นสมควรให้โอนการชลประทานหลวงในท้องที่ใดหรือในเขตโครงการชลประทานหลวงใด ให้เป็นการชลประทานส่วนราษฎร ก็ให้กระทำได้โดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตการชลประทานหลวงที่จะโอนไปนั้น เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศการโอนดังกล่าวแล้วให้ถือว่าการชลประทานหลวงที่โอนไปนั้นเป็นการชลประทานส่วนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานราษฎร์นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเป็นต้นไป"
           (มาตรา ๑๓ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๔๙๗)
           มาตรา ๑๓ ตรี ให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่เก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน หรือดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน คันคลอง ชานคลอง ทำนบพนัง หมุดระดับหลักฐานหรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการชลประทาน มีอำนาจดังต่อไปนี้
           (๑) สั่งผู้ควบคุมเรือ แพ ที่ผ่านหรือจะผ่านทางน้ำชลประทานให้หยุดหรือจอดเรือ แพ ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
           (๒) ตรวจบัตรค่าบำรุงทางน้ำชลประทานหรือหนังสือหรือใบอนุญาตเดินเรือในทางน้ำชลประทาน
           (๓) จับบุคคลขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
           (มาตรา ๑๓ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๓ จัตวา ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ ตรี ให้เจ้าพนักงานแสดงบัตรประจำตัว เมื่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ
           บัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
           (มาตรา ๑๓ จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๓ เบญจ ห้ามมิให้เรือยนต์หรือเรือกลไฟเดินในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น และห้ามมิให้เรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
           ใบอนุญาตเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสาร หรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ ให้ใช้ได้ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมแห่งปีที่ออกใบอนุญาต
           (มาตรา ๑๓ เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๔ รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
           (๑) กำหนดเงื่อนไขการใช้เรือ แพ ในทางน้ำชลประทานประเภท ๑และประเภท ๒
           (๒) วางระเบียบการขอและการอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และการขอและการออกใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒
           (๓) กำหนดค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้เรือแพ ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือผ่านบริเวณทำนบ หรือประตูระบายโดยทางสาลี่ ไม่เกินอัตราในบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทานแก่เรือบางประเภท
           (๔) กำหนดค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ เป็นรายปี ไม่เกินอัตราในบัญชีข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้
           (๕) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชี ค. ท้ายพระราชบัญญัตินี้
           (๖) กำหนดเครื่องมือและวิธีที่จะใช้ในการจับสัตว์น้ำตลอดจนกำหนดเขตห้ามจับสัตว์น้ำในทางน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันความเสียหายแก่การชลประทาน
           (มาตรา ๑๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๕ เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจดังต่อไปนี้
           (๑) ปิด กั้นหรือเปิดน้ำในทางน้ำชลประทาน
           (๒) ขุดลอก ซ่อมหรือดัดแปลงแก้ไขทางน้ำชลประทาน หรือจัดให้มีสิ่งก่อสร้างขึ้นในทางน้ำชลประทาน
           (๓) ห้าม จำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือ แพ ผ่านทางน้ำชลประทานตาม (๑) หรือ (๒)
           การใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน อธิบดีมีอำนาจดำเนินการไปก่อนได้
           (มาตรา ๑๕ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๖ อธิบดีมีอำนาจห้าม จำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เรือ แพ การใช้น้ำ การระบายน้ำหรือการอื่นในทางน้ำชลประทานประเภท ๔โดยประกาศไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
           (มาตรา ๑๖ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๑๗ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเทศมนตรีในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานมีหน้าที่ดูแลรักษาคันคลองและทางน้ำชลประทานอันอยู่ในเขตท้องที่หรือเขตเทศบาลนั้น
           มาตรา ๑๘ อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการเก็บค่าชลประทานแก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน และเทศมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน หรือผู้ที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือเทศมนตรีจะได้ระบุนามให้เป็นผู้ได้รับการยกเว้นแทนทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในอัตรา ดังต่อไปนี้
           ก. กำนัน และเทศมนตรีคนละห้าสิบไร่
           ข. ผู้ใหญ่บ้าน คนละยี่สิบห้าไร่
           มาตรา ๑๙ ในการขุดซ่อมทางน้ำชลประทาน ถ้าไม่มีที่เททิ้งมูลดินก็ให้มีอำนาจเททิ้งมูลดินในที่ดินที่ใกล้เคียงได้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ถ้าทำให้เสียหายแก่พืชผลหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นแล้ว ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
           มาตรา ๒๐ เมื่อเจ้าพนักงานได้ส่งน้ำ ระบายน้ำ หรือสูบน้ำเข้าไปในที่ดินแห่งใดเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก ห้ามมิให้ผู้ใดปิดกั้นน้ำไว้ด้วยวิธีใด ๆ จนเป็นเหตุไม่ให้น้ำไหลไปสู่ที่ดินใกล้เคียงหรือปลายทาง
           ถ้าเห็นสมควรเจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือผู้ทำการเพาะปลูก ให้เปิดสิ่งที่ปิดกั้นน้ำไว้ตามที่จะกำหนดให้หรือจัดการเปิดเสียเองก็ได้ ในการนี้เจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจเข้าไปในที่ดินแห่งหนึ่งแห่งใด เพื่อตรวจและจัดการดังกล่าวแล้ว
           มาตรา ๒๑ เมื่อเจ้าพนักงานได้ส่งน้ำหรือสูบน้ำเข้าไปในที่ดินแห่งใดเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก เจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือผู้ทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ดินภายในบริเวณที่จะได้รับน้ำนั้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่จะได้กำหนดให้ เพื่อกักน้ำนั้นไว้ไม่ให้ไหลไปเสียเปล่าจนเป็นเหตุให้ที่ดินข้างเคียงไม่ได้รับน้ำตามที่ควร
           มาตรา ๒๒ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินรายใดไม่ปฏิบัติตามความที่บัญญัติในมาตรา ๒๐ วรรค ๑ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามความในมาตรา ๒๐ วรรค ๒ หรือมาตรา ๒๑ นอกจากจะถูกลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้แล้ว เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะจัดหาแรงงานเข้าทำแทนและคิดค่าจ้างแรงงานตามอัตราในท้องถิ่นจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้าง แก้ไข หรือต่อเติมสิ่งก่อสร้างหรือปลูกปักสิ่งใด หรือทำการเพาะปลูก รุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลองเขตคันคลอง หรือเขตพนัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทาน ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน นอกจากที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อโจทก์ร้องขอก็ให้ศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำนั้นด้วย
           ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นแก่การชลประทานนายช่างชลประทานมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้สิ่งรุกล้ำพ้นไปจากทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลองหรือเขตพนังได้
           (มาตรา ๒๓ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๒๔ ถ้ามีต้นไม้ในที่ดินของผู้ใดรุกล้ำทางน้ำชลประทานหรือทำให้เสียหายแก่ทางน้ำชลประทาน ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นตัดหรือนำต้นไม้นั้นไปให้พ้นเสียได้
           มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการกีดขวางทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทานในกรณีที่มีการฝ่าฝืนนอกจากที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้วเมื่อโจทก์ร้องขอก็ให้ศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางนั้นด้วย
           ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นแก่การชลประทานนายช่างชลประทานมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้สิ่งกีดขวางพ้นไปจากทางน้ำชลประทานได้
           (มาตรา ๒๕ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดขุดคลองหรือทางน้ำมาเชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือมาเชื่อมกับทางน้ำอื่นที่เชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหล อันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดถมคลองหรือทางน้ำนั้นมิให้น้ำรั่วไหลต่อไปก็ได้
           เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวในวรรคแรกปิดถมทางน้ำนั้นหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้น้ำรั่วไหลได้ต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานจัดการได้ทันที และถ้าจำเป็นจะต้องใช้ที่ดินเพื่อการนี้ ก็ให้มีอำนาจใช้ที่ดินริมคลองหรือริมทางน้ำนั้นได้เท่าที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายในการนี้รวมทั้งค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดิน ให้คิดเอาจากผู้ฝ่าฝืนทั้งสิ้น
           คลองหรือทางน้ำใดที่ทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหลอันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทานมาก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เมื่ออธิบดีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจดำเนินการตามความในวรรค ๒ ได้โดยอนุโลม
           (มาตรา ๒๖ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗)
           มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดนำหรือปล่อยสัตว์พาหนะลงไปในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และประเภท ๒ หรือเหยียบย่ำคันคลอง ชานคลองหรือบริเวณสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวกับการชลประทาน เว้นแต่ในที่ที่ได้กำหนดอนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงาน
           มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งมูลฝอย ซากสัตว์ ซากพืช เถ้าถ่านหรือสิ่งปฏิกูลลงในทางน้ำชลประทานหรือทำให้น้ำเป็นอันตรายแก่การเพาะปลูกหรือการบริโภค
           ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยน้ำซึ่งทำให้เกิดเป็นพิษแก่น้ำตามธรรมชาติ หรือสารเคมีเป็นพิษลงในทางน้ำชลประทาน จนอาจทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานเป็นอันตรายแก่เกษตรกรรม การบริโภค อุปโภค หรือสุขภาพอนามัย
           (มาตรา ๒๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้ประตูน้ำ ฝาย เขื่อนระบาย ประตูระบาย ท่อน้ำ ท่อเชื่อม สะพานทางน้ำ ปูม เสา หรือสายโทรศัพท์ ที่ใช้ในการชลประทานเสียหายจนอาจเกิดอันตรายหรือขัดข้องแก่การใช้สิ่งที่กล่าวนั้น
           มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะทำให้เสียหายแก่คันคลอง ชานคลอง ทำนบ พนัง หรือหมุดระดับหลักฐานที่ใช้ในการชลประทาน
           มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นการกีดขวางแก่แนวทางที่ได้สำรวจไว้ หรือเขตงาน หรือทำให้แนวทางที่ได้สำรวจไว้ หรือหมุดหมายแสดงเขตงานคลาดเคลื่อนหรือสูญหาย
           มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปิดหรือเปิดประตูน้ำ เขื่อนระบาย ประตูระบาย ท่อน้ำ ท่อเชื่อม สะพานทางน้ำ ปูมหรือลากเข็นสาลี่ในบริเวณทำนบหรือประตูระบาย
           (มาตรา ๓๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใด นอกจากนายช่างชลประทานหรือผู้ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี ทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอนบรรดาสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวกับการชลประทาน
           มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้ผู้ใดขุด ลอก ทางน้ำชลประทานอันจะทำให้เสียหายแก่การชลประทานหรือปิดกั้นทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
           มาตรา ๓๕ เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้ใดชักหรือใช้น้ำในทางน้ำชลประทานในเมื่อเห็นว่าจะเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดการเสียหายแก่ผู้อื่น

หมวด ๔
บทกำหนดโทษ

           มาตรา ๓๖ ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๘ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าชลประทานที่ค้างชำระ
           เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย
           (มาตรา ๓๖ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           มาตรา ๓๖ ทวิ ผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๑๔ (๓) ต้องระวางโทษปรับเป็นจำนวนสองเท่าของอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่พึงชำระ
           เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่พึงชำระและเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าสิบของค่าบำรุงทางน้ำชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดไห้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย
           (มาตรา ๓๖ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๓๖ ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ เบญจ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งหรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๑๔ (๑) หรือ (๖) หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขตามมาตรา ๑๕ (๓) หรือมาตรา ๑๖ หรือฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา ๑๓ ตรี (๑) มาตรา ๒๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
           (มาตรา ๓๖ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           มาตรา ๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่งมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           (มาตรา ๓๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๘)
           มาตรา ๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งซึ่งออกตามความในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
           (มาตรา ๓๘ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗)
           มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเรียงตามตัวสัตว์ตัวละห้าบาทขึ้นไป แต่ไม่เกินตัวละห้าสิบบาท
           ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้นำจับผู้กระทำผิด ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลในกรณีเช่นนี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาล แต่ถ้าคดีถึงที่สุดโดยคำสั่งของพนักงานผู้มีหน้าที่สอบสวนและเปรียบเทียบคดีอาญา ให้พนักงานเปรียบเทียบดังกล่าวจ่ายเงินสินบนจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่ง และในกรณีที่มีผู้นำจับหลายคน ให้แบ่งเงินสินบนนั้นให้ได้รับคนละเท่า ๆ กัน
           (มาตรา ๓๙ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗)
           มาตรา ๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ วรรค ๑ หรือมาตรา ๒๙มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
           (มาตรา ๔๐ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗)
           มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
           (มาตรา ๔๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗)

หมวด ๕
การรักษาพระราชบัญญัติ

           มาตรา ๔๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
           กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๒ หน้า ๑๖๗๖ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๕)

 
           บัญชี ก. อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้เรือแพ ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือผ่านบริเวณทำนบหรือประตูระบายโดยทางสาลี่
           (บัญชี ก. แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗)
           บัญชี ข. อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒
           เรือยนต์หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้า หรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ เป็นรายปี แรงม้าละ ๒๕ บาท
           บัญชี ค. อัตราค่าธรรมเนียม

 

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ ยังมีข้อความขาดตกบกพร่องอยู่หลายประการไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงาน และการควบคุมการชลประทานหลวง ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นการเหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น
           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๖๔ หน้า ๑๔๘๓ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗)

 

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันนี้ กิจการชลประทานได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้น เพื่อให้ได้ผลตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ แต่ปรากฏว่า บทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงานก่อสร้าง การบำรุงรักษา และการควบคุม ตลอดจนอัตราโทษ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่มีน้อยไม่พอเพียงที่จะใช้ในการระงับปราบปรามผู้กระทำผิดให้ได้ผลอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย
           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๒๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๗)

 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๔๖

          โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการชลประทานอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็วหัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๗๖พ หน้า ๓ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕)

 

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้กิจการชลประทานได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้น นอกจากการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมแล้วมีการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานเพื่อกิจการโรงงานการประปา การอุตสาหกรรม และกิจการอื่นด้วย แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่อาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ประกอบกิจการโรงงาน การประปาและกิจการอื่นเป็นการตอบแทนได้กับเพื่อประโยชน์แก่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการชลประทาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๓๓ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘)

 

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๐

          มาตรา ๖ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดการก่อสร้างการชลประทานเป็นการชลประทานที่เร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น
           การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ บางอย่างไม่เหมาะสมและซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้วสมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๖๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๖๓ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐)