พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
ทางหลวงสัมปทาน
พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
             โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน
             พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
             จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
             มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. ๒๕๔๒”
             มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
             มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓
             มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
             “ทางหลวงสัมปทาน” หมายความว่า ทางที่รัฐให้สัมปทานแก่บุคคลใด ๆ ในการสร้างหรือบำรุงรักษา โดยเก็บค่าใช้ทาง ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดินหรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และให้หมายความรวมถึงอุโมงค์ สะพาน เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก และท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ ที่จัดไว้เพื่อประโยชน์แก่ทางหลวงสัมปทานด้วย
             “สร้าง” หมายความว่า การก่อสร้าง ขยาย หรือบูรณะ
             “บำรุงรักษา” หมายความว่า การดูแลรักษาหรือซ่อมแซมทางหลวงสัมปทานและอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานเพื่อให้คงสภาพใช้งานได้ดีตามปกติ รวมทั้งการเสริมความแข็งแรง การยืดอายุการใช้งานของทางหลวงสัมปทานและอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทาน การติดตั้งและเสริมแต่งอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานหรือสิ่งที่ไม่ได้ก่อสร้างหรือติดตั้งไว้ เพื่อให้ทางหลวงสัมปทานมีสภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหรือมีความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ แต่ไม่หมายความรวมถึงการบูรณะ
             “อุปกรณ์ทางหลวงสัมปทาน” หมายความว่า อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นที่ต้องมีเพื่อการบำรุงรักษาและการประกอบกิจการทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในระบบควบคุมการเก็บเงินค่าใช้ทาง ระบบการสื่อสาร และระบบการควบคุมการจราจรของทางหลวงสัมปทาน เพื่อประโยชน์ในการบริหารทางหลวงสัมปทานและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร
             “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทางหลวง
             “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
             “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
             มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
             กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
             มาตรา ๖ การให้สัมปทานรายใดถ้าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นด้วย
             ให้นำกฎหมายว่าด้วยทางหลวงมาใช้บังคับกับทางหลวงสัมปทานโดยอนุโลมเว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑
สัมปทาน


             มาตรา ๗ ในกรณีที่รัฐประสงค์จะให้สัมปทานในการสร้างหรือบำรุงรักษาทางสายใด ให้อธิบดีออกประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด
             การให้สัมปทานในการสร้างหรือบำรุงรักษาทางที่มีขนาดเล็กหรือเป็นการต่อเติมโครงการเดิมตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงจะดำเนินการโดยไม่ต้องออกประกาศเชิญชวนตามวรรคหนึ่งก็ได้
             การยื่นคำขอรับสัมปทานและการให้สัมปทาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
             ผู้ยื่นคำขอรับสัมปทานต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
             มาตรา ๘ เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอรับสัมปทานรายใดสมควรได้รับสัมปทาน ให้รัฐมนตรีรายงานความเห็นในเรื่องการขอรับสัมปทานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
             มาตรา ๙ ผู้รับสัมปทานจะโอนสัมปทานได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้รับโอนมีคุณสมบัติตามมาตรา ๗ วรรคสี่ และอนุญาตให้โอนสัมปทานได้
             ผู้รับโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่งต้องรับไปซึ่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดของผู้รับสัมปทานรายเดิม
             มาตรา ๑๐ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานสิ้นสภาพนิติบุคคลหรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ผู้ชำระบัญชีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีสิทธิแสดงเจตนาในการโอนสัมปทานตามมาตรา ๙
             การแสดงเจตนาในการโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
             มาตรา ๑๑ การโอนสัมปทานตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
             มาตรา ๑๒ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ได้รับอนุญาตให้โอนสัมปทานให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบพร้อมทั้งเหตุผล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง

หมวด ๒
การสร้างหรือบำรุงรักษา



             มาตรา ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการสร้างหรือบำรุงรักษาทางหลวงสัมปทานให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของผู้รับสัมปทานซึ่งผู้รับสัมปทานแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของอธิบดี มีอำนาจเข้าไปใช้สอยหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดเป็นการชั่วคราวได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
             (๑) การใช้สอยหรือครอบครองนั้นให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นสำหรับการสำรวจเพื่อสร้างทางหลวงสัมปทาน หรือเท่าที่จำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางหลวงสัมปทาน
             (๒) ผู้รับสัมปทานได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มกระทำการนั้น ถ้าไม่อาจติดต่อกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ให้ประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน การประกาศให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ และ ณ ที่ทำการเขตหรืออำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และการที่จะกระทำนั้นไว้ด้วย
             ในกรณีที่การปฏิบัติตามมาตรานี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่น บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากผู้รับสัมปทานได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
             มาตรา ๑๔ ในระหว่างการสร้างทางหลวงสัมปทานถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปและรายการละเอียดทางเทคนิคในการก่อสร้างให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในสัมปทาน แต่ยังคงอยู่ในขอบเขตการดำเนินการตามสัมปทานและไม่เป็นการเพิ่มค่าใช้ทางตามสัมปทาน ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่ออธิบดี ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นอำนาจของอธิบดีที่จะอนุมัติได้เมื่อปรากฏว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้ทางราชการต้องเสียประโยชน์หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ
             มาตรา ๑๕ ในการสร้างทางหลวงสัมปทานผู้รับสัมปทานจะเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ท่อน้ำ ย้ายสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ หรือรื้อถอนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่กีดขวางการสร้างนั้นก็ได้แต่การเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มกระทำการนั้น และต้องจัดทำไปในทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายและทำความไม่สะดวกน้อยที่สุด ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นผู้รับสัมปทานต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น
             ถ้าสิ่งที่กีดขวางตามวรรคหนึ่งเป็นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่น การเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนนั้นจะต้องกระทำภายใต้การกำกับดูแลของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้น
             มาตรา ๑๖ ถ้าทางหลวงสัมปทานจะต้องตัดผ่านทางรถไฟ ทางหลวงประเภทอื่นทางส่วนบุคคล หรือทางน้ำที่มีอยู่เดิม ผู้รับสัมปทานจะต้องจัดให้มีทางชั่วคราวตามสภาพไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่เดิมเพื่อให้ใช้ได้ในระหว่างการสร้าง ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นผู้รับสัมปทานต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น และเมื่อหมดความจำเป็นในการสร้างแล้วให้จัดทำทางดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่เมื่อหมดความจำเป็น
             ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวของทางดังกล่าวให้ต่างไปจากเดิมผู้รับสัมปทานต้องจัดให้มีทางขึ้นใหม่ตามสภาพไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่เดิมเพื่อให้ใช้ไปมาได้ทดแทนทางเดิมด้วย
             ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้ามีเหตุอันสมควร อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะดำเนินการดังกล่าวแทน โดยผู้รับสัมปทานต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงเพื่อการนั้นพร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของเงินจำนวนดังกล่าวด้วยก็ได้
             มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างทางหรือสิ่งอื่นใดเพื่อเป็นทางเข้าออก เชื่อม หรือผ่านทางหลวงสัมปทาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี ในกรณีเช่นนี้ ให้อธิบดีอนุญาตได้เมื่อได้รับฟังความเห็นของผู้รับสัมปทานเพื่อประกอบการพิจารณาแล้วปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบจนเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายกับผู้ใช้ทาง ในการอนุญาตอธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อประโยชน์ในการจราจร การป้องกันอุบัติภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม และเมื่ออธิบดีมีหนังสืออนุญาตแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องให้ความสะดวกเพื่อการนั้นตามสมควร
             ถ้าผู้ได้รับอนุญาตกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต หรือมีเหตุอื่นที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือประโยชน์ของรัฐ อธิบดีจะเพิกถอนการอนุญาตนั้นเสียก็ได้
             มาตรา ๑๘ ทางหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือที่อธิบดีได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวรื้อถอนหรือทำลายภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายรื้อถอนหรือทำลาย โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายมิได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้นด้วย ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๖ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
             มาตรา ๑๙ ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับสัมปทานที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๑๗ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
             คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
             มาตรา ๒๐ เมื่อสร้างทางหลวงสัมปทานหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทางหลวงสัมปทานเสร็จแล้ว ผู้รับสัมปทานจะเปิดการจราจรได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
             ให้ผู้รับสัมปทานซึ่งประสงค์จะเปิดการจราจรตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้รับสัมปทานทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
             มาตรา ๒๑ ทางหลวงสัมปทานและอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานใดจะตกเป็นของรัฐเมื่อใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัมปทาน
             มาตรา ๒๒ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐมีอำนาจเข้ายึดถือครอบครองทางหลวงสัมปทานก่อนสัมปทานสิ้นอายุได้ และในกรณีเช่นนี้รัฐมีอำนาจเข้ายึดถือครอบครองบรรดาอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานทั้งหมดได้ด้วย
             การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
             มาตรา ๒๓ ในการยึดถือครอบครองทางหลวงสัมปทานและอุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานตามมาตรา ๒๒ รัฐจะต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่ผู้รับสัมปทานตามที่กำหนดในสัมปทานในกรณีที่สัมปทานมิได้กำหนดเรื่องค่าทดแทนไว้ ให้ใช้ค่าทดแทนโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้รับสัมปทานควรได้รับตามความเป็นธรรม
             ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานมารับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนดถ้าผู้รับสัมปทานไม่มารับเงินภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้ง ให้อธิบดีนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของผู้รับสัมปทาน
             มาตรา ๒๔ ในทางหลวงสัมปทานที่เปิดการจราจรแล้ว ถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะซ่อมแซมอย่างใหญ่ ซึ่งไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นการสำคัญ และไม่ทำให้เสื่อมประโยชน์ของรัฐและประชาชน ให้ยื่นรายงานการนั้น ๆ พร้อมแบบรูปและรายการละเอียด และประมาณการค่าใช้จ่ายต่ออธิบดี เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้วผู้รับสัมปทานจึงจะกระทำการนั้นได้ ในการอนุญาตอธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้
             การดำเนินการใดเป็นการซ่อมแซมอย่างใหญ่ ซึ่งไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นการสำคัญให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด และแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบแล้ว

หมวด ๓
การกำกับ ตรวจตรา และควบคุม


             มาตรา ๒๕ นอกจากที่กำหนดไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
             (๑) ตรวจตราดูแลการสร้างทางหลวงสัมปทาน และถ้าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำผิดข้อกำหนดในสัมปทานก็ให้แจ้งผู้รับสัมปทานดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
             (๒) พิจารณาและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับทางหลวงสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานแจ้งว่าได้สร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
             (๓) ตรวจตราการประกอบกิจการทางหลวงสัมปทาน และถ้าผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำผิดข้อกำหนดในสัมปทานก็ให้แจ้งผู้รับสัมปทานดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
             (๔) สืบสวนในเรื่องอุบัติเหตุใด ๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีที่ต้องการทราบว่าผู้รับสัมปทานมีส่วนรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามข้อกำหนดในสัมปทานหรือไม่
             (๕) แจ้งให้ผู้รับสัมปทานซ่อมแซมทางหลวงสัมปทานหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทางนั้น
             (๖) แจ้งให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติการใด ๆ อันเกี่ยวด้วยความปลอดภัยของประชาชนได้ โดยกำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีเวลาปฏิบัติการเกี่ยวกับความปลอดภัยดังกล่าว
             มาตรา ๒๖ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินริมเขตทางหลวงสัมปทานทั้งสายหรือบางส่วนในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงสัมปทาน เช่น มิให้ขุดหรือถมร่อง คู บ่อน้ำ สระ หรือหลุมใด ๆ ภายในระยะอันสมควรจากเขตทางหลวงสัมปทาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และในการอนุญาตอธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้
             ผู้ยื่นคำขอซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
             คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
             มาตรา ๒๗ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
             (๑) เข้าตรวจทางหลวงสัมปทานและเข้าไปในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้รับสัมปทานที่ใช้ในการดำเนินการทางหลวงสัมปทานนั้น
             (๒) เรียกให้ผู้รับสัมปทานส่งเอกสารตลอดจนอุปกรณ์อื่นใดที่ใช้บันทึกข้อมูลต่าง ๆ ให้ตรวจสอบตามความจำเป็น
             (๓) เรียกผู้รับสัมปทานหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้รับสัมปทานมาสอบถามและให้ข้อเท็จจริง
             (๔) ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วรายงานต่ออธิบดีในกรณีที่ผู้รับสัมปทาน ผู้แทนหรือลูกจ้างของผู้รับสัมปทานกระทำผิดหรือทำให้เกิดความเสียหายเพราะเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามข้อกำหนดในสัมปทาน
             มาตรา ๒๘ ถ้าผู้รับสัมปทานไม่กระทำการใด ๆ ตามที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้สั่งให้ทำตามมาตรา ๒๕ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้ากระทำการโดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงเพื่อการนั้น พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของเงินจำนวนดังกล่าวด้วย
             มาตรา ๒๙ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัมปทาน ไม่บำรุงรักษาทางหลวงสัมปทานจนอาจเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้อธิบดีมีหนังสือเตือนให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
             ในกรณีที่ได้มีหนังสือเตือนตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ผู้รับสัมปทานยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้รัฐมนตรีเพิกถอนสัมปทานดังกล่าว
             เมื่อได้เพิกถอนสัมปทานแล้วให้อุปกรณ์ทางหลวงสัมปทานทั้งหมดตกเป็นของรัฐ

หมวด ๔
การจัดหาอสังหาริมทรัพย์


             มาตรา ๓๐ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด เพื่อสร้างทางหลวงสัมปทานตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน และผู้รับสัมปทานไม่สามารถดำเนินการให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการนั้นโดยวิธีอื่นได้ ให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าทดแทน เว้นแต่ในสัมปทานจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

หมวด ๕
บทกำหนดโทษ


             มาตรา ๓๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             มาตรา ๓๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             มาตรา ๓๓ ผู้ใดหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าใช้ทางที่กำหนดในสัมปทานต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าใช้ทางนั้น

บทเฉพาะกาล

             มาตรา ๓๔ การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓ ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้
          บรรดาสัมปทานตามพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓ ให้ถือว่าเป็นสัมปทานตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓ จนกว่าสัมปทานนั้นจะสิ้นสุดลง

             ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
             ชวน หลีกภัย
             นายกรัฐมนตรี

             หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางมาตราไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เอกชนจะเข้ามาลงทุนในกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค และบทกำหนดโทษไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้นำมาใช้บังคับได้ถูกยกเลิกไปแล้ว สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้