พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
การดำรงตำแหน่งในทางการเมืองของข้าราชการกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น
และพนักงานรัฐวิสาหกิจ
พ.ศ. ๒๕๒๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
            โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการดำรงตำแหน่งในทางการเมืองของข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจ
            จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
            มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการดำรงตำแหน่งในทางการเมืองของข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๒๒"
            มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
            มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๐ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐
            มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
            "ข้าราชการ" หมายความว่า ข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และข้าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร
            "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยประกาศพระบรมราชโองการ โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยรัฐมนตรีเจ้าสังกัดซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีสำหรับกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการและรองประธานกรรมการด้วย
            "พนักงานส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล และหมายความรวมถึงข้าราชการส่วนจังหวัดด้วย
            "พนักงานรัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า พนักงานของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
            มาตรา ๕ ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๐๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือดำรงตำแหน่งในทางการเมืองมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หรือตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของข้าราชการ กรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
            บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของข้าราชการฝ่ายตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการด้วยโดยอนุโลม
            มาตรา ๖ ในระหว่างระยะเวลาตามมาตรา ๕ มิให้นำมาตรา ๒๘แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจ และให้ข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วยในขณะเดียวกันมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้าราชการ กรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ และเงินเดือนและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง แต่สำหรับเงินเดือนในตำแหน่งข้าราชการการเมืองให้ได้รับจริงเพียงกึ่งหนึ่ง
            มาตรา ๗ ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส.โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ หน้า ๑๑ วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๒)

หมายเหตุ
            เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาล อนุญาตให้ข้าราชการประจำกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองในขณะเดียวกันได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถระดมผู้ ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่าง ๆ มาช่วยเหลือในการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นการชั่วคราว แต่ เนื่องจากมีกฎหมายปัจจุบันที่ผ่อนผันให้ข้าราชการ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐ วิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองได้นั้นจะสิ้นอายุลงภายหลังการเลือกตั้ง สมควรแก้ไขให้ข้าราช การ กรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจดำรงตำแหน่งในทางการเมืองได้ต่อไป เพื่อให้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น